เพาะ-ขายพันธุ์ไส้เดือนและปุ๋ยมูลไส้เดือน รับทรัพย์ ทุกวัน

ในวงการเกษตรไส้เดือนถือเป็นสัตว์ที่ทำประโยชน์ให้มากมาย การคืบคลานชอนไชในดินของสัตว์ชนิดนี้ช่วยทำให้ดินร่วนซุย การถ่ายเทน้ำและอากาศดี ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น เพิ่มช่องว่างในดินทำให้รากพืชหาอาหารได้ง่าย ไม่เพียงเท่านั้นไส้เดือนยังเหมือนเครื่องชี้วัดสารเคมีในดิน เพราะถ้าดินบริเวณนั้นมีสารเคมีตกค้าง จะไม่พบไส้เดือนสักตัว อาจกล่าวได้ว่าบริเวณใดมีไส้เดือน บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์

สำหรับนักตกปลาแล้วไส้เดือนถือเป็นอาหารอันโอชะของบรรดาปลาทุกชนิด อีกทั้งยังพบว่าในตัวไส้เดือนมีปริมาณเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่สูงมากหากนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ถ้าใช้ไส้เดือนเป็นอาหารแก่นกแข่งเสียงแล้วจะทำให้มีเสียงไพเราะ มีขนสวย หรือถ้านำไปเลี้ยงหมูแล้วพบว่าคุณหมูทั้งหลายจะมีการผสมพันธุ์ที่ดี ไม่เพียงเท่านั้นมูลไส้เดือนยังเกิดประโยชน์ต่อวงการเกษตรด้วย

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงจึงเกิดมีอาชีพเพาะ-เลี้ยงไส้เดือนขึ้นเพราะต้องการนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ และนำมาใช้ย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอาหาร เช่น เศษผัก ผลไม้หรือมูลสัตว์ เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์

“ฟาร์มไส้เดือนเดช” ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 11 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มี คุณตุลย์เดช เผดิมชิต หรือ คุณเดช เป็นเจ้าของ เจ้าของฟาร์ม บอกว่า การเลี้ยงไส้เดือนมี 2 แบบ คือถ้าเลี้ยงแบบขนาดเล็กเพื่อใช้เองในวงจำกัดมักใช้ขยะอินทรีย์ที่เหลือใช้ เช่น ผัก ผลไม้ เป็นอาหารไส้เดือนแล้วผสมใบไม้แห้ง หรือถ้าเลี้ยงในเชิงการค้าต้องทำให้เป็นระบบมาตรฐาน ซึ่งมักใช้มูลสัตว์เลี้ยงอย่างเดียว

คุณเดช เรียนจบปริญญาตรีทางด้านการโรงแรมและท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลีย หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานที่เมืองไทยสักพัก แต่ต้องไปช่วยธุรกิจโรงพิมพ์ที่บ้าน ขณะเดียวกัน จะใช้เวลาว่างปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ แล้วทดลองเพาะต้นกล้าจนประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดกำลังใจขยายต่อยอดออกไปอีกจำนวนมาก และทำเช่นนี้อยู่ 5 ปี เห็นว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างคุณภาพพืชที่ปลูกอยู่ให้มีความสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้เปิดอบรมการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยขึ้นจึงไปเข้าอบรม หลังจากอบรมเสร็จได้ทดลองเลี้ยงไส้เดือนจำนวนหนึ่งแต่ไม่สำเร็จดีเท่าไรนัก จึงพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมแล้วทำใหม่อีกกระทั่งเกิดความชำนาญสามารถจับแนวทางได้ จึงพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนทำได้สำเร็จอย่างถูกต้อง

เหตุผลที่คุณเดชสนใจการเลี้ยงไส้เดือนเพราะต้องการนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยให้แก่ไม้ดอก ไม้ประดับที่เขาปลูกให้มีความงอกงาม เจริญเติบโตแข็งแรง อีกทั้งเมื่อนำมาใช้กับการตอนกิ่ง การปักชำ จะช่วยทำให้ออกดอกเร็ว ดอกมีขนาดใหญ่ แข็งแรง

“แต่ภายหลังจำนวนไส้เดือนเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว พร้อมกับมูลที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน พอเป็นเช่นนั้นจึงมองเห็นลู่ทางธุรกิจด้วยการเพาะพันธุ์ไส้เดือนขาย พร้อมกับแปรรูปมูลไส้เดือนเป็นปุ๋ย”

ไส้เดือนที่คุณเดชใช้เป็นพันธุ์แอฟริกัน เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดเพราะมีคุณสมบัติโตเร็ว ขยายพันธุ์เร็ว มีขนาดใหญ่ เจ้าของฟาร์มชี้ว่าไส้เดือนของไทยก็มีคือ พันธุ์ขี้ตาแร่ มักมีจำนวนมากในจังหวัดแถบภาคเหนือ และไม่ค่อยพบในภาคกลาง กับอีกพันธุ์ในบ้านเราคือ สายพันธุ์สีน้ำเงิน แต่ไม่แพร่หลายเพราะมีขนาดเล็กเกินไป

ดังนั้น ในปัจจุบันธุรกิจของคุณเดชคือการทำฟาร์มไส้เดือน ซึ่งได้แก่ การขายพันธุ์ไส้เดือนแอฟริกัน กับการขายปุ๋ยมูลไส้เดือน นอกจากนั้น มีธุรกิจคู่ขนานคือการเพาะกล้าพันธุ์ไม้ในกลุ่มที่ใช้สำหรับจัดสวนหลายชนิด

การเลี้ยงเพื่อขายพันธุ์

เจ้าของฟาร์มไส้เดือนให้รายละเอียดขั้นตอนการเพาะ-ขยายพันธุ์ว่า ควรเลือกสถานที่ให้เหมาะสม ซึ่งควรเป็นสถานที่ที่มีร่มเงาทั้งวัน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อบอ้าว และมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-30 องศา จากนั้นจัดเตรียมภาชนะสำหรับเลี้ยง ซึ่งสามารถเลือกใช้วัสดุเลี้ยงได้หลายชนิดตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกะละมังพลาสติกที่ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร หรือในวงบ่อซีเมนต์ กระสอบปุ๋ย หรือแม้แต่ในกระถางมังกร

ให้เตรียมวัสดุที่ใช้เลี้ยง ได้แก่ มูลสัตว์ อย่างมูลวัว แพะ กระต่าย ช้าง แต่ในกรณีที่เป็นมูลสัตว์ปีกควรปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานจึงไม่ค่อยนิยม สำหรับสัดส่วนที่ผสมให้ใช้มูลสัตว์ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ กับใช้ดินผสมใบไม้แห้งหรือฟางหรือหญ้าแห้งประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ดินที่ใช้ควรเป็นดินชีวภาพหรือดินอินทรีย์ ไม่ควรใช้ดินที่มีส่วนผสมของสารเคมี และอาหารที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนอาจเป็นขยะอินทรีย์ อย่างผัก ผลไม้ นำมาฝังกลบให้เป็นอาหารของไส้เดือน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเลี้ยงไส้เดือนเชิงธุรกิจขนาดใหญ่มักใช้มูลสัตว์เป็นหลักอย่างเดียว ใช้มูลวัวนมที่ผสมกับขุยมะพร้าวหรืออาจใช้มูลวัวนมล้วน โดยมีวิธีทำคือนำมูลวัวมาทุบหรือป่นให้ละเอียด แล้วจึงนำไปใส่ในภาชนะอย่างกะละมังหรือวงซีเมนต์ จากนั้นรดน้ำเพื่อให้คลายความร้อน ให้รดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง

ทิ้งไว้สัก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขณะรดน้ำจะมีน้ำที่ผ่านมูลวัวไหลออกมาให้จัดหาภาชนะมารองเพื่อนำน้ำมูลวัวไปใช้รดต้นไม้ได้ ให้ลองใช้นิ้วจุ่มลงดินดูว่าเย็นหรือยัง ถ้าเย็นแล้วจึงค่อยปล่อยพันธุ์ไส้เดือนโดยมีอัตราการปล่อยพันธุ์ในกรณีที่มีพื้นที่สัก 1 ตารางเมตร ให้ปล่อยไส้เดือนประมาณ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นมือใหม่อาจน้อยกว่าก็ได้ประมาณครึ่งกิโลกรัม เพราะจะช่วยให้เลี้ยงง่าย แล้วค่อยปล่อยให้ไส้เดือนขยายพันธุ์เอง

ภายหลังปล่อยไส้เดือนลงในภาชนะเลี้ยงแล้วโดยธรรมชาติมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ไส้เดือนคุ้นเคยกับวัสดุเลี้ยงเสียก่อน จากนั้นไส้เดือนจะผสมพันธุ์กัน แล้วออกไข่ทุกสัปดาห์ละ 3 ฟอง ต่อตัว และในไข่ 1 ฟอง สามารถให้ลูกเฉลี่ย 2 ตัว สำหรับพันธุ์แอฟริกัน ทั้งนี้ ไข่ไส้เดือนจะมีทุกสัปดาห์

พันธุ์ไส้เดือนที่มีขนาดเล็กจะถูกเลี้ยงไปในระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 1 เดือนครึ่ง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการจำหน่าย โดยไส้เดือนจะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-6 นิ้ว มีขนาดใหญ่ประมาณดินสอ ทั้งนี้ วิธีการขายจะกำหนดเป็นตัวหรือเป็นน้ำหนักแล้วแต่การตกลงกัน ขายครึ่งกิโลกรัมในราคา 400 บาท และ 1 กิโลกรัม ราคา 800 บาท

ไส้เดือน เป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ มักนิยมนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงหลายชนิด โดยสัตว์ที่กินไส้เดือนเป็นอาหารจะมีสุขภาพแข็งแรง มีขนาดใหญ่ มีสีขนสวย นอกจากนั้น ถ้านำไปใช้เลี้ยงหมูจะพบว่าจะช่วยในเรื่องการผสมพันธุ์หมูได้อย่างดี

ในกรณีที่ลูกค้าอยู่ไกลแล้วต้องการให้จัดส่ง จะส่งเป็นไข่ไส้เดือนเป็นชุด ใน 1 ชุด มีจำนวนไข่ 150 ฟองไปให้ ซึ่งระหว่างเดินทางอาจมีการฟักตัว เหตุผลที่ต้องส่งเป็นไข่ไส้เดือนเพราะมิเช่นนั้นไส้เดือนอาจตายได้ระหว่างเดินทาง ทั้งนี้ มียอดการสั่งซื้อไส้เดือนในทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์ละ 3-4 ชุด โดยลูกค้าที่ซื้อมักนำไปเลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

ใครที่สนใจต้องการทำเป็นรายได้เสริมหรืองานอดิเรก คุณเดช แนะว่า ควรใช้พื้นที่เล็กน้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณข้างบ้านหรือระเบียงบ้านก็ได้ หรืออาจดัดแปลงชั้นวางของที่เป็นลิ้นชักใช้เลี้ยงไส้เดือนได้

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนก็เป็นอาหารที่เหลือจากการกินประจำวัน ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีของชาวสวน ชาวไร่ที่เลี้ยงตามต่างจังหวัดสามารถนำพืชผักที่เสียหายจากการเพาะปลูกนำมาใช้เป็นอาหารไส้เดือนได้ แต่เน้นว่าต้องฝังกลบในดินเพื่อป้องกันสัตว์อื่นมากิน

ระยะเวลาการให้อาหารไส้เดือนควรพิจารณาในทุก 7 วัน ว่าอาหารหมดหรือยังด้วยการใช้วิธีเขี่ยดู ถ้าอาหารหมดสามารถเติมลงไปได้ในจำนวนที่ไม่มาก และควรกระจายอาหารให้เป็นบริเวณกว้าง ไม่ควรให้เป็นกลุ่มหรือกระจุก สิ่งที่ไม่ควรนำมาเป็นอาหารไส้เดือนคือสิ่งที่มีรสเผ็ดร้อน หรือมีกลิ่นฉุน หรือรสเปรี้ยว

“ผู้เลี้ยงท่านใดที่คิดในเชิงการค้าควรเลี้ยงให้มีความชำนาญเสียก่อน แล้วเมื่อมั่นใจจึงลงทุนซื้อหาวัสดุมาเลี้ยง ที่สำคัญควรหาตลาดไว้ก่อนเพราะเมื่อไส้เดือนมีการแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก”

การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

หลังจากไส้เดือนกินอาหารหมดแล้ว (จากการสังเกตด้วยตาเปล่า) ก็จะเหลือเฉพาะมูลที่ถ่ายไว้เท่านั้น ให้แยกไส้เดือนออกมาจากภาชนะเลี้ยง (ไส้เดือนที่แยกสามารถนำไปเลี้ยงต่อ) แล้วนำมูลไส้เดือนไปตากแห้งสัก 2 วัน เพื่อให้สะดวกต่อการร่อนในตะแกรง เมื่อร่อนเสร็จจึงได้มูลไส้เดือนล้วนก็สามารถนำมาใส่ในต้นไม้หรือพืชต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการทำขายด้วยการแพ็กใส่ถุงต้องให้ตากแดดต่อไปอีกสัก 1 สัปดาห์ หลังจากร่อนแล้วจึงนำไปแพ็กใส่ถุงสุญญากาศ

คุณเดช ระบุว่า มูลสัตว์จำนวน 100 กิโลกรัม จะได้มูลไส้เดือนจำนวน 70 กิโลกรัม ถึงแม้น้ำหนักจะลดลง แต่ได้ตัวไส้เดือนเพิ่มมากขึ้นแทน เพราะเพียง 1 เดือน ตัวไส้เดือนเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่า ยิ่งถ้าเลี้ยงนานถึง 2 เดือน โดยสภาพการเลี้ยงยังสมบูรณ์จะได้ตัวไส้เดือนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

นอกจากปุ๋ยมูลไส้เดือนแบบตากแห้งแล้ว น้ำมูลไส้เดือน ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลออกมาจากภาชนะที่ใช้เลี้ยง นิยมใช้ฉีดพ่นทางใบหรือต้น โดยน้ำมูลไส้เดือนนี้จะต้องนำไปผสมกับน้ำเปล่าในอัตรา 1 ต่อ 50 หรืออีกวิธีอาจใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ตากแดดแล้วมาผสมน้ำในอัตรา 1 ต่อ 10 แล้วทิ้งไว้สัก 1 สัปดาห์ จึงค่อยนำมาใช้

“วิธีหลังนี้จะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากมาจากมูลไส้เดือนล้วน ทั้งนี้ ประโยชน์ของน้ำมูลไส้เดือนมักใช้ฉีดพ่นทางใบและต้นเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตได้ดอกได้ผลอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชได้ด้วย”

การขายปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยจะขายให้แก่เกษตรกรที่ทำสวนเกษตรหรือปลูกต้นไม้ดอก ไม้ประดับ เพราะจะช่วยให้ไม้เหล่านั้นเจริญเติบโต แข็งแรง ให้ดอกสวยงาม มีผลขนาดใหญ่ อีกทั้งถ้าเป็นไม้ผลจะช่วยเพิ่มความหวานด้วย “ธุรกิจไส้เดือนสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายอย่าง ขณะเดียวกัน ยังสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนไปพร้อมกันอีก จึงถือเป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อย แต่นำไปต่อยอดได้มากมายในรายได้ที่เพิ่มมาก ทั้งยังไม่จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด”

อากาศร้อนชื้นและมีฝนตกบางพื้นที่ อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกดาวเรือง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองเฝ้าระวังการระบาดของโรคดอกเน่า มักพบได้ในระยะติดดอกดาวเรือง โดยจะพบแสดงอาการเริ่มแรกที่กลีบดอกมีลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจากปลายกลีบดอกไปหาโคนดอก จากนั้นจะเน่าลุกลามเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทั่วทั้งดอก ทำให้ดอกดาวเรืองเสียคุณภาพ หากเชื้อราเข้าทำลายในระยะดอกตูม ดอกจะไม่สามารถบานได้ กรณีเชื้อราเข้าทำลายรุนแรงในระยะที่ดอกบานแล้ว เชื้อราจะขยายลุกลามไปสู่ต้น ทำให้ต้นเน่าและยืนต้นตายในที่สุด

สำหรับในสภาพที่มีฝนตกชุกและอากาศมีความชื้นสูง ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มพบอาการของโรคที่ดอก ให้เกษตรกรตัดดอกที่เป็นโรคหรือตัดส่วนที่เป็นโรคไปทำลายหรือฝังดินนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรค อีกทั้งควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งถือเป็นการลดความชื้นในดิน ทำให้ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุโรค

กรณีที่พบโรคดอกเน่ายังคงระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นทุก 5-7 วัน

กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณบุญมี แท่นงาม เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ถึงสถานการณ์ทางด้านการเกษตรภายในจังหวัด จากบทสัมภาษณ์มีความน่าสนใจไม่น้อย ลองติดตามดู

นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคกลางหรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ทางตอนล่างของภาคเหนือ ซึ่งถ้าเป็นภาคส่งเสริมการเกษตรนี้จังหวัดนครสวรรค์ ถือว่าอยู่ภาคเหนือแต่ถ้าเป็นของกรมอุตุนิยมวิทยาจะอยู่ภาคกลาง สรุปแล้วคือเป็นจังหวัดภาคกลางติดต่อทางเหนือ

แต่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน

คุณบุญมี เล่าว่า จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ มีพืชเศรษฐกิจหลักอยู่ 3-4 ชนิดด้วยกัน พืชตัวแรกคือ “ข้าวนาปี” โดยนครสวรรค์มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 2.3 ล้านไร่ โดยเฉพาะในปีนี้ในช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลทำนา เกษตรกรทำนาไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ ก็จะเหลืออีกบางส่วนนิดหน่อย ทีนี้พื้นที่ทำนาทั้งหมด 2.3 ล้านไร่นี้เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานจริงๆ ประมาณ 4 แสนไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ใช้น้ำฝนอย่างเดียวในการทำนา ฉะนั้น เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ชลประทานกับพื้นที่ทำนาโดยอาศัยน้ำฝน…อาศัยน้ำฝนจะมากกว่า

สถานการณ์ในการทำนาปีนี้โดยเฉพาะในเขตชลประทานจะมีปัญหาในเรื่องการบริการ ในเรื่องน้ำของทางชลประทาน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาของเกษตรกร ซึ่งถามว่าเป็นวิกฤตหรือยังในการทำเขตพื้นที่ชลประทาน ก็ตอบว่ายังคงสามารถที่จะจุนเจือเกษตรกรได้อยู่ สามารถช่วยเกษตรในการทำนาได้ ส่วนนอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างมาก ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการทำนา นาข้าวยังคงต้องการน้ำฝนอยู่ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงตามที่เราติดตามพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในปี 2562 ฤดูกาลผลิตการทำนาปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าจะแล้ง ตั้งแต่กรกฎาคมอาจจะถึงสิงหาคม ฉะนั้น เมื่อแล้งถึงสิงหาคมเป็นวิกฤต เกษตรกรจะลำบากกว่านี้ เพราะถ้าแล้งไป 2 เดือนนี้ ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรโดยตรงเลย คือข้าวขาดน้ำ การเจริญเติบโตของข้าวก็จะมีปัญหาและในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำนา

ตอนนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเราแนะนำให้เกษตรกรหว่านข้าวแห้ง โดยเฉพาะพื้นที่อาศัยน้ำฝนให้หว่านข้าวแห้งเพื่อรอน้ำ ตัวนี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาทางด้านการทำนาได้ ส่วนพื้นที่ชลประทานยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากผลผลิตข้าวที่นี่เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ผลผลิตข้าวจะอยู่ไร่ละประมาณ 600 หรือ 700 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ในขณะนี้ส่วนมากจะเป็น กข ต่างๆ เป็นพันธุ์ที่แนะนำจากกรมส่งเสริมการเกษตร มีส่วนราชการแนะนำอยู่

นอกเขตชลประทาน จังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอท่าตะโก อำเภอไพศาลี อำเภอหนองบัว เรามีข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกค่อนข้างมากเหมือนกัน เป็นข้าวคุณภาพดีของจังหวัดนครสวรรค์ ก็มีส่วนหนึ่งใน 3-4 อำเภอที่ปลูกอยู่ ผลผลิตของข้าวมะลินี้ไม่สูงเท่าไร 300-400 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนข้าวนาปรัง 600-700 กิโลกรัม ต่อไร่ ในเรื่องราคาในปีที่ผ่านมา ราคาข้าวอยู่ในขั้นดี ถือว่าเกษตรกรพออยู่ได้ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งราคาข้าวมะลิในปีที่แล้วเกวียนละ 7,000-10,000 บาท ส่วนข้าวนาปรังราคาเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเกษตรกรก็พอจะอยู่ได้

คุณบุญมีกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับข้าวที่พบเจอจะเป็นในส่วนของปัจจัยทางด้านการผลิตข้าว บางตัวค่อนข้างที่จะมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมี แต่กรมส่งเสริมการเกษตรเรามีแนวทางในการที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ คือจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ให้เกษตรกรที่จัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ร่วมกัน ได้จัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกันโดยรวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมกันจำหน่าย ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเราก็พยายามที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันผลิตจากแปลงเล็กแปลงใหญ่เพื่อจะให้เกษตรกรร่วมกันแก้ปัญหาไปกับภาครัฐ ถ้าหากภาครัฐฝ่ายเดียวก็คงไม่สำเร็จ ต้องให้เกษตรกรช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนของตรงนี้ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ ทั้งระดับอำเภอทั้งระดับจังหวัด

คุณบุญมี บอกว่า พืชตัวที่สองคือ มันสำปะหลัง โดยมีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าไร่ พื้นที่ค่อนข้างมากเหมือนกัน ผลผลิตไร่ละประมาณ 5-6 ตัน ราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 2-2.50 บาท ถามว่าเกษตรกรอยู่ได้ไหม ตอบว่าถ้าราคาประมาณนี้เกษตรกรอยู่ได้เพราะผลผลิตเราประมาณ 6 ตัน 6,000 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ก็ประมาณไร่ละกว่าหมื่นบาท พออยู่ได้ แต่ถ้าดีที่สุดคือ 2 บาท 50 สตางค์ ถึง 3 บาทขึ้นไปถึงจะอยู่ได้ดีและคุ้มต่อการผลิต พื้นที่ 4 แสนกว่าไร่ก็ไม่น้อย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์เรา ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาในส่วนของการกระทบแล้ง แต่จะมีปัญหาเรื่องของโรคใบด่าง โดยแหล่งกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ยังมีระบาดที่แถวสระแก้ว แถวปราจีนบุรี

เมื่อโรคตัวนี้เข้ามาสู่มันสำปะหลังแล้วถ้ามีการระบาดต้องทำลายอย่างเดียว ไม่ได้ผลผลิตเลย เสียหายสิ้นเชิงและตอนนี้ลุกลามมาถึงที่นครราชสีมาเขตใกล้เคียงติดต่อกับจังหวัดเรา โดยสิ่งสำคัญของโรคนี้คือแมลงพาหะปากดูด ดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่เป็นไปสู่ต้นที่ไม่เป็น ตอนนี้เราแนะนำให้เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ที่จะนำมาปลูกไปซื้อในแหล่งพันธุ์ที่ไม่มีโรคนี้ระบาด ในขณะนี้เราก็เฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดเราให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงนะ ว่าในพื้นที่ปลูกของเรานั้นมีโรคใบด่างหรือไม่อย่างไร ถ้ามีรีบทำลายรีบขุดแล้วก็ฝังทันทีและก็รายงานให้ส่วนราชการเราทราบทันที ทั้งจังหวัดทั้งเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล เราประชาสัมพันธ์ให้เฝ้าระวังในเรื่องนี้

พืชเศรษฐกิจตัวต่อมาคือ อ้อยโรงงาน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ โดยในช่วงฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาทางด้านราคานั้นไม่ค่อยจะสู้ดีนักอยู่ตันละ 700-800 บาท โดยในปีที่ผ่านๆ มานั้นตันละประมาณ 1,000 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้น อ้อยถือเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายรองรับ ราคาอ้อยจะขึ้นอยู่กับราคาตลาดน้ำตาลโลก กล่าวคือถ้าราคาน้ำตาลของตลาดโลกดี ราคาอ้อยก็จะสูงขึ้น คิดว่าแนวโน้มในปีนี้ราคาน่าจะกระเตื้องขึ้นนิดหน่อยเนื่องจากว่าอ้อยตอที่เกษตรกรปลูกอยู่ในขณะนี้อยู่ในแปลงขณะนี้ผลผลิตคงยังไม่ดีนัก เนื่องจากกระทบต่อฝนแล้ง โดยปัญหาที่พบคือราคาที่ค่อนข้างตกต่ำนิดหน่อยทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาไม่สามารถที่จะคุมได้เนื่องจากราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก มีหลายประเทศที่ผลิตอ้อยเพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทราย ราคาไม่ค่อยจะดีนัก ที่สำคัญคือเรื่องสภาพฝนที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าไร แต่ก็ไม่กระทบมากนัก ยังคงสามารถผลิตได้ตามฤดูกาลของอ้อย ในส่วนของศัตรูพืชไม่ค่อยมี

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเรามีข้าวโพดหลังนา พื้นที่ปลูกที่ผ่านมาประมาณ 70,000 ไร่ ตุลาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วเริ่มนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมาเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม เมษายนถึงพฤษภาคม ที่ฤดูกาลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านไปแล้ว ราคาดีมากเลยเนื่องจากเป็นโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการกำหนดราคาหน้าโรงงาน หน้าไซโล และอีกอย่างหนึ่งคือเราเชิญผู้ประกอบการในพื้นที่หรือผู้รับซื้อมาพูดคุยกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการรัฐสามฝ่ายมาคุยและตกลงราคาระหว่างกัน ราคาปีที่ผ่านมาก็อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 6-7 บาท ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 1 ตัน ต่อ 1 ไร่ ราคาที่ได้อยู่ที่ 7,000 บาท ต่อ 1 ไร่ เกษตรกรมีรายได้ต่อไร่ประมาณ 7,000 บาท เกษตรกรอยู่ได้ ทีนี้สืบเนื่องมาข้าวโพดฤดูฝนซึ่งอยู่ในช่วงปลูกอยู่ขณะนี้พื้นที่ปลูกประมาณ 1-1.2 แสนไร่ พื้นที่ค่อนข้างมาก อายุตอนนี้ประมาณ 1-2 เดือน ข้าวโพดมีทุกรุ่นตั้งแต่ 10 วัน 20 วัน เดือนครึ่งถึง 2 เดือน และกำลังออกดอกอีกนะครับ มีทุกระยะเลย

คุณบุญมี เผยปัญหาที่พบของการปลูกข้าวโพดในขณะนี้คือ “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ซึ่งหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดตัวนี้ระบาดมาตั้งแต่ช่วงหลังนามาแล้ว วิธีการของหน่วยงานภาครัฐกับเกษตรกรลำดับแรกคือ ส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกรมส่งเสริมการเกษตรสร้างการรับรู้สำหรับอบรมการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้านที่มีการปลูกข้าวโพดให้ทางอำเภอนี้ จัดตามแผนการฝึกอบรมเกษตรกรโดยสร้างการรับรู้เกษตรกรทุกรายในพื้นที่เฝ้าระวังเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งดำเนินการไปแล้วตอนนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง มีศัตรูระบาด

หลังจากการระบาดเราจะสร้างการรับรู้ โดยการปล่อยแตนเบียนเข้าไปเพื่อทำลายไข่ของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยใช้ชีววิธีก็สามารถช่วยลดการระบาดลงได้ และคิดว่าสถานการณ์ศัตรูพืชโดยเฉพาะหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เกษตรกรและส่วนราชการน่าจะเอาอยู่ โดยสาเหตุของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แหล่งกำเนิดมาจากประเทศแอฟริกา ซึ่งระบาดในปีที่แล้วช่วงข้าวโพดหลังนา…ข้าวโพดหลังนาในประเทศไทยเข้าร่วมกัน 37 จังหวัด ระบาดพร้อมกันทั้ง 37 จังหวัด ผมก็แปลกใจเหมือนกัน ทำงานมา 30-40 ปีนี้ไม่เคยเจอศัตรูพืชระบาดเร็วและหนักขนาดนี้ ถ้าหากว่าเกษตรกรไม่หมั่นตรวจแปลงหรือสำรวจพื้นที่ปลูก ปล่อยสักหนึ่งอาทิตย์หรือสองอาทิตย์นี่เรียบร้อยเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น การเฝ้าระวังเรามีทั้งทางกรมและทางส่วนของราชการ มีการให้คำแนะนำการเฝ้าระวังในเรื่องนี้ว่าจะเกิดการระบาดและสุดท้ายก็ระบาดจริงๆ แต่เราก็สามารถที่จะเอาอยู่เนื่องจากว่าเราประสานงานและติดต่อกับเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีผลกระทบนิดหน่อยไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ที่เสียหายจริงๆ

ทั้งนี้ หนอนกระทู้จะทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุ 15 วัน ถึงประมาณ 1 เดือน หนอนชอบช่วงข้าวโพดกำลังอ่อนอยู่ ถ้าข้าวโพดออกดอกที่หัวแล้วก็จะเกิดการทำลายน้อยลง โดยผีเสื้อจะทำการวางไข่ไว้ใต้ใบข้าวโพด แค่เปิดใบขึ้นก็สามารถเห็นกลุ่มหนอนได้แล้ว กล่าวคือต้องหมั่นตรวจแปลง ต้องช่วยๆ กัน ถึงอย่างไรหลังการออกดอกแล้วคงจะไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนของภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังในข้าวโพด กล่าวคือข้าวโพดถ้าออกดอกแล้วฝนไม่ตก การผสมเกสรหรือการติดฝักเมล็ดก็จะไม่ค่อยดี ปีนี้เราก็เกรงกลัวอยู่เหมือนกันสำหรับเรื่องภัยแล้ง

คุณบุญมีกล่าวถึงในส่วนของสถานการณ์พืชไร่ว่า ในขณะนี้นั้นยังคงไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไรนัก ถ้าหากว่าฝนไม่ทิ้งช่วงหรือว่าไม่แล้งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้นะครับ คิดว่าผลกระทบก็คงจะไม่เกิดขึ้นนัก แต่ถ้ามันแล้งจริงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมไม่ตกเลย คิดว่าจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่แน่นอน โดยภาพรวมแล้วจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีพืชเศรษฐกิจหลากหลายความเป็นอยู่ของเกษตรกรยังคงดำเนินชีวิตอยู่ได้ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่มีตัวเลือกพืชน้อย ในภาพรวมจังหวัดนครสวรรค์ถือว่ายังใช้ได้อยู่ ยังดีอยู่

แต่เจอปัญหาเรื่องลม

กล้วยไข่ที่ปลูกแถวอำเภอเมือง จริงๆ แล้วเป็นพืชของจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นเขตติดต่อเรา เราสามารถที่จะปลูกได้ อย่างกล้วยไข่ในขณะนี้ที่เราปลูกอยู่แถวตะเคียนเลื่อน แหล่งที่จำหน่ายส่วนมากจะไปทางตลาดไท ทางต่างประเทศก็มี ในส่วนของผลผลิตก็ดีอยู่ในเกณฑ์กว่า 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถที่จะปลูกได้ แต่อาจจะมีปัญหานิดหน่อยสำหรับกล้วยไข่ที่ปลูกในจังหวัดนครสวรรค์คือในช่วงต้นฤดูเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเจอปัญหาพายุลมต้นล้ม แนวทางการป้องกันตัวนี้ลำบากมาก โดยเรามีแผนที่จะให้เกษตรกรปลูกพืชกันลม ทุกปีจะมีวาตภัยเข้ามาทำลายสวนกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่

มะละกอก็ไม่ธรรมดา

ฝรั่งเราก็มีเยอะที่เก้าเลี้ยว มีฝรั่งกิมจูและฝรั่งอื่นๆ หลากหลายพันธุ์ด้วยกัน ตลาดก็จะเป็นกรุงเทพฯ ส่วนในจังหวัดนครสวรรค์ห้างร้านต่างๆ เกษตรกรนำมาจำหน่ายเอง ในส่วนของปัญหาที่พบเจอคือเพลี้ย แต่เราป้องกันได้โดยการห่อผล จะไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าไรนัก โรคจุดดำที่เกิดจากเชื้อราก็มีบ้างไม่ค่อยเท่าไร นอกจากฝรั่งแล้วก็ยังคงมีมะลิโดยการเก็บดอกขายที่อำเภอเมืองและอำเภอเก้าเลี้ยวจะค่อนข้างปลูกเยอะ นอกจากพวกนี้แล้วก็จะมีพืชผักปกติทั่วไปมีการปลูกขายบ้างปลูกบริโภคบ้าง

อีกทั้งยังมีมะละกอที่ปลูกแถวจันเสน เป็นมะละกอพันธุ์แขกนวล ถ้าถามว่ามะละกอผลิตยากไหม ก็ตอบว่ายากครับ เนื่องจากโรคใบด่างวงแหวนซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส โดยวิธีการป้องกันก็มีการใช้ชีวภาพก่อน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี ในขณะนี้เองภาครัฐพยายามให้ลดการใช้สารเคมีลงและมีนโยบายรัฐบาลจำกัดให้มีการใช้สารเคมี 3 ตัว มีการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรที่จะซื้อ มีการสอบก่อนถึงจะซื้อจะใช้และจะขายได้ เพราะฉะนั้น เราจึงได้พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่

สินค้าเกษตรปลอดภัย

คุณบุญมีกล่าวถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร “ที่สำคัญของกลุ่มตอนนี้อยู่ที่อำเภอเมือง มีการแปรรูปข้าว…สีข้าวบรรจุขายของวิสาหกิจชุมชน มีการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพวกครีม พวกอะไรต่างๆ มีค่อนข้างจะมากอยู่นะ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสิ่งทอที่นำมาตัดเป็นเสื้อผ้า

ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร Genting Club ช่วงเย็นจะมีตลาดที่เหล่าประชาชนไปจับจ่ายใช้สอยที่เก้าเลี้ยวคือตลาดยามเย็น แล้วก็มีตลาดเกษตรกรอยู่หน้าค่ายจิรประวัติ มีวันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตลาดเราสินค้าปลอดภัยครับ พืชผัก ผลไม้ที่นำไปขายซึ่งแต่ละกลุ่มที่นำไปจำหน่ายจะต้องมีมาตรฐานรองรับ ถ้าเป็นอาหารก็ต้องมี อย. ถ้าเป็นผลไม้ก็ต้องมี GAP รองรับ จุดขายของเราคือความปลอดภัย คนที่ขายในตลาดเป็นเกษตรกรโดยตรง เราให้เกษตรกรผลิตเองและจำหน่ายเอง ทางด้านราคาถามว่าขายแพงไหม ตอบเลยว่าไม่ สูสีกับแม่ค้าทั่วไป แต่เรามีเครื่องหมายรับรอง GAP และ อย.รับรอง

ตลาดนี้สร้างมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ช่วงแรกเราพยายามประชาสัมพันธ์ว่าสินค้าเรานั้นเกษตรกรปลูกเอง ปลอดภัย เกษตรกรที่จะมาจำหน่ายถ้ามีการใช้สารเคมี สารเคมีนั้นต้องหมดฤทธิ์แล้วถึงจะมาจำหน่ายได้ บางครั้งสินค้าบางตัวก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีแต่ต้องใช้ในปริมาณที่ปลอดภัยจริงๆ เกษตรกรที่มาขายในตลาดเป็นเกษตรกรรายย่อย

คุณบุญมีกล่าวสรุปภาพรวมตลาดสินค้าทางการเกษตร ว่าจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทานก็ตาม พื้นที่ราบลุ่มเหมาะสมต่อการเกษตร ในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดนครสวรรค์อยู่ได้ ตัวหนึ่งคือภาคการเกษตรสามารถที่จะให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ อยู่ได้ สังเกตโรงสีในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะโรงสีข้าว จังหวัดนครสวรรค์มีเยอะมากนะครับ นั่นก็หมายความว่าถ้าโรงสีข้าวมาก แสดงว่าผลผลิตข้าวที่ได้ก็มีเยอะ ความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับในจังหวัดนครสวรรค์อาศัยภาคเกษตร

แปลงใหญ่ก้าวหน้า

คุณบุญมีกล่าวถึงภาพรวมเกษตรแปลงใหญ่ว่า แปลงใหญ่เรามีภาพรวมอยู่ทั้งหมด 75 แปลง มีแปลงใหญ่ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด แปลงใหญ่ที่เราทำอยู่ในขณะนี้เราพยายามดึงเกษตรกรแปลงเล็กมารวมกันเป็นแปลงใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่เราทำสำเร็จคือตลาดนำการผลิตที่อำเภอบรรพตพิสัยกลุ่มหนึ่ง เราเชิญผู้ประกอบการในโรงสีมาคุยกับสมาชิกแปลงใหญ่โดยเราจัดให้ผู้ประกอบการกับเกษตรกรมาพบกัน ผู้ประกอบการต้องการผลผลิตข้าวแบบไหนพันธุ์อะไร เขาก็มาแนะนำให้เกษตรกรปลูกพันธุ์นั้น เมื่อปลูกพันธุ์นั้นเสร็จแล้วก็คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวพันธุ์นั้นคุณภาพดี

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและศูนย์เมล็ดพันธุ์ฯ เราลงไปให้คำแนะนำโดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมาคุยกันและตกลงกันได้ เขาจะซื้อในราคาที่สูงกว่าเกษตรกรทั่วไป หลักๆ คือประกันราคาให้เลยที่บรรพตพิสัยและยังมีกลุ่มที่ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์แปลงใหญ่ 40-50 ราย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ส่วนราชการคือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดนครสวรรค์รับซื้อจากเกษตรกรเลย เป็นตลาดรองรับที่แน่นอนมีหลายกลุ่มทำอยู่ในขณะนี้ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของปัจจัยการผลิตเขาก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้ ทางด้านการประกันราคาข้าวที่บรรพตพิสัยสูงกว่าเกษตรกรทั่วไปตันละ 200 บาท ถ้าสมมติเกษตรทั่วไปขายเกวียนละ 6,000 บาท เขาก็ให้เลย 6,200 บาท สูงกว่าเกษตรกรทั่วไปตันละ 200 บาทที่เราทำอยู่ในขณะนี้