แคลเซียม-โบรอนที่มีในปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู

นั้นเป็นธาตุอาหารที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงพริกติดผล เพราะช่วยให้พริกมีสีเขียวสวย เนื้อหนาอย่างชัดเจน ช่วยลดต้นทุนในการฉีดพ่นแคลเซียมทางใบเพิ่ม นอกจากนี้ ยังช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวไว และยังคงรักษาระดับปริมาณผลผลิตให้ไม่ลดลงอีกด้วย

ทั้งนี้ คุณปรียา เน้นว่า หากเกษตรท่านใดต้องการประยุกต์ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายน้ำเพื่อรดพืชผัก จำเป็นต้องเลือกปุ๋ยที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างครบถ้วน เพราะหากปุ๋ยละลายน้ำไม่ดี นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังสิ้นเปลืองธาตุอาหารไปกับกากปุ๋ยที่ละลายไม่หมดด้วย

“โรค-แมลง” ต้องป้องกัน ดีกว่าแก้
เพื่อพริกปลอดภัย ตามมาตรฐาน GAP
ภัยคุกคามสำคัญของพริกนั้นมีทั้งโรคพืชและแมลง โรคพืชอันดับหนึ่งนั้นคือ “กุ้งแห้ง” หรือแอนแทรคโนส ที่เกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการคือผลพริกจะยุบเป็นรอยบุ๋ม ฉ่ำน้ำ เมื่อแผลขยายขนาด ส่วนกลางแผลจะมีเมือกสีดำ

ส่วนแมลงศัตรูพริกตัวหลักนั้นได้แก่ “เพลี้ยไฟ-ไรขาว” ลักษณะการเข้าทำลายจะคล้ายกันคือ ยอดอ่อน-ใบอ่อนจะหงิก ต้นชะงักการเจริญเติบโต

หากพบต้นพริกที่เป็น “โรคกุ้งแห้ง” เกษตรกรต้องรีบถอนแล้วนำไปทิ้งนอกแปลงทันที แต่หากต้นไหนอาการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คุณปรียา จะเร่งเสริมความแข็งแรงให้ต้นพริกด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู จะช่วยให้พริกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยความที่คุณปรียา มีความมุ่งมั่นในการปลูกพริกให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงลดใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตร ทำให้พริกที่แปลงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐาน “เกษตรปลอดภัย” (GAP) ดังนั้น การรับมือกับโรค-ศัตรูพืชจึงอยู่ในลักษณะ “ป้องกัน” เป็นส่วนใหญ่

โดยนอกจากการป้องกันด้วย “การเตรียมแปลง” ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น อีกปัจจัยสำคัญคือ “การจัดการแปลงให้โปร่ง” ช่วยลดการสะสมโรค ทำได้โดยการริดแขนงพริกที่ขึ้นใต้กิ่งแรกออกทั้งหมด พยายามให้อากาศในแปลงถ่ายเทได้มากที่สุด

และปัจจัยสุดท้ายที่มองข้ามไม่ได้คือ “ความแข็งแรงของต้นและผลพริก” โดยคุณปรียา อธิบายเพิ่มเติมว่า “การบำรุงพริกให้สมบูรณ์ ไม่ได้ช่วยแค่ในแง่คุณภาพและปริมาณของผลผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พริกต้านทานโรคได้ดีขึ้นกว่า 50% เกษตรกรบางรายจะให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม อย่างแคลเซียม-โบรอน

จุดนี้อันตรายมาก เพราะพริกที่ขาดแคลเซียม-โบรอน จะทำให้ผิวบาง เนื้อเยื่อมีรอยแตก เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย และหากควบคุมได้ไม่ดีก็อาจลามไปทั้งแปลงได้” คุณปรียาเผยถึงเคล็ดลับการทำเกษตรปลอดภัยให้ฟัง

เก็บผลผลิตจำหน่าย 3 ระยะ
ได้พริกคุณภาพ ตอบโจทย์ทุกตลาด
การเก็บผลผลิต “พริกหนุ่มเขียวหยกสยาม” จะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ พริกเขียว, พริกก้ามปู และพริกแดง ตามตลาดที่แตกต่างกัน โดยพริกทุกระยะนั้นจะมีคนมารับซื้อกันถึงแปลง

สำหรับระยะเวลาเก็บเกี่ยว ให้นับจากดอกพริกชุดแรกบานไปประมาณ 28 วัน จะสามารถเก็บพริกมีดแรกได้ และจะเก็บมีดถัดไปอีกทุกๆ 7 วัน ตามระยะของพริก ดังนี้

• เดือนที่ 1-2 ของการเก็บเกี่ยว คือ “ระยะพริกเขียว” ผลพริกมีลักษณะเขียวตลอดผล สามารถเก็บได้ ประมาณ 8 มีด ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18-25 บาท/กก.

• เดือนที่ 3 หลังเก็บเกี่ยวครั้งแรกคือ “ระยะพริกก้ามปู” ผลพริกมีลักษณะสีเขียวแกมแดง ปลายผลติดสีแดงเพียงเล็กน้อย สามารถเก็บผลผลิตได้ 1 มีด เป็นพริกที่มีราคาสูงที่สุด เพราะจะส่งออกไปประเทศมาเลเซียทั้งหมด ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28-35 บาท/กก.

• ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคือ “ระยะพริกแดง” ผลพริกมีลักษณะแดงเข้มเสมอกันทั้งผล ตลาดเรียกว่า “พริกซอส” เกษตรกรจะเก็บและเด็ดขั้วให้เรียบร้อยเตรียมส่งโรงงานผลิตซอสพริก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15-20 บาท/กก.

คุณปรียา เผยว่า ผลผลิตที่แปลงของตนเองนั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ตัน/ไร่ ในขณะที่แปลงคนอื่นจะอยู่ที่ประมาณ 6 ตัน/ไร่ เท่านั้น ผลลัพธ์นี้มาจากการดูแลอย่างประณีตทุกขั้นตอน คอยบำรุงพริกอย่างเหมาะสมทุกช่วงอายุ พร้อมปรับปรุง-ประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

และที่สำคัญ เธอย้ำว่า “ต้องเป็นคนที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ เมื่อเรียนรู้แล้วต้องบอกต่อ เพราะความรู้จะเกิดขึ้นไม่สิ้นสุดถ้าเราแลกเปลี่ยนกัน”

ปัจจุบัน คุณปรียา เป็นหัวเรือสำคัญในการรับหน้าที่ “ถอดบทเรียน” การปลูกพริกแปลงใหญ่ใน อ.หนองม่วงไข่ จากคนที่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน และมีพื้นที่เพียงไร่เศษๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ถือเป็นตัวอย่างของ “ความพยายาม” อย่างแท้จริง

ผมมีความสงสัยว่า การปลูกต้นไม้จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือไม่ ผมเคยดูทีวี เห็นว่าเกษตรกรหลายท่านปลูกพืชผลไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด จะใส่เพียงปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งยังขายได้ราคาดีอีกด้วย คุณหมอเกษตร ในฐานะที่ท่านคร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตร ท่านมีความเห็นอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยครับ

ปุ๋ย หมายถึงวัสดุที่ใส่ลงในดิน หรือฉีดพ่นที่ใบ แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม สามารถทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต ให้ผลผลิต และสืบเผ่าพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์

ในธรรมชาติของต้นไม้ วงจรชีวิตเริ่มจากเมล็ด แล้วงอกเป็นต้นกล้า เข้าสู่ระยะเจริญเติบโตเป็นวัยเจริญพันธุ์ และสุกแก่ลงในที่สุด ภายในผลมีเมล็ดอยู่ภายใน ตั้งแต่ 1 เมล็ด ไปจนถึงจำนวน 100 เมล็ด ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช การเจริญเติบโตจนถึงระยะสุกแก่ ต้นไม้ต้องผ่านขบวนการสังเคราะห์แสง ที่ใบไม้ที่มีสีเขียวของคลอโรฟีล เป็นโรงงานผลิตแป้งและน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต (CHON) แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำจากดิน โดยมีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่ได้จากปุ๋ยทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ ฮอร์โมน และให้พลังงาน ทั้งนี้ มวลของต้นไม้หรือสัตว์ ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ และผล ปริมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักได้จากคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ

กลับมาดูที่บทบาทของธาตุอาหารแต่ละชนิดที่ได้จากปุ๋ย ธาตุไนโตรเจน (N) ทำหน้าที่บำรุงต้นและใบ ทำให้ใบไม้มีสีเขียว ธาตุฟอสฟอรัส (P) ช่วยในการสร้างรากและเร่งการออกดอก ส่วน ธาตุโพแทสเซียม ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงที่ใบส่งไปยังผล ลำต้น หรือหัว ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช โดยเฉพาะไม้ผลยังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งความจริงแล้วเป็นปุ๋ยอนินทรีย์ ซึ่งเกือบทั้งหมดได้มาจากใต้พิภพ แต่หากเป็นไม้ใบ เช่น พืชผักอายุสั้น ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกก็ตาม

ทั้งนี้ ในปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว ล้วนอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจน แต่มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมน้อยมาก จึงเหมาะสำหรับใช้กับไม้ใบดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น ไม้ผลยังมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าปุ๋ยเคมีต่อไป แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีผลกำไรไปพร้อมกัน

ทุ่งนาเขียวขจีราวกับธรรมชาติได้ปูพรหมสีเขียวที่ปลายต้นข้าวนั้นพลิ้วไหวไปตามแรงลมอ่อนๆ เป็นที่พักสายตาและรู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนได้พบกับหนุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) ผู้มีวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนทัศนคติของคำว่าชาวนายากจนนั้นหายไปโดยสิ้นเชิง

คุณนที คล้ายสอน หนุ่มปริญญาโท วิศวกรโยธา เกษตรกรรุ่นใหม่ ยุคนิวนอร์มอล (New Normal) วัย 33 ปี ผู้ที่หันหลังกับงานประจำที่มีเงินเดือนสูง กลับมาสู่ธรรมชาติ เป็นผู้ที่มองเห็นว่าการเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนสู่ธรรมชาติ นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นำมาต่อยอดพัฒนาเชิงเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวโบราณหอมกลิ่นใบเตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

“ผมเห็นชาวนาทั่วๆ ไปมีแต่ปัญหาเรื่องของราคาข้าวบ้าง ปุ๋ยปลอมบ้าง ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจว่า ถ้าเราทำนาโดยไม่พึ่งสิ่งเหล่านี้ เราเกิดมาจากธรรมชาติเราก็ต้องอยู่ให้ได้แบบธรรมชาติ ผมขอสนับสนุนโครงการปลูกพืชแบบอินทรีย์ทุกชนิดครับเพื่อชีวิตที่ดีครับ ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ของผมมีอาชีพทำนา ถึงแม้ว่าทำงานประจำในรัฐวิสาหกิจ แต่ท่านก็สนับสนุนผมให้มาต่อยอดในเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์” คุณนที กล่าว

การทำนาปลูกข้าวเป็นพื้นฐานคนไทยส่วนใหญ่ใครๆ ก็ทำได้ แต่การใช้การวางแผนแบบเกษตรแนวใหม่โดยปลูกข้าวหมุนเวียน ทำให้มีรายได้ตลอดปี และยังแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกข้าวเพื่อทำน้ำนมข้าวที่ให้ความหวานโดยปราศจากน้ำตาล

ข้าวพันธุ์นี้รุ่นคุณพ่อคุณแม่ผมเขาเกิดมาก็เจอพันธุ์นี้แล้วครับ เมื่อสมัยก่อนไม่รู้ว่าเขาเรียกพันธุ์อะไร ด้วยความหอมและสีเขียวอ่อนของเมล็ดข้าวคล้ายใบเตย ผมจึงเรียกตามความเป็นจริงว่าข้าวพันธุ์โบราณหอมกลิ่นใบเตย ผมต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ผมและทางปู่ย่าตายายที่ได้อนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ไว้ ทำให้ผมมีวันนี้อย่างภาคภูมิใจ

คำว่าข้าวพันธุ์หอมใบเตยเขาจดทะเบียนแล้วก่อนหน้านี้และมีขายในท้องตลาดทั่วไป แต่รสชาติและกลิ่นแตกต่างจากของผม ทำไมผมเรียกว่าข้าวของผมว่าข้าวหอมกลิ่นใบเตย เพราะสีของข้าวเปลือกและเมล็ดข้าวก็ยังเขียวอ่อนๆ คล้ายยอดเตยอีกด้วย คุณสมบัติเขาได้จริงๆ ครับ แต่ผมใช้ชื่อทางการค้าว่า ข้าวหอมใบเตยแววมณี

รสชาติและกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นใบเตย สีเขียวอ่อนๆ ตอนหุงสุก นุ่ม และเหนียวนิดๆ นี่แหละเสน่ห์ของข้าวโบราณนี้ที่ผมต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นข้าวที่เหมาะมากสำหรับปลูกเป็นข้าวอินทรีย์

แต่ข้าวพันธุ์โบราณนี้จะอ่อนไหวต่อสารเคมีมาก ถ้าจะปลูกต้องทิ้งที่นาให้ปลอดสารเคมีหรือปลูกพืชอย่างอื่นที่ไม่ใช้สารเคมีเลยอย่างน้อย 3-4 ปี เพราะไม่อย่างนั้นข้าวจะไม่โต จะตายในที่สุด ปลูกข้าวโบราณหอมกลิ่นใบเตยนี้ผมบอกได้ว่า คุ้มค่าครับ ระยะยาวมีแต่ได้กับได้ เพราะได้ราคาที่คุ้มค่าครับ

แรงบันดาลใจปลูกข้าวหอมกลิ่นใบเตยอินทรีย์

“ผมปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ข้าวหอมใบเตยพันธุ์โบราณ ตามรอยคุณแม่ ซึ่งเป็นหัวหน้าวิสาหกิจชุมชน นำมาต่อยอดทำแพ็กเกจจิ้งสวยงามที่ทำให้มีราคาและมีมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น และทำน้ำนมข้าวที่ดึงความหวานจากข้าวที่เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี นำอาหารสะอาดเข้าสู่ร่างกาย” เจ้าตัวบอก

ผลิตน้ำนมข้าวหวานจากกระบวนการย่อยสลายโดยใช้เอนไซม์จากธรรมชาติ นมข้าว ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อย นมข้าวทั่วไปธรรมชาติของน้ำนมข้าวก็จะมีรสจืดและอาจจะมีการเติมน้ำตาลเพื่อให้เกิดรสหวาน แต่นมข้าวอินทรีย์ของคุณนที มีรสหวานจากกรรมวิธีที่ดึงความหวานจากธรรมชาติของนมข้าวออกมาโดยไม่มีแอลกอฮอล์

เป็นเรื่องที่มีนวัตกรรมอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรเชิงธรรมชาติ ที่เกษตรกรวัยยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้มีการวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง ได้ทำการวิจัยโดยดึงกระบวนการย่อยสลายข้าวให้เกิดเป็นความหวาน โดยใช้เอนไซม์จากธรรมชาติ ดึงเอาความหวานของข้าวออกมา เป็นผลิตภัณฑ์ที่เขาสร้างสรรค์ที่จะทำให้เพิ่มคุณค่าด้านอาหารและโภชนาการ นอกจากนี้ ก็ได้มีเครื่องดื่มแก้กระหายที่ปลอดภัย เป็นอาหารปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ทำวัตถุดิบที่มาจากการทำเกษตรอินทรีย์ให้คนไทยได้กิน

น้ำนมข้าวในผลิตภัณฑ์ของคุณนที เป็นน้ำนมข้าวที่ได้จากข้าวสองสายพันธุ์คือ ข้าวหอมใบเตยอินทรีย์และข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ แต่ระยะเก็บเกี่ยว 120 วัน หรือคนโบราณเรียกว่า “ระยะพลับพลึง” ซึ่งข้าวปกติระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยว 130 วัน คุณนทีสนใจที่จะแปรรูปข้าวให้มีคุณค่าของอาหารเพิ่มขึ้น พร้อมกับคุณค่าของวิตามินที่อยู่ในรูปของเครื่องดื่มสุขภาพที่ไม่มีน้ำตาล แต่จะดึงเอาน้ำตาลจากธรรมชาติของข้าวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายออกมา รสชาติจะหวานกลมกล่อม และหอมจากธรรมชาติของกลิ่นข้าว

แนวคิดของเกษตรอินทรีย์ที่ทำให้การเกษตรยั่งยืน

กระบวนการคิดแบบนวัตกรรมใหม่ๆ แบบนี้ ทำให้เพิ่มคุณค่าทางการตลาดของข้าวขึ้นมานอกจากทำให้เกิดรายได้แล้วยังทำให้คนไทยได้มีเครื่องดื่มที่มีคุณค่า ได้ทั้งอาหารเสริมและทำให้คนทำเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ข้าว ทุกคนค่อนโลกต้องกิน เป็นอาหารแป้งที่ต้องมีทุกครัวเรือน โดยเฉพาะคนไทย ไปที่ไหนๆ ก็เห็นแต่ทุ่งนาอันเขียวขจีของเมืองไทย แต่ที่ปลูกเพื่อการค้านั้นถูกกำหนดโดยตลาดกลาง พ่อค้าคนกลาง

ในเนื้อที่ดินแปลงนาของคุณนทีมี 80 ไร่ เขาคิดว่าถ้าปลูกข้าวแบบเดิมๆ ใช้สารเคมีและส่งขายให้ตลาดกลาง จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่และพอมีพื้นฐานด้านการศึกษา ก็นำเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์ให้ข้าวของเขาเป็นเสมือนหนึ่งข้าวทองคำก็ว่าได้ เพราะชีวิตเขามีรายได้เฉลี่ยแล้วมากกว่าเงินเดือนในอาชีพอย่างเขา 3-4 เท่า ต่อเดือน อีกอย่างเขาก็นำแนวคิดนี้มาปลูกผักอินทรีย์แบบรวมกลุ่มกันหรือแบบวิสาหกิจชุมชน ผลตอบรับก็ดีมากเช่นกัน

การทำเกษตรอินทรีย์ที่จริงแล้วมีต้นทุนต่ำมาก

คุณนที บอกว่า ถ้าปลูกข้าวอินทรีย์จริงๆ แล้วต้นทุนต่ำมาก แทบไม่ต้องใช้แรงงานเลย ไม่ต้องดูแลเรื่องวัชพืช เพราะวัชพืชก็เป็นส่วนหนึ่งที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยช่วยเป็นตัวพยุงเพื่อกันไม่ไห้ต้นข้าวล้มหรือถ้าต้นข้าวล้มก็จะไม่ล้มถึงพื้นซึ่งมีน้ำอยู่ทำให้เก็บเกี่ยวง่าย ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเกี่ยวกับระยะการให้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ข้าวอินทรีย์นี้ปลูกครั้งเดียวจบ แค่ดูแลเรื่องของน้ำเท่านั้นเอง

คุณนทีเน้นเกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันนี้ขายง่ายเพราะมีช่องทางขายหลายทาง โดยเฉพาะทางออนไลน์ ลูกค้าได้สินค้าโดยตรงจากชาวนาอย่างเขา ที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มาแวะดูแปลงนาของเขาได้ มาดูที่บ้านเขาได้ อันนี้แหละเป็นพื้นฐานของเครดิตอย่างดี ถ้ามีสินค้าที่ตรงตามที่เราบอกไว้

ปลูกเอง ขายเอง

“ครับผมปลูกเองและขายเอง จากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคโดยตรง การขายของผมก็เข้าโครงการโอท็อปของรัฐบาล ขายกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ขายในห้างสรรพสินค้าที่ลำปางและส่งออกไปร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่อเมริกา อีกบางส่วน และขายทางตลาดออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส อีกหลายตลาด ทุกวันนี้ลูกค้าต้องสั่งจองผมล่วงหน้าหลายเดือน ลูกค้าที่ได้กินข้าวหอมกลิ่นใบเตยของผมแล้วไม่อยากที่จะกินข้าวอย่างอื่นเลยครับ…ราคาขายผมขายกิโลละ 80 บาทครับ แต่ต้องจองล่วงหน้านะครับ รายได้ไม่ต้องพูดถึงครับผมอยู่ได้เลยครับ…ผมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเข้าสู่ตลาดบนได้โดยการเพิ่มมูลค่าที่การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ข้าวอินทรีย์จะไม่ใช้สารกันมอด เพราะฉะนั้น จะเน้นเรื่องการบรรจุหีบห่อ โดยใช้บรรจุในถุงซีลอย่างดี ผมบรรจุเป็นแพ็กละ 1 กิโลกรัม ง่ายแก่การเก็บและการบริโภคครับ” คุณนที บอก

สร้างรายได้และบริหารจัดการปลูกข้าว
เพื่อให้มีข้าวสู่ตลาดทุกๆ เดือน

คุณนที บอกว่า การบริหารจัดการ เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการสร้างรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะการมีแนวคิดที่ว่าควรจะทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากข้าว ซึ่งนอกจากการบริโภคเป็นอาหารหลักแล้ว และทำมาแปรรูปเป็นขนม ของว่างก็มีแล้ว เขาจึงมีแนวคิดว่า ทำอย่างไรทำข้าวให้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ โดยดึงเอาน้ำตาลจากธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าวนั้นออกมา

เขาจึงแบ่งข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยว 30% เพื่อมาแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวอินทรีย์ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และให้คงคุณค่าของสารอาหารและเก็บไว้ได้นานโดยไม่ใช้สารกันบูดใดๆ

ผลผลิตจากนาที่เขาทำจะได้ข้าวเปลือกประมาณ 40 ตัน เข้าโรงสีเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 25 ตัน ส่วนที่แบ่งปลูกอีก 30% เพื่อทำผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณนที บอกว่า การปลูกข้าวชนิดนี้ตลาดยังไปได้อีกไกล เพราะคนไทยปัจจุบันนี้เริ่มหันมานิยมกินอาหารปลอดสารพิษมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันโรคภัยต่างๆ ก็พัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อต้านยามากขึ้น การกินอาหารเพื่อต้านทานโรค โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ใช้สารเคมีนั้นถือว่าเป็นทั้งอาหารเป็นทั้งยาก็ว่าได้ ข้าวจึงเป็นพื้นฐานของการกินของคนเอเชีย เขาจึงเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาปลูกและสร้างรายได้

“ผมก็ภูมิใจที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่จะทำการเกษตรปลูกข้าวให้คนไทยบางส่วนอันน้อยนิดได้กินข้าวอินทรีย์ที่ผมผลิต และคาดว่ายังจะต้องมีเกษตรกรที่มีอุดมการณ์อย่างผมเกิดขึ้นอีกมากมาย หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องอาหารการกินมากขึ้น” คุณนที บอก

เดิมทีอำเภอศรีบุญเรือง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เรียก “บ้านโนนสูงเปลือย” ขึ้นกับตำบลยางหล่อ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2508 ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2512

คำขวัญของอำเภอ “ศรีบุญเรืองเมืองคนดี ประเพณีบุญบั้งไฟ ก่องข้าวใหญ่ชาวอีสาน เด่นตระการถ้ำผาสวรรค์ อัศจรรย์เขาสามยอด” เกษตรกรคนเก่ง
ที่นี่มีเกษตรกรที่หัวไวใจสู้ คือ คุณสุริยา ธงชัย บ้านเลขที่ 181 บ้านป่าคา หมู่ที่ 2 ตำบลยางหล่อ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู

คุณสุริยา เล่าให้ฟังว่า จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนเป็นหนุ่ม ประกอบอาชีพทำงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และเปิดศูนย์ฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน เขต 6 จังหวัดขอนแก่น ทำมาตลอดเกือบ 20 ปี เมื่อวัยเข้าสู่ 40 ปี เริ่มเกิดความเบื่อหน่าย และอยากใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมาสร้างฝันที่ตนเองเคยวาดฝันไว้ กับความรู้ด้านไม้ผลที่ตัวเองชอบให้เป็นจริง จึงได้ออกมาประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเจ้านาย ไม่มีผู้บังคับบัญชา เราเป็นเจ้านายของตัวเองดีกว่า บังเอิญได้มาบ้านภรรยา ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้แต่ก่อนเป็นนาข้าว และปลูกอ้อยโรงงาน ปีแรกเป็นอ้อย ปีที่สองเป็นอ้อย ปีที่สามเป็นอ้อย ทำไปมีแต่จะขาดทุนไปเรื่อยๆ

ทำให้เกิดแนวคิดว่า พื้นที่ตรงนี้คือบริเวณบ้านป่าคา หมู่ที่ 2 ตำบลยางหล่อ น่าจะปลูกไม้ผล (มะม่วง) น่าจะให้ผลผลิตที่ดีเพราะปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ตลอดไป ไม่เหมือนทำนา ทำไร่ ซึ่งเป็นพืชล้มลุก มีการปลูกทุกปีบางปีเกิดภัยแล้ง บางปีเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ปุ๋ยเคมี สารเคมี มีราคาแพง ทำให้ต้องลงทุนทุกปี ประกอบกับพื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มีการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จึงได้นำมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาปลูก จำนวน 20 ไร่ ในปี พ.ศ. 2559 ผลผลิตออกมาตอบรับดีมาก ในเรื่องผลผลิต การจำหน่าย ตลาดมีความต้องการมาก และผลิตไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกจนถึงปัจจุบัน 41 ไร่ และแผนที่วางไว้ จะปลูกเพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 จำนวน 4 ไร่ และปี 2564 จำนวน 7 ไร่

มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 62 ไร่ 2 งาน โดยแบ่งพื้นที่ ดังนี้

ที่อยู่อาศัย ประมาณ 2 ไร่
พื้นที่จำหน่ายผลผลิต ประมาณ 2 ไร่
พื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 4 ไร่
พื้นที่สระน้ำ ประมาณ 2 ไร่
พื้นที่คอกปศุสัตว์ ประมาณ 2 งาน
พื้นที่ปลูกมะนาว ประมาณ 7 ไร่
เตรียมขยายพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 6 ไร่
พื้นที่ถนนรอบสวนมะม่วง ประมาณ 2 ไร่

คิดริเริ่มและพยายามฟันฝ่าอุปสรรค สร้างผลงาน
คุณสุริยา ได้น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิด ซึ่งมุ่งให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน คำว่า พอเพียง คือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี การพึ่งพาตัวเองได้เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเมื่อทุกคนสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้แล้ว เว็บแทงบอลออนไลน์ ขั้นต่อไปอาจพัฒนาธุรกิจ โดยมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบแปลงใหญ่มะม่วง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการรวมกลุ่มกันนั้น ไม่จำกัดเฉพาะการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เกษตรกร ในรูปของสหกรณ์ การทำงานในเมืองก็สามารถมีการรวมกลุ่มกันได้ เช่น การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน การแลกเปลี่ยนแนวคิดการลงทุน เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ รวมไปจนถึงการแบ่งปันความช่วยเหลือส่งกลับคืนสู่สังคม ไปสู่กลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เช่น กิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

คุณสุริยา เล่าว่า ปัจจุบัน อายุ 57 ปี ทิ้งธุรกิจรับเหมา สานฝัน ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

“เดิมผมเป็นคนอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เปิดศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เขต 6 จังหวัดขอนแก่น ฝึกอบรมคนให้ไปทำงานต่างประเทศ และเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไปด้วย อีกทั้งเคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ (ช่างเชื่อมโลหะ) เช่น ไต้หวัน 2 ปี, คูเวต 1 ปี, สิงคโปร์ 1 ปี, ดูไบ 1 ปี และอิหร่าน 2 ปี เคยได้รับค่าตอบแทน ประมาณเดือนละ 50,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้กลับมาทำการเกษตรที่อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น รวมกลุ่มปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ และส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างยั่งยืน ต่อมาปี พ.ศ. 2559 ได้มีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่การปลูกมะม่วง จึงได้ย้ายมาเริ่มพัฒนาพื้นที่ของแม่ยาย ที่บ้านป่าคา ตำบลยางหล่อ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู จากการปลูกข้าว และปลูกอ้อยโรงงาน จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชหลัก จำนวน 20 ไร่” เจ้าตัวเล่า

การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่
และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ปี พ.ศ. 2559 นำรถแทรกเตอร์เข้าไถปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมปลูกไม้ผล จึงได้ไปปรึกษาขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอศรีบุญเรือง มี คุณไพรทอง อินาวัง เป็นเกษตรตำบลยางหล่อ ว่าควรจะปลูกไม้ผลชนิดใดบ้าง ซึ่งได้รับคำแนะนำให้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ตามที่ผมเคยทำได้ดีจากอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด หาตลาดง่าย ได้ราคาสูง หลังจากได้คำแนะนำแล้วก็เริ่มจากอันดับแรก การปลูกไม้ผลจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ จึงได้ขุดดินออกไปถมที่เป็นที่อยู่อาศัย ได้สระน้ำขนาดประมาณ 2 ไร่ และขุดเจาะบ่อบาดาล ขนาด 5 นิ้ว จำนวน 1 บ่อ ซึ่งชาวบ้านมีอัธยาศัยดี สวนมะม่วงที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นสวนมะม่วงแห่งแรกของหมู่บ้านที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด