แต่ขณะเดียวกัน กยท. ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในทุกพื้นที่

เพื่อเป็นสายตรวจยางพารา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการเจรจาหารือกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้ง กยท. ได้เร่งผลักดันให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาเป็นเครือข่ายตลาดกลางยางพารา เพื่อจะได้ซื้อขายผลผลิตในราคาเดียวกันกับราคาตลาดกลาง กยท. ที่ประกาศ แนวทางต่างๆ นี้ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางให้คงที่และไม่ตกต่ำตามสภาวะตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“การจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้ถือหุ้น คือ 5 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ และ กยท. ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขเสถียรภาพราคาซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ได้มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป้าหมายในเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพาราการยางแห่งประเทศทั้ง 6 ตลาดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้น โดยที่ประชุมของบริษัทร่วมทุนฯ ครั้งล่าสุดได้มีมติให้บริษัทผู้ถือหุ้น ดำเนินการขนย้ายยางออกจากตลาดโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีบริษัทผู้ถือหุ้นรับซื้อไปแล้วบางส่วน และบางส่วนได้ดำเนินการอัดก้อนเก็บไว้ ณ โกดังของบริษัทผู้ถือหุ้น” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ดร.ธีธัช กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการ AETS (การกำหนดโควตาส่งออก)ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ITRC ครั้งที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการนี้ จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อสภาวะราคาปรับลดลงในระดับหนึ่ง

โดยมีบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) ที่มีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งสามประเทศเป็นหุ้นส่วน คอยติดตามและประเมินสถานการณ์ราคายางอย่างใกล้ชิด หากมีความผันผวน ผิดปกติ จะเชิญประเทศสมาชิกประชุมเร่งด่วนเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ส่วน “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท” ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

พร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ วงเงิน 15,000 ล้านบาท อีกโครงการหนึ่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ต.ค.60 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

เมื่อราวกลางเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์ จัดสัมมนาเรื่อง การอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ
เนื้อหาหลักๆในเวทีสัมมนาในครั้งนั้น พูดกันว่า แม้พะยูนจะเป็นสัตว์ป่าสงวน และอยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(ไซเตส) คือห้ามมีการค้าขายกันอย่างเด็ดขาด แต่ถึงกระนั้น พะยูน ในประเทศไทยยังจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครื่องมือประมง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้จำนวนของพะยูนลดลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ ประมาณ 130 – 150 ตัว เนื่องจากบริเวณดังกล่าว มีแหล่งหญ้าทะเลชนิดที่เป็นแหล่งอาหารหลักและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังมีในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ประมาณ 15 ตัว และในพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อีกประมาณ 10 ตัว

โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มผู้ล่าพะยูนอยู่ เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูน สามารถนำไปทำยาโด๊ป และยารักษาโรคมะเร็ง ส่วนเขี้ยวพะยูน นำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เนื้อพะยูนนำไปทานเป็นอาหารราคากิโลกรัมละ 150 บาท ความเชื่อเหล่านี้ทำให้พะยูนยังเป็นที่ต้องการของตลาดมืด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้คือการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่เป็นจริงว่า กระดูกหรือเขี้ยวพะยูนไม่สามารถนำไปรักษาโรคหรือเป็นเครื่องรางของขลังได้ ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะกำหนดแนวเขตในการอนุรักษ์ดูแลพะยูนอย่างจริงจัง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจประชากรพะยูนในประเทศไทยว่า มีอยู่ในจำนวนเท่าไร โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน ธันวาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 นี้

กรมอุทยานประชุมร่วมกับ จ.ตรัง

ครั้นเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ปรากฏว่า ยังความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนักอนุรักษ์ และผู้บริหารฝ่ายปกครอง รวมไปถึงบรรดานักวิชาการ ในพื้นที่ จ.ตรังอย่างมาก พร้อมกับยืนยันหนักแน่น ชาวตรังต่างให้ความรักและเอ็นดูพะยูนมากกว่าสิ่งอื่นใด แทบไม่ต้องพูดถึงการอนุรักษ์เลย เพราะทุกคนในพื้นที่ไม่มีใครติดจะล่าพะยูนอยู่แล้ว อย่าว่าแต่การล่าเลย แค่จะทำร้ายยังไม่เคยคิด โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ออกมาพูด

จึงเป็นที่วิพากษ์กันพอสมควรกับวิธีการคิดดังกล่าว ว่า แทนที่จะรับฟังข้อมูล และมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับออกมาตอบโต้อย่างร้อนรน

ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พบซากพะยูนถูกเชือกมัดไว้กับต้นไม้ ในพื้นที่ป่าโกงกาง หมู่ 7 คลองโต๊ะขัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง สภาพคือ ถูกตัดหัว แล่เนื้อ เลาะกระดูก เหลือแต่หนังและไส้ไหลทะลักออกมา จึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อหาคนร้ายที่กระทำการเลวร้ายครั้งนี้มาดำเนินคดี

ถึงกระนั้นก็มิใย ยังมีคำเล็ดลอดออกมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อหวังประโยชน์อะไรบางอย่าง

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ถึงกับต้องออกมาว่า หน้าที่ของกรมอุทยานฯ คือการทำงานอนุรักษ์ อย่าโทษกันไปมา ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คนที่จะได้รับ คือทาง จ.ตรัง และชาวบ้านในพื้นที่ เกาะลิบงเอง ชาวบ้านจะมีอาชีพ จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำนักท่องเที่ยวไปชมพะยูน ถามว่า กรมอุทยานฯจะได้อะไรจากการจัดฉากล่าพะยูน อย่าให้กรมอุทยานต้องกลายเป็นเหยื่อการเมืองในพื้นที่ กรมอุทยานทำงานอนุรักษ์ และดูแลไม่ให้ใครทำผิดกฏหมายเรื่องสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ว นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้า ประชุม กับนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง มูลนิธิอันดามัน ชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลตรัง ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน เกาะลิบง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ร่วมประชุมเพื่อแนวทางการอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง ร่วมกัน

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การดูแลอนุรักษ์พะยูนนั้น ต้องอาศัยหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ชุมชน ชาวประมง จ.ตรังเอง ต้องเล่นบทนำในการอนุรักษพะยูนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งจ.ตรัง มีทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทั้ง 2 พื้นที่จะได้มีการร่วมกันทำงานอย่างเข้มข้น เนื่องจากพะยูนอาศัยอยู่กระจัดกระจาย ที่ผ่านมาภัยคุกคามพะยูนมีหลายอย่างไม่ว่าติดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล เรื่องของมลภาวะ หรือขยะทะเล วันนี้การจัดการให้เกิดผลสำเร็จไม่ให้พะยูนตายอย่างผิดธรรมชาติ จะต้องมีการจัดการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ทุกมิติอย่างครอบคลุม

“เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา จ.ตรัง โดยเฉพาะชาวบ้านเกาะลิบง และยังเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลมีประสิทธิภาพมาก จึงเห็นด้วยกับทางผู้ว่าราชการ จ.ตรัง ที่จะจัดให้มีกรรมการระดับจังหวัดในการชับเคลื่อนเรื่องพะยูน ในส่วนของกรมอุทยานฯ นั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้นโยบาย 3 ป.คือ ปฎิบัติทันที ปฎิบัติร่วมกับชุมชน และ ปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องพยายามไม่ทำให้พะยูนตายอย่างผิดธรรมชาติอีก” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติกล่าว

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี

ถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะสามารถวางใจได้ว่า การอนุรักษ์พะยูน การดูแลหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน จะได้ผลมากแค่ไหน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจังหวัดอันเป็นพื้นที่พะยูนชุกชุมที่สุด จะยืนยันหนักแน่นว่าดูแลฟูมฟักพะยูนดีแค่ไหน แต่บทสรุปล่าสุดคือ การล่าและฆ่าพะยูนยังคงมีอยู่

และวันนี้ก็ยังหาตัวคนฆ่าพะยูนตัวล่าสุดยังไม่ได้

การดูแลพะยูนและแหล่งอาหาร จึงต้องเข้มข้นขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้นดังที่ตกลงกันไว้ในห้องประชุม..
ออกมาจากห้องประชุมแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเข้มข้นเช่นกัน
พะยูนเหลือไม่ถึง 200 ตัว ถือว่าน้อยมาก
ถ้าน้อยลงไปกว่านี้ก็ถือว่าวิกฤตสุดสุด สศก. เผย ภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกร รอบ 9 เดือน ปี 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาด ทั้งปี ดัชนีรายได้เกษตรกรยังเพิ่ม จากผลผลิตสินค้าเกษตรที่มากขึ้น แม้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง มั่นใจ นโยบายขับเคลื่อนการเกษตร และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรเป็นไปตามเป้า

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้เกษตรกร สะท้อนจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในระยะ 9 เดือน ปี 2560 (มกราคม – กันยายน 2560) อยู่ที่ระดับ 155.34 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม – กันยายน 2559) ร้อยละ 8.88 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.50 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.47 และหากพิจารณาแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาคุณภาพสินค้าที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจากฝนตกชุกและต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อราคา ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ตลาดนำการผลิตหรือผลิตตามตลาดต้องการ รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งในปี 2561 ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0” ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 103,586.6227 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีงานโครงการสนับสนุนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกกระดาษ A4) และงานสำคัญอื่นๆ จำนวน 57,742.1386 ล้านบาท ประกอบด้วย 15 โครงการ/แผนงานสำคัญ ได้แก่

1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4) Zoning by Agri-Map 5) Smart Farmer 6) พัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ 7) ธนาคารสินค้าเกษตร 8) เกษตรอินทรีย์ 9) ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 10) จัดระเบียบการประมงให้เป็นมาตรฐาน 11) ขยายศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าว 12) ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน 13) ตลาดสินค้าเกษตร 14) พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) และ 15) การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นความเป็นอยู่ของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก และช่วยให้รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรใน ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 วงเงิน 33,891.39 ล้านบาท (ร้อยละ 32.72) ไตรมาสที่ 2 จำนวน 23,478.51 ล้านบาท (ร้อยละ 22.67) ไตรมาสที่ 3 จำนวน 22,359.16 ล้านบาท (ร้อยละ 21.58) และไตรมาสที่ 4 จำนวน 23,857.56 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.03 ซึ่งเชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์จะได้รับจากการดำเนินงานตามงบประมาณปี 2561 ซึ่งหากเป็นไปตามแผน จะช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

คริส เบอร์รี นักบรรพพฤกษศาสตร์ พร้อมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการศึกษาซากฟอสซิลลำต้นของต้นไม้ยุคแรกเริ่มของโลก อายุ 374 ล้านปี ซึ่งค้นพบในประเทศจีน ระบุว่า โครงสร้างของต้นไม้เก่าแก่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดครองพื้นที่ทั่วโลกนั้น ซับซ้อนกว่าโครงสร้างของต้นไม้ในยุคปัจจุบันมาก ที่สำคัญคือไม่มี “วงปี” เหมือนเช่นที่ไม้ยืนต้นทุกชนิดในเวลานี้มี

ศาสตราจารย์เบอร์รี ระบุว่า การศึกษาต้นไม้หลายร้อยล้านปีที่เรียกว่า “แคลด็อกไซลอปซิด” อย่างละเอียดครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงวิธีการเติบโตที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน อาจเรียกว่าเป็นวิธีใหม่ของการเป็นต้นไม้เลยก็ว่าได้ เพราะแทนที่จะมี “วงปี” แบบที่คุ้นเคยกัน ส่วนกลางของลำต้นต้นไม้ล้านปีนี้กลับกลวง ล้อมรอบโดยเกลียวของไซเล็ม หรือท่อลำเลียงน้ำและอาหารขึ้นไปเลี้ยงลำต้นและใบของพืชที่พันกันแน่นหนาราว 2 นิ้ว

เส้นเกลียวของไซเล็มดังกล่าวยังไม่เหมือนกับท่อไซเล็มของพืชในปัจจุบันที่เป็นท่อเดี่ยวขึ้นไปยังลำต้น กิ่งก้านและใบ แต่กลับเชื่อมต่อซึ่งกันและกันอย่างแน่นหนาคล้ายโครงข่ายของท่อน้ำที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกันอีกด้วย ตัวเส้นไซเล็มของต้นไม้โบราณนี่เองที่มีวงลักษณะคล้ายวงปีในต้นไม้ยุคใหม่ปรากฏอยู่

ที่น่าแปลกเช่นเดียวกันก็คือ การเติบโตของ “แคลด็อกไซลอปซิด” ยังผิดไปจากการเจริญเติบโตของพืชหรือต้นไม้ทุกวันนี้ที่ขยายออกโดยตรงทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ แต่เมื่อ “แคลด็อกไซลอปซิด” เติบโตนั้น เส้นไซเล็มรอบลำต้นจะขยายออก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแต่ละเส้นซึ่งเดิมเชื่อมติดกันอยู่ด้วยเนื้อเยื่อไม้นุ่ม ทำให้ต้นไม้ยุคแรกนี้มีสภาพเหมือนโครงที่ถูกขยายขนาดเส้นรอบวงออกไป แต่ไม่นานช่องว่างดังกล่าวก็จะถูกเติมเต็มด้วยเนื้อเยื่อไม้นุ่มอีกครั้ง เป็นกระบวนการเติบโตพร้อมๆ กับที่เส้นไซเล็มซึ่งจะพัฒนาไปในแนวดิ่ง เพิ่มความหนามากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน

“แคลด็อกไซลอปซิด” สามารถเติบโตได้จนสูงถึง 9.1 เมตร โดยมีขนาดของลำต้นมากกว่า 30 เซนติเมตร ใบของมันก็ไม่ได้แบนใหญ่เหมือนเช่นใบไม้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แต่เป็นเหมือนกิ่งที่ยื่นๆ ออกไปจากลำต้นเสียมากกว่า

ศาสตราจารย์เบอร์รียอมรับว่า ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมต้นไม้ยุคบรรพกาลจึงมีความซับซ้อนมากกว่าในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ตามความเข้าใจเดิมควรจะกลับด้านกันเป็นต้นไม้ปฐมภูมิที่ง่ายๆ ก่อนที่จะพัฒนาความซับซ้อนขึ้นมา นอกจากนั้นยังมุ่งมั่นที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบรากและการลำเลียงสารอาหารจากดินของ “แคลด็อกไซลอปซิด”

รวมทั้งกระบวนการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ล้านปีที่เคยปกคลุมทั้งโลกเมื่อราว 360 ล้านปี จนถึง 420 ล้านปีมาแล้วชนิดนี้ด้วย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอกย้ำเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของไก่ไทยสู่ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคญี่ปุ่นยินดีจ่ายในราคาสูงกว่า เพื่อให้ได้รับสินค้าที่คุณภาพเชื่อถือได้ โดยปัจจุบัน ไก่สด/แช่แข็งและไก่แปรรูป เป็นสินค้าอาหารที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้า

เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งไก่สดไก่แช่แข็งและไก่แปรรูป ญี่ปุ่นยินยอมเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าในการเจรจากับประเทศคู่ค้า รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นบริโภคไก่ปีละ 2.5 ล้านตัน แบ่งเป็นผลิตในประเทศปีละ 1.4 ล้านตัน หรือประมาณ 65-70% และนำเข้าปีละ 9.5 แสน-1 ล้านตัน โดยปี 2559 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์รวม 973,356 ตัน เพิ่ม 4% มูลค่า 3,049 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้นำเข้า 662,899 ตัน เพิ่มขึ้น 2.8% คิดเป็นมูลค่า 2,235.08 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่ม 12%

นางอภิรดี กล่าวว่า ชนิดของไก่ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามากสุดปี 2559 ได้แก่ ไก่สดหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง นำเข้าจากไทยสัดส่วน 26.6% อันดับสองคือไก่แปรรูป โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 63.3% อันดับสามคือไก่สดทั้งตัวแช่แข็ง นำเข้าจากไทย 3.5% สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปของไทยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่ารวม 1,817.22 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไปญี่ปุ่น อันดับ 1 มูลค่า 1,033.06 ล้านเหรียญสหรัฐ

พาณิชย์ขู่ร้านค้าฉวยโอกาสโก่งราคาซ้ำเติมประชาชนช่วงน้ำท่วมเจอคุกแน่ ยันสินค้าไม่ขาดแคลน ส่วนชาวนาหากจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวให้ช่วยประสานรถเกี่ยวเข้าไปเกี่ยว และโรงสีเข้าไปรับซื้อ จับตาปาล์มน้ำมันราคาตกผลผลิตล้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเข้าไปดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาและกักตุนสินค้า หากพบการฝ่าฝืนก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

“ขอให้สำรวจสถานการณ์ราคาสินค้าด้วยว่า พื้นที่ใดมีปัญหาสินค้าขาดแคลน ให้เร่งประสานงานนำสินค้าจากพื้นที่ใกล้เคียงส่งเข้าไปในพื้นที่ทันที และให้เตรียมความพร้อมหากน้ำลด ให้เพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นต่อการทำความสะอาดบ้านเรือน เช่น ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์วัสดุซ่อมแซมบ้านเรือนเพื่อให้ประชาชนได้ซื้อไปใช้ในการดูแลซ่อมแซมบ้านเรือนด้วย” นางอภิรดี กล่าว

นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่กำลังใกล้จะเก็บเกี่ยว ให้เข้าไปติดตามดูว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และให้ประสานรถเกี่ยวเข้าไปช่วยเกี่ยวข้าว และประสานโรงสีเข้าไปช่วยรับซื้อข้าวกรณีที่เกษตรกรจำเป็นต้องรีบเกี่ยวข้าวเพื่อหนีน้ำ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกข้าวรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือด้วยการทำประกันภัยข้าวนาปีไว้แล้ว เบี้ยประกันภัย 90 บาท ต่อไร่ โดยรัฐบาลจ่ายให้ 54 บาท ที่เหลือเกษตรกรจ่ายเอง แต่หากเกษตรกรเป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทางธนาคารจะดำเนินการจ่ายให้ แต่เกษตรกรจะได้รับการชดเชยความเสียหายต่อไร่อยู่ที่ 1,260 บาท

ในส่วนของปาล์มน้ำมันมีผลผลิตออกมามากในช่วงนี้ ทำให้ราคาตกต่ำ ไม่ได้เกิดจากการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศราคาใกล้เคียงกัน จะมีการหารือในหน่วยงานหามาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมาตรการเดิม เช่น ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อดูดซับผลผลิตไว้

ราคามะพร้าวดีต่อเนื่อง เกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มปีละ 20% รวมกว่า 1 ล้านไร่ นายกสมาคมสวนมะพร้าวไทยเผยไทยรั้งปลูกมะพร้าว อันดับ 6 ของโลก ส่งออกตีตลาดจีน ยุโรป อเมริกา ชี้ผู้บริโภคมั่นใจผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม-กะทิจากไทย คาดปี 2561 เติบโตต่อเนื่อง ตลาดต้องการสูง เชื่ออีก 5 ปี มะพร้าวขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจแทนที่สวนยาง-ปาล์ม

นายวนิชย์ ปักษ์กิ่งเมือง นายกสมาคมสวนมะพร้าวไทย healthsecrets.net เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่ปี 2556 ราคามะพร้าวเป็นกราฟที่สูงขึ้นในทุกปี เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 10 บาท/ลูก สวนทางกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เกษตรกรหลายรายเริ่มโค่นสวนยางพาราและสวนปาล์มหันมาปลูกมะพร้าวแทน เพราะมะพร้าวสามารถขายได้ทุกส่วนของผลผลิต ทั้งยังเป็นสินค้าบริโภคที่รัฐบาลให้การสนับสนุน คาดว่าอีกประมาณ 5 ปีในอนาคต มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่การทำสวนยางพาราหรือสวนปาล์มได้ และจะกลายมาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

ปัจจุบัน ราคามะพร้าวแก่ที่นำมาทำกะทิราคา 21-22 บาท/ลูก มะพร้าวน้ำหอมราคาประมาณ 7 บาท/ลูก ถือว่าราคาดีตามฤดูกาล ทั้งนี้เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นหลายหมื่นไร่ทั่วประเทศ หรือประมาณ 20% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการส่งออกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะมะพร้าวที่นำมาทำเป็นกะทิเพื่อส่งออก ประเทศไทยต้องนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ตลอดทั้งปีตั้งแต่ปี 2559 กว่า 50% ซึ่งประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งการตลาดกับประเทศไทยพอสมควร ขณะที่ประเทศไทยปลูกมะพร้าวเป็นอันดับ 6 ของโลกแต่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากกว่า

“ปัจจุบันเวียดนามและอินโดนีเซียเริ่มหันมาทำกะทิส่งออกเอง แต่ยังไม่มียอดขายมากนัก เพราะผู้บริโภคเชื่อมั่นผลผลิตจากประเทศไทยมากกว่า และประเทศไทยเองกลับมีโรงงานแปรรูปไม่เพียงพอต่อผลผลิต ถึงกระนั้นมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยยังคงคุณภาพ 100% และเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ยากที่ประเทศคู่แข่งจะเทียบได้” นายวนิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ การปลูกมะพร้าวแก่เพื่อทำกะทิใช้เวลาปลูกประมาณ 5 ปีกว่าจะได้ผลผลิตเดือนละ 1 ครั้ง เฉลี่ยต้นละ 8 ผล/เดือน ส่วนมะพร้าวน้ำหอมจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าประมาณ 3 ปี และให้ผลผลิตประมาณ 15 ผล/ปี เป็นพืชที่ตายยาก อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี หรือมากกว่านั้นก็ยังคงให้ผลผลิตต่อเนื่อง โดยใน 1 ไร่ เกษตรกรจะปลูกประมาณ 20 ต้น ส่วนปัญหาในการปลูกมีเพียงภัยแล้ง และโรคหนอนเล็กน้อย

ด้าน นายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า มะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยจากราชบุรียังคงคุณภาพนับเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีตัวเลขที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนประมาณ 4.3 หมื่นไร่ หากเป็นมะพร้าวแก่รวมกันทั้งหมดประมาณ 6 หมื่นไร่ แม้ในความเป็นจริงพื้นที่ปลูกที่เกษตรกรไม่ได้ลงทะเบียนมากกว่านั้น โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออก ถัดมาจะเป็นยุโรป และอเมริกา ขณะที่การส่งออกและการแปรรูปเพื่อการส่งออกมีมูลค่าประมาณหลักพันล้านขึ้นไป แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว แนวโน้มในปี 2561 จะมีราคาสูงขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าแล้งราคาพุ่งขึ้นถึงลูกละ 30 บาท

โดยจังหวัดราชบุรีมะพร้าวน้ำหอมส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ หนึ่งต้นจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 12-15 ทะลาย/ปี ประมาณ 10 ลูก/1 ทะลาย มีประมาณ 45 ต้น/ไร่ ราคาต่ำสุดจะอยู่ที่ 7 บาท/ลูก นอกจากนี้ยังมีลูกมะพร้าวน้ำหอมที่นำไปเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสูงมากเช่นเดียวกัน เพราะมียอดการสั่งจองล่วงหน้า 5-6 เดือน ราคาต้นละ 80-100 บาท