โคลัมเบีย ขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง : ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา

โคลัมเบียได้เพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็น สับปะรด MD-2 พื้นที่ปลูกประมาณ 4,062 ไร่ (650 เฮกตาร์) ให้ผลผลิตรวม 23,000 ตัน ผลผลิตที่ส่งออกประมาณร้อยละ 50 ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสับปะรดจะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

เปรู ส่งสับปะรดเข้าสู่ตลาดโลก : ประเทศเปรูผลิตสับปะรดได้ราวๆ 450,000 ตัน/ปี ส่งทางเรือไปตลาดประเทศสเปน ในปีที่ผ่านมาส่งไปราวๆ 500 ตัน เป้าหมายจะพัฒนาสู่ระบบสับปะรดอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สาธารณรัฐโดมินิกัน : เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการขยายการผลิตสับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2 มากขึ้น ในปี 2559 ส่งออกปริมาณ 9,000 ตัน มูลค่า 245 ล้านบาท ซึ่งแต่เดิมสับปะรดเป็นพืชรอง แต่จากการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถส่งออกเป็นพืชที่สร้างรายได้ที่ดีอีกพืชหนึ่ง

อิสราเอล : สับปะรด MD-2 ราคาดีที่ประเทศอิสราเอล สับปะรดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีราคาสูงมากในประเทศอิสราเอล และราคาค่อนข้างคงที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในซุปเปอร์มาร์เก็ตสับปะรดผลสดขนาดกลางราคาอาจสูงถึง 330 บาท/ผล ซึ่งในรอบปีราคาจะขึ้นลงระหว่าง 175-350 บาท/ผล แต่ละปีมีผลผลิตรวมประมาณ 3,000 ตัน แต่มีการนำเข้าปีละ 500 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณไม่มากจากประเทศแอฟริกาใต้และกัวเตมาลา เนื่องจากการนำเข้าค่อนข้างยาก เพราะความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพ ด้านการปลอดสารตกค้าง และโรคแมลง แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดในการปลูกค่อนข้างมาก แต่ราคาซื้อขายที่สูง และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรมีความพยายามขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้มีการสำรวจแหล่งผลิตใหม่ๆ เพื่อการนำเข้า เช่น จากประเทศฟิลิปปินส์และไทยอีกด้วย

มาเลเซีย : ยกระดับ สับปะรดพันธุ์ MD-2 ขึ้นเป็นพืชมูลค่าสูง (high-value crop) รัฐบาลประเทศมาเลเซีย โดยคณะกรรมการอุตสาหกรรมสับปะรดแห่งมาเลเซีย (The Malaysian Pineapple Industry Broad : MPIB) สนับสนุนการปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 โดยจัดให้เป็นพืชมูลค่าสูง และมีเป้าหมายขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2563 จะขยายการปลูกเพิ่มเป็น 31,250 ไร่ (5,000 เฮกตาร์) ผลผลิต 63,000 ตัน จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูก 2,345 ไร่ (375 เฮกตาร์) และจะปรับสัดส่วนการส่งออกสับปะรดผลสดกับสับปะรดแปรรูป จากร้อยละ 60 : 40 เป็น ร้อยละ 80 : 20 โดยจะเพิ่มผลผลิตจาก ปี 2559 ขึ้นอีกร้อยละ 70 เนื่องจากมีการทำข้อตกลงการนำเข้าจากประเทศจีนถึงเดือนละ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ยังมีความต้องการจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ฟิลิปปินส์ : เป็นประเทศผู้ส่งออกสับปะรดผลสด เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศคอสตาริกาและเนเธอร์แลนด์ ในปี 2559 ส่งออกมีมูลค่า 228.4 ล้านดอลลาร์ (7,994 ล้านบาท) โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง จากข้อมูลปี 2555-2559 การส่งออกสับปะรดไปยัง 5 ประเทศ มีอัตราการเติบโต ดังนี้ อิหร่าน (+3,831%), จีน (+951.6%), สหรัฐฯ (+377.5%), ไต้หวัน (+236.4%) และนิวซีแลนด์ (+189.3%) โดยมี บริษัท Del Monte Foods และ Dole Foods Company เป็นผู้ผลิตและส่งออกเป็นหลัก

คอสตาริกา : เป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบอเมริกากลาง แต่จัดเป็นผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่และส่งออกสับปะรดผลสดมากที่สุดของโลก การผลิตเริ่มตื่นตัวมาตั้งแต่ปี 2543 เมื่อมีการส่งเสริมการผลิต สับปะรด MD-2 และส่งออกต่างประเทศ จนกลายเป็นพืชหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศในเวลาต่อมา ในปี 2557/58 ปริมาณผลผลิตรวม 2,915,628 ตัน มีการส่งออกสับปะรดผลสด คิดเป็นมูลค่า 822 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (28,770 ล้านบาท) ต่อมาในปี 2559 มีการส่งออกสับปะรดผลสด เป็นมูลค่า 905.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,685 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยตลาดหลักที่สำคัญคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และยังมีตลาดอื่นๆ ในประเทศตะวันออกกลาง และล่าสุดบรรลุข้อตกลงการค้าสับปะรดผลสดกับประเทศจีน และนำร่องส่งผลผลิต สับปะรด MD-2 เข้าจีนบ้างแล้ว

บราซิล : เป็นประเทศผู้ผลิตสับปะรด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ผลผลิตในปี 2557 รวม 2,646,243 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่นั้นใช้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกสับปะรดส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ อุณหภูมิที่สูง ทำให้สับปะรดมีความหวาน และเป็นที่ยอมรับกันมากในตลาดโลก มีผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ตลาดส่งออก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยมี บริษัท Del Monte Foods เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่

ไทย : เป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสับปะรดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยแต่ละปีจะมีผลผลิต ประมาณ 1.7-2.2 ล้านตัน เกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ในกลุ่มสมูทเคยีน ที่รู้จักกันในชื่อสับปะรดปัตตาเวีย และชื่ออื่นๆ ในแต่ละท้องที่ ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป และส่งออกเป็นสับปะรดกระป๋อง, น้ำสับปะรด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในปี 2558 การส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดมีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่มีการส่งออกสับปะรดผลสดค่อนข้างน้อยมาก และจากกระแสผู้บริโภคทั่วโลกที่ตื่นตัวกับ สับปะรดพันธุ์ MD-2 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการปรับตัว โดยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เริ่มมีการส่งเสริมการผลิต สับปะรด MD-2 ภาคเอกชนนำโดย บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ฯ และภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปริมาณยังไม่มาก ปัจจุบัน สับปะรด MD-2 ในประเทศไทยที่มีการผลิตและใช้ชื่อเรียกกันตามเจ้าของผู้ผลิต เช่น สับปะรดหอมสุวรรณ, สับปะรดเหลืองสามร้อยยอด, สับปะรดหอมทองเมืองราช และสับปะรดสยามโกลด์ เป็นต้น

บทสรุป : หลังจากที่มีการเปิดตัว สับปะรด MD-2 กระแสการตอบรับของผู้บริโภคโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้เปลี่ยนมาบริโภคพันธุ์นี้กันเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ร้อยละ 95 หากจะดูตามช่วงเวลา (timeline) ของการเข้าสู่ตลาดแข่งขันกับพันธุ์เดิมๆ ก็ใช้เวลาไม่นานมากนัก ซึ่งในอดีตพันธุ์สมูทเคยีนครอบครองทั้งตลาดแปรรูปและตลาดผลสด แต่ด้วยการพัฒนาเชิงวิชาการ แล้วได้พันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า พันธุ์เก่าก็ยากที่จะยืนหยัดต่อไปได้ เข้าทำนอง “มาทีหลัง แต่ปังกว่า”

นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี สำหรับการพัฒนาต่อยอด แม้ว่าจะต้องใช้ความรู้ เวลา/ความอดทน/รอคอย และงบประมาณในระดับหนึ่ง เป็นการทุ่มเทที่คุ้มค่า หากมองกลับมาวงการสับปะรดบ้านเรา ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอได้ แต่มองดูพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำสู่ความเป็นเลิศจริงๆ นั้น น่าจะยังพูดไม่ได้ซะทีเดียว และการที่ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูป เป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่ได้หมายความว่าในระบบห่วงโซ่อุปทานสับปะรด (supply chain) ของเราจะเหนือกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะระดับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำ ยังต้องมีการพัฒนาในอีกหลายด้าน ส่วนตัวเลขผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่เปิดใหม่และพื้นที่จากการโค่นล้มเปลี่ยนพืชที่ปลูกอยู่เดิมออกไปเพื่อปลูกสับปะรด มากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ (productivity)

อีกประเด็นที่น่าจะได้จากกรณีตัวอย่าง จากหลายประเทศที่เขาปรับเปลี่ยนแนวคิด สู่มิติ/และทางเลือกใหม่ ที่มีโอกาสเลือกภายใต้ศักยภาพเดิมที่มีอยู่เดิม จากประสบการณ์ที่เป็นผู้ผลิตสับปะรดมาก่อน ด้วยการเพิ่มทางเลือกและ/หรือปรับเปลี่ยนแนวไปส่งเสริมการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมสับปะรดแปรรูป เป็นการพัฒนาการผลิตแบบคู่ขนาน (dual tract) ตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่ยกระดับ สับปะรด MD-2 ขึ้นเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง (high-value crop) และกำหนดเป้าหมายการผลิตและการตลาดไว้อย่างชัดเจน โดยเร่งขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตรวม และปรับสัดส่วนการส่งออก เป็นการแปลงสถานการณ์ให้เป็นนโยบายและนำสู่การปฏิบัติ อีกตัวอย่าง

ประเทศไอวอรีโคสต์ (Côte d’Ivoire) ซึ่งในอดีตเป็นผู้ส่งออกสับปะรดผลสด และครองตลาดอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน (ปลูกพันธุ์สมูทเคยีน) แต่ที่สุดก็ต้องสูญเสียตลาดให้กับประเทศคอสตาริกา (Costa Rica) ที่เปลี่ยนมาผลิต พันธุ์ MD-2 เข้าเป็นคู่แข่ง และสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการขยายฐานการส่งออกมายังตลาดในเอเชีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศจีน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์สับปะรดของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะสับปะรดผลสดนั้นมาแรง

ผลกระทบจากการพัฒนาสับปะรด พันธุ์ MD-2 ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตสับปะรดหลักๆ ของโลกส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาผลิตสับปะรดพันธุ์นี้เพื่อการค้าอย่างจริงจัง พอจะมีสัดส่วนการผลิตสับปะรดพันธุ์เดิมๆ อีกไม่มากนัก ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเท่านั้น สำหรับวงการสับปะรดบ้านเรา เริ่มมีการส่งเสริมการผลิตสับปะรด พันธุ์ MD-2 กันบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังมีพื้นที่ปลูกและจำนวนต้นไม่มากนัก แต่หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นระบบ และอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสับปะรด ก็ยังไม่ช้าเกินไปที่จะลงเล่นในสนาม MD-2 เพราะประเทศไทยเรามีศักยภาพที่เหนือกว่าหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตหลักของโลก ขึ้นกับว่าเราจะจริงจังกันแค่ไหน…ขอเอาใจช่วยครับ

สนใจแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ FB : Montri Klakhai มีโอกาสไปสัมภาษณ์ คุณวิชาญ บำรุงยา เจ้าของสวนมะพร้าวแกง อยู่ที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี คุณวิชาญ เล่าว่า “การทำสวนมะพร้าวแกงเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำมาให้ ซึ่งสมัยก่อนการปลูกมะพร้าวจะปลูกแบบสวนรวม มีพืชอื่นๆ ด้วย มะพร้าวเป็นรายได้หลักของครอบครัว สมัยก่อนการค้าขาย การขนส่งมะพร้าว ชาวสวนหรือเจ้าของสวนจะเก็บลงมาเอง แล้วบรรทุกเกวียนไปขายที่ตลาดนาเกลือ

การนำไปขายของคนสมัยก่อน คือการนำไปแลกปลา แลกหมู มาเก็บไว้ เพื่อใช้กินในครอบครัว สมัยก่อนการปลูกมะพร้าวไม่ได้มีการดูแลอะไรมากนัก ส่วนมากเกษตรกรจะปลูกแล้วให้เทวดาเลี้ยง เพราะเมื่อก่อนสภาพดินยังอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ปลูกแล้วปล่อยไว้เลย คอยระวังก็แต่ด้วงแรดอย่างเดียว สมัยก่อนมะพร้าวยังไม่มีโรค มีแต่ด้วงแรด ด้วงงวง”

อาชีพเกษตกรรม ทำสวนมะพร้าวแกงของคุณวิชาญสร้างคนให้จบปริญญามาหลายรุ่น ญาติพี่น้องเป็นทนาย เป็นอาจารย์ ก็มาจากการขายมะพร้าวส่งเรียน

พื้นที่สวนมะพร้าวแกงของคุณวิชาญมีทั้งหมด 45 ไร่ มีมะพร้าวประมาณ 900 ต้น ปลูกค่อนข้างห่าง เพราะใช้พื้นที่ด้านล่างในการปลูกมันสำปะหลัง ทุกวันนี้มีมะพร้าวเป็นเงินเดือน มันสำปะหลังเป็นเงินปีหรือเงินก้อน สาเหตุหลักที่ปลูกต้นมันสำปะหลังในสวนมะพร้าวคือ จะได้ไม่ต้องทำความสะอาดสวน ไม่ต้องไถบ่อย ไม่ต้องพ่นยาฆ่าหญ้าหรือกำจัดวัชพืชบ่อย เพราะต้นมันสำปะหลังจะคลุมดินทั้งหมดไว้ไม่ให้เกิดวัชพืชรกรุงรัง แล้วเวลาใส่ปุ๋ยให้มันสำปะหลัง มะพร้าวก็จะได้รับปุ๋ยด้วย เพราะรากของมะพร้าวนั้นกระจายอยู่ทั่วบริเวณสวน

เกณฑ์การเลือกพันธุ์มะพร้าว มะพร้าวที่คุณวิชาญปลูก เรียกว่า พันธุ์พื้นเมืองต้นสูง มะพร้าวจะมีพันธุ์พื้นเมืองต้นสูง กับพันธุ์ต้นเตี้ย อย่างพันธุ์ต้นเตี้ยคือมะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม ที่ขายผลสด แต่มะพร้าวที่สวนของคุณวิชาญจะเรียกว่าพันธุ์พื้นเมืองต้นสูง มะพร้าวแกง

การเลือกพันธุ์จะเลือกที่มีลักษณะลูกโต กะลาใหญ่ เพราะมะพร้าวบางลูกโตจริง แต่โตแค่เปลือกด้านนอก กะลาไม่โตตาม ดูเนื้อด้านในหรือที่เรียกว่ากล้าม หนาใช้ได้ เป็นที่ต้องการของตลาดถือว่าสมบูรณ์

การปลูกมะพร้าวแกง

ตามหลักวิชาการ การปลูกมะพร้าวแกง ระยะต้น กับระยะแถวจะห่างกันประมาณ 8.7 เมตร แต่ในสวนของคุณวิชาญ จะปลูกห่างกัน 9 เมตร เพื่อต้องการใช้พื้นที่ด้านล่างไว้สำหรับปลูกมันสำปะหลังผสม และไม่ให้ร่มเกินไป

สำหรับการใส่ปุ๋ย คุณวิชาญจะให้ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นปุ๋ยคอกที่มาจากมูลไก่ จะโรยพร้อมกับการปลูกมันสำปะหลัง แล้วอีกครั้งหนึ่งจะเป็นการใส่ปุ๋ยช่วงต้นฝนกับปลายฝน คุณวิชาญจะทำได้ในช่วงปลายฝน เพราะแรงงานมีน้อย จึงสามารถทำได้ครั้งเดียวโดยการใส่ปุ๋ย จะใส่ต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อปี ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ หรือไม่ก็ สูตร 13 กับ 21 ที่เชื่อถือได้เท่านั้น

ปัจจุบัน คุณวิชาญ กำลังทดลองใช้ปุ๋ยเติมอากาศ คือปุ๋ยมูลสัตว์ นำไปเข้าหมักโดยใช้วิธีเติมอากาศไม่ต้องกลับกอง ใช้เวลาหมักประมาณ 2 เดือน แล้วจึงนำมาใช้ คุณภาพของปุ๋ยเติมอากาศใกล้เคียงกับปุ๋ยอินทรีย์ อ้างอิงจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทดลองมาประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะคุณวิชาญมีโครงการที่จะทำปุ๋ยตัวนี้ไว้ใช้เองเพื่อเป็นการลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ย

ดูแลดี 4 ปี ก็เก็บผลได้

ตั้งแต่เริ่มปลูกมะพร้าวแกง จะสามารถเก็บผลได้ก็อายุของต้นประมาณ 6 ปี แต่ ณ ปัจจุบัน เกษตรกรมีการให้น้ำ ดูแลดี ก็จะสามารถเก็บผลได้ตั้งแต่ต้นมะพร้าวมีอายุประมาณ 4 ปี มะพร้าวแกงให้ผลผลิตได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 ลูก ต่อ 1 ต้น แต่ต้องมีการดูแลอย่างดี

ศัตรูของต้นมะพร้าว

ปัจจุบัน ที่เห็นชัดเจน ก็จะมี หนอนหัวดำ การทำลายของหนอนหัวดำคือ จะทำให้ต้นมะพร้าวมีใบแห้ง วิธีการกำจัดหนอนหัวดำคือ การใช้สารเคมี อิมาเม็กตินเบนโซเอต (Emamectinbenzoate) ใช้ 1.92 เปอร์เซ็นต์ ต้นละ 30 มิลลิลิตร จะทำโดยการใช้เครื่องมือเจาะเข้าที่ลำต้น ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร จำนวน 2 รู แล้วนำสารเคมีฉีดเข้าไป รูละ 15 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมัน ขนาด 1 ลูกบาศก์นิ้ว อุดรูที่เจาะไว้ ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผล แต่ราคายาค่อนข้างสูง คุณวิชาญจึงมีการลดต้นทุนโดยการผลิตแตนเบียนบราคอน เข้ามาช่วยในการกำจัดหนอนหัวดำ และยังกำจัดแมลงดำหนาม โดยการที่ตัวเมียของแตนเบียนจะไปเจาะแล้วไข่ไว้ในตัวหนอน ทำให้หนอนตายได้อีกด้วย

อีกสองศัตรูตัวฉกาจคือ ด้วงงวง และด้วงแรด สวนของคุณวิชาญมีการกำจัดโดยใช้สารฟีโรโมนล่อ ฟีโรโมน (pheromone) เป็นสารดึงดูดเพศจะสามารถดักได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย สารตัวนี้มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง เพราะเป็นการดักจับแบบตัดวงจร เพราะด้วงแรดกับด้วงงวงต้องทำงานร่วมกัน หากขาดตัวใดตัวหนึ่งก็จะไม่สามารถทำลายต้นมะพร้าวได้ ด้วงแรดจะเป็นตัวกัดต้นมะพร้าวแกงเพื่อที่จะให้ด้วงงวงเจาะเข้าไปไข่ทิ้งไว้ในต้น วิธีนี้ถือเป็นการทำลายแบบตัดวงจร เพื่อไม่ให้ด้วงแรดมาทำลายได้สะดวก

การรักษาดูแล

การดูแลสวนมะพร้าวถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ต้องหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในบริเวณสวนก็ไม่ควรมีกองขยะ ต้นมะพร้าวที่ตายจะต้องตัดแล้วเผาทำลายให้หมด หลังจากเผาเสร็จจะใช้สารเคมีราดโคนต้นไว้ เพื่อไม่ให้เจ้าด้วงแรดกับด้วงงวงเจาะเข้ามาวางไข่ทิ้งไว้

เจ้าของสวนต้องคอยสังเกตมะพร้าวของตัวเองว่า มีรอยกัดทำลายหรือเปล่า คุณวิชาญ เล่าว่า สารเคมีใช้ได้แต่ไม่แนะนำ เพราะมันมีสารตกค้าง แต่อย่างหนอนหัวดำที่ใช้สารเคมีครั้งแรก อิมาเม็กตินเบนโซเอต ทางกรมวิชาการเกษตรรับรองแล้วว่าไม่มีสารตกค้าง หรือถ้าตกค้างก็จะตกค้างนิดเดียว น้อยกว่าผักตามท้องตลาดทั่วไป

สร้างรายได้ ทั้งเงินเดือนและเงินปี

สวนของคุณวิชาญ มีมะพร้าวจำนวนหลายต้นและมีลูกที่ใหญ่ ในการขายแต่ละครั้งก็จะมีคนมาสอยเองจากสวน โดยที่คุณวิชาญมานับอย่างเดียว ราคาขายปัจจุบัน ตกลูกละ 16 บาท และมีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้น เพราะช่วงนี้มะพร้าวแกงขาดตลาด

ระยะห่างการเก็บผลผลิตมะพร้าว อยู่ที่ระยะเวลา 45 วัน ถึงจะเก็บผลได้ครั้งหนึ่ง รายได้จากการเก็บมะพร้าวของคุณวิชาญ ต่อครั้งก็ตกอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท นอกจากจะปลูกมะพร้าวแกงอย่างเดียว คุณวิชาญก็ยังใช้พื้นที่ที่เหลือให้เป็นประโยชน์ในการหารายได้เพิ่ม คือการปลูกมันสำปะหลังผสมไปด้วย คุณวิชาญ เล่าว่า “มันสำปะหลังทำคู่กับมะพร้าวแกงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ผมเคยทำสับปะรด เพราะเกษตรกรบางคนปลูกสับปะรด แต่ดวงผมกับสับปะรดไม่ถูกกัน เพราะสับปะรดต้องพึ่งโควต้าจากโรงงาน ถ้าไม่มีโควต้ารับก็จะนำไปขายไม่ได้ แต่มันสำปะหลังลงทุนน้อยกว่า หาวิธีลดต้นทุนได้เยอะ” เงินรายปีที่ได้จากมันสำปะหลังของคุญวิชาญ หักทุกอย่างแล้ว ก็ตกปีละแสนกว่าบาท

การทำสวนมะพร้าว ถือเป็นการสร้างรายได้ที่สูงในระดับหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของสวน ที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ ช่วงแรกของการเริ่มต้นทำสวนมะพร้าวอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่หากถึงช่วงที่มะพร้าวแกงโตเต็มที่ ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของได้ในระยะยาว

ผมติดตามเรื่องเล่าของ “สองเล็ก” มาเนิ่นนานพอสมควร ทั้งจากเว็บพันทิปและเว็บเกษตรพอเพียง กับเรื่องราวที่เป็นดังหนึ่งนวนิยาย มีครบทุกรส อ่านสนุก น่าติดตามทุกเรื่องเล่า บางครั้งก็แอบยินดีกับความสำเร็จ บางครั้งก็อดทอดถอนใจไปด้วยมิได้ ด้วยว่าอุปสรรคสำคัญของคนที่จะเดินหน้ามาทำเกษตรก็คือ ทุกอย่างรายรอบตัวล้วนแต่เป็นอุปสรรคทั้งนั้น

ผมกำลังพาท่านผู้อ่านมาพบกับเรื่องราวของ เล็ก-เบญจวรรณ รัตพลที และ เล็ก-ศุภมงคล เลขกระโทก สองสามีภรรยาผู้กล้าเดินตามความฝัน ลาออกจากงานประจำในช่วงที่เงินเดือนสองคนรวมกัน กว่า 70,000 บาท

“เสียดายไหมเล็ก เงินเดือนแต่ละเดือนเกือบแสน”

“เราถึงจุดที่ต้องเลือกค่ะพี่ เงินใครๆ ก็อยากได้ ยิ่งเงินเยอะๆ ขนาดนี้ เดือนละเกือบแสนเชียวนะ”

“ทำไมถึงไม่เลือกทำงานต่อล่ะ เงินเดือนเยอะขนาดนี้” “เรามีสองทางที่ทำให้ต้องเลือกลาออกค่ะ หนึ่งคือสุขภาพที่แย่ลง คนอายุสามสิบกว่ามีปัญหาสุขภาพเสียแล้ว ทำอย่างไรก็คงไม่ดีขึ้น ทำงานได้เงินมากมายขนาดไหนก็คงต้องเอาไปจ่ายค่ายารักษาตัวเองเสียหมด อีกหนึ่งคือเรามีความฝัน อยากเดินตามฝันที่มีร่วมกัน ว่าอยากออกมาทำเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง งานเกษตรเป็นความฝันที่ไม่เคยหมดอายุ เล็กกับพี่เล็กอยากดูแลสุขภาพกันเองและคนในครอบครัว อยากปลูกผักกินเอง ทำนาปลูกข้าวเอง และความฝันอันสูงสุดคือทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นๆ ต่อไป”

“มั่นใจขนาดไหนที่ก้าวออกมา”

“เรียกว่าบ้าดีกว่าค่ะ เพราะแค่เปรยๆ ว่าอยากออกจากงานไปทำเกษตร คนรอบข้างก็โวยวายกันหมดแล้ว ไม่มีใครเห็นด้วยสักคน เราสองคนจึงตัดสินใจแล้วว่า เราจะเดินหน้าตามความฝันของเรา ชีวิตที่เราเลือกแล้ว จะลำบากหรือสบายก็ถือว่าเราตัดสินใจเอง ไม่โทษใคร เราจะเป็นคนบ้านี่แหละ”

“เปล่าเลยพี่ ความฝันของเราถูกวาดลงบนอากาศ มีเงินเก็บประมาณแสนเดียว ตั้งใจตอนแรกเลยว่าเราจะต้องมีที่ดินของเราเองสักแปลง ก็ทำงานไปด้วย ค่อยๆ หาไปด้วย วางเป้าหมายไว้ที่ขอนแก่น”

“แล้วได้มากี่ไร่”

“ไม่ถึง 2 งานค่ะพี่ 180 ตารางวากับที่ดินที่เป็นโฉนดแปลงแรกที่เป็นสมบัติไว้ทำตามฝัน”

“พอรึ ทำเกษตรไม่ถึง 2 งานเพื่อทดแทนรายได้ที่เคยได้เดือนละกว่า 70,000 บาท”

“เรากำหนดแผนงานไว้ในใจแล้วค่ะ”

เล็กเล่าให้ฟังว่า การเริ่มต้นในชีวิตใหม่ ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบเลยสักนิด อุปสรรคจากคนในครอบครัวที่คอยลดทอนกำลังใจจากคำพูดเสมอ ทั้งสภาพแวดล้อมก็ไม่เป็นใจ จะทำเกษตรแต่ไม่มีแหล่งน้ำ ก็ต้องลงทุนเจาะน้ำบาดาลอีกกว่า 30,000 บาท สร้างบ้านหลังเล็กๆ หนึ่งหลัง

“กิจกรรมหลักในสวนน้อยๆ ทำอะไรบ้างครับ”

“เลี้ยงปลาหมอ 1 บ่อ ปลาดุก 1 บ่อ ไก่ไข่ เป็ดไข่ แล้วที่เหลือก็ปลูกผักที่เราชอบกิน สร้างอุโมงค์พันร้าน”

“อุโมงค์พันร้าน อะโห! ชื่ออลังการมาก ปลูกอะไรหนอ”

“ผักขึ้นค้างทั้งหมดค่ะ บวบ แตง ถั่ว มะระ น้ำเต้า ตำลึง ผักปลัง คือผักอะไรที่ขึ้นพันกันบนร้านได้ก็เอามาปลูกรวมกันค่ะ เผื่อไว้ให้คนจะมาดูงานด้วย” “โห! เริ่มต้นก็มีคนดูงานแล้วหรือ”

“แบบมาดู แอบๆ มองมั้งคะ มันทำอะไรกัน มันจะมีอยู่มีกินได้รึที่แปลงแค่นั้น เหมือนเด็กเล่นขายของมั้ง คือเขาตั้งใจรอเยาะเย้ยเราเท่านั้นแหละ นี่รวมถึงคนในครอบครัวเราด้วยนะ เรียกว่ามีแรงบีบให้ฮึดเยอะมาก”

“หลักๆ ของผักที่ปลูกมีอะไรบ้างครับ”

“ผักที่เคยซื้อกินทั้งหมดเลยค่ะ เอามาปลูกหมดเลย ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก สะระแหน่ พริก มะเขือเทศ มะละกอ ชะอม แล้วเราก็เพาะเห็ดด้วยนะ พี่เล็กพอมีความรู้เรื่องเห็ดมาแล้ว ก็เลยไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำ”

“ขายได้บ้างไหม”

“ได้สิพี่ ปลูกไม่นาน กินจนเหลือก็เอามาแบ่งขาย เก็บเล็กผสมน้อยแต่มีรายได้ทุกวัน รายจ่ายก็แทบไม่มี เพราะที่สวนเราปลูกเลี้ยงทุกอย่าง ผักแกล้มลาบนี่ขาดไม่ได้เลย ผักเม็ก ผักติ้ว ผักสัง มะตูมแขก กระชาย กระเจียว เวลาในหมู่บ้านมีงานอะไรกันก็มักจะมาหาซื้อผักที่สวน แถมมีคำชมอีกนะ ว่ามาอยู่ไม่นานแต่มีผักให้กินมากมาย เราก็คิดกันว่า แล้วลุงป้าไม่ปลูกกันไว้บ้างน้อ แต่ก็ดี เราจะได้ปลูกขายให้คนในหมู่บ้านนี่แหละ”

“เห็นมีเตาเผาถ่านด้วย”

“ผลพลอยได้ค่ะพี่ ที่สวนตั้งใจจะปลูกผักแบบไร้สารเคมี ดังนั้นเราเองก็ต้องหาวัตถุดิบที่มาใช้ไล่แมลงในแปลงผักเราด้วย จึงต้องเผาถ่านเพื่อเอาน้ำส้มควันไม้ อาศัยลองผิดลองถูกมาเรื่อยค่ะ”

“เห็นมีโรงเพาะกล้าด้วย”

“นี่ก็ฟลุคค่ะ ซื้อหลังคามาผิด ก็เลยดัดแปลงมาเป็นโรงเพาะกล้า เราปลูกผักหมุนเวียน ต้องมีพื้นที่เตรียมต้นกล้าด้วย”

“ลงเห็ดอะไรไว้บ้างครับ”

“เห็ดนางฟ้ากะเห็ดขอนขาวค่ะ นี่ก็ฟลุควันหนึ่งอยากกินแกงเห็ดมาก หาซื้อในหมู่บ้านก็ไม่มี ตลาดก็ไม่มี ไปเจอในห้างแพ็กละ 99 บาท วันนั้นตัดสินใจเลย เราจะทำโรงเรือนเห็ดด้วย”

“ได้ผลผลิตดีไหม”

“ดีมากพี่ ขายดีมากด้วย หนูจัดใส่ถุงเด็ดยอดแมงลักแถมให้ด้วย ขายถุงละ 20 บาท วันหนึ่งขายได้ 400-500 บาทแน่ะ บางคนกลัวไม่ได้ เอาเงินมาวางไว้ก่อนเลยนะ”

“เรียกว่ามาอยู่ไม่นานก็เริ่มมีรายได้ขึ้นมาแล้ว”

“ใช่พี่ บางคนมาขอซื้อปลาหมอไปตำป่น สมัครน้ำเต้าปูปลา มาเจอกำลังเก็บไข่ก็ซื้อไข่ไปด้วย ถึงตอนนี้คนในครอบครัวเริ่มมองเราด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าบ้าแล้ว” “แล้วไปไงมาไงถึงได้ขยายแปลงผัก”

“โชคดีมากค่ะ อยู่ๆ เจ้าของที่แปลงข้างๆ ก็มาบอกว่า ยกที่ให้เราทำฟรีๆ เลยอีก 2 งาน แปลงติดกัน ทำให้เราไม่ต้องเดินทางไปไหน ด้วยความเกรงใจและขอบคุณ เราก็เลยขอเช่าแก ปีละ 1,000 บาท คราวนี้ก็สนุกเลย สารพัดผักที่เอามาลงปลูก วางแผนไว้ว่าเราจะสร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตที่นี่ ขายได้ 10 บาท 20 บาทก็เป็นรายได้ทั้งหมด เพราะเราไม่มีรายจ่าย”

“ถามจริงๆ นะ หากให้เลือกว่ากลับไปทำงานอีกครั้ง ให้เดือนละแสนไปเลยทั้งสองคน จะเอาไหม”

“ไม่ค่ะ เราเดินมาได้ไกลเท่ากับความฝันที่เรามีแล้ว พี่รู้ไหมว่าชีวิตเราตอนนี้มีความสุขมากๆ กี่ครั้งแล้ว วันแรกที่แม่ไก่ออกไข่ เราดีใจกระโดดตัวลอยเลย บอกกันและกันว่าเราไม่อดตายแล้วนะ เรามีไข่ไก่กินแล้วนะ วันแรกที่ขายผักได้ แม่ค้าชมว่าผักเราสวย เราดีใจมากเลยนะ เพราะนี่คือความฝันของเรา จะปลูกผักไร้สารเคมีขายให้ลูกค้าได้บริโภค แล้วพี่รู้ไหม วันแรกที่ปิ้งปลาหมอให้คนในครอบครัวได้กินแกล้มส้มตำ ในวันที่แล้งสุดขีด แต่เรามีบ่อปลาให้จับมาประกอบอาหาร มันเป็นวันที่มีความหมายมากๆ ทุกคนยอมรับเราแล้ว เราไม่ได้บ้า เราเพียงแค่กล้าเดินตามความฝันของเรา มันเป็นรถบ้าขบวนสุดท้าย หากเราตกขบวนก็ยังวนเวียนอยู่ในวังวนไม่สิ้นสุด กลายเป็นคนออฟฟิศที่มีโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นของแถมอยู่เช่นนั้น”

“ตอนนี้เห็นมีสมาชิกหลายคนเลย” “รายได้จากการทำเกษตรอย่างเดียวตอนนี้เลี้ยงคน 9 คน ควาย 4 ตัว หมา 7 ตัว” “แค่ที่แปลงเดียวเล็กๆ เนี่ยนะ”