เลือกระบบน้ำตามสภาพแวดล้อมที่ให้พริกไทยได้รับน้ำ

อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง การให้น้ำแบบร่อง ต้องปรับพื้นที่ให้เรียบและมีความลาดเท การใช้มินิสปริงเกลอร์ เป็นวิธีที่ประหยัดน้ำกว่า ระยะเวลาการให้น้ำ หลังปลูกควรรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน ต่อครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรให้ 3-4 วัน ต่อครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ

ในฤดูแล้งอาจประหยัดการให้น้ำโดยการคลุมดินในแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แต่ในฤดูฝนไม่ควรคลุมดินจนชิดโคนต้น ควรเว้นห่างเพื่อไม่ให้โคนต้นชื้นแฉะเกินไป และเกิดโรค เตรียมให้น้ำระบายออกจากแปลงปลูกอย่างรวดเร็ว และขณะดินชื้นแฉะไม่ควรเหยียบย่ำในแปลง จะทำให้ดินแน่นทึบ รากเสียหายได้

การขึ้นค้าง
หลังจากปลูกพริกไทยได้ประมาณ 30-50 วัน พริกไทยจะเริ่มแตกยอดอ่อน ให้เลือกยอดอ่อนที่สมบูรณ์ไว้ต้นละประมาณ 3 ยอด ที่เหลือตัดทิ้งไป จัดยอดให้เรียงขนานขึ้นรอบค้าง อย่าให้ยอดทับกัน เพราะจะทำให้ได้ทรงพุ่มที่ไม่ดี ใช้เชือกฟางผูกยอด ให้แนบติดกับค้าง โดยผูกข้อเว้นข้อ ผูกยอดจนกระทั่งยอดท่วมค้าง ใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือน
กรณีที่ต้องการเลี้ยงเถาเพื่อใช้ทำพันธุ์ขยายพื้นที่ปลูกในปีต่อไป หรือเพื่อจำหน่ายยอดคืนทุน เมื่อพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน เมื่อพริกไทยแตกยอด จัดยอดขึ้นค้างเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง

ลุงแดงมุงซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ให้แปลงปลูกพริกไทยใน 1 ปีแรก โดยอธิบายว่า ปัจจุบันอากาศบ้านเราร้อนมาก การปลูกพริกไทยจึงมีต้นทุนเพิ่ม คือต้องมุงซาแรน เพื่อช่วยพรางแสงให้ เพื่อลดความร้อนจากแสงแดดให้ต้นพริกไทยและรักษาความชื้นแต่หลังจากที่ต้นพริกไทยปลูกไปได้สัก 1 ปี ก็จะรื้อซาแรนพรางแสงออกไป เพราะพริกไทยสามารถปรับสภาพได้ และทรงพุ่มสูงถึงยอดเสาปูนซึ่งจะมีร่มเงาขึ้นมาทดแทน

การขายผลผลิต
ลุงแดง เล่าว่า ตอนนี้พริกไทยสดไม่พอขาย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่สั่งเข้ามา ยังมารวมถึงออเดอร์จากบริษัทที่เข้ามาติดต่อที่ต้องการให้จัดส่งวันละหลายๆ ตัน ให้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 95 บาท
“แต่เราคือ ที่ไร่กับเพื่อนเกษตรกรที่เริ่มปลูกยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนได้มากขนาดนั้น ตอนนี้ขายแค่พ่อค้าหลายๆ เจ้า ก็ไม่เพียงพอ เราต้องจัดสรรแบ่งให้พ่อค้า โดยพยายามไม่ผูกมัดผูกขาดกับพ่อค้าเพียงเจ้าเดียว พ่อค้าบางเจ้าถึงกับช่วยออกค่าเก็บให้เจ้าของไร่เลยทีเดียว อย่างเช่น ให้ค่าเก็บ กิโลกรัมละ 10 บาท ก็เงินค่าเก็บทั้งเจ้าของไร่และคนงานทีเดียว”
“ราคาก็มีขึ้นลง อย่างหน้าแล้งหรือหน้าร้อนที่ราคาแพง กิโลกรัมละ 250-280 บาท หรือช่วงเวลาถูก คือราวๆ ช่วงหลังเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ที่พริกไทยออกเยอะ เป็นช่วงฤดูของพริกไทย ก็เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-80 บาท แล้วราคาจะมาขยับสูงขึ้นอีกก็หลักร้อยบาทขึ้นไปในช่วงหน้าหนาว คือราวเดือนธันวาคมเป็นต้นไป”

ลุงแดง อธิบายเพิ่มว่า พริกไทยเป็นพืชที่ออกดอกติดผลแบบทะวายออกเกือบทั้งปี เฉลี่ยจะออกดอกติดผลราวๆ 5-6 รุ่น จะออกดอกต่อเมื่อมีการแตกยอดใหม่ แล้วหลังออกดอกได้สัก 1 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ หรือถ้าราคาไม่ดี เกษตรกรก็สามารถดึงเวลาไม่เก็บออกจากต้นก็ได้ พริกไทยสามารถอยู่บนต้นได้ 2-3 เดือน ทีเดียว แถมยิ่งเก็บช้าน้ำหนักก็ยิ่งดีด้วย
ถือเป็นข้อดีอีกอย่างของการปลูกพริกไทย เกษตรกรรอราคาที่พอใจก็จะเก็บได้ การขายลุงแดงจะขายแบบรวม ไม่คัดแยกเกรด ซึ่งพ่อค้าก็จะเอาไปคัดแยกเกรด เช่น ช่อยาว ช่อตรง เม็ดเต็มช่อ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
แต่สำหรับเกษตรกรจะขายแบบคละรวมจะดีกว่า หนึ่งลดขั้นตอน ผลผลิตถูกรับซื้อไปทั้งหมด

ระยะนี้จะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรเฝ้าระวังการระบาดของโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า มักพบโรคในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต จะพบแสดงอาการเริ่มแรกที่กิ่งอ่อนหรือผลอ่อนมีจุดสีเหลือง จากนั้นพัฒนาเป็นตุ่มนูนเล็กสีน้ำตาล คล้ายสีสนิมเหล็ก บางครั้งพบแผลสีเหลืองฉ่ำน้ำ หากอาการรุนแรงแผลจะเน่า ถ้าเป็นที่กิ่งจะทำให้เนื้อเยื่อตรงแผลหลุดเห็นเป็นรูหรือเว้าแหว่ง สำหรับผลที่มีอาการรุนแรง จะทำให้กลีบผลไหม้แห้งเป็นสีดำ และผลเน่าในที่สุด

สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า ให้เกษตรกรเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปลอดโรค และควรลดการให้ปุ๋ยไนโตรเจน เพราะแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ อาจทำให้พืชอ่อนแอเกิดการระบาดมากขึ้น จากนั้น ให้หมั่นสำรวจทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคใต้ต้นออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

หลีกเลี่ยงการตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคของพืชทำให้เกิดแผลน้อยที่สุด ซึ่งแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายพืชได้ง่าย อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ เกษตรกรควรให้น้ำแก้วมังกรเฉพาะในช่วงเช้า หลีกเลี่ยงการให้น้ำในช่วงบ่ายหรือเย็น เพื่อช่วยลดการสะสมความชื้นในทรงต้นไม่ให้มีมากเกินไป กรณีระบาดมาก หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้วให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20% + 12.5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วต้น 2 ครั้ง ทุก 5-7 วัน ในระยะติดดอกพ่นอีก 2 ครั้ง ทุก 7 วัน และให้หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตแก้วมังกรอย่างน้อย 15 วัน

เกษตรฯ Kick Off โครงการ แพะ-แกะ ล้านนา ประเดิม จ. ลำปาง ดันเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง พัฒนาแพะให้ตรงตามความต้องการตลาด ส่งเสริมอาชีพหลังน้ำลด

วันที่15 กันยายน 62 นายประภัตร โพธสุธน รมช. เกษตรฯ เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนโครงการ แพะ-แกะ ล้านนา ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ” พร้อมกับมอบป้ายอนุมัติเงินกู้ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แก่ตัวแทนกลุ่มเกษตรจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขาย แพะ ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ-แกะ ตามโครงการฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ บริษัท เอ วาย เค มัทเทิน จำกัด โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จ.ลำปาง

ทั้งนี้ นายประภัตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวเป็นองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมอาชีพ ด้านแพะ-แกะ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จึงได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ แพะ-แกะ ล้านนา ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง กลุ่มเกษตรกร รวม 22 กลุ่ม เกษตรกรรวม 220 ราย วงเงินอนุมัติรวม 44 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถเริ่มอาชีพการเลี้ยงแพะ หรือพัฒนาการเลี้ยงแพะให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ สร้างรายได้แก่เกษตรกรตลอดปี จนสามารถทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวได้ ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่อาจประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง

ที่ผ่านมานายกฯ ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยให้เข้าไปให้ส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีเงินใช้ภายใน 120 วัน ซึ่งแพะ-แกะ เป็นสัตว์ที่มีโอกาสสร้างรายได้สูง เพราะลงทุนน้อย ผลตอบแทนไว และเลี้ยงง่าย จึงยินดีสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้

อย่างไรก็ตาม จากการรายงาน พบว่า ในปี 2562 มีจำนวนแพะในประเทศไทยทั้งสิ้น 832,533 ตัว (แพะเนื้อ 803,768 ตัว แพะนม 28,765 ตัว) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 65,850 ครัวเรือน โดยในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด สมาชิกเกษตรกรเลี้ยงแพะ 7,551 ราย สภาพการเลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สามารถผลิตและส่งออกแพะเนื้อบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแพะเนื้อ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ตลาดมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพราะราคาดี ต้นทุนต่ำ

ขณะที่ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเพื่อมุ่งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมและผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้การเลี้ยงแพะ ตลอดจนการพัฒนาแพะด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการเลี้ยงในอนาคต และแนวทางในการดำเนินโครงการ แพะ-แกะ ล้านนา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้การเลี้ยงแพะของเกษตรกรภายใต้โครงการมีความยั่งยืน โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ฐานการเรียนรู้ ด้านพันธุ์แพะ ด้านอาหารสัตว์ ด้านผสมเทียม และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิต พร้อมมอบเอกสารคู่มือการเลี้ยงแพะ จำนวน 1,000 เล่ม แก่เกษตรกร และผู้สนใจ นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายแนวทางการดำเนินงานโครงการแพะ–แกะ ล้านนา โดยเจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

และเพื่อให้การบริหารโครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน กรมปศุสัตว์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการแพะ-แกะ ล้านนา พื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 และตั้งคณะกรรมการโครงการแพะ-แกะ ล้านนา ระดับจังหวัด จำนวน 3 จังหวัด เพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ในด้านต่างๆ เช่น ด้านปรับปรุงพันธุ์แพะ ด้านพืชอาหารสัตว์ และอาหารแพะ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านผสมเทียม และเทคโนโลยีชีวภาพ และด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ด้วย

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ รับมอบรางวัลเลิศรัฐ หรือรางวัลบริการภาครัฐ ประจำปี 2562 จาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดขึ้นและพิจารณาตัดสินมอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรและเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดย วว. ได้รับการพิจารณาให้รับ “รางวัลระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ” จำนวน 2 รางวัล จากการดำเนินงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร โอกาสนี้ ผู้บริหาร พนักงาน วว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. มุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีอาหารแปรรูปของ SMEs ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อาหารแปรรูปอย่างครบวงจร เช่น การรับรองระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทุกระบบ การวิเคราะห์คุณภาพของอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น โดยมีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ คือ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นการรองรับผลผลิตการวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตผลิตผลจากงานวิจัยเป็นสินค้าสำหรับทดลองตลาด ให้ประชาชนบริโภคและสามารถนำไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหารแปรรูป พัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการ การยกระดับการผลิตในเชิงวิศวกรรมสู่ระดับโรงงานนำทาง (Pilot scale) และระดับอุตสาหกรรม (Commercial scale) โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานโรงงานนำทางด้านการแปรรูปอาหารที่มีโรงเรือนและเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปดำเนินการทางการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี (โซนโรงงานอุตสาหกรรม) และบริเวณพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมทางด้านอาหารแปรรูป เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีจำนวนโรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 416 โรงงานจาก 3,645 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 11.41 มูลค่าเงินลงทุน 47.7 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มในระดับ OTOP ของจังหวัดปทุมธานี จำนวนมากกว่า 600 ราย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี โดยให้บริการกับผู้ประกอบการสำหรับทดลองผลิตสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการเพิ่งจะเริ่มต้นกิจการ หรือในระยะรอการสร้างโรงงานของผู้ประกอบการ หรืออยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน

ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร วว. ว่า มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายข้อ 1 ขจัดความยากจน “No Poverty” และเป้าหมายข้อ 9 สร้างนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน “Innovation and Infrastructure” โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเติบโตอย่างเข้มแข็งสร้างรายได้ ลดความยากจน ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของตำบลและพื้นที่ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่

บริการใหม่ และเกิดคุณค่าใหม่ รวมถึงให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร ทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-based Ecosystem) โดยการปรับสมดุลระหว่างคน ธรรมชาติท้องถิ่น และเทคโนโลยี สร้างความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรได้ด้วยตนเองในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นแนวทางสู่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรม

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เตรียมร่วมมือกับ FastShip ผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในการเพิ่มช่องทางการส่งสินค้าจากไทยสู่ต่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ Thaitrade.com SOOK (Small Order OK) เพื่อให้สามารถส่งสินค้าตรงถึงมือผู้ซื้อทั่วโลกแบบทันใจ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างหารือกับบริษัท ‘FastShip’ ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับบริษัท Logistic ระหว่างประเทศชั้นนำ อาทิ UPS, Aramex, DHL E-commerce และ FedEx ในการเพิ่มช่องทางการส่งสินค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกผู้ขายบน Thaitrade.com SOOK แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าไทยคุณภาพในรูปแบบค้าปลีก (B2C) ข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อเปรียบเทียบกับราคาปกติและจะมีบริการอำนวยความสะดวกในการไปรับสินค้าถึงบ้านพร้อมจุดดรอปสินค้าเกือบ 1,000 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ Customer Support คอยช่วยตอบปัญหาหรือสงสัยต่างๆ เรื่องการขนส่งสินค้าอีกด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันเว็บไซต์ Thaitrade.com SOOK รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เดบิต และPayPal รวมทั้งการส่งสินค้าด่วนผ่านบริการ EMS World ของไปรษณีย์ไทยและ DHL Express ที่มอบส่วนลดสูงสุด 30%

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสามารถสมัครเป็นสมาชิกผู้ขายบน Thaitrade.com SOOK เพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ และติดตามข่าวสารได้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ชูความสำเร็จแก้ปัญหาตกเขียวกาแฟอาราบิก้า หนุนชาวเขามูเซอรวมกลุ่มตั้งสหกรณ์ ผลิตกาแฟคุณภาพภายใต้แบรนด์ “ปางม่วง โค-อ๊อฟ ค๊อฟฟี่” รับรางวัลเลิศรัฐสาขาพัฒนาการบริการจากสำนักงาน ก.พ.ร. ปี 2562

กรมส่งเสริมสหกรณ์ชูความสำเร็จแก้ไขปัญหาตกเขียวกาแฟให้ชาวเขาเผ่ามูเซอในจังหวัดลำปาง รวมกลุ่มตั้งสหกรณ์ผลิตกาแฟคุณภาพ พร้อมแปรรูปเป็นกาแฟคั่วสดและบดผงจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ปางม่วง โค-อ๊อฟ ค๊อฟฟี่” สร้างรายได้ สู่ชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จนได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานที่พัฒนาการบริการดีเด่นจากสำนักงาน ก.พ.ร. ขึ้นเวทีรับโล่รางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทรางวัลพัฒนาการบริการ ระดับดี จากผลงาน “อาราบิก้าตกเขียว สู่แบรนด์ ปางม่วง โค-อ๊อฟ ค๊อฟฟี่” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ และได้เข้ารับโล่รางวัลจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี

ซึ่งการได้รับรางวัลครั้งนี้ถือเป็นการเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ที่ได้มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือชาวเขาเผ่ามูเซอที่อาศัยอยู่ บ้านปางม่วง อำเภอเมืองปาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ เนื่องจากรายได้หลักมาจากการขายผลผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าแบบผลสดและกาแฟกะลาให้แก่พ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ลักษณะตกเขียว เกษตรกรต้องกู้เงินหรือนำปัจจัยการผลิตจากพ่อค้าไปลงทุน เมื่อกาแฟสุกและเก็บเกี่ยวได้ จึงนำมาขายให้พ่อค้าเพื่อชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรไม่มีโอกาสต่อรองเรื่องราคา รายได้จึงไม่เพียงพอใช้จ่ายในครัวเรือนและมีหนี้สินพอกพูน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ต่อมาในปี 2557 กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ได้รับมอบภารกิจให้เข้าไปดูแลชุมชนพื้นที่ราบสูงบ้านปางม่วง ต่อจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงได้วางกรอบการพัฒนาโดยนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการพัฒนาชาวมูเซอบ้านปางม่วงอย่างเป็นลำดับขั้นตอน สร้างพื้นฐานให้คนในชุมชนได้มีพอกินพอใช้ และใช้หลักการระเบิดจากข้างใน เตรียมชุมชนให้พร้อมก่อนจะออกไปติดต่อสัมพันธ์กับภายนอก

จึงได้เริ่มแนะนำให้ชาวบ้านรู้จักการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกันในชุมชน และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ และจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปางม่วง จำกัด เพื่อเป็นองค์กรหลักของชุมชน ดูแลเรื่องอาชีพ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตกาแฟอาราบิก้าซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการเรื่องการปลูกกาแฟเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP สนับสนุนทั้งเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือการแปรรูปกาแฟ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสนับสนุนเงินทุนให้ชาวบ้านนำไปปรับปรุงสวนกาแฟเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสหกรณ์ได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก

ปัจจุบัน ชุมชนบ้านปางม่วง มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 560 ไร่ ผลผลิต 300 ตัน ต่อปี เป็นกาแฟที่มีคุณภาพ มีกลิ่นหอม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าระดับน้ำทะเล 900 เมตร มีอุณหภูมิเย็นตลอดทั้งปี ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านปางม่วงรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ สามารถลดต้นทุนการผลิตกาแฟให้กับสมาชิกและช่วยแก้ไขปัญหาการกู้หนี้นอกระบบเพื่อนำมาลงทุนประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน ผลผลิตกาแฟขายได้ราคาสูงขึ้น จากเดิมที่เคยขายกาแฟผลสดให้พ่อค้ากิโลกรัมละ 15 บาท

ปัจจุบันสหกรณ์เป็นผู้รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกมาแปรรูปเป็นกาแฟคั่วเม็ดบรรจุถุง ภายใต้ตรา “ปางม่วง โค-อ๊อฟ ค๊อฟฟี่” ส่งขายให้ร้านกาแฟสดและบดเป็นผงจำหน่ายให้ผู้บริโภคนำไปชงดื่ม สามารถเพิ่มมูลค่ากาแฟได้สูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท และสร้างตราสินค้าท้องถิ่นของชุมชนจนเป็นที่ยอมรับ ชุมชนบ้านปางม่วงนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้วิธีการสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสพัฒนาอาชีพให้มีรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายให้หน่วยงานระดับภูมิภาคใช้กลไกสหกรณ์เข้าไปช่วยเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแต่ละพื้นที่ ให้มีความอยู่ดีกินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศต่อไป

17 กันยายน 2562 –นางวรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตร ( TAITA : ไททา) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง และอุทกภัย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน กระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และอ้อย ให้ปรับตัวลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเกษตร ปี 2562 จากครึ่งแรกของปีนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาระบุว่า การเติบโตในภาคการเกษตรกรรมชะลอตัวลง 0.4 % ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับการขยายตัว 1.7 % ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561