เมื่อตอซังที่ตัดไว้แห้งแล้วก็ไถชักร่องเท่านั้น ไม่มีการไถพลิกดิน

เหตุผลที่ต้องชักร่องนั้น เนื่องจากพริกเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง หากไม่ชักร่อง เมื่อให้น้ำ น้ำจะขัง ทำให้ต้นพริกเน่าตาย แต่ถ้าชักร่องเมื่อให้น้ำแล้วก็จะระบายออกผ่านร่องที่ชักไว้สามารถแก้ปัญหาต้นพริกเน่าตายได้ เมื่อชักร่องเสร็จก็จะปูฟางบนแปลง เอาน้ำเข้าแปลง ทิ้งไว้ 4-5 วัน ก็ปลูก ระยะระหว่างแถวจะห่างกว่าระยะระหว่างต้น เพื่อสะดวกในการเข้าเก็บพริก สำหรับอายุกล้าที่สามารถย้ายปลูกได้นั้น อยู่ที่ไม่เกิน 40 วัน เริ่มย้ายปลูก ปลูกได้ตั้งแต่กล้าพริกอายุ 20 วัน เป็นต้นไป พริกจะติดเร็วและโตไว หากอายุกล้าเกิน 40 วัน จะโตช้า เพราะแก่เกินไป

เมื่อพริกโตขึ้นเกษตรกรจะปักหลักและขึงเชือกฟางเพื่อป้องกันลำต้นล้มกรณีมีลมพายุ เนื่องจากพริกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเกษตรกรจะให้น้ำประมาณ 15 วันครั้ง การให้ปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ในช่วงเร่งการออกดอก แต่ส่วนใหญ่จะใช้น้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นปัญหากับเกษตรกรที่ทำนา แต่ปัจจุบันมีนกปากห่างเข้ามาอาศัยอยู่ ทำให้หอยเชอรี่เริ่มหายากแล้ว นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอภูซางได้เข้ามาแนะนำการขยายเชื้อไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย และ บีที ในการป้องกันกำจัดเชื้อรา และแมลงศัตรูพริก รวมทั้งมีการใช้แคลเซียมโบรอน และสาหร่าย เข้ามาช่วยในการป้องกันโรคกุ้งแห้งอีกด้วย

สำหรับการเก็บเกี่ยว จะเริ่มเก็บเกี่ยวพริกเขียวที่ออกบริเวณง่ามของต้นพริก ซึ่งพริกรุ่นนี้ถ้าปล่อยให้แก่ถึงแดงจะมีปัญหาเป็นโรคกุ้งแห้งมาก เกษตรกรจะเก็บส่งขายตลาด ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 30 บาท ต่อกิโลกรัม อีกระยะหนึ่งพริกที่ออกบริเวณปลายช่อจะออกมารุ่นนี้ เกษตรกรจะเก็บในระยะพริกสุก คือ สีแดง ราคาปีที่แล้วอยู่ที่ 80 บาท ที่ผ่านมาเกษตรกรชื่อ คุณแสงหล้า นันตาเขียน บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 6 บ้านปง ตำบลสบบง ปลูกพริกทั้งหมด 6 ไร่ มีรายได้ประมาณ 300,000 บาทในขณะที่ต้นทุน ประมาณ 30,000 บาท

คุณประสิทธิ์ ในฐานะประธานกลุ่มบอกว่า การขายพริก ปัจจุบันมีทางออกเพียงทางเดียวคือ ขายพริกสด ในอนาคตเพื่อลดความเสี่ยงจะต่อยอดในการทำพริกป่น หากการขายพริกสดมีปัญหา ซึ่งอาชีพการปลูกพริกถือว่าเป็นการแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาหมอกควันจากการเผาตอซัง การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากพริกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย การสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรข้างเคียง รวมถึงเด็กๆ ที่ปิดเทอมในการรับจ้างเก็บพริกเป็นค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายเมื่อเปิดเทอม

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำเป็นเวลานาน คืออีกหนึ่งปัจจัยทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพด้อยลงไปตามระยะเวลา “แสงพศิน เมล่อนฟาร์ม/ไร่ปาริชาติ” เป็นฟาร์มปลูกเมล่อนอีกแห่งหนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะสภาพดินทำให้เกิดโรคในต้นเมล่อน จนต้องปรับเปลี่ยน นำ “บัตเตอร์นัต” เข้ามาปลูก

“นาวิน ลิ้มมณีประเสริฐ” เจ้าของแสงพศิน เมล่อนฟาร์ม/ไร่ปาริชาติ จากบ้านจำปาทอง ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยปลูกเมล่อนในโรงเรือน พอปลูกบนพื้นที่เดิมเป็นเวลานานๆ ผลผลิตเริ่มมีปัญหา จึงทดลองนำ “บัตเตอร์นัต” มาปลูกสลับ หรือเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงพืชที่ปลูกในโรงเรือน หลังจากปลูกครั้งแรกและครั้งที่สอง ถัดมาพบว่าได้ผลผลิตที่ดี การปลูกและการดูแลไม่ยุ่งยากเท่ากับการปลูกเมล่อน ที่สำคัญไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเลย ต่างจากเมล่อนที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

“เมล็ดพันธุ์บัตเตอร์นัต ได้มาจากน้องที่ปลูกมาก่อน โดยนำมาปลูกครั้งแรก จำนวน 100 เมล็ด จากนั้นได้คัดสายพันธุ์ และเพิ่มพื้นที่ปลูก ซึ่งบัตเตอร์นัตมีหลายสายพันธุ์ แต่ภายในฟาร์มมี 2 สายพันธุ์ แตกต่างกันที่รูปร่าง แต่ทำลวดลายเหมือนเมล่อนไม่ได้ ล่าสุดมีการปลูกรวมทั้งหมด จำนวน 4 โรงเรือนแล้ว ซึ่งผลผลิตที่ได้ถือว่าค่อนข้างดี ที่สำคัญ ไม่เหนื่อยมากในการดูแล มีเวลาว่างที่จะทำอย่างอื่นได้อีก”

สำหรับระยะเวลาในการปลูกบัตเตอร์นัตและปลูกเมล่อนจนให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน คือประมาณ 90-95 วัน สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวานได้หลากหลายชนิด ตลาดของบัตเตอร์นัตและตลาดของเมล่อนไม่แตกต่างกัน แต่บัตเตอร์นัตดูคล้ายกับฟักทอง ชาวบ้านในจังหวัดหนองคายนิยมในการบริโภคฟักทองอยู่แล้ว เมื่อทดลองนำบัตเตอร์นัตไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน ให้รสชาติความหวานและเนื้อแน่นกว่าฟักทองปกติทั่วไป จึงทำให้สามารถขายผลผลิตที่หน้าฟาร์มได้เลย บางส่วนที่ไม่ผ่านการคัดเกรดจะนำไปแปรรูปเป็นน้ำบัตเตอร์นัตขายโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ขายผ่านโซเชียลจนขยายตลาดได้ไกลถึงจังหวัดกาญจนบุรี

“นาวิน” บอกว่า เมล่อนในฟาร์ม ขายกิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนบัตเตอร์นัตขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท เมล่อนให้ผลผลิต 1 ต้น ต่อ 1 ลูก บัตเตอร์นัต 1 ต้น จะให้ 2-3 ลูก ซึ่งจะมีการคัดเกรดเช่นเดียวกันกับเมล่อน เกรดเอ จะมีลักษณะของสวยอวบ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 0.5 กก. เฉลี่ยรายได้จากการขายแล้วจึงถือว่าใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ หากต้นบัตเตอร์นัตมีความสมบูรณ์แข็งแรงจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลอ่อนที่ออกมาเพิ่มสามารถนำไปปรุงอาหารได้อีก ส่วนราคาผลอ่อนหรือผลที่ไม่ผ่านการคัดจะถูกลงจากผลปกติ คือ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท

ปัจจุบัน แสงพศิน เมล่อนฟาร์ม/ไร่ปาริชาติ ยังคงปลูกเมล่อนอยู่ สลับกับโรงเรือนใหม่ปลูกบัตเตอร์นัต และการปลูกในโรงเรือนจะดูแลได้ง่ายกว่าการปลูกนอกโรงเรือน ปัญหาโรคแมลงน้อย การทำระบบน้ำง่าย สามารถทำระบบให้น้ำอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติได้ เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องใส่ปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเองเป็นหลัก ซึ่งบัตเตอร์นัตเป็นพืชที่ใช้น้ำไม่มาก ยิ่งปลูกในโรงเรือนและมีการใช้พลาสติกคลุมดินยิ่งใช้น้ำน้อย แม้อากาศภายนอกจะร้อนมาก แต่ภายในโรงเรือนจะยังคงมีความชื้นอยู่ ซึ่งการให้น้ำ จะใช้ 200-300 ลิตร ต่อโรงเรือนทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นบัตเตอร์นัตกำลังเจริญเติบโตแตกยอด ใน 1 โรงเรือน จะมีบัตเตอร์นัตอยู่ประมาณ 230 ต้น มากกว่าเมล่อนที่ 1 โรงเรือน จะปลูก 175-198 ต้น บัตเตอร์นัต 1 ต้น ให้ผลผลิต ต้นละ 2-3 ลูก น้ำหนักรวมไม่ต่ำกว่า 2 กก.

ผลไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นอีกชนิด พบว่าปลูกทั่วประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนัก คือ ละมุด ทั้งที่ว่ากันว่า ละมุด เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทาน เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน มีกลิ่นหอม มีน้ำตาลสูง แต่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ธาตุแคลเซียม และ ธาตุฟอสฟอรัส

อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่า มีละมุดอร่อยที่สุดของประเทศ เรียกติดปากกันว่า ละมุดบางกล่ำ (ภาคใต้เรียกละมุด ว่า ลูกสวา)

แต่ปัจจุบันมีผลไม้อีกมากมายหลายชนิด ขึ้นแท่นผลไม้ชื่อดังของจังหวัดไปแล้ว ทำให้ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อนุมัติงบประมาณส่งเสริมการปลูกละมุดในพื้นที่อำเภอบางกล่ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ชื่อเสียงละมุดบางกล่ำ กลับมารุ่งเรืองเช่นอดีต

สวนที่ได้ชื่อว่า เป็นสวนที่มีละมุดผลใหญ่ รสชาติดี กว่าละมุดในละแวกใกล้เคียงทั้งหมด คือ สวนของคุณจู้ฮ่อง เจริญแสง และคุณจำเนียน เจริญแสง สองสามีภรรยา คุณจู้ฮ่อง ฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับการปลูกละมุดให้ฟังว่า เขาเติบโตมากับสวนละมุด ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นต้นละมุดปลูกอยู่รอบบ้าน พ่อของคุณจู้ฮ่องบอกกับคุณจู้ฮ่องว่า นำพันธุ์ละมุดนี้มาจากเมืองกลันตัน (สมัยนั้น เมืองไทรบุรี กลันตัน ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ปัจจุบันเป็นรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย) เป็นพันธุ์ยักษ์ ผลใหญ่ ผลยาว ผิวสวย เนื้อเนียน กลิ่นหอม หวาน รสชาติดี และเมล็ดน้อย

และสวนละมุดที่คุณจู้ฮ่องเห็นมาตั้งแต่เด็ก ก็ตกเป็นสมบัติจากบรรพบุรุษสู่คุณจู้ฮ่องให้ได้ดูแลต่อเนื่อง

ไม่ต้องถามว่านานแค่ไหน เพราะต้นละมุดที่ปลูกอยู่หลังบ้าน มีต้นที่อายุมากที่สุดอยู่ 1 ต้น อายุประมาณ 130 ปี ลำต้นเจริญเติบโต แข็งแรง และให้ผลดกอย่างสม่ำเสมอ พื้นที่รอบบ้านราว 2 ไร่ อยู่ติดคลองบางกล่ำ ที่อดีตใช้สัญจรทางน้ำ เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ซึ่งการค้าขายก็ใช้เส้นทางคลองบางกล่ำ จนมีถนนตัดผ่าน การสัญจรและค้าขายทางน้ำก็ยุติลง

“คลองบางกล่ำ เป็นคลองที่เป็นเสมือนคลองสายหลักของอำเภอ ยาวไปเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา มีช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง มีความเค็มของน้ำทะเลเจือจางเป็นน้ำกร่อยผ่านคลองเข้ามา เมื่อก่อนทุกครั้งที่มีการขุดลอกคลอง ดินจากการขุดคลองก็นำขึ้นมาถมไว้ภายในสวน และดินนั้นเป็นดินเหนียวสีดำที่ดีมาก มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในดิน”

ต้นละมุดเก่าแก่ราว 130 ปี มีเพียงต้นเดียว ในพื้นที่ 2 ไร่ รวมที่พักอาศัยด้วยแล้ว ยังมีละมุดอายุประมาณ 70 ปี อีกหลายต้น รวมทั้งสวนพื้นที่ 2 ไร่ มีละมุดประมาณ 45 ต้น ระยะปลูก 10X10 เมตร

คุณจู้ฮ่อง บอกว่า ละมุด เป็นพืชที่ดูแลง่าย ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีน้ำท่วม มีภาวะแล้ง ละมุดก็ยังไม่ตาย แค่ชะลอการเจริญเติบโตไปบ้างเท่านั้น แต่เมื่อกลับสู่สภาพปกติ ละมุดก็เจริญเติบโตดี ซึ่งนอกจากดินดีแล้ว เชื่อว่าเป็นเพราะสายพันธุ์ที่นำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ที่ดีด้วย

การให้น้ำ หากสภาพอากาศปกติ ไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นเกิดสภาวะแล้งต่อเนื่องนานมาก จึงให้น้ำ เพราะละมุดเป็นพืชที่มีเปลือกหนา และเก็บน้ำไว้ที่เปลือก ซึ่งเป็นธรรมชาติของต้นละมุดเอง การให้ปุ๋ย ภายในสวนปราศจากสารเคมีปะปน เพราะทุกครั้งที่ให้ปุ๋ย คุณจำเนียน จะให้ปุ๋ยรอบโคนต้น และไม่กำหนดระยะเวลาการให้ ขึ้นกับความสะดวกของผู้ปลูก โดยทั่วไปประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง และใช้ปุ๋ยขี้วัวหรือปุ๋ยขี้ไก่ ตามความสะดวกที่หาได้ในละแวกใกล้เคียงเช่นกัน

หลังลงปลูก ประมาณ 5 ปี ละมุดจะเริ่มให้ผลผลิต

ผลผลิตจะออกเต็มต้น เก็บไปจำหน่ายได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม “ผลผลิตละมุดจะมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน แต่หลังจากนั้นอาจเก็บได้เรื่อยๆ เพียงแต่ไม่มากเหมือนในฤดู หรือในบางปีที่สภาพอากาศดี น้ำดี มีผลผลิตให้เก็บขายได้ต่อเนื่องมาอีกหลายเดือน บางปีเก็บผลผลิตครั้งละมากๆ ได้ถึง 2 รอบ”

เมื่อถามถึงโรคและแมลงศัตรูพืช คุณจู้ฮ่อง ยืนยันว่า ละมุดเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีด้วยตนเองในธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น โรคและแมลงศัตรูพืชจึงพบน้อย ที่ผ่านมาพบด้วงกัดยอด ทำให้เจริญเติบโต้ช้า และกินผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยการจัดการภายในสวนไม่ได้ใช้สารเคมี จึงใช้วิธีกำจัดแบบธรรมชาติ เมื่อพบด้วงกัดยอดและฝังตัวเข้าไปในลำต้น จะใช้ยาเส้นใส่เข้าไปในรูที่พบ อัดให้แน่น ก็เป็นการทำลายด้วงหรือแมลงที่เข้ามาทำลายละมุดได้อย่างดี

คุณจู้ฮ่อง เปรียบเทียบขนาดของละมุดภายในสวนที่เก็บได้ ว่ามีขนาดใหญ่กว่าสวนอื่น น้ำหนักที่เคยเก็บได้อยู่ที่จำนวน 4-5 ผลต่อกิโลกรัม หรือให้เห็นภาพชัดๆ ก็ขนาดเกือบเท่าผลส้มโชกุน ซึ่งขนาดผลมีผลต่อราคาซื้อขาย เช่น ขนาดใหญ่ 4-5 ผลต่อกิโลกรัม ขายหน้าสวนราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขนาดเล็กลงตามลำดับ ก็ขายในราคาหน้าสวน 40 บาทต่อกิโลกรัม และ 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนอกเหนือจากน้ำหนักผลที่มากแล้ว เนื้อละมุดมีความเนียนมาก ทั้งยังหวานหอมอีกด้วย

ต้นละมุด ก็เหมือนกับไม้ผลชนิดอื่น เมื่ออายุต้นมากขึ้น ผลผลิตที่ได้จะมากขึ้นด้วย โดยคุณจำเนียน บอกว่า ละมุดแต่ละต้นให้ผลผลิตไม่น้อย เก็บได้แต่ละฤดูกาล ต้นละ 150-200 กิโลกรัมทีเดียว

ในอดีต คุณจู้ฮ่อง นำผลผลิตที่ได้ขึ้นรถโดยสารประจำทาง ไปขายยังตัวอำเภอหาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน ละมุดบางกล่ำเป็นที่รู้จัก ทำให้ไม่ต้องนำไปขายด้วยตนเอง มีลูกค้ามาซื้อถึงบ้าน ในราคาที่ไม่ต่ำไปกว่าที่ต้องการเลย

แม้จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและตลาดเปิดกว้างสำหรับละมุดบางกล่ำ แต่การขยายพื้นที่ปลูกละมุดของคุณจู้ฮ่องและคุณจำเนียน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากการสอบถามทราบว่า ต้นละมุดแต่ละต้นอายุไม่น้อย การขยายพันธุ์จึงทำได้ยาก วิธีที่สามารถทำได้มีเพียงวิธีเดียว คือ การทาบกิ่ง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตร เพราะคุณจู้ฮ่องและคุณจำเนียน เคยทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ

คุณสมโภช นันทวงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศนไม้ผลบางกล่ำ ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่า 2 ปี เป็นการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางกล่ำ 40 ราย พื้นที่ปลูกผลไม้กว่า 100 ไร่ เช่น ละมุด มังคุด กระท้อน และผักพื้นเมือง ซึ่อตำบลบางกล่ำมีจุดเด่นในการดูแลสวนโดยไม่ใช้สารเคมี และการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อสะดวกต่อการขอสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนในการปรับปรุงสวนและดูแลผลผลิต นอกจากนี้ยังใช้เวลาว่างในการแปรรูปผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่ได้ เช่น ละมุดผลเล็ก หากขายสดราคากิโลกรัมละ 20 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็น ละมุดลอยแก้ว หรือ สวาลอยแก้ว จำหน่ายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยใช้ผลละมุดเพียง 1-2 ผลเท่านั้น

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ กล่าวอีกว่า กลุ่มยินดีให้คำแนะนำในการเที่ยวชมสวนผลไม้ของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ละมุดบางกล่ำ ซึ่งเป็นไม้ผลที่ขึ้นชื่อของอำเภอ ทั้งนี้ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ในพื้นที่บางกล่ำ โดยเปิดตลาดน้ำประชารัฐบางกล่ำ วัดบางหยี หมู่ 4 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ รองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2560 และจะเปิดเป็นประจำทุกวันเสาร์เท่านั้น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็น 1 ใน 6 แห่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเยียวยาแบบยั่งยืนให้กับสังคมในการใช้ชีวิตยามเจอวิกฤติตามธรรมชาติ ด้วยเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาในการปรับปรุงพื้นดินให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม

เป็นแหล่งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพ เป็นต้นแบบและแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม

การดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาฯได้นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองที่ประสบผลสำเร็จแล้วมาขยายผลสู่การปฏิบัติให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมีเหลือเก็บเหลือใช้สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นางวันเพ็ญ จันทศรี หนึ่งในเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมิตรสัมพันธ์ หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรขยายผลที่ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้การสนับสนุนเปิดเผยว่า

“ได้ใช้พื้นที่ของตนเองปลูกไม้ผลประเภทตระกูลส้ม เช่นมะดัน ตะลิงปลิง มะม่วงหาวมะนาวโห และมะนาว โดยนำผลผลิตที่ได้มาแช่อิ่ม อบแห้ง เพื่อจำหน่าย ก่อนปลูกได้เข้าศึกษาเรียนรู้และดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ตามโครงการนำผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาขยายผลสู่การปฏิบัติให้แก่ราษฎรพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาฯ”

“ที่เลือกปลูกพืชตระกูลส้มเพราะเห็นว่าไม่ค่อยซ้ำซ้อนกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่เข้ามาอบรมก่อนหน้านี้ จะช่วยให้สามารถทำการตลาดได้ดีขึ้น ที่สำคัญเป็นพืชที่สามารถนำผลผลิตมาถนอมเป็นอาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นาน จะช่วยให้การทำการตลาดได้นานขึ้นความเสียหายในสินค้าและช่องทางการตลาดมียาวนานมากขึ้น“นางวันเพ็ญกล่าว

ขณะเดียวกันในการขยายผลความสำเร็จของศูนย์ศึกษาฯ สู่การปฏิบัติของราษฎรนั้นทางศูนย์ศึกษาฯ ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางหลักสำหรับการปฏิบัติตนเพื่อการทำกินของราษฎรด้วย เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นให้ผู้ผลิตหรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขตของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่เป็นประการสำคัญ ซึ่งก็คือหลักในการลดการพึ่งพาจากภายนอก เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมรูปแบบการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มิใช่หมายความถึงการกระเบียดกระเสียนจนเกินสมควร หากแต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือลงทุนขยายกิจการจากทุนเหลือเก็บที่พึงได้ภายหลังการใช้จ่ายที่เพียงพอสำหรับชีวิตครอบครัวและธุรกิจแล้ว คือไม่ใช้จ่ายเกินตัวเกินฐานะที่หามาได้

“ชีวิตของสมาชิกกลุ่มมิตรสัมพันธ์เมื่อก่อนกับตอนนี้แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ COVID-19 ระบาดทุกคนไม่ออกนอกบ้านไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่จะระแวงและป้องกัน แต่ที่หมู่บ้านนี้มีความมั่นใจช่วยกันดูแลเอาใจใส่กันเอาผลผลิตที่ปลูกที่แต่ละคนต่างมีมาแบ่งปันกันทำให้ทุกครอบครัวมีกินมีใช้ทุกครัวเรือน เพราะทุกคนยึดแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทำให้มีทุนสำรองสำหรับครัวเรือนอย่างมั่นคง”

“โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวกำไรจากที่ฝากไว้บนผืนแผ่นดินมาใช้ในยามนี้ได้อย่างไม่ขัดสนเป็นคลังอาหารที่ไม่มีวันหมดสิ้นตราบใดที่ยังมีแผ่นดินทำมาหากิน และในอนาคตหากเจอสถานการณ์แบบนี้อีกก็จะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน วันนี้ทุกคนไม่ต้องออกจากหมู่บ้านก็ยังมีกินและได้กินอิ่มทุกมื้อทุกครัวเรือนและจะไม่ขัดสนไปอีกนาน เพราะทุกคนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้จึงทำให้มีความมั่นคงทั้งอาหารและการดำรงชีวิต“นางวันเพ็ญกล่าวในที่สุด

“ลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด 2” เป็นหนึ่งในสินค้าขายดีที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ไร่บีเอ็น (BN) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไร่บีเอ็นปลูกและขายที่นี่ พืชผัก ผลไม้นานาชนิดตามฤดูกาล ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์ลิ้นจี่นานาพันธุ์ที่มาจากประเทศจีน เช่น พันธุ์กุ้ยบี พันธุ์จุดบิจี๊ ควบคู่กับการพัฒนาสายพันธุ์ลิ้นจี่จากการเพาะเมล็ด จนประสบความสำเร็จได้ลิ้นจี่พันธุ์ใหม่ที่เจริญเติบโตได้ดีกับสภาพอากาศของเมืองไทย เช่น พันธุ์ป้าชิด พันธุ์ป้าอี๊ด พันธุ์ลุงเจิด ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ผลโต เนื้อแห้งหนา รสหวานหอม เมล็ดลีบเล็ก จำหน่ายผลผลิตให้ผู้สนใจได้ลิ้นลองรสชาติความอร่อย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคมของทุกปี

คำว่า “ลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด 2” มาจากชื่อคุณแม่ ของ คุณโจ้ หรือ คุณจุลพงษ์ คุ้นวงศ์ ผู้จัดการไร่ บี.เอ็น. นั่นเอง ลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด 2 มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับปลูกเชิงเกษตรอุตสาหกรรม เพราะให้ผลผลิตคุณภาพดี และติดผลง่ายกว่าลิ้นจี่พันธุ์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะเด่นที่โดนใจผู้บริโภคทั่วไป นั่นคือ ผลโต มีรสชาติหวานกรอบ เนื้อแห้งหนา มีเมล็ดเล็กลีบ

ที่ผ่านมาทางไร่บีเอ็นคัดผลผลิตลิ้นจี่ออกขาย 2 เกรด คือ เกรดพรีเมียร์ เน้นคัดผลสวย เมล็ดลีบเล็ก และตัดก้านสั้น และสินค้าเกรดเอ คัดผลสวย มีก้าน เมล็ดขนาดปกติแต่มีรสชาติอร่อยเหมือนเกรดพรีเมียร์ ไปวางขายในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น Gourmet Market และ Home Fresh Mart หลายคนคงเคยเห็นลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด บรรจุในเข่งไม้ไผ่วางขาย ติดยี่ห้อไร่บีเอ็นมาบ้างแล้ว รสชาติความอร่อยของลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ซื้อทั้งคนไทยและต่างชาติ

ไร่บีเอ็น ขยายพื้นที่การปลูกลิ้นจี่ป้าชิด เพื่อป้อนตลาดส่งออกโดยเฉพาะ ตลาดญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อรายใหญ่ โดยมั่นใจว่า คุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิดสู้กับลิ้นจี่จีนได้อย่างสบาย เพราะได้เปรียบในเรื่องช่วงการขาย เนื่องจากลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิดมีผลผลิตออกก่อนลิ้นจี่จีนถึง 1 เดือน (มิถุนายน-กรกฎาคม) ขณะที่ลิ้นจี่จีนมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี

เนื้อที่ 60 ไร่ บริเวณด้านหน้าไร่บีเอ็น Royal Online ปลูกต้นลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด 2 และพันธุ์ป้าอี๊ด ในช่วงที่ต้นลิ้นจี่มีผลผลิต ทางไร่จะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่สนใจซื้อลิ้นจี่เข้ามาเก็บผลผลิตจากต้นได้อย่างสนุกสนาน สำหรับลิ้นจี่พันธุ์ป้าอี๊ด มีลักษณะเด่นในเรื่อง ผลกลมโต หนามแหลม รสหวาน เนื้อสวยใส เมล็ดลีบเล็ก ลิ้นจี่พันธุ์นี้ มีรสชาติอร่อยไม่แพ้พันธุ์กุ้ยบี ซึ่งเป็นลิ้นจี่พันธุ์ดีที่สุดของจีน แต่จุดอ่อนสำคัญของลิ้นจี่พันธุ์ป้าอี๊ดคือ ติดผลยาก หากอากาศไม่หนาวเย็นเพียงพอ

ไร่บีเอ็น เน้นดูแลจัดการสวนในเชิงเกษตรอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ดำเนินงาน เช่น ใช้รถตัดหญ้า รถพ่นยา ให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำผ่านระบบสปริงเกลอร์ เปิดให้น้ำทุกๆ 4 วัน การดูแลสวนลิ้นจี่ในรูปแบบนี้จึงสะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดิมไร่บีเอ็น ปลูกต้นลิ้นจี่ในระยะห่าง 8×8 เมตร ต่อมา ปรับวิธีการปลูกลิ้นจี่ใหม่เป็นระยะชิด เช่นเดียวกับการปลูกลิ้นจี่ของจีน โดยทดลองปลูกลิ้นจี่ในระยะห่าง 3×3.50 เมตร จำนวน 150 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อต้นลิ้นจี่อายุ 1 ปีครึ่ง จะดูแลควบคุมทรงต้นไม่ให้สูงเกิน 2 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการสวน ต้นลิ้นจี่ที่ปลูกในระยะชิด ผลิดอกออกผลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น ทางไร่บีเอ็นได้ประยุกต์เทคนิคการควั่นกิ่งจากจีน มาใช้ในช่วงที่ต้นลิ้นจี่ติดผล สามารถลดปัญหาผลร่วง และช่วยให้ต้นลิ้นจี่มีรสชาติดีขึ้น

ลิ้นจี่ต้นเตี้ย ดูแลง่าย

ไร่บีเอ็นปลูกต้นลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด และพันธุ์ป้าอี๊ดไว้หลายรุ่น ต้นลิ้นจี่มีอายุตั้งแต่ 10-40 ปี สำหรับต้นลิ้นจี่ที่มีอายุมากถึง 40 ปี กลับมีลักษณะต้นเตี้ย เพียง 3 เมตรกว่า เมื่อเทียบกับต้นลิ้นจี่ในสวนทั่วไป ที่มักมีความสูงประมาณ 7-8 เมตร เนื่องจากต้นลิ้นจี่ในไร่บีเอ็นผ่านการทำสาวมาแล้วนั่นเอง สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลต้นลิ้นจี่แบบเดิมลงได้ถึง 80%

ไร่บีเอ็นเรียนรู้เทคนิคดูแลจัดการ “ทำสาวต้นลิ้นจี่” ให้ต้นเตี้ยลง จาก “พ่อหลวงมนัส” เจ้าของสวนลิ้นจี่ศรินทิพย์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเน้นตัดแต่งกิ่งอย่างหนักหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในแต่ละปี กิ่งที่ความสูงเกิน 3 เมตร จะตัดออกทั้งหมดเพื่อให้ต้นลิ้นจี่สามารถรับแสงแดดได้ง่ายขึ้น