แนะวิธีปลูกผักแบบไส้ตะเกียง ใช้น้ำน้อย ประหยัดพื้นที่

ตำบลภูเขาทอง อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเขตที่ราบสูงที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชได้ทุกชนิด แต่ชาวบ้านที่พักอาศัยในบริเวณรอบเขตเมืองนั้นส่วนใหญ่พากันซื้อผักจากตลาดมาบริโภค ชาวบ้านบางครอบครัวไม่มีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวกินเอง แถมผักที่ซื้อขายในท้องตลาดนั้นค่อนข้างมีราคาแพงและเต็มไปด้วยสารเคมี ดังนั้น การปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองนั้นจึงเป็นการสำรองอาหารอีกวิธีหนึ่ง

นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทอง เล็งเห็นประโยชน์ของการปลูกผักจึงได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการปลูกผักด้วยวิธีการสัมภาษณ์เกษตรกร ค้นหาข้อมูลอินเตอร์เน็ต จนได้ข้อสรุปว่า การปลูกผักสวนครัวแบบไส้ตะเกียงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสะดวก ประหยัดเวลาในการปลูกและดูแลพืชผักสวนครัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักบริโภคในครัวเรือน

ปลูกผักแบบไส้ตะเกียงทำได้ง่าย ไม่ยากการปลูกผักแบบไส้ตะเกียง เริ่มจากจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์คือ ท่อน้ำพีพีซี เลื่อยตัดเหล็กสำหรับตัดท่อน้ำพีพีซี คัตเตอร์ กรรไกร ด้าย ถังน้ำ ตะกร้า ผักสวนครัว รวมทั้งวัสดุสำหรับปลูกพืช เช่น ดินร่วน ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ

วิธีทำ เริ่มจากนำด้ายมาทำเป็นไส้ตะเกียง หลังจากนั้น ตัดท่อพีพีซีสำหรับเติมน้ำในถัง นำตะกร้ามาเจาะรูใส่ท่อเติมน้ำพร้อมนำไส้ตะเกียงมาใส่ นำพืชผักสวนครัวที่เตรียมไว้มาปลูกในตะกร้า นำดินมาเติมใส่ให้เต็ม หลังจากนั้นรดน้ำพอให้ชุ่ม ปล่อยให้พืชเติบโตตามธรรมชาติ

หลังการเพาะปลูก นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองพบว่า การปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าซื้อผัก ค่าน้ำมันรถหรือค่ารถไปตลาด แถมประหยัดเวลาในการดูแลรักษา สามารถนำไปใช้งานได้จริงในการใช้ชีวิตแบบหอพักหรือคอนโดฯ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ให้สามารถปลูกผักสวนครัวไว้กินเองได้

นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองได้ต่อยอดนวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียง โดยนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้นำความรู้นี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเรื่องการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงในแต่ละครัวเรือน และสามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ขณะเดียวกัน สามารถต่อยอดในรูปแบบปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในสำนักงานได้อีกด้วย

นวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงใช้หลักการดูดน้ำมันของไส้ตะเกียงในสมัยก่อน เมื่อเราจุดไฟที่ไส้ตะเกียง น้ำมันที่อยู่ในเชือกจะถูกเผาเป็นเชื้อเพลิง เมื่อน้ำมันที่อยู่ด้านบนเชือกถูกใช้ไป น้ำมันด้านล่างก็จะซึมมาแทนที่ ทำให้เกิดการติดไฟอย่างต่อเนื่อง การปลูกผักก็เช่นกัน เมื่อใช้เชือกเศษผ้าหรือเชือกที่สามารถซึมซับน้ำได้มาเป็นส่วนที่จะทำหน้าที่ดูดน้ำขึ้นมาให้กับต้นผักของเรา โดยเชือกนี้จะอยู่ในน้ำครึ่งหนึ่งและในดินอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อต้นผักดูดน้ำในดินไปจะทำให้ดินแห้ง แล้วน้ำที่ซึมอยู่ในเชือกก็จะถูกกระจายออกไปยังดิน ทำให้เกิดการดูดน้ำขึ้นมาอัตโนมัติตามที่ผักต้องการ

สรุปข้อดีของนวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงคือ ช่วยลดการให้น้ำ ลดเวลาในการดูแล และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สามารถปลูกพืชผักสวนครัวแบบไส้ตะเกียงได้ทุกแห่ง ช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่อาคารบ้านเรือนได้อีก

อนึ่ง ความสำเร็จของการศึกษาโครงงานเรื่องนี้ นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองได้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาจาก นางปัทมา เวียงอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหนองพอก พร้อมด้วย นายมานิตย์ นิลผาย และ นายบรรเทิง ขานดา ครู กศน.ตำบลภูเขาทอง ที่ได้ให้ความกรุณาชี้แนะแนวทางและการตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่องของโครงงานจนสำเร็จด้วยดี

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด

สืบเนื่องจากปัจจุบันที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะต้นทุนค่าครองชีพที่สูงและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน กศน. จึงให้ความสำคัญส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ดได้สนองนโยบายรัฐบาล มุ่งส่งเสริมอาชีพ เพื่อการมีงานทำ เพื่อประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงชี้แนะแนวทางการพัฒนาชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมี พอใช้ การรู้จักพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล ส่งเสริมความประหยัดในครัวเรือนและพัฒนาพื้นที่เกษตรสู่ “โคก-หนอง-นา” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อพัฒนาบุคลากร กศน. ให้มีความรู้ เกิดทักษะ และสามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษา สามารถถ่ายทอด ขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ให้บุคลากร นักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิตอย่างคุ้มค่า

กศน.อำเภอหนองพอก

นางปัทมามอบหมายให้ ครู กศน.ตำบลมีการบูรณาการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทุกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในด้านการสอนและการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทำให้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพสามารถพึ่งพาตนเองได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

นางปัทมานำคณะครูและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off การน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว รณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพร ต้านภัยโควิด-19 รอบ 2 ต่อเนื่อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายพัสกร ธนแสนไทย นายอำเภอหนองพอก เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ผักกวางตุ้ง…หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง เมื่อนำมานึ่งหรือลวกกินกับน้ำพริก ผัดกับหมู ผัดใส่ปลากระป๋อง หรือแกงส้มผักกวางตุ้งกับเนื้อปลานิล จะได้รสแซบอร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง การปลูกผักกวางตุ้งหมุนเวียนกับผักชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง หรือสารสมุนไพร มีน้ำสะอาดใช้พอเพียง ควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือแหล่งปลูกผักใกล้เคียงไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากปลูก 45 วัน ก็มีผักกวางตุ้งอินทรีย์คุณภาพให้เกษตรกรได้ตัดเก็บไปขาย ทำให้มีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพ

คุณกวิลยุทธ รากทอง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน เล่าให้ฟังว่า ผักกวางตุ้ง หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง และผักอื่นๆ เป็นผักอินทรีย์ที่ตลาดมีความต้องการปริมาณมาก จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่ทำให้ทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค หรือสภาพแวดล้อมปลอดภัย และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อก้าวสู่วิถีที่มั่นคง

การเกษตรอินทรีย์เป็นกระบวนการปลูกพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ทั้งปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ได้ทดแทนด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้สารสมุนไพร พื้นที่ปลูกไม่ใกล้กับแปลงปลูกพืชผักที่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หรือต้องไม่ใกล้แหล่งมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม หรือน้ำใช้ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี ก็จะทำให้ได้ผักอินทรีย์ปลอดภัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือหัวใจของเกษตรอินทรีย์คือ ยึดหลักความสมดุลตามธรรมชาติ

คุณป้าจตุพร วงเวียน เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนจะปลูกผักตามหัวไร่ปลายนาเพื่อเก็บมาทำเป็นอาหารกินในครัวเรือน เมื่อปี 2553 ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล ให้ปลูกพืชผักอินทรีย์ด้วยการงดใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต ตัดเก็บมากินเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และตัดเก็บไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนมีความมั่นคงในการยังชีพ

เมื่อคิดพิจารณาร่วมกับสามีแล้ว จึงตัดสินใจปลูกพืชผักอินทรีย์ พื้นที่กว่า 2 งาน ปลูกเป็นพืชหมุนเวียน ด้วยการปลูกผักกวางตุ้งสลับกับการปลูกผักบุ้งจีน ผักชีลาว มะเขือเปราะ แมงลัก ชะอม หรือคะน้า การปลูกจะไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ทดแทนด้วยการใช้สารสมุนไพร ใช้ปุ๋ยคอกแห้ง หรือปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อนเกษตรกรรอบๆ บริเวณพื้นที่แปลงปลูกก็ร่วมมือกันไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด จึงมั่นใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะมีผักอินทรีย์คุณภาพแน่นอน

การเตรียมดิน… ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลูกได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด หรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี การเตรียมดินได้ไถดะพลิกดินบนลงล่าง แล้วตากแดด 7-10 วัน จะช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินออกไป แล้วไถแปรทำให้ดินร่วนซุยพร้อมกับกำจัดวัชพืช จากนั้นหว่านปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน แล้วไถคราดคลุกเคล้ากัน ยกแปลงปลูกให้สูง กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวแปลงเป็นไปตามแนวพื้นที่ ระหว่างแปลงปลูกได้เว้นระยะห่าง 60 เซนติเมตร เพื่อจัดให้เป็นทางเดินหรือทางระบายน้ำ

การปลูก… ทำได้ด้วยการหว่านและการหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก การหว่านเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จได้หว่านเมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้งให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกออกเพื่อให้ต้นผักมีระยะห่างกันเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จแล้ว

บนแปลงปลูกได้ทำเป็นร่องลึก 1.5-2 เซนติเมตร ยาวตามแนวพื้นที่ จัดให้แต่ละร่องห่างกัน 20-25 เซนติเมตร จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์กวางตุ้งหยอดหรือโรยลงไปในร่อง ให้ระยะห่างกันสม่ำเสมอ คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ ให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกไปปลูกในแปลงพร้อมกับจัดให้ต้นผักแต่ละต้นห่างกัน 20-25 เซนติเมตร แล้วคอยปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตไปกระทั่งถึงวันตัดเก็บ

การใส่ปุ๋ย… ตลอดฤดูปลูกผักกวางตุ้งได้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแห้ง 2 ครั้ง ในอัตรา 1.5-2 ตัน ครั้งแรก ได้ใส่ปุ๋ยในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกไปแล้ว ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากปลูกหรือเมื่อต้นผักกวางตุ้งอายุ 15-20 วัน ด้วยการโรยปุ๋ยใส่ระหว่างแถวต้นผัก พร้อมกับพรวนดินและถอนแยกกำจัดวัชพืชออกไปด้วย จากนั้นให้น้ำแต่พอชุ่ม ก็จะช่วยทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี

การให้น้ำ… ผักกวางตุ้งต้องการน้ำค่อนข้างมาก หรือได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ พื้นที่แปลงปลูกต้องระบายน้ำได้ดี ที่นี่ให้น้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อวัน ด้วยการฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอยกระจายทั่วแปลงผัก การให้น้ำได้สังเกตดูความชื้นในดินก่อน จึงตัดสินใจเพิ่มหรือลดการให้น้ำ วันที่มีฝนตกก็งดการให้น้ำ และต้องระวังอย่าให้น้ำท่วมขังแปลงผัก หรืออย่าให้ผักกวางตุ้งขาดน้ำ เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช…ในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกได้ปล่อยดินตากแดดไว้หลายวัน การพรวนดินหรือถอนแยกวัชพืชออกจากแปลงเป็นการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชผักหรือโรคแมลงศัตรูพืชให้ลดน้อยลงหรือหมดไป หรือการใช้สารสมุนไพรก็เป็นหนึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลอดภัยได้คุณภาพ

คุณป้าจตุพร เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า หลังจากปลูกได้ 45 วัน ต้นผักกวางตุ้งจะเจริญเติบโตสมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว การตัดเก็บได้ใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น เลือกตัดต้นที่มีขนาดใหญ่แล้วนำขึ้นมาตัดแต่งใบแก่ที่อยู่รอบนอก หรือพบว่าใบมีร่องรอยการทำลายของโรคหรือแมลงทำลายออก จากนั้นนำไปล้างน้ำให้สะอาด จัดใส่ในถุงพลาสติก จัดวางในภาชนะและเก็บรักษาไว้ในร่มเพื่อเตรียมขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า

รายได้และความมั่นคง… ทุกครั้งได้ตัดเก็บผักกวางตุ้งอินทรีย์ตามจำนวนที่ตลาดหรือพ่อค้าสั่งซื้อ ตั้งแต่ 15-20 กิโลกรัมหรือมากกว่า ขายราคา 20 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้แต่ละครั้งจะมีรายได้มากกว่า 300 บาท นอกจากนี้ ก็จะมีรายได้จากการรับจ้างทำงานทั่วไปมากกว่า 300 บาท ต่อวัน การตัดสินใจปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์หมุนเวียนกับพืชผักชนิดอื่นเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือการเกษตรอินทรีย์ที่ยึดหลักความสมดุลในธรรมชาติ ที่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงและยังชีพได้อย่างมั่นคง

จากเรื่อง ผักกวางตุ้งอินทรีย์…ปลูกง่าย 45 วัน ตัดเก็บขายรายได้ดี วิถีเกษตรพอเพียง เป็นหนึ่งอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อต้องสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณป้าจตุพร วงเวียน 78/2 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 061-379-9870 หรือ โทร. 086-127-0762 หรือ คุณกวิลยุทธ รากทอง สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล โทร. 087-239-1780 หรือที่ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. 087-959-5433 ก็ได้ครับ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจมีผลกระทบอย่างมาก เกษตรกรหลายรายหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกผักกินเองภายในสวน พร้อมกับส่วนที่เหลือยังสามารถสร้างรายได้เป็นเงินนำมาใช้จ่ายภายในครัวเรือน

คุณสุนิดา สุวรรณหงส์ เจ้าของสวนสุนิดาสวนในฝัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เกษตรกรต้นแบบที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่จำนวน 3 ไร่ มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งด้านการปลูกพืช ประมง และปศุสัตว์

คุณสุนิดา เล่าว่า จากเดิมครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เน้นปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันในที่ดินของตนเอง กระทั่งราคาของผลผลิตตกต่ำจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการศึกษาและได้แนวคิดในการทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมจากการไปศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้ตนเอง อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ จึงมีความตั้งใจให้พื้นที่ของตนเองนั้นเป็นต้นแบบการปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เริ่มต้นทำตามแนวคิดเกษตรผสมผสาน

เริ่มจากการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ใช้สอย เลี้ยงปลาในสระเพื่อเป็นอาหารและเป็นแหล่งน้ำใช้ทางการเกษตร เลี้ยงไก่พื้นเมือง และเลี้ยงผึ้งโพรงในบริเวณสวน เพื่อช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้และไม้ผล มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยนำวัสดุในท้องถิ่นมาปรับใช้ โดยได้นำหลักการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ มาใช้ปลูกพืชผสมผสาน

ผลผลิตที่อยู่ภายในสวนด้านพืช ได้แก่ กะหล่ำปลี เรดโอ๊ค กุยช่าย กระชาย กาแฟพันธุ์โรบัสต้า ไผ่หวาน ผักสำหรับเก็บยอด ได้แก่ มันปู มะตูมซาอุ มะม่วงหิมพานต์ ชะมวง พริกไทย ไม้ผล ได้แก่ ขนุนพันธุ์แดงสุริยา ทุเรียน ฝรั่ง มะละกอ มะกรูด มะนาว กล้วย เสาวรส มะพร้าว มะม่วง แก้วมังกร ประมง ได้แก่ ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล โดยเลี้ยงในบ่อดิน ขนาด 10×15 เมตร ปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ไข่ ไก่ต๊อก ไก่แจ้ พร้อมทั้งมีการเลี้ยงผึ้งโพรงไว้ในสวน ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายได้ทุกวัน ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน โดยเฉลี่ยวันละ 250-300 บาท ไม่ต้องกังวลในเรื่องของราคาสินค้าตกต่ำ เพราะมีสินค้าทางการเกษตรหลายชนิด หากสินค้าเกษตรบางชนิดราคาตกต่ำ ก็ยังมีสินค้าอย่างอื่นที่สร้างรายได้อีกทาง เพราะฉะนั้นเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราไม่ได้ออกจากบ้าน แต่เรามีทุกอย่าง พืชผัก และสัตว์เลี้ยง ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าการเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็ต้องกลับมาสู่ธรรมชาติ กลับมาอยู่ในวิถีของเกษตร กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน เหลือกินก่อนแล้วจึงแจก ผลผลิตที่เหลือก็เอามาจำหน่ายสร้างรายได้”

ปัจจุบัน สวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศูนย์เครือข่ายด้านเกษตรผสมผสาน) และคุณสุนิดาเป็นประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน มีส่วนในการช่วยงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรและเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เช่น การเลี้ยงผึ้งโพรง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเดิมเกษตรกรอาจจะมีอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว รายได้ไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว ดังนั้น จึงมีการถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

หากกล่าวถึงทุเรียนนนท์ เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึงทุเรียนก้านยาวเป็นสายพันธุ์แรกๆ ประวัติของทุเรียนนนท์มีมาแต่ช้านานแล้ว ดั้งเดิมนั้นพื้นที่จังหวัดนนทบุรี อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้บ้านชาวจังหวัดนนทบุรีสามารถทำการเกษตร การค้าได้ดี และเกษตรกรนนทบุรีนิยมทำสวนแบบผสมผสานเพื่อมีรายได้ตลอดทั้งปี

ทุเรียนนนท์มีความเป็นมากว่าร้อยปี ถือเป็นไม้ผลที่อยู่คู่กับชาวนนทบุรีมาอย่างช้านาน และทุเรียนนนท์ยังมีรสชาติอร่อย อย่างเป็นเอกลักษณ์ ทุเรียนนนท์จึงถูกยกให้เป็นทุเรียนที่ครองใจใครหลายคน แต่ต้องยอมรับเลยว่าทุเรียนนนท์นั้น มีราคาที่สูงกว่าทุเรียนในราคาท้องตลาดทั่วไป หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุผลที่แท้จริงแล้วคืออะไรกันที่ทำให้ทุเรียนนนท์มีราคาสูงกว่าทุเรียนตามท้องตลาดทั่วไป

คุณสำเริง สุนทรแสง อายุ 61 ปี อาศัยอยู่ที่ซอยบางกร่าง 45 (วัดแคใน) ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกทุเรียนและเกษตรผสมผสาน เจ้าของสวนทุเรียนนนท์ ยายละมัย ที่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านไม้ผล และสวนตัวอย่างในการปลูกทุเรียนนนท์ คุณสำเริง กล่าวว่า ตนเองและครอบครัวเป็นชาวนนทบุรีมาแต่ดั้งเดิม ชาวสวนนนทบุรีนิยมทำเกษตรผสมผสาน แต่ทุกสวนก็ต้องปลูกทุเรียนเพราะทุเรียนนั้นเป็นไม้ผลที่ตกทอดกันมากจากรุ่นสู่รุ่น

การเพาะพันธุ์ทุเรียน นิยมเพาะด้วยเมล็ด กิ่งพันธุ์

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมทุเรียนนนท์จึงมีชื่อเสียงที่โด่งดัง รสชาติดีเป็นเอกลักษณ์และราคาสูง แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่าย คุณสำเริงเผยถึงเหตุผลที่ทำไมทุเรียนนนท์จึงเป็นที่ต้องการและมีราคาสูง ดินเพาะปลูกในจังหวัดนนทบุรีมีความอุดมสมบูรณ์และในดินนั้นมีความเค็มแต่ไม่มาก หรือเรียกได้ว่าจังหวัดนนทบุรีอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย ด้วยดินนนทบุรีมีความเค็มจากน้ำกร่อยและแร่ธาตุสารอาหารในดินทำให้การเพาะปลูกทุเรียนนนท์มีรสชาติดีเป็นเอกลักษณ์

การปลูกแบบชาวสวนนนท์ จะยกโคก (พูนดิน) โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูก ทำให้ร่วนซุย ควรผสมแกลบดิบ 1 กระสอบ และปุ๋ยคอก 1 กระสอบ ไปกับดินที่ยกเป็นโคกจะดีมาก และพูนขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ เมื่อตัดถุงชำออกแล้ว ควรเอาดินส่วนล่างของถุงชำออกประมาณ 1 ใน 5 เพื่อให้รากทุเรียนได้เจอกับดินใหม่ที่ผสมไว้ในโคก

จากนั้นจัดรากฝอยให้แผ่ออกไปรอบๆ ต้น เมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน ทำให้แผ่กิ่งไปรอบๆ ต้น ป้องกันการโค่นล้ม ปักไม้ค้ำและผูกเชือกเพื่อป้องกันลมโยกต้นทุเรียน ระวังไม่ให้โดนราก และผูกเชือกฟางพอให้ไม้ค้ำประคองต้นได้

คุณสำเริง กล่าวว่า การดูแลทุเรียนปลูกใหม่มี 4 เรื่องหลักๆ คือ 1. การรดน้ำ 2. การบังร่ม 3. การใส่ปุ๋ย 4. การกำจัดวัชพืช การรดน้ำ ทุเรียนต้นเล็กเมื่อปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน หรืออย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นในช่วงปีแรก ถึง 3 ปี อาจให้เพียงวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง แล้วแต่ความชื้นของดินบริเวณโคนต้น สังเกตดูว่าดินนั้นซึมน้ำได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าซึมได้รวดเร็วก็ควรรดน้ำให้มากขึ้นเล็กน้อย และอาจช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ไม่ให้ระเหยเร็ว แต่ไม่ควรให้โคนต้นแฉะจนเกินไป อาจทำให้เกิดโรครากเน่าได้ง่าย ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลวกซึ่งเป็นศัตรูของทุเรียน

การให้น้ำของทางสวนจะใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะน้ำกร่อยทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตดี และมีรสชาติอร่อย แต่การใช้แหล่งน้ำธรรมชาติก็มีข้อระวัง กลุ่มเกษตรกรนนทบุรีจะมีการวัดค่าความเค็มในน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากช่วงที่มีความเค็มมากก็จะปิดระบบน้ำธรรมชาติไม่ให้เข้าสวน และใช้น้ำประปาแทน

การบังร่มให้ต้นทุเรียน ทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้น จึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก ทางสวนจึงทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทุเรียนร่วมกับพืชผักสวนครัวและไม้ผล อย่างกล้วย ส้มโอ สามารถมีรายได้ในแต่ละเดือน

การกำจัดศัตรูพืช การป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนทุเรียน ทุเรียนซึ่งมีรากอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรก นอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ดังนั้น ควรมีการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีเก็บวัชพืชหรือการปลูกพืชแซม อย่างกล้วย ที่สวนเราปลูกพืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญเติบโตได้เร็ว

คุณสำเริง กล่าวว่า valenth.com อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญและเกษตรกรนนทบุรีเป็นตัวอย่างในการนำร่อง ขุดลอกท้องร่องในทุกปี เพื่อส่งผลดีแก่ความสะอาดภายในร่องสวน และยังทำให้รากทุเรียนสามารถเจริญเติบโตได้ดี การขุดลอกท้องร่องถือเป็นปุ๋ยชั้นดีของเกษตรกรนนทบุรี

หากพูดถึงโรคของทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ต้องบอกเลยว่าเกษตรกรส่วนมากไม่ค่อยพบเจอปัญหาโรคมากนัก มีเพียงแต่ในบางครั้งค่าความเค็มในแหล่งน้ำธรรมชาติสูงเกินไป และชาวสวนลืมปิดระบบน้ำธรรมชาติไม่ให้เข้าสวน ก็ส่งผลให้ต้นทุเรียนมีใบไหม้ได้ วิธีแก้ได้ดีที่สุดคือการปิดระบบแหล่งน้ำธรรมชาติให้ไวที่สุด และใช้น้ำประปาในการรดน้ำแทน

“ทุเรียนนนท์ คือทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดนนทบุรี มีดินเดิมที่เป็นดินเค็ม (แต่ไม่เค็มมาก) มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำกร่อย ส่งผลให้ทุเรียนนนท์มีรสชาติดี เป็นเอกลักษณ์ หากนำทุเรียนสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมของนนท์ไปปลูกในพื้นที่อื่น หรือดินอื่น แหล่งน้ำอื่น ก็ไม่สามารถทำให้มีรสชาติเช่นเดิม อาจทำให้ผู้บริโภคหลายท่านได้ลิ้มลองรสชาติทุเรียนนนท์ที่แตกต่างไปจากเดิม”

สำหรับท่านใดที่สนใจทุเรียนก้านยาว หมอนทอง พวงมณี ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสำเริง สุนทรแสง ซอยบางกร่าง 45 (วัดแคใน) ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 089-300-3631 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก สวนทุเรียนนนท์ ยายละมัย

ปัจจุบันอาชีพเสริมเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่หลายๆ คนกำลังมองหา เพราะรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ซึ่งช่องทางการหารายได้มีหลากหลายด้วยกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การทำรายได้จากช่องทางออนไลน์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สร้างรายได้ ซึ่งเกษตรกรหลายท่านได้ผลิตคลิปกิจกรรมทางการเกษตรที่ทำ และการแนะนำสวนอื่นๆ ที่โดดเด่น เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างตัวตนแล้ว ยังมีรายได้จากสื่อออนไลน์และได้จำหน่ายสินทางการเกษตรไปพร้อมๆ กัน

คุณวันวิสา เทพตาแสง หรือ คุณโตโน่ ได้เสริมรายได้ด้วยการเป็นยูทูบเบอร์สายไม้ประดับควบคู่ไปกับการทำบอนไซ และจากการได้เข้าไปในสวนต่างๆ นี้เอง การได้เรียนรู้และนำมาเสนอในช่องทางออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้เขาได้รับรู้ถึงปัญหาข้อดีที่เป็นองค์ความรู้ นำมาต่อยอดในเรื่องของการผลิตบอนไซภายในสวนของเขา ส่งผลให้การทำบอนไซมีคุณภาพจำหน่ายได้ราคา