โดย นายนิมิต กล่าวว่า ขณะนี้ราคามะนาวตกต่ำมากจึงมีแนวคิด

ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกมะนาว ในท้องที่ตำบลองค์พระ และตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง ที่ประสบปัญหาราคามะนาวตกต่ำถึงขนาดชั่งกิโลขาย และพ่อค้าคนกลางทิ้งชาวสวน โดยรับซื้อมาจากชาวสวนในราคา กิโลกรัมละ 10 บาท ซื้อมา 500 กิโลกรัม โดยขณะนี้ชาวสวนต้องปล่อยให้ผลมะนาวร่วงหล่นเองโดยไร้มูลค่า ตนจึงได้พยุงราคาโดยการรับซื้อผลผลิตชาวสวนมะนาว

นำมาจำหน่ายให้แก่ข้าราชการที่ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นการนำร่อง โดยให้ทุกคนหยิบมะนาวได้ตามความต้องการ ส่วนราคานั้น ให้จ่ายตามความพึงพอใจ ส่วนรายได้ทั้งหมดจะนำไปช่วยเหลือเป็นเงินกองทุนอาหารกลางวันให้เด็กระดับประถมศึกษาในเขตอำเภอด่านช้าง ของเหล่ากาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี โดย นางจุฬารัตน์ วันไชยธนวงศ์ นายกเหล่ากาชาดฯ ที่เข้ามาดูแลเรื่องอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอย่างจริงจัง

ด้าน นายเอก ประทุมรัตน์ ตัวแทนเกษตรกรปลูกมะนาว อ.ด่านช้าง กล่าวว่า จากที่เกษตรกรเคยเป็นผู้กำหนดราคามะนาวเอง ขณะนี้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดและต้องดูสินค้าก่อนที่จะมีการตกลงรับซื้อ ชาวสวนต่างเดือดร้อนขายผลผลิตไม่ได้ ทำให้ชาวสวนมะนาวขณะนี้เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะการเก็บไม่คุ้มกับค่าแรงที่ต้องจ่ายคนงาน วันละ 300 บาท บางส่วนจึงต้องปล่อยให้สุกคาต้น ส่วนที่เก็บแล้วขายไม่ออก ก็ต้องนำไปทิ้ง และขาดทุนจำนวนมาก ต้องขอขอบคุณ ผวจ. สุพรรณบุรี ที่เห็นใจชาวสวนมะนาว โดยการรับซื้อมาจำหน่ายให้ข้าราชการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมะนาว

เอเอฟพี รายงานว่า หญิงจีนรายหนึ่ง ที่สั่งซื้องูทางออนไลน์ หวังจะนำมาทำ “ยาดองเหล้า” สุดท้ายถูกงูกัดตาย ข่าวว่าหญิงสาวรายนี้มีอายุ 21 ปี อาศัยอยู่ใน มณฑลส่านซี ประเทศจีน เสียชีวิตเมื่อวันอังคารที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากถูกงูสามเหลี่ยมที่เธอสั่งซื้อจากเว็บออนไลน์กัดผ่านไป 8 วัน

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า สาวผู้ตาย สั่งซื้องูสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นงูมีพิษจากเว็บ Zhuanzhuan ซึ่งเป็นเว็บขายของออนไลน์ ที่มีบริษัทไอทียักษ์ใหญ่เทนเซ็นต์ (Tencent) ของจีนเป็นผู้สนับสนุน โดยสั่งซื้อจากผู้ขายที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของงูสามเหลี่ยม ขณะที่บริษัทที่รับจัดส่งของในพื้นที่ บอกกับสำนักซินหัวว่า ไม่รู้ว่าของในกล่องคืออะไร? ขณะที่แม่ของผู้ตาย เล่าให้ซินหัวฟังว่า ลูกสาวสั่งซื้องูเพื่อเตรียมนำมาทำยาดองเหล้า

ทั้งนี้ สื่อได้รายงานว่า งูได้เลื้อยหนีหายไปหลังจากนั้น แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พบงูดังกล่าวอยู่บริเวณใกล้ๆ บ้านผู้ตาย อนึ่ง จากข่าวว่า การขายของออนไลน์ มีการระบุห้ามการขายสัตว์ป่า และต่อมาแอดมินของเว็บต่างๆ ก็ได้ลบโพสต์ต่างๆ ออก แต่ถึงกระนั้นในข่าวก็ว่า ลูกค้าก็สามารถหลบไปสั่งซื้อจากเว็บออนไลน์เจ้าเล็กๆอย่าง Zhuanzhuan ที่มักรอดหูรอดตา ไม่ค่อยเป็นที่สังเกต

อี -คอมเมิร์ช หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน โดยเว็บยักษ์ใหญ่อย่าง เถาเป่า ของ อาลีบาบา มีรายได้จากการสั่งซื้อสินค้าทุกอย่างในแต่ละวันเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่สินค้าธรรมดาไปจนถึงสินค้าแปลกๆ

ด่วนจ้า! ประกาศพรุ่งนี้ น้ำมันขึ้น ใครไม่เต็มถัง รีบเติมได้แล้ว
ด่วนจ้า/วันที่ 23 ก.ค. เพจ บางจาก ได้รายงานว่า วันที่ 24 ก.ค. 61 เวลา 05.00 น. บางจากฯ ปรับราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด +40 ส.ต. ยกเว้น E85 +20 ส.ต. และกลุ่มดีเซล +40 ส.ต.

หนุ่มขุดหลุมรอ! เตรียมยิงแกะในฟาร์มทิ้ง 1,200 ตัว หลังจ่ายค่าอาหารเลี้ยงไม่ไหว
23 ก.ค. เว็บไซต์เมโทร รายงานข่าว เจ้าของฟาร์ม เตรียมยิงแกะในฟาร์มทิ้ง 1,200 ตัว หลังจ่ายค่าอาหารเลี้ยงพวกมันไม่ไหว

นิวเซาธ์เวลส์ เป็นอีกหนึ่งรัฐที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุดของประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกสถิติในปี พ.ศ. 2443 ทำให้ฝูงแกะในฟาร์มค่อยทยอยล้มตายราวๆ 10 ตัว ต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีแกะอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์และผอมแห้งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่จะขาย เพราะพวกมันไม่สามารถออกไปหาหญ้าและน้ำกินตามธรรมชาติได้ ทำให้ นายเลส โจนส์ หนุ่มเจ้าของฟาร์มและครอบครัวตัดสินใจที่จะยิงแกะบางส่วนทิ้ง เพราะรับภาระในการจ่ายค่าอาหารให้พวกมันไม่ไหว

ลอร่า ภรรยา ของ นายเลส ให้สัมภาษณ์ว่า.. “พวกเรามีรถตักดินเก่าๆ คันหนึ่ง สามีของฉันกำลังหาที่ในฟาร์มสำหรับขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อฝังพวกมัน เราตัดสินใจที่จะยิงพวกมันทิ้ง แต่ที่ต้องทำแบบนี้เพราะพวกเราไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ เราพยายามอย่างดีที่สุดแล้วเพื่อให้พวกมันมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ สถานการณ์ภัยแล้งมันเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำดื่มของครอบครัวเริ่มปนเปื้อนด้วยลูกน้ำยุงลายยุงและหนูตาย”

นายเลส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยออก เขียนก็ด้วย ชีวิตนี้ผมอยู่แต่กับผืนดิน ปกติแล้วฟาร์มของเราจะสามารถทำกำไรได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งมันจะสามารถประคับประคองช่วยให้เลี้ยงแกะ 1,500 ตัว และวัวอีก 500 ตัว ได้ แต่มันหายนะเกิดขึ้นเมื่อภัยแล้งมาถึง”

ในปี 2014 ฟาร์มนี้เคยมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 37,117,631 บาท เลยทีเดียว แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีใครต้องการซื้อมันก็ตาม “ครัวบ้านไทยทรงดำหรือลาวโซ่งต้องมีไหห้าไห จึงจะเรียกว่า ลาวโซ่งของแท้”

ป้าถนอม ผู้รอบรู้ของชาวไทยทรงดำ บ้านหนองจิก อำเภอเขาย้อย บอกเล่า ในวันที่พวกเรายกโขยงกันไปเก็บข้อมูลเรื่องอาหารพื้นถิ่นชาวไทยทรงดำ ห้าไหที่ว่านั้นเป็นวัฒนธรรมการกินที่ติดตัวมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น แม้ว่าจะโยกย้ายครัวเรือนจากถิ่นเดิมมาลงหลักปักฐานไกลห่างเพียงใด ห้าไหนั้น ก็ยังสืบทอดมาจนบัดนี้ แม้ว่าหลายครอบครัวอาจละเลยไปตามยุคสมัย ทว่าก็มีอีกหลายครอบครัวที่ไม่ขาดแม้สักไห

ห้าไหในครัวไทยทรงดำที่ขาดไม่ได้ ประกอบด้วย ไหเกลือ ไหปลาร้า ไหหน่อไม้ดอง ไหมะขามเปียก และไหพริก ห้าอย่างนี้ เป็นเครื่องปรุงสำคัญของอาหารลาวโซ่ง เป็นอาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตและเลอรสปลายลิ้น ปรนปรุงขึ้นตามวัตถุดิบที่มีอยู่รายรอบบ้าน ตามสภาพแวดล้อมและฤดูกาล

ชาวไทยทรงดำ อาจได้ชื่อมาจากการแต่งกายด้วยชุดสีดำ ที่เรียกว่า ย้อมนิล เป็นชาติพันธุ์ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่หลายจังหวัดในประเทศไทย และมีประชากรมากที่สุดในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเรียกตัวเองว่า ลาวโซ่ง ด้วยว่าเป็นกลุ่มชนที่อพยพโยกย้ายมาจากประเทศลาว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นเวลานับร้อยปีที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

ชาวลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำเขาย้อยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้อย่างดี เป็นที่ซึ่งผู้ศึกษาสนใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์จะต้องเข้ามาหาความรู้ ไม่ว่าจะวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจงานบุญ ความเชื่อต่างๆ ลาวโซ่ง มีคำสอนและกุศโลบายที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม หลายอย่างบอกถึงการประนีประนอมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว

แต่การมาเยือนชาวลาวโซ่งของพวกเราครั้งนี้ จุดหลักอยู่ที่อาหารการกินเป็นสำคัญ การพูดคุยจึงบรรจบมาที่วัฒนธรรมห้าไห และการบุกครัวเพื่อสัมผัสรสชาติของอาหารหลักในสำรับ ลาวโซ่งมีคำพูดมาแต่เดิมว่ากินไม่ตามใจปาก มีหลักในการกินคือ เลือกกินแต่ผักปลาที่หาได้รายรอบบ้าน นานๆ จะได้กินไก่ กินหมู ส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญจึงจะกินเนื้อสัตว์อย่างไก่ หมู อาหารที่ทำกินประจำสำรับจึงมักจะเป็นปลา แกงหน่อ กับน้ำพริกผัก

รสชาติที่คุ้นชินและถือเป็นเอกลักษณ์ทางปลายลิ้นของชาวไทยทรงดำ จะต้องมีมะแข่นเป็นส่วนผสมในการปรุง มะแข่นเป็นพืชพันธุ์เครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นและรสเฉพาะ คล้ายมะแขว่นของทางเหนือกับมะหล่าของชาวจีนเสฉวน แต่ความซ่านลิ้นจะน้อยกว่า เป็นพืชพันธุ์ที่เกิดอยู่ในป่าลึก สมัยก่อนกว่าจะได้มะแข่นมานั้นต้องเดินเท้าเข้าป่าเป็นระยะทางไกล จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พริกพาน บ้างบอกว่าเพราะอยู่ในป่าลึกราวเข้าป่าหิมพานต์ สมัยนี้ไม่มีใครไปป่าก็ต้องซื้อจากชาวกะเหรี่ยงที่นำมาขาย ราคาซื้อขายปัจจุบันค่อนข้างแพงโข มะแข่นนี้เขาไม่ได้ใช้เมล็ด แต่ใช้เปลือกรองเมล็ดที่ให้รสและกลิ่นอันชวนถวิลหา

แจ่ว นับเป็นอาหารประจำสำรับของชาวลาวโซ่งที่ขาดไม่ได้ มีแจ่วมีผักต้มผักสดกินกับปลาย่างปลาทอด หรือถ้าฤดูกบเขียดก็ได้กินกับกบเขียดทอดเป็นโอชะปากที่ยอดเยี่ยม มื้อนี้ป้าลอแม่บ้านผู้อารีโชว์ฝีมือการทำแจ่วเอือดหล่าน (ด้าน) อันเป็นแจ่วที่มีมะแข่นเป็นเครื่องปรุงสำคัญ ที่เรียกว่าเอือดหล่าน หรือเอือดด้านนั้น มาจากวิธีการทำ เป็นแจ่วที่โขลกอย่างดิบหยาบไม่ละเมียดละไม แต่อร่อยถึงใจกระทั่งเป็นอาหารขึ้นชื่อในสำรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน

การปรุงแจ่วเอือดด้าน ต้องใส่เครื่องปรุงตามลำดับ ใส่มะแข่นลงตำกับเกลือก่อนเพื่อให้มะแข่นแหลก ตามด้วยกระเทียมสักเล็กน้อยหรือไม่ใส่ก็ได้ เพราะจะเน้นหอมแดงมากกว่า จากนั้นใส่พริกแห้งตามลงไป โขลกพอหยาบๆไม่ต้องละเอียดมาก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าต้มสุกหรือน้ำปลา สมัยนี้มีบางครัวปรุงรสด้วยซีอิ๊ว บ้างใส่น้ำมะขามเปียกกับน้ำตาลเพิ่มรส แต่ดั้งเดิมแค่น้ำปลาร้าสุกก็เพียงพอ รสแท้ๆ แค่เค็มและหอมด้วยมะแข่นนั้นเพียงพอต่อความอร่อยเลิศแล้ว

แจ่วเอือดด้าน ให้อร่อยสุดยอดของการกิน ต้องมีเขียดมีกบย่างหรือทอด แต่เมื่อไม่มีเพราะไม่ใช่ฤดูกาลก็หาอย่างอื่นมาทดแทน กินกับปลาทูทอดก็ได้ แต่มื้อนี้เชฟของเราทำหมูลอยให้กินคู่กับแจ่วเอือดด้าน หมูลอยคือ หมูสามชั้นนำมาต้มทั้งเส้นพอสุก ปรุงด้วยเกลืออย่างเดียวไม่มีรสอื่นกล้ำกลาย แล้วยกขึ้นมาหั่นเป็นชิ้นๆ พักไว้ ที่ต้องต้มทั้งชิ้นก่อนเพื่อให้หมูนุ่มไม่กระด้าง จากนั้นนำหมูที่หั่นไว้ลงไปต้มในน้ำเดิมอีกครั้งจนสุกนุ่ม เป็นการกินเนื้อหมูที่ให้รสชาติแท้ๆ ของหมู น้ำจากหมูต้มก็ซดอุ่นๆ คล่องคอดี

อาหารอีกอย่างที่กินด้วยกันในสำรับนี้ เรียกว่า ผักจุ๊บ ประกอบด้วยปลาต้มน้ำปลาร้านำมาแกะ คั่วหรือย่างพริกหอม กระเทียม นำมาโขลกกับมะแข่น ข่า แกะปลาต้มสุกใส่ลงไปโขลกให้เข้ากัน ใส่ผักลวกต่างๆ ที่มี อาทิ ดอกมะละกอ ผักบุ้ง ตำลึง มะเขือพวง คลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่โขลกไว้ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า รสหวานของผักลวกคละเคล้าด้วยเครื่องแกงที่มีมะแข่นโดดเด่น สำหรับคนที่ลดน้ำหนักกินจานนี้แค่อย่างเดียวก็เพียงพอ

ฉันชวนป้าๆ แม่ครัวคุยเล่นว่า แจ่วเอือดด้านนี่แท้จริงคือ วิธีการทำมะแข่นให้กินอร่อยขึ้นใช่มั้ย ป้าหัวเราะบอกว่าไม่ใช่ มะแข่นคือ ส่วนผสมหลักที่ทำให้แจ่วอร่อยมีรสชาติเฉพาะขึ้นเท่านั้น ทุกอย่างประกอบรวมและเสริมส่งซึ่งกันและกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปคงไม่ได้รสที่ลงตัวอย่างที่กินอยู่นี้

คงเหมือนชีวิตนั่นแหละ วิถีของลาวโซ่งหรือไทยทรงดำหากขาดสิ่งใดไปที่บรรพบุรุษเคยทำมา ก็เหมือนไม่ใช่ลาวโซ่งที่แท้ กระนั้นแม้จะดำรงทุกสิ่งอย่างไว้ไม่ได้เช่นเดิม เนื่องเพราะโลกเปลี่ยนไปทุกขณะ ก็ขอรักษาสิ่งที่มีอยู่นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่ชีวิตยังคงอยู่

เมื่อเร็วๆ นี้ นายวริช วิชิต รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ได้รับมอบหมายจาก นางวิริยา แก่นแก้ว ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ให้นำสื่อมวลชนสำรวจเส้นทางเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง พื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.ในวงเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อ.ละอุ่น จ.ระนอง กับ ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร และพื้นที่บ้านควนสามัคคี หมู่ที่ 13 ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร

ได้พบ นางจารึก ขนอม อายุ 63 ปี เจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง 40 ไร่ เล่าให้ฟังว่า เดิมเป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช และย้ายมาอยู่ใน ต.ในวงเหนือ เมื่ออายุ 22 ปี เริ่มแรกทำสวนกาแฟก่อนหันมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ประมาณ 30 ปีแล้ว ตอนนี้มีทุเรียนอยู่ 200 ต้น ให้ผลผลิตปีละประมาณ 40 ตัน มีรายได้ปีละประมาณ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระยะแรกที่ปลูกทุเรียนใช้ปุ๋ยเคมีกับสวนทุเรียนมา 20 กว่าปี มีผลกระทบมากมาย เช่น ราคาปุ๋ยค่อนข้างสูง ระยะแรกแม้จะให้ผลผลิตดี แต่ดินเริ่มเสีย ทำให้ต้นทุเรียนทยอยตายลง ส่วนสุขภาพได้รับผลกระทบ รู้สึกเวียนศีรษะและมีผื่นคันขึ้นตามตัวทุกครั้งหลังใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นทุเรียน

“จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ฟังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เป็นลักษณะลองผิดลองถูก จนได้พบ นายเนติ สัจจวิโส อดีตอาจารย์สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่เข้ามาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งใช้ขี้ไก่ผสมกับน้ำชีวภาพ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ 1 ปีครึ่ง พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่มีท่าว่าจะตายก็กลับฟื้นขึ้นมา ส่วนผลทุเรียนสวยงาม ติดลูกดี และสภาพร่างกายของตนและคนที่มีหน้าที่ใส่ปุ๋ยให้ต้นทุเรียนก็ดีขึ้น จึงอยากให้ชาวสวนทุเรียนทุกคนให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและความปลอดภัยของผู้บริโภค” นางจารึก กล่าว

หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่บ้านควนสามัคคี ได้พบ นายชิวา เพชรกระจาย อายุ 59 ปี และ นางปรีดา เพชรกระจาย อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง หมู่ที่ 13 ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร

โดย นายชิวา และนางปรีดา เล่าว่า อยู่ในพื้นที่นี้มาประมาณ 30 ปี โดยทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในส่วนสวนทุเรียนมีประมาณ 16 ไร่ ก่อนหน้านี้ใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อทุเรียนออกลูกแล้วต้นจะโทรม ใบร่วง และทยอยล้มตายไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ฉีดสารเคมีเมื่อฉีดเสร็จก็ต้องล้มตัวนอนทันที เพราะรู้สึกเวียนศีรษะและคันตามผิวหนัง จนได้พบอาจารย์เนติที่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาประมาณ 6 เดือน พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีทีท่าว่าจะตายกลับพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ส่วนที่เคยมึนศีรษะและคันตามผิวหนังหลังฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนก็หายไป สามารถฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนครั้งละ 10 ต้น เลยทีเดียว

ด้าน นายสมคิด สังปริเมน อายุ 60 ปี และ นางเตือนใจ สังปริเมน อายุ 56 ปี ชาวหมู่ที่ 7 ต.วิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร กล่าวว่า หลังจากหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียนที่มีอยู่ 10 ไร่ เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว พบความเปลี่ยนแปลงคือ ทุเรียนที่เพิ่งตัดเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ตอนนี้เริ่มออกลูกอีกประมาณ 3,000-4,000 ผล ส่วนร่างกายที่เคยรู้สึกเวียนศีรษะและคันตามผิวหนังก็หายไป ช่วงที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมีต้นทุนประมาณ 1.4-1.5 แสนบาท แต่เมื่อหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้นทุนลดลง เหลือประมาณ 60,000 บาท เท่านั้น ตนพยายามชวนให้ชาวสวนคนอื่นๆ หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี แต่คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

นายปกาสิต พระประสิทธิ์ นายอำเภอสวี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียน ถือเป็นการให้ความสำคัญกับตนเองและผู้บริโภค เพื่อลดการใช้สารเคมีทุกประเภท หันมาใช้วิธีธรรมชาติในการปลูกทุเรียน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ทุเรียน และทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยในการซื้อทุเรียนจาก อ. สวี ไปบริโภคกัน ในฐานะที่เป็นภาคราชการพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในพื้นที่ อ.สวี มีเกษตรกรปลูกทุเรียน ประมาณ 33,000 ไร่ ดังนั้น อยากให้เกษตรกรที่กำลังใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับสวนทุเรียนเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ให้ทุกๆ สวนใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมดทั้งอำเภอ

นางทิวาพร จันทรอาภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ครน กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังมีเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่กี่คน แต่ อบต. ครน กำลังขยายผลให้เกษตรกรทุกๆ คนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด ซึ่งต้องใช้เวลา ชาวสวนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้เป็นต้นแบบในการดำเนินวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ผลที่ตามมาคือ สารเคมีซึมลงสู่แหล่งน้ำจะค่อยๆ หมดไป

“กรณีที่ ททท. จะส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการพานักท่องเที่ยวมาชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกหนึ่งทาง ซึ่งใน ต.ครน กำลังมีการจัดที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งยังมี “น้ำตกขานาง” และมีถ้ำที่สวยงามต่างๆ เช่น ถ้ำแก้ว ถ้ำเขาหลัก ถ้ำเสือแก้ว ฯลฯ ที่พร้อมจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสด้วย” นางทิวาพร กล่าว

ด้าน นายเนติ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการคือ ทำอย่างไรให้ธรรมชาติกลับมาสู่สวนเกษตร เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้แปลงเกษตรกลายเป็น “ป่าเกษตร” (Agro-Forest) แบบยั่งยืน ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งพาแต่สารเคมีที่มีผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้บริโภค การใช้วิธีทางธรรมชาติ สิ่งที่ตามมาคือ เกษตรปลอดภัย และปุ๋ยอินทรีย์ที่แนะนำให้ชาวบ้านหันมาใช้มีวิธีทำง่ายๆ มาจากมูลสัตว์เป็นหลัก เช่น ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว และจากพืชต่างๆ ที่อยู่ในสวนนั้นๆ อาจจะมีสารเคมีบ้างเป็นสารที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายวริช วิชิต รอง ผอ.ททท. ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า ททท. ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร และทราบว่ามีเกษตรกรตื่นตัวในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของทั้งสองจังหวัด จึงต้องการนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้เห็นวิธีการปลูกทุเรียนคุณภาพ และมีโอกาสได้รับประทานทุเรียนจากมือของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ อ.ละอุ่น จ.ระนอง และ อ.สวี จ.ชุมพร

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันการปลูกพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีกำลังกลายเป็นกระแสในวงการพืชผลทางการเกษตรของไทย สิ่งที่จะตามมาคือ ความปลอดภัยจากสารเคมีทั้งในผู้ผลิตและในผู้บริโภค และเมื่อมีการนำการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบของ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ก็คงเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการจำหน่ายแต่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค วว. สร้างกำลังคนด้วย วทน. อบรมผลิตเตาชีวมวลเพื่อชุมชน โชว์งานถ่ายทอดฯ สู่ชุมชนเห็ด/จิ้งหรีดไร้กลูเตน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินโครงการวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้แก่ การผลิตเตาชีวมวลเพื่อชุมชน การผลิตจิ้งหรีดไร้กลูเตน การผลิตเห็ดวิทยาศาสตร์ (หัวเชื้อเห็ด ก้อนเชื้อเห็ด) และเครื่องผลิตน้ำอ่อน เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล นักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา

เกษตรกรสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในเขตพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดข้างเคียง เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่ในการขยายผลการพัฒนาต่อยอดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต โดยมีผู้เข้าอบรมสุทธิกว่า 200 คน เป็นโครงการตอบโจทย์การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการใช้ปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง สามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกและการผลิต พึ่งพาตนเองได้ สร้างงานและรายได้เสริมที่มั่งคั่ง เมื่อวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. กล่าวว่า วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นแกนหลักในการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้โครงการวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค หรือ Big Rock ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก คือ โครงการยกระดับโอท็อป (OTOP) ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย และโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณค่า และสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น

โดย วทน. ที่ วว. นำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 5 เทคโนโลยี ได้แก่ 1. เตาชีวมวลเพื่อชุมชน 2. การผลิตจิ้งหรีดไร้กลูเตน 3. การผลิตเห็ดวิทยาศาสตร์ (หัวเชื้อเห็ด ก้อนเชื้อเห็ด) 4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไผ่ สมุนไพรและสตรอเบอรี่ (การผลิตอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กระบวนการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ) และ 5. การผลิตหนอนวิทยาศาสตร์ (สูตรการทำอาหารหนอนกึ่งสำเร็จรูปและถ่ายทอดกระบวนการเลี้ยงหนอน)

“…รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม (Inclusive Growth Engine) เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักของความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากในชุมชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ และการขับเคลื่อนประเทศโดยนโยบาย Thailand 4.0 พัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมา มีการกระจายตัวสูง ขาดการมุ่งเน้น (focus) การพัฒนาทั้งในมิติพื้นที่ดำเนินการ และกลุ่มเป้าหมาย

และขาดการจัดการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ จากเหตุผลดังกล่าวโครงการมหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค หรือ Big Rock จึงถูกจัดตั้งขึ้นและมอบหมายให้ วว. เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน…การอบรมอาชีพผลิตเตาชีวมวลเพื่อชุมชนให้แก่สถาบันอาชีวศึกษา รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเห็ดวิทยาศาสตร์และการผลิตจิ้งหรีดไร้กลูเตนครั้งนี้ เป็นการตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาล ในการสร้าง ส่งเสริมกำลังคนด้วย วทน. ที่เป็นรูปธรรม และจะก่อให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากองค์ความรู้ได้ผ่านการถ่ายทอดจากตัวบุคคลและมีการบันทึกไว้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นบทเรียนให้แก่รุ่นต่อๆ ไป” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว