เมื่อเห็นว่าต้นมะม่วงตั้งตัวได้ดีแล้ว ก็พรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก

คลุมด้วยเศษฟางเศษหญ้าที่โคนต้น ป้องกันไม่ให้ดินคลายน้ำอย่างรวดเร็ว และดูแลยอดมะม่วงไม่ให้แมลงมากัดกินใบอ่อน ยอดอ่อน ต้นมะม่วงขณะเจริญเติบโต กิ่งกระโดงจะพุ่งสูงขึ้น ให้จิกตายอดที่จะพุ่งสูงขึ้นไม่ให้กิ่งยอดมะม่วงขึ้นสูง เป็นการอั้นการเจริญเติบโตของยอด ให้กิ่งมะม่วงแตกกิ่งด้านข้าง ให้ทรงพุ่มแผ่กระจายออกข้าง ให้กิ่งกระโดงอยู่ระดับ 3 เมตร อย่าให้ต้นสูงกว่านี้ เพื่อสะดวกต่อการดูแลและเก็บผลผลิต

เมื่อเข้าปีที่ 2 มะม่วงจะเริ่มออกดอกและติดผลให้เห็น ต้องปลิดทิ้งออกทั้งหมด เมื่อเข้าปีที่ 3 ต้องตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มเอากิ่งที่ไม่ดีออกให้หมด ให้ทรงพุ่มโปร่งไม่แน่นทึบ เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จให้ใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 รดน้ำให้ชุ่ม เร่งให้ต้นแตกใบอ่อน การใส่ปุ๋ยรดน้ำให้เสร็จภายในวันเดียว เป็นการเตรียมให้มะม่วงออกนอกฤดู

หลังจากนั้น ประมาณ 7-10 วัน ต้นมะม่วงจะแตกใบอ่อนพร้อมกันทั้งสวน ระยะนี้ต้องดูแลใบอ่อน ฉีดยาคุมป้องกันแมลงจะมากัดกินใบอ่อน เตรียมราดสารแพคโคลบิวทราโซลรอบโคนต้น อัตราส่วนตามฉลากที่กำหนดไว้ หมั่นรดน้ำที่โคนต้นที่เราราดสารแล้วให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา หากฝนยังไม่ตก หลังจากราดสารแล้วประมาณ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 12-24-12 จำนวน 0.5 กิโลกรัม ต่อ 1 ต้น เพื่อเพิ่มการสะสมตาดอก หลังจากนั้นอีกครึ่งเดือนให้ฉีดไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ย สูตร 13-0-46 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นคลุมทั้งต้น ไม่เกิน 10-15 วัน มะม่วงจะติดตาดอกพร้อมกัน เมื่อตาดอกออกมาให้เห็นต้องฉีดยาคุมป้องกันเพลี้ยจักจั่น หรือแมงกะอ้ามาดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณช่อดอก จะทำให้ช่อดอกแห้ง หากเป็นหน้าแล้งต้องฉีดพ่นยาป้องกันเพลี้ยไฟลงทำลายช่อดอก จนกระทั่งดอกพัฒนาเป็นผล และต้องฉีดยาป้องกันแมลง และยาฆ่าเชื้อรา

ขณะผลยังอ่อนอยู่ ให้ใช้ยาคาร์เบนตาซิม เพื่อป้องกันดอกร่วงและแมลงมาเจาะผลและขั้วผล จนกระทั่งผลมะม่วงโตขนาดเท่าไข่ไก่ หากเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง หรือมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ให้ห่อผลด้วยกระดาษคาร์บอนและใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ลงทางดิน จะช่วยให้ผลมะม่วงมีน้ำหนักดี

ช่อให้คัดเอาผลที่สมบูรณ์ไม่มีตำหนิ เลือกห่อแค่ 2 ผล และควรบันทึกวันที่ใช้ถุงห่อผลมะม่วงเอาไว้ด้วย หลังจากนั้นก็รดน้ำที่โคนต้นให้ชุ่มอยู่เสมอ ทิ้งไว้ 55-60 วัน ก็สามารถเก็บผลมะม่วงลงมาได้

การเก็บมะม่วง

ที่อยู่ในถุง ให้หักหรือตัดลงมาทั้งช่อทั้งถุง นำมาคัดขนาดผล เปิดถุงควรเปิดอย่างประณีต อย่าให้ถุงขาดหรือผลมะม่วงช้ำจะเสียของ เอาผลมะม่วงมาวางเรียงกันเป็นแถว การวางต้องเอาส่วนหัวผลวางลงเป็นแถวให้ยางมะม่วงไหลลง อย่าให้ถูกผลมะม่วง ส่วนถุงที่ห่อมะม่วงนั้นให้เอาผึ่งแดดให้แห้งแล้วพับเก็บไว้ พอมีเวลาว่างจึงนำเอาถุงมารีดด้วยเตารีดไฟฟ้า ก็จะสามารถนำถุงมาห่อรอบ 2 รอบ 3 ได้ ถุงหนึ่งห่อมะม่วงได้ 4-5 ครั้ง หากถุงไม่ฉีกขาด

ทั้งหมดคือ ขั้นตอนการบำรุงดูแลรักษามะม่วงให้ติดผลนอกฤดู ตามที่คุณจำลอง ดำเนินมาเกือบ 30 ปี หากสงสัย ครูต้นแบบคนนี้ ยินดีให้คำปรึกษา สอบถามได้ที่ คุณจำลอง ขุริรัง เกษตรกรหมู่ที่ 4 บ้านหินลับ ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอในช่วงนี้ เท่าที่ติดตามข่าวได้เห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากทุกมุมโลก แต่กับบ้านเมืองเรา นอกจากปัญหาไข่ขาดตลาดในช่วงแรกก็ไม่เจอปัญหาในเรื่องอาหารการกินมากนัก ได้เห็นการแจกข้าวสารอาหารแห้งจากผู้ใจบุญอยู่มากมาย นั่นเป็นคำตอบหนึ่งว่าบ้านเมืองเรายังอุดมสมบูรณ์ดี เรายังสู้กับวิกฤติร้ายนี้ไปได้ด้วยดี นอกจากปัญหาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ยังมีคนได้-ไม่ได้แล้ว แทบจะไม่เห็นข่าวชาวบ้านแย่งซื้ออาหารกันสักนิด ไม่เหมือนภาคพื้นอื่นๆ ในโลกใบนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็น กลับเป็นการมีผลผลิตในปริมาณที่ล้นเกินในบางพื้นที่ และการบริหารจัดการในเรื่องขนส่งที่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก ผลไม้หลายชนิดที่เคยส่งออกได้ก็เจอปัญหา ต้องหาทางระบายภายในประเทศในแบบขายขาดทุนก็ต้องยอม เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด นี่อาจเป็นปีแรกที่ผมได้กินลำไยกิโลละ 20-25 บาท มะม่วงอกร่องกิโลละ 10 บาท หรือแตงโมกิโลละ 3 บาท หรือบางพื้นที่ประกาศให้ไปเก็บกินฟรีๆ ก็ยังมีให้เห็น แต่ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่แปรรูปผลผลิตออกมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงกวน กล้วยตาก กล้วยอบบดผง หรือกระทั่งอาหารปรุงสำเร็จต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาจำหน่ายกัน

ผมรู้จักกับ พี่เอ๋ สุรัตน์ เทียมเมฆา โทร. (090) 562-9446, (094) 464-6149 แห่งสวนมาลีมาหลายปี เกษตรกรคนเก่งแห่ง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เดินตามรอยบรรพบุรุษในการทำอาชีพเกษตรกรรม และน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับประชาชนทุกคนมาปฏิบัติ จากแต่เดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานาน ใส่ปุ๋ย ฉีดยา วนเวียนอยู่เช่นนั้น จนต้องถามว่า ตัวเองซึมซับเอาอาชีพเกษตรมาจากรุ่นสู่รุ่น แล้วยังจะเดินไปในแบบเดิมอีกหรือ

“จุดพลิกผันของพี่เกิดจากเมื่อปี 2550 พี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าม่วง จากนั้นทางสหกรณ์ก็ส่งไปอบรม จนได้มาเป็นผู้นำสหกรณ์” “ก่อนนั้นพี่ก็ไม่คิดอะไรมากหรอก ทำเกษตรตามแบบพ่อแม่สอนกันมา จนได้ไปอบรมที่ศูนย์ 15 หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นชีวิตพี่ก็เปลี่ยนไปจนถึงทุกวันนี้”

“ใช่ ที่นั่นมีศาสตร์ของพระราชาให้เราได้เรียนรู้ พี่สนใจหลักของเศรษฐกิจพอเพียงมาก” “กลับมาทำเลยไหม”
“ลุยเลย จากที่เคยทำเชิงเดี่ยวก็ปรับใหม่หมด เริ่มจากการปรับปรุงดิน ปรับพื้นที่ แยกประเภทพืชที่ปลูก วางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปลูกพืชผสมผสานให้เก็บผลผลิตได้หลายระยะ”
“แบบไหนพี่”

“ดูแปลงนี้ 10 ไร่ พี่ปลูกกระชายลงไป ซึ่งกระชายจะใช้เวลา 8 เดือนขึ้นไปจึงจะเก็บเกี่ยวได้ เราก็แซมพืชที่เก็บผลผลิตในระยะสั้นกว่า พี่ก็เลยลงเผือกหอมอายุ 5 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ ยังมีพืชอายุสั้นที่ปลูกลงไปอีกคือผักชี 45-50 วันเราก็เก็บขายมีรายได้แล้ว การทำงานเราก็ง่าย จัดช่วงจังหวะเวลาเก็บเกี่ยวพืชผลแต่ละชนิดได้ไม่ซ้ำกัน”

ด้วยความที่ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม ในพื้นที่ของพี่เอ๋ จึงมีพืชผลอีกหลายชนิดทั้ง มะม่วง มะนาว มะกรูด ขนุน มะขามฝักใหญ่ กล้วยน้ำว้า กล้อยหอมทอง ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็เก็บขายสด โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ แต่มีบางครั้งที่ผลผลิตในท้องตลาดมีมาก ราคาก็ตก พ่อค้าแม่ค้าก็กดราคารับซื้อ ทำให้การขายแต่ละครั้งแทบไม่พอกับค่าแรงในการเก็บผลผลิต

เมื่ออยู่เช่นนี้ก็ทำได้เท่านี้ จึงทำให้พี่เอ๋ต้องกลับไปนั่งอบรมอีกครั้ง ที่ศูนย์ส่งเสริมภาค 8 มีการอบรมเรื่องการแปรรูปผลผลิต ทำให้พี่เอ๋เริ่มกลับมาแปรรูปจากวัตถุดิบที่มีทั้งแป้งกล้วย กระเจี๊ยบผง กระชายผง มะขามแช่อิ่ม มะม่วงแช่อิ่ม ทั้งหมดนี้ได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานและความชื้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในแบรนด์ สวนมาลี

“พี่เอ๋ทำครบวงจรเลยนะเนี่ย”
“ไปไม่ไหวไง เราขายแบบสดๆ ให้เขาไปก็โดนกดราคา สู้เราแปรรูปเอง ขายเองยังได้กำไรมากกว่า และที่สำคัญ พี่ยังรวมกลุ่มสมาชิกเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมกันแปรรูปผลผลิตให้ได้หลากหลาย โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลืออย่างดี”

“ผงกล้วย แปลกดีนะพี่ เอามาทำอะไร”
“แป้งกล้วยนี่พี่ทำจากกล้วยดิบ เอามาชงกินได้เลยนะ รักษากรดไหลย้อนได้ดีเลย บางคนเอาไปทำขนมได้ด้วย”
“แล้วเส้นๆ นี่อะไรพี่”
“มะม่วงเส้นเชื่อม สูตรนี้เกิดขึ้นมาในยุคโควิดเลยนะ เพราะขายผลผลิตไม่ได้ พี่ก็เลยจับมาแปรรูป ทำไปทำมาก็เลยกลายเป็นแบบที่เห็นนี่แหละ”
“ทำยากไหมพี่ บอกสูตรได้ไหม”

“ก็ยากอยู่นะ แต่พี่จะบอกสูตรให้ เอาผลดิบมะม่วงมาแปรรูป พี่มีมะม่วง R2E2 ซึ่งมีผลใหญ่ เนื้อหนาและแน่น ชั่งมะม่วง 7 กิโล น้ำตาล 1 กิโล แบะแซ ครึ่งกิโล คิดราคาดูนะมะม่วงกิโลละ 20 บาท = 140 บาท น้ำตาล 22 บาท แบะแซ 18 บาท = 180 บาท เป็นต้นทุนวัตถุดิบ เมื่อเชื่อมแล้ว จะได้เนื้อมะม่วงเส้นเชื่อม 5 กิโล ขายกิโลละ 200 บาทไม่รวมค่าส่งก็จะขายได้ 1,000 บาท หักต้นทุนวัตถุดิบ 180 บาทบวกค่าแรงตัวเอง 200 บาท ค่าแก๊ส 100 บาทก็ยังมีกำไรประมาณ 500 กว่าบาท”

“โห! รายได้ไม่เลวเลยนะพี่” “ก็ทำเกือบทั้งวันนะ แต่คิดยังไงก็คุ้ม การแปรรูปทำให้เราเก็บไว้ได้นานขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้มะม่วงสุก กินไม่ทันก็กวน ตอนนี้ใครๆ ก็ทำมะม่วงกวนกันเต็มไปหมด พี่ก็เลยหันมาทำตั้งแต่มะม่วงยังไม่สุก ทำไปเรื่อยขายไปเรื่อย”

“ตลาดล่ะพี่”
“อยู่ที่ปากและนิ้วเรานี่แหละจ้ะ ประกาศบอกไป หรือพิมพ์แจ้งไปตามโซเชียลที่เราเล่นอยู่ เฟซบ้าง ไลน์บ้าง ทำไปทำมา ขายดีจนทำไม่ทันเลยนะ คนกินก็ชอบ เราเองก็ชื่นใจ”
“ครบสูตรเลยพี่ ปลูกได้ ขายเป็น เน้นสตอรี่ มีดีที่แปรรูป โควิดได้รับผลกระทบไหม” “ไม่เหลือสิทิดเอ๊ย! ของก็ขายยาก ส่งไปปลายทางก็เสียหายหลายครั้ง เราก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม ทั้งแอลกอฮอล์ทั้งหน้ากาก ดีที่ว่าเราเป็นเกษตรกร ปลูกผัก ผลไม้ไว้เอง ปลาก็หากินได้ไม่ยากเรื่องนี้ก็เลยไม่กระทบมากนัก เชื่อพี่นะ การเกษตรนี่แหละที่จะเป็นกองกำลังที่สำคัญของบ้านเมืองเราต่อไป คนต้องกินต้องอยู่ทุกวัน ดูบ้านเมืองอื่นเขาแย่งอาหารกันแล้วพี่ยิ่งเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว ศาสตร์พระราชานี่แหละที่จะพาเรารอดกัน พอเพียง ท่องเอาไว้นะ”

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย วันนี้ในประเทศไทย ใครๆ ก็พูดถึงการทำเกษตรอัจฉริยะ Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะ คือการทำการเกษตรที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการดูแลการเพาะปลูก รวมไปถึงกระบวนการผลิต (https://www.dtc.co.th) แนวคิดของการทำเกษตรอัจฉริยะ คือ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้เข้มงวดและมี

ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้หาอ่านได้ทั่วไปตามอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อผมได้ไปสัมผัสจริง แค่เรื่องการให้น้ำในแปลงปลูกพืชโดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ตควบคุมการปิด-เปิด ควบคุมการตั้งเวลา ควบคุมการสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ ราคาของการติดตั้งอุปกรณ์และติดตั้งระบบอยู่ในกรอบราคาเดียวกัน คือหลักแสนบาททั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเอกชนร่วมกับรัฐ ราคาก็ไม่ต่างกัน นั่นทำให้ผมเก็บกลับมาคิดว่า Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะที่ภาครัฐส่งเสริมคงยากที่จะไปถึงมือเกษตรกรรายย่อยอย่าง ตาสี ตาสม ยายดม น้าหวัง ได้อย่างใจคิด แต่เผอิญจังหวะเหมาะเคราะห์ดี ผมได้มาเจอผู้ที่สนใจ ระบบ Smart Farm และเข้าใจเกษตรกรรายย่อย Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะราคาประหยัดที่เกษตรกรรายย่อยจับต้องได้ จึงเป็นจริงขึ้นมา สนใจไหมครับ หากสนใจตามผมไปดูกันเลยครับ

เข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจเกษตรกร

แนะนำให้ท่านรู้จักกับ คุณบุญตรี แสงประชาธนารักษ์ ครับ คุณบุญตรี บอกว่า ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในภา8การเกษตรได้ช่วยเหลือเกษตรกรมาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเริ่มจากการทำเครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งขายและซ่อม จนมีโอกาสได้คลุกคลีกับเกษตรกร จนพบว่าเกษตรกรในประเทศไทยมีความยากลำบาก ต้องตื่นตั้งแต่ ตี 3 ตี 4 เพื่อมารดน้ำผัก ดูแลแปลงเกษตร หากพื้นที่แปลงเกษตรใหญ่ขึ้นก็มีปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะการจ้างคนมารดน้ำถางหญ้าก็มีปัญหาแรงงานงอแง อู้งาน ยิ่งปัจจุบันนี้หาแรงงานภาคการเกษตรได้ยาก ผลผลิตก็โดนกดราคาเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ไม่รู้จักจบ ไม่มีใครแก้ให้ได้

คุณบุญตรี จึงเอาปัญหาที่พบเจอจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้มาใช้เป็นโจทย์ และใช้ความรู้ ความถนัดทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่ง่ายสำหรับเกษตรกรเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือให้เกษตรกรรายย่อยสามารถจับต้องได้ คุณบุญตรี บอกว่า “ในอดีตสมาร์ทฟาร์มอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับคนทั่วไป เป็นยุค IOT Internet of Things คือ ‘อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง’ หมายถึง การที่อุปกรณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆ ได้ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ก็อาจจะยากเกินไปสำหรับเกษตรกรรายย่อย” คุณบุญตรี จึงคิดที่จะทำโครงการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงระบบ Smart farm ได้โดยไม่หวังผลกำไรตอบแทน

คุณบุญตรี ได้เริ่มทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงระบบ Smart farm ได้ง่ายขึ้น โดยทำมาแล้ว 1 ปี โดยใช้แนวคิดหลักคือ หากเกษตรกรคนใดจะใช้เทคโนโลยีของคุณบุญตรี คุณบุญตรีจะไม่รื้อระบบเดิมของเกษตรกรที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบโรงเรือน หรือวิธีการผลิต จะใช้อุปกรณ์เก่าๆ เดิมๆ ของเกษตรกรให้มากที่สุด ไม่แตะต้อง ไม่เปลี่ยนเครื่องมือเดิมๆ และใช้เทคโนโลยีที่ง่ายที่สุด ราคาประหยัดที่สุดเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร

“เมื่อตอนเริ่มต้นโครงการ ผมพยายามเข้าไปคุยกับหน่วยงานราชการหลายแห่งในเรื่องที่ผมจะส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงระบบ Smart farm แต่ช่วงแรกมักจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ เพราะหลายภาคส่วนมองว่าระบบ Smart farm ยังเป็นเรื่องยุ่งยากและราคาแพง แต่เมื่อผมบอกว่าระบบของผมราคาเพียงแค่หลักร้อยถึงพันบาท ทุกคนจะสนใจ จนผมได้รายชื่อของเกษตรกรหัวก้าวหน้ามา และได้ร่วมงานกับคุณจิระพงษ์ในที่สุด” คุณบุญตรี เล่า

ระบบ Smart farm ราคาถูกของคุณบุญตรีใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบ Smart home มาประยุกต์ใช้ โดยจะมีอุปกรณ์รับสัญญาณคำสั่ง อุปกรณ์ควบคุมระบบการให้น้ำและปุ๋ย ติดไว้ในแปลงของเกษตรกร การทำงานของระบบอินเตอร์เน็ตควบคุมการให้น้ำและปุ๋ย ใช้อุปกรณ์ที่ชื่อ Sonoff เป็นตัวควบคุม ซึ่งจะมีแอป (Application) ติดมาด้วย การทำงานจะสั่งผ่านแอปในโทรศัพท์มือถือส่งสัญญาณผ่านจากโทรศัพท์มือถือไปยัง คลาวด์ Cloud (Cloud Computing คือ บริการที่ครอบคลุมการให้ใช้กำลังประมวลผล จัดเก็บข้อมูลและระบบออนไลน์ต่างๆ จากผู้ให้บริการ เพื่อลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ และลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเอง ที่มา : กลุ่มภาระงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

คลาวด์ Cloud จะส่งสัญญาณกลับมาที่อุปกรณ์ในแปลงของเกษตรกรเพื่อสั่งการให้เปิดน้ำหรือปิดน้ำหรือการให้น้ำพร้อมกับปุ๋ยหรือการให้น้ำพร้อมกับสารชีวภัณฑ์ซึ่งมีหลายตัว เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง จะสั่งให้ฉีดพ่นสารพื้นที่ตรงไหน เมื่อไร ก็ได้โดยระบบควบคุมจะมีสามแบบคือ เกษตรกรตั้งระบบการให้น้ำให้ปุ๋ยเอง ระบบอัตโนมัติ และอัตโนมัติบางส่วนก็ได้

ร.อ. จิระพงษ์ อมรดิษฐ์ หรือ ลุงอ้วน อดีตนายทหารที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่เข้ามาร่วมโครงการกับคุณบุญตรี ลุงอ้วน เล่าว่า สวนของผมมีพื้นที่ 14 ไร่ ปลูกผักกางมุ้ง 1 มุ้ง ขนาดใหญ่ ปลูกผักหลายอย่าง ทั้งผักพื้นบ้าน ผักใบ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือ แปลงด้านนอกมุ้งเป็นมะละกอ ส้มโอ ผักต่างๆ โดยผมจะปลูกเป็นแบบอินทรีย์ เมื่อก่อนต้องตื่นตั้งแต่ ตี 3 ตี 4 เพื่อมาเปิดน้ำรดผัก รดต้นไม้ ไปไหนไม่ได้ต้องเฝ้าสวน จ้างคนงานมาทำทั้งรดน้ำ ทั้งฉีดพ่นปุ๋ย ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ก็มักจะหาแรงงานยาก บางทีเจอคนขยันน้อยบ้าง อู้งานบ้างอยู่เป็นประจำ จนได้เข้ามาร่วมโครงการกับคุณบุญตรี ใช้ระบบ IOT ดึงน้ำจากบ่อเข้าไปรดผัก รดพืชชนิดต่างๆ ผมสบายขึ้นมาก สั่งเปิด-ปิดน้ำ ตั้งเวลารดน้ำ ให้ปุ๋ย ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ช่วยทุ่นแรงและลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะมาก

โรงเรือนกางมุ้งของลุงอ้วนมีพื้นที่แบ่งเป็น 8 ล็อก ปลูกพืชแตกต่างกัน ซึ่งมีการให้น้ำแตกต่างกัน ทั้งการให้น้ำที่พื้นดินและการให้น้ำเหนือพื้นดิน จึงต้องมีการวางอุปกรณ์ควบคุมระบบการให้น้ำจะให้ปุ๋ยหลายตัว คุณพีระพล โพลดพลัด หนึ่งในทีมงานของคุณบุญตรีซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบ Smart farm ในสวน

ลุงอ้วน บอกว่า อุปกรณ์ควบคุมการจ่ายน้ำ Royal Online V2 ราคาตัวละ 300 บาท ค่าอินเตอร์เน็ตซิมการ์ด เดือนละ 200 บาท ระบบที่ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ขอแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต มีต้นทุนในการวางระบบ รวมกับค่าเสื่อม คิดเป็นเดือนละ 1,000 บาท สามารถทดแทนคนงานได้หนึ่งถึงสองคน ลุงอ้วนใช้ระบบนี้มา 1 ปีแล้ว อาจจะมีปัญหาบ้างหากระบบอินเตอร์เน็ตขัดข้อง แต่ที่ผ่านมาใช้งานได้อย่างน่าพอใจ ทดแทนการใช้กำลังคนที่มีปัญหาจุกจิกกวนใจมากมายได้อย่างดี บางเรื่อง เช่น การฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์เดิมต้องใช้ค่าจ้างในการฉีดพ่น หนึ่งถังสะพายหลัง ถังละ 20 บาท ตอนนี้ใช้ระบบของคุณบุญตรี ฉีดพ่น นาทีละ 3 ลิตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เวลาฉีดพ่น 5 นาที หมดปัญหาการจ้างคนมาฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ไปได้เลย

คุณพีระพล บอกว่า ในอนาคตจะนำระบบโซล่าร์เซลล์มาใช้เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ลดต้นทุนให้ต่ำกว่าเดิม ยุค AIOT

คุณบุญตรี บอกว่า ยุคนี้อาจจะเป็นยุคของ ไอโอที (IOT) แต่ในอนาคตจะเป็นลูกของ เอไอโอที (AIOT) ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถคิดเองได้ โดยใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลล่วงหน้าในเรื่องการให้ปุ๋ยให้ยาการปลูกผักชนิดต่างๆ รวมถึงการคำนวณเรื่องของตลาด ปริมาณการผลิตในภาพรวมทั้งหมด ปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดและสามารถคำนวณราคาผลผลิตได้”

ในอนาคต คุณบุญตรี ตั้งเป้าให้ เอไอ สามารถพยากรณ์จำนวนการผลิตต่างๆ ว่าควรจะผลิตผักชนิดใด ปริมาณมากน้อยแค่ไหน ปลูกเมื่อไร ต้องขายในราคาเท่าใด แต่ปัจจุบันยังขาดความรู้พื้นฐาน ซึ่งต้องใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วยสร้างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

คุณบุญตรี ฝากบอกว่า ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยสนใจในเรื่องของสมาร์ทฟาร์ม แต่กลัวที่จะเข้ามาศึกษาในเรื่องเทคโนโลยี เพราะกลัวว่าจะมีราคาแพง กลัวเรื่องความยุ่งยากในการติดตั้งและการใช้งาน ผมจึงได้ลงไปร่วมมือกับลุงอ้วน เพื่อให้เป็นตัวอย่างและพัฒนาให้สวนลุงอ้วนเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผลิตพืชอินทรีย์ที่ใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม เพื่อขายผลผลิตของดีในราคาถูก อาจจะมองว่าโครงการพัฒนาระบบ Smart farm ในพื้นที่ของลุงอ้วนและเป็นโครงการ CSR ของ บริษัท เคเอสวาย คอมพิวเตอร์ ของผมก็ได้ แต่จริงๆ ที่ผมทำมันมากกว่านั้น มันคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณบุญตรีและทีมงานยังยินดีไปสอนถ่ายทอดความรู้เรื่องระบบ Smart farm ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาต่างๆ และสอนให้กับเกษตรกรทั่วไป ด้วยว่าในอนาคตคุณบุญตรีหวังว่าจะเปิดพื้นที่แปลงเกษตรของเกษตรกรในโครงการที่ประสบความสำเร็จให้เป็นศูนย์เรียนรู้และยินดีรับเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป

ใครสนใจ ระบบ Smart farm ราคาถูก ติดต่อไปได้ที่ บริษัท เค เอส วาย คอมพิวเตอร์ (KSY) กาญจนบุรี โทร. 034-521-222 ครับ ฉบับต่อไปผมจะพาท่านไปพบพี่น้องเกษตรกรรายย่อยหัวก้าวหน้าที่ไหนกันอีก โปรดติดตามกันต่อ ใน “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย เจอกันใหม่ฉบับต่อไปนะครับ พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้