เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2558 ชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อ

ชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อชะลอการขายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว เมื่อครบกำหนดชำระคืนเงินกู้ หากราคาตลาดของข้าวเปลือกต่ำกว่าราคาให้สินเชื่อ ให้คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการระบายข้าวเปลือกที่เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ หากเกิดภาวะขาดทุนจากการดำเนินโครงการฯ ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับภาระเองทั้งหมด

ในเรื่องดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์เสนอขอทบทวนมติครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2558 ซึ่งครม. มีมติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 เห็นชอบให้คลัง รับผิดชอบและบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการโดยไม่ทำสัญญาในลักษณะที่ก่อให้เกิดภาระต่อเกษตรกร และมอบหมายให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพณิชย์ พิจารณากำหนดมาตรการในการชดเชยค่าใช้จ่ายกรณีเกิดภาวะขาดทุนจากการดำเนินโครงการฯ และให้เสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

กรมควบคุมมลพิษ จับมือกลุ่มผลิตน้ำดื่ม งดใช้แคปซิล เผยช่วยลดขยะ 2,600 ล้านชิ้น ต่อปี สิงคโปร์ เกาหลี อิตาลี อังกฤษ งดใช้นานแล้ว

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. พร้อมด้วย นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือแคปซิล

นางสุณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวด ต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซิล ร้อยละ 60 หรือ ประมาณ 2,600 ล้านขวด ต่อปี ทำให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น ต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตัน ต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ แคปซิลเป็นพลาสติก พีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนํากลับมารีไซเคิล และไม่คุ้มทุนในการดําเนินการ ทําให้แคปซิลถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล จึงเป็นปัญหาต่างๆ เช่น การอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนไหลลงแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล

“จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตาย พบว่ามีสาเหตุจากการกินพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ ซึ่งในหลายๆ ประเทศไม่มีการใช้แคปซิลแล้ว เช่น สิงคโปร์ เกาหลี อิตาลี อังกฤษ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีน้ำดื่มที่ยังใช้แคปซิลและไม่ใช้แล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมลดขยะพลาสติก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มจึงร่วมกันขับเคลื่อนเลิกใช้แคปซิล ซึ่งจะทําให้ลดปริมาณขยะแคปซิลได้ถึง 2,600 ล้านชิ้น ต่อปี หรือคิดเป็นน้ําหนัก 520 ตัน ต่อปี โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นี้กลุ่มผู้ผลิตน้ำดื่มจะไม่ใช้แคปซิลอีกแล้ว” อธิบดี คพ. กล่าว

นายวันชัย ศรีทองคํา ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า น้ำดื่มบรรจุขวดที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดให้เป็นอาหารกําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ผู้ผลิตต้องขออนุญาตผลิตขอรับเลขสารบนอาหารของผลิตภัณฑ์ และแสดงฉลากให้ถูกต้อง โดยน้ำดื่มที่สะอาดต้องเป็นน้ำที่ผ่านมาตรฐาน ส่วนการใช้แคปซิลไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎกระทรวง อีกทั้งภาชนะบรรจุน้ำขวดจะมีวงแหวนเล็กๆ ด้านล่างฝาติดผนึกอยู่ฝาขวด หากยังไม่เปิดขวด วงแหวนนั้นจะไม่ขาดจากกัน เป็นตัวบ่งชี้ว่าขวดน้ำดื่มยังไม่มีการเปิดก่อนถึงมือผู้บริโภค

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจร และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของจังหวัด ซึ่งมี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้หารือเรื่องแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้มีการมอบหมายการดำเนินงานใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. ให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ระดับรองปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ตรวจราชการทั้ง 30 คน ลงพื้นที่แนะนำและติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ คณะอำนวยการขับเคลื่อนงาน และคณะทำงานระดับจังหวัด ในการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจรของจังหวัด รวมทั้งรับฟังปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยตัวชี้วัดความสำเร็จจะยึดหลักตลาดนำการผลิต มุ่งไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร หาตลาดรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร และทำให้ข้อร้องเรียนของเกษตรกรลดลง

แหล่งข่าวกล่าวว่า 2. กระทรวงเกษตรฯ เตรียมรายการเมนูอาชีพเข้าไปเสริม โดยแบ่งเป็นเมนูรายบุคคล รายกลุ่ม/ชุมชน เช่น รายบุคคล มีเมนูพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อยให้ปรับเปลี่ยนการผลิตทดแทนการทำสวนยาง 150,000 ไร่ ให้กับเกษตรกร 30,000 ราย รายละไม่เกิน 10 ไร่ หรือรายกลุ่ม/ชุมชน มีเมนูสร้างฝายชะลอน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้แรงงานจิตอาสาในชุมชน มีค่าตอบแทนแรงงานวันละ 300 บาท เป็นต้น เมนูอาชีพทั้งหมดนี้ จะสนับสนุนการทำงานตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกอาชีพที่เหมาะสม เสริมรายได้ให้กับตนเองและครัวเรือน ทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรฯ จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับกระทรวงมหาดไทย

แหล่งข่าวกล่าวว่า 3. ติดตามผลการดำเนินงานในปี 2561 ตามโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ 16 โครงการ ซึ่งต่อยอดมาจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนก่อน โดยใช้หลักการ ต่อ เติม แต่ง ในแต่ละโครงการ ซึ่งได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาด 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ ณ เวลา 8.00 น. พบว่า ปริมาณฝุ่นละออง ขนาด 2.5 ไมครอน ตรวจวัดได้ระหว่าง 52-72 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 50 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร 6 สถานี ที่บริเวณ ริมถ.พระรามสี่ 53 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ริม ถ.อินทรพิทักษ์ 72 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ริมถ.ลาดพร้าว 53 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ริมถ.พญาไท 52 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร เขตบางนา 61 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร และเขตวังทองหลาง 60 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นที่ริม ถ.อินทรพิทักษ์และริม ถ.พญาไท ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 87% ลมสงบ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มขึ้น

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ.กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่อยู่อาศัย หรือต้องเข้าในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ เช่น การใช้ยานพาหนะ การเผา และโดยเฉพาะการก่อสร้าง ให้มีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้

“พวกหนูสั่งซื้องอบทางอินเตอร์เน็ตจากนั้นก็นำงอบมาเจาะรูที่ด้านบน และนำพัดลมคอมพิวเตอร์เก่าๆ มาใส่ในงอบ จากนั้นก็นำสาย USB เก่าที่ไม่ได้ใช้มาเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ และนำรังงอบมาติดกับกระหม่อมงอบ ด้วยลวดกำมะหยี่สานให้เป็นตะแกรงเพื่อให้วางเจลเย็นได้ แล้วนำสายรัดยางยืดมาติดเพื่อเป็นตัวล็อกเครื่องสำรองไฟ หรือเพาเวอร์แบงก์ และจากนั้นก็ใช้สาย USB เชื่อมกับเครื่องสำรองไฟเพียงเท่านี้พัดลมก็ทำงานได้แล้ว”

น้องดาด้า – เด็กหญิงณภัทร สาตราร้าย และ น้องสมายด์ – เด็กหญิงวรัชญา อินทร์ตรี อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ หนึ่งในทีมนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ที่อายุน้อยที่สุดในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติประจำปี 2561 ร่วมกันอธิบายถึง “งอบติดแอร์” ผลงานประดิษฐ์ที่นำมาจัดแสดง และเล่าถึงแรงบันดาลใจในการคิดประดิษฐ์ผลงานนี้ว่า

ทุกครั้งที่รับประทานข้าวที่โรงเรียน คุณครูมักบอกว่า ต้องรับประทานข้าวให้หมดเพราะสงสารชาวนา อีกทั้งเห็นเพื่อนบ้านที่มีอาชีพทำนาเขาต้องตากแดดทำนา ดังนั้น จึงรู้สึกสงสารชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ

“การทำงอบติดแอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยคลายความร้อนให้ชาวนาไทยได้บ้าง”

แม้งานจะจบไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในใจของเด็กๆ คือความภาคภูมิใจกับการได้เป็นตัวแทนของโรงเรียน ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนถึงความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ เพื่อสังคม

งานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติประจำปี 2561 ปีนี้มีทัพผลงานการประดิษฐ์คิดค้นกว่า 2,000 ผลงานจากนักคิดของไทยและนานาชาติ รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ประชันผลงานกันอย่างคึกคัก ที่ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประธานการจัดงาน บอกว่า เป็นเวทีก้าวสำคัญของเยาวชน ภายใต้โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” ซึ่งน่าปลื้มใจมากที่ปีนี้มีเยาวชนทั้งนักเรียนและนักศึกษาทั่วประเทศนำผลงานเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 550 ผลงาน นอกจากงอบคลายร้อนให้คุณป้า คุณย่า คุณยาย ชาวนา ภายในงานยังมีสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจอีกมากมาย

ตัวอย่างเช่น “กระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ” รางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย ของ เด็กหญิงจ้าวไหม ตั้งศิริพัฒน์ เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และ เด็กหญิงกุลณัฏฐ์ โตวิกกัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะตัวเองและเพื่อนๆ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน และบางครั้งก็เห็นเพื่อนนักกีฬาด้วยกันได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา ซึ่งถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ จึงได้ร่วมกันทำกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะขึ้นมาด้วยงบประมาณหนึ่งแสนบาท

“ภายในกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ กระเป๋า รถเข็น และเปลสนาม ซึ่งภายในกระเป๋าก็แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย แอลกอฮอล์ เบตาดีน สำลี เป็นต้น และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลกู้ชีพ ประกอบด้วย อุปกรณ์การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และเครื่อง CPR ใช้สำหรับผู้ที่เป็นลมหมดสติ แต่ถ้าปฐมพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้น เราก็มี ESI EMERGENCY CALL สำหรับกดปุ่มเรียกหน่วยพยาบาลที่อยู่ในระยะใกล้เคียง เพื่อมารับตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

“ถัดมาคือรถเข็นผู้ป่วยซึ่งสามารถพับเก็บเป็นกระเป๋าเดินทางล้อลากได้ สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม และเปลสนามก็เช่นเดียวกันสามารถ รองรับน้ำหนักได้มากถึง 120 กิโลกรัม อีกหนึ่งความพิเศษของกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นสามารถพับเก็บได้ไปได้ทุกที่ด้วยน้ำหนักที่เบาสบายเพียง 6-7 กิโลกรัม เท่านั้น”

สำหรับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ระดับอุดมศึกษา ปีนี้เป็นผลงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม คุณัชญ์ รักน้ำเที่ยง อธิบายถึงแนวคิดในการประดิษฐ์ “รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ว่า สังคมปัจจุบันนี้มีคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การนำอุปกรณ์บางอย่าง เช่น วีลแชร์มาดัดแปลงเพียงเล็กน้อยบางครั้งก็ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและทำให้คนเหล่านั้นมีความสุข ภาคภูมิใจในตนเองที่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามกำลังที่มีอยู่

“เราได้นำจักรยานของผู้พิการมาดัดแปลงด้วยการเอาคันโยกออก และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าของจักรยานญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่ ส่วนที่ตัดหญ้านั้นเราได้ใส่ไว้ด้านใต้ท้องจักรยานโดยติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ด้านหลัง เมื่อเปิดปุ่มใช้งานจักรยานไฟฟ้าแล้ว ถ้าหากต้องการตัดหญ้าด้วยก็กดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายมือ และเมื่อเลิกใช้ก็กดปุ่มเดิม จากการทดสอบวิ่งทางตรงบนถนนที่ไม่มีการตัดหญ้า รถสามารถวิ่งได้ 20-25 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถ้ารถทำการตัดหญ้า ก็จะวิ่งได้ประมาณ 20-25 กิโลเมตร” คุณัชญ์ อธิบาย

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนรุ่นใหม่ ยังมีที่น่าสนใจอีกมาก เช่น พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกล้วย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยพิษณุโลก ชนะเลิศประเภทเพื่อพลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2561 สถาบันอาหารได้กำหนด 9 เมนูอาหารไทยแท้ แบ่งเป็นอาหารคาว 7 เมนู ได้แก่ ทอดมันปลา ฉู่ฉี่กุ้ง กุ้งซอสมะขาม ห่อหมกทะเล แกงเผ็ดเป็ดย่าง ยำวุ้นเส้นทะเล และแกงกะหรี่ไก่ อาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ บัวลอยและข้าวเหนียวสังขยา ภายใต้โครงการ “ยกระดับมาตรฐานรสไทยแท้อุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดโลก” ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ให้งบประมาณดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอาหารของไทยให้มีคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของอาหารรสไทยแท้ โดยปีนี้ใช้วิธีสัมภาษณ์ถึงเมนูอาหารยอดนิยมที่ลูกค้าชื่นชอบจากร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 100 ร้าน ทั้งในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ส่วนต่างประเทศพิจารณาประเทศที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมาก อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สเปน และสหราชอาณาจักร

“สำหรับการจัดทำมาตรฐาน “รสไทยแท้” เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2559 รวม 13 เมนู แบ่งเป็นอาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ผัดเปรี้ยวหวานกุ้ง มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบและข้าวเหนียวมูนมะม่วงน้ำดอกไม้” นายยงวุฒิ กล่าว

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชี้เส้นทางกว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมขายจริงในเชิงพาณิชย์ ต้องอาศัยนวัตกรรมและความรู้จากหน่วยงานวิจัยเป็นบันไดเลื่อนหรือลิฟต์สู่ความสำเร็จ “อภิรักษ์” ชี้วิจัยต้องคิด ทำ และใช้งานได้เร็ว เพราะโลกหมุนไปเร็ว จะได้มีสินค้านวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้บริหารบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด) กล่าวระหว่างการเสวนา “กว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมจะขายจริงในเชิงพาณิชย์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าธุรกิจของตนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร คือข้าวโพดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้องค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระแสโลกที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ตนมองเห็นโอกาสที่จะผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

โดยส่วนตัวแล้วนายอภิรักษ์กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงนวัตกรรมของ สกว. และ สวทช. เป็นอย่างมาก เพราะหากเรายังคงผลิตสินค้าแบบเดิม ๆ ก็ต้องแข่งขันด้านการตลาดและราคามากขึ้น แต่เมื่อมีการคิดค้นนวัตกรรมก็จะทำให้เกิดการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งตนก็ได้แรงบันดาลใจตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เห็นผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่ปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และกระแสความต้องการของผู้บริภาค เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รับประทานสะดวกสบายมากขึ้น สินค้าของตนสามารถตีตลาดได้ทั้งประเทศไทยและอาเซียน จึงอยากให้ผู้ประกอบการมองตลาดให้กว้างขึ้นมากกว่าในประเทศด้วย นอกจากนี้ตนยังได้สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจโดยทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์

การทำธุรกิจแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ผู้ประกอบการมักต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรสร้างเครือข่ายชุมชน กลุ่มแม่บ้านหรือโอท็อป รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เพื่อต่อยอดนวัตกรรมผลิตสินค้าที่ขายได้จริงในราคาที่คนเข้าถึงจึงจะแจ้งเกิดสินค้าได้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นบ้านสามารถนำมาต่อยอดกับนวัตกรรมได้หมด เมื่อทำวิจัยแล้วงานต้องขายได้ในธุรกิจจึงจะเป็นการวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญหน่วยงานวิจัยต้องคิดงานให้เร็วขึ้น เข้าไปช่วยเอสเอ็มอีในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ภายใต้ต้นทุนของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เยอะ ทำแล้วต้องวางตลาดได้เร็วเพราะโลกเราหมุนไปเร็วมาก ต้องเราเร่งสปีดให้งานออกมาเร็วขึ้น จึงจะผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น”

ขณะที่นายโชคยิ่ง พิทักษากร ผู้บริหารบริษัท ภัทชนิก จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์เด่นด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจาก สกว. และ สวชท. กล่าวถึงการผันตัวจากดีไซเนอร์มาสู่เอสเอ็มอีว่าจะทำอะไรก็ต้องสร้างสรรค์ ไม่เหมือนคนอื่น แต่ความฝันในการเป็นเกษตรกรไม่หอมหวานนักในช่วงแรก ผลไม้แปรรูปที่ผลิตออกมาจำหน่ายในระดับพรีเมียมถูกคัดออกเยอะมาก จนเกิดความทุกข์ใจอย่างหนัก เพราะผลไม้สดมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขนส่งเพื่อจัดจำหน่าย จึงต้องหาทางแก้ปัญหาจนได้เข้าร่วมโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง” ของ สกว. และ สวทช.

“ผมเริ่มต้นธุรกิจเอสเอ็มอีจากความไม่คุ้นเคย ไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่การผลิตสินค้าต้องได้มาตรบาน กระบวนการผลิตที่ทันสมัย และสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากของเดิมที่มีอยู่ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค การขยายงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการมาสู่พาณิชย์จริงต้องใช้เวลานานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการคิดงานวิจัยและนวัตกรรมจะต้องมีจุดขายและเกิดผลกระทบ มีปริมาณมากพอที่จะรองรับตลาด รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสวยงาม ซึ่งตนพยายามสร้างจุดเด่นความเป็นชาติและตัวตนจากทรัพยากรที่มีอยู่ นั่นคือการแปรรูปผลไม้ไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยใช้เทคนิคในการช่วยห่อหุ้มน้ำผลไม้ธรรมชาติให้คงตัว มีรสชาติและลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์”

ด้านนายประพันธ์พงษ์ นทกุล ผู้บริหารบริษัท โนวัส อินเตอร์เทรด จำกัด ระบุว่าแต่เดิมตนเป็นวิศวกรแต่เมื่อมาทำธุรกิจของครอบครัวซึ่งอยู่ในวงการยาและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค ก็คิดทำผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมสูงวัยและเด็กเล็กซึ่งเป็นตลาดใหม่และโอกาสทางธุรกิจเพื่อชิงพื้นที่ทางการตลาด นั่นคือยาสีฟันออร์กานิกเกรดอาหารเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และมีรสชาติดีเพื่อสร้างความภักดีต่อสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริภาคเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อมั่นว่าช่องปากเป็นประตูที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการทำธุรกิจยาสีฟันเพื่อสุขภาพจึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดี แต่ต้องทำการตลาดไม่ซ้ำรอยเดิม “ผู้ประกอบการต้องหาบันไดเลื่อนหรือใช้ลิฟต์สำหรับการทำธุรกิจ นั่นคือมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานวิจัย อย่าคิดแต่หวังพึ่งพาตัวเอง”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 สวนสัตว์เชียงใหม่จัดกิจกรรมต้อนรับเทศกาลวันแห่งความรัก ‘Happy Valentine’s Day With Chiang Mai Zoo’ โดยมีนายวุฒิชัย ม่วงมัน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวพาครอบครัวและคนรักมาท่องเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่ และชมความน่ารักของเหล่าสัตว์นานาชนิด พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมพิเศษมากมายภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ อาทิ ถ่ายภาพแสดงความรักต่อกันบริเวณโซนน้ำพุนกกระเรียน การแสดงมาสคอตแดนซ์แสนน่ารัก ซุ้มถ่ายรูปที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้หลากหลายสี และซุ้ม ‘รักนี้ชั่วนิรันดร์’ สัญลักษณ์นกเงือกที่สื่อถึงความรักของนกทั้งคู่ที่มีให้กันและกัน

วันเดียวกันนี้ นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ พร้อมคณะเดินทางมามอบเงินจำนวน 20,000 บาท เพื่อสนับสนุนเป็นค่าอาหารแก่ครอบครัวแพนด้า ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ซึ่งอาศัยอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยได้มอบกระเช้าผลไม้แอปเปิ้ลและแครอทผลไม้โปรดของแพนด้า เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในวันแห่งความรักซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งแพนด้าทั้งคู่มีท่าทียินดีกับของขวัญที่ได้รับ โดยเฉพาะหลินฮุ่ยที่ใช้มือดึงไม้ไผ่ที่เป็นอุปกรณ์แขวนกระเช้าผลไม้จากกงสุลฯ จนหงายหลัง สร้างเสียงหัวเราะให้กับคณะกงสุลฯ เป็นอย่างมาก

ความจริงแล้ว นั่งเครื่องบินมาลงที่ลอสแองเจลิส แต่ไม่เห็นมีใครเรียกตรงที่อยู่นี้ว่า ลอสแองเจลิส กลับเรียกว่า Northridge คิดว่า คงเป็นเมือง suburb อยู่ทางเหนือเยื้องมาทางตะวันตกของลอสแองเจลิส อยู่ไม่ห่างทะเลมากนัก แต่อากาศแห้ง และไม่มีฝนในฤดูร้อน เหมือนกับประเทศในเขตอบอุ่นอื่นๆ คาดว่าจะมีฝนในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนฤดูกาล จากร้อนเป็นหนาว หรือในขณะที่โลกเปลี่ยนแกน หันซีกโลกทางเหนืออยู่ใกล้ หรือไกลจากดวงอาทิตย์ ขณะนี้ทางเหนือของโลกหันเข้าหาดวงอาทิตย์ (อยู่ใกล้) ด้านบนของโลกจึงเป็นหน้าร้อน กลางวันยาว

ถามเพื่อนดูว่า แถวนี้เอาน้ำที่ไหนมาเป็นน้ำกินน้ำใช้ เพราะฝนไม่ตกเลย เพื่อนให้ความเห็นว่า คงจะต่อท่อมาจาก Colorado Spring ซึ่งอยู่ห่างพอสมควร ลองคิดสรุปๆ ดูว่า ถึงแม้ส่วนเหนือของโลกนี้จะอากาศเย็น แต่ความร้อนของแสงอาทิตย์ก็เผาผลาญน้ำในทะเลเป็นความชื้น และลมก็พัดพาความชื้น ไปสะสมบนท้องฟ้าเหนือแผ่นดิน ล่องลอยไปเรื่อยๆ แม้จะไม่เกิดฝน แต่เมื่ออากาศหนาวจัด ก็ทำให้ความชื้นในอากาศแข็งตัว เป็นหิมะตกลงมา โดยเฉพาะทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ เพราะฉะนั้น คิดว่า ยังไงในอเมริกาก็ยังมีน้ำฟ้า หรือหิมะละลาย หล่อเลี้ยงชีวิต ไหลไปในแม่น้ำ ทะเลสาบต่างๆ