เมื่อถึงเวลาที่ต้องเช็กแผ่นไม้ที่ปักในบ่อว่ามีปลามาวางไข่หรือไม่

คุณวิทยา บอกว่า จะปล่อยน้ำให้มีระดับลดลงประมาณ 50 เซนติเมตร เสียก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ปลากรายวางไข่อีกด้วย “ช่วงแรกปลาจะให้ไข่ได้น้อยหน่อย ซึ่งช่วงที่เราไปงมดูแผ่นไม้ เราก็จะเอาน้ำในบ่อออกบ้าง พอเรางมไข่ขึ้นมาได้ ช่วงเย็นๆ จะปล่อยน้ำเข้ามาในบ่อให้เพิ่มขึ้นเท่าเดิม เพราะการทำแบบให้น้ำขึ้นน้ำลง มันก็เป็นการกระตุ้นให้ปลาไข่ได้ดีด้วย” คุณวิทยา อธิบาย

จากนั้นนำแผ่นไม้ที่มีไข่ปลากรายติดอยู่มาใส่ลงในบ่อปูน ขนาด 1.20×1.50 เมตร ความลึก 80 เซนติเมตร หรือถ้าใครมีภาชนะ เช่น โอ่งใหญ่ ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยต้องมีเครื่องทำออกซิเจนอยู่ภายในบ่อตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ ซึ่งระยะนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกปลากรายยังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่หน้าท้อง อยู่ได้ประมาณ 3 วัน เรียกปลาขนาดไซซ์นี้ว่า ไซซ์ตุ้ม ก็สามารถจำหน่ายได้

การเพาะพันธุ์ปลากรายให้ได้ผลดี พ่อแม่พันธุ์ถือว่ามีความสำคัญมาก ต้องมีความสมบูรณ์ ยิ่งมีแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ต่อตัว อัตราการให้ไข่ก็ยิ่งดีตามไปด้วย และที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ สภาพแวดล้อมที่เลี้ยง ซึ่งหลังจากเก็บไข่ขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องจำลองภายในบ่อให้ปลาเหมือนอยู่กับธรรมชาติ เช่น การเปิดสปริงเกลอร์ช่วยให้คล้ายเหมือนฝนตกก็จะทำให้ปลายกรายวางไข่ได้เร็วขึ้น

คุณวิทยา ยังเล่าต่อไปถึงเรื่องอุปสรรคในการเพาะพันธุ์ปลากรายว่า น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากได้น้ำที่ไม่สะอาด เมื่อนำมาใส่ลงในบ่อจะทำให้เวลาที่ปลาวางไข่ ไข่ของปลากรายจะเสียและไม่มีความแข็งแรง

จากความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลากรายด้วยสองมือของคุณวิทยา เขาเล่าว่าเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กันก็คือ เรื่องการตลาด เพราะเขาเป็นเจ้าใหม่ๆ ในสมัยก่อน ที่เข้าสู่วงการนี้จึงต้องสู้รบปรบมือกับคู่แข่งค่อนข้างมาก

“ช่วงแรกที่เรามีลูกปลาพร้อมจำหน่ายแล้ว บอกเลยว่าตลาดนี่ยังไม่แน่นอน โดนกดราคาบ้าง อย่างสมมุติตกลงราคากันอยู่ที่ 30 สตางค์ พอเขามาซื้อเราจริงๆ ก็บอกปลาตอนนี้เหลือตัวละ 10 สตางค์นะ เขาขายไม่ค่อยได้ เราก็เลยต้องจำยอม เพราะตลาดเรายังไม่กว้างพอ” คุณวิทยา เล่าถึงอุปสรรคของตลาด

ต่อมาเมื่อเป็นที่รู้จักของคนที่สนใจอยากเลี้ยงปลากรายเป็นอาชีพมากขึ้น เรื่องตลาดจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขาอีกต่อไป จึงผลิตลูกปลากรายไซซ์ตุ้มเพื่อให้ลูกค้านำไปอนุบาลต่อ โดยจำหน่ายลูกปลากรายไซซ์ตุ้ม อยู่ที่ตัวละ 20-30 สตางค์ ซึ่งราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งต่อไปในอนาคตจะไม่ได้จำหน่ายแต่ปลาไซซ์ตุ้มอย่างเดียว แต่จะทำเป็นปลาไซซ์นิ้วอีกด้วย เพื่อตอบโจทย์กับลูกค้ามากขึ้น

สำหรับผู้ที่อยากเพาะพันธุ์ปลากรายเป็นอาชีพหรือเลี้ยง คุณวิทยา ให้คำแนะนำว่า

“ใครที่อยากทำเป็นอาชีพ มันมี 2 แบบ คืออย่างแรกเพาะพันธุ์แบบผม คือทำเป็นปลาไซซ์ตุ้ม ต้องบอกก่อนว่ามันทำไม่ยาก แต่ต้องมีตลาดที่แน่นอน อย่างช่วงที่ปลาขาดตลาด ถ้าเรามีปลายังไงก็ขายได้ ใครๆ ก็ซื้อ อีกอย่างการจะสำเร็จต้องมีใจรักที่จะทำด้วย เพราะไข่เราจะได้จากปลานี่ 7-8 เดือน ซึ่งช่วงที่ไม่ได้ให้ไข่เราก็ต้องดูแลเขาด้วย ก็ให้อาหารปกติเหมือนเดิม อย่าให้เขาอด”

“ส่วนคนที่อยากเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ ปัจจัยที่สำคัญต้องมีทุนที่ดี และที่สำคัญใจต้องหนักแน่น เพราะว่าใช้เวลาเลี้ยงนานหน่อยกว่าจะได้ขาย ซึ่งตอนนี้การเลี้ยงก็ง่ายใช้อาหารเม็ด ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน ที่เป็นเหยื่อสด ทุกอย่างขอให้มีใจรักพอ และก็ชอบทำจริงๆ ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินความพยายาม ใครที่สนใจก็สอบถามที่ผมได้ ยินดีให้คำปรึกษา” คุณวิทยา กล่าว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาการสำรวจผลผลิตพืชด้วยดาวเทียม หรือ Crop Production Survey by Satellite ณ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หนานจิง (Nanjing Agricultural University) ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือไทย – จีน (Sino – Thai) ด้านวิชาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย

จากการหารือร่วมกัน พบว่า ขณะนี้จีนใช้ดาวเทียมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ในภารกิจด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ โดยดาวเทียมหลัก ได้แก่ HJA/B , GF-1, GF-2 , GF-6 , Sentinel-2 และ CBERS ซึ่งนับว่ามีรายละเอียดของภาพระดับสูง ร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) เชื่อมโยงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่กระจายอยู่มากกว่า 2,000 จุด ทั่วประเทศ

รวมทั้งการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) เป็นตัวตรวจสอบค่าความผิดพลาด จากการวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่างๆ อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม ตลอดจนมีการใช้กล้องวงจรปิดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นพืชและการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากแมลงศัตรูพืชอีกด้วย

นอกจากจะใช้ดาวเทียมสำรวจข้อมูลด้านการเกษตรภายในประเทศของตนเองแล้ว จีนยังใช้ดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูง ประเมินเนื้อที่และผลผลิตด้านการเกษตรของประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกันในการบริหารนโยบายด้านการเกษตรของประเทศตนเอง โดยหากผลผลิตในประเทศอื่นมีปริมาณมาก จีนจะดำเนินนโยบายรับซื้อจากต่างประเทศ

ในทางกลับกันหากปริมาณการผลิตในประเทศอื่นมีปริมาณน้อย ประเทศจีนจะผลิตสินค้าดังกล่าวในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น ข้อมูลด้านดาวเทียม นับเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประเมินผลผลิต และส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตร ตลอดจนกำหนดนโยบายบริหารสินค้าเกษตรที่จะนำเข้ามาในประเทศ

ขณะนี้ สศก. ได้ใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเพื่อสำรวจผลผลิตทางการเกษตร จากภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT8 ทางเว็บไซต์ https://earthexplorer.usgs.gov/ ซึ่งทุก 16 วัน ภาพถ่ายดาวเทียมจะโคจรมาซ้ำบริเวณเดิม ร่วมกับแผนที่รายละเอียดสูงจาก Google มาใช้ในการแปลและวิเคราะห์เพื่อจำแนกเนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่ยืนต้นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน

คาดว่าในระยะต่อไป สศก. จะเริ่มใช้ดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2) ในการสำรวจแทน ซึ่งตอบโจทย์การใช้ประโยชน์โดยรวมหลากหลายด้าน ทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม การจัดการด้านภัยพิบัติด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งด้านความมั่นคงด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันดังกล่าว นับเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เครื่องมือที่ใช้อินเทอร์เน็ต IoT และ UAV ถือเป็นแนวทางประยุกต์เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้มีความแม่นยำ ถูกต้อง และตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้ใช้ (user) ในแต่ละระดับต่อไปในอนาคต

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 เรื่องลานรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดชุมพร มีพฤติกรรมปรับแต่งเครื่องชั่งน้ำหนัก ทำให้น้ำหนักของผลปาล์มน้ำมันที่ได้มีน้ำหนักน้อยกว่าน้ำหนักจริง และเจ้าของลานปรับแต่งแก้ไขข้อมูลการชั่งน้ำหนักในระบบเครื่องชั่ง (ระบบมีลักษณะเป็นโปรแกรม Microsoft Excel) ซึ่งผู้ร้องเรียนได้ส่งหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอการกระทำความผิดของลานทั้ง 2 กรณี มาด้วย

เมื่อ วันที่ 8-11 ม.ค. 2562 กรมการค้าภายใน ได้ส่งชุดสายตรวจพิเศษ ลงตรวจสอบลานรับซื้อทั้ง 2 แห่งที่ได้รับการร้องเรียน คือ หาดพันไกรลานปาล์มหรือพันไกรปาล์ม อ.เมืองชุมพร และโมเดิร์นลานปาล์ม อ.ท่าแซะ จากการตรวจสอบพบว่า ลานรับซื้อผลปาล์มน้ำมันทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการเป็นบุคคลเดียวกัน โดยลานรับซื้อผลปาล์มน้ำมันทั้ง 2 แห่ง มีการแก้ไขดัดแปลงส่วนประกอบของเครื่องชั่ง โดยติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ความเที่ยงตรงของเครื่องชั่งผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด

และยังพบว่ามีการจัดทำใบชั่งน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งใบ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel ซึ่งมีค่าน้ำหนักชั่งรถหนักน้อยกว่าโปรแกรมชั่งน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่ง นอกจากนี้ ลานรับซื้อหาดพันไกรลานปาล์มหรือพันไกรปาล์ม ยังไม่มีการแสดงราคารับซื้อตามอัตราเปอร์เซ็นต์น้ำมันและไม่แสดงอัตราการปรับราคารับซื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลง และไม่จัดทำบัญชีคุมสินค้าแสดงชนิด ประเภท ขนาด น้ำหนัก ต่อหน่วยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันรับซื้ออีกด้วย

เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของลานรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน พร้อมของกลาง ส่งพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557 โดยมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 280,000 บาท

กรมการค้าภายใน ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความเป็นธรรมด้านปริมาณและราคาสินค้าให้แก่ประชาชนผู้บริโภค ทั้งนี้หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กระทรวงพาณิชย์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันที และหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง คุณส่งศักดิ์ คำชัยลึก และ คุณปริวรรต ปัญจะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ บรรยายความรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรแก่เกษตรกร นึกไม่ถึงเลยว่าแมลงพื้นบ้านธรรมดา ที่เดิมชาวบ้านใช้ประโยชน์จากชันเพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ และใช้อุดใต้ฐานพระนั้น จะมีคุณค่าอนันต์มากมาย

ผึ้งที่ว่าผสมเกสรเก่งแล้ว ยังไม่เท่าชันโรง เพราะผึ้งเมื่อเก็บเกสรจากดอกไม้แล้วจะปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นตัวของมัน ทำให้ผึ้งตัวต่อไปไม่มาตอมหรือเก็บเกสร แต่ชันโรงไม่สนใจถึงใครจะดอมดมเก็บเกสรแล้ว มันยังคงเข้าเก็บเกสรทุกดอกทุกรวง เพราะนิสัยของชันโรงชอบเก็บเกสรเข้ารังถึง 80% ทำให้สามารถช่วยผสมเกสรให้กับพืชต่างๆ ได้ดีสุดยอด

ในส่วนการเก็บน้ำหวาน จะเก็บเข้ารังเพียง 20% จึงทำให้มีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 10-20 เท่าตัว ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงนั้น จะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่ สีจึงค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงมีรสเปรี้ยว ที่สำคัญมีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารปฏิชีวนะในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา บำรุงประสาท ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รักษาอาการเจ็บคอและอื่นๆ อีกมากมาย

จากผลการวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า น้ำผึ้งและชันจากชันโรง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 สารไนอะซิน สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง

ชันโรง เป็นแมลงจำพวกผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กไน จึงไม่ต่อยแต่กัดได้ พบโดยทั่วไปในเขตร้อน ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อนและมีอยู่ในท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทยมานานแล้ว ภาคเหนือเรียกชันโรงตัวเล็กว่า “ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง” ถ้าตัวใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าดำ ถ้าเป็นชันโรงยักษ์เรียกว่า ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุ่ง ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคอีสานเรียกว่า ขี้สูด ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ่ง หรือ ติ้ง ชันโรงจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง ภายในรังประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะ คือ วรรณะนางพญา (Queen) วรรณะชันโรงงาน (Worker) วรรณะเพศผู้ (Drone) โดยแต่ละวรรณะทำหน้าที่แตกต่างกันภายในรัง และชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือ ระยะไข่ (6-7 วัน) ระยะตัวอ่อน/หนอน (6-7 วัน) ระยะดักแด้ (26 วัน) และระยะตัวเต็มวัย (210 วัน)

ชันโรงนางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หลักคือ วางไข่และดูแลชันโรงทุกตัวภายในรังให้อยู่ด้วยความเรียบร้อย นางพญาจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยชันโรงงานภายในรังจะพยายามกันชันโรงตัวผู้ที่เป็นเครือญาติเดียวกัน ไม่ให้ผสมกับนางพญา แต่จะนำชันโรงตัวผู้ที่อยู่รังอื่นเข้ามาผสมพันธุ์กับนางพญา เป็นวิธีการป้องกันเลือดชิดหรือจะผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้รังอื่นๆ ระหว่างนางพญาบินไปหารังใหม่ ซึ่งอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นางพญาชันโรงจะวางไข่ในรังใหม่ต่อไป
นางพญาจะวางตัวอ่อนในหลอดรวง โดยมีชันโรงงานคอยปิดผนึกไข่จนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยในที่สุด ไข่จะพัฒนาไปเป็นชันโรงวรรณะใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการผสมจากน้ำเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการผสม ก็จะพัฒนาเป็นชันโรงตัวผู้ แต่ถ้าได้รับการผสม ก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศเมีย คือวรรณะชันโรงงานและนางพญา การพัฒนาจะเป็นชันโรงงานหรือนางพญา ขึ้นอยู่กับขนาดของรวงรังและปริมาณอาหาร รวงรังของตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นนางพญาจะต้องมีขนาดใหญ่และได้รับอาหารที่มากกว่า

ชันโรงตัวผู้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับชันโรงนางพญาอย่างเดียว เหมือนกับผึ้งตัวผู้ การสร้างชันโรงเพศผู้ของรัง จะสร้างเฉพาะฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อชันโรงตัวผู้บินออกจากรังไปแล้วจะไม่กลับเข้ารังอีก เนื่องจากชันโรงงานที่ทำหน้าที่รักษารังไม่ยอมให้ชันโรงตัวผู้กลับเข้ารัง
ชันโรงงาน เป็นวรรณะที่มีมากที่สุดภายในรัง ทำหน้าที่ซ่อมแซมรัง คอยทำความสะอาดรังและเป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ตลอดจนหาอาหารนำมาเลี้ยงสมาชิกในรัง โดยเก็บเกสรและน้ำหวาน

จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการขยายรังชันโรง ได้แก่ รังที่จะแยกขยาย เหล็กงัดรังชนิดเดียวที่ใช้ในการเลี้ยงผึ้ง หมวกตาข่าย เครื่องพ่นควัน กระบอกพ่นน้ำชนิดพ่นฝอย
คัดเลือกรังชันโรงที่สมบูรณ์แข็งแรง มีประชากรชันโรงหนาแน่นมีการสะสมอาหารและน้ำหวานไว้ภายในรังจำนวนมาก มีการสร้างเซลล์นางพญาและเซลล์ตัวอ่อน
ตัดแบ่งกระเปาะเกสร กระเปาะน้ำหวาน กระเปาะตัวอ่อน ประมาณ 1 ใน 3 ของรังเดิม ถ้าพบเซลล์นางพญาให้ตัดมาด้วยและให้มีตัวเต็มวัยของชันโรงติดมาด้วย เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ในรังที่แยกใหม่

ควรตรวจเช็กส่วนที่แยกใส่รังใหม่ให้แน่ใจว่าไม่มีนางพญาชันโรงตัวเดิมติดมาด้วย
หลังจากนั้นจะเกิดขบวนการสร้างนางพญาชันโรงตัวใหม่ขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการแยกขยายรังชันโรง
ช่วงเวลาที่แยกขยายรังชันโรงคือ ช่วงฤดูดอกไม้บาน มีการสะสมอาหารไว้ภายในรังเป็นจำนวนมาก และภายในรังได้มีการสร้างชันโรงตัวผู้จำนวนมากสำหรับการผสมพันธุ์กับนางพญาชันโรงตัวใหม่

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) เป็นแมลงที่อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการสร้างรวงรัง โดยแบ่งเป็นสัดส่วน เป็นเซลล์หรือกระเปาะ ได้แก่ กระเปาะเก็บเกสร กระเปาะเก็บน้ำหวานและกระเปาะสำหรับวางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อน ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชทุกชนิด

ทั้งพืชป่า พืชพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและยามากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป รวมทั้งเข้มข้นกว่า แต่น้ำผึ้งชันโรงจะมีปริมาณจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป ทำให้มีราคาแพงกว่า (ประมาณ ขวดละ 1,500-2,000 บาท) เนื่องจากชันโรงจะมีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20% รวมทั้งเก็บยางไม้หรือชันผึ้ง (propolis) ที่มากกว่าผึ้งทั่วไป เพราะจะใช้สร้างรัง อุดรอยรั่ว ทำทางเข้าออกรังและใช้ป้องกันศัตรูบุกรุก

ชันโรง เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ปัจจุบันสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ เพราะผลิตภัณฑ์จากชันโรงทั้งน้ำหวานและชันผึ้ง ตลาดมีความต้องการสูงเ พื่อใช้ในทางการแพทย์ การผลิตอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง อีกทั้งชาวสวนได้มีการเช่าชันโรง เพื่อวางในสวนผลไม้เพื่อช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิต คิดราคา 30-50 บาท/วัน/รัง ในพื้นที่สวนลำไย 5 ไร่ ได้ทดลองวางชันโรง 2 รัง ในช่วงออกดอก สามารถช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ดังนั้น ชันโรง เป็นสุดยอดแมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้

ผู้ที่สนใจเลี้ยงชันโรง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือศึกษาเรียนรู้ได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 428 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 โทร. 053-431-262 : ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตนางพญาชันโรงได้ และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร

“ไก่ไข่อินทรีย์วิถีสระแก้ว” เป็นหนึ่งในนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกที่ดำเนินการอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัด และได้มีเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย

นอกเหนือจากการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์วิถีสระแก้วแล้ว ยังมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองอินทรีย์วิถีสระแก้ว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไข่อินทรีย์ คือ ไข่ปลอดสารพิเศษที่ได้มาจากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่มีการฉีดฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่มีสารพิษตกค้าง

บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 5 ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โทร. (086) 167-8494 บ้านของเกษตรกรคนเก่งอีกคนหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว คุณเฉลยและคุณสมใจ ละม้ายพันธ์ เป็นหนึ่งในการเกษตรตัวอย่างและผู้ริเริ่มการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์จนประสบความสำเร็จ และสามารถผลิตไข่ไก่อินทรีย์ออกจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้จะมีเรียกกันติดปากว่า ไข่คลองหาด ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า เป็นไข่ไก่อินทรีย์ที่มาจากแม่ไก่อารมณ์ดี

“การที่แม่ไก่อารมณ์ดีนั้น มีสาเหตุมาจากระบบการเลี้ยงของเราที่เน้นให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าการเลี้ยงไก่อินทรีย์ ที่เน้นการเลี้ยงปล่อย คือปล่อยให้ไก่เดินเล่นอย่าเงป็นอิสระตามธรรมชาติ ไม่เลี้ยงในกรงตับ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเครียดของไก่ ทำให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงได้ออกกำลังกาย ได้คุ้ยเขี่ยอาหารตามธรรมชาติ ทำให้ไก่สุขภาพแข็งแรง ด้านอาหารก็เลี้ยงด้วยสูตรอาหารธัญพืชปลอดสาร ไม่ใช่ยาปกิชีวนะ ไม่ใช่ฮออร์โมนเร่ง ปล่อยสารเร่งสี และใช้น้ำหนักชีวภาพ สมุนไพรต่างๆ เพื่อให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง”

“เมื่อไก่ไข่ที่เลี้ยงอารมณ์ดี มีสุขภาพดี ผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพดีตามาด้วย แถมยังปลอดสารพิษ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มีคนจากประเทศญี่ปุ่นมาเที่ยวที่ฟาร์ม เขาบอกว่า ไข่ไก่ของผมคุณภาพดีมากไม่มีกลิ่นคาว รสชาติออกมันๆ เขาตอกใส่ปากกินสดๆเลย “ ลุงเฉลยกล่าว

ทั้งนี้ ลุงเฉลยบอกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากอาการป่วยของภรรยาคือ ป้าสมใจ ที่ป่วยเป็นอัมพฤก และได้มีข้อแนะนำจากแพทย์แผนไทยที่รู้จักกัน ให้ป้าสมใจทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย “หมอแนะนำว่า กินอาหารเป็นยา”

จากคำว่าอาหารเป็นยา ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเข้าสู่การเป็นปศุสัตว์ด้านไก่ไข่อินทรีย์จนถึงปัจจุบัน“แต่ก่อนทำเกษตรใช้สารเคมีมาเยอะ ซึ่งร่างกายผมเองก็รับไม่ไหว แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของอินทรีย์ที่ไม่ต้องมีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องเดี๋ยวสุขภาพดีขึ้นมากต่างกับอดีตที่ผมปลูกมันสำปะหลัง ปลุกข้าวโพดอย่างมากมาย ที่เคยใช้สารเคมี แต่ก่อนผมจะมีปัญหาว่าทำงานเหนักแล้วเหนื่อยง่ายมาก”

ลุงเฉลยบอกว่า ปี 2549 เป็นปีแรกของการเริ่มต้นด้วยไก่ไข่ที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินของกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 7 ตัว และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการอย่างสำนักงานปศุสัตว์อำเภอคลองหาด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว เข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ จนเกิดการพัฒนาและเกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่สนใจ อีก 20 คน กลายเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์อำเภอคลองหาด

แต่ที่สำคัญคือ ผลงานความสำเร็จของลุงเฉลยและทางกลุ่มเกษตรกรได้แพร่กระจายออกไปทางสื่อต่างๆ ทำให้มีผู้สนใจได้เดินทางมาเยี่ยมและนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในหลายจังหวัด

ปัจจุบันลุงเฉลยเลี้ยงไก่ไข่อยู่ทั้งหมด 300 ตัว โดยเป็นสายพันธุ์ไก่ไข่ที่นำลงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2552

“ไก่ไข่อินทรีย์มีเปอร์เซ็นต์การให้ไข่ดี เช่น ไก่ไข่ จำนวน 90 ตัว ได้ไข่ 79-80 ฟอง ที่ผมยังไม่เปลี่ยนเพราะต้องการศึกษาว่า ถ้าเราเลี้ยงในลักษณะไก่ไข่อินทรีย์แบบนี้ ตัวไก่จะสามารถให้ผลผลิตได้นานขนาดไหน เพื่อให้เป็นข้อมูลแก่เกษตรกรผู้สนใจใหม่ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้”

ลักษณะการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ของลุงเฉลย จะเป็นคอกที่มีแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นโรงเรือนเพื่อให้ไก่ได้ใช้เป็นที่นอน โดยจะทำคอนให้ไก่ไว้เกาะนอนช่วงกลางคืน และกินน้ำอาหาร อีกส่วนเป็นพื้นที่แปลงหญ้า เพื่อให้ไก่ออกมากินหญ้า แมลง ตามธรรมชาติทั้งนี้อัตราการปล่อยเลี้ยงมีข้อแนะนำว่า พื้นที่ 1 ตารางวา ต่อไก่ 1 ตัว และให้มีรังไข่ 1 รัง ต่อไก่ 9 ตัว

สำหรับในส่วนของอาหารที่ให้ไก่กินนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ อาหารหลักได้แก่อาหารข้น และอาหารเสริมต่างๆ ตามธรรมชาติ

“อาหารที่ใช้เลี้ยงผมผสมอาหารเอง โดยไม่ให้มีเคมี ใช้วัตถุดิบทั้งที่ผลิตได้เองและซื้อมา โดยประยุกต์สูตรอาหารมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว โดยผมจะถอดส่วนผสมที่เป็นสารเคมีออกแล้วเพิ่มในส่วนของสมุนไพรเข้าไปแทน โดยจะมีส่วนผสมของ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ถั่วอบ รำ เกลือ เปลือกหอย”

สำหรับสมุนไพรที่ลุงเฉลยใช้ผสมให้ไก่กินนั้น ส่วนมากจะเป็นสมุนไพรที่สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ เช่นใบเตย ต้นโทงเทง มีสรรพคุณแก้หวัดในสัตว์ ต้นฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใบฝรั่ง มีสรรพคุณแก้ท้องเสีย หญ้าจีนแดง มีสรรพคุณใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ซึ่งตามคำแนะนำที่ผมเคยไปอบรมมาบอกว่าต้องนำมาหมักก่อนแล้วผสมน้ำให้ไก่กิน แต่ผมมองว่ามีขั้นตอนเยอะไป ผมเลยนำมาตากแห้งบาง หรือบางครั้งก็ใช้สด แล้วผสมลงไปในอาหารโดยตรง ซึ่งอาหารข้น 100 กิโลกรัมจะ จะใส่สมุนไพรลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม ไก่ที่ผมเลี้ยงกินสมุนไพรแบบนี้เข้าไปด้วยทำให้แข็งแรงไม่เคยป่วยเป็นโรค ซึ่งที่ฟาร์มผมไม่เคยทำวัคซีนให้กับไก่เลย

“ไม่ใช่เฉพาะที่ต้องเป็นสมุนไพรอย่างเดียว แม้แต่พืชผักต่างๆที่เรากิน ไม่ว่า พริก ข่า ตะไคร้ มะละกอ ตำลึง หรือต้นกระถินที่ขึ้นรั้ว ก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อไก่ทั้งสิ้น เรามาให้ไก่กินได้เลย”

ลุงเฉลยบอกว่า สำหรับอาหารข้นที่ผลิตขึ้นนั้นจะนำมาให้ไก่กินวันละ 2 ครั้งในช่วงเช้าและบ่าย “ไก่ไข่ตัวหนึ่งจะกินอาหารวันละ 1 ขีด ดังนั้นถ้าไก่ 10 ตัวก็จะกินอาหาร 1 กิโลกรัม เราก็แบ่งให้กินในช่วงเช้า 0.5 กิโลกรัมและประมาณบ่าย 3 โมงเย็นจะให้อาหารอีก 0.5 กิโลกรัม พร้อมทั้งมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา”

ส่วนอาหารเสริมตามธรรมชาติ จะเน้นการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาตินั้น ลุงเฉลยบอกว่า การปล่อยให้กินหญ้าแมลงตามธรรมชาติ จะเริ่มปล่อยตั้งแต่ 4 โมงเย็นทุกวัน ซึ่งไก่จะหากินจนมืดและจะกลับขึ้นคอกนอนเอง

“นอกจากปล่อยให้กินหญ้าธรรมชาติแล้ว บางช่วงผมก็จะปลูกผักไว้ในพื้นที่ข้างๆด้วย เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ซึ่งต้นสวยๆป้าสมใจจะคัดออกไปจำหน่าย ส่วนที่เหลือก็จะเก็บมาโยนให้ไก่กิน ผักที่ปลูกจะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้นเช่นกัน หากมีโรคแมลงเกิดขึ้นผมก็จะใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น”

ลุงเฉลยได้กล่าวถึงด้านการตลาดไข่ไก่อินทรีย์ที่ผลิตได้ในขระนี้ว่า ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

“ตอนนี้ความต้องการมีมาก ไม่เฉพาะในพื้นที่อำเภอคลองหาดเท่านั้น ตามจังหวัดต่างๆ ก็ติดต่อเข้ามากันเยอะ แต่ผมมีข้อจำกัดว่าทำกับป้า 2 คน เราจึงไม่สามารถขยายออกไปให้เพียงพอกับตลาดได้ ตอนนี้เราจึงขายเท่าที่เรามีไป แต่ผมบอกได้เลยว่า หากทำอย่างถูกต้องได้รับการรับรองจากรมปศุสัตว์ว่าเป็นไก่ไข่อินทรีย์แล้ว เรื่องตลาดไม่ต้องเป็นห่วงมีความต้องการสูงมาก” ลุงเฉลยกล่าวทิ้งท้าย