โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการ

เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้าน ยูโร (ประมาณ 600 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมัน รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์กและสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ NAMA Facility

2) โครงการ Supporting the Integration of Agricultural Sector into NAPs in Thailand ซึ่งดำเนินการร่วมกับ FAO และ UNDP เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในกระบวนการวางแผน และการติดตามประเมินผลโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร รวมทั้งการบูรณาการแผนการปรับตัวภาคเกษตรในแผนการปรับตัวแห่งชาติ

การศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของไทย (Green House Gases Mitigation Options in Agricultural Sector of Thailand) โดยดำเนินการร่วมกับ GIZ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร

นอกจากนี้ สศก. ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศในภาคเกษตร เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับการจัดการนาข้าว การปรับตัวทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษาต้นทุนส่วนเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว เป็นต้น

โดยขณะนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล (M & E) โดยเฉพาะด้านการปรับตัว และการศึกษาศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรกรในการปรับระบบการผลิตเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องร่วมดำเนินการกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจากทุกภาคส่วน โดยภาครัฐกำหนดนโยบาย/มาตรการ ที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ภาคเอกชนต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยี ภาคการเงินสนับสนุนเงินทุน และเกษตรกรต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนต่อไป

นายเดชา บรรลือเดช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานกรรมการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติที่คิดค้นและจดสิทธิบัตรเป็นนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้ง ว่า “การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ” เป็นระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดจะป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกุ้งได้แทบทุกชนิด ซึ่งเริ่มต้นจากช่วงวิกฤติโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งระบบ มากระทั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ กำหนดให้ โรค Hepatopancreatic microsporidioisis caused by Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) และโรค Shrimp hemocyte iridescent virus (SHIV) ซึ่งเกิดในกุ้ง เป็นโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ในสัตว์น้ำที่เคยมีการประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 38 โรค จากประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติดังกล่าว มองว่าระบบนี้สามารถควบคุมได้และมีความเสถียรมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เสียดายว่าเกษตรกรไทยไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ฯ จะเป็นชาวต่างประเทศ

“อยากให้เกษตรกรไทยได้ทดลองใช้ระบบอิงธรรมชาติแล้วต่อยอด มองว่าอนาคตต้องใช้ระบบอิงธรรมชาตินี้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบนี้อาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดแต่มองว่าเป็นระบบที่ได้ผลและประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง ก้าวข้ามเรื่องโรคไปได้อย่างปลอดภัย ทุกอย่างไม่มี 100% แต่อย่างน้อยที่สุดเกษตรกรที่เอาระบบนี้ไปใช้ 80% หรือกว่านั้นจะประสบความสำเร็จ และด้วยบทบาทการผลักดันจากสภาเกษตรกรแห่งชาติที่พยายามทำระบบอิงธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักของเกษตรกรทั่วประเทศ เราแก้ปัญหาให้เกษตรกรและเป็นระบบที่ทดลองทำและใช้เองจนมั่นใจมาก ถึงกล้าจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มาดูงานที่ศูนย์แล้วนำไปต่อยอดไม่ค่อยมีปัญหา อาทิ บ่อเลี้ยงที่จังหวัดนครนายก จันทบุรี นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่พื้นที่สีแดงที่แย่สุดๆ ไม่สามารถทำบ่อเลี้ยงได้เลย แต่พอปรับเป็นระบบอิงธรรมชาติก็สามารถเลี้ยงได้รอด ปลอดภัย ได้ผลผลิตหลายรอบ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่เลี้ยงไม่ได้ พอเข้ามาดูระบบที่ศูนย์ก็นำกลับไปปรับต่อยอดจนเลี้ยงได้และเพิ่มผลผลิต อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ที่ตอนนี้ผลิตได้ 7-10 ตันกว่า ด้วยช่วงระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแต่ของไทยยังช้าอยู่” นายเดชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติยังมีปัญหาคือ หากผู้ทดสอบกระบวนการตรวจสอบมีสุขภาพสายตาไม่ดีจะไม่สามารถทำการทดสอบสารอย่างแม่นยำได้, ปริมาณการหยดสารทดสอบไม่เท่ากัน, สมาธิระหว่างนับหยดสารทดสอบ เป็นต้น สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งผลักดันเรื่องการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติให้เกิดเป็นระบบที่ยั่งยืน นอกจากการจดสิทธิบัตรแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับดีป้าและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เตรียมพัฒนาใช้แอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเพื่อให้การเลี้ยงด้วยระบบอิงธรรมชาติเกิดความเสถียร แม่นยำ สะดวก รวดเร็ว และทันสมัยมากขึ้น

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอกับภาวะการครองชีพ และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าและเรื่อยมาถึงช่วงนี้ ไม่กี่วันที่ผ่านมา เรากำลังท้อใจกับพี่น้องชาวนาและเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง นาข้าวยืนตายอย่างไม่มีทางช่วยเหลือ หรือแหล่งน้ำประปาที่แห้งกรัง จนภาครัฐต้องระดมสรรพกำลังมาช่วยดังข่าวที่นำเสนอกันมา ข่าวที่น่าวิตกที่สุดก็คือปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนไม่ถึง 10% เป็นส่วนมาก ผ่านมาไม่กี่วัน ข่าวพายุโพดุลแวะเวียนเข้ามาเติมน้ำให้จนเกินปริมาณความต้องการ ทำเอาพื้นที่ภาคอีสานและทางภาคเหนือกลายเป็นผืนน้ำเกือบทั้งหมด

ยังไม่จบสิ้น ข่าวพายุเหล่งเหลงก็ขย่มหัวใจกันอีกครั้ง ก่อนที่ท่านอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาจะมาให้ข่าวว่าไม่เข้าไทยหรอก แต่ที่จะเข้าก็คือพายุโซนร้อนคาจิกิ ฟังคราแรกก็ดีใจกัน แต่พอฟังจนจบก็ใจห่อเหี่ยวไปเยอะ นาข้าวที่ก่อนนั้นยืนต้นตายเพราะแล้งก็ถูกน้ำหลากท่วมจมมิดมองไม่เห็นผืนดิน เมื่อยังจะมีน้ำมาอีกระลอกก็คงท่วมจมมิดไม่เห็นกระทั่งความหวังในผลผลิตจากผืนนา ทำนายกันได้ว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ ราคาข้าวคงดีดตัวขึ้นไม่น้อยแน่นอน แต่ในความโชคร้ายก็มีข่าวดีมาเยือน นั่นคือทุกเขื่อนมีน้ำเติมเข้ามามากพอที่จะนำมาใช้งานได้ในภาคเกษตรอย่างสบาย ก็เพียงหวังว่าพี่น้องเกษตรกรจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้นะครับ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวครับ

ผมนัดกับ พี่ประทีป มายิ้ม เจ้าของสวน พออยู่พอกินบ้านมายิ้ม บางท่านอาจทราบได้จากสื่ออื่นๆ ว่า พี่ประทีป เป็นเจ้าของสูตรพื้นที่น้อยแต่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ให้เดือดร้อน ในทุกตารางนิ้วสามารถสร้างงานสร้างเงินได้ไม่ต่างกัน เริ่มมาจากเมื่อเรียนจบใหม่ๆ พี่ประทีปเดินทางไปทำงานที่ตะวันออกกลาง หนักเอาเบาสู้ เพราะเป้าหมายเพื่อเก็บเงินและเก็บเกี่ยวความรู้และเทคโนโลยีของบ้านเมืองเขา นำกลับมาปรับใช้ในพื้นที่ตัวเอง พื้นที่ 1 ไร่เศษๆ กับการเริ่มต้นด้วยเงิน 70,000 บาท เพื่อสร้างบ้านสักหลัง โดยวางแผนไว้ว่าบ้านหลังนี้จะมีเทคโนโลยีของตะวันออกกลางมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่

เริ่มจากปรับพื้นที่ให้มีความลาดเอียง วางระบบน้ำทิ้ง น้ำดี ให้ไหลไปยังจุดกักเก็บด้านหลังบ้าน น้ำอาบน้ำใช้ก็ส่งตรงไปตามท่อเข้าสู่ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกรองรับไว้ด้วยระบบน้ำใต้ดิน ส่วนน้ำที่เกิดจากการขับถ่ายจะเข้าสู่บ่อบำบัดใช้จุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลายและนำไปใช้ต่อไป ส่วนระบบธนาคารน้ำใต้ดินมีการวางจุดดักและสร้างระบบกรองไว้ เพื่อเติมน้ำดีลงในชั้นบาดาล

เงิน 70,000 เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วได้บ้านหนึ่งหลังเล็กๆ พี่ประทีปวางแผนใช้หลังคาให้เกิดประโยชน์ โดยการปลูกไม้เลื้อยคลุมหลังคา ทั้งฟัก แฟง ฟักข้าว ฟักทอง แตงไทย ปล่อยให้เลื้อยอยู่บนหลังคา ผลที่ได้จากการกระทำแบบนี้คือ มีรายได้จากการขายผลผลิต และบ้านก็เย็นมากขึ้น เพราะแดดส่องไม่ถึงตัวหลังคาบ้าน พี่ประทีป บอกว่า ในปัจจุบัน รายได้ต่อปีต่อ 1 ตารางเมตร บนหลังคาคือ 10,000 บาท จากการขายผลผลิตที่ปลูกคลุม และเมื่อมีรายได้ก็เก็บสะสมและนำมาต่อเติมบ้านจนกลายเป็นหลังใหญ่ดังเช่นปัจจุบัน พื้นที่รอบบ้านเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว ส่วนหนึ่งเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง หอย ปลา เลี้ยงไก่ไข่ และที่ว่างทั้งในห้องนอน ห้องต่างๆ จะมีชั้นเป็นลิ้นชักเลี้ยงกุ้งอยู่เต็มไปหมด เรียกได้ว่าสร้างงานสร้างเงินได้เต็มพื้นที่จริงๆ

นั่นเป็นเรื่องราวที่คนส่วนมากได้รับรู้เรื่องของพี่ประทีป แต่สำหรับครั้งนี้ผมนัดคุยกับพี่ประทีปในแง่ของคนทำไม้ คนปลูกป่าเศรษฐกิจมาก่อน รู้กันไหมว่า ต้นสักที่ปลูกไว้ที่บ้านมายิ้ม อายุเพียง 12 ปี ก็สามารถตัดมาใช้ทำประโยชน์หรือขายได้แล้ว ด้วยเทคนิคของคนปลูกป่ามาก่อนนั่นเอง น่าสนไหมล่ะ ทำง่ายๆ ไม่ยากด้วยนะ

เริ่มจากการขยายพันธุ์สัก ที่สวนนี้จะปลูกเฉพาะสักทองเท่านั้น สักขี้ควาย สักขี้หมูไม่ปลูก ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสักที่ปลูกเป็นสักทอง พี่ประทีปแนะนำว่า ให้เด็ดใบมาสักนิด ใช้นิ้วขยี้ๆ สักพักจะเห็นเป็นสีออกแดงแบบน้ำหมาก นั่นแหละสักทองของแท้ นำมาปลูกแล้วได้ของดีแน่นอน การขยายพันธุ์สักทองของพี่ประทีป จะใช้การแกะตาชำ เริ่มจากใช้สิ่ว ค้อน ไปแกะตาสักทองขนาดเพิ่งโผล่ตา ตอกสิ่วให้ลงไปถึงเนื้อไม้ แล้วนำมาชำในกระบะทรายชื้นๆ ใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ก็สามารถนำเอาไปชำถุง หรือปลูกลงแปลงได้แล้ว คราวนี้ระยะปลูก พี่ประทีป บอกว่า 4×4 หรือ 4×5 ก็พอ เพราะเรากำหนดอายุตัดไม้ได้

“ทำแบบนี้ติดแน่หรือพี่” “แน่นอนครับ แล้วขยายได้มากด้วยนะ จากตาเดียวเราอาจจะได้ 4-8 ต้นใหม่เลยนะ มันขยายได้เรื่อยๆ”

“เพิ่งรู้จริงๆ นะเนี่ย แล้วทำกับไม้อื่นได้ไหมครับ”

“เอาไปลองกันดูนะครับ ผมเองขยายแต่พันธุ์สักทองเท่านั้น”

“อัตรารอดจนได้ปลูกเยอะไหมพี่” “หากตอบว่า 100% ก็จะหาว่าโม้ เอาเป็นว่าเกินกว่า 80% แน่นอน รับรองได้”

ในธรรมชาติต้นไม้ทุกต้นจะโคนใหญ่และปลายเล็ก สูตรของคนปลูกป่าเช่นพี่ประทีป บอกว่า เราสามารถทำให้ไม้สักทองของเรามีขนาดโคนและปลายเท่ากันได้ โดยการกำหนดความยาวของแผ่นไม้ที่เราต้องการ เช่น 4 เมตร, 6 เมตร เมื่อกำหนดขนาดความยาวของไม้ได้แล้วก็วัดจากพื้นสูง ประมาณ 50 เซนติเมตร และวัดขึ้นไปตามขนาดที่เราต้องการ แล้วจึงตัดยอด ต้นไม้ก็จะสร้างยอดใหม่ขึ้นมา แต่ขนาดของไม้ที่เราจะได้โคนถึงปลายมีขนาดเท่ากัน ข้อดีของไม้ที่มีพูพอน เช่น สักทอง กระบก เราสามารถเพิ่มเนื้อไม้ได้โดยการถากเปลือก ส่วนไหนที่โบ๋ไม่เต็มก็ถากเปลือกออก ให้ไม้สร้างเนื้อเพิ่มขึ้นมา ทำแบบนี้ทุกต้น โดยการถากสลับกัน ปีนี้ถากทางเหนือ ใต้ ปีหน้าก็ถากทางตะวันตก ตะวันออก สลับกันเช่นนี้ เราก็จะได้ไม้ที่เติบโตได้ดี มีขนาดเท่ากัน ได้ราคา

รายละเอียดการกรอกรายการไม้
การทำป่าเศรษฐกิจ จะต้องไปแจ้งต่อเกษตรอำเภอประจำท้องที่ ต้องมีค้อนประจำสวน มีเอกสารเป็นหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า (สป.3) และต้องมีหนังสือแสดงบัญชีรายการไม้ที่ได้มาจากสวนป่า สมมติว่าเมื่อเราแจ้งตัด พอตัดแล้วก็เอาค้อนตีตราที่ตอไม้ และเมื่อเราเลื่อยไม้เป็นแผ่นแล้วก็ต้องใช้ค้อนตีตราและตีเลขทุกแผ่น แล้วจึงนำมากรอกข้อมูลลงในหนังสือแสดงบัญชีรายการ หากทำครบเช่นนี้แล้วก็สามารถขนส่งหรือนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย

“ถามจริงๆ นะพี่ ยากไหมครับสำหรับการจดแจ้งทำสวนป่าเศรษฐกิจ” “ไม่ยากหรอกครับ มีอะไรเข้าไปปรึกษาเกษตรอำเภอ จะได้รับคำแนะนำและบริการอย่างดีเลยเชียว”

“หากมีผู้อ่านสนใจอยากมาเรียนรู้แบบนี้ พี่พอจะแนะนำได้ไหม”

“มาเลยครับ โทร.มาก่อนก็จะดี จะได้เช็คว่าผมติดธุระที่ไหนไหม เพราะช่วงนี้เดินสายอบรมให้สมาชิกทั่วประเทศ”

“ขอเบอร์ครับ” “(081) 664-5561 ครับ หรือเซิร์จ สวนพออยู่พอกินบ้านมายิ้มก็ได้ครับ” นี่แหละครับ อีกหนึ่งความรู้ที่ผมเพิ่งทราบมาจากผู้รู้ ขอบคุณครับพี่ ขอเวลาสักนิด รอผลว่าการที่ผมนำตาไม้มาชำตามสูตรพี่จะได้ผลเพียงไหน แล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ

น่าจะมีการเอ่ยถึงมาแล้วหลายสิบราย สำหรับเกษตรกรหรือกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่ใช้เวลาว่างรวมกลุ่มแปรรูปกล้วย ออกมาในรูปแบบของกล้วยตาก รสชาติดี จนขึ้นชื่อเรียกติดปากกันว่า กล้วยตากบางกระทุ่ม กระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2558

มีรายชื่อ ผู้ขอขึ้นทะเบียนในครั้งนั้น 13 ราย โดยให้คำนิยามถึงกล้วยตากบางกระทุ่ม พิษณุโลก ว่า หมายถึง กล้วยตาก ที่มีเนื้อแห้งเนียนละเอียด เหนียวนุ่ม ไม่มีเม็ด รสชาติหวานเป็นธรรมชาติ ผลิตจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง พันธุ์นวลจันทร์ พันธุ์ปากช่อง 50 หรือพันธุ์พื้นเมือง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

คุณบุญศักดิ์ มาขำ เป็น 1 ใน 13 ราย ที่ได้รับขึ้นทะเบียนในครั้งนั้นด้วย

คุณบุญศักดิ์ เป็นประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์บางกระทุ่ม และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้างบึงเรียน หมู่ที่ 7 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

คุณบุญศักดิ์ เล่าว่า โดยอาชีพเดิมของเกษตรกรที่นี่ทำนา และตามหัวไร่ปลายนา หรือบริเวณบ้านก็มีต้นกล้วยพันธุ์มะลิอ่องปลูกอยู่ เมื่อกล้วยออกมาก กินเหลือก็โยนให้ปลา ให้ไก่กิน แต่เมื่อเหลือมากเกินความจำเป็น ขายก็ไม่ได้ เพราะมีปลูกอยู่ทุกบ้าน จึงอยากใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำนา แปรรูปกล้วยเพื่อขาย จึงนัดแนะผู้หญิงที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มสตรีสหกรณ์บางกระทุ่มอยู่แล้ว มาช่วยกันแปรรูปกล้วยเพื่อนำไปขาย สร้างรายได้เสริม

“เราก็ทำกล้วยตากธรรมชาติ แล้วนำไปฝากขายกับร้านค้าที่วัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) แรกๆ ก็ใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงไปปกติ แล้วเจ้าของร้านที่นำไปฝากขาย ก็ติดต่อกลับมาให้ทำกล้วยตากเพิ่มไปให้วางขาย เพราะลูกค้าติดใจ ถามมามาก”

คุณบุญศักดิ์ บอกว่า เมื่อมีออเดอร์เข้ามา ก็รวมกลุ่มกันทำตามเดิม อย่างน้อยก็เป็นรายได้เสริม ต่อมาสักพักจึงคิดรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นในปี 2548 ประกอบกับได้รับเงินส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐมาจำนวน 40,000 บาทในระยะแรก จึงก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้างบึงเรียน มีการลงหุ้น มีการบริหารจัดการภายในกลุ่ม เมื่อครบปีสมาชิกจะได้รับเงินปันผล และสมาชิกใดมาลงแรงด้วยการแปรรูปกล้วย จะมีรายได้ต่อวันต่างหากอีก อย่างน้อยคนละ 200-300 บาท ต่อวัน และเริ่มทำตลาดด้วยการตีแบรนด์ “แสงทอง”

เมื่อเริ่มก่อตั้งกลุ่มระยะแรก ใช้โดมขนาดเล็กที่มีอยู่ 6 โดม สำหรับตากกล้วย แต่ละโดมตากได้ครั้งละ 70 กิโลกรัม ก็เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงเพิ่มขนาดโดมที่ปัจจุบันสามารถตากกล้วยได้มากถึง 2 ตัน

กล้วยสำหรับทำกล้วยตาก คุณบุญศักดิ์ ย้ำว่า เราต้องการกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องเท่านั้น และรับซื้อในจังหวัดพิษณุโลกก่อน แต่ถ้าในฤดูแล้งที่วัตถุดิบขาดแคลน ก็จำเป็นต้องซื้อกล้วยจากจังหวัดใกล้เคียง เพื่อนำมาทำกล้วยตาก ซึ่งปัจจุบันตลาดผู้บริโภคกล้วยตากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะกล้วยตากบางกระทุ่ม มีรสชาติเฉพาะตัว ไม่เหมือนที่อื่น ทำให้การแปรรูปนอกจากเป็นกล้วยตากแล้ว ยังแปรรูปเป็นกล้วยม้วน กล้วยทับ และเพิ่มกล้วยตากรสชาติอื่นเข้าไป เช่น กล้วยตากอบน้ำผึ้ง กล้วยตากหมักไวน์ เป็นต้น

กล้วย เป็นวัตถุดิบที่สำคัญมาก ราคารับซื้อกล้วยโดยปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-6 บาท แต่ในช่วงฤดูแล้ง ที่วัตถุดิบขาดตลาด ราคาจะสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 10-12 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่หนัก กลุ่มวิสาหกิจจะพยายามคงราคาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด

การเลือกซื้อกล้วยพันธุ์น้ำว้ามะลิอ่อง จะซื้อแบบกล้วยดิบ แต่ผลกลมแล้ว นำมากอง เอาผ้ายางคลุม 24 ชั่วโมง จากนั้นเปิดผ้ายางออก หากทำเป็นกล้วยตาก หลังเปิดผ้ายางทิ้งไว้ 3 วัน แล้วนำไปปอก หากทำเป็นกล้วยม้วน หลังเปิดผ้ายางต้องทิ้งไว้ 4 วัน เพื่อให้กล้วยงอมจัด แล้วนำไปปอก

หลังปอกกล้วยแล้ว จึงนำไปตากในโดม แผ่ไม่ให้กล้วยติดกัน เอากล้วยตากในโดมตอนเช้า และให้เก็บกล้วยกองในตอนเย็น ทำเช่นนี้ 3-4 วัน การเก็บกล้วยกองในตอนเย็น จะช่วยให้ความฉ่ำและความหวานของกล้วยออกมารวมกันและผิวกล้วยจะสวย เมื่อครบระยะเวลาตาก ให้เก็บใส่ถุงนำมาตัดแต่งจุดด่างดำออก แล้วนำเข้าตู้อบลมร้อน ใช้อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 45-60 นาที สำหรับกล้วยตาก แต่ถ้าเป็นกล้วยม้วน ใช้เวลาเข้าตู้อบลมร้อนเพียง 30 นาที

การทำกล้วยตาก เมื่อใช้กล้วยดิบ 1 ตัน จะได้กล้วยตากเพียง 300 กิโลกรัม ส่วนกล้วยม้วน ใช้วัตถุดิบมากกว่า กล้วยดิบ 100 กิโลกรัม ผลิตกล้วยม้วนได้เพียง 20-25 กิโลกรัมเท่านั้น

สำหรับเปลือกกล้วย ที่แน่นอนว่าต้องเหลือทิ้งจำนวนมาก อยู่ระหว่างการวิจัยของสถาบันการศึกษา ว่า สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรมาขอนำไปเลี้ยงวัวและทำปุ๋ยเป็นประจำ

ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ ทำให้มีลูกค้าส่งค่อนข้างมาก นำไปติดแบรนด์เอง และขายปลีกในแบรนด์ “แสงทอง” ของกลุ่มวิสาหกิจเองบ้าง นอกจากนี้ ยังทำสัญญากับห้างโมเดิร์นเทรด ส่งขายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกเดือน

เมื่อถามถึงความโดดเด่นของกล้วยตากบางกระทุ่ม แบรนด์ “แสงทอง” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้างบึงเรียน คุณบุญศักดิ์ บอกว่า เป็นเพราะการรักษาคุณภาพเรื่องของความสะอาดและมาตรฐานการผลิต ที่ต้องทำให้กล้วยแห้ง แต่คงรสชาติความหวานจากเนื้อกล้วยแท้ๆ ไม่เจือปนสารให้ความหวานชนิดใด ทั้งยังนุ่มและหนึบเมื่อรับประทาน

คุณบุญศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอดการแปรรูปกล้วยตากมาหลายปี ไม่เคยประสบปัญหาใด ยกเว้น ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ที่ส่งผลให้กล้วย วัตถุดิบหลักขาดแคลน ราคาสูงขึ้น และต้องหาซื้อจากแหล่งอื่น ไม่ใช่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

และหากท่านใดสนใจเยี่ยมชมกระบวนการผลิตก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้แจ้งมาก่อนล่วงหน้าจะเป็นการดี เพราะกลุ่มมีจำนวนไม่มากนัก และมีการผลิตทุกวัน สามารถติดต่อมาได้ที่ คุณบุญศักดิ์ มาขำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบึงเรียน หมู่ที่ 7 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ (081) 493-1897 หรือ (098) 225-3979

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน “4 GRAINE” สารสกัดจากเก๊กฮวยสู่เชิงพาณิชย์ ผลงานการวิจัยของศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ให้แก่ นายไพศาล เวชพงศา กรรมการบริษัทแสงสว่างตราค้างคาว จำกัด ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบผงชงละลายน้ำ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้บ่อยครั้ง โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เหมือนกับยารักษาไมเกรนในกลุ่มอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ผ่านการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลองทั้งการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ในวันพุธที่ 25 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมผู้บริหารชั้น 8 อาคารวิจัยและพัฒนา 1 วว. เทคโนธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

“…ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องตามทิศทางและการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนวัตกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และลดต้นทุน รวมทั้งเติบโตได้โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นพื้นฐานสำคัญ โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ เร่งส่งเสริมให้เกิดสังคมนวัตกรรม โดยเสริมสร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจ

พัฒนานวัตกรรมภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนผลักดันงานวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่สำคัญของ วว. ในการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่ายในการการพัฒนางาน วทน. อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

“ไมเกรน” เป็นอาการปวดศีรษะชนิดเรื้อรังที่ไม่ใช่แค่ปวดศีรษะเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำและอาจจะเป็นเวลาไหนก็ได้ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 7-8 ปี จนถึงวัยทำงาน แต่ที่พบบ่อยจะเป็นช่วงอายุ 15-55 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน ในผู้หญิงพบไมเกรนได้ 16-18% ส่วนในผู้ชายพบได้ 6-8% และอัตราการเป็นไมเกรนต่อประชากรในโลก คือ 1 ต่อ 8

ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานที่เชื่อได้ว่า การปวดศีรษะไมเกรนจะเริ่มต้นเกิดขึ้น เมื่อมีตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการต่างๆเป็นลูกโซ่ นำไปสู่อาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับของสารสื่อประสาท serotonin ซึ่งพบว่ามีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือดในสมอง เป็นผลให้เส้นเลือดฝอยที่มีเส้นประสาทพันรอบเส้นเลือดเหล่านี้ถูกยืด จึงเป็นการกระตุ้นและส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะที่ค่อนข้างรุนแรง โดยจะเริ่มต้นปวดตุบๆ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะ เช่น เบ้าตา ขมับ ซึ่งทำให้เกิดความรำคาญ และเมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะทำให้รู้สึกทรมาน อาจมีอาการคอแข็ง อ่อนแรง มีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

การป้องกันการเกิดไมเกรน ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผลกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ไม่ใช้น้ำหอม ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนจะต้องใช้ยาในการบรรเทาอาการปวด โดยผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้ปวด เช่น aspirin, ibuprofen, หรือยาผสมระหว่าง paracetamol, aspirin, และ caffeine อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่มีอาการไมเกรนที่รุนแรงอาจใช้ยาในกลุ่ม serotonin receptor agonists เช่น sumatriptan, almotriptan, zolmitriptan ที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้น serotonin receptor ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะให้ผลการรักษาดีมาก แต่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ค่อนข้างอันตรายต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ นอกจากนี้ราคาของยาในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง