เล่าว่าต้นอ่อนทานตะวันปลูกง่าย นำไปประกอบอาหารกลางวันให้

นักเรียนและจำหน่าย ขายไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง มีรายได้เข้ากองทุนรวม 1,060 บาท น้องเต้ย ถ่ายทอดขั้นตอนการปลูกต้นอ่อนทานตะวันว่า นำเมล็ดพันธุ์ไปล้างให้สะอาด แล้วนำผ้ามาห่อแช่น้ำไว้ 1 คืน บ่มเมล็ดไว้อีก 1 คืน เมื่อครบกำหนดที่เมล็ดจะมีตุ่มขาวๆ ขึ้น นำไปลงปลูกได้ ขั้นตอนการเตรียมดิน จะมีส่วนผสม 3 อย่าง คือ ดินปลูกร่อนละเอียด ขุยมะพร้าวละเอียด และน้ำหมักหน่อกล้วย ผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตักใส่ตะกร้า ให้ดินที่ผสมหนาประมาณ 1 นิ้ว โรยเมล็ดทานตะวันให้ทั่วตะกร้า โรยดินกลบเมล็ด รดน้ำให้ชุ่มทั้งเช้าและเย็น รอครบกำหนด 7 วัน สามารถตัดได้

ด้าน น้องฮาร์ท ด.ช. ธนพล พึ่งโพธิ์ เล่าเสริมว่า ในการเพาะต้นอ่อนทานตะวันแต่ละครั้งจะใช้เมล็ดทานตะวัน 500 กรัม สามารถผลิตต้นอ่อนทานตะวันได้ 3 กิโลกรัม นำไปขายมีรายได้ 400 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิต จะมีกำไรถึง 315 บาท ต่อครั้ง ที่จำหน่าย จากการเรียนรู้การเพาะต้นอ่อนทานตะวันนำกลับไปทำเองที่บ้าน พ่อและแม่ช่วยเอาไปขาย มีรายได้ช่วยค่าใช้จ่ายของที่บ้าน แม้จะไม่มากมายแต่ภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือครอบครัว

น้องเล็กสุด ด.ช. ศุภณัฐ ปานฤทธิ์ หรือ น้องปั๊บ กล่าวว่า ดีใจที่ช่วยกันผลิตอาหารได้เอง ทำได้เองทุกขั้นตอน คุณครูยังมอบหมายให้น้องปั๊บถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้ให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนด้วย

“กิจกรรมเพาะต้นอ่อนทานตะวัน” ไม่ได้เกิดผลแค่เพียงการส่งเสริมรายได้ แต่เป็นการปลูกฝังวินัย ความรับผิดชอบ รู้จักการทำงานร่วมกัน และเป็นความพยายามของโรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เห็นความสำคัญของการให้เด็กมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์จริง เรียนรู้ด้านการเกษตรที่เป็นพื้นฐาน เติมทักษะชีวิตเพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพ

วันที่ 21 มีนาคม ที่จังหวัดอุทัยธานี เริ่มมีประชาชนหันมาพลิกชีวิตจากพนักงานโรงงาน กลุ่มลูกจ้างแรงงาน กลับมาใช้ชีวิตตามหลักความเป็นอยู่ตามพื้นถิ่นของตัวเอง โดยเฉพาะการมาเป็นเกษตรกร ที่ปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนและประชาชนเริ่มมีการสนใจในเรื่องของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามความชอบของตนเอง จนสามารถเป็นธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กที่สามารถเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน

โดย นายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ลงพื้นที่บ้านของ นายธิติ เอี่ยมฉวี อายุ 31 ปี บ้านเลขที่ 123/3 ถ.รักการดี ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี หลังทราบว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่ สนใจทำการเกษตรเพาะเห็ดถังเช่า จนสามารถขายหารายได้เสริมจากงานประจำ โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี 4.0 มาช่วยในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ให้เป็นอย่างดี

นายธิติ เอี่ยมฉวี เจ้าของฟาร์มเห็ด สุดยอดฟาร์ม เล่าว่า ปัจจุบัน ตนได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานฝ่ายผลิตแท่นก๊าซธรรมชาติ และเกิดความคิดอยากหารายได้เสริม จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะเห็ด เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย โดยครั้งแรกได้เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดนางฟ้า แต่พบว่า เห็ดนางฟ้านั้นต้องดูแลอย่างจริงจัง ต้องมีเวลา ทั้งเช้าและเย็น แต่ด้วยตนเองนั้นมีงานประจำอยู่แล้ว จึงทำให้ตนเองนั้นไม่มีเวลาดูแลเห็ดนางฟ้าได้เพียงพอ จึงได้ทดลองเปลี่ยนเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า เห็ดถังเช่า ที่หลังจากศึกษาข้อมูลของเห็ดชนิดนี้แล้ว พบว่า เพาะเห็ดแค่ครั้งเดียว และดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพียง 75 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ และด้วยราคาตามท้องตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีคนทำน้อยและกำลังเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ ตนจึงมองเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางเสริมรายได้ ให้เป็นอย่างดี

โดยเริ่มจากเพาะเชื้อเห็ดในตู้เย็นเล็กๆ ลองผิด ลองถูก มาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถขยายเป็นห้อง ขนาด 4 × 4.5 เมตร และได้ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต โดยส่วนใหญ่ได้ออกแบบและติดตั้งเอง ทั้งระบบระบายอากาศ ฟอกอากาศ แสงสว่าง ความชื้น ความเย็น และกล้องวงจรปิด ซึ่งทั้งหมดได้ควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว สามารถควบคุมและสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเห็ดถังเช่าได้ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แม้ทำงานอยู่กลางทะเลก็สามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างได้

ปัจจุบัน ได้เพาะเห็ดประมาณเดือนละ 300 ขวด ซึ่งหลังจากอบแห้งแล้ว จะได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อว่า TOP ซึ่งได้รับการรับรองผ่านมาตรฐาน อย. โดยหลังจากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว จะส่งขายตามท้องตลาดทั้งขายหน้าร้านและขายออนไลน์ สามารถสร้างรายได้กว่า 40,000 บาท ต่อครั้งการผลิต หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเฉลี่ยประมาณ 10,000- 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับตนได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ผลักดันให้เกษตรดังกล่าว ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ข้าว หนอนไหม เป็นอาหารเสริมในกระบวนการเพาะเห็ด และจะเขื่อมโยงเข้าสู่ระบบ Packing ตามมาตรฐาน GMP ที่มีอยู่ในจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการแปรรูปได้ เนื่องจากปัจจุบันต้องส่งไปบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งไกลจากจังหวัดอุทัยธานี จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังส่งเสริมหาช่องทางการตลาด ในกิจกรรมการออกบู๊ธในงานต่างๆของจังหวัด ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นด้วย

วันที่ 21 มีนาคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกองบิน 1 จ.นครราชสีมา นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนบินปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตร และภารกิจในการเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 2 แห่ง ได้แก่ ที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา และมีฐานเติมสารฝนหลวงเพิ่มขึ้นอีก 1 ฐาน ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด การปฏิบัติการฝนหลวงนอกจากจะเพิ่มความชุ่มชื้นกับป่าไม้ ยังเป็นการเติมน้ำให้เขื่อนหลักทั้ง 12 เขื่อนด้วย โดยเฉพาะเขื่อนหลัก 5 แห่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจากผลปฏิบัติการฝนหลวง ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 ทำให้ขณะนี้เริ่มมีน้ำไหลลงเขื่อนบ้างแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 5 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา รายงานว่า น้ำในเขื่อนทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 55% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำกักเก็บทั้งหมด 118 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 76% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนมูลบน อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำกักเก็บทั้งหมด 89 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บทั้งหมด 142 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 52% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 77% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้านลูกบาศก์เมตร

โฆษกกระทรวงแรงงาน เผย เว็บไซต์ “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ประกาศเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ใหม่ ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้าง มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์ “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ประกาศเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา และมีมติเห็นชอบให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 31 ต.ค. 2559

ข้อ 2 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบบาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

ข้อ 3 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบห้าบาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ข้อ 4 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

ข้อ 5 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

ข้อ 6 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

ข้อ 7 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยสิบบาท ในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีษะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

ข้อ 8 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละสามร้อยแปดบาท ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ข้อ 9 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 8 คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม

(1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)

ข้อ 10 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ข้อ 11 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะช่วยทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศมีผลใช้บังคับแล้ว กระทรวงแรงงานจะกำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป” นางเพชรรัตน์ กล่าว

เบทาโกร ชวนคนไทยบริโภคไข่ไก่ BETAGRO Cage Free Eggs ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงแม่ไก่ไข่ นอกกรง ด้วยระบบ เคจ ฟรี (Cage Free) ยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ แม่ไก่ไข่ในฟาร์มมีความสุข กินดี อยู่สบาย ส่งผลดีต่อคุณภาพไข่ไก่และส่งต่อสุขภาพที่ดีให้ถึงมือผู้บริโภค

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปี ในการดำเนินธุรกิจ เครือเบทาโกรให้ความสำคัญเรื่อง “สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)” เป็นความรับผิดชอบให้สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขอนามัย หรือ “ความสุขกาย สบายใจของสัตว์” ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedoms) ได้แก่ กินอิ่ม สารอาหารครบถ้วน มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอิสระในการเคลื่อนไหว อารมณ์ดีไม่เครียด และได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงที่มีสวัสดิภาพที่ดี เบทาโกรจึงได้ออกแบบการเลี้ยงแม่ไก่ไข่แบบนอกกรง หรือ เคจ ฟรี (Cage Free) ถือเป็นการเลี้ยงแบบสวัสดิภาพสัตว์ที่เป็นที่ยอมรับของสากล

การเลี้ยงแม่ไก่ไข่แบบนอกกรง แม่ไก่ไข่สามารถดำรงชีวิตแบบอิสระในพื้นที่อย่างเพียงพอ ในโรงเรือนระบบปิดขนาดใหญ่ที่ควบคุมอุณหภูมิและการระบายอากาศให้เหมาะสมตลอดเวลา แม่ไก่ไข่สามารถสร้างรังเพื่อออกไข่ มีคอน (perch) สำหรับเกาะเพื่อพักผ่อน มีวัสดุปูรองเพื่อใช้สำหรับคุ้ยเขี่ยและทำความสะอาดตัวเอง การจัดสภาพแวดล้อมให้ถูกหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมให้แม่ไก่ไข่แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ รวมถึงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) เพื่อป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม ทำให้เราได้แม่ไก่ไข่ที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้ไข่ไก่มีคุณภาพที่ดี เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และมากกว่านั้นคือ ความใส่ใจถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เครือเบทาโกร มีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการริเริ่มหลากหลายโครงการที่ยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงและการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีคุณธรรม ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2558 ร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นรายแรกในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงสุขภาพสัตว์ที่เกี่ยวข้องในการผลิต ได้แก่ สุกร และสัตว์ปีก ปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ประกาศยกเลิกการเลี้ยงแม่สุกรแบบยืนซอง ภายหลังคลอดและซองคลอดเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบการเลี้ยงแบบรวมกลุ่มและคอกคลอดภายในปี 2570 (2027) ล่าสุดปี พ.ศ. 2561 นี้ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ BETAGRO Cage Free Eggs สู่ผู้บริโภค

ผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางจับมือ 9 บริษัทใหญ่ผลิตหมูครบวงจร ดันราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 4 บาท 3 รอบ รับฤดูร้อน ช่วยผู้เลี้ยง เผยแผนตัดวงจรหมู 1 แสนตัว ทำหมูหันคืบแค่หมื่นตัว

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประชุมหารือกับผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 9 ราย มีมติให้ดึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น กิโลกรัมละ 4 บาท เริ่มตั้งแต่วันพระที่ 16 มีนาคม 2561 และขยับอีก กิโลกรัมละ 4 บาท ทุกวันพระ ในวันที่ 24 และ 31 มีนาคม 2561 รวมขยับราคาหมูตามข้อตกลง 3 ครั้งเป็น กิโลกรัมละ 54 บาท เพื่อให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตมากที่สุด

ล่าสุดราคาหมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์ม จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ตก กิโลกรัมละ 46-47 บาทแล้ว ในบางจุดพ่อค้าจับหมูเริ่มไล่ซื้อที่ กิโลกรัมละ 48-50 บาทแล้ว เพราะกลัวราคาจะขยับขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อตกลงของผู้เลี้ยง ส่วนในภาคตะวันออกที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ระดับ กิโลกรัมละ 49-50 บาท

สถานการณ์ในช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูร้อน เหมาะกับการตกลงกันขยับราคาหมูเป็นขึ้น เพราะฤดูร้อนจะทำให้หมูโตช้า 3-5% แต่ปัจจัยที่ทำให้ขยับราคาหมูเป็นขึ้นได้ เพราะปริมาณหมูเริ่มไม่ล้นแล้ว ซัพพลายเริ่มใกล้เคียงกับความต้องการซื้อ หลังจากราคาเริ่มอ่อนตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และลดลงมากในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 เหลือเพียง กิโลกรัมละ 38 บาท ณ หน้าฟาร์ม ลดลงมาเกือบ 50% จากที่ขึ้นไปที่ กิโลกรัมละ 70 บาท ในปี 2560

ส่วนความคืบหน้าหลังคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) มีมติให้ผู้เลี้ยงตัดวงจรหมูมีชีวิตออกจากระบบ 1 แสนตัว ได้มีการนำหมูเล็กขนาด 5 กิโลกรัม/ตัวไปทำหมูหันใกล้ครบ 1 แสนตัวแล้ว โดยตัดลูกหมูที่คลอดในระยะ 2 สัปดาห์แรกจำนวนหนึ่งออกมา มีการร่วมมือกันขายหมูเป็นขนาดกลางน้ำหนัก 95-105 กิโลกรัม และหมูไซซ์ใหญ่ 120-140 กิโลกรัม ในราคา กิโลกรัมละ 30-40 บาท มีการปลดแม่พันธุ์หมูลง 7-10% จากที่คาดว่าจะมีในระบบ 1.3 ล้านตัว ในราคา กิโลกรัมละ 15-17-18 บาท ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ขายในราคา กิโลกรัมละ 22-25 บาท

“การปลดแม่พันธุ์หมูจะเห็นผลต้องนับไปข้างหน้าอีก 9 เดือน ส่วนใหญ่จะเป็นการปลดแม่พันธุ์ท้องที่ 5 จากช่วงปกติจะปลดกันท้องที่ 8 ภาพโดยรวมในการตัดวงจรหมูเป็นจะมีหลายรูปแบบ หลายรายขาดเงินทุนจากที่เลี้ยงด้วยหัวอาหารก็เลี้ยงด้วยหางอาหาร ลูกคลอดออกมาแต่ละครั้งก็มีจำนวนน้อยลง การใช้ยาปฏิชีวนะหรือวัคซีนก็ใช้น้อยลง เมื่อเห็นว่าไม่คุ้มในการเลี้ยงก็ต้องทุบหมูขายออกไป” นายนิพัฒน์ กล่าว

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติพิกบอร์ด ให้นำลูกสุกรไปผลิตเป็นหมูหันแล้ว 10,000 ตัว แต่อาจยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพราคาสุกรขุนมีชีวิตชัดเจนมากนัก ทางกรมปศุสัตว์จึงเร่งจัดหาช่องทางจำหน่ายเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย โดยขอความร่วมมือบริษัทรายใหญ่และผู้ค้าปลีก เช่น CPF

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาสุกรตกต่ำ คือ ผลิตสุกรในประเทศจำนวนมาก แต่การส่งออกต่างประเทศลดลง จึงต้องประสานทุกฝ่ายเพื่อรักษาสมดุลทั้งปริมาณ ผลผลิต และราคาอย่างเคร่งครัด