แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ขณะนี้เรื่องการลอยตัวยังมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนการประกาศลอยตัวออกไป โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวไร่อ้อยมีความพยายามจะให้โรงงานบวกเงินเพิ่มเข้าไปในราคาขาย 2-3 บาท เหมือนกับโครงสร้างเดิมที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการบวกเงินเพิ่ม 5 บาทเข้าไปในราคาขาย เพื่อนำเงินจากผู้บริโภคไปใช้หนี้เงินกู้แทนชาวไร่อ้อยผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาล

ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และการบวกเพิ่มดังกล่าวไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีรองรับหลายโรงงานเกรงจะเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงมีการหารือถึงขั้นที่จะให้ออกมาตรา 44 รองรับระเบียบดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงค่อนข้างมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตต่อไปจะยังคงใช้กฎหมายและระเบียบเดิมไปก่อน เท่ากับผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท เพื่อใช้หนี้ให้ชาวไร่ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลยังติดค้างอยู่ 5,800 ล้านบาทกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาตั้งแต่ปี 2558/2559

แม้ในที่ประชุมคณะ กอน.เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 60 จะได้ผ่านความเห็นชอบ โดยเขียนระบุไว้ในร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. …ที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า เป็นการนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนมาบวกรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอนหมายเลข 5 และค่าส่วนเพิ่มทางการตลาดที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือน ส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แต่การให้โรงงานบวกเพิ่มราคาระเบียบดังกล่าวนี้ไม่ได้รองรับ

ทั้งนี้ หากเปิดเสรีลอยตัวจริงคือ เมื่อนำราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกไทยพรีเมี่ยม ให้ถือเป็นราคาอ้างอิงกลาง และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจราคาขายหน้าโรงงาน หากโรงงานใดขายสูงกว่าราคาอ้างอิงดังกล่าวให้นำส่วนต่างตรงนั้นส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียภาพของระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งส่วนต่างไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเท่าไหร่ โรงงานใหญ่บริหารต้นทุนดีราคาต้นทุนต่อหน่วยอาจจะต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า

“ฝ่ายชาวไร่อ้อยจึงพยายามล็อบบี้แต่ละโรงงานให้บวกราคาน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคเหมือนเดิม ซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย และไม่ได้มีส่วนได้เงินตรงนั้นด้วย แถมยังต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย จึงยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายราชการไม่สามารถหาทางออกให้กับชาวไร่อ้อยได้

ที่จะทำให้การเก็บเงินจากผู้บริโภคเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตอนนี้ชาวไร่อ้อยเองที่จะให้บวกเงิน 3 บาทเพิ่ม ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะให้ไปบอกประชาชนได้อย่างไรว่า เงิน 3 บาทที่มาบวกเพิ่มมีที่มาที่ไปของเงินอย่างไร ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนคิดมาจากโรงงานน้ำตาลอย่างไร และยังไม่รู้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะราคาเฉลี่ยที่ออกมาจะมองว่าเป็นการฮั้วราคาหรือเปล่า

ที่สำคัญหลายคนยังกังวลว่า การบวกเงิน 3 บาทดังกล่าวเข้าไปหากราคาออกมาสูงกว่าตลาดโลก 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่อาจจะสั่งนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแทนย่อมทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกตลาดเสรี จึงเท่ากับว่า การเปิดเสรีราคาน้ำตาลของไทย ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เพราะยังโอบอุ้มชาวไร่ไว้เหมือนเดิม

วันนี้ 12 พ.ย. เวลา 15.00 น. พ.อ.โฆสิตพงษ์ นิลเอก ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ นำกำลังพลทหารในสังกัดออกช่วยชาวนานวดข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว พร้อมนำไปเก็บในยุ้งฉางข้าวของเกษตรกร ซึ่งในวันนี้ได้เช้าช่วยเหลือนางสูน พิลาสิม อายุ 62 ปี เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี บ้านโนนสวาท ม.7 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมจำนวน 10 คน ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยนวดข้าวจนสามารถได้ข้าวจำนวน 38 สอบ คิดเป็นปริมาณข้าวประมาณ 1 ตัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการทำนา แบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร ประชาชนเองก็รู้สึกดีใจ ขอบคุณเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้แล้วยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชน พร้อมทั้งให้ประชาชนได้รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความรัก สมัครสมาน สามัคคีในชุมชน พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและ คสช. เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืน และเป็นการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 08.30 น. หลังเกิดเหตุช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว 1 โขลงประมาณ 7 – 8 ตัว ลงมาจากเขา เข้ามาหากินข้าวนาปีที่ชาวบ้านปลูกไว้ซึ่งอีกเพียง 7 วันก็จะเก็บเกี่ยว และยังมีอุปกรณ์ยางพาราภายในสวนยางพาราของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านบ้านนาจานหมู่ที่ 4 ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ

ล่าสุดเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว สนธิกำลังกับ ทหารรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ กว่า 30 นายออกไล่ต้อนช้างป่าให้กลับเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และกำลังส่วนหนึ่งดูแลคอยเฝ้าระวังไม่ให้กลับลงมารบกวนชาวบ้านอีก

ด้านนายทวีป คำแพงเมือง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนของช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวขณะนี้มีประมาณ 45 ตัวซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควรเมื่อเทียบกับพื้นที่ อาจจะทำให้อาหารและแหล่งน้ำของช้างมีไม่เพียงพอจึงทำให้ช้างป่าออกหากินนอกเขตอนุรักษ์

ประกอบกับช่วงนี้ข้าวนาปีกำลังตั้งท้องออกรวง ข้าวใหม่ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งทำให้ช้างลงมากัดกินข้าวได้รับความเสียหาย โดยขณะนี้ ได้เฝ้าระวังตรวจตาถี่ขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้ระมัดระวังถ้าพบเห็นช้างป่าออกมาให้รีบแจ้งสายด่วน 1362 หรือ โทร 089-862-3389

ส่วนการไล่ต้อนช้างกลับขึ้นไปบนภูวัวนั้นก็ทำอยู่เป็นปกติ แต่เมื่อขึ้นไปแล้วเขาก็กลับลงมาใหม่อีกเนื่องจากข้างบนมีน้ำและอาหารน้อยมาก เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง ครั้นจะกดดันช้างมากไปก็จะทำให้เขาหงุดหงิดยิ่งขึ้น จะเท่าเป็นการกระตุ้นช้างให้เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านได้

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2560 นางสาวอาทิตยา คำปาแก้ว อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่.1ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ตนเอง มีส่วน ส้มโอจำนวน 7 ไร่ มีต้นส้มโอประมาณ 300 ถึง 400 ต้น คุณตาเป็นผู้มอบสวนส้มโอสวนนี้ให้ คุณตา เป็นอดีตกำนันตำบลช่องแคบ ชื่อกำนันเสาร์ คำปาแก้ว ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว วันนี้เริ่มตัดส้มโอ เป็นวันแรก ใด้ส้มโอประมาณ 3 ตัน (3,000กิโลเมตร) ขายไปในราคากิโลละ 11 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงในสวน โดยพ่อค้าจากตลาดไทตลาดสี่มุมเมืองและยังมี พ่อค้านำส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน ปีนี้คาดว่าจะได้ส้มโอประมาณ 9-10 ตัน ส่วนเมื่อปีที่แล้วตนเอง ขายส้มโอไปกิโลละ 7-8 บาท ได้ส้มโอตัดขายประมาณ 6 ตัน(6,000กิโล) โดย มีพ่อค้ามารับซื้อไปขายประเทศเพื่อนบ้าน

สวนส้มโอ ของคุณตากำนันเสาร์ คำปาแก้ว มีประมาณเกือบร้อยไร่ ปลูกมาประมาณ 20 ปี ปลูกมานานแล้วพันธุ์ขาวน้ำผึ้งตนเองใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ต้นทุนต่ำ ราคา 11บาท พออยู่ใด้ส้มโอในพื้นที่ บ้านช่องแคบ บ้านเงาไผ่ บ้านห้วยแล้ง มีสวนส้มโอ เกือบ 2,000ไร่ ท่านที่ผ่านไปผ่านมา เส้นทางแม่สอด ห้วยไม้แป้น ช่องแคบ พบพระ สายเก่า แถวๆบ้านช่องแคบ บ้านเงาไผ่ บ้านห้วยแล้ง จะมีส้มโอวางขายแถวหน้าบ้าน

กยท. ชู แปรรูปยางสร้างมูลค่าเพิ่ม จับมือเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ภาคตะวันออก หนุนเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมกยท. ส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแปรรูปผลผลิตยางจากวัตถุดิบสู่ผลิตภัณฑ์ยาง ผลักดันให้เพิ่มมูลค่ายางพารา ร่วมมือเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออก นำร่องโครงการยางล้อประชารัฐจังหวัดตราด เป็นตัวแทนจำหน่ายยางล้อ TH-TYRE หนุนเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยางเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ รวมถึงการแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า ซึ่งการแปรรูปยางจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาราคายางที่มีความผันผวนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปในด้านการแปรรูปยางและนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา เช่น โครงการยางล้อประชารัฐ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่เกิดจากการบูรณาการจากองค์กร 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคเกษตรกร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่ภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกที่ร่วมนำร่องโครงการยางล้อประชารัฐจังหวัดตราด ตั้งจุดจำหน่ายผู้ที่สนใจภาคตะวันออกและภาคกลาง สามารถติดต่อซื้อล้อยางได้ที่ กยท.จ.ตราด

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง จะนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภารกิจของกรมทางหลวง ได้แก่ เสาหลักนำทาง แบริเอ่อร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้อย่างในประเทศแล้วยังเป็นการช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ที่สำคัญ ยังเพิ่มปริมาณการใช้ยางให้มากขึ้นด้วย รวมไปถึงในอนาคต กยท. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรแปรรูปหมอนยางพาราภายใต้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน โดยให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตหมอนยางพารา เข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และ กยท. จะดำเนินการเร่งหาตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยร่วมกับกลุ่มสหกรณ์และผู้ประกอบการกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ

“ขอบคุณความร่วมมือต่างๆ จากเกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ กยท. พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ไปทบทวนและหาแนวทางแก้ปัญหา และเชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันเดินไปด้วยกัน เราก็จะสามารถผ่านทุกปัญหาไปได้” รองผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายวิชระ ชื่นอารมณ์ ประธานสหกรณ์เครือข่ายยางพารา จ.ตราด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันทางสหกรณ์รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรแล้วนำมาปั่นเป็นน้ำยางข้น สำหรับสถานการณ์ราคายางตอนนี้ ทางสหกรณ์ได้ช่วยรับซื้อพยุงราคาให้เกษตรกรรายย่อยซึ่งสูงกว่าเอกชนอื่นๆ ในพื้นที่ โดยน้ำยางสดทางสหกรณ์รับซื้อที่ราคา 41 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ มองว่าการแก้ปัญหาราคายางอีกวิธีที่ดี คือ การแปรรูปยางและส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบยางถึง 87% ในขณะที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางแค่ 13% จึงไม่สามารถแก้ปัญหายางในประเทศได้ในระยะยาว เมื่อเกษตรกรสามารถแปรรูปและมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แทนการขายแต่วัตถุดิบเพียงอย่างเดียวก็จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งราคายางเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยเหลือด้านราคายางในระยะยาว ซึ่งจะยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายเกรียงไกร เทพินทร์ ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงราคายางผันผวน เกิดขึ้นตามกลไกการตลาด จะต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ใช้ในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ ไม่หยุดแค่วัตถุดิบยางเท่านั้น ขณะนี้ทางสหกรณ์ก็ได้แปรรูปวัตถุดิบยางที่รับซื้อเป็นหมอนยางพารา ซึ่งการทำหมอนยางพาราจะเป็นการช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ นอกจาก การรับซื้อน้ำยางแล้ว ยังให้กลุ่มแม่บ้านชาวสวนยางตัดเย็บปลอกหมอนเพื่อส่งขายพร้อมหมอนยางพาราด้วย

“รู้สึกเห็นด้วยและชอบที่ กยท. ทำโครงการล้อยางประชารัฐขึ้นมา เพราะเป็นโครงการที่ส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และอยากให้ กยท. มีโครงการในรูปแบบนี้อีกหลายๆ โครงการอยากให้เกษตรกรใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง หันมาพึ่งพาตนเอง พยายามจับกลุ่มเข้าหาสถาบันและรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในช่วงที่ราคายางผันผวน การมองหาอาชีพเสริมจะสามารถสร้างรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพวกเราพี่น้องชาวสวนยางต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ได้รับความอนุเคราะห์จากทางรัฐมนตรีส่งนักวิจัยเข้ามาช่วยหลายเรื่อง และได้ผลดียิ่ง หน่วยงานหลักของกระทรวงวิทย์ฯ คือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน)(สสนก.)ที่มุ่งเรื่องการจัดการน้ำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ที่มุ่งเรื่องการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปพัฒนาการผลิต การแปรรูป

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในปีงบประมาณ 2561 จะมีการร่วมมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลให้ครอบคลุมไปถึงการผลิตในสาขาต่างๆ ทั้งพืชและปศุสัตว์ โดยเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในการปฏิบัติงานนายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า เมื่อปี 2560 สภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับ สสนก.จัดตั้งศูนย์น้ำใน 20 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านน้ำและสภาพภูมิอากาศถึงเกษตรกรในระดับหมู่บ้านซึ่งมีประโยชน์ในการวางแผนการผลิตได้ดี

สำหรับด้านงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ร่วมมือกับ วว.ดำเนินการใน 3 กิจกรรม คือ เกษตรกรไฮเทค , การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร , และสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม ผลงานที่เห็นเด่นชัดคือ การพัฒนาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโนนใน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ลดต้นทุนการแปรรูปกล้วย โดยใช้เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูงทดแทนการใช้แก๊สหุงต้ม จนสามารถผลิตกล้วยกวนได้ปริมาณมากขึ้น จากเดิมวันละ 3 กระทะ เพิ่มเป็นวันละ 8 กระทะ และสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลงได้เป็นจำนวนเงิน 7,200 บาทต่อเดือน คิดเป็นต้นทุนลดลงร้อยละ 65 จนข่าวความสำเร็จนี้ได้กระจายไปในชุมชน เกิดความต้องการพัฒนาในกลุ่มอื่น

ซึ่งในปี 2561 จะได้ร่วมมือกับ วว. ในการขยายผลโดยให้เกษตรกรเรียนรู้แล้วไปดำเนินการสร้างเตาด้วยต้นทุน 12,100 บาท เช่น การเผาเซรามิคที่ จ.ลำปาง รวมถึงการนำถ่านไผ่มาใช้ในเตาดังกล่าว ส่วนภาคใต้ใช้เพื่อการทำยางแผ่น นอกจากนั้นในปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับ วว. ในการสร้างเกษตรกรไฮเทค 100,000 ราย การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 15,000 ราย สร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม 235 ชุมชน และจับคู่พัฒนา โดยมีตัวอย่างเป้าหมายเช่น ใช้รูปแบบโรงอบมันเส้นสะอาดพลังงานแสงอาทิตย์ของกรมพลังงานเพื่อการแปรรูปมันเส้นสะอาดเพิ่มมูลค่าผลผลิต ของสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังวังสามหมอ จำกัด จ.อุดรธานี, การปลูกและแปรรูปมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกของสหกรณ์การเกษตรกุดหมากไฟ จำกัด จ.อุดรธานี เป็นต้น

เอกชนตื่น!!! เตือนรัฐเร่งคุมเข้มนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อนบ้าน สกัดการแพร่เชื้อไวรัสใบด่าง “คาซาวา โมซาอิก” จากเวียดนามสู่กัมพูชาลามถึงไทย หวั่นสร้างความเสียหายผลผลิต 80-100% กระทบวัตถุดิบส่งออก ด้านกรมวิชาการเผยยังไม่พบระบาดในไทย แนะอย่าวิตก พร้อมเพิ่มมาตรการป้องกันเข้มงวด
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช

นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้รับรายงานว่ามีการแพร่เชื้อไวรัส คาซาวา โมซาอิก ในมันสำปะหลังที่ประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 สร้างความเสียหายให้กับผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวจะยังไม่แพร่เชื้อกระจายมาสู่มันสำปะหลังไทย แต่เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะหากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ในมันสำปะหลัง จะส่งผลให้มันสำปะหลังเสียหาย และไม่สามารถนำมาปรับปรุง หรือนำมาผลิตเพื่อการส่งออกได้ โดยนักวิชาการ แนะนำว่า จะต้องเผาทำลายทิ้งโดยทันที

โดยขณะนี้สมาคมได้มีการประชาสัมพันธ์ปัญหาดังกล่าวให้กับสมาชิกในสมาคม ทั้งผู้ปลูกและผู้ส่งออกให้ระมัดระวังเชื้อไวรัสดังกล่าวให้มาก โดยเฉพาะผู้นำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่สู่มันสำปะหลังภายในประเทศได้
“ส่วนใหญ่ไทยมีการนำเข้ามันสำปะหลังจาก 2 ประเทศหลัก คือ สปป.ลาว และกัมพูชา ประมาณ 10 ล้านตัน ต่อปี ไม่มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากเวียดนาม และล่าสุดเชื้อไวรัสนี้ได้กระจายมาสู่มันสำปะหลังของกัมพูชาแล้ว จึงน่าเป็นห่วง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานที่ชัดเจนว่า ได้แพร่เชื้อกระจายมากน้อยแค่ไหนในกัมพูชา ยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าจากบริเวณชายแดน ต้องตรวจใบอนุญาตนำเข้า การตรวจสอบโรคพืช เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่เชื้อไวรัส และที่สำคัญ ควรต้องเข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อนี้แพร่กระจายได้
นายบุญชัย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการค้าต่างประเทศ ในการเข้มงวดเรื่องของการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา และจะได้ตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ก่อนมีการนำมันสำปะหลังเข้ามาภายในประเทศไทย

จากการคาดการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังในฤดูการผลิต 2560/2561 คาดจะมีผลผลิตออกในช่วงเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลผลิตออกล่าช้ากว่าทุกปี
เนื่องจากปัญหาฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ปลูกชะลอการขุดออกไป เพื่อจะได้ผลผลิตในราคาที่ดี โดยประเมินผลผลิตจะลดลง 10% จากที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 28 ล้านตัน ส่วนตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะมันเส้นและแป้งมัน ยังเป็นตลาดจีน และคาดว่าจะมีการนำเข้ามากขึ้น ตามความต้องการภายในประเทศในการผลิตเอทานอล

นางณัฏฐิมา โฆสิตเจริญกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการระบาดเชื้อไวรัส ศรีลังกา คาซาวา โมซาอิก ไวรัส หรือโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศไทย จึงไม่ต้องการให้ผู้ส่งออกหรือเกษตรกรเป็นกังวลในปัญหาของโรคนี้

แต่กรมได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกร และผู้ส่งออก ให้ระมัดระวังการแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าวในมันสำปะหลัง หากพบให้รายงานและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันการระบาดในมันสำปะหลัง เพราะหากได้รับเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดความเสียหายถึง 80-100% ของผลผลิต
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศไทย เช่น การเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังตามแนวชายแดน

พร้อมเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังตามแนวชายแดน และหากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติกักพืช ห้ามนำเข้า ยกเว้นหัวมันสดและมันเส้น
นางณัฏฐิมา กล่าวต่อไปว่า กรมอยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการวิจัย “การศึกษาสถานภาพโรคใบด่างของมันสำปะหลังศัตรูพืชกักกันในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย”

ของกรมวิชาการเกษตร ปีงบประมาณ 2561-2563 ด้วย pasem.org และจัดทำแผนปฏิบัติงานฉุกเฉินกรณีตรวจพบโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดให้โรคใบด่างเป็นศัตรูพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550

สำหรับเชื้อไวรัส คาซาวา โมซาอิก มักจะเกิดการแพร่ระบาดในทวีปเอเชีย กลุ่มประเทศศรีลังกา อินเดีย และแอฟริกา สำหรับการแพร่เชื้อนั้นมาจากแมลงหวี่ขาว มาจากพืชต่าง ๆ เป็นพาหะของการแพร่เชื้อสู่ใบมันสำปะหลัง และติดมากับการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังโดยไม่ถูกตรวจสอบโรคพืช

ผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการเสวนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านเมืองขอนแก่น” ที่โรงแรมไอโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อสรุปผลการดำเนินงานการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนและคนไร้บ้าน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนคนเร่ร่อนและคนไร้บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนากว่า 60 คน

ผศ.ดร. วิบูลย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านและคนเร่ร่อนในภาพรวม ยังคงต้องเข้าใจและรับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นและความต้องการที่แท้จริงของคนเหล่านี้ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันที่ชัดเจน ดังนั้น ทีมนักวิจัยและคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายลงพื้นที่พูดคุย จัดเก็บข้อมูลที่แท้จริงของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยได้ข้อสรุปในภาพรวมแล้ว ซึ่งจะเสนอร่างผลงานวิจัยและแนวทางการดำเนินงาน ต่อจากนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบเพื่อนำไปสู่แนวทางการปฎิรูปและการแก้ปัญหาคนไร้บ้านและคนเร่ร่อนอย่างเป็นรูปธรรม

“จากการพูดคุยและเก็บข้อมูล พบว่าคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านมีปัญหาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ที่พบคือปัญหาการทะเลาะกับคนในครอบครัว ญาติพี่น้องการไม่มีงานทำ ตกงาน ถูกไล่ออกจากงาน ปัญหาเรื่องความพิการ เป็นผู้สูงอายุ บางคนพ่อแม่เสียชีวิต หรือไม่เหลือคนในครอบครัว บางคนถูกยึดที่ดินทำกิน หรือไม่มีที่ไป เมื่อทราบปัญหาแล้วเราต้องแยกแยะและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เมื่อเกิดปัญหาจะไปรับจ้าง เก็บขยะ เก็บขวดขาย บางคนมีค้าขายเล็กๆ น้อยตามพื้นที่สาธารณะ บางคนเดินเตร็ดเตร่ขอเงิน ซึ่งวงเสวนาและการนเสนอร่างรายงานผลการวิจัยในวันนี้ถือเป็นการรายงานผลการดำเนินงานที่ตรงจุดที่สุด”

ผศ.ดร. วิบูลย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการสำรวจพบว่า เฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีคนเร่ร่อนและคนไร้บ้าน เกือบ 140 คน ส่วนใหญ่หมุนเวียนสับเปลี่ยนไป-มา ขณะนี้หลายคนไม่อยากกลับบ้าน หลายคนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ และหลายคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งบางส่วนคณะทำงานช่วยเหลือได้ โดยดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย บางเรื่องมีการเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อนไปสู่การแก้ปัญหาตามลำดับ

บุรีรัมย์ – นางปรียา ประสมทรัพย์ เกษตรกรบ้านโคกน้ำทรัพย์ ตำบลหัวถนน อำเภอนางรอง เผยว่า นำข้าวสารมาวางขายริมถนน มีทั้งประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่ขับรถสัญจรผ่านไปมาแวะซื้อไม่ขาดสาย เพราะมีราคาถูกกว่าท้องตลาด เนื่องจากไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยหลังจากนำข้าวมาวางขายเองก็สามารถขายได้เฉลี่ยวันละ 1-2 พันบาท

ทั้งนี้ ชาวนาหลายหมู่บ้านในตำบลหัวถนนนำข้าวสารหอมมะลิทั้งเก่าและใหม่ ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวมันปู รวมถึงข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่สีตามโรงสีในหมู่บ้าน บรรจุใส่ถุงวางขายเองอยู่ริมถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 24 สายโชคชัย-เดชอุดม ช่วงบ้านโคกน้ำทรัพย์ เพิงร้านค้ามากกว่า 20 ร้าน หลังจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 8-10 บาท ข้าวสารหอมมะลิใหม่ ถุง 5 กิโลกรัม ขายราคา 200 บาท ข้าวสารหอมมะลิเก่า ถุง 5 กิโลกรัม ขายราคา 150 บาท และข้าวสารหอมมะลิแดง ถุง 5 กิโลกรัม ขายราคา 200 บาท