เริ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก น้ำส้มควันไม้และสารชีวภาพ

ที่สามารถผลิตได้เอง เพื่อให้แปลงพืชทั้งหมดปลอดสาร เพื่อตัวเองและผู้บริโภคไม่เสี่ยงต่อการรับสารเคมีเข้าร่างกายพื้นที่นาแรกเริ่ม 15 ไร่ ปัจจุบัน ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแปลงผักสวนครัวและพืชชนิดอื่น 8 ไร่ เหลือเป็นที่นา 7 ไร่ ปลูกข้าวไว้กินเอง

คุณชาญ บอกว่า เดิมส่งพ่อค้าในตลาดสดพรหมพิรามเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีคนรู้ว่า สวนเราปลูกผักหลายชนิดและปลอดสาร ก็มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงสวน ทั้งขายปลีกและส่ง ซึ่งราคาซื้อขายก็คิดตามราคาตลาด ไม่ได้แพงกว่า แม้จะเป็นพืชปลอดสารก็ตาม

นับตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เมื่อถามถึงปัญหาที่ประสบ คุณชาญ เล่าว่า มีเพียงดินฟ้าอากาศเท่านั้นที่ไม่เป็นใจ หากร้อนมากหรือหนาวมาก ก็จะทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งขณะนี้ผลผลิตที่ได้ในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การควบคุมให้ดินฟ้าอากาศปกติไม่สามารถทำได้ จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข สำหรับต้นทุนการผลิต คุณชาญบอกเลยว่า แท้จริงแล้วในแต่ละวันต้นทุนแทบไม่มี มีแต่รายได้เท่านั้น

ในทุกเช้าประมาณ 05.00 น. คุณชาญและภรรยา แรงงานหลัก จะเริ่มตัดชะอมและเก็บพืชที่ต้องนำไปส่งให้พ่อค้าในตลาดสด จากนั้นจะเริ่มดูแลแปลง รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บวัชพืช ซึ่งในทุกวัน คุณชาญและภรรยา จะให้ความสำคัญกับต้นไม้ พยายามเดินดูให้ครบทุกต้น เพื่อแก้ปัญหาหากพบว่าเกิดโรคหรือแมลงเข้าทำลาย

การบริหารจัดการภายในสวน ไม่ใช่เรื่องยาก คุณชาญ เล่าว่า ต้องปลูกไล่ระยะเวลา เพื่อให้มีเก็บขายได้ทุกวัน ไม่ว่าจะพืชผักชนิดไหน ซึ่งปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ไม่สามารถขยายกำลังผลิตได้แล้ว เพราะแรงงานมีเพียงคุณชาญและภรรยาเท่านั้น

สำหรับรายได้ คุณชาญบอกได้อย่างไม่อายว่า อย่างน้อยวันละ 800 บาททุกวัน ด้วยหลักการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ทำให้คุณชาญ ได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาไร่นาสวนผสม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พร้อมเปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับผู้สนใจ

“หลายคนที่เริ่มคิดอยากทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง บางคนไปไม่รอด ถ้าอยากรอด ต้องลงมือทำเอง ต้องมีใจรัก แม้จะนำเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องไม่ลงทุนสูง เพราะรายได้จากการทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้มาก แต่ยั่งยืน และต้องสังเกตว่าพืชชนิดใดเหมาะกับพื้นที่ใด เพราะพืชทุกชนิดไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่” คุณชาญ ฝากทิ้งท้ายถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ทุกคน

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์สับปะรดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2565 (มกราคม-เมษายน 2565) สับปะรดที่เข้าโรงงานเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.63 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.18 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.66 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โรงงานแปรรูปจึงปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะผลผลิต ภาวะต้นทุน ด้วยปัจจัยหลายอย่างเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหลายรายถอดใจ แต่ในทางกลับกันก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่ยังสู้และไปต่อได้จากการปรับตัว หันมาแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้หลากหลายช่องทางยิ่งขึ้น ไม่รอส่งโรงงานเพียงอย่างเดียว

คุณพัทธนันท์ หมื่นอาจวัฒนะ หรือ พี่พัท อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรสาวหัวใจแกร่งผู้สืบทอดกิจการสวนสับปะรดจากครอบครัวจำนวน 100 ไร่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนัก แต่เธอคนนี้ก็ก้าวผ่านวิกฤตมาได้ทุกครั้ง

พี่พัทเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า อาชีพเป็นเกษตรกรปลูกสับปะรดเป็นอาชีพที่ตนเองได้รับมรดกมาจากพ่อกับแม่ที่ประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดมานานกว่า 40 ปี ซึ่งการเป็นเกษตรกรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับตนเอง เพราะนอกจากจะต้องปลูกสับปะรดให้เป็นแล้ว ยังต้องแบกทั้งความหวัง และแบกรับความเสี่ยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้การเข้ามาสานต่อกิจการของที่บ้านในแบบของตนเอง จะไม่ใช่แค่การปลูกแล้วส่งผลผลิตให้กับโรงงาน หรือให้พ่อค้าคนใดคนหนึ่งมาผูกขาดอย่างเดียว แต่เราต้องกระจายสินค้าออกเป็นหลายช่องทาง ไว้รองรับทุกภาวะที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. คัดแยกเกรดขายผลสดเอง เนื่องจากการปลูกสับปะรดในแต่ละไร่ ของที่สวนจะไม่ได้สับปะรดเกรด A ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่สวนปลูกแบบปลอดสาร จึงต้องมีการคัดแยกเกรด หากเป็นสับปะรดเกรด A จะทำตลาดขายผลสดเอง เพราะจะขายได้ราคาดีกว่าส่งให้โรงงาน ราคาผลสดในปัจจุบันขายได้ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม

2. ส่งโรงงานอัดกระป๋อง ส่วนนี้จะเป็นสับปะรดเกรด B หรือสับปะรดที่มีรสชาติหวานไม่ถึงขั้นขายผลสดได้ ข้อดีคือขายได้ในปริมาณเยอะ แต่มีข้อเสียคือ ขายได้ราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งปัจจุบันราคาขายส่งโรงงานอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท

3. แปรรูปเพิ่มมูลค่า จะนำสับปะรดที่ทรงผลไม่สวย ขนาดไม่ได้มาตรฐาน มาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สับปะรดกวน แครกเกอร์สับปะรด คุกกี้สับปะรด แยมสับปะรด และไซรัปสับปะรด ส่วนนี้จะนำมาวางขายในร้านค้าของตนเองที่เปิดอยู่ในตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี โดยจะเป็นร้านที่ขายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปแบบครบวงจร มีทั้งของสดของแห้ง ซึ่งของที่วางขายจะมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากที่สวนเป็นหลัก รวมถึงผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนหนองปรือ ทั้งผักสดปลอดสารพิษ และสินค้าแปรรูปชนิดอื่น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ปลูกสับปะรด 100 ไร่ จัดการอย่างไร
ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ขายได้ราคาดี

พี่พัท บอกว่า ปัจจุบันที่ไร่ของตนเองมีพื้นที่ปลูกสับปะรดทั้งหมด 100 ไร่ แบ่งปลูกเป็นล็อกทุกเดือน ล็อกละ 12-15 ไร่ เลือกปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียเป็นหลัก ด้วยความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกสับปะรดสายพันธุ์นี้ ส่งผลทำให้ได้ผลผลิตที่ได้รสชาติหวานฉ่ำ รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น เหมาะสำหรับการปลูกส่งตลาดโรงงาน และสามารถนำแปรรูปได้หลากหลายผลิตภัณฑ์

โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกสับปะรดได้ 8,000 หน่อ ระยะห่างในการปลูก 7 หน่อต่อ 1 วา ระยะห่างระหว่างร่อง 125 เซนติเมตร ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ประมาณ 7-8 ตันต่อไร่

จุดเด่นสับปะรดของที่สวนอยู่ที่กระบวนการปลูกการดูแลแบบปลอดสาร ได้รับรองมาตรฐาน GAP สามารถทำตลาดได้กว้างกว่าสวนที่ปลูกและดูแลด้วยสารเคมี ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ต้องการผลไม้ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้สินค้าที่ปลอดสารเคมีนอกจากจะเป็นที่ต้องการจากแผงผลไม้ทั่วไปแล้ว ยังเป็นที่ต้องการของห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือตามร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอีกด้วย

ขั้นตอนการแปรรูปไซรัปสับปะรด

สำหรับขั้นตอนแปรรูปไซรัปสับปะรด พี่พัท บอกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากการทำสับปะรดกวน แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จในการทำผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างการทำไซรัปสับปะรด ในช่วงแรกรสชาติจะยังไม่คงที่ เพราะเราจะไม่ใส่ส่วนผสมกรดมะนาว ไม่ใส่น้ำตาล จะอาศัยรสชาติจากสับปะรดทั้งหมด เพราะฉะนั้นความยากจะตกไปอยู่ที่การคัดเลือกวัตถุดิบ ทำให้เป็นเรื่องยากในการควบคุมรสชาติและคุณภาพให้คงที่

การแปรรูป

1. เริ่มต้นจากการคัดเลือกสับปะรดที่สุกโดยธรรมชาติ จะมีรสชาติที่หวาน ผิวสีเหลืองสวย

2. เมื่อได้สับปะรดที่ต้องการแล้ว นำไปล้างทำความสะอาด แล้วปอกเปลือกออกให้เรียบร้อย

3. นำสับปะรดที่ปอกเปลือกเสร็จแล้วไปผ่านกระบวนการคัดแยกเนื้อกับน้ำออก โดยส่วนของเนื้อจะนำไปทำเป็นสับปะรดกวน ส่วนของน้ำนำไปทำเป็นไซรัป และส่วนสุดท้ายคือเปลือกของสับปะรดนำไปทำน้ำหมัก ใช้ในการฉีดพ่นพืชผักที่ปลูกไว้ หรือในบางครั้งมีปริมาณเปลือกของสับปะรดมีมากเกินไป ก็จะแบ่งส่วนที่เหลือไปเลี้ยงวัวขุน

4. นำน้ำสับปะรดที่คั้นแยกออกมาไปเคี่ยว เคี่ยวจนกว่าน้ำสับปะรดจะเหนียว คล้ายกับคาราเมล โดยในขั้นตอนของการเคี่ยวจะใส่เพคติน เป็นสารให้ความเหนียว พร้อมกับใส่ดอกเกลือลงไปเล็กน้อยเพื่อตัดรสชาติ

5. เมื่อเคี่ยวจนน้ำสับปะรดเหนียวได้ที่แล้ว นำมาบรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ หากภาชนะเป็นขวดแก้วสามารถบรรจุร้อนได้เลย แต่ถ้าหากภาชนะเป็นขวดพลาสติกให้ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุลงขวด

โดยจุดประสงค์หลักของการพัฒนาไซรัปสับปะรดขึ้นมาคือ

1. เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มร้านขายขนมหวาน ร้านเค้ก ร้านไอศกรีม นำไปใช้ตกแต่งหน้าเค้ก แต่งหน้าไอศกรีม หรือใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีกลิ่นหอมของสับปะรด ไม่ทำลายสุขภาพ ที่เป็นจุดทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

2. เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสามารถยืดอายุของผลผลิตได้ จากที่เคยขายผลสดอย่างเดียวจะเก็บไว้ได้เพียง 3-5 วัน หากเกินจากนี้ไปแล้วตัวผลสดก็ไม่สามารถที่จะคงคุณภาพเดิมไว้ได้ แต่การแปรรูปสามารถยืดอายุของผลผลิตได้นาน 1-6 เดือน

การตลาดอยู่ในช่วงฟื้นตัว
หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

เจ้าของบอกว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้น ยอดขายผลิตภัณฑ์แปรรูปตกลงอย่างน่าใจหาย จากที่เมื่อก่อนเคยมีรายได้แค่เฉพาะจากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างเดียวเดือนละเกือบ 200,000 บาท รายได้ที่เคยได้ก็หายไปเกือบหมด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำสินค้าไปวางขายที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โรบินสันกาญจนบุรี ตามศูนย์ราชการต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ทุกอย่างหยุดชะงัก จนถึงปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายทางเราก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมด แต่ยังโชคดีที่ยังพอมีฐานลูกค้าเก่าอยู่พอสมควร ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเดินหน้าหาตลาด และเดินหน้าผลิตสินค้าใหม่อีกครั้ง หรือเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

“จริงๆ ต้องบอกเลยว่าอาชีพชาวสวนปลูกสับปะรดเป็นอาชีพที่เราชื่นชม เพราะเราเห็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรจะอยู่กันไม่ได้ หนึ่งเลยคือเวลาเราขายผลผลิตมักเกิดปัญหารายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรหลายคนทิ้งอาชีพนี้ไปหลายรายเพราะไปต่อไม่ได้ แบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่อยากจะบอกว่าถ้าสินค้าเราดี เราดูแลสับปะรดได้คุณภาพ ลูกค้าก็ยังต้องการผลผลิตของเราอยู่ คือสับปะรดที่มีรสชาติหวาน รับประทานไม่กัดลิ้น และอีกอย่างคือสร้างมาตรฐานไร่ให้ได้ มันจะมีตลาด หรือช่องทางการขายได้อีกมาก โดยที่เราไม่ต้องง้อโรงงานกระป๋องอย่างเดียว เพราะการที่เราจะส่งสับปะรดกระป๋องเราจะไม่มีโอกาสเสนอราคาเองเลย มันจะเป็นราคาที่วันไหนถ้าสับปะรดเยอะโรงงานก็จะลดราคากะทันหันเลย ชาวไร่เสียเปรียบอย่างเดียว แต่ถ้ารู้จักที่จะแปรรูปสินค้าของเรามันเพิ่มมูลค่าได้ และเราสามารถตั้งราคาเองได้ ถึงแม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะแย่ แต่พี่ก็ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ยังเลี้ยงกิจการได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ” พี่พัท กล่าวทิ้งท้าย

คุณธีรพงษ์ ทาหล้า เจ้าของสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค ในพื้นที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรตำบลผู้มีหัวใจรักและคลั่งไคล้การทำเกษตรมาตั้งแต่วัยเด็ก สานฝันควบคู่กับการทำงานข้าราชการ อีกทั้งยังมองเห็นว่าการทำเกษตรแบบเดิมโดยใช้สารเคมีของครอบครัวนั้น ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตระยะยาว จึงตั้งใจที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยการเรียนต่อปริญญาโทจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำวิชาความรู้ที่ได้รับมานั้น พัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัวและสร้างแบรนด์ผักที่ชื่อว่า “ผักดอยโอเค”

จุดเริ่มต้นของการทำสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค เริ่มจากที่บ้านมีการทำเกษตรแบบเดิม ใช้สารเคมีเยอะมาก ในการปลูกพริก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณธีรพงษ์จึงเริ่มขออนุญาตใช้พื้นที่ของพ่อและแม่ จำนวน 1-2 งาน ในการที่จะปลูกผักสลัด ระหว่างรอผลผลิตพริก กะหล่ำปลี และมะเขือเทศ ซึ่งกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องใช้เวลานานพอสมควร คุณธีรพงษ์จึงมองเห็นช่องทางการมีรายได้เพิ่ม

โดยการปลูกพวกผักใบ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในรายสัปดาห์ เพื่อนำมาเป็นค่าแรงของคนงานโดยที่ไม่ต้องรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลักที่ปลูกไว้ พ่อและแม่ของคุณธีรพงษ์จึงตอบรับและให้ค่อยๆ ทดลองทำ และเริ่มจับตลาดในตัวเมืองเชียงใหม่ว่าตลาดต้องการผักใบชนิดใดเป็นพิเศษ จึงเริ่มทดลองปลูกผักใบหลากหลายชนิดอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น จากนั้นจึงทำการขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ผักมีมาตรฐานรับรอง ง่ายต่อการหาตลาดในการจำหน่าย เพราะคุณธีรพงษ์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะขายผักที่ได้มาตรฐาน ไม่เต็มไปด้วยสารเคมี จึงสร้างแบรนด์ที่มีชื่อว่า “ผักดอยโอเค”

“ผมจึงเริ่มสร้างแบรนด์ผักเป็นของตัวเอง ก็คือในเมื่อเรามีมาตรฐานอยู่แล้ว และผักของเราก็มีคุณภาพ สร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า ผักดอยโอเค ภายใต้ Concept ผักที่ปลูกบนยอดดอย เพราะว่าพื้นที่สูงอยู่ที่ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศก็จะเย็นตลอดทั้งปี คำว่า โอเค ใช้แทนลักษณะรสชาติของผัก ที่มีรสชาติดี มีความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของผักดอยโอเค เป็นผักที่ปลูกบนดอยมีมาตรฐานรสชาติดี ปลอดภัยจากสารพิษ เข้าสู่ช่วงที่ 2 ในการปรับเปลี่ยนจากวิถีเกษตรเชิงเคมี สู่เกษตรที่มีมาตรฐานรองรับ ทำมาเรื่อยๆ โดยการมุ่งเน้นการปลูกในโรงเรือนเป็นหลัก ในการใช้มาตรฐาน GAP ตรวจจับในกระบวนการผลิต พยายามปลูกผักภายใต้โรงเรือน ขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกผักภายใต้โรงเรือนอย่างน้อยๆ ประมาณ 2 งาน ถึง 1 ไร่ ภายใน 1 ปี เพื่อให้ผลิตผักตามความต้องการของตลาด เพราะตลาดต้องการผักใบจำนวนนี้เป็นอย่างมาก ในช่วงของหน้าร้อนและหน้าฝน ส่วนหน้าหนาวนั้นจะมีความต้องการน้อย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝนคือการปลูกภายใต้โรงเรือน”

หลังจากเริ่มทำการปลูกผักได้ประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2558 คุณธีรพงษ์ต้องเจอกับอุปสรรคและปัญหาในเรื่องของคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผักเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลง รายได้จึงลดน้อยลงตามไปด้วย เพราะผักขายไม่ได้ ถึงแม้จะได้มาตรฐานรับรองแต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้คุณธีรพงษ์รู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรนั้น จะสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ และจะสามารถเลี้ยงครอบครัวและปากท้องของตนเองได้หรือไม่ ทำให้ในช่วงนั้นคุณธีรพงษ์รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตนเอง จึงหันไปอ่านหนังสือและสอบเข้าสายราชการ พยายามอยู่ประมาณ 1 ปี จนในปี 2558 สอบติดตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“เราอยากทำการเกษตร อยากจะกลับไปพิสูจน์ว่า เราจะกลับไปทำการเกษตรจริงๆ ได้ไหม หลังจากที่เรียนจบเกษตรมาแล้ว ก็รู้สึกว่าช่วง 4 ปีที่เราได้ทำรู้สึกพอใจและเราก็ได้ทำและได้พิสูจน์แล้วว่าเราก็ทำได้นะ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางมากพอ บวกกับเรามีครอบครัวมีลูกแล้ว จึงอยากหาความมั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้นกว่านี้ จนกระทั่งมาสอบได้ของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ในปี 2558 ทำงานที่แรกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โชคดีที่ว่าเรายังทำงานควบคู่ไปกับธุรกิจที่เราทำอยู่ได้ โดยการฝากพ่อและแม่ดูแลในช่วงจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนช่วงเสาร์และอาทิตย์จะกลับมาดูแลเอง และนำผักเข้ามาขายในเมืองเหมือนเดิม โดยธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ พอเรามาเริ่มทำงานในจุดนี้คนก็รู้จักเราเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผักที่เราทำใช้หลักวิชาการ เราเป็นนักวิชาการที่ทำสวนเองและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคคลภายนอกเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ผักดอยโอเค”

ส่วนวิธีการดูแล แบ่งออกเป็นส่วนที่หนึ่งในการจัดการเรื่องโรคและแมลง หลักๆ ทางคุณธีรพงษ์พยายามปลูกผักภายใต้โรงเรือน ปรับสภาพแวดล้อมให้สมกับผัก อย่างเช่น หน้าร้อนจะมีการพรางแสง มีการพ่นน้ำด้วยสปริงเกลอร์ หน้าฝนจะมีหลังคาพลาสติก เพื่อป้องกันความชื้นไม่ให้มีมากจนเกินไป เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคและแมลง รวมถึงลดการใช้สารเคมีได้มากกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งอาจจะต้องมีการใช้สารเคมีในช่วงเริ่มต้นของการปลูก ในช่วงการระบาดของโรคและช่วงควบคุมระยะของต้นกล้าเพียงแค่นั้น นอกนั้นจะใช้วิธีกลในการจัดการ ทั้งการใช้สารชีวภาพ การปลูกภายใต้สภาวะโรงเรือน มีมุ้งล้อมรอบ มีการใช้กับดักกาวในการดักแมลง กำจัดวัชพืชโดยการเลี้ยงไส้เดือนควบคู่กับการปลูกผักไปด้วย โดยการนำเศษผักไปให้ไส้เดือนกิน ก็จะนำมูลหมุนเวียนนำมาทำปุ๋ยหมักอีกครั้งหนึ่ง โดยทุกอย่างภายในฟาร์มจะมีระบบการจัดการของเสียแบบ zero waste อย่างมีมาตรฐาน

ปัญหาหลักของโรคระบาดที่เจอมักจะเจอหนอน โรคใบจุด ใบไหม้ ป้องกันโดยอาจจะต้องมีการฉีดพ่นสารเคมีให้ถูกกับโรคนั้นๆ บางครั้งอาจจะต้องวิเคราะห์ว่าโรคที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใด จากเชื้อราหรือแบคทีเรีย เป็นต้น

“ในช่วงของการดำเนินการในระบบ GAP นั้น เราก็ยังคงมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ด้านนอกแต่ว่าหลักการใช้ปุ๋ยเคมีของเรานั้น ก็จะให้ตรงตามหลักของการผลิตพืชช่วงเวลาที่เหมาะสมกับระยะการเติบโตของพืช และจะทำให้เราประหยัดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย ชนิดพืชตัวนี้ ช่วงอายุพืชเท่านี้เราควรใช้ปุ๋ยสูตรอะไร ไม่ใช่ว่าอยากใส่อะไรก็ใส่ครับ จะใส่ตรงกับความต้องการของพืชจริงๆ เท่านั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดรวมถึงมีการทำปุ๋ยหมักควบคู่กันไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี หลักๆ จะมีอยู่ 2 สูตร โดยจะแยกเป็นผักใบกับผักผล ผักใบ เริ่มต้นที่สูตร 46-0-0 ในช่วง 10 วันแรกหลังปลูก หลังจากนั้นใช้สูตร 27-5-5 หรือสูตร 29-7-7 ยังคงเน้นตัวหน้า แต่ว่ามีธาตุอื่นเพิ่มเข้ามาด้วย โพแทสเซียมกับฟอสฟอรัสเพิ่มเข้ามา เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตครับ”

โดยการเตรียมแปลงทุกครั้งทางฟาร์มจะมีการใส่ปุ๋ยหมัก ปูนขาว เพื่อปรับสภาพดินทุกครั้ง ก่อนที่เราจะทำการปลูกผัก และจะเริ่มต้นใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงระยะระหว่างทางที่ผักกำลังเติบโตนั่นเอง

ด้านความต้องการของตลาดนั้น ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน เนื่องจากช่วงดังกล่าวโรคและแมลงมีการระบาดจำนวนมาก และโอกาสการสูญเสียของผักมีสูง ปริมาณผักในท้องตลาดมีน้อย สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากถึงช่วงฤดูหนาว เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ผักมีจำนวนมาก ราคาถูก ทางฟาร์มจึงจะเลี่ยงและลดอัตราการผลิตผักให้น้อยลง

เมื่อถามถึงราคาขาย คุณธีรพงษ์ เล่าว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต ทางฟาร์มจะตั้งราคาขายเองให้สอดคล้องกับปริมาณผักที่มีอยู่และปริมาณความต้องการของตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เริ่มต้นที่ 50-100 บาท ราคาแตกต่างกันตามชนิดของผัก

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อคุณธีรพงษ์ ทาหล้า เจ้าของสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค ในพื้นที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ หรือทางเพจเฟซบุ๊ก “สวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค” หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 085-029-7573

“ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” จังหวัดตราด เป็นของดีอีกอย่าง ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งที่มีมานานกว่า 40-50 ปีแล้ว และวันนี้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้นำขึ้นมาแต่งตัวใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างน่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติพิเศษผลการทดสอบทางวิชาการจาก บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่ามีวิตามินอี 9.45 mg/100 g (มิลลิกรัม/100 กรัม) และธาตุไอโอดีน 54.27 ug/100g (ไมโครกรัม/100 กรัม) ซึ่งวิตามินอี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสารไอโอดีนเป็นสารที่มีประโยชน์กับร่างกาย หากอยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่น่าเสียดายที่ทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้างที่ผ่านมา ขายได้ราคาต่ำ เพราะต้องขายแบบเหมาสวน เช่นเดียวกับทุเรียนทั่วไป และวันนี้ได้ลดปริมาณลง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองหรือพืชผลชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า เช่น ยางพารา หรือบางรายขายสวนให้นักลงทุนด้านธุรกิจท่องเที่ยวไปเลย

คุณประกฤต ครุพานิช เกษตรกรชาวสวนทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง psyguy.com อยู่บ้านเลขที่ 45/2 หมู่ 2 บ้านด่านใหม่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เล่าถึงที่มาของทุเรียนชะนีเกาะช้างว่า เมื่อ 40-50 ปีก่อน รุ่นพ่อแม่ เริ่มนำพันธุ์จาก อ.ขลุง จ.จันทบุรี มาปลูกแทนสวนยางพารา เริ่มจากชาวสวนเพียง 4-5 ราย เท่านั้น ต่อมาขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เพราะปลูกแทนยางพารา ซึ่งตอนนั้นไม่ใช่ยางพันธุ์ดีปริมาณน้ำยางมีน้อย และราคาถูกมาก กิโลกรัมละ 6-7 บาท เปรียบเทียบกับทุเรียนตอนนั้น กิโลกรัมละ 40-50 บาท

คุณประกฤต บอกด้วยว่า สวนที่พ่อปลูกครั้งแรก ในพื้นที่ 70 ไร่ มี 400 ต้น ต่อมาเมื่อต้นทุเรียนตายด้วยโรคเชื้อรา และแมลงด้วงหนวดยาว ทำให้เหลือทุเรียนที่รับช่วงต่อจากพ่อเพียง 20 ต้นเท่านั้น จึงนำพันธุ์หมอนทองเข้าปลูกทดแทนต้นที่ตายไปบ้าง เพราะราคาดีกว่า พร้อมๆ กับทำสวนผสม ปลูกยางพารา ไม้กฤษณา สักทอง ปาล์มน้ำมัน มังคุด ขนุน ลองกอง สับปะรด แก้วมังกร

“ชะนี ที่เหลืออยู่ต้นสูง 10-20 เมตร การดูแลเก็บเกี่ยวลำบากมาก จึงปล่อยตามธรรมชาติ บนเกาะช้างน่าจะมีเหลือไม่ถึง 100 ราย หนึ่งสวนไม่เกิน 4 -20 ไร่ บางคนตัดทุเรียนทิ้ง ปลูกยางพารา หรือเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์หมอนทอง หากไม่อนุรักษ์ด้วยการส่งเสริมการตลาดไม่มีเหลือแน่นอน เพราะราคาต่ำกว่าหมอนทองถึงเท่าตัว เมื่อ อพท. สนับสนุนการตลาดเพิ่มมูลค่าน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตกรช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาให้ได้มาตรฐานและเป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะช้างได้”

คุณประกฤต เล่าถึงเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้างว่า รสชาติอร่อยเป็นพิเศษจริงๆ เนื้อเนียนเหนียวละเอียด สีเหลืองสวย รสชาติหวานเข้มที่เรียกว่าหวานขม และสุกก่อนทุเรียนพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญไส้ไม่อมน้ำ ซึ่งต่อไปควรมีการขยายพันธุ์ในแปลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะทุเรียนพันธุ์ชะนีเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทานอายุยาว หากดูแลดีๆ ต้นสามารถอยู่ได้เป็น100 ปี เมื่อเทียบกับพันธุ์หมอนทองอายุเพียง 20-30 ปี อีกทั้งยังมีความต้านทานโรคน้อยกว่า แต่ด้านการตลาดชาวสวนคงต้องแบ่งสัดส่วนขายเหมาสวนและขายเป็นผล อาจจะ 80:20 เพราะปริมาณผลผลิตมีมากและขนาดมาตรฐานไม่เท่ากัน หากขายเป็นผลต้องดูแลตั้งแต่ออกดอก เพื่อให้ลูกเติบโตได้มาตรฐานทุกลูก ผลสวย เนื้อดีละเอียด มีเนื้อทุกพู

“ ที่ผ่านมาชาวสวนไม่มีช่องทางตลาดอย่างอื่น จำเป็นต้องขายเหมาสวน เพราะง่าย สะดวก และเมื่อต้นแก่ทิ้งใบก็ปล่อยให้ตาย หาพันธุ์หมอนทองหรือพืชชนิดใหม่ที่มีราคาสูงกว่าปลูกแทน เพราะว่าตามสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ของเกาะช้างดีต่อการทำเกษตรกรรม ผลไม้ทุกอย่างที่ปลูกบนเกาะรสชาติดีไม่ใช่เฉพาะทุเรียนชะนีอย่างเดียว” คุณประกฤต บอก

ด้วยความตระหนักในความสำคัญของทุเรียนพันธุ์ชะนีและต้องการอนุรักษ์ให้เป็นเอกลักษณ์ของเกาะช้าง และเป็นผลิตภัณฑ์โลว์คาร์บอนตามวัตถุประสงค์ของ อพท.

พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ. 1) อพท. ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนเกาะช้าง เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์พัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจเกษตรกรที่ยังมีสวนทุเรียนพันธุ์ชะนีที่เหลืออยู่บนเกาะช้าง และชวนเข้าร่วมโครงการเพื่อจัดทำมาตรฐานการผลิตตามระบบจัดการคุณภาพ GAP (Good Agricultural Practice) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี มีสถานีวิจัยพืชสวนจันทบุรีเป็นพี่เลี้ยง