เมื่อข้าวของตนเองและเพื่อนบ้านขายหมดความต้องการของลูกค้า

ทำให้คุณสิริมณีเกิดไอเดียปลูกข้าวตามความต้องการของลูกค้า เพื่อขายผ่านโซเชียลแบบที่ทำอยู่ เริ่มศึกษาจริงจัง ว่าข้าวสายพันธุ์ใดเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกเหนือจาก ข้าวหอมนิล และทราบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวอีกสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง

จึงเริ่มหาซื้อเมล็ดพันธุ์นำมาปลูก และเริ่มปลูกโดยงดใช้สารเคมี จึงเรียกผลผลิตข้าวที่ได้ว่า ข้าวอินทรีย์ คุณสิริมณีเอง มีนา จำนวน 8 ไร่ และเริ่มชักชวนเพื่อนบ้านที่ถูกหลอกในคราวเดียวกันมารวมกลุ่ม จากกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากกว่า 10 คน กระทั่งปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 30 คน และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวปลอดสารพิษบ้านทุ่งน้อย เมื่อปี 2557 ปัจจุบัน มีที่นาของสมาชิกรวม 574 ไร่ ปลูกข้าว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข 43 ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวทับทิมชุมแพ

เริ่มสร้างเพจขายข้าวเอง และมีลูกค้าติดตามมารอซื้อข้าวจำนวนมาก เริ่มต้นการขาย ด้วยการตักข้าวใส่ถุง ปิดปากถุงด้วยแม็กซ์เย็บกระดาษ เริ่มพัฒนาเมื่อมีระยะเวลาขนส่ง ซึ่งข้าวกล้องจะมีมอดขึ้นเมื่อต้องเก็บไว้นาน จึงเริ่มผลิตใส่ถุงสุญญากาศ เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บ มีต้นทุนเพิ่มเรื่องถุงสุญญากาศ 5 บาท แต่ราคาขายยังคงเดิม เพื่อต้องการรักษากลุ่มลูกค้าไว้

จากเดิมใช้เครื่องสีข้าวในครัวเรือน สามารถสีข้าวได้ วันละ 200 กิโลกรัม ลูกค้ารอคิวซื้อข้าวจำนวนมาก เครื่องมีขนาดเล็ก สีไม่ทันขาย เมื่อรวมกลุ่มจึงลงทุนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน มีแผนการผลิต และเริ่มมีงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เปลี่ยนจากเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นเครื่องสีขนาดใหญ่ขึ้น และปัจจุบันเป็นเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่ ความสามารถในการสี วันละ 2 ตัน

ราคาขายจากเดิมลดลงต่อกิโลกรัมลงมา เพราะทราบดีว่า ตลาดการขายออนไลน์แข่งขันกันสูงมาก การขายข้าวอินทรีย์ ไม่ได้มีเพียงรายเดียว

ปัจจุบัน ยอดขายต่อเดือน ลูกค้าขายส่ง 4-5 ราย ประมาณ 20 ตัน ต่อเดือน ส่วนลูกค้าขายปลีก มียอดสั่งซื้อเข้ามา ต้องรอคิวสีข้าวล่วงหน้าแล้ว 1 เดือน

ปริมาณผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 50-70 ถัง ขณะที่การปลูกข้าวแบบเดิมที่เคยทำ ได้ปริมาณมากกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่รวมกลุ่มมองเห็นมูลค่าในผลผลิตข้าวที่ได้ เพราะสามารถขายได้ราคาสูงกว่าเท่าตัวเช่นกัน

กลุ่มวิสาหกิจฯ ที่ก่อตั้งขึ้น คุณสิริมณี บอกว่า เมื่อเราบอกกับลูกค้าว่า เราเป็นกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจสอบภายในกลุ่มกันเองต้องมี จึงจัดระบบการตรวจสอบ ลงแปลงของสมาชิกทุกคน เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพตามที่โฆษณาไว้กับผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะขายข้าวเป็นกิโลกรัมแล้ว ยังขายในปริมาณ 250 กรัม และ 500 กรัม ทั้งยังรับผลิตข้าวตามออเดอร์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงข้าวบรรจุถุงสำเร็จตามปริมาณที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังรับผลิตตามออเดอร์ เพื่อใช้เป็นของชำร่วยในงานหรือเทศกาลต่างๆ อีกด้วย โดยรวมแล้ว ปริมาณข้าวที่ออกสู่ท้องตลาดจากกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ มากถึง 30 ตัน และความต้องการมากกว่า 30 ตัน เพียงแต่ความสามารถในการผลิตของกลุ่มยังไม่ถึง

เมื่อถามถึงปัญหา คุณสิริมณี บอกว่า การทำนาปลูกข้าวปลอดสารให้เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่เรื่องยาก อาจพบปัญหาโรคและแมลงบ้าง ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นเอง ก็สามารถควบคุมและกำจัดได้แล้ว แต่ปัญหาที่ประสบและไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้ง เพราะพื้นที่ปลูกข้าวไม่มีชลประทานผ่าน อาจใช้น้ำบาดาลช่วย แต่หากเกิดภัยแล้งหนัก จำเป็นต้องรอฝนเพียงอย่างเดียว ทำให้ปริมาณผลผลิตที่ควรได้ ไม่ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม จากการฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกันของสมาชิกภายในกลุ่ม จึงตั้งใจดำเนินกิจกรรมให้ลุล่วงสำเร็จด้วยดี ดังนั้น เมื่อต้องนำข้าวมาขายให้กับกลุ่ม จึงมีการประกันราคาข้าวภายในกลุ่มให้ด้วย

แม้ว่า คุณสิริมณี เป็นเพียงเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานการทำการเกษตรมาก่อน แต่มีผืนนาที่เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัว และจำเป็นต้องอาศัยผืนนาเลี้ยงชีพ การฝึกปรือ สังเกต และความใส่ใจ จึงเป็นสิ่งที่สร้างให้คุณสิริมณีก้าวมาถึงจุดนี้

สนใจพูดคุยเพิ่มเติม คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์ ยินดีตอบคำถาม สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ขายส่งข้าวไรซ์เบอร์รี่ หอมนิล มะลิอินทรีย์ ราคาชาวนา และเฟซบุ๊ก ขายข้าวไรซ์เบอร์รี่ 60 บาท ส่งทั่วไทย หรือติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ 062-535-3991 ที่ตั้งแปลงนาอยู่ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

“อ้อยโรงงาน” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชลบุรี เนื้อที่ปลูก รวม 1.4 แสนไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10 ตัน ต่อไร่ ทั้งนี้ พบว่าอ้อยโรงงานมีแนวโน้มลดลงจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ การบริหารจัดการไร่อ้อยที่ขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรที่ลดลงจากการขยายตัวของชุมชนเมือง

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์พัฒนาการเพาะปลูกอ้อย ให้มีผลผลิตและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งรณรงค์ลดการเผาอ้อยในช่วงฤดูตัดอ้อย เพราะนอกจากสร้างมลภาวะต่อสภาพอากาศและสุขภาพร่างกายแล้ว ยังทำให้ดินเสื่อมโทรมส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรงอีกด้วย

เกษตรกรดีเด่น ปลูกอ้อยโรงงาน

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตนเอง ตลอดจนเป็นเกษตรกรต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาผลงานจากตัวอย่างจริงของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่อไป

ด้านสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) ได้ตัดสินให้ นายชวการ ช่องชลธาร Young Smart Farmer จังหวัดชลบุรี เป็นเกษตรกรดีเด่นอาชีพทำไร่ ระดับเขต ประจำปี 2564 เนื่องจาก นายชวการ เป็นเกษตรกรที่มีวิสัยทัศน์ด้านการทำงานที่ “มุ่งพัฒนา เพิ่มเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ บนเนื้อที่ปลูกอ้อยโรงงาน กว่า 60 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน ต่อไร่ เมื่อเทียบกับผลผลิตโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 10-13 ตัน ต่อไร่เท่านั้น

นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) กล่าวว่า นายชวการ ได้ปรับสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยแบบร่องคู่ ทำให้สะดวกในการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูก กำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่องและใส่ปุ๋ยในคราวเดียว ทำให้ลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืช เก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดอ้อย ควบคู่เครื่องอัดใบอ้อยจึงไม่ต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบต่อไป

นอกจากนี้ นายชวการ ยังได้นำแผงโซล่าเซลล์มาปรับใช้ ให้น้ำในแปลงไร่อ้อยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งรับจ้างอัดใบอ้อย ตัดอ้อย ให้กับเกษตรกรที่สนใจรายอื่นๆ สร้างรายได้กว่า 800,000 บาท ต่อรอบการผลิต นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการแปลงปลูก เพื่อลดปัญหาการเผาเศษซากอ้อยในช่วงเก็บผลผลิตช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน นายชวการ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี และเป็นคณะกรรมการ Young smart farmer ระดับจังหวัด พร้อมเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงแก่เกษตรกรและผู้สนใจอีกด้วย

นายชวการ ช่องชลธาร หรือที่หลายคนรู้จักดีในชื่อ ผู้ใหญ่อ๊อฟ โทรศัพท์ 092-542-6197 เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ทำงานบริษัทเอกชนสักระยะหนึ่ง เขาคิดว่า จะช้าหรือเร็ว อย่างไรก็ต้องกลับมาช่วยครอบครัวทำอาชีพเกษตร จึงตัดสินใจลาจากงาน เพื่อกลับมาช่วยครอบครัวดูแลกิจการ “ไร่ชวการ” ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน

ผู้ใหญ่อ๊อฟ ดำเนินอาชีพเกษตรโดยยึดหลักการทำงาน 4 M คือ Man, Machine, Money และ Management เน้นบริหารจัดการโดยมุ่งลดจำนวนแรงงาน นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรมาประยุกต์ใช้ทดแทนแรงงานคน พร้อมดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องจักร เช่น เครื่องโรยขี้ไก่ เครื่องอัดใบอ้อย เครื่องตัดอ้อย รถไถ และเครื่องใส่ปุ๋ยเคมี ทั้งวางแผนการผลิตให้ตรงกับสภาพอากาศและความต้องการของตลาด

ผู้ใหญ่อ๊อฟ บริหารไร่อ้อยด้วยแนวความคิดของเกษตรกรรุ่นใหม่บวกกับความรู้ความสามารถ รวมทั้งความมุ่งมั่นในการฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ผู้ใหญ่อ๊อฟ ใช้หลักแนวคิดวิเคราะห์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแทนการใช้แรงงาน จึงลดต้นทุนและให้ได้ผลผลิต เฉลี่ยถึง 15 ตัน ต่อไร่ เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปลูกอ้อยในจังหวัดชลบุรีโดยตรง ตัวจริงเสียงจริง

ก่อนเริ่มฤดูการผลิต ผู้ใหญ่อ๊อฟต้องตรวจสอบสภาพภูมิอากาศก่อนว่า ปีนี้จะมีปริมาณฝนมากน้อยอย่างไร หากดินมีปริมาณความชื้นเพียงพอ ก็เริ่มเตรียมดิน โดยไถพรวนดินด้วยผาลเจ็ด และโรยปุ๋ยในแปลงอ้อย ตามด้วยไถกลบ ใช้เครื่องปลูกอ้อยร่องคู่เพื่อให้ดูแลจัดการวัชพืชได้ง่าย หลังจากนั้นฉีดยาคุมวัชพืช รอฝนตก กำจัดวัชพืชด้วยรถไถ ระหว่างร่องพร้อมใส่ปุ๋ย เช็กว่ามีวัชพืชหรือเปล่า หากมีก็ฉีดยาคุมวัชพืช ผ่านไปอีกประมาณ 4 เดือน ก็ไถออกอีกทีครั้ง เมื่อต้นอ้อยเติบโตก็ไม่ต้องฉีดยา ผ่านไป 7-8 เดือน ก็ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผู้ใหญ่อ๊อฟ ใช้รถเข้าเก็บเกี่ยวและส่งผลผลิตเข้าโรงงานทันที แต่ละวันตัดอ้อยเข้าโรงงาน 100 ตัน

ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่อ๊อฟเป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในท้องถิ่น ร่วมกันแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตามความต้องการของโรงงานแล้ว ยังรวมกันซื้อปุ๋ยสั่งตัด ทำให้ปุ๋ยคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับโรงงาน โดยยินยอมให้กลุ่มเกษตรกรเอาปุ๋ยไปใช้ก่อน ค่อยหักเงินหลังขายผลผลิตได้โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับกลุ่มเกษตรกร

ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่อ๊อฟยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมการตัดอ้อยสดส่งโรงงาน หยุดเผาอ้อยในพื้นที่เกษตร โดยใช้เทคโนโลยีรถตัดอ้อยควบคู่กับเครื่องอัดใบอ้อย โดยนำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก เพิ่มอินทรียวัตถุดิบในพื้นที่การเพาะปลูกแล้ว นอกจากนี้ ผู้ใหญ่อ๊อฟยังลดความเสี่ยง โดยหันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำเพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำอ้อยพร้อมดื่มจำหน่ายในท้องตลาด สร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

“อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง อาชีพเกษตร เป็นผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ อ้อยที่ผมปลูก แปรรูปเป็นน้ำตาล ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลายชนิด ผมมีความสุขและภาคภูมิใจมากที่ได้ทำอาชีพเกษตร เป็นผู้ผลิตแหล่งอาหารสำหรับทุกคนครับ” ผู้ใหญ่อ๊อฟ กล่าวในที่สุด

“ไผ่เลี้ยงทะวาย” หรือ “ไผ่สะดิ้ง” ซึ่งเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย โดยไผ่เลี้ยงที่นิยมปลูกเพื่อบริโภคและจำหน่ายในปัจจุบันมี 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปกติ และพันธุ์ทะวาย โดยพันธุ์ปกติ จะออกหน่อในฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนพันธุ์ทะวายหรือที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไผ่สะดิ้ง จะสามารถออกหน่อได้ตลอดทั้งปี

สำหรับไผ่พันธุ์ทะวาย เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ตลาดมีความต้องการมาก สามารถขายได้ทั้งในรูปหน่อสดและนำมาแปรรูป เช่น หน่อไม้ดองทั้งหน่อ หรือดองในรูปหน่อไม้สับ นอกจากนี้ การปลูกไผ่เลี้ยงทะวายจะไม่มีการใช้สารเคมี เพราะจะทำให้หน่อไม้ตาย ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี

“ภูกระดึง” ปลูกไผ่สะดิ้งจำนวนมาก

จังหวัดเลย มีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสม น้ำไม่ท่วมขังเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนที่สูงและสามารถเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ จึงเหมาะสมกับการปลูกไผ่ โดยเกษตรกรนิยมปลูก มากที่อำเภอภูกระดึง มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 1,267 ไร่

คุณช่วย บุตรดาเวียง เกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้ต้นแบบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไผ่ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย และเป็นเครือข่าย ศพก.อำเภอภูกระดึง ณ บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 8 ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้ให้ข้อมูลว่า การปลูกไผ่สะดิ้ง ใช้เงินลงทุนในปีแรกรวม 30,675 บาทต่อไร่ แยกเป็น ค่าต้นพันธุ์ 12,500 บาท (1 ไร่ ปลูก 250 ต้น ต้นละ 50 บาท) ค่าปลูก 1,200 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 1,650 ค่าปุ๋ยคอก 425 บาท ค่าระบบน้ำ 9,700 บาท ค่าไถปรับพื้นที่ 300 บาท ค่าไฟฟ้าสูบน้ำเฉพาะหน้าแล้ง 2,800 บาท ค่าฟางคลุมโคน 100 บาท และค่าดูแลรักษาเก็บเกี่ยว 2,000 บาท

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าต้นพันธุ์ ค่าไถปรับพื้นที่ ค่าปลูก และค่าระบบน้ำ เป็นการลงทุนเฉพาะปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นในปีถัดไปจะมีรายจ่ายเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ค่าดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ตัดหญ้า และสางกิ่งแต่งกอ โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี

สำหรับการปลูกไผ่สะดิ้ง ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกมีอายุประมาณ 1 ปี หากดูแลสม่ำเสมอจะสามารถจำหน่ายได้หลังจากการปลูก 8-10 เดือนขึ้นไป เกษตรกรสามารถทยอยเก็บผลผลิตได้ทุกวัน ให้ผลผลิตในปีแรกประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยปกติราคาจะอยู่ที่ประมาณ 10-25 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน แต่หากเป็นช่วงหน้าฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ราคาจะลดลงเหลือประมาณ 5-10 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นรายได้สุทธิ (กำไร) ในปีแรกเกษตรกรจะได้ประมาณ 35,000-39,000 บาทต่อไร่ และในปีถัดมาจะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งจะมีพ่อค้าจากจังหวัดเลยและขอนแก่นมารับซื้อถึงสวน นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยง่าย และสามารถจำหน่ายต้นพันธุ์ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้อีกด้วย โดยราคาจำหน่ายต้นพันธุ์จะอยู่ประมาณ 50 บาทต่อต้น

ดังนั้น การปลูกไผ่เลี้ยงทะวาย หรือไผ่สะดิ้ง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรผู้สนใจที่ต้องการทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักเพื่อเพิ่มรายเพื่อลดความเสี่ยงจากพืชอื่น อีกทั้งการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี ทั้งนี้ เกษตรกรควรรักษาคุณภาพผลผลิตเพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่น และควรมีการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายผลผลิตเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอ

ผู้สนใจการปลูกไผ่สะดิ้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณช่วย บุตรดาเวียง และ คุณสุวรรณา เรือนทอง บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 8 ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย โทร. 090-586-0503 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทุกท่าน

“ปลิว” หรือ คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรตัวอย่าง ที่น้อมรับคำสอนการพึ่งพาตนเองและดำเนินการต่อยอดแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ

คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer ) ของ จังหวัดมหาสารคาม เขาดูแลใส่ใจชุมชนบ้านเกิดอย่างมาก นำเทคโนโลยีมาผสมผสานในงานที่ทำเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด สร้างความมั่นคงต่ออาชีพเกษตรกรรม

“แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม” ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 2 ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบัน ปลิว อายุ 29 ปี เรียนจบปริญญาตรี สาขาส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ความจริง พ่อแม่เขาไม่สนับสนุนให้ลูกทำอาชีพเกษตรกรรม เพราะมองว่าอาชีพเกษตรกรรมมีอนาคตที่ลำบาก แต่ปลิวมองเห็นความยั่งยืนของอาชีพนี้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการทำงาน

ปลิวบอกว่า การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้เรื่องการวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เกษตรกรต้องเข้าใจคุณภาพดินก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการเพาะปลูกพืช นอกจากนี้ ต้องเรียนรู้เรื่องตลาดทั้งในประเทศและส่งออก หากต้องการค้าขายกับต่างประเทศ ยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรมให้สูงขึ้น

ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรมของปลิว เกิดจากแรงบันดาลใจเรื่องความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ปลิวนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ จนเกิดความแม่นยำในการเก็บเกี่ยว ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อกระจายน้ำแก่พืชอย่างสม่ำเสมอ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำปุ๋ยหมัก ป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะหน้าดินรวมถึงการอนุรักษ์น้ำ

ขณะเดียวกัน ปลิวส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง โดยแบ่งปันวิธีการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวพืชผลไปจนถึงวิธีสร้างกำไรตลอดทั้งปีด้วยการวางแผนอย่างชาญฉลาด ปลิวคิดว่า ทุกคนควรรักในสิ่งที่ตัวเองทำและมีความมุ่งมั่น เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ปลิวรักในสิ่งที่ตัวเองทำและพร้อมมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในชุมชน

ปลิวตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาขายผลผลิต ใช้วิธีการจัดส่งผักให้สดตลอดเวลา และแบ่งปันวิธีบริหารจัดการนี้ให้กับเพื่อนเกษตรกรได้นำไปใช้เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ปลิวหวังว่าสิ่งที่ทำจะช่วยสร้างเครือข่ายของเกษตรกรในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกษตรกรรุ่นต่อไปมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีชีวิตที่ดีขึ้น

แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม

ปลิว ลงนามความร่วมมือกับ หอการค้ามหาสารคาม สมัคร GClub จัดทำ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่บ้านหนองบัว ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จนประสบผลสำเร็จ มีผลผลิตขายได้ทุกวัน และมีเงินหมุนจากผลผลิตตลอด 365 วัน

โครงการนี้ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนและเกษตรกรรักบ้านเกิดโดยน้อมนำหลักแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางดำเนินงาน เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกร เยาวชน และผู้สนใจประกอบอาชีพเกษตรกรรม

พื้นที่ทำกิน 22 ไร่ ของปลิวใช้เพาะปลูกผัก ไผ่นอกฤดู เพาะเห็ดในโรงเรือน ทุกกิจกรรมเน้นความปลอดภัยตามมาตรฐานอินทรีย์ ปลิว รับหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายให้สมาชิกในหมู่บ้านได้เดินตามรอยพ่อหลวง เพื่อพัฒนาชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

ปลิวจุดประกายความคิดให้เพื่อนเกษตรกร เข้าใจถึงกลยุทธ์การเก็บเกี่ยว แบบระบุช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผัก และสร้างปฏิทินเพาะปลูกตลอดปี 365 วัน โดยเพาะปลูกพืชคละชนิดกัน ไล่ไปตามอายุเก็บเกี่ยว โดยอาศัยปฏิทินเพาะปลูกที่คิดขึ้นเอง ทำให้โรคและแมลง “งง” จนมากินผักไม่ถูก

ปลิวแบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็น 60 แปลง แปลงละครึ่งงาน และยกร่องปลูกพืชสลับชนิดกัน 7 แปลง แต่ละแปลงปลูกพืชสลับแถว สลับแปลงกัน เช่น ขึ้นฉ่าย ผักสลัด หอมแบ่ง ผักโขมแดง ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา ผักพื้นบ้าน ฯลฯ ทยอยปลูกพืชแต่ละชนิดห่างกัน แปลงละ 1 วัน จนครบ 60 วัน

นอกจากนี้ ปลิวปลูกพืช 7 ชนิด 7 แถว ห่างกัน 1 สัปดาห์ เริ่มจากสัปดาห์แรก ปลูกขึ้นฉ่าย ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 60 วัน สัปดาห์ที่ 2 ปลูกผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน สัปดาห์ที่ 3 ปลูกหอมแบ่ง อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน สัปดาห์ที่ 4 ปลูกผักโขมแดง อายุเก็บเกี่ยว 35 วัน สัปดาห์ที่ 5 ปลูกผักบุ้งจีน อายุเก็บเกี่ยว 30 วัน สัปดาห์ที่ 6 ปลูกผักสวนครัวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เช่น กะเพรา โหระพา สัปดาห์ที่ 7 ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น สะระแหน่ พริก ฯลฯ

หลังเก็บเกี่ยวผักเสร็จ ปลิวจะพลิกดินกลบตอทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินก่อนเริ่มปลูกผักรอบใหม่ ปลิวไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำที่เดิม เพื่อป้องกันโรคแมลงรบกวน ผลผลิตที่ได้ป้อนเข้าสู่ตลาดใน 3 ช่องทาง คือ ขายในแบรนด์ ออร์แกนิค เฟรช ในห้างเดอะมอลล์ และแมกซ์แวลลูทั่วประเทศ ส่วนแบรนด์แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม ส่งขายในจังหวัดมหาสารคาม และตลาดหน้าฟาร์ม ส่วนแบรนด์ The Kreenana ขายส่งถึงบ้านในจังหวัดนครราชสีมา ปลิววางแผนการผลิตและการตลาดในลักษณะนี้ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าสูงถึง 8 แสนบาท/ไร่ ทีเดียว