เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงาน

ของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ต่อภาคเกษตรไทย พบว่า ได้เพิ่มบทลงโทษกรณีที่นายจ้างจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งตามสถิติมีจำนวนคนต่างด้าวภาคเกษตรที่ได้รับอนุญาตทำงาน คงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน มิถุนายน 2560 จำนวน 248,281 ราย (เกษตรและปศุสัตว์,ประมง) ก่อให้เกิดผลด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,876.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นเพิ่มเติมด้านแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บข้อมูลในระบบหรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น พบว่า มีประมาณ 1 ล้านราย โดยคิดเป็นแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบ (เกษตรและปศุสัตว์,ประมง) ประมาณ 17% หรือ จำนวน 170,000 ราย

เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตร จากกรณีที่แรงงานต่างด้าวภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบเดินทางกลับประเทศหรือย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเองโดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 434.31 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 244.80 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 174.42 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 853.53 ล้านบาท กรณีที่ 2 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 10 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 868.62 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 489.60 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 348.84 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าสิ้น1,707.06 ล้านบาท กรณีที่ 3 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 15 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืชจำนวน 1,302.93 ล้านบาท สาขาประมง 734.40 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 523.26 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,560.59 ล้านบาท

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 2 ระยะ ดังนี้

ระยะสั้น 1.ปรับบทลงโทษหรือขยายระยะเวลาการนำ พ.ร.ก. มาใช้เนื่องจากบทลงโทษที่เกิดจาก พ.ร.ก. นั้นค่อนข้างรุนแรงและกะทันหัน เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ทำการเกษตรโดยการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย

2.ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ยุ่งยากเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การให้บริการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (ONE STOP SERVICE) และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้นายจ้าง ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายได้ทันระยะเวลาที่ภาครัฐพิจารณาขยายให้

ระยะยาว 1. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ 2. การจัดงบประมาณในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้จากการจดทะเบียนหรือต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่รัฐสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ให้มีเงินงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอต่อกรรมการด้านต่าง ๆ ที่จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้

คุณสัญชัย ปุรณะชัยคีรี อดีตนายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผยถึงทิศทางการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ ว่า มังคุด ทุเรียน และมะพร้าวน้ำหอม จะเป็นไม้ผลที่มีอนาคตโดยเฉพาะตลาดการค้ากับต่างประเทศ เนื่องจากผลไม้เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่คนจีนชอบรับประทาน เพราะตลาดจีนกว้างมากและมีอัตราการเติบโตสูง รวมถึงประเทศไทยมีทักษะในการพัฒนาไม้ผลดีกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน เพราะมีพื้นฐานการเกษตรและระบบชลประทานดีกว่ามาก ทั้งนี้จีนเป็นประเทศที่บริโภคทุเรียนที่นำเข้าจากประเทศไทย ประมาณ 80% สอดคล้องกับตัวเลขส่งออกทุเรียนของประเทศไทย วันละประมาณ 6,000 ตัน

“สำหรับทุเรียนมูซังคิง ของมาเลเซีย เป็นทุเรียนพื้นบ้านของมาเลเซีย จัดอยู่ในทุเรียนพันธุ์เบา ปัจจุบันทุเรียนพันธุ์นี้ได้รับความนิยมอย่างมากในมาเลเซียเอง รวมถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สำหรับส่งออกทุเรียน แม้ว่าทุเรียนมูซังคิงจะเป็นทุเรียนที่ได้รับความนิยมของมาเลเซีย แต่ปัจจุบันมีปลูกในประเทศไทย โดยเฉพาะในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่งออกไปยังประเทศจีนเกือบทั้งหมด”

คุณสัญชัย มองอนาคตของทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ว่า หากนำมาปลูกในประเทศไทย น่าจะเป็นทุเรียนที่สร้างมูลค่าสำหรับการส่งออกได้ดีพันธุ์หนึ่ง นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตเมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ภาคใต้ (อำเภอเบตง จังหวัดยะลา) ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นคนละช่วงฤดูกับทุเรียนในภาคตะวันออกของไทย ทั้งนี้ คุณสัญชัย ยังมองว่า ในอนาคตทุเรียนพันธุ์มูซังคิง จะเป็นทุเรียนในกลุ่มตลาดพรีเมี่ยมของจีน ส่วนทุเรียนหมอนทองของไทย จะจัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนอุตสาหกรรม ที่สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การทำเนื้อทุเรียนอบแห้ง การทอดกรอบ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงรายถึงสถานการณ์น้ำท่วมในวันนี้(25ก.ค.60) ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำกรณ์ล้นตลิ่งและกัดเซาะพนังกั้นพื้นที่ ม.8 ต.สันทราย อ.เมือง ในจุดที่ใกล้กับบ่อปลาสาธารณะประจำหมู่บ้านและไร่นาจนพังทลายทำให้มวลชนน้ำจำนวนมากไหลทะลักเข้าท่วมบ่อปลาเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และไร่นาเป็นบริเวณกว้าง บ้านเรือนที่อยู่บริเวณดังกล่าว 2 หลังคาเรือนไม่สามารถใช้อาศัยอยู่ได้ น้ำยังเข้าท่วมบ้านพักคนงานที่สร้างถนนและบ้านเรือนประชาชนพื้นที่ ม.8 และ ม.4 ต.สันทราย รวมกันประมาณ 50 หลังคาเรือน ระดับน้ำลึกประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร ชาวบ้านต้องเดินออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานกันอย่างยากลำบาก

ด้าน พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 สั่งการให้ พ.อ.ปิยวุฒิ โลสุยะ รองเสธฯ นำกำลังพลทหารร่วมกับชาวบ้านนำโดยนางพัชรินทร์ สุภาวรรณ์ สมาชิกสภาเทศบาล ต.สันทราย นำหลักไม้ไปปักตรงพนังที่แตกทลายแล้วนำเรือท้องแบนของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขนทรายจากถนนด้านนอกลอยลำไปถมเพื่ออุดรูรั่วดังกล่าวตลอดทั้งวัน ซึ่งการซ่อมแซมเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะรถไม่สามารถเข้าไปถึงบริเวณพนังดังกล่าวทำให้ขนดินและทรายไปได้โดยทางเรือเท่านั้น

นางพัชรินทร์ สุภาวรรณ์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสันทราย กล่าวว่า เดิมน้ำจากปริมาณน้ำฝนที่มากจะไหลลงสู่ลำน้ำแม่กรณ์และแหล่งน้ำสายเล็กๆ รวมถึงทุ่งนาแล้วผ่านพื้นที่ไปอย่างรวดเร็วตามปกติ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีการสร้างถนนเลี่ยงเมืองหรือบายพาสจนขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลไปได้เฉพาะทางลำน้ำแม่กรณ์ที่มีสะพานข้ามถนนสายดังกล่าวเป็นที่ระบายเพียงจุดเดียว ทำให้เกิดการกัดเซาะและพนังพังทลายไปในที่สุดซึ่งตนอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานานกว่า 50 ปีไม่เคยพบเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้มาก่อน

วันเดียวกันนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งระบายน้ำตามจุดต่างๆ รองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาในอนาคต และได้ไปตรวจดูลำน้ำแม่สะกึ๋นพื้นที่บ้านร่องหวาย บ้านใหม่นานวา บ้านหัวดง และบ้านร่องปลาขาว ต.ห้วยสัก ที่เกิดเหตุการณ์พลังกั้นน้ำพังเสียหายจนเข้าท่วมนาข้าวกว่า 1,000 ไร่เช่นเดียวกัน โดยได้มีการซ่อมแซมพนังจนแล้วเสร็จและนำรถแบ็คโฮจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 กองบัญชาการกองทัพไทย ไปขุดลอกผักตบชวาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศ ประจำวันที่ 26 กรกฏาคม 2560 ดังนี้
ลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งไว้ด้วย

สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 นี้

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (26 ก.ค. 60) พายุดีเปรสชั่น “เซินกา” (SONCA) ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนที่ทางตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้. ภาคเหนือ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสระบุรี ลพบุรีนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และสิงห์บุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม/ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ผศ.ดร. ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวถึง กิจกรรมการสัมมนา “สวนดุสิตก้าวหน้าด้วยการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” ว่า มสด.มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงจัดตั้งหน่วยบริหารงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ขึ้น

ผศ.ดร.ชนะศึก กล่าวต่อว่า หน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งได้จัดโครงการสัมมนานี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างเครือข่ายในการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมกับหน่วยงานภายนอก อันเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

ผศ.ดร. ชนะศึก กล่าวอีกว่า กิจกรรมภายในงานสวนดุสิตก้าวหน้าฯ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน และนวัตกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ใน 5 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ ด้านพาณิชย์ และด้านพัฒนามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ของบุคลากรและนักวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติ เช่น ด้านนโยบาย การคิดแอพพลิเคชั่นระบบนำเที่ยวแบบครบวงจรในจังหวัดราชบุรีผ่านสมาร์ตโฟน ด้านสาธารณะ การผลิตปุ๋ยนาโนซิลิคอนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืช และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

ผศ.ดร. ชนะศึก กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังจัดแสดง ผลงานของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่มีการนำ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้จริง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ UNI เครื่องหมายการค้าของกราฟิกไซต์ และโฮมเบเกอรี่ ภารกิจข้างต้น จึงถือเป็นการนำศักยภาพของมหาวิทยาลัยออกมาประชาสัมพันธ์แก่บุคคลภายนอกได้รับรู้ พร้อมทั้งเป็นการรับทราบนโยบายและแนวทางในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์จากผู้บริหารในระดับสูงของประเทศไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน ก่อให้เกิดบุคลากรและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดได้ อันเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ชุมชน สังคมและประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลต่อไป

นางชิน ใจเย็น ผู้ประสานงานฮักบ้านเกิดพะเยา อำเภอปง จังหวัดพะเยา เผยว่า ชาวบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 6 ตำบลขุนควร อำเภอปง ได้จัดกิจกรรมการปลูกป่าในโครงการ “ทำตามรอยพ่อรัชกาลที่ 9” โดยปลูกต้นไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกต่างๆ เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว น้ำเต้า ฟักทอง มะขามเปรี้ยว มะขามหวาน กล้วย มะพร้าว มะม่วง ผักหวานป่า เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตทางธรรมชาติ

รวมทั้งปลูกไว้ใช้ในกิจกรรมเพื่อส่วนรวมในหมู่บ้าน เช่น งานศพ งานวัด โดยทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้นำ มาช่วยกันปลูกในวันหยุด และยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาที่ดิน (พด.) จังหวัดพะเยา สนับสนุนต้นหญ้าแฝก 9 หมื่นต้นด้วย เป็นการปลูกเพื่อยึดหน้าดินให้ไม่เกิดการพังทลาย อีกทั้งต้นแฝกสามารถนำไปทำเป็นเครื่องจักสานงานฝีมือ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มอาชีพภายในชุมชนได้ด้วย

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และผู้จัดการ เกษตรสมัยใหม่อ้อยประชารัฐ กล่าวว่า มิตรผลเห็นศักยภาพพื้นที่ปรับเปลี่ยนนาข้าว จึงเริ่มเข้าสนับสนุนเกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่อ้อย จังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยหลักการนวัตกรรมวิจัยรวมกลุ่มผลิตในพื้นที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ เริ่มต้นใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเสนางคนิคม และ อำเภอหัวตะพาน เป้าหมาย 6,000 ไร่ พบว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากกว่า 543 ราย พื้นที่ 7,760 ไร่ มีเป้าหมายสร้างรายได้ให้เกษตรกร 12,000-15,000 บาท/ไร่ และมีแผนขยายโครงการไปยัง จังหวัดยโสธร พื้นที่รวม 5 หมื่นไร่ ผลผลิตอ้อยทั้งหมดโรงงานจะรับซื้อและดูเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร พร้อมเงินช่วยเหลือค่าปรับล้มคันนา ขณะเดียวกันยังได้นำนวัตกรรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้ โดยถอดแบบเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย ด้วยทฤษฎี 4 เสาหลัก ปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ควบคุมแนววิ่งของรถ และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ลดต้นทุน 25%

“ถ้ามองระดับจีดีพี จังหวัดอำนาจเจริญแล้วแทบจะอยู่อันดับท้ายๆ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ด้วยวิสัยทัศน์ประธาน อิสระ ว่องกุศลกิจ จึงเล็งเห็นการยกระดับเกษตรสมัยใหม่ด้วยศักยภาพพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยังสามารถปลูกอ้อยได้อีกมาก และเป็นอีกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกเหนือจากพืชหลักข้าวที่มักเจอภัยธรรมชาติทำให้ราคาผันผวน โดยมิตรผลได้นำนวัตกรรมใหม่ถอดโมเดลจากออสเตรเลียลดต้นทุนได้เยอะ นโยบายประชารัฐจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงพัฒนาจังหวัดในอีกทาง”

ด้าน นายชาญชัย สุภิวงศ์ เกษตรกรเข้าร่วมอ้อยประชารัฐ กล่าวว่า ปลายปี 2559 ได้เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย จนเข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ เนื่องจากว่าได้นำเอารูปแบบเทคโนโลยี Mitrphol Modern Farm มาปรับใช้ พบว่าเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ พร้อมทั้งมิตรผลเข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท

“ก่อนการรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรยังไม่มั่นใจ hliworldwatch.org เพราะอาจจะยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้จึงเป็นแรงจูงใจ เพราะในช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง ที่รัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน”

ทั้งนี้ โครงการเกษตรสมัยใหม่ อ้อยประชารัฐ มี 2 แห่ง คือ จังหวัดสุโขทัย เอกชนที่เข้าร่วม กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และ จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่ม บริษัท มิตรผล นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างลงพื้นที่อ้อยประชารัฐ จังหวัดอำนาจเจริญว่า ความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชอ้อเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก.882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามโครงการธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม ปี 2560 เผย เกษตรกรในชุมชนตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยให้เกษตรกรมีเส้นไหมใช้ในการผลิตผ้าไหมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีใบหม่อนเลี้ยงไหม โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้เสริมอีกทาง

นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงานโครงการธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม (เส้นไหม) ปี 2560 พบว่า ขณะนี้ธนาคารได้รับการสนับสนุนเส้นไหมไปแล้วจำนวน 416 กก. และเกษตรกรมีการยืมเส้นไหมจากธนาคารไปบ้างแล้ว โดยเกษตรกรมีต้นทุนในการทอผ้า เฉลี่ยเมตรละ 500 – 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับลายผ้า (ไม่รวมค่าแรงในการทอ) และเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาเมตรละ 1,500 – 1,800 บาท

สำหรับภาพรวม เกษตรกรพึงพอใจต่อนโยบายการสนับสนุนให้มีธนาคารในชุมชนในระดับมาก เนื่องจากช่วยให้เกษตรกรมีเส้นไหมใช้ในการผลิตผ้าไหมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีใบหม่อนเลี้ยงไหม และเส้นไหมมีราคาสูง ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตผ้าไหมหรือนำผ้าที่ทอได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้เสริมให้กับครอบครัว มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม ปี 2560 ดำเนินการจัดตั้งขึ้น 6 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม และชัยภูมิ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งเส้นไหมที่มีคุณภาพดีสำหรับการทอผ้าอย่างเพียงพอ โดยกรมหม่อนไหมสนับสนุนเส้นไหมตั้งต้นให้กับธนาคาร เพื่อให้สมาชิกไปบริหารจัดการภายในชุมชน เกษตรกรสมาชิกสามารถยืมเส้นไหมไปทอผ้า เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดนำเส้นไหมหรือเงินมาคืนตามข้อตกลงและระเบียบของแต่ละธนาคาร