แป้งจากพืชที่เหมาะกับคนมากที่สุด ของแท้หากินยากใกล้สูญพันธุ์

“ต้นเท้ายายม่อม” เป็นพืชใช้ทำแป้งชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะ จังหวัดชลบุรี เป็นพืชที่ใกล้สูญหายไปจากชุมชน

เมื่อหลายสิบปีก่อน หากใครไปเที่ยวชลบุรี บางแสน แล้วแวะซื้อขนมของฝากแถบตลาดหนองมน จะพบว่ามีขนมไทยโบราณหลายเจ้า สารพัดทั้งขนมชั้น ขนมกล้วย เปียกปูน ครองแครง ฯลฯ น่าจะคงยังพอจำรสชาติ ความหอม หนืด หยุ่นๆ เหนียวนุ่มพอดีของขนมดังกล่าวที่มาจากแป้งชนิดหนึ่งได้ดี นั่นคือ แป้งเท้ายายม่อม ซึ่งจะมีความแตกต่างจากแป้งมันสำปะหลัง หรือแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวโพดมาก

คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมคือมีความละเอียดมาก มีสีขาว ใสและคงรูปไม่เหลวแตกต่างจากแป้งชนิดอื่นจนสัมผัสและสังเกตุได้ ทางด้านสรรพคุณ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นอารมณ์ดี ช่วยผู้ป่วยฟื้นไข้เร็วขึ้นทำให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่า แป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารมากที่สุด

เท้ายายม่อม เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีหัวสะสมอาหารกลมๆ แป้นๆ ลักษณะคล้ายหัวบุกแต่ขนาดเล็กกว่า ดอกเป็นช่อสูงได้ถึงเมตรหรือ 2 เมตร มีหนวดยาวสีเขียวเหลือบม่วงดำเป็นพู่กลมๆ ยาวได้ถึง 1 ฟุต ก็มี มีเกสรตัวผู้ 6 อัน เกสรตัวเมียเป็นรูปคล้าย 3 แฉก ภาคตะวันออกพบขึ้นได้ตั้งแต่ป่าละเมาะ หาดทราย ไปจนถึงบนเขาหินปูนที่ไม่สูงมากนัก ใบมีลักษณะเป็นแฉกๆ มีร่องเว้าลึกสวยงาม

หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้ง ที่เรียกแป้งเท้ายายม่อม เป็นพืชในฤดู พอถึงช่วงฤดูฝนต้นจะงอก แล้วสะสมอาหาร ถึงฤดูหนาวจะยุบ ใบจะเหลือง เราก็เลือกขุดหัวใหญ่ไปใช้ เหลือหัวเล็กเอาไว้สะสมอาหารในหน้าร้อน เมื่อวนกลับมาฤดูฝนหัวที่เล็กมีการสะสมอาหารมาแล้วจะพร้อมขุดไปทำแป้งแปรรูปอาหารอีกครั้ง

วันนี้เราต้องรู้ว่าพืชที่เราปลูกทำอะไรได้บ้าง ทำเป็นอะไรคนถึงจะชอบ เท้ายายม่อม ลักษณะพิเศษของเท้ายายม่อมจะใสและอยู่ตัว เทียบง่ายๆ ตามท้องตลาดเป็นแป้งจากโรงงานจะอ้างสรรพคุณว่านี่คือแป้งเท้ายายม่อม แต่เมื่อไปดูส่วนประกอบไม่ใช่แป้งท้าวยายม่อมเป็นแป้งที่ทำมาจากมันสำปะหลัง

วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ละลายน้ำง่าย ถ้าเป็นแป้งมันสำปะหลังจะมันๆ เมื่อนำไปทำอาหารคืนตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นแป้งเท้ายายม่อมแท้จะคืนตัวช้า บ้านคนเก่าแก่ยุคก่อนๆ มักจะมีแป้งเท้ายายม่อมติดครัวไว้เสมอสำหรับละลายน้ำร้อน เปียกทำวุ้น ทำขนมให้คนชราหรือผู้ป่วยกิน เชื่อว่าให้พลังงานดี กระชุ่มกระชวย ช่วยสร้างสมดุลร่างกาย ลดอาการซึมเศร้า ถือว่าเป็นตัวช่วยในการปรับสภาพอารมณ์ (Mood stabilizer)

ยอดอ่อนนำมาผัดกับกะทิสด เคี่ยวกะทิไฟอ่อนๆ พอข้นนิดๆ ใส่ยอดเท้ายายม่อมลงไปผัดต่อพอสะดุ้งไฟ กินกับน้ำพริกกะปิ กลมกล่อม ขมนิดๆ หอม มัน อร่อยมาก แป้งเท้ายายม่อมสำเร็จรูปแล้ว เม็ดจะโตกว่าแป้งทั่วไปมีสีขาวอมเทานิดๆ มีความเงาใสในตัวเอง เวลาจะใช้ก็เอามาบดเป็นผงละเอียด

อย่างที่บอก แป้งชนิดนี้จะมีความหนืด นุ่ม เหนียวกว่าแป้งอื่นมาก เมื่อนำมาอุ่นจะไม่ค่อยคืนตัวสามารถพลิกแพลงทำขนมและอาหารได้หลายอย่างสารพัดเมนู ปัจจุบันมักมีการนำเอาแป้งมันสำปะหลังมาหลอกขายเป็นแป้งเท้ายายม่อมกันให้เกลื่อน เพราะแป้งเท้ายายม่อมหายาก ราคาแพง กิโลกรัมละ 300-400 บาท เลยทีเดียว

มีนิทานเก่าของภาคตะวันออกมาเล่าให้ฟังที่มาของชื่อ “เท้ายายม่อม”

เรื่องมีอยู่ว่า ยายม่อม กับตาแม้น เป็นสามีภรรยากัน ตาแม้นเป็นชาวประมงท้องถิ่นออกเรือหาปลา จับกุ้ง งมหอย ส่วนยายม่อมทำขนมขายตลาดหนองมนหรือเปล่าไม่รู้นะ มีลูกด้วยกันคนหนึ่งเป็นลูกชายพิการ อยู่มาวันหนึ่งยายม่อมกลับจากตลาดโดนโจรใจร้ายปล้น ฆ่าหั่นศพทิ้งอย่างทารุณ เหลือเพียงนิ้วเท้า 6 นิ้ว ตาแม้นพอเห็นสภาพศพเมียก็แทบเป็นลม นำไปทำพิธีฌาปนกิจ ฝังไว้ที่ป่าช้า ตัวแกเองก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ผ่ายผอมหัวโต ร่างกายทรุดโทรมป่วยไข้ไม่เป็นอันเลี้ยงดูลูกพิการ

จนวันหนึ่งแกคงเมามานอนร้องไห้คิดถึงที่ข้างหลุมศพยายม่อมจนหมดสติ สลบไป…ยายม่อมด้วยความรักผัว ความห่วงลูกพิการ เลยมาเข้าฝัน ปลอบอกปลอบใจตาแม้นว่าอย่าเสียใจไปเลย ให้เอานิ้วเท้าฉันนี่แหละไปทำมาหากินเลี้ยงลูกเถอะ พร้อมกับสอนวิธีทำแป้งให้ตาแม้นในฝันเสร็จสรรพเรียบร้อย พอตาแม้นฟื้นขึ้นมาได้ก็เห็นข้างๆ ตัวมีหัวพืช กลมๆ ตกอยู่ 6 หัว เลยเลือกหัวใหญ่ที่สุดมาทำอาหารกินจนตัวเองมีเรี่ยวแรงมีกำลังวังชาขึ้นมาได้ ที่เหลือนำไปปลูกตามที่เมียบอกในฝัน เพาะพันธุ์เท้ายายม่อม ทำแป้ง ทำขนมเลี้ยงลูกชายพิการได้ตลอดรอดฝั่ง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

หลายคนอยากปลูกสวนครัวไว้ในบริเวณบ้าน แต่ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่งาม อยากปรับปรุงดินโดยวิธีธรรมชาติ ทำได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “ดินดี” ในอุดมคติ เมื่อหยิบหรือตักขึ้นมา 1 ส่วน หรือ 1 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร ก็ตาม สมมติเป็น 100 ส่วน ในทั้งหมดนี้มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน โดยปริมาตร คือ

1. เนื้อดิน เกิดจากการแตกหักจนเป็นชั้นเล็กๆ ตามวิถีของธรรมชาติของหิน จำนวนร้อยละ 45 มีบทบาทเป็นตัวกลางให้รากพืชหยั่งลึกและยึดจนยืนต้นอยู่ได้ หากมีสมบัติไม่เป็นกรดจัดหรือด่างจัดจะยิ่งดี คือควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 จะเหมาะสมสำหรับเพาะปลูกพืชที่สุด

2. อินทรียวัตถุ ได้จากการย่อยสลายจากเศษซากพืชหรือสัตว์โดยจุลินทรีย์ และทับถมอยู่ในดิน หากมีปริมาณ ร้อยละ 5 จะถือว่าดีที่สุด ปริมาณดังกล่าวจะพบได้ในป่าที่สมบูรณ์ยังไม่เคยมีการนำมาใช้เพาะปลูก มีเศษใบไม้ร่วงหล่นทับถมและเน่าเปื่อยสลายตัว นอกจากจะมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแล้วยังช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อีกมากมายหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในดิน บางชนิดสามารถกำจัดโรคในดินได้ก็มี

3. ความชื้น อีกร้อยละ 25 นั่นหมายถึง ดินต้องมีน้ำอยู่อย่างพอเพียงเพื่อช่วยให้สิ่งมีชีวิตในดินไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ ไส้เดือนดิน หรือรากพืชเองมีชีวิตอยู่ได้ ความชื้นหรือน้ำยังเป็นตัวช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี และจะมองข้ามไม่ได้ว่าน้ำช่วยลดอุณหภูมิในดินไม่ให้ร้อนจนเกินไป

4. อากาศ ต้องมีร้อยละ 25 นั่นคือ ดินจะต้องโปร่ง ร่วนซุย ให้อากาศถ่ายเทได้ดีในระดับหนึ่ง

ดังนั้น ทั้ง 4 ส่วน เมื่อรวมกันแล้วได้ร้อยละ 100 พอดี ถ้าคุณมีดินดังกล่าวปุ๋ยเคมีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ในความเป็นจริงแล้วดินในประเทศไทย หรือประเทศในเขตร้อนทั่วไป เมื่อเปิดป่าทำการเกษตรกรรมแล้วมักถูกชะล้างด้วยน้ำฝนอย่างรุนแรง อีกทั้งกิจกรรมของจุลินทรีย์ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยย่อยสลายอินทรียวัตถุเพื่อนำเอาผลผลิตที่ได้ไปหล่อเลี้ยงชีวิตตัวมันเอง ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ปัจจุบัน ดินที่ทำการเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วมีปริมาณอินทรียวัตถุเพียงร้อยละ 0.8-1.00 เท่านั้น ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพดินเพื่อให้อุดมสมบูรณ์เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกนั้นต้องใช้เวลานาน การลัดขั้นตอนของการบำรุงดิน จึงมีผู้นิยมใช้ปุ๋ยเคมีเข้ามาเสริมบางส่วน หากใช้อย่างพอเหมาะก็จะเกิดประโยชน์คุ้มค่า

ขออธิบายเรื่องปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมเล็กน้อย ปุ๋ยเคมีแม้จะเป็นสารสังเคราะห์แต่ก็มีธาตุอาหารจำเป็นสำหรับพืชที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ ธาตุไนโตรเจน ธาตุนี้มีมากมายอยู่ในบรรยากาศ มีบทบาทในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตในพืช ธาตุฟอสฟอรัส มีมากในกระดูกสัตว์ และมีอยู่ในดินที่ถูกทับถมอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลานาน ทำหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากพืชและกระตุ้นให้ต้นพืชออกดอกได้ดีขึ้น และ ธาตุโพแทสเซียม มีมากในดินเหนียว ทำหน้าที่ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลจากใบและลำต้นไปเก็บในผลหรือหัว จึงทำให้ผลไม้มีรสหวานและสีสวยงามขึ้น

ส่วนธาตุรองอื่นๆ จะเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนหรือเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแต่ต้องการในปริมาณน้อยเท่านั้น ดังนั้น ไม่ต้องกลัวเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีให้มาก ซึ่งจะตรงกันข้ามกับสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นโรคพืชที่เกิดได้จากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และไส้เดือนฝอย แมลงศัตรูพืช มีทั้งชนิดกัดกินหรือปากดูด วัชพืช หมายถึง พืชที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่ไม่ต้องการให้ขึ้น สารเคมีดังกล่าวจัดอยู่ในวัตถุอันตรายทั้งสิ้น การใช้จะต้องใช้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้วัตถุดังกล่าวลง เพื่อลดปัญหาอันตรายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมลง

เทคนิคการฟื้นฟูดิน โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชแล้วให้ไถกลบตอซังลงดิน คลุมผิวดินด้วยเศษหญ้าหรือฟางข้าว หากมีความชื้นในดินควรหว่านเมล็ดพืชตระกูลถั่วลงในแปลง พุ่มใบจะบังแสงไม่ให้ส่องตรงถึงพื้นดิน ปมรากถั่วมีจุลินทรีย์ ไรโซเบียม ช่วยจับไนโตรเจนจากอากาศให้อยู่ในรูปที่ต้นพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ในระยะแรกดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมด้วย เพื่อยกระดับ อินทรียวัตถุในดินให้สูงขึ้น หมั่นปลูกพืชหมุนเวียน ให้เว้นการปลูกพืชชนิดเดียวกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีการไถพรวนอย่างเหมาะสม ระวังอย่าใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักมากเข้ามาในแปลง

เมื่อปรับสภาพดินให้ใกล้เคียงกับดินในอุดมคติ คือมีเนื้อดิน อินทรียวัตถุ ความชื้นและอากาศ ในอัตรา ร้อยละ 45, 5, 25 และ 25 ตามลำดับ คุณก็จะสามารถปลูกพืชในดินที่ปรุงแต่งนั้นได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด อีกทั้งโรคแมลงก็จะระบาดน้อยลง เนื่องจากต้นพืชเติบโตตามธรรมชาติเซลล์จึงแข็งแรงและทนต่อโรคแมลงศัตรูได้ดี ลองนำไปปฏิบัติในแปลงปลูกพืชผักของคุณก็จะได้ผลตามต้องการ

ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการใช้สารเคมีอย่างแพร่หลาย อาทิ ด้านเกษตรกรรม ที่เกษตรกรมักใช้ในการกำจัดพวกแมลงศัตรูพืช หรือใช้สารเคมีในการช่วยเร่งพืชให้ออกดอก ออกผล จึงทำให้หน่วยงานราชการหรือแม้กระทั่งหน่วยงานเอกชน ช่วยกันรณรงค์การงดใช้สารเคมีในการไล่แมลง โดยให้หันมาใช้วิธีการไล่แมลงจากธรรมชาติแทน เช่น น้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อน และเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคไม่เสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างในผลผลิตด้วย

คุณศราวุธ มะลิชัย หนุ่มวิศวะอิเล็กทรอนิกส์ วัย 31 ปี หัวใจรักการทำอาชีพการเกษตร เปิดเผยถึงสาเหตุที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะความสงสัยในเรื่องของเครื่องเสียงติดรถยนต์ ว่าจะทำอย่างไรให้เสียงนุ่มน่าฟัง การทำเครื่องเสียงให้ล้ำและทันสมัยได้อย่างไร แต่สิ่งที่หล่อหลอมจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ล้วนแล้วมาจากสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่ และญาติๆ เป็นชาวนา และเกษตรกร หลังจากมาทำงานด้านวิศวะ จึงรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรืองานบริษัท ที่ไม่ใช่ของคนไทย เหมือนเขาหลอกเอาขยะมาทิ้งบ้านเรา นับตั้งแต่วันนั้นมาจึงมองย้อนไปว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรได้

การเลี้ยงไส้เดือน จึงกลายเป็นความคิดแรกที่เชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาและนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพ หรือนำไปใช้ประโยชน์กับพืชสวนไร่นาของตัวเองได้ ซึ่งก่อนที่จะมาเลี้ยงไส้เดือนนี้ได้ลองผิดลองถูกหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงหนอนนก ที่ได้ล้มเลิกไปเพราะหนอนนกชอบอากาศเย็น แต่นำมาเลี้ยงที่บ้านอากาศร้อนจึงทำให้หนอนตายหมด

คุณศราวุธ ยังเล่าต่อว่า มีอยู่วันหนึ่งได้อ่านหนังสือเจอการเลี้ยงไส้เดือน จึงเกิดความสนใจ และศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงไส้เดือนอย่างจริงจัง ประกอบกับตนเองสนใจในเรื่องของการทำการเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว และไส้เดือนสามารถตอบโจทย์ของตนเองได้คือ แหล่งอาหารของไส้เดือน คือกินอะไรก็ได้ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ ไส้เดือน เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ไส้เดือนดิน มีลักษณะของลำตัวจะเป็นข้อปล้อง ส่วนมากจะพบได้ทั่วไปในดิน ใต้กองใบไม้หรือมูลสัตว์ จึงทำให้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงดูง่าย ไส้เดือนมีโปรตีนอยู่ในตัวมาก ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว เลยตัดสินใจเลี้ยงเพราะเหมาะสำหรับนำมูลของไส้เดือนที่มีประโยชน์ต่อต้นไม่ในการเจริญเติบโตมาใส่ให้กับต้นไม้

สำหรับการเลี้ยงไส้เดือนได้นำมูลวัวมาเป็นอาหาร เลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากมูลวัวแห้งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และหาได้ง่ายใน้ทองถิ่น เมื่อไส้เดือนกินมูลวัวไปแล้วถ่ายออกมา ก็จะเป็นโปรตีนที่ดี เหมาะสำหรับนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพราะมูลของไส้เดือนจะแปรไปตามอาหารที่กินเข้าไป ที่สำคัญไส้เดือนเป็นสัตว์จำพวกที่ชอบกินอาหารในมูลสัตว์เคี้ยวเอื้องอยู่แล้ว

การขยายพันธุ์ไส้เดือนคุณศราวุธ บอกว่า ไส้เดือนเป็นสัตว์ 2 เพศ สามารถขยายพันธุ์ได้เอง ทุกวันนี้สามารถผลิตขี้ไส้เดือน ส่งจำหน่ายเดือนละ 1 ตัน นำมาคัดแยกเกรดได้ 3 เกรด ก่อนนำมาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม และถุงละ 25 กิโลกรัม ออกจำหน่ายเป็นปุ๋ยอินทรีย์มูลไส้เดือนการคัดแยกมูลไส้เดือนนั้นได้ใช้เครื่องร่อนมูลไส้เดือน ซึ่งจะต้องได้ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร เรื่องมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานมาให้ ซึ่งการจะนำมูลไส้เดือนบรรจุเพื่อจำหน่าย ก็ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงในการคัดแยกมูลของไส้เดือนให้ได้ตามมาตรฐาน ตนได้ไอเดีย มาจากเครื่องร่อนข้าวเปลือกจากโรงสีข้าว นำมาดัดแปลง และออกแบบให้ช่างทำเครื่องร่อนมูลไส้เดือนขึ้นมาใช้งาน จึงทำให้ผลผลิตได้คุณภาพและตรงตามมาตรฐานที่ทางการกำหนดไว้

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์

ปัจจุบันกาแฟที่ปลูกในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลักๆ คือ พันธุ์อะราบิก้า ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก และแพร่ อีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ พันธุ์โรบัสต้า ปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมทั้งประเทศประมาณ 268,211 ไร่ ผลผลิต 21,773 ตัน (เมล็ดกาแฟ)

ลักษณะพื้นที่การปลูกกาแฟในประเทศไทย

กาแฟอะราบิก้าส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกใต้ร่มเงาไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น ระยะปลูกทั่วไป 1.50×1.50, 1.50×2.00 และ 2.00×2.00 เมตร ส่วนกาแฟโรบัสต้า การปลูกของเกษตรกรจะมีทั้งการปลูกแบบเชิงเดี่ยวและปลูกแซมร่วมกับพืชอื่น ระยะปลูกทั่วไป 2.50×3.00, 3.00×3.00, 2.50×3.50, 3.50×3.50 และ 3.00×4.00 เมตร และต้นกาแฟจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้จะมีอายุตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป

กิ่งของกาแฟ เป็นกิ่งที่แตกออกมาจากลำต้น ผลจะติดตามข้อ โดยข้อที่ให้ผลแล้วจะไม่ให้ผลซ้ำอีก ต้นกาแฟที่มีสภาพสมบูรณ์ดีกิ่งนอนแต่ละกิ่งจะให้ผลปีละ 6-10 ข้อ โดยเริ่มจากโคนกิ่งไปจนถึงปลายกิ่ง

ผลกาแฟมีลักษณะกลมเหมือนรูปไข่ ขนาดผลกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.3-1.6 เซนติเมตร สีของผลกาแฟสุกจะเป็นสีแดงหรือสีเหลืองขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ถ้าผลยังดิบอยู่จะเป็นสีเขียว

ลักษณะทรงพุ่มของกาแฟมีขนาดตั้งแต่ 0.70-1.70 เมตร ความสูงเฉลี่ย 0.80-2.50 เมตร ขึ้นอยู่กับอายุของต้นกาแฟและการตัดแต่งกิ่ง

คุณมานพ รักญาติ วิศวกรการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคใต้ วิธีการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรจะใช้ที่รองรับผลกาแฟทำจากตาข่ายไนลอนขนาด 1.20×1.50×0.50 เมตร (กว้างxยาวxสูง) รองรับผลกาแฟขณะทำการเก็บเกี่ยว ส่วนการเก็บเกี่ยวกาแฟพันธุ์อะราบิก้า จะใช้ตะกร้าพลาสติก ขนาด 35x45x12 เซนติเมตร หรือบางพื้นที่จะมีการใช้ตะกร้าไผ่สานขนาดใกล้เคียงกันคล้องคอไว้ขณะทำการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลกาแฟในประเทศไทย ปัจจุบันใช้แรงงานคนเก็บเป็นหลักทำให้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมักจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแต่ละสวนมีความต้องการแรงงานพร้อมๆ กัน โดยการเก็บผลกาแฟด้วยแรงงานจะมีต้นทุนค่าเก็บประมาณ 5-8 บาทต่อกิโลกรัมผลสด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยในการเก็บเกี่ยว ทางผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาวิจัยเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟเพื่อนำมาใช้เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งจะเป็นทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในประเทศ และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลกาแฟได้

การออกแบบและสร้างเครื่องมือเก็บเกี่ยว

คุณมานพ บอกว่า ต้นแบบเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา ประกอบด้วย ก้านรูดผลกาแฟ 2 ก้าน ยาว 10 เซนติเมตร ด้านข้างก้านติดเส้นลวดสปริง 2 เส้น สำหรับรูดผลกาแฟออกจากต้น ก้านรูดผลกาแฟทำงานที่ความเร็วเชิงเส้น 4.18 เมตรต่อวินาที ถ่ายทอดกำลังด้วยเฟือง ต้นกำลังเป็นมอเตอร์กระแสตรง 12 โวลต์ 6 วัตต์ ใช้แบตเตอรี่ชนิดแห้งขนาดเล็ก 12 โวลต์ ให้กำลังไฟฟ้า พร้อมสายสะพาย โดยรอบตัวเครื่องติดริ้วพลาสติกเพื่อป้องกันผลกาแฟสดกระเด็นออกจากที่รองรับขณะทำการเก็บเกี่ยว

ส่วนการใช้งานเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟทั้งพันธุ์โรบัสต้าและพันธุ์อะราบิก้า ใช้ตาข่ายไนลอนขนาด 1.20×1.50×0.50 เมตร รองรับผลกาแฟขณะเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่อง คุณมานพ บอกว่า ผลการทดสอบการใช้งานเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟพบว่า การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมีความรวดเร็วมากกว่าการใช้คนเก็บถึง 2 เท่า

คุณมานพ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบของการใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพาที่พัฒนาขึ้นพบว่า กิ่งผลกาแฟที่เก็บด้วยเครื่องไม่ได้รับความเสียหายและยังมีขั้วผลยังติดอยู่ที่ก้านกิ่งผล ส่วนใบที่ติดกิ่งผลสุกบางส่วนจะร่วงหล่นปนกับผลกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้ จากการเก็บข้อมูลการติดผลผลิตของกาแฟที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องในฤดูกาลถัดไปพบว่า ต้นกาแฟที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องแตกใบและออกผลเป็นปกติ

“ถ้าเกษตรกรจะนำเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพามาใช้งาน ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ เก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลกาแฟสุกแก่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของต้นหรือผลกาแฟสุกแก่ทั้งต้น จะทำให้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวผลกาแฟของเกษตรกรชาวสวนกาแฟและช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลกาแฟได้”

ชาวสวนกาแฟสนใจติดต่อสอบถามและขอต้นแบบเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพาได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ เลขที่ 235 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทร. 087-786-3862 โทรสาร 053-114-119 และปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรับต้นแบบนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อให้กระจายไปสู่เกษตรกรชาวสวนกาแฟแล้ว โดยมีราคาเครื่องละประมาณ 4,900 บาท

“เหตุที่ได้ชื่อว่าชาดีหมี มิใช่มีหมีใหญ่ในไพรสัณฑ์

แต่เป็นไม้ใหญ่น้อยนับร้อยพัน เรียงรายกันที่ท่าน้ำแสนงามตา นำเปลือกใบมาต้มรสขมปี๋ รสชาติเหมือนดีหมีที่ในป่า

โบราณกล่าวหวานเป็นลมขมเป็นยา จึงชื่อว่าชาดีหมีเช่นนี้เอย” ด.ต. บุญเรือง สีดาพิมพ์ หรือ ดาบบุญเรือง เกษตรกรผู้ปลูก “ต้นดีหมี” ในพื้นที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ทำการเพาะปลูก “ต้นดีหมี” ภายในชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาชาวบ้านจากบรรพบุรุษ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรสู่ลูกหลาน เป็นรุ่นๆ และยังเป็นอัตลักษณ์ของบ้านท่าดีหมี ในอดีตมักจะนำราก ลำต้น เปลือก ใบ มาต้มดื่มเพื่อสุขภาพที่ดีภายในชุมชนนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการปลูกนั้น เริ่มจากต้นดีหมีเกิดขึ้นจำนวนมากที่หมู่บ้าน จึงเป็นเหตุผลของความเป็นมาของชื่อของหมู่บ้านว่า “บ้านท่าดีหมี” หมายถึง หมู่บ้านที่มีต้นดีหมีอยู่ที่ท่าน้ำแม่น้ำโขงเชื่อมต่อแม่น้ำเหือง ติดกับแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว

จนกระทั่งในปี 2559 จึงทำให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนชาใบต้นดีหมี ต่อมาในปี 2561 ได้พัฒนาการแปรรูปใบจากต้นดีหมีเป็นชาสมุนไพร ชงในน้ำร้อน โดยบรรจุในซองเยื่อไม้เพื่อสะดวกในการบริโภค และลงทะเบียนชาดีหมีประเภทเครื่องดื่ม ของกรมการพัฒนาชุมชน จากนั้นปี 2560-2565 ได้รับการส่งเสริมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP บ้านท่าดีหมี จังหวัดเลย

ลักษณะของต้นดีหมี เป็นไม้ยืนต้น bing-vs-google.com ไม่ผลัดใบ ใบดกหนา เปลือกสีเทาดำเกลี้ยง ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปใบรี ขอบขนาน ขอบใบหยักตื้น ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ผิวใบหนาเรียบและมัน สีเขียวเข้ม หลังใบสีอ่อน ก้านใบยาว 3-7 เซนติเมตร ดอกแยกเพศในต้นเดียว ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวที่ซอกใบหรือใกล้ยอด ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ผลค่อนข้างกลม เมล็ดกลม

ด้านสรรพคุณ เป็นพืชสมุนไพร ราก สามารถนำมาต้มดื่มแก้มลพิษในกระดูก เปลือกต้น ต้มน้ำดื่มแก้ตับพิการ รักษาโรคมะเร็งผิวหนัง และใช้ส่วนทั้งห้า ซึ่งประกอบไปด้วย ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ต้มดื่มแก้ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ดับพิษไข้ ขับเหงื่อ โดยอ้างอิงจาก สวนสาธารณสุข รักษ์สมุนไพร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ส่วนวิธีการปลูก ดาบบุญเรือง เล่าว่า ต้นดีหมีนั้น ปลูกเหมือนพืชทั่วไป ใช้ระยะการปลูกไม่นาน ก็สามารถนำต้นกล้าของต้นดีหมีที่เจริญเติบโตจากเมล็ดที่หล่นลงสู่พื้นดิน เมื่อมีฝนตกลงมาดินได้ความชื้น เมล็ดของต้นดีหมีจะเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดพันธุ์และการตอน เมื่อต้นดีหมีมีความสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร จะทำการขุดดินปลูกปกติ ไม่มีการกำหนดความลึกและกว้างของหลุม ต้นดีหมีก็จะเจริญเติบโตตามธรรมชาตินั่นเอง

“โรคและศัตรูพืชที่เกิดในต้นดีหมีนั้นแทบไม่มี เพราะว่ามีใบ มีผล ศัตรูพืชไม่มีหรอกครับ ใบต้นดีหมีก็จะไม่ร่วง เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ต้นดีหมีมีการผลัดใบก็จะสามารถเป็นร่มเงาที่ดีที่สุดเลย มีทั้งในวัด ศาลเจ้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดเลย”

ต้นดีหมี เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก รดน้ำตามปกติ และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นบ้างในบางครั้ง หากต้องการใบอ่อนของต้นดีหมี โดยใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดมูลสัตว์ต่างๆ ทั้งมูลไก่ มูลวัว มูลควาย สลับกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เป็นต้น เพื่อบำรุงต้นดีหมีให้เติบโตแข็งแรง เมื่อใบต้นดีหมีเริ่มผลิออก ใบจะเริ่มหนา มันและเงา สามารถเก็บไปตากแห้ง พร้อมนำไปสู่การแปรรูปเป็นชาสมุนไพร ชงในน้ำร้อนต่อไป

ส่วนประกอบของชาดีหมี ประกอบด้วยสมุนไพร 3 อย่าง คือ ใบต้นดีหมี ใบเตยหอม และใบหญ้าหวาน

ต่อมาคือขั้นตอนและวิธีการผลิต มีดังนี้

นำสมุนไพรทั้ง 3 อย่าง มาล้างนํ้าทำความสะอาด
หั่นเป็นชิ้นๆ
คั่วด้วยไฟอ่อนๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม
ตาก อบ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
นำไปอบด้วยตู้อบไฟฟ้า อุณหภูมิ 50 องศา ใช้เวลา 5 นาที
นำไปบดด้วยเครื่องบดไฟฟ้า
นำสมุนไพรทั้ง 3 อย่างที่บดแล้ว มาผสมปั่นรวมกันตามสูตร
บรรจุชาที่ผสมตามสูตรลงในซอง ซองละ 1.5 มิลลิกรัม
นำมาบรรจุใส่ซองพลาสติกใส เพื่อกันความชื้น
นำไปบรรจุภัณฑ์ลงในกล่องเพื่อวางจำหน่าย