เลขาธิการฯกล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงิน 100 บาทต่อเดือน

จะได้รับสวัสดิการ 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนรายวัน วันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท โดยรวมกันรับสิทธิไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หยุดไม่เกิน 2 วัน (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) ได้ครั้งละไม่เกิน 50 บาท กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาทตามเงื่อนไข

เป็นระยะเวลา 15 ปี และกรณีเสียชีวิตก็ได้รับค่าทำศพ โดยผู้จัดการศพได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท โดยหากจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต ได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล คือ สะสมเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออม) จากเงินสมทบเดือนละ 50 บาท (ได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ม.40) ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

นพ.สุรเดชกล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงิน 300 บาทต่อเดือน จะได้รับสวัสดิการ 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนรายวัน วันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท โดยรวมกันรับสิทธิไม่เกิน 90 วันต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หยุดไม่เกิน 2 วันกรณีนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ยังมีกรณีทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาทตามเงื่อนไข เป็นเวลาตลอดชีวิต และกรณีเสียชีวิตก็ได้รับค่าทำศพ

โดยผู้จัดการศพได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล คือ สะสมเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออม) จากเงินสมทบเดือนละ 150 บาท (ได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ม.40) ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ที่สำคัญทางเลือกนี้ยังให้โบนัสแก่ผู้ประกันตน โดยหากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท และกรณีสงเคราะห์บุตรแรกเกิดถึง 6 ปี ได้รับเงินรายเดือนคนละ 200 บาท สำหรับบุตร 2 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะมีทางเลือกให้ แต่กลุ่มแรงงานมองว่า ก็ไม่เป็นธรรม เพราะการจ้างงานลักษณะนี้ก็มีนายจ้างอยู่ดี และเพราะเหตุใดภาครัฐไม่ดูแล ต้องให้มาจ่ายเงินสมทบเอง นพ.สุรเดชกล่าวว่า จริงๆ ในระบบกองทุนประกันสังคมจะจ่ายสมทบทั้งหมด อย่างผู้ประกันตนทั่วไปที่ทำงานมีนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบ นายจ้างก็จ่าย ภาครัฐช่วย กรณี ม.40 ก็เช่นกัน เพียงแต่นายจ้างไม่ต้องจ่าย แต่แรงงานที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเลือกกรณีไหน จากทั้ง 3 กรณีก็ล้วนเป็นความสมัครใจของแรงงาน ซึ่งย้ำว่ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มทำงานอิสระ กลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมไปถึงลูกจ้างส่วนราชการกลุ่มจ้างรายวัน หรือจ้างเหมาทำของ ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากหนองหารสกลนคร มีความจุเต็มพิกัด หลังฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มวลน้ำทะลักล้นลงสู่ลำน้ำก่ำ ที่ไหลระบายลงแม่น้ำโขง ระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผ่าน อ.นาแก จ.นครพนม ไปยัง อ.ธาตุพนม ล่าสุดพื้นที่เสี่ยงที่เคยได้รับผลกระทบซ้ำซากกว่า 30 ปี คือพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเคยได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังทุกปี เริ่มได้รับผลกระทบอีก มีมวลน้ำจากลำน้ำก่ำ ที่ไหลมาบรรจบกำลำน้ำบัง ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง เริ่มไหลเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ของชาวบ้านในพื้นที บ้านปากบัง หมู่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก ทำให้บ้านเรือนเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว หลาย 10 หลัง ซึ่งมีครัวเรือนเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 200 หลังคาเรือน เชื่อว่าหากฝนไม่หยุดตกจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำยังเพิ่มปริมาณต่อเนื่อง

โดยทางด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วย นายคำฟอง พ่ออามาตย์ อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้านปากบัง หมู่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก ได้ประสานกับผู้นำชุมชนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบหาทางช่วยเหลือ แจ้งเตือนให้ชาวบ้าน เร่งอพยพ เก็บสิ่งของ สัตว์เลี้ยงการเกษตร ขึ้นที่สูง เตรียมพร้อมรับมือลำน้ำก่ำล้นเอ่อท่วมบ้านเรือน คาดว่ามวลน้ำจะไหลเข้าท่วมเพิ่มระดับขึ้นต่อเนื่อง

นายบัญชา ศรีชาหลวง นายนก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า วันนี้สถานการณ์ล่าสุดพื้นที่ ต.พิมาน อ.นารแก จ.นครพนม น่าเป็นห่วง เนื่องจากลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลมารวมกัน กับลำน้ำบัง ที่บ้านปากบัง ทำให้เป็นจุดรวมน้ำ ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซาก ซึ่งมีบ้านเรือนชาวบ้านได้รับผลกระทบน้ำท่วมแล้ว หลาย 10 หลัง แต่ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จึงได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทหารพัฒนา นพค.22 อ.นาแก เร่งลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ต้องการอพยพขนย้ายสิ่งของ เพราะเมือปี 2560 ที่ผ่านมา ถูกน้ำท่วมนานกว่า 1 เดือน มาปีนี้หากซ้ำอีกชาวบ้านคงเดือดร้อนหนัก ส่วนแนวทางการแก้ไข เคยเสนอโครงการไปหลายปี ในการแก้ปัญหาถาวร สร้างถนน เป็นคันคูกั้นน้ำ จนเมื่อปี 2560 ได้รับงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่อยู่ระหว่างการหาผู้รับจ้างดำเนินการ ทำให้ล่าช้า

เรียนคุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเกิดความสงสัยว่า เป็นเพราะเหตุใดที่ส้มโอบ้านเราหายไปจากตลาด ไม่พบเห็นวางกองพะเนินเหมือนในอดีต เกิดจากผลผลิตลดลง หรือมีการส่งออกไปต่างประเทศมากมาย ผมอยากซื้อมารับประทานแต่ก็หายากขึ้น ขอทราบปัญหาดังกล่าวครับ

ตอบ คุณวิชัย วิวัฒน์ดำรงค์

ตามสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560 รายงานว่า มีพื้นที่ปลูกส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้ว 1.6 แสนไร่ ได้ผลผลิตทั้งประเทศ 2.4 แสนตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 2.2 แสนตัน ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่คุณวิชัย เห็นว่ามีการวางตลาดน้อยลง เนื่องจากมีการลดพื้นที่เพาะปลูกลง มีการโค่นต้นอายุมากทิ้ง แล้วปลูกพืชอื่นทดแทน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และดูแลง่ายกว่า

ลูกค้าของไทย 60 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนคือประเทศจีน ประเทศอื่นๆ มี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยเฉพาะญี่ปุ่นอนุญาตให้ส้มโอไทยเข้าประเทศ โดยไม่คิดภาษีแต่ประการใด ฉะนั้น ญี่ปุ่นมีศักยภาพที่เป็นตลาดใหม่ที่สำคัญ

นางวนิดา ทิพย์ศักดิ์ พาณิชย์จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า พาณิชย์จังหวัดได้ประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งเตือนให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจำหน่ายลำไยในพื้นที่พะเยาทุกอำเภอรวม 9 อำเภอ และให้ปิดป้ายแสดงราคาในการรับซื้อสินค้าทางการเกษตร (ลำไย) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในการแสดงราคารับซื้อสินค้าเกษตรปี 2561/62 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รับซื้อสินค้าเกษตรเพื่อจำหน่ายปิดป้ายแสดงชื่อและราคารับซื้อสินค้าเกษตร และต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่รับซื้อโดยเขียน-พิมพ์หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นๆ บนแผ่นกระดาษ-แผ่นไม้-แผ่นกระจกหรือวัตถุอื่นๆ ที่แสดงไว้ ณ สถานที่ที่รับซื้อฯ

นางวนิดากล่าวอีกว่า หลังจากขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ รวมไปถึงพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนที่มารับซื้อลำไยในพื้นที่พะเยา หากว่าผู้ประกอบการรายที่รับซื้อลำไยไม่ให้ความร่วมมือมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ข้อหากักตุนสินค้าหรือปฏิเสธ-ประวิงการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือจงใจกระทำให้ราคาสูงหรือต่ำเกินสมควรความเป็นจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี พร้อมปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรการไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล คสช.

เมื่อนานมาแล้ว เพื่อนคนหนึ่งซึ่งไม่กินอาหารรสเผ็ดเห็นผม

ผัดพริกใบกะเพราใส่หมูสับบ้าง เนื้อวัวสันในหมักวิสกี้บ้าง เสียงดังฉู่ฉี่ๆ ก็เอื้อนเอ่ยว่า “แล้วนี่จะผัดแบบไม่ใส่พริกบ้างไม่ได้เหรอ” ตอนนั้น ผมยังไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับอาหารในแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ จึงตอบไปทันทีว่า ไม่ได้หรอก “แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ผัดกะเพราน่ะซี”

กรอบความคิดเกี่ยวกับสูตรอาหารแบบจารีตกระแสหลักครอบงำผมอยู่นาน จนหลายสิบปีผ่านไป ได้พบเจออะไรที่นอกกรอบขอบเขตมากๆ เข้า ก็ชักเริ่มคิดเรื่องวัตถุดิบและสูตรไม่เหมือนเดิมแล้ว ถ้าว่าเฉพาะกะเพรา ซึ่งเดี๋ยวนี้คนแทบจะนึกออกแต่ตอนมันอยู่ในจานผัดกะเพราหรือแกงป่านั้น ผมเคยเห็นมีคนเอาใบสดไปยำกับหมูสับลวกและกุ้งเผาหั่นชิ้นเล็กๆ ปรุงให้เปรี้ยวๆ เค็มๆ เผ็ดๆ เคยชิมแกงหม้อหนึ่งแถบปากน้ำปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่เหมือนแกงเลียง แกงส้ม แกงป่า รวมในหม้อเดียวกัน โดยเขาใส่ใบกะเพราฉุนๆ เพิ่มกลิ่นหอม กระทั่งเพิ่งได้ซดต้มจืดหมูบะฉ่อใส่ใบกะเพรา โรยกระเทียมเจียว ที่ร้านข้าวต้มในเมืองน่านเมื่อปีก่อน ทำให้เพดานปากเพดานลิ้นทะลุออกไปได้อีกหน่อยหนึ่ง

ผมหวนคิดถึงคำเพื่อนคนเดิมอีกครั้ง ในหัวพลอยจินตนาการถึงใบกะเพราฉุนๆ ร้อนๆ ล้างเด็ดมาแยะๆ แล้วปรุงเป็นกับข้าวสไตล์ “ผัดผัก” ซึ่งคาดเดาได้เลยว่า มันจะไม่เผ็ดจัดเหมือนเรากินผัดพริกกะเพรา (ก็คราวนี้เราไม่ใส่พริกนี่นา) แต่ย่อมฉุนร้อน พอที่จะกินให้อุ่นท้องตอนหน้าฝนหรือหน้าหนาวได้ดี คนไม่กินเผ็ดก็กินได้ แถมใครชอบผัดกะเพราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็คงรู้สึกว่าได้กินอาหารจานโปรดในอีกลักษณะหนึ่งอยู่ดี

วิธีเลือกกะเพราไม่ยาก สังเกตที่ใบเล็กหน่อย แต่หนา ปลายใบมน ก้านออกสีม่วงนิดๆ จะดี (แต่บางครั้งก็ไม่สำคัญนัก) ขั้นต่อไปก็คือแอบเด็ดใบมาขยี้ดม ถ้าฉุนร้อนก็ใช้ได้ ที่ผมใช้ประจำเป็นกะเพราป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แผงผักในตลาดหมู่บ้านเขาเก็บจากต่างจังหวัด เช่น ยโสธร เพชรบุรี ราชบุรี มาขายตอนเย็นครับ

อาศัยการสังเกต ดมกลิ่น และถามไถ่ที่มา เราก็อาจเสาะพบความหอมฉุนรุนแรง ซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามแผงผักที่ดูธรรมดาๆ ได้ไม่ยาก

ส่วนกะเพราสวนชนิดที่ปลูกยกแปลง ใบใหญ่บาง ก้านสีเขียวอ่อนๆ มักปราศจากกลิ่นฉุนโดยสิ้นเชิง คงไม่ใจร้ายเกินไปนักใช่ไหมครับ ถ้าผมจะพูดว่า หากพบแต่แบบนั้น ก็เลี่ยงเสีย อย่าไปทำเมนูกะเพรากินเลยดีกว่า

ตัดภาพมาที่เมื่อเราได้กะเพราฉุนๆ เด็ดล้างจนสะอาด สรงใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำดีแล้ว ก็หาหมูสามชั้นสไลด์บางมาหั่นชิ้นใหญ่หน่อย ใช้นิดเดียวพอครับ แล้วทุบกระเทียมไทยสักหัวหนึ่ง เตรียมเต้าเจี้ยวดำ เกลือป่น กับน้ำปลาไว้เท่านั้น

ตั้งกระทะน้ำมันหมูจนร้อน ไม่ต้องใส่น้ำมันมากนะครับ เดี๋ยวผัดผักของเราจะเยิ้มแฉะเกินไป โรยเกลือป่นให้เสียงดังฉี่ฉ่า โยนหมูลงคั่วเร็วๆ ตามด้วยใบกะเพรา รีบผัดเคล้าไปมาด้วยไฟแรง หยอดเต้าเจี้ยวดำนิด เหยาะน้ำปลาหน่อย เอาให้เค็มปะแล่มๆ เป็นพอ

ขั้นตอนเหล่านี้คงกินเวลาราวๆ สองสามอึดใจ ดูว่าใบกะเพราของเราเริ่มสลด หมูเกือบๆ สุก กรอบเด้งดีแล้ว ก็รีบตักใส่จาน โรยพริกไทยดำบดใหม่ๆ สักเล็กน้อย เหมือนเวลาเราจะกินผัดผักไฟแดงนั่นแหละครับ

“กะเพราผัดหมูสามชั้น” ของเรานี้ ตักเข้าปากไปสักสองสามคำ จะเริ่มร้อนคอหน่อยๆ ทำให้อุ่นท้อง กินเพลินดีทีเดียวครับ และก็เช่นเดียวกับผัดผักกระทะเดิมๆ ที่เรารู้จัก คือถ้าไม่มีหมูสามชั้นสไลด์ ก็แทนด้วยกุ้งแห้งทอดดีๆ เนื้อปลาเค็มอินทรีเค็มทอด หมูกรอบย่างหั่นชิ้นโตๆ ปลาหมึกแห้งทอด หมูบะฉ่อ หรือจะเป็นเต้าหู้ทอดกรอบๆ ก็อร่อยทั้งนั้น

ใครชอบกลิ่นใบกะเพราฉุนๆ แต่เข็ดขยาดรสเผ็ดจัดของพริกสด เห็นจะสมใจก็คราวนี้แหละครับ เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการจันทบุรีมหานครผลไม้ ได้เชิญ ศ.ดร.ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr.Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University, Jerusalem, Israel) นักวิจัยอาคันตุกะของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของงานวิจัย “เรื่องสารแอนติออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต” โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ใช้เวลาลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนของไทยมาเกือบ 10 ปีแล้ว และผลงานวิจัยได้ถูกนำมาเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

โดยเนื้อหาของงานวิจัยพอสรุปได้ว่า เริ่มแรกงานวิจัยนี้ทำการเปรียบเทียบทุเรียนจากสวนจังหวัดจันทบุรีจำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เพื่อต้องการศึกษาปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์ (antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เมืองร้อน : ซึ่งมีประโยชน์ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดชนิด LDL สามารถป้องกันเส้นเลือดอุดตันที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการทดลองพบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงกว่าพันธุ์ก้านยาวและชะนี จึงทำการทดลองต่อไปว่า ระยะความสุกระดับใดจะให้สารแอนติออกซิแดนต์สูงสุด พบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดีมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงและช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

เมื่อเปรียบเทียบกับยังไม่สุก (ดิบห่าม) และสุกเกินไป (ปลาร้า) จึงนำมาเลี้ยงกับหนูทดลองได้ผลสรุปว่า หมอนทองที่สุกพอดีลดค่าคอเลสเตอรอล LDL ได้สูงสุด และตรงกับผลการทดลองในห้องแล็บ นอกจากนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (fibrinogen) ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และมีสารเควอร์ซิติน (quercetin) ในปริมาณสูง สามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ และมะเร็งได้”

“สรุปได้ว่าลักษณะสำคัญ คุณลักษณะพิเศษของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง คือ มีสารแอนติออกซิแดนต์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีสารโปรตีนพิเศษเควอร์ซิตินที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน

รศ.ดร.รติพรกล่าวว่า หากมีการนำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ เพราะในงานวิจัยพบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทองไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นโอกาสดีหากมีการต่อยอดทดลองกับผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากได้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง

ด้าน รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ ดร.ชีล่า โครินสไตน์ สนใจทำงานวิจัยนี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากเงินกองทุนจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ถ้าเป็นการทำงานวิจัยโดยทั่ว ๆ ไปต้องใช้วงเงินมหาศาลและหานักวิจัยที่เก่งจริงมาทำยากมาก เพราะแม้กระทั่งห้องปฏิบัติการที่จะทำในสัตว์ทดลองได้จะต้องมีใบรับรอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ งานนี้ต้องไปใช้ห้องแล็บถึงมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ดร.ชีล่ามีเครือข่ายงานวิจัยนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตรไทยแลนด์ 4.0 หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการทำวิจัยต่อยอดให้สำเร็จ นำไปใช้ประโยชน์กับคนได้จริง จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมกับยุทธศาสตร์ที่ให้จันทบุรีเป็นเมืองมหานครผลไม้

“อนาคตพื้นที่ปลูกทุเรียนมีทั้งในไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปริมาณทุเรียนในตลาดจำนวนมหาศาลจะนำข้อมูลอะไรไปบอกผู้บริโภคในตลาดโลกว่า ควรบริโภคทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากไทย หรือเจาะลึกว่าต้องเป็นทุเรียนหมอนทองของ จ.จันทบุรี หากมีการวิจัยต่อยอดงานนี้ให้ได้คำตอบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีคุณภาพที่เหมาะกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ แตกต่างจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกทั่ว ๆ ไป นั่นคือความยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะได้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหมุนเวียนกันเช่นอดีตที่ผ่านมา”

ด้าน ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้มีประโยชน์มากและเหมาะกับโอกาสที่เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดทุเรียน เป็นจุดขายทำให้ทุเรียนหมอนทองไทยแข่งขันกับทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียได้ เพราะมูซังคิงเป็นทุเรียนที่สุกเกินพอดี นอกจากนี้ ผลวิจัยเรื่องผลไม้เมืองร้อนยังเป็นประโยชน์กับแพทย์แผนโบราณ ด้านเภสัชกรรม แต่น่าเสียดายที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก มหาวิทยาลัยบูรพากำลังทำข้อมูลให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ทั้งภาคภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หากได้ต่อยอดจะทำให้นำผลวิจัยออกไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

นายปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย อดีตประธานกรรมการหอการค้าภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กระแสทุเรียนฟีเวอร์ทำให้เกษตรกรหลงทางเสาะหาทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือพันธุ์แปลก ๆ มาปลูก ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่การสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่งานวิจัยทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยว่ามีลักษณะพิเศษทั้งสารแอนติออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระและสารพิเศษที่มีโปรตีน ภาครัฐควรให้ความสำคัญสนับสนุนงบประมาณไปต่อยอดให้งานวิจัยมีผลกับผู้บริโภค นั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถตอบคำถามให้ผู้บริโภคทุเรียนในตลาดโลกได้ว่า ทำไมต้องรับประทานทุเรียนหมอนทองไทย นั่นคือจุดขายที่สุดยอด ซึ่งจะทำให้การปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยยั่งยืน โดยเฉพาะกับจังหวัดจันทบุรีที่ยุทธศาสตร์ของประเทศปั้นให้เป็นเมืองมหานครผลไม้

เมื่อเวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียราย ได้ตรวจวัดระดับน้ำตรงบริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว พบว่ามีความลึกประมาณ 6.98 เมตร ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ที่ลึกประมาณ 6.30 เมตร ขณะที่สถานการณ์ริมฝั่งพบว่าน้ำได้เข้าท่วมบริเวณจุดผ่อนปรนแจมป๋อง บ้านแจม หมู่ 5 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จนเอ่อล้นเข้าท่วมอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งอยู่ทางเข้าออกท่าเรือและทำให้ต้องย้ายขึ้นมาทำงานกันด้านบน

ส่วนที่จุดผ่อนปรนบ้านหาดบ้าย หมู่ 1 ต.ริมโขง อ.เชียงของ ก็ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งที่เป็นท่าเรือทำให้ผู้สัญจรไปมาและเคยมีการสร้างอาคารชั่วคราวไว้ใกล้ท่าเรือต้องขนย้ายข้าวของขึ้นมาให้ห่างจากฝั่ง ขณะที่บริเวณผาถ่านซึ่งมีโขดหินสีดำปรากฎให้เห็นและเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผาถ่านพบว่าน้ำได้ท่วมจนเห็นแต่ศาลเหนือโขดหินที่อยู่เหนือน้ำเท่านั้น นอกจากนี้พบว่าพื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่งซึ่งมักปลูกข้าวโพดและข้าวไร่ ตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ตลอดแนวถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง บ้านเรือนที่อยู่ในที่ลุ่มต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำขณะที่สภาพอากาศยังคงมีฝนโปรยลงมาเกือบตลอดทั้งวันและท้องฟ้ายังคงมืดครึ้ม

นายสุรนาท ศิริโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่าระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากฝนที่ตกลงมาเหนือน้ำ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีทราบว่าปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงได้ลดลงแล้ว โดยวานนี้มีฝนตกในระดับประมาณ 40 มิลลิเมตร ก็ได้ลดลงเหลือเพียงแค่ 5 มิลลิเมตรเท่านั้นทำให้หาดว่ามวลน้ำนี้หมดไปและเมื่อไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมระดับน้ำก็คงจะลดลงสู่ภาวะปกติ กระนั้นก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางอำเภอ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ฯลฯ ให้เฝ้าระวังร่วมกันแล้ว

ด้านนายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ได้เรียกประชุมผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านกำนันและฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยริมฝั่งดังกล่าวแล้วหลังน้ำโขงในพื้นที่มีระดับน้ำสูงถึง 7 เมตร จากเดิมที่มีระดับเพียง 3-4 เมตร ขณะที่จุดวิกฤตอยู่ที่ประมาณ 10-11 เมตร โดยได้กำหนดแผนเฝ้าระวังเป็น 3 พื้นที่คือ พื้นที่หมู่บ้านริมฝั่งที่อาจประสบกับน้ำที่ขึ้นสูงแบบฉับพลันจึงให้พร้อมเคลื่อนย้ายออกจากบ้านเรือนได้อย่างรวดเร็ว พืนที่ติดภูเขาให้ระมัดเรื่องดินไถลหรือสไลด์ทับ และพื้นที่ติดลำห้วยหรือแหล่งน้ำภายในให้เฝ้าระวังเรื่องน้ำไหลหลาก โดยปัจจัยที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีมากคือฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องและการปล่อยเขื่อนจิ่งหงที่ประเทศจีน ซึ่งทางอำเภอก็ได้ประสานงานกับทางกรมเจ้าท่าอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าดูปริมาณน้ำแล้ว

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 กรกฎาคม 2561 น.ส. เยาวนิตย์ บุรีรักษา ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วย ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สกลนคร เจ้าหน้าที่ออกไปช่วยเหลือด้านเสบียงอาหารสัตว์และตั้งจุดอพยพสัตว์ ให้แก่พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ที่จุดอพยพสัตว์ บ้านท่าสาวคอย ม. 4 ต. เชียงสือ อ. โพนนาแก้ว จ. สกลนคร ประกอบด้วย หญ้าแห้งอัดฟ่อน 800 ฟ่อน หญ้าหมักและข้าวโพดหมัก ให้เกษตรกร 114 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ โค จำนวน 272 ตัว กระบือ 38 ตัว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเวชภัณฑ์ อาหารเสริม และยารักษาสัตว์ในสัตว์ปีก