เมล็ดถั่วลิสง ฝักค่อนข้างเล็ก เมล็ดถั่วอยู่ในฝักหนึ่งมีประมาณ

ส่วนใหญ่มี 2-3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างยาว เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีม่วงเข้มจัดเกือบดำ ฝักแก่เมล็ดมีสีม่วงเข้ม ฝักที่ยังอ่อนเมล็ดเป็นสีม่วงอ่อน ถัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดจะพบใบเลี้ยงขนาดใหญ่และหนาประกบกัน 1 คู่ เปลือกบาง มี 2 เมล็ด ต่อฝัก เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน หากปล่อยฝักจนเลยระยะเวลาเก็บเกี่ยวเกิน 4 เดือน เมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นเมล็ดจะงอกเอง

นางวรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา เปิดเผยว่า รายได้จากภาคเกษตร คิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ทุเรียน มังคุด แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในหลายด้าน และไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น

ภาครัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่ ไททา มองว่าประเทศไทยจะต้องเป็นจุดศูนย์กลางของอาหารโลก ที่มีคุณภาพและพัฒนาให้เป็นแบรนด์ของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่จุดเริ่มต้น เกษตรกร ปัจจัยการผลิต ระบบการเพาะปลูก การส่งเสริมและสนับสนุน จนถึงการตลาดและจัดจำหน่าย

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ หยุดนโยบายประชานิยม หันมาพิจารณาแนวทางที่เป็นจริงและก่อประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะนโยบายภาคการเกษตร อันเป็นรายได้หลักของประเทศ

ซึ่ง ไททา เสนอ 3 นโยบายหลักด้านการเกษตรที่อยากให้พรรคการเมืองนำไปชูเป็นนโยบายพรรค ได้แก่ 1. เกษตรกรสร้างชาติ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ประสานร่วมกับภาคเอกชน อุตสาหกรรมและรัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ที่มีประสบการณ์ เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร ไม่ใช่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์มาบริหารหรือจัดการภาคเกษตร

2. เกษตรมาตรฐาน จีเอพี ใช้สารเคมีปลอดภัย ส่งเสริมความรู้การเกษตรมาตรฐาน จีเอพี ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในหลายประเทศใช้มาตรฐานนี้ในการกีดกันสินค้าจากไทย ปัจจุบัน ภาครัฐให้เกษตรกรใช้มาตรฐาน GAP โดยสมัครใจ ควรกำหนดให้เป็นมาตรฐานหลักที่ทุกภาคเกษตรต้องปฏิบัติ

3. ราคากลางสินค้าเกษตร ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดราคากลางสินค้าในหลายประเภท จึงอยากพิจารณาราคากลางสินค้าเกษตรบ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

“ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทย คือ ยังหลงประเด็นกับการจัดการปัญหาที่ไม่ตรงจุด และสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ เช่น การระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรระดับประเทศ ควรให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ แต่ปัจจุบันเป็นการให้หน่วยงานอื่นที่ขาดความรู้ ข้อเท็จจริง และข้อมูลวิทยาศาสตร์มาตัดสิน”

การพัฒนาเกษตรมาตรฐาน จีเอพี ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทั่วโลกยอมรับ ควรให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัย ใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ตามสภาพแวดล้อม เกษตรกรที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีก็มีแนวทางแนะนำด้วย

ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ (YAMAOKA HANASAKA FOOTBALL ACADEMY) ก่อตั้งโดย บริษัท ยันม่าร์ ประเทศไทย บางกอกกล๊าส กรุ๊ป สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ทีมฟุตบอลอันดับต้นในเจลีก ญี่ปุ่น และเป็นพันธมิตรลูกหนังของทีมบีจี มีวัตถุประสงค์ในการฝึกฝนเยาวชนไทยที่รักและสนใจในกีฬาฟุตบอล แต่ขาดแคลนโอกาสและทุนทรัพย์ในการฝึกฝน รวมถึงในเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน ให้ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อสร้างโอกาสในการก้าวไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ควบคู่ไปกับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและช่วยสนับสนุนการยกระดับกีฬาฟุตบอลในประเทศไทยอีกด้วย

“ผมได้เห็นการพัฒนาของเยาวชน ให้พวกเขาได้ทำสิ่งที่เขารัก ช่วยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพในตัวเอง และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ มร.ยามาโอกะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ โดยพวกเราหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือ และสนับสนุนการสานฝันเด็กไทยต่อไปในอนาคต” มร.โนบุโยชิ ฟูจิตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิยามาโอกะ ฮานาซากะ กล่าว

ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นสถาบันฟุตบอลอะคาเดมี่ระดับพรีเมี่ยม ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ ถือเป็นหนึ่งในทีมเยาวชนสโมสรไทยที่มีผลงานอันโดดเด่น มีการพัฒนาฝีมืออย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน โดยการฝึกซ้อมร่วมกับนักเตะอาชีพอย่าง บางกอกกล๊าส กรุ๊ป สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และทีมสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ทีมฟุตบอลอันดับต้นในเจลีก ในประเทศญี่ปุ่น

“ทางสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะของน้องๆ เยาวชนใน ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีทักษะการเล่น และเทคนิคต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และน่าจะพัฒนาให้เป็นทีมระดับโลก ตามที่พวกเขาหวังไว้ได้ในอนาคต ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้มิได้จำกัดอยู่เพียงกีฬาฟุตบอล แต่หมายรวมไปถึงการศึกษา ทักษะทางภาษา อุปกรณ์การฝึกซ้อม และสถานที่ ซึ่งล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักฟุตบอลเยาวชน” นายสุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด กล่าว

โดยสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด บริหารงานโดย บริษัท บีจีเอฟซี จำกัด ภายใต้บางกอกกล๊าส กรุ๊ป ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตแก้วและบรรจุภัณฑ์ ที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน หลังจากได้เข้าซื้อทีมจากสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งทางบริษัท ยันม่าร์ได้ให้การสนับสนุนสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

อีกหนึ่งทีมที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะของกลุ่มเยาวชน ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ ก็คือ ทีมเซเรโซ โอซาก้า ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลเจลีก ของประเทศญี่ปุ่น โดยคำว่า เซเรโซ ในภาษาสเปน มีความหมายว่า ดอกซากุระ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำเมืองโอซาก้า ซึ่งเซเรโซ โอซาก้า ได้เปิดกิจกรรมฟุตบอลคลินิกสำหรับเยาวชนไทย ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้าร่วมมากกว่า 200 คน

“ผมชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เข้าใจดีว่าการที่เด็กคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่รัก เดินไปตามเส้นทางที่ฝันไว้ มันคือสิ่งวิเศษที่สุด ผมจึงรู้สึกยินดีและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งกับการที่ทีมเซเรโซ โอซาก้าได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุน การตามหาความฝันของเด็กๆ เหล่านี้ ซึ่งจากการฝึกซ้อม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมมองเห็นว่าเยาวชนเหล่านี้มีแววทางด้านกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก จึงอยากให้โครงการและการสนับสนุนดีๆ เช่นนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” มร.ฮิโรอากิ โมริชิมะ ประธานสโมสรเซเรโซ โอซาก้า กล่าว

โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเหล่าเยาวชนใน ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การที่มีนักเรียนจำนวน 16 คนจะสำเร็จการศึกษาจากอะคาเดมี่ ในเดือนมีนาคม 2562 มีนักเรียน 4 คนได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และมีนักเรียน 2 คนได้รับการเซ็นสัญญากับสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้นำมาซึ่งความปลาบปลื้มให้กับกลุ่มเยาวชน โค้ชผู้ฝึกสอน ครอบครัวของเยาวชน รวมทั้งผู้สนับสนุนทุกฝ่าย อันได้แก่ มูลนิธิ ยามาโอกะ บริษัท ยันม่าร์ ประเทศไทย บางกอกกล๊าส กรุ๊ป สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ซึ่งพันธมิตรของ ยามาโอกะ ฮานาซากะ อะคาเดมี่ ทั้งหมดนี้ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันคือ การร่วมพัฒนาและสร้างความหวังให้กับวงการฟุตบอลไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ในโอกาสนี้ ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ ระหว่างทีมบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พบกับ ทีมเซเรโซ โอซาก้า ในฐานะพันธมิตรที่ร่วมมือสนับสนุนกีฬาฟุตบอลเพื่อเยาวชนมาด้วยกัน ณ สนามลีโอ สเตเดี้ยม เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา

การบริการวิชาการของสาขาการตลาด คณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.ศรีวิชัย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาไม้ไผ่ ในการจัดโครงการ “พัฒนาศักยภาพทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมี อาจารย์สุทธิกาญจน์ แก้วคงบุญ เป็นหัวหน้าโครงการ มีการพัฒนาอาชีพจากความต้องการของชุมชน ในการแปรรูปเห็ด โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ชไมพร อาจารย์คณะ อุตสาหกรรมเกษตร มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ทุ่งใหญ่

มาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านวิชาชีพให้กับชาวบ้านในการพัฒนาข้าวเกรียบเห็ดแครง เนื่องจากในชุมชนมีการเปิดดอกเห็ดแครงหลายครัวเรือนจนทำให้มีการต่อยอดเฉพาะด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวเกรียบเห็ดแครง เพื่อความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในชุมชน และเพื่อขยายโอกาสทางการตลาด ในการจำหน่ายสินค้าชุมชนมากขึ้น โดยเป็นอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทำให้มีความพร้อมในการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดแครงมากยิ่งขึ้น

อาจารย์สุธิกาญจน์ แก้วคงบุญ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานศึกษางานวิจัยจากสาขาวิชาการตลาดร่วมกับอุตสาหกรรมการเกษตร มทร.ศรีวิชัย ได้ร่วมกันบูรณาการนำศาสตร์วิชาทางด้านของการบริหารธุรกิจ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการแปรรูปอาหาร เลยกลายเป็นผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่มาจากเห็ดแครง นักวิจัยประเมินศักยภาพของกลุ่มเห็ดแครงบ้านนาไม้ไผ่คือ สามารถดำเนินการผลิตได้ และเสนอแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เห็ดแครงแปรรูป การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการผลิตและโอกาส

นายชัยพิพัฒน์ รัตนบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า การช่วยพัฒนาเห็ดแครงนั้น ทาง มทร.ศรีวิชัย ได้ลงมาดูแลในเรื่องของผลิตภัณฑ์เห็ดแครง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกเห็ดแครง ข้าวเกรียบเห็ดแครง ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเห็ดแครง เป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่เราปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทางตำบลนาไม้ไผ่เองได้สนับสนุนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากชุมชน ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาไม้ไผ่ก็เห็นความสำคัญในเรื่องของส่วนนี้ว่าเราทำยังไงให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบล

นางพิมลวรรณ์ สุขสวัสดิ์ ประธานกลุ่มเห็ดแครงชุมชนนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กลุ่มของเราก็จะผลิตเห็ดแครงเริ่มต้นก็จะผลิตก้อนเห็ดแครงและเปิดดอก หลังจากนั้น ก็นำดอกเห็ดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจะมีอยู่ 3 ตัว ตอนนี้ ตัวที่ 1 จะเป็นน้ำพริกเผาเห็ดแครง บรรจุขวด ต่อมาพัฒนามาเป็นน้ำพริกเห็ดแครงกรอบและก็น้องใหม่ล่าสุดก็คือ “ข้าวเกรียบเห็ดแครง” สำหรับช่องทางการตลาดตอนนี้ในส่วนของข้าวเกรียบจะไปได้ดีสุด จะส่งที่โรงเรียนทุ่งสงอาทิตย์ละ 250 ห่อ อนาคตก็จะส่งที่ห้างสหไทย

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สุธิกาญจน์ แก้วคงบุญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ โทรศัพท์ 089-822-4140

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.45 โดยเป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.12 จากสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และกุ้งขาวแวนนาไม

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนธันวาคม 2561 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.62 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางพารา และมีการชะลอซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลัก และ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้าในประเทศและ การส่งออกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการ มีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงรองรับนักท่องเที่ยวและวันหยุดต่อเนื่องท้ายปี

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 3.12 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และ กุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2562 จะลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 1.88 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.21 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และมะพร้าว ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.29 ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ สำหรับสินค้าสำคัญ ที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมกราคม 2562 ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีราคามีแนวโน้มลดลง ส่วนดัชนีผลผลิตจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวปีนี้ยังไม่สดใส ทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่ไทยจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้โดยการส่งออกปี 2561 ไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย โดยมีปริมาณ 11.09 ล้านตัน มูลค่า 180,270 ล้านบาท หรือ 5,619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อินเดียส่งออกอยู่ที่ 11.97 ล้านตัน

ส่วนในปีนี้สมาคมคาดการณ์การส่งออกไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ลดลง เพราะหลายตลาดสำคัญของไทยมีปริมาณการนำเข้าลดลง ไม่ว่าจะเป็นเบนิน เคนยา ญี่ปุ่น โดยข้าวหอมมะลิถือว่าลดลงทุกประเทศ เพราะปีที่ผ่านมาราคาข้าวหอมไทยสูงมากถ้าเทียบกับ ปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน เทียบกับปี 2561 ราคาข้าวหอมมะลิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิลดลง ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา ที่มีการหันไปนำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศอื่นแทน ส่วนข้าวเหนียวและปลายข้าว มีปริมาณลดลงเช่นกัน แต่เป็นการลดลงอย่างมีนัยยะโดยที่ลดลงคือ ปลายข้าวเหนียว แต่ข้าวเหนียวส่วนใหญ่จะเน้นการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับการคาดการณ์ผลผลิตทั่วโลก ปี 2562 น่าจะมีผลผลิตอยู่ที่ 491.1 ล้านตัน ลดลงจาก ปี 2561 ที่มีปริมาณ 495 ล้านตัน ส่วนไทยน่าจะมีผลผลิตอยู่ที่ 20.7 ล้านตันข้าวสาร

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภาพรวมการส่งออกข้าวในปีนี้ว่าค่อนข้างเหนื่อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งลดลงค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ปีนี้น่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน แม้ว่าผลผลิตจะไม่ลดแต่การส่งออกน่าจะลดลง โดยสมาคมมีการปรับตัวเลขการส่งออกข้าวเกือบทุกชนิด โดยข้าวขาว 5% ปี 2561 ส่งออกปริมาณ 5.9 ล้านตัน ปีนี้ปรับลดลงเหลือ 4.8 ล้านตัน ข้าวนึ่ง จากเดิม 2.7 ล้านตัน เหลือ 2.4 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ จาก 1.6 ล้านตัน เหลือ 1.3 ล้านตัน เป็นต้น สาเหตุหลักๆ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวมีการสต๊อกข้าวไว้ในปีที่ผ่านมาจำนวนมากแล้วโดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่มีการซื้อข้าวจากไทยไปเป็นจำนวนมากเพื่อสต๊อกไว้ ดังนั้นในปีนี้ประเทศเหล่านี้จะลดปริมาณการนำเข้าลง

สำหรับปัจจัยลบในปีนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยลบอยู่ เพราะค่าบาทของไทยแข็งกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประมาณ 2.28% ขณะที่ค่าเงินด่องของเวียดนามแข็งค่าขึ้นเพียง 0.05% ค่าเงินรูปีของอินเดีย อ่อนค่าลง 1.88% ดังนั้น หากค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่า อยู่ในระดับ 31.5 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ยกตัวอย่าง เช่น ราคาข้าวหอมมะลิเดิม ราคาอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน ราคาขายจะขยับมาอยู่ที่ 1,800 ดอลาร์สหรัฐ ต่อตัน เพิ่มขึ้น 57% หรือราคาข้าวขาว 5% เดิมราคาอยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน ราคาจะขยับมาอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน เพิ่มขึ้น 19% ซึ่งทำให้ขีดความสามารถด้านการแข่งขันลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบด้านอื่น เช่น อินเดียมีมาตรการกระตุ้นการส่งออกโดยที่รัฐบาลอุดหนุนเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ส่งออก ในอัตรา 5% ของมูลค่าส่งออกซึ่งทำให้ผู้ส่งออกสามารถกำหนดราคาขายต่ำกว่าประเทศอื่น ในขณะที่ราคาข้าวขาวเวียดนามมีแนวโน้มลดต่ำลงหลังจากที่มีอุปสรรคในการส่งออกไปจีน นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยมีสต๊อกข้าวปริมาณมากและมีการระบายข้าวเก่าในสต๊อกที่เก็บสำรองไว้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น และข้าวบางส่วนถูกส่งออกไปยังตลากแอฟริกา ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในแอฟริกาไป

รวมไปถึงประเทศผู้นำเข้าข้าวมีการปรับนโยบายในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ทำให้มีแนวโน้มที่จะลดการนำเข้า เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการนำเข้าในปริมาณที่มาก หรือฟิลิปปินส์มีการปรับนโยบายนำเข้าข้าวโดยเอกชนมีบทบาทในการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมากขึ้น

ส่วนปัจจัยบวก เช่น อินเดีย อยู่ในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าทุกปีเพื่อเก็บสต๊อกไว้ ทำให้มีข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาในการจัดหาสินค้าซึ่งทำให้การส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มลดลง

วันที่ (31 มกราคม 2562) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแผน วทน. สู่ภูมิภาคกลุ่มภาคกลางและตะวันออก ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน และยังได้รับเกียรติจาก ดร. นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวรายงาน ตลอดจนผู้บริหาร อาจารย์ และผู้ประสานงานคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายภาคกลางและตะวันออก จำนวน 150 คน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การดำเนินงานของเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี มีการขยายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด รวมถึงศูนย์ประสานงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำภูมิภาค นับเป็นกลไกที่สำคัญในการนำ วทน. ลงสู่พื้นที่ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงงานของส่วนกลางและพื้นที่ ให้พร้อมรับกับรูปแบบการบริหารราชการของประเทศที่ปรับไปสู่การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญในการผลักดันไปสู่ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะร่วมสนับสนุนและผลักดันในแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อสร้างความก้าวหน้าของสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยการนำองค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านกลไกเครือข่ายความร่วมมือที่เรียกว่า “คลินิกเทคโนโลยี” ซึ่งในภาคกลางมีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี จำนวน 37 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า 18 จังหวัด สำหรับภาคตะวันออกมีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี จำนวน 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า 6 จังหวัด