แต่ด้วยความเป็นเด็กหนุ่ม ที่มีความคิดกว้างไกล อยากเปลี่ยน

อาชีพขายของโชห่วยที่จำเจ และเบื่อหน่าย โอกาสจะร่ำรวยนั้นเลิกคิดได้ ขืนอยู่ไปก็หมดอนาคตสร้างครอบครัวเขาจึงตัดสินใจไปหาญาติที่อำเภอบ้านนา ว่าจะปรึกษาจะทำอาชีพอะไรดี ญาติที่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ก็บอกว่า มาเลี้ยงไก่ดีกว่า แต่เขาไม่มีความรู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างไร

ความเป็นชายหนุ่มโสดหน้าตาดี มีความมุ่งมั่นสูง แต่มีความทะเยอทะยานอยากรวย ญาติที่บ้านนาเห็นว่าเขามีอนาคตจึงใช้วิธีเรียนลัดให้รู้จักสาวงามแห่งบ้านนา ที่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กับครอบครัวที่มีพี่ชายเป็นเจ้าของฟาร์ม

เมื่อหนุ่ม “เคว้ง” หรือ อรรณพ อัครนิธิยานนท์ เห็นตัวจริง เขาก็ตัดสินใจให้พ่อแม่ ที่กรุงเทพฯ มาสู่ขอโดยไม่รั้งรอให้นานเกินควรด้วยเป็นคนหนุ่มใจร้อนเป็นทุนเดิม เขาได้ให้พ่อแม่มาสู่ขอตามธรรมเนียมคนจีน โดยฝ่ายหญิงยังไม่ทันตั้งตัว แต่ด้วยประเพณีชาวจีน พ่อแม่ได้เห็นว่าลูกสาวอายุพอที่จะออกเรือนได้แล้ว ส่วนว่าที่เจ้าบ่าวในวันมาสู่ขอ ด้วยบุคลิกที่หน้าตาดี ฉลาด คล่องตัว มาเปิดตัวอยู่ในบ้านเจ้าสาว ทำให้ว่าที่พ่อตาได้เห็นโฉมหน้าว่าที่ลูกเขย โดยลูกเขยไม่ทันเห็นว่าที่พ่อตา

ทันใดนั้นเสียงพ่อตามากระซิบกับแม่ยายที่หลังบ้าน ว่า

“เด็กหนุ่มที่จะมาสู่ขอลูกสาวเรานั้น หน้าตาดี ในตำราดู โหงวเฮ้งแล้ว ในอนาคตจะเป็นคนร่ำรวยอย่างมหาศาล”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เกือบ 40 ปี ที่เด็กหนุ่มชื่อ เคว้ง มีภรรยาชื่อ ซ้อสุนิสา อัครนิธิยานนท์ อยู่ด้วยกันสร้างรากฐานที่มีทั้งฟาร์มไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกรฟาร์ม นับหลายล้านตัว ลูกๆ ไปเรียนจบจากอเมริกา สร้างอาณาจักรขยายไปถึงจังหวัดชัยภูมิ

เสี่ยเคว้ง และ ซ้อสุนิสา เหมือนคู่สร้างคู่สมกันจริง หากพูดถึง “ซ้อ” แล้วต้องเป็นที่ประทับใจในความสามารถในด้านการตลาดไข่ไก่ สามารถจะล่วงรู้ตลาดไข่ไก่ที่ระบายสู่ท้องตลาดและคล่องตัวในวงการค้าไข่หาตัวจับยาก เพราะประสบการณ์ขายไข่มันต้องใช้เวลาสะสม และทันต่อเหตุการณ์ จนสามารถระบายไข่ได้ทัน

ฝ่ายเสี่ยเคว้งนั้นเป็นนักผลิตตัวยง โรงเรือนที่บ้านนา ฟาร์มเขาขยายปลูกเป็นเล้าอีแว้ป ราคาหลังละเป็นล้านบาทให้ไก่อยู่ ในอากาศห้องแอร์ ถนนสร้างภายในฟาร์มเป็นถนนที่สร้างด้วยคอนกรีต อยากให้กรมทางหลวงมาดูงานที่ฟาร์มนี้จัง ฤดูฝนไม่มีปัญหา ไม่เหมือนชาวบ้านชนบทที่ร้องเรียนเรื่องถนนแย่

ความเป็นคนทำอะไรทำจริง เขามีฟาร์ม มีผู้จัดฟาร์ม มีบ้านพัก ผู้จัดการฟาร์ม แพทย์ มีครบครัน เงินเดือน โบนัส ไม่แพ้บริษัทเอกชน อาจดีกว่าด้วยซ้ำไป ถ้าพนักงานทำงานดีก็มีผลตอบแทนสูง

อาจเป็นเพราะบริษัทที่เถ้าแก่ดูแลถึงปัญหาการเหลื่อมล้ำ ไม่มีต่อพนักงานด้วยกัน ทุกคนอยู่อย่างมีความหวัง การบริหารเถ้าแก่ถึงลูกจ้าง จึงไม่มีช่องว่าง

กล่าวถึงธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขามีบริษัทอยู่สองบริษัท คือ บริษัท แสงทองปศุสัตว์ จำกัด และ บริษัท ชัยภูมิฟาร์ม จำกัด

กิจการฟาร์มมีทั้งฟาร์มจังหวัดชัยภูมิ อยู่ที่สระสี่เหลี่ยม อำเภอจัตุรัส และที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ธุรกิจของเสี่ยเคว้งมีเครือข่ายไปถึงภาคอีสาน ในด้านการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีเกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ต้องปรึกษากับเขา ส่งเสริม อยากเป็นสมาพันธ์ไข่ เพื่อรวบรวมไข่เป็นองค์กรเดียว สามารถควบคุมปริมาณไข่ไก่และบริหารไข่ไปทางเดียว

เพราะปัญหา “เอ้กบอร์ด” ยังควบคุมตลาดไข่ไก่ไม่เต็มที่ มีปริมาณไข่ไก่เกินความต้องการ ที่ผ่านมาปลายปีไข่ไก่ราคาตก ราคาหล่นมาในรอบ 30 ปี เพราะผลิตไข่เกินความต้องการตลาด ที่ต้องการ วันละ 42-43 ล้านฟอง ต่อวัน แต่ผลิตได้เกิน ถึง 44-45 ล้านฟอง ต่อวัน…เกินวันละ 1-2 ล้านฟอง ซึ่งมีข้อยุติให้ลดจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ถึงแสนตัว ด้วยมาตรการของเอ้กบอร์ด

อดีตถึงปัจจุบัน อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ที่คนไทยเคยบริโภคไข่จากจำนวนน้อย หรือ 110 ฟอง ต่อคน ต่อปี กว่า 20 ปี ที่ผ่านมา คาดว่าคนไทยคงจะบริโภคให้ถึง 300 ฟอง ต่อคน ต่อปี เพราะคนรุ่นใหม่หันมาบริโภคไข่กันมากขึ้น เนื่องจากเขาวิจัยแล้วว่า กินไข่วันละหลายฟองมีประโยชน์มาก ต่างกับ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เคยแนะให้บริโภคไข่วันละฟองไม่ต้องไปหาหมอ เดี๋ยวนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน ไข่บริโภคได้ 5-6 ฟอง ต่อวัน มีประโยชน์มาก คนสูงอายุบริโภคได้ 2 ฟอง ต่อวัน คุณค่าอาหารจากไข่ไก่มีประโยชน์จริงมากกว่าให้โทษ

ผู้เขียนที่เคยศึกษาเรื่องตลาดไข่ไก่มาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ในด้านปัญหายังมีคล้ายๆ เหมือนเดิม ต่างกันกับปัจจุบันมีบ้างที่หายไป

ประการแรก เรื่อง “ล้ง” รับซื้อไข่ที่ทรงอิทธิพลในด้านการควบคุมราคา สมัยก่อน “ล้ง” สามารถให้สินเชื่อแก่ลูกเล้าได้แล้ว หากราคาไข่ไก่ที่ขายกัน “ล้ง” กำหนดราคาไข่ไก่มาตลอด แต่ปัจจุบันล้งค่อยๆ หายไป เพราะฟาร์มไข่ไก่ใหญ่ขึ้นมา ขายไข่ด้วยตนเอง ไม่ผ่านล้งไข่ เหมือนอาชีพเป็ดไล่ทุ่ง ที่ปล่อยลูกเป็ดให้ชาวบ้านเลี้ยง เดี๋ยวนี้ชาวนาซื้อลูกเป็ดไปเลี้ยงไล่ทุ่งเอง ไม่ผ่านนายทุนอีกต่อไปแล้ว แต่อาจจะมีหลงเหลือบ้างก็เป็นรายย่อยๆ

ประการที่สอง ปัญหาโรงเรียนปิดเทอม ก็ยังคล้ายของเดิม โรงอาหารของอาหารโรงเรียนปิด ไข่ไม่มีขาย เด็กอยู่บ้านงดไข่โดยปริยาย ปัญหาเรื้อรังแก้ยากมาก ต้องระดมไข่ไก่มีประโยชน์ให้เด็กเห็นคุณค่าไข่มากขึ้น เพราะปริมาณไข่จะลดยากเพราะสภาพเล้าอีแว้ประบายอากาศได้ไข่สุขภาพดีขึ้น

ประการที่สาม อากาศร้อนช่วงปิดเทอมปลายตรงกับอากาศร้อน เดือนมีนาคม-เมษายน ปัญหาเกิดกับฟาร์มไก่ไข่ อัตราการตายสูงจากความร้อน อัตราการไข่ลดลง ไก่กินอาหารน้อย ฟาร์มไก่ควรหาทางสร้างเล้าอีแว้ปแม้จะแพง ก็คุ้มกับการลงทุน

ประการสุดท้าย เรื่องไข่ล้นตลาด ปัญหาหยุดลง เพราะเอ้กบอร์ดระงับ และลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ลง

เรื่องโรคโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ที่คนเลี้ยงสัตว์ปีกกลัวกันนั้น กรมปศุสัตว์ควบคุมอย่างดีพอ เพราะปัญหาใหญ่สุดคงไม่เกิดได้ง่ายๆ ประสานงานกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ (เอ้กบอร์ด)

อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ต้องมีความชำนาญมากในตัวไก่ เพราะผลกำไรต่อไข่ฟองน้อยมาก

อดีตไข่ไก่ไทยเคยส่งไปขายมาเลเซีย เดี๋ยวนี้กิจการธุรกิจไก่ไข่มาเลเซียเจริญรุดหน้ากว่าไทยเยอะมาก อย่าได้ล้าหลังกว่าเขามากนัก หากไทยมีมาตรการดีๆ น่าจะรวมตัวกัน ไม่แบ่งก๊กแบ่งเหล่า ขึ้นชื่อคนไทย รวมตัวสามัคคีกันยาก ธุรกิจไก่ไข่พัฒนาไปไกลแล้ว

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างช่างเกษตรท้องถิ่น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตรวจเช็ก ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรแก่เกษตรกรด้วยกันในท้องถิ่น และปรับตัวรองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกลขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันมีการถือครองอยู่ไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านเครื่อง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดงานบริการซ่อมเครื่องยนต์เกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ในวันที่ 7 มี.ค. 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.ภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น โดยจะนำช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 3 ที่ผ่านการอบรมจากกรมมาให้บริการซ่อมเครื่องยนต์เกษตรแก่เกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรเกษตรของเกษตรกร

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบริการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร/เครื่องจักรกลการเกษตร นิทรรศการถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนการแข่งขันซ่อมเครื่องยนต์เกษตร และตอบปัญหาชิงรางวัลด้านเครื่องยนต์เกษตร/เครื่องจักรกลการเกษตรด้วย “ช่างเกษตรท้องถิ่น” แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 1 มีทักษะในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 500 บาท ต่อเครื่อง ต่อปี

ระดับที่ 2 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 1 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม ให้สามารถบริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,000 บาท ต่อปี ต่อเครื่อง

และระดับที่ 3 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตร ระดับที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม ให้สามารถบริการตรวจเช็คซ่อมแซมใหญ่ เครื่องยนต์เกษตร (Overhaul) ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,500 บาท ต่อเครื่อง ต่อปี พร้อมได้รับการสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรให้นำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมด้วย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร จัดฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อให้มีทักษะสู่การเป็นช่างเกษตรท้องถิ่นในทุกปี ผ่านการฝึกอบรม 3 หลักสูตร ใน 3 ระดับ ดังกล่าว ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นกว่าหมื่นราย ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้และให้บริการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรแก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเกษตรกรผู้สนใจรับบริการซ่อมเครื่องยนต์เกษตร เข้าร่วมงานบริการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรฯ ในครั้งนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันที่ 7 มี.ค. 2562 ณ ศพก. ต.ภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น สอบถามรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-0163

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมของทั้งสององค์กร โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ.2562-2564) มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาความรู้และงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ร่วมกันใช้ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ และเพื่อร่วมกันใช้ความสามารถและองค์ความรู้ทางงานวิจัยของทั้งสององค์กรสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยของหน่วยงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ โอกาสนี้ นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. ศ.ดร.สมยศ พลับเที่ยง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติด้วย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

“…เป้าหมายที่สำคัญของ วว. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือการดำเนินงานด้านวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม

และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่ายในการพัฒนางานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ วทน. เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยนเรศวร คือการบริหารและการจัดการการศึกษาในรูปแบบการสร้างเครือข่าย (Networking) เพื่อให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการผลิตบัณฑิต ผลงานวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การจัดการข้อมูลและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพิจิตรว่า สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร ปริมาณน้ำลดระดับลงและมีสภาพแห้งขอดตลอดทั้งสาย เหลือเพียงน้ำที่ขังตามเกาะแก่งต่างๆ รวมถึงเกิดสันดอนทรายกลางแม่น้ำ ทำให้สามารถเดินเท้าข้ามไปมาหากันระหว่างสองฝั่งแม่น้ำได้อย่างสบายๆ

เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับลุ่มน้ำอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบหรือกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ แม้ว่าช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำจำนวนมาก รวมถึงเกิดปัญหาอุทกภัยอย่างซ้ำซากก็ตาม

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดพิจิตร ต่างก็เร่งไถพรวนดินเพื่อทำนาเพาะปลูกข้าวฤดูกาลนาปรังครั้งที่สองอีกนับแสนไร่ หลังจากปีนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้ามีราคาดีเฉลี่ย ตันละ 7 พัน 6 ร้อยบาท ถึงตันละ 8 พันบาท จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาทำนาเพาะปลูกข้าวกันมากยิ่งขึ้น โดยต่างคนต่างเร่งสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นไปใส่ในแปลงนาหรือกักเก็บไว้ในสระน้ำของตนเอง ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มีเหลืออยู่ในแม่น้ำยมลดระดับลงจนแห้งขอด

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดเลย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ โดยสถานการณ์การผลิตและการตลาด ปี 2562 (ปีเพาะปลูก 2561/62) ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า

จังหวัดตาก มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 553,954 ไร่ ผลผลิต 404,896 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.95 และร้อยละ 1.23 ตามลำดับ จังหวัดเลย มีเนื้อที่เพาะปลูก 527,756 ไร่ ผลผลิต 371,201 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.25 และร้อยละ 2.38 ตามลำดับ โดยทั้งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ตามแนวทางการตลาดนำการผลิต

ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ทั้ง 2 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคา ณ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า จังหวัดตาก ความชื้น 14.5% ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.37 บาท และความชื้นเกิน 14.5% กิโลกรัมละ 7.27 บาท จังหวัดเลย ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.05 บาท และความชื้นเกิน 14.5% กิโลกรัมละ 6.06 บาท

สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 หลังนา (พฤศจิกายน 2561 – กุมภาพันธ์ 2562) ในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดเลย พร้อมจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 โดยคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตแน่นอน

อย่างไรก็ตาม รัฐควรมีมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวโพดภายในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดตากและเลย ซึ่งมีแนวชายแดนติดกับประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด่านศุลกากร ฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อออกลาดตระเวนในบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง และเตือนผู้ประกอบการห้ามลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาภายในประเทศอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ตามสถิติของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2561 จีดีพี (GDP : GROSS Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ มีมูลค่า 15 ล้านล้านบาท ส่วนในภาคเกษตรกรรมเพียง 7 แสนล้านบาท เท่านั้น ซึ่งในทางตรงข้ามเมื่อมองมาที่แรงงานภาคการเกษตรกลับมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ หรือจำนวน 12.4 ล้านคน

ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอนี้ ภาครัฐจะต้องใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อนำไปใช้วางแผนการพัฒนาการเกษตรไทยในอนาคต ขณะเดียวกันยังสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์

ขอขอบคุณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เขตจตุจักร รายงานว่า ปี พ.ศ. 2561 สถานการณ์การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง มีรายละเอียดดังนี้

ข้าว มีเกษตรกรประกอบอาชีพการทำนา 3.7 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 67 ล้านไร่ ผลผลิตรวมทั้งฤดูนาปีและนาปรัง 31 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตเฉลี่ย 446 กิโลกรัม ต่อไร่ ปริมาณการส่งออก 10 ล้านตันข้าวสาร มูลค่าส่งออก 1.5 แสนล้านบาท และใช้บริโภคภายในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสาร ข้าวเป็นพืชที่อ่อนไหวทางการค้าพืชหนึ่ง หากปีใดประเทศคู่ค้าของไทย ไม่ว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศในแอฟริกา มีผลผลิตดี จะส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยมีปัญหา คู่แข่งสำคัญคือ เวียดนาม และอินเดีย

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวนเกษตรกร 4.5 แสนครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 6.5 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4.7 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 644 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่มีการใช้ภายในประเทศ 5.3 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และสหรัฐอเมริกา อีก 1.6 แสนตัน เนื่องจากการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

มันสำปะหลัง จำนวนเกษตรกร 5.6 แสนครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 8.6 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 32 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3.2 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศ 9.4 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออกทั้งหมด ทั้งรูปมันเส้น และมันสำปะหลังแปรรูป ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อียู ผลิตข้าวสาลีได้มากเกินความต้องการ จึงหันมาใช้ข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์แทนมันสำปะหลัง ทำให้การส่งออกได้น้อยลง ส่งผลทำให้ราคาตกต่ำตามไปด้วย

อ้อย เกษตรกร 3.6 แสนครัวเรือน ผลผลิต 106 ล้านตัน แปรรูปเป็นน้ำตาลทรายได้ 11.4 ล้านตัน ปริมาณการส่งออก 3.6 ล้านตัน คู่ค้าสำคัญ มี อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น เมียนมา ซูดาน และกัมพูชา (อัตราเปลี่ยนอ้อยสด จาก 1,000 กิโลกรัม ได้น้ำตาลทราย 108 กิโลกรัม : ข้อมูลจากสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย)

สับปะรดโรงงาน เกษตรกร 3.2 หมื่นครัวเรือน เนื้อที่เก็บเกี่ยว 4.4 แสนไร่ ผลผลิต 1.7 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศ 0.2 ล้านตันนอกจากนี้ ส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งสับปะรดแปรรูปในตลาดโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.0 หมื่นล้านบาท

ยางพารา เกษตรกร 1.4 ล้านครัวเรือน พื้นที่กรีดได้ 18.8 ล้านไร่ ผลผลิตในรูปยางแผ่นดิบและยางแท่ง รวม 8.7 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศเพียง 5 แสนตัน นอกจากนั้น ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลผลิตเฉลี่ย 250 กิโลกรัม ต่อไร่

ปาล์มน้ำมัน เกษตรกร 2.1 ครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยวได้ 4.2 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2.5 ตัน ต่อไร่ ใช้ในประเทศ 1.8 ล้านตัน ต้องนำเข้าปริมาณ 1.5 แสนตัน

มะพร้าว เกษตรกร 2.3 แสนครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยว 1.1 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 775 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตทั้งหมด 9.0 แสนตัน ใช้ในประเทศ 1.1 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้า 1.1 แสนตัน โดยนำเข้าจากอินโดนีเซีย และศรีลังกา

ทุเรียน เกษตรกร 1.2 แสนครัวเรือน เนื้อที่เก็บเกี่ยว 5.7 แสนไร่ ผลผลิต 6.0 แสนตัน ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่งออกไปต่างประเทศ 3.5 แสนตัน ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ มี จีน ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง

มะม่วง เนื้อที่เก็บเกี่ยว 2.1 ล้านไร่ ผลผลิต 3.1 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1.4 ตัน ต่อไร่ ส่งออกไปต่างประเทศ 7.1 หมื่นตัน

กล้วยไม้ พื้นที่เก็บเกี่ยว 2.2 หมื่นไร่ ผลผลิตรวม 5.0 หมื่นตัน ส่งออก 2.4 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านบาท

ไก่เนื้อ เกษตรกร 1.0 หมื่นครัวเรือน ผลผลิตรวม 1.3 ล้านตัว ใช้บริโภคภายในประเทศ 1.1 ล้านตัน ส่วนเกินส่งออกไปยังยุโรป ญี่ปุ่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และจีน

โคเนื้อ เกษตร 6.7 แสนครัวเรือน ผลิตได้ 9.9 แสนตัว ใช้บริโภคภายในประเทศ 1.3 ล้านตัว ต้องนำเข้า 3.1 แสนตัว

กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เกษตรกร 1.9 หมื่นราย ผลผลิต 2.8 แสนตัน ใช้ภายในประเทศ 4.0 หมื่นตัน

จากสถิติข้างต้น ทำให้มองภาพรวมของการเกษตรไทยได้ชัดเจนขึ้น หากภาครัฐนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและจริงจัง ปัญหาที่มีอยู่จะทุเลาเบาบางลง หรือหมดไปในที่สุด