เริ่มต้นปลูกทุเรียน 2 ไร่ ทุกวันนี้ มี 68 ไร่ลุงเสส อยู่หมู่ที่ 7 บ้านชำ

ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตอนเด็กๆ ชีวิตของลุงลำบากมาก มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เมื่อแต่งงานปี 2507 ได้รับมรดก 2 ไร่ เพราะอยากทำสวน จึงขี่จักรยานไปซื้อพันธุ์ทุเรียนที่สองสลึง อำเภอแกลง ซึ่งอยู่ไกลมาก นำมาปลูก ขณะเดียวกันก็ช่วยทำนาปลูกข้าวในที่นาของครอบครัว

เวลาผ่านไป 7-8 ปี ขายทุเรียนชะนีมีผลผลิตขายได้ 1,700 บาท ต่อต้น ขณะที่ทำนาได้ข้าว 10 เกวียน ขายแล้วเหลือกำไร 3,000 บาท จุดนี้เองที่อยากให้ลุงทำสวน “ปลูกทุเรียนแทบไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี มีลูกออกมา กระดุมสวยๆ ขายลูกละ 15 บาท ชะนี ลูกละ 5 บาท ต่อมาได้แลกที่ดินกับพี่ชายอีก 2 ไร่กว่าๆ พี่ชายอยากได้ที่ลุ่ม เราเอาที่ดอน รวมแล้วมีที่ดินเกือบ 5 ไร่ ก็ทำสวนแล้วขยายเรื่อยมา ตอนนี้มีหลายแปลง ช่วยรวมหน่อยสิ ตรงนี้ 11 ไร่ ตรงโน้น 22 ไร่ ล่าสุดนี้ 9 ไร่…ที่นั่นอีก…ไร่” ลุงเล่า

รวมแล้วลุงปลูกทุเรียนในพื้นที่ 68 ไร่ พันธุ์ที่ปลูกมี กระดุม 60 ต้น ชะนีดั้งเดิมเหลืออยู่ 10 ต้น พวงมณี 5 ต้น ก้านยาว 2 ต้น ที่เหลือเป็นหมอนทอง เมื่อรวมแล้ว ลุงมีทุเรียนราว 1,300 ต้น

ผสมผสานเคมีและชีวภาพ
ผลผลิตที่สวนของลุง เริ่มเก็บขายได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน

หลังเก็บเกี่ยว เจ้าของใส่ปุ๋ย สูตร 12-3-3 ให้ต้นละ 1 กิโลกรัม จากนั้นให้อีก 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละเดือน เท่ากับว่า ต้นหนึ่งให้ปุ๋ย สูตร 12-3-3 จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

ถึงเดือนกันยายน ใส่ปุ๋ยเตรียมต้นเพื่อออกดอก ใส่สูตร 8-24-24 ต้นละ 1 กิโลกรัม ราวพฤศจิกายน ทุเรียนกระดุมจะเริ่มออกดอกมาก่อน ตามด้วยหมอนทอง ปุ๋ยเคมีจะหยุดอยู่แค่นี้ มีเจ้าหน้าที่เกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดระยองแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม แต่ลุงยังไม่ได้ใส่ ลุงบอกว่า ปุ๋ยชีวภาพช่วยได้มาก

สูตรเด็ดปุ๋ยชีวภาพมีดังนี้

ผักบุ้ง 3 กิโลกรัม กล้วยน้ำว้าสุกปอกเปลือก 3 กิโลกรัม น้ำอ้อย 2 กิโลกรัม หมักไว้ 16 วัน เก็บไว้ในสภาพร่ม อย่าเปิดฝา

จากนั้นเปิดฝาเติมน้ำ 20 ลิตร หมักไว้อีก 15 วัน นำน้ำที่ได้ 10 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ใส่น้ำอ้อย 10 กิโลกรัม หมักอีก 6 เดือน จะได้ปุ๋ยชีวภาพเข้มข้น

นำน้ำปุ๋ยอายุ 6 เดือน 1 ลิตร เทใส่บัวรดน้ำเติมน้ำให้เต็ม จากนั้นนำไปรดขณะที่ให้น้ำทุเรียน โดยรดตามรัศมีสายน้ำเหวี่ยง

สรุปคือ ให้ปุ๋ยแล้วรดน้ำตามนั่นเอง ระยะเวลาที่ให้นั้น ลุงเสส บอกว่า ตอนผลทุเรียนอายุ 2-3 ขีด ถึงครึ่งกิโลกรัม เหมาะสมที่สุด ปุ๋ยชีวภาพให้ปีละครั้งเท่านั้น หากต้องการฉีดพ่นทางใบ ใช้น้ำปุ๋ยอายุ 6 เดือน ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ในวันที่ไม่มีแดด ลุงเสส บอกว่า การให้ปุ๋ยชีวภาพควรให้แต่เช้าก่อนแดดออก จะได้ผลดีมาก

การดูแลอย่างอื่น ช่วงที่แตกใบอ่อน ได้รับคำแนะนำว่า ต้องระวังเพลี้ยไฟ หากมีควรฉีดพ่นสารเคมีให้ แล้วคอยสังเกต ระยะต่อมา หากไม่มีระบาดก็ไม่ต้องฉีด รวมทั้งไรแดง ที่มักทำลายใบแก่

การให้น้ำก็สำคัญ ทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ปริมาณการให้มากน้อยแค่ไหนนั้น ช่วงก่อนออกดอกให้ไม่มากนัก ช่วงติดผลต้องดูแล เพราะมีผลต่อผลผลิตอย่างมาก เทคนิคเพิ่มคุณภาพ
การ “ไว้ผล” สำคัญไม่น้อย
เนื่องจากคลุกคลีอยู่กับทุเรียนมานาน มองเห็นสภาพต้นก็รู้แล้วว่า ควรจะไว้ผลต่อต้นเท่าไร

“ผมอยู่กับทุเรียนมากว่า 50 ปี จับทางได้แล้ว ดูจากคุณภาพทุเรียนที่ได้รับค่อนข้างดี แต่ก่อนนี้เอาไว้ทุกลูกที่ติด มองดูเต็มต้นไปหมด ต่อมาเรียนรู้ว่ามันมากเกินไป อาหารไม่พอไปเลี้ยงผล ขนาดของผลทุเรียนจึงเล็ก พูไม่เต็มและผลบิดเบี้ยวไปบางส่วน เดี๋ยวนี้ผมตัดแต่งเอาไว้แค่ ต้นละ 60-80 ผล เท่านั้น ขึ้นกับขนาดของต้นทุเรียน และจะดูจำนวนกิ่งใหญ่ที่จะเอาไว้ผลด้วย

สังเกตไหมว่าทุเรียนหลายต้นที่กิ่งล่างจะไม่มีลูกทุเรียนเลย เพราะถูกตัดแต่งออกไปหมด เนื่องจากลูกไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เพื่อให้อาหารส่งขึ้นไปเลี้ยงลูกที่กิ่งข้างบน การตัดแต่งลูกทุเรียนผมจะตัดแต่ง 4 ครั้ง ตามระยะการเติบโตของลูกทุเรียนคือ

ครั้งที่ 1 ระยะที่ผลทุเรียนอ่อนมีขนาดเท่ากับไข่นกกระทา จะตัดผลอ่อนที่มีหางแย้ (ส่วนที่ยื่นจากปลายผลทุเรียนอ่อน ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดูคล้ายปลายหางแย้) ที่โค้งบิดเข้าหาผลทิ้งไป เลือกเอาไว้เฉพาะผลทุเรียนที่มีหางแย้ตรงเท่านั้น เพื่อจะได้ผลทุเรียนที่สมบูรณ์ พูเต็มทุกด้าน หากเลือกผลอ่อนที่หางแย้บิดเบี้ยวไว้ จะได้ทุเรียนที่มีทรงผลบิดเบี้ยว บางส่วนของผลจะลีบ ไม่มีเนื้อหรือไม่เต็มพู (ทรงแป้ว) ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา”

“ครั้งที่ 2 ตัดแต่งผลหลังจากครั้งแรก ประมาณ 15-20 วัน ดูว่าขนาดผลทุเรียนประมาณไข่ไก่ รูปทรงผลจะเริ่มชัดเจนขึ้นกว่าครั้งแรก ก็ยังคงเลือกตัดผลทุเรียนที่มีหางแย้บิดเบี้ยวออกทิ้งไป คำนวณว่าเอาไว้ 60-80 ลูก ต่อต้น อาจเผื่อไว้อีกนิดหน่อยก็ได้ การเลี้ยงผลจะเลือกไว้เฉพาะกับกิ่งที่ใหญ่ โดยเฉลี่ยก็ราวๆ 2-4 ผล ต่อกิ่ง เท่านั้น

ครั้งที่ 3 ตัดแต่งผลทุเรียนเมื่อมีขนาดของผลเท่ากับกระป๋องนมโดยประมาณ เลือกตัดผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากแต่จะมีหลงเหลือมาไม่มากนัก ผลทุเรียนเกือบทั้งหมดค่อนข้างสมบูรณ์ดีแล้ว ครั้งที่ 4 นั้นเป็นครั้งสุดท้ายก็จะเข้าไปดูว่ายังมีผลทุเรียนที่บิดเบี้ยว ทรงไม่ได้คุณภาพหลงเหลืออีกหรือไม่ หากพบก็ตัดทิ้งไป ปกติก็จะมีสัก 1-3 ผล ต่อต้น เท่านั้น แต่หากพอรับได้ก็จะเก็บไว้ตัดขายต่อไป” คุณลุงเสส อธิบาย

ผลผลิตปีหนึ่งกว่า 100 ตัน
ลุงเสส มีลูก 3 คน แต่ละคนมีครอบครัวแล้ว สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำสวนอย่างแข็งขัน ลุงมีผลผลิตจำหน่าย 123 ตัน เฉลี่ยขายได้ทั้งปี กิโลกรัมละ 70 บาท

ลูกชายพูดกับลุงว่า ผลผลิตคงไม่ต่ำกว่า 150 ตัน เพราะติดผลผลิตดี ทุเรียนที่ปลูกใหม่ก็ให้ผลผลิตมากขึ้น

ผลผลิตชุดแรกที่ขายได้ เดือนมีนาคม เป็นทุเรียนกระดุม ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100 บาท ดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งขายได้ราคากิโลกรัมละ 70 บาท

ผลผลิตกระดุม ของลุงมีราว 10 ตัน

“แปลงที่ปลูกกระดุม อยู่ห่างจากบ้านพอสมควร ผลผลิตทุเรียนกระดุมที่นี่ เคยมีคนมาซื้อส่งออกต่างประเทศ เนื้อดีมาก ส่วนหนึ่งเมล็ดลีบ” ลุงบอก และเล่าต่ออีกว่า

“ทุเรียนปลูกได้หลายจังหวัด อีสานบางจังหวัดปลูกได้ ทางเหนือก็เช่นกัน แต่ที่ใดหนาวจัดมีน้ำค้างตอนกลางคืน กลางวันร้อนลมแรงใบจะแห้งกรอบ ปลูกไม่ดี”

เป็นประสบการณ์ของผู้ปลูกทุเรียน ที่ทำมายาวนานกว่า 50 ปี ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจยิ่ง

จึงไม่แปลกใจว่าขณะที่พูดคุยกับคุณลุง มีคนแวะเวียนมาคุยเรื่องทุเรียน ทั้งที่นัดและไม่ได้นัดหมาย จากระยอง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงอย่างจันทบุรี ส่วนคณะดูงานจากไกลๆ นั้น ลุงบอกว่า “มาเป็นประจำ”

อาชีพน่าสนใจอีกอย่างที่ชาวบ้านเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร นิยมกันคือการทำสวนเพาะกล้าไม้ขาย โดยมีการทำกันเป็นจำนวนหลายครอบครัวทั่วทั้งหมู่บ้าน ส่งขายทั้งพื้นที่บริเวณจังหวัดใกล้เคียงและทั่วประเทศ ซึ่งว่ากันว่าที่นี่นับเป็นแหล่งเพาะ-ขายกล้าไม้ขนาดใหญ่อีกแห่งของประเทศ

คุณวีระชัย แสนธิจักร เป็นเจ้าของร้านเพาะ-ขายกล้าไม้ชื่อ “สวนแม่แตงพันธุ์ไม้” อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 6 ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร โดยสวนของเขาเพาะ-ขายกล้าไม้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักหวาน ลิ้นฟ้า ไม้ป่า มะกรูด มะนาว พืชผักสวนครัวต่างๆ รวมถึงไม้ประดับบางชนิด

การออกหางานรับจ้างทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้คุณวีระชัยรู้สึกว่าไม่มั่นคง ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปราะบางเช่นนี้ดูเป็นเรื่องเสี่ยงต่อการหารายได้เลี้ยงปากท้องและครอบครัวเป็นอย่างมาก

การเพาะต้นกล้าไม้เป็นอาชีพที่ชาวบ้านตำบลเหล่าโพนค้อ หลายครอบครัวทำกันจนมีรายได้ดี อีกทั้งตลาดกล้าไม้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น แล้วอาชีพนี้ยังไม่ต้องออกไปตระเวนขาย เพราะมีคนมารับซื้อเองที่สวน ขณะเดียวกัน ภรรยาเคยไปทำงานคลุกคลีกับสวนพันธุ์ไม้ จึงพอมีความรู้ความชำนาญด้านการเพาะพันธุ์ไม้

ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้ชายผู้นี้ตัดสินใจกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อมาเริ่มต้นอาชีพใหม่กับภรรยา พร้อมกับตั้งใจว่าจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ภายในสวนแม่แตงพันธุ์ไม้ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 4 ไร่ จัดแบ่งต้นกล้าไม้ออกเป็นกลุ่ม แบ่งแยกเป็นโซน ไม่ว่าจะเป็นโซนผักหวาน พืชสวนครัว ไม้ป่า และไม้ประดับที่มีบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ มีต้นกล้าผักหวานหลายขนาดรวมกันกว่า 30,000 ต้น นอกจากนั้น เป็นพืชผักสวนครัวหลายชนิดรวมกันกว่าหมื่นต้น

คุณวีระชัย ย้อนอดีตถึงเมื่อคราวที่เริ่มตัดสินใจจากเงินกู้เพียงหมื่นบาทเพื่อลงทุนทำอาชีพนี้ แล้วนำไปซื้อวัสดุเพาะ ได้แก่ แกลบ ถุงเพาะสีดำ ปุ๋ย รวมถึงซื้อต้นกล้าพันธุ์ไม้ต่างๆ มาปลูก แล้วบางส่วนซื้อเมล็ดมาเพาะเอง

“ช่วงเริ่มต้นเพาะต้นมะกรูด มะนาว ตามด้วยพริก มะเขือ และผักสวนครัวอีกหลายชนิด ต่อมาได้นำเมล็ดพันธุ์ผักหวานพันธุ์สีทองและผักหวานเขียวมาเพาะขายด้วย นอกจากนั้น ยังมีไม้ป่า อย่างประดู่ ไม้แดง ยางนา พะยูง”

วัสดุปลูกที่ใช้ประกอบด้วยแกลบดำ ดิน โดโลไมท์ ปูนขาว และปุ๋ยคอก ทั้งนี้ การผสมวัสดุเพื่อใช้ปลูกพืชแต่ละชนิดมีอัตราและส่วนประกอบต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของพืชชนิดนั้น พืชบางชนิดชอบดินโปร่ง แต่บางชนิดชอบดินทึบ ยกตัวอย่าง มะกรูดหรือมะนาว ถ้าใส่ดินน้อยและร่วนเกินไปก็ไม่ดี เพราะทำให้ความชื้นน้อย อีกทั้งยังเปลืองน้ำด้วย

คุณวีระชัย เล่าว่า ในช่วงแรกต้องลองผิด-ถูกอยู่นานกว่าจะลงตัว ก็เสียหายไปมาก อย่างตอนแรกที่ทำมะกรูดไว้จำนวน 60,000 ต้น ปลูกยังไม่คล่อง คงจะใส่ปุ๋ยมากเลยตายไปถึง 50,000 ต้น เหลือรอดเพียงหมื่นกว่าต้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องหาความรู้และหมั่นสังเกตด้วยว่าพืชแต่ละอย่างชอบการปรุงดินแบบใดจึงจะทำให้เจริญเติบโตงอกงามดีแล้วมีคุณภาพสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้แนวทางการเพาะต้นกล้าของคุณวีระชัย อาจมีการยึดแนวทางตามหลักวิชาการอยู่บ้าง ทั้งนี้ เขาชี้ว่าการปลูกพืชในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นมีความละเอียดอ่อนต่างกัน จึงต้องมีการปรับสูตรปุ๋ยยาและการให้น้ำตามสภาพพื้นที่ปลูก แล้วใช้เวลานาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว อย่างแกลบที่ใช้มีทั้งละเอียดและหยาบ ก็ต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับพืช อย่างผักหวานชอบแกลบละเอียด

คุณวีระชัย เผยถึงเงินลงทุนที่ใช้มากที่สุดคือ ค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปุ๋ยยา ซึ่งแต่ละครั้งจะลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานคราวละ 1 ตัน ใช้เงินซื้อแสนบาท (1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท) อันนี้ยังไม่รวมค่าถุง ค่าแรงในการกรอกอีก โดยค่าแรงในการกรอกถ้าเป็นถุงขนาดใหญ่ถุงละ 3 บาท ถ้าเป็นถุงเล็กคิดค่ากรอกร้อยละ 20 บาท

ส่วนปัญหาที่พบเขาชี้ว่า แมลงศัตรูสร้างปัญหามากที่สุดแล้วที่พบจะเป็นพวกปากกัดและปากดูด โดยแมลงปากกัดจะกำจัดง่าย แต่แมลงปากดูดกำจัดยาก ทั้งนี้ แมลงแต่ละชนิดจะเข้ามาทำลายพืชตลอดทั้งปี ในแต่ละช่วงฤดูกาล อย่างถ้าเป็นช่วงฝนมักพบแมลงปากกัดมาก ส่วนในหน้าหนาวมักเจอเพลี้ยไฟ โดยวิธีป้องกันใช้แบบธรรมชาติด้วยสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นใบยาสูบ ใบยูคาลิปตัส บอระเพ็ด นำมาผสมกันแล้วฉีดพ่นในทุกสัปดาห์

ในบรรดาพันธุ์ไม้ที่เพาะ เจ้าของสวนบอกว่าผักหวานเป็นไม้ที่ขายดีกว่าพืชตัวอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมด้านการบริโภค ทั้งนี้ ได้มีการเพาะต้นกล้าผักหวานไว้หลายขนาดตามความต้องการของตลาด โดยกำหนดราคาตามขนาดถุงที่ใช้เพาะ ซึ่งเริ่มต้นเล็กที่มีราคา 5 บาท ไปจนถึงต้นขนาดกลางที่มีราคาขายหลักร้อย

กระทั่งเมื่อมีความชำนาญมากขึ้นจึงต่อยอดด้วยการเพิ่มขนาดต้นกล้าที่ขายให้มีขนาดใหญ่มีราคาหลักพันบาทเพื่อเป็นไปตามความต้องการของตลาด รวมถึงยังเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นด้วย

“อย่างผักหวาน กลุ่มลูกค้าที่มาซื้อถ้าเป็นหมู่คณะที่นำไปใช้ในกิจกรรมมักเลือกซื้อราคาถุง 5 บาท หรือเป็นพ่อค้าที่มาไกลมักซื้อในราคาถุงละ 5 บาท เพราะเป็นขนาดเล็กที่สามารถบรรทุกใส่รถได้จำนวนต้นมาก แล้วไปเปลี่ยนเป็นถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มราคาขาย ส่วนถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านทั่วไปจะเลือกขนาดราคา 20-100 บาท”

การขายจะอยู่ในสวนแล้วมีลูกค้ามาติดต่อซื้อ ทั้งนี้ ประเภทลูกค้ามีทั้งที่ซื้อแล้วนำไปขายต่อตามตลาดนัดหรือริมข้างทาง กับกลุ่มที่มาเลือกซื้อพันธุ์ไม้เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ

เจ้าของสวนชี้ว่าอย่างรถปิกอัพที่เข้ามาซื้อในแต่ละคราวถ้าเต็มรถ ประมาณหมื่นบาท ทั้งนี้ ถ้าวันไหนเข้ามาซื้อหลายคันก็โชคดี แต่ทั้งนี้อยู่ที่คุณภาพของต้นกล้าที่เพาะ ซึ่งถ้าเพาะได้ดีมีคุณภาพแล้วลูกค้าพอใจก็จะกลับมาซื้อกันอีก หรือกล้าไม้บางชนิดที่หายากแล้วลูกค้ามาเจอที่สวนก็มักจะกลับมาซื้อรวมถึงซื้อไม้อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย

“ดังนั้น ในรอบปีช่วงเข้าพรรษาถือว่าการขายซบเซา ขายได้น้อย ยอดลดลง พอมาถึงช่วงออกพรรษาแล้วเข้าหน้าเทศกาลปลายปีจะคึกคัก เนื่องจากลูกค้าทุกกลุ่มมักซื้อต้นไม้ไปทำกิจกรรมต่างๆ กัน” คุณวีระชัย กล่าว

แม้ว่ามันสำปะหลัง เป็นพืชหัวที่ปลูกไม่ยาก แต่การทำให้มันสำปะหลังมีน้ำหนักแป้งตามที่ตลาดต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีประสบการณ์และเทคนิคมากพอ ในครั้งนี้จะพาไปล้วงเคล็ดลับ ” ปลูกมันสำปะหลังอย่างไร ให้ได้ผลผลิต 5 ตันต่อไร่ ” อันเป็นสูตรสำเร็จแห่งท้องทุ่งขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ของนายกเทศมนตรีฝีมือดี ผู้มีอีกหนึ่งอาชีพคือปลูกมันสำปะหลัง “คุณมาโนช มะลิขาว” ผู้ซึ่งคลุกคลีกับแปลงมันสำปะหลังมานานเกือบ 40 ปี

คุณมาโนช หรือนายกหมู เติบโตในครอบครัวเกษตรกรรม ที่ทำไร่มันสำปะหลังกว่า 1,500 ไร่ ประสบการณ์ด้านการเกษตรถูกบ่มเพาะมายาวนานหลายสิบปีจากภาพที่เห็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมในรุ่นพ่อแม่ แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคนหนุ่มชอบเรียนรู้ ไม่อยู่นิ่ง ทำให้เกิดแนวคิดด้านการเกษตรแตกต่างออกไป ซึ่งก็ลองผิดลองถูก และปรับเปลี่ยนวิธีการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตอยู่นาน จนกระทั่งได้สูตรสำเร็จอย่างในปัจจุบัน

เคล็ดลับการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตดี ของคุณมาโนช มีปัจจัยหลักอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย

1.การเตรียมดิน ดินดีปลูกอะไรก็งาม 2. การเลือกท่อนพันธุ์ ที่ทนทานต่อโรค เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ดูแลง่าย และ 3. การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยบำรุงดินและเสริมธาตุอาหารให้กับมันสำปะหลัง จนมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง หัวใหญ่ ขายได้ราคาดี

หากสามารถ ควบคุมปัจจัยทั้ง 3 ข้อได้ นายกหมู รับประกันว่าจะได้ผลผลิตดี มีกำไรงามอย่างแน่นอน เคล็ดลับการได้ผลผลิตตลอดทั้งปี สิ่งแรกที่คุณมาโนชย้ำก็คือ การบริหารจัดการพื้นที่ปลูก การเตรียมดิน ซี่งรวมถึงการแบ่งพื้นที่ปลูกเป็นชุดเพื่อพักดิน ซึ่งควรแบ่งพื้นที่ชุดละ 150 – 200 ไร่ ขึ้นกับเครื่องมือและแรงงาน จากนั้นให้บำรุงดินโดยการไถดินแบบยกร่องสูง และทิ้งดินให้ตากแดดอย่างน้อย 3 แดด เพื่อไล่ความชื้นที่จะทำให้เกิดเชื้อราในดินออกไป และปรับดินด้วยการโรยปุ๋ยขี้ไก่แกลบและปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 เพื่อหมักดิน

วิธีทดสอบว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำและชุ่มฉ่ำมากเท่าที่ต้องการหรือยัง เคล็ดลับของคุณมาโนชคือการจับดินมาขยำดู ถ้าดินจับตัวเป็นก้อน นั่นหมายความว่า ดินมีความสมบูรณ์และพร้อมปลูก เขาเรียกวิธีการนี้ว่า “การต่อยดิน”

นอกจากนี้ “การไถพนม หรือ การไถยกร่อง” เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการเพิ่มผลผลิตของคุณมาโนช ซึ่งข้อดีของการไถแบบยกร่องสูง เพื่อกลบวัชพืชให้เป็นปุ๋ยพืชสด เป็นการบำรุงดินในขั้นต้นและยังช่วยให้ต้นกล้าของมันสำปะหลังฝังรากได้ลึกขึ้นด้วย โดยจะเว้นระยะห่างระหว่างร่องคู่ประมาณ 90 – 100 เซนติเมตร เพื่อการรถไถเข้าถอนวัชพืชได้

ยกตัวอย่างพื้นที่ 1 ไร่ คุณมาโนช ปลูกมันสำปะหลังได้จำนวน 100 ต้น เว้นพื้นที่ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถวไว้ 1 X 1 เมตร คุณมาโนช แนะว่าไม่ควรให้ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร เพราะจะทำให้หัวมันสำปะหลังเจริญเติบโตช้า

คัดเลือก “สายพันธุ์ดี”
เพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งของมันสำปะหลัง สมัครแทงบอลสเต็ป อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่มีต่อปริมาณผลผลิต คือ สายพันธุ์ของมันสำปะหลัง ซึ่งต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ให้เปอร์เซ็นต์การงอกและการรอดสูง มีปริมาณแป้งต่อหัวมาก ทนโรค ดูแลง่าย ได้ผลผลิตดี
ซึ่ง คุณมาโนช เลือกสายพันธุ์ ‘เกษตรยักษ์’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง พันธุ์ห้วยบง 60 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ ให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง อัตราการงอกและความอยู่รอดสูง มีความต้านทานต่อโรคใบจุดปานกลาง กับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์แป้งสูง และสามารถเก็บต้นพันธุ์ไว้ได้นานหลังจากตัดต้น

ท่อนพันธุ์ที่ใช้ ควรเป็นท่อนพันธุ์มันที่สด อายุระหว่าง 10-12 เดือน และตัดทิ้งไว้ไม่เกิน 15 วัน มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา และเพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในสารป้องกันเชื้อราและแมลง ประมาณ 5 นาที ก่อนลงปลูก

หมั่นกำจัดวัชพืช
เพิ่มอัตราการเติบโต
สิ่งที่เป็นปัญหากวนใจเกษตรกรก็คือ ปัญหาวัชพืชภายในแปลงหลังจากที่ปักท่อนมันสำปะหลังไปแล้วประมาณ 2 เดือน ซึ่งหากไม่เร่งกำจัดวัชพืชเหล่านี้จะมาแย่งอาหารและมีผลต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ซึ่งคุณมาโนช แก้ปัญหานี้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน คือใช้รถไถกลบ โดยเทคนิคนี้ มีการวางแผนไว้ตั้งแต่ขึ้นร่องมันสำปะหลัง ที่เว้นพื้นที่ระหว่างร่อง 90 – 100 เซนติเมตร ก็เพื่อจะให้รถไถเข้าพื้นที่ถอนวัชพืช

หัวใจสำคัญหลังจากไถวัชพืช คือการใส่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 ในปริมาณอัตราส่วน 1 ไร่ ต่อ 1 กระสอบ เป็นการบำรุงพร้อมเพิ่มธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะช่วยให้ลำต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น

หากมองข้ามขั้นตอนการกำจัดวัชพืช มันสำปะหลังจะถูกแย่งอาหาร หรือหากใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป ธาตุอาหารในดินก็ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต มันสำปะหลังจะแคระแกรน หัวเล็ก เปอร์เซ็นต์แป้งน้อย
เคล็ดลับนี้ คุณมาโนช ย้ำว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนที่รอเวลาให้ฟ้าให้ฝนดูแล ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 7 เดือน การใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังของคุณมาโนช ทำ 2 รอบ คือก่อนปลูกสำหรับเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 และเมื่อมันสำปะหลังอายุ 7 เดือน หรือก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใส่ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 13-13-24 ในอัตรา 1 ไร่ ต่อ 1 กระสอบ ช่วยเรี่องการติดผล เพิ่มน้ำหนักและยังช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลังด้วย

จากนั้นเมื่อมันสำปะหลังอายุ 8 – 10 เดือน เกษตรกรสามารถเก็บขายได้ โดยพิจารณาจากราคาซื้อขายมันสำปะหลังในแต่ละช่วง

ระบบน้ำหากสมบูรณ์แบบ ก็ช่วยให้ผลผลิตมันสำปะหลังดีเช่นกัน แต่พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ห่างไกลระบบชลประทาน ระบบน้ำที่ใช้ภายในไร่ อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ หากฝนไม่ตกตามฤดูกาล คุณมาโนชจะสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงเข้าไร่ โดยจะสูบน้ำเข้าไร่หลังจากให้ปุ๋ย เพื่อช่วยการดูดซึมแร่ธาตุจากปุ๋ยให้กับมันสำปะหลังได้เต็มที่

ดังนั้น เตรียมพื้นที่ก่อนการปลูกให้เหมาะสม การเลือกท่อนพันธุ์ที่ดี และการให้ปุ๋ยที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของพืช เกษตรกรไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนวัตถุดิบใดๆ เสริม ก็ทำให้ผลผลิตได้คุณภาพ ตรงตามตลาดต้องการ ช่วยสร้างผลกำไรให้เกษตรกรทำไร่มันสำปะหลังได้สูง

ผลผลิต 5 ตันต่อไร่ สูตรสำเร็จจากประสบการณ์ตรง ที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้ คุณมาโนช มะลิขาว นายกเทศมนตรีตำบลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา มีเทคนิคการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตดี เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและตอบสนองการทำการเกษตรได้อย่างถูกต้อง และปุ๋ยตรากระต่าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณมาโนชเลือกใช้ หากเกษตรกรรายใด ต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลัง คุณมาโนช ยินดีบอกเทคนิคอย่างไม่ปิดบัง