เมนูยอดฮิต! ชาวบ้านขายอึ่งอ่างข้างทาง คนแห่ซื้อคึกคัก

โกยรายได้งามวันละหมื่นวันที่ 10 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณริมถนนสาย 304 ทั้งขาขึ้น และขาล่อง ตั้งแต่ อ.วังน้ำเขียว ถึง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ช่วงนี้พบว่ามีชาวบ้านมาตั้งแผงขายอาหารป่ากันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะแผงขายอึ่งอ่าง ซึ่งช่วงนี้มีมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบนภูเขา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปักธงชัย พากันขึ้นไปจับอึ่งอ่างมาขายริมถนนสาย 304 สร้างรายได้ให้กับครอบครัว เช่นเดียวกันกับครอบครัว นางสมใจ กล่อมเกษม อายุ 42 ปี ซึ่งได้มาตั้งแผงขายอึ่งอ่าง อยู่ริมถนนสาย 304 ตรงข้ามกับสำนักงาน อบต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย มีลูกค้าซึ่งเป็นประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์ แวะเวียนมาซื้ออึ่งอ่าง ไปประกอบอาหารกันอย่างต่อเนื่อง

นางสมใจ กล่าวว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่มีพายุฤดูร้อนเข้ามาในพื้นที่ทำให้ฝนตกลงมาอย่างหนักบนภูเขา ซึ่งจะมีอึ่งอ่างภูเขาออกมาหากินจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากันออกจับอึ่งอ่างมาขาย เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยอึ่งอ่างภูเขาจะออกมาให้จับปีละครั้งในช่วงนี้เท่านั้น ถือเป็นอาหารป่าหารับประทานยาก ดังนั้น จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนชาวอีสาน ที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ซึ่งนิยมซื้อไปประกอบอาหารรับประทานกันที่บ้านเกิด

“โดยตนจะขายอึ่งอ่างทั้งสดและย่าง สำหรับอึ่งอ่างสดไม่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 250 บาท ถ้ามีไข่ด้วยจะตกกิโลกรัมละ 350 บาท อึ่งอ่างย่างมีไข่ 5 ตัว ขายไม้ละ 100 บาท ไม่มีไข่ ขายไม้ละ 50 บาท ส่วนอึ่งร้า (เหมือนปลาร้า) จะขายกระปุกละ 150 บาท ซึ่งถ้าเป็นช่วงปกติก็จะขายได้วันละประมาณ 7,000-8,000 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาฉลองเทศกาลสงกรานต์ จะสามารถขายได้วันละ 20,000 บาท นอกจากขายอึ่งอ่างแล้ว ยังมีเห็ดเผาะ ซึ่งเป็นเห็ดป่าที่จะหารับประทานได้ยาก มีออกดอกให้เก็บเฉพาะช่วงนี้เท่านั้น โดยชาวบ้านเก็บมาขายกิโลกรัมละ 300 บาท ทั้งนี้ถือว่าเป็นสีสันการซื้อของป่าฝากครอบครัวสำหรับนักเดินทางได้เป็นอย่างดี” นางสมใจ กล่าว

หลังจากเฟซบุ๊กแฟนเพจบรรเทาภัยเฉพาะกิจรายงานเหตุเมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 เมษายน มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าค่ายของโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนประชาธิปไตย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกิดอาการป่วยอาเจียนและท้องเสียเป็นจำนวนมาก จนต้องให้หน่วยแพทย์วชิรพยาบาลเข้าให้การช่วยเหลือนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้เคียงนั้น

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 10 เมษายน นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.20 น. ศูนย์เอราวัณรับแจ้งสายด่วน 1669 ถึงเหตุนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนสตรีวิทยา เขตพระนคร มีอาการปวดท้องและท้องเสีย จำนวนหลายสิบราย ทำให้ศูนย์เอราวัณได้ประสานงานรถหน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล (ALS) จำนวน 2 คัน และรถพยาบาลมูลนิธิร่วมกตัญญู จำนวน 6 คัน รวม 8 คัน เข้าช่วยเหลือเร่งด่วน ก่อนนำส่งยัง รพ.กลาง จำนวน 11 ราย รพ.วชิรพยาบาล จำนวน 6 ราย และ รพ.ราชวิถี จำนวน 2 ราย รวม 19 ราย ปัจจุบันได้ประสานไปยังสำนักอนามัย กทม.เพื่อสอบสวนโรคดังกล่าวแล้ว

ล่าสุด เวลา 11.45 น. ศูนย์เอราวัณ รายงานสรุปมีนักเรียนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 22 ราย โดยนำส่งต่อ รพ.กลาง 11 ราย รพ.วชิรพยาบาล 9 ราย และ รพ.ราชวิถี 2 ราย แบ่งเป็น เพศชาย 6 ราย และเพศหญิง 16 ราย เบื้องต้นทราบว่าเป็นนักเรียนจากหลายโรงเรียนไปเข้าค่ายของมูลนิธิพอเพียง

ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า เบื้องต้น สำนักอนามัย กทม. อยู่ระหว่างส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปสอบสวนสาเหตุของปัญหาที่นักเรียนเกิดมีอาการท้องเสียพร้อมๆ กันหลายคนที่โรงเรียนดังกล่าว

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภคและอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 61-63 ภายใต้ WTO ปริมาณ 230,559 ตัน โดยภาษีในโควต้า ร้อยละ 10 นอกโควต้าร้อยละ 133 ระบุ ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองเฉพาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภค จะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทาง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบสรุปมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2560 และเห็นชอบให้เปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภคและกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 2561-2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ

สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2560 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง ตามที่ผูกพันภายใต้ WTO ปริมาณ 230,559 ตัน/ปี ภาษีในโควต้าลดลงจากที่ผูกพัน ร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 ส่วนภาษีนอกโควต้า ร้อยละ 133 และให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2560 คือเป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเอง และให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืช และด่านอาหารและยา เท่านั้น

ในส่วนของผู้นำเข้ากากถั่วเหลือง เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค จะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทางประกอบการนำเข้า ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรรโควต้า กำหนดให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ซึ่งเป็นการเปิดตลาดและบริหารนำเข้าคราวละ 3 ปี หลังจากที่ได้แยกพิกัดสินค้ากากถั่วเหลืองออกเป็น 3 รหัสย่อย ในปี 2560 คือ 1) เพื่ออาหารสัตว์ 2) เพื่อมนุษย์บริโภค และ 3) เพื่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ในส่วนของพิกัดเพื่อมนุษย์บริโภค และเพื่ออุตสาหกรรมอื่นๆ นับได้ว่าเปิดเป็นปีแรกใน ปี 2560 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบเพียงพอต่อความต้องการใช้

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการบริหารการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2561 ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และกรอบการค้าอื่น โดยมีผู้มีสิทธินำเข้าจำนวน 6 สมาคม 18 บริษัท และผู้มีสิทธินำเข้าจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนการบริหารการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ปี 2561 ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับปี 2560 โดยที่หลักเกณฑ์การจัดสรรโควต้าให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด และให้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ในการนำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง ห้ามนำไปจำหน่ายต่อ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองของไทยที่ลดลง และความต้องการใช้ถั่วเหลือง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแนวโน้มการผลิตในประเทศได้มุ่งเน้นการผลิตถั่วเหลืองคุณภาพดีเพื่อใช้ในการแปรรูปอาหาร ซึ่งคาดว่าความต้องการเพื่อแปรรูปอาหารจาก 89,776 ตัน ในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 115,494 ตัน ในปี 2564 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.50 ต่อปี) ดังนั้น คณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ถั่วเหลืองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ปี 2561-2564 ด้วยวิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มแปรรูปอาหาร อาหารสัตว์และสกัดน้ำมัน เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศอย่างยั่งยืน

“สมคิด” เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ “ธปท.-คลัง-ตลท.-กลต.-พณ.” ถกด่วนประเมินผลกระทบ หลังสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ปะทุ สินค้าส่งออกตัวไหนกระทบบ้าง เตรียมแนวทางตั้งรับ พาณิชย์- แบงก์ชาติหวั่น สินค้าที่ทั้งสองประเทศกีดกัน อาจเอามาดัมพ์ทุ่มตลาดในภูมิภาคหรือไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เรียก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ (พณ.) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย (ตลท.) หารือประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเงิน โดยเฉพาะสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร ต้องมีแนวทางรับมืออย่างไรบ้าง เพราะไม่รู้ว่าการเจรจาของ 2 ประเทศ จะยืดเยื้อเพียงใด

สถานการณ์ไม่ชัดเจนอย่าคาดเดา มอบหมายพาณิชย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ไปศึกษาถึงผลดี ผลเสียต่อการค้าต่อไทย แม้ก่อนหน้าจนถึงตอนนี้ผลกระทบยังไม่ชัด แต่เพื่อความไม่ประมาทให้ไปดูว่าสินค้าสำคัญของไทยใดที่จะถูกกระทบในทางลบและจะหาทางออกไปทางใดได้บ้าง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจมหภาคทุกอย่างไปได้ดี แม้จะมีสื่อเช่นดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ไทยจะอยู่ในสถานะเหมือนญี่ปุ่นทั้งเรื่องดอกเบี้ยไม่ขึ้นมาเป็นเวลานาน และจับตาค่าเงินของไทย

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ประเมินผลกระทบในระยะสั้นมีไม่มาก และเป็นไปได้ที่ผลกระทบจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งด้านลบและบวก ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับรมว.คลังและ ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่สิงคโปร์ บางประเทศก็ระบุว่า ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น เช่น เวียดนาม ที่ได้รับ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น สำหรับไทยต้องรอผลการศึกษาของพาณิชย์

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างประเมินผลรอบด้าน เพราะว่ามีทั้งด้านลบและด้านบวก สินค้าหลายอย่างที่เราอยู่ในวงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อเกิดการต่อสู้กันในรูปแบบนี้ก็จะมีสินค้าส่วนเกิน (surplus) ที่สหรัฐและจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปยังตลาดของทั้งสองประเทศได้ สินค้าเหล่านี้ ต้องหาตลาดที่จะส่งออกทดแทน มีโอกาสที่สินค้าบางประเภทจะถูกดัมพ์ตลาดเข้ามาในภูมิภาค หรือเข้ามาในไทย

นายวิรไท เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยได้หารือกับกระทรวงการคลังของสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ไทยชี้แจงมาตลอดว่า ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อเพิ่มความได้เปรียบ แต่ที่ต้องแทรกแซง เพราะต้องดูแลค่าเงิน หลังจากมีเงินทุนไหลเข้ามามาก เชื่อว่าสหรัฐจะเข้าใจ

จากนี้ต้องระมัดระวังเรื่องมาตรการกีดกันการค้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ สินค้าที่สหรัฐห้ามนำเข้า อาจเข้ามา ทุ่มตลาดในไทย รวมทั้งภาวะตลาดทุนโลกมีความผันผวน อาจส่งผลกระทบ ต่อการลงทุนชะลอตัวได้

ชัยภูมิ – วันที่ 9 เมษายน นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลวันเรศสีมา ปลัดจังหวัดชัยภูมิ พร้อม นายมนตรี ชาลีเครือ นายก อบจ.ชัยภูมิ และ พล.ต.ต. สมพจน์ ขอมปรางค์ ผบก. ภ.จว.ชัยภูมิ ร่วมพิธีเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนต้านยาเสพติด นำร่องขยายผลตามโครงการปักกลดหมู่บ้านปลอดยาเสพติด และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ที่โรงแรมสยาม ริเวอร์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

นายมนตรี เปิดเผยว่า ครั้งนี้จะถือเป็นการจัดชุดปฏิบัติการที่จะมีทั้งตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เครือข่ายเด็กเยาวชนสถานศึกษา ลงพื้นที่ไปอยู่ร่วมกันในชุมชนให้ต่อเนื่องตลอด 1 เดือน เพื่อให้คนในชุมชนได้เกิดความตระหนักช่วยกันลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในชุมชนให้ลดน้อยลงมากขึ้นในทุกชุมชนเป้าหมาย ให้มากขึ้นใน 89 หมู่บ้าน 56 ตำบล ใน 11 อำเภอ นำร่อง พร้อมติดตามประเมินผลให้ได้ผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติการลุยปักกลดไปทุกหมู่บ้าน

คพ.ติดตามการจัดการขยะ ทต.ปากน้ำฉวาง สามารถกำจัดขยะตกค้างกำจัดสะสม และปรับปรุงสถานีกำจัดขยะมูลฝอยใหม่ คัดแยกขยะและนำมาจัดทำเป็นขยะเชื้อเพลิงได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหาขยะในท้องถิ่นและพื้นที่รอบข้าง พร้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนเข้าศึกษาดูงาน

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ คพ.ได้จัดทำโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ ส่งผลให้ อปท.ทั่วประเทศ ดำเนินการกำจัดขยะตกค้างขยะสะสม และปรับปรุงสถานีกำจัดขยะมูลฝอยใหม่ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ล่าสุด คพ. ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดการขยะมูลฝอยเทศบาลตำบลปากน้ำฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งใน อปท. ที่สร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยใหม่ สามารถขับเคลื่อนการจัดการขยะได้เป็นอย่างดี

นางสุณี กล่าวว่า ทต.ปากน้ำฉวาง ได้ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรจากขยะมูลฝอยชุมชน และนำขยะมูลฝอยมาแปลงเป็นขยะเชื้อเพลิง (อาร์ดีเอฟ) ในการกำจัดขยะมูลฝอย โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่รับจาก อปท. ใกล้เคียง 8 แห่ง และ 1 โรงพยาบาล จำนวนขยะ 20 ตัน/วัน สามารถคัดแยกเป็นขยะอาร์ดีเอฟ โดยเฉลี่ย 1.2 ตัน/วัน และนำไปจำหน่ายที่ บริษัท เอสซีไออีโค่ จำกัด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะมูลฝอย ส่วนขยะมูลฝอยที่เหลือจากการคัดแยกขยะรีไชเคิล นำไปฝังกลบในบ่อขยะ เป็นการลดพื้นที่ในการฝังกลบขยะมูลฝอย นำไปสู่การลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หากทุกคนร่วมกันคัดแยกขยะมูลฝอย ณ บ้านเรือน สถานประกอบการ จะเป็นการลดพื้นที่ในการฝังกลบขยะมูลฝอย โดยเฉพาะเศษอาหาร หากนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ย จะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน แหล่งเพาะเชื้อโรคได้ “ขยะจะหมดไปด้วยการร่วมใจของทุกคน”

นายบุญธรรม รุ่งเรือง นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำฉวาง กล่าวว่า เดิมที่ทิ้งขยะแห่งนี้มีการทิ้งขยะมายาวนาน มาถึงปี 2557 มีชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากบริเวณที่ทิ้งขยะ จึงทำให้หลายฝ่ายร่วมวางแผนแก้ไข ประกอบกับ คสช. เห็นชอบกับโรดแมป การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ส่งผลให้สถานที่กำจัดขยะแห่งนี้ได้รับการปรับปรุง โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประจำปี 2559 งบประมาณ 34,505,000 บาท โดยการกำจัดขยะตกค้างเก่าสะสม และได้ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร ปัจจุบัน ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยการจัดการสิ่งแวดล้อมรองรับการท่องเที่ยวสีเขียว เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชน ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้มาท่องเที่ยวในอำเภอฉวาง

นางกมลทิพย์ สงค์ดำ ผอ.โรงเรียนบ้านวังตลับ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครศรีธรรมราช เขต 2 หนึ่งในครูผู้ได้รับรางวัลครูดี ไม่มีอบายมุขต้นแบบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปี 2560 เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวต่อยอดมาจากการดำเนินโครงการสถานศึกษา ชุมชนควบคุมปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด) ในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปกป้องเด็กและเยาวชนควบคุมการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยง สร้างพื้นที่ปลอดภัยลดปัญหา เหล้า บุหรี่ ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งใน สถานศึกษาและชุมชน ที่จัดโดยจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 12 ร่วมกับศูนย์ควบคุมปัจจัยเสี่ยงจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)

“รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ และในนามโรงเรียนได้ส่งผลงานประกวดโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ระดับเพชร โดยใช้แนวคิดและหลักการ 4 ประสาน 2 ค้ำ ได้แก่ การประสานงานกับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนครู ผู้ปกครองนักเรียนส่วน 2 ค้ำ ได้แก่ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาในท้องถิ่นและชุมชน โดยดำเนินตามยุทธศาสตร์ 5 มาตรการ คือป้องกัน ค้นหา รักษา เฝ้าระวัง และบริหารจัดการ ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการอย่างจริงจังกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ” นางกมลทิพย์ กล่าว

ด้าน นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับครูทั้ง 100 คน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นครูดีไม่มีอบายมุขต้นแบบ ทั้งซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ และเพื่อนครู โดยเฉพาะการปกป้องเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ชุมชน และสังคม ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดปัญหาจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และอบายมุขต่างๆ เพื่อสร้างสังคมที่ดีมีความปลอดภัย เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ และสอดรับกับสนองนโยบาย “นครปลอดภัย ปลอดยาเสพติด” ของจังหวัดได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการโครงการศูนย์กลางนวัตกรรม หรืออินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เผยว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นนโยบายในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปองค์ความรู้ ผ่านระบบการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิรูปคนและการศึกษาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการเดิม เพื่อสร้างความสามารถในการผลิตและการแข่งขันให้เอสเอ็มอีของประเทศ

รศ.ดร. พีระพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตั้งเป้าดันเอสเอ็มอีไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ต่ำกว่า 10% โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ 1. กลุ่มเกษตรและอาหาร เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ ผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม อาหารเพื่อผู้ป่วยและ ผู้สูงอายุ ตลอดจนอาหารที่มีรูปแบบและนวัตกรรมการบริโภคแบบใหม่ อาทิ น้ำพริกหนุ่มอบแห้ง เยลลี่ผักสมุนไพร เป็นต้น 2. กลุ่มพลังงานชีวภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพและชีวมวลสำหรับชุมชน อาทิ ถ่านไร้ควันจากวัตถุเหลือทิ้งจากการเกษตร น้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก เป็นต้น

ผอ.โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมกล่าวต่อไปว่า 3. กลุ่มสังคมสูงอายุ การใช้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและของโลก อาทิ บ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ ระบบหุ่นยนต์โต้ตอบเพื่อเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้า สมุนไพรสกัด ตลอดจนแอพพลิเคชั่นต่างๆ

กลุ่มเมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัย นวัตกรรมการเตือนภัยทางธรรมชาติ และ 5. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมด้วยการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยีกับต้นทุนภูมิปัญญาและศักยภาพท้องถิ่น สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ ไหมไทยไฮเทคไม่กลัวเครื่องซักผ้า เครื่องถมไร้สารตะกั่ว เป็นต้น

รศ.ดร. ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงความร่วมมือของ มข. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ บ.เชฟรอน ประเทศไทย ในการ จัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหาร” ว่า มข.ได้ร่วมมือกับโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าสู่ปีที่ 3 โดยเกิดกิจกรรมช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่บุคลากรในพื้นที่ และสานต่อให้เกิดเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอีสาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐร่วมเอกชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศ

“การจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหารตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการยกระดับ จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นแหล่งผลิตแรงงานคุณภาพของประเทศ และตรงกับเป้าหมายของ มข.ในการพัฒนาคนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” รองอธิการบดี มข.กล่าว