โรคสำคัญของหม่อนผลสด เช่น โรครากเน่า ที่เกิดจากเชื้อ

แบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำความเสียหายให้หม่อนได้ทุกช่วงอายุ การระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นหม่อนตายทั้งแปลง ระยะแรกใบจะเหี่ยวคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาใบจะเริ่มเหี่ยวจากส่วนยอดลงมา เมื่อขุดนำรากขึ้นมาพบว่า รากเน่าเปื่อย มีสีน้ำตาลปนดำ เปลือกรากและเปลือกบริเวณโคนต้นหลุดออกมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้ขุดต้นทั้งรากขึ้นมาเผาทำลายทิ้งไป ใส่ปูนขาวลงบริเวณหลุม พร้อมตากดินทิ้งไว้ 1-2 เดือน ก่อนการปลูกซ่อม ระหว่างพรวนดิน หลังการใส่ปุ๋ยระวังอย่าให้ต้นหม่อนเกิดบาดแผล การตัดแต่งกิ่งควรใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ที่คมและสะอาด คือก่อนและหลังตัดกิ่งต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งในเขตที่มีโรครากเน่าระบาด ให้ปลูกด้วยกิ่งพันธุ์ที่ใช้พันธุ์ บร.4/2 เป็นต้นตอ และติดตาด้วยพันธุ์เชียงใหม่ การระบาดของโรคจะหมดไปในที่สุด

ปาย เป็นเมืองสำคัญของล้านนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย เนื่องจากเมืองปายตั้งอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีทุนทางธรรมชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพร พันธุ์พืช สัตว์ป่า เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่อาศัย ทั้งคนไทยวน (คนเมือง) ชาวไทใหญ่ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ

ทุกวันนี้ อำเภอปาย กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก พื้นที่ทำการเกษตรใกล้เทศบาลอำเภอเมืองปายถูกขายให้นักธุรกิจทำรีสอร์ท ชาวบ้านเปลี่ยนไปรับจ้างเป็นแรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเมืองปายเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นระบบและไร้ทิศทาง ส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาจเกิดปัญหาการล่มสลายทางวัฒนธรรมและสังคมติดตามมาได้ หากขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนในท้องถิ่น

“ป้าแหลง – คุณอาภรณ์ แสงโชติ” ประธานเครือข่ายคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเป็นแกนนำชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณี รวมทั้งพืชผักท้องถิ่นเมืองปาย เช่น “หมากซู่ลูด” พืชผักไทใหญ่อายุกว่าร้อยปี ที่ใกล้สูญพันธุ์

“หมากซู่ลูด” มีลักษณะภายนอกดูผิวเผินคล้ายลูกฝรั่งผลใหญ่ จับดูใกล้ๆ คล้ายกับผลฟักแฟง เป็นผักสวนครัวพื้นบ้านไทใหญ่ เป็นมรดกแห่งแผ่นดิน ที่บรรพบุรุษชาวไทใหญ่ปลูกติดต่อกันมานานกว่าร้อยปี กินได้ทั้งผลดิบและผลสุก

ป้าแลง เคยเก็บหมากซู่ลูดไปสับให้เป็นเส้นยาว และนำไปตำส้มตำแทนเนื้อมะละกอ ปรากฏว่า มีรสชาติอร่อยกว่า ส้มตำจากเนื้อมะละกอเสียอีก! ผลเป็นรูปกลมยาวขนาดปานกลาง เปลือกสีเขียว ผลดิบ เนื้อในจะมีสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ ตรงกลางมีเมล็ด ผลสุก จะมีเนื้อสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปลูกได้ในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี หมากซู่ลูด เป็นผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย และลงทุนน้อยโดยไม่พึ่งปุ๋ยหรือสารเคมี

โดยทั่วไป ชาวไทใหญ่นิยมนำผลดิบของหมากซู่ลูด ที่มีลักษณะคล้ายเนื้อฟัก ไปปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก เมื่อนำผลดิบของหมากซู่ลูดไปผ่าภายในผลจะมีเมล็ดสีดำ ที่หุ้มด้วยรกสีขาว มีรสเปรี้ยวเช่นเดียวกับเสาวรส

ต้นหมากซู่ลูด สามารถเจริญเติบโตได้ข้ามปี อยู่ในกลุ่มไม้เถาเลื้อยตระกูลแตง ลักษณะลำต้น ใบ และยอด คล้ายกับแตงกวา ผสมกับฟักเขียว มีระบบรากที่มีการสะสมขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียวเป็นหยักใบหยาบ ดอกสมบูรณ์เพศ มีชั้นของเกสรตัวผู้ เกสรตัวเมียครบถ้วน และมีกลีบดอกสีม่วงเข้ม

ป้าแหลง เล่าว่า ชาวบ้านนิยมนำเมล็ดหมากซู่ลูดไปคลุกกับเกลือก่อนรับประทาน เพื่อเพิ่มรสชาติ เชื่อว่า หมากซู่ลูดน่าจะมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาปรับสมดุลในร่างกาย ให้ความสดชื่นเช่นเดียวกับเสาวรส

นอกจากนี้ ชาวบ้านนิยมปล่อยให้ผลหมากซู่ลูดสุกเหลืองคาต้น จึงค่อยเก็บมารับประทานแทนผลไม้ โดยผ่าผลแล้วใช้ช้อนตักเมล็ดภายใน เมล็ดสีดำ ที่มีเยื่อใสหุ้มเช่นเดียวกับเสาวรสมารับประทาน จะได้รสชาติหวาน ชื่นใจ และอร่อยมาก ส่วนผลสุกที่มีเนื้อเหลืองเละ ชาวบ้านจะไม่นำมารับประทาน

สำหรับเมล็ดที่ได้จากผลสุกนั้น ชาวบ้านนิยมเก็บใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ เพื่อปลูกขยายพันธุ์ ป้าแหลง เล่าว่า จะใช้เวลาเพาะเมล็ดประมาณ 2-3 เดือน จึงได้ต้นกล้าสำหรับเพาะปลูกต่อไป ต้นหมากซู่ลูดปลูกและดูแลง่าย เพียงสร้างค้างให้ต้นหมากซู่ลูดเลื้อยเกาะ และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีผลผลิตให้เก็บได้ตลอดทั้งปี แต่ละครั้งป้าแหลงสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ไม่ต่ำกว่า 70 -80 ผล โดยขายให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่สนใจในราคาลูกละ 20 บาท

หมากซู่ลูด นอกจากเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายได้หลายขนาน เช่น เป็นยาฟอกเลือด ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยรักษาโรคเบาหวาน และล้างพิษในตับ ในสมัยโบราณปู่ย่าตายายนิยมปลูกหมากซู่ลูดเป็นผักสวนครัว เพื่อนำผลมาทำเป็นอาหารประจำบ้านสำหรับบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง

ป้าแหลง เล่าว่า หมากซู่ลูด ใกล้สูญพันธุ์เต็มที่แล้ว ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวไทใหญ่ไม่รู้จักพืชชนิดนี้ ป้าแหลงจึงนำมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ต้นหมากซู่ลูดไม่ให้สูญหายจากแผ่นดิน และเป็นมรดกสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต

ปัจจุบัน ต้นหมากซู่ลูด ที่ป้าแหลงปลูก จะเก็บผลมาทำอาหารรับประทานในครัวเรือน ที่เหลือก็จำหน่ายให้ผู้สนใจ หากใครสนใจชมแปลงปลูกต้นหมากซู่ลูด สามารถแวะชมได้ที่บ้านป้าแหลง หากสนใจ อยากได้เมล็ดพันธุ์ไปปลูก ก็ขอแบ่งปันจากป้าแหลงได้ ลองสอบถามราคากันเอง บ้านป้าแหลงตั้งอยู่ เลขที่ 212 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58130 โทรศัพท์ 081-893-3649 และ 053-698-149 ให้เป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มเครือข่าย และวิสาหกิจชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน

“ไผ่บงหวาน” มีจุดเด่นเรื่อง หน่อดก รสหวาน หอม กรอบ ทำหน่อนอกฤดูก็ได้ รับประทานสด ยิ่งอร่อย ทำให้ คุณภัทรา จันทร์ศรี เจ้าของ “บ้านสวนไผ่หวาน” เลขที่ 77/4 หมู่ที่ 13 ตำบลด่านนาขาม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 081-366-4142 สนใจปลูกไผ่บงหวาน 10 กว่าไร่ไว้ที่จังหวัดแพร่มานานเกือบ 20 ปี

ต่อมาได้พัฒนาต่อยอด เปิดธุรกิจร้านอาหาร นำหน่อไผ่บงหวานมาประกอบเป็นอาหารในร้านทั้งหมด เช่น ส้มตำหน่อไม้ ยำหน่อไม้หวาน ผัดหน่อไม้หวานน้ำมันหอย ห่อหมกหน่อไม้ และอีกหลากหลายเมนู ในช่วงแรกที่ปลูก ต้นไผ่ยังเล็กมาก มีพื้นที่เหลือว่างระหว่างแปลงอยู่ คุณภัทราได้ปลูกผักแซมตามแปลงไผ่เช่น ผักบุ้ง พริก มะเขือ เพื่อให้มีรายได้ในช่วงแรกๆ หลังจากปลูกมาประมาณ 10 เดือน เริ่มเก็บหน่อไม้ขายได้บ้างแล้ว ในตอนแรกได้นำไปวางขายในตลาด แต่ประสบปัญหาคือ คนซื้อไม่เชื่อว่าหน่อไม้จะรับประทานดิบได้จริงๆ และไม่เชื่อว่ามีรสหวานจริงๆ

คุณภัทราจึงใช้วิธีแจกให้ชิมเพื่อจะทำตลาด และนำเอาหน่อไม้หวานไปประชาสัมพันธ์ในงานแสดงสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อเปิดตัวหน่อไม้หวาน ปีแรก ขายหน่อไม้จากต้นไผ่ 1,700 กอ สร้างรายได้ถึง 60,000 กว่าบาท จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะปลูกไผ่บงหวานเป็นพืชตัวหลัก

ไผ่บงหวานให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อยเพราะใช้สารชีวภาพ ปลอดจากโรคแมลงศัตรูพืช เนื่องจากกระแสตลาดตอบรับดีขึ้นมาเรื่อยๆ จึงขยายพื้นที่ปลูกไผ่บงหวานอย่างต่อเนื่องจนเต็ม 14 ไร่ มาถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเปิดร้านอาหาร “บ้านสวนไผ่หวาน” ขึ้น ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยนำไผ่บงหวานมาทำเป็นอาหารสารพัดเมนู ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ไผ่บงหวานอีกทางหนึ่ง และจำหน่ายหน่อไม้สดแก่ผู้สนใจในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท

ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง มีจุดเด่นอยู่ที่รสชาติหวาน ไม่ขม สามารถรับประทานหน่อไม้ดิบเหมือนผักสด ไม่ขมติดลิ้นเหมือนหน่อไม้ไผ่พันธุ์อื่นๆ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ต้มจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด และต้มจืดกระดูกหมู ฯลฯ

คุณภัทราแนะนำเทคนิคการบริโภคไผ่บงหวานให้ได้รสชาติอร่อย เริ่มจากต้มน้ำให้เดือดก่อนจึงค่อยใส่ไผ่บงหวานลงไปในน้ำเดือด สัก 5-7 นาทีจากนั้นจึงนำมารับประทานได้เลย ไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง สำหรับสายพันธุ์ไผ่บงที่ปลูกคือ พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ซึ่งพัฒนามากพันธุ์ไผ่บงหวานเมืองเลย โดยนำมาเพาะเมล็ดเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ เมื่อปี 2549 และขุดแยกเหง้าจากต้นแม่มาขยายพันธุ์ ทำให้มีอายุอยู่ได้มากกว่า 50 ปี จึงมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ

ลักษณะเด่นของ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง คือ ทำหน่อนอกฤดูได้ หน่อดก หน่อใหญ่เต็มมีน้ำหนัก 300 กรัมขึ้นไป ขุดหน่อได้ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป มีรสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อย ที่สำคัญรับประทานสดๆ ได้ นำไปปรุงอาหารได้อย่างหลากหลายเมนูทั้งส้มตำ ยำ สลัด ห่อหมก ผัด ชุบแป้งทอด ต้มจืด

ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งไม่มีสารไซยาไนด์ ปลูกง่าย ดูแลจัดการง่าย ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ปัจจุบัน ได้คัดเลือกออกมาหลายเบอร์ ที่มีลักษณะเด่นพิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เบอร์ 1, 2, 3, 9 เป็นต้น

ข้อดีอีกอย่างของการปลูกไผ่บงหวาน คือ ทำได้ในครอบครัว ไม่ต้องจ้างคนงานเยอะ ในครอบครัวมีลูกสาวอยู่ 2 คน ช่วงเวลาปิดเทอมฤดูร้อน ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงทำหน่อไม้นอกฤดู เป็นช่วงที่มีรายได้ดีมากๆ สูงกว่า แสนบาทต่อเดือนหลังหักต้นทุนแล้ว

“การปลูกไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมีความสุข ทั้งเป็นกิจกรรมเสริมสัมพันธ์ของครอบครัว เพราะดิฉันและแฟนเป็นคนขุดหน่อไม้ แล้วนำมาให้ลูกสาวคนเล็กเป็นคนล้างและแพ็กใส่ถุง ส่วนลูกสาวคนโตเป็นคนตัดแต่งและแพ็กหน่อไม้ใส่ถุงขายในตลาดหมู่บ้าน และตลาดอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ลูกค้าโทร.สั่งซื้อครั้งละ 10-20 กิโลกรัม เพื่อเป็นของฝากที่ไม่เหมือนใคร และเป็นของฝากที่น่าประทับใจ” คุณภัทรา กล่าว

1 ไร่ ปลูกได้ 200 กอ

คุณภัทรา แนะนำการปลูกไผ่บงหวานว่า ควรปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น ที่เว้นให้ระยะระหว่างแถวให้กว้าง เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปทำงานได้สะดวก เช่น นำขี้เถ้าแกลบไปใส่ได้ง่าย

การปลูกไม่ยุ่งยาก ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า หลังปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เคล็ดลับในการปลูกไผ่บงหวาน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ปลูกเสมอกับดินเดิม แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้ง ต้องปลูกให้ต่ำกว่าดินเดิม หรือทำเป็นแอ่งกระทะ ระบบน้ำดี จะทำให้หน่อไผ่กอใหญ่และอวบ หลังปลูกไผ่บงหวานเสร็จต้องหมั่นตัดหญ้า ให้ปุ๋ยคอกและให้น้ำเดือนละ 1 ครั้ง หรือใส่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประเภทซังข้าวโพด กากอ้อย เปลือกถั่ว กากยาสูบ ขี้เถ้าแกลบก็ใช้ได้หมด

ข้อปฏิบัติที่ต้องทำเป็นประจำทุกเดือนคือ สางลำไผ่ขนาดเล็กที่แตกมาจากตาหน่อเก่าหรือแตกมาจากตาบนลำไผ่เดิมออก โดยใช้มีดพร้าสับออกเลย เพื่อให้ข้างล่างโล่ง ให้ใบไผ่อยู่ส่วนบนเท่านั้น

ช่วงแรกที่ปลูกไผ่บงหวานใหม่ๆ มักมีหน่อเกิดขึ้นข้างในประมาณ 5-6 หน่อ ให้ขุดหน่อข้างในไปบริโภคหรือขาย ส่วนหน่อที่ออกนอกกอสามารถเก็บขายได้ พอถึงช่วงหน้าฝนต้องปล่อยให้หน่อนอกกอโตเป็นลำไผ

โดยทั่วไปตลาดต้องการหน่อไม้ไผ่บงหวานขนาด 6-8 หน่อต่อกิโลกรัม ซึ่งมีขนาดเหมาะสมสำหรับซื้อเป็นของฝาก หน่อไม้ไผ่บงหวาน มีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อนำมาบริโภคสดๆ และเร็วที่สุด ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันความหวานจะลดลงเช่นเดียวกับข้าวโพดหวาน ดังนั้น การเก็บหน่อไม้จะมีการขุดขายกันแบบวันต่อวัน ถึงแม้จะเก็บไว้ในตู้เย็น ความหวานก็จะลดลง แต่จะเก็บไว้บริโภคนานวันควรจะต้มให้สุก แล้วนำมาแช่แข็งจะดีกว่า

เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกไผ่บงหวานมักจะปลูกแบบฝากเทวดาเลี้ยง น้ำก็ไม่ให้ หญ้าก็ไม่กำจัด ไม่มีการสางกอ แต่ที่สวนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งจะมีการจัดการสวนที่ดี และมีการปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือน อาทิ ภายในกอจะต้องโล่ง จะต้องขุดหน่อที่อยู่ภายในกอออกมาบริโภคหรือจำหน่าย ในการให้ปุ๋ยกับต้นไผ่บงหวาน จะให้ปุ๋ยเคมีเพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือเป็นปุ๋ยคอกทั้งสิ้น ในแต่ละเดือนจะนำปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) อัตรา 10 กิโลกรัม นำมาผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 90 กิโลกรัม แล้วใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพรดตามลงไป หมักทิ้งไว้ 1 คืน นำไปใส่ให้กับต้นไผ่บงหวาน ต้นละ 5-10 กิโลกรัม

สิ่งสำคัญในการผลิตไผ่บงหวานนอกฤดูก็คือ การจัดการเรื่องการให้น้ำ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมาก

“การให้น้ำจะใช้วิธีการแบบปล่อยน้ำเข้าร่องก็ได้ แต่ก่อนปลูกเกษตรกรจะต้องมีการปรับพื้นที่ปลูกเพื่อให้ไล่ระดับน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ถ้ามีการติดระบบการให้น้ำอย่างดีและมีประสิทธิภาพ จะมีการวางระบบน้ำแบบแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ก็ได้ โดย 1 หัวน้ำ จะได้ 4 ต้น วางให้ห่าง ระยะ 3 เมตร ใช้สปริงเกลอร์หัวสูง” คุณภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาด้านราคาวัตถุดิบอาหารที่มีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ อาทิ แหนแดง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปียร์ ถือเป็นพืชทางเลือกที่เป็นทางออกให้กับเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต สำหรับแหนแดง เป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกระยะสั้นเติบโตเร็ว 15-30 วัน สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โปรตีนสูง และมีไนโตรเจนสูงถึง 5% ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจน ประมาณ 2.5-3% ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ท้องตลาด ราคา 12 บาท/กิโลกรัม แต่หากเป็นอาหารที่ผสมเองราคา 4 บาท/กิโลกรัม เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

แหนแดง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบอยู่ตามบริเวณน้ำนิ่ง เช่น บ่อ หรือคูน้ำ สำหรับแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่บนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตสดถึง 3 ตัน (150 กิโลกรัมแห้ง) ซึ่งเป็นปริมาณไนโตเจนได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม ประโยชน์คือ ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผัก และไม้ผล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ และมีต้นทุนต่ำ

พริกไทย เป็นพืชที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาของเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน และเป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาทำพริกไทยแห้งเป็นเครื่องปรุงอาหาร โดยทั่วไปแล้วจะคุ้นเคยกับพริกไทยดำและพริกไทยขาว ซึ่งถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำเนื่องจากเปลือกเมื่อทำให้แห้งจะมีสีดำ ส่วนพริกไทยขาวได้จากการลอกเปลือกออกก่อน พบทั้งการใช้ประกอบอาหารทั้งผลแห้งและผลสดที่มีสีเขียว หรือผลแห้งป่นเป็นผงเรียกพริกไทยป่น แต่ด้วยนวัตกรรมการเกษตรที่พัฒนาขึ้น ทำให้ตอนนี้มีเกษตรกรที่คิดค้นการแปรรูปพริกไทยให้มีมากกว่า 2 สี ได้เป็นที่สำเร็จแล้ว

คุณสิทธิโชค สิทธิโชติพงศ์ หรือ พี่หนึ่ง อยู่บ้านเลขที่ 97/2 หมู่ที่ 6 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เกษตรกรเมืองพัทลุง ดีกรีปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม กลับบ้านเกิดพัฒนาสวนพริกไทยของพ่อ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มทำผลิตภัณฑ์พริกไทย 5 สี สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน

พี่หนึ่ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานประจำอยู่ที่หาดใหญ่ เป็นพนักงานในห้องแล็บคอยตรวจสอบคุณภาพสินค้านานกว่า 15 ปี จนถึงจุดอิ่มตัวอยากมาทำงานที่บ้าน ซึ่งที่บ้านมีสวนพริกไทยที่พ่อปลูกไว้ประมาณ 1 ไร่ ตนเองจึงอยากกลับมาพัฒนาสวนพริกไทยของพ่อให้ดีขึ้น จากเดิมที่เคยขายแต่พริกไทยดำ พริกไทยสด อย่างเดียวแล้วราคาไม่ดีเท่าที่ควร ตนเองจึงคิดหาแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าพริกไทยให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรจะให้พริกไทยของที่สวนมีความแตกต่างไปจากพริกไทยเจ้าอื่นๆ จนได้ไปเห็นกระบวนการทำพริกไทยที่ต่างประเทศ ที่จะมีวิธีการอบแห้งเพื่อรักษาสีไว้ ให้มีความหลากหลาย พร้อมกับคุณภาพที่ยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งหลังจากจุดประกายไอเดียจากตรงนี้มาได้ ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการแสวงหาวิธีการและอุปกรณ์เครื่องจักรที่สามารถทำได้ และก็ค้นพบอุปกรณ์จนนำไปสู่การแปรรูปออกมาเป็นพริกไทยหลากสีได้สำเร็จ

การปลูกพริกไทยเพื่อการแปรรูป

พี่หนึ่ง บอกว่า เดิมพริกไทยที่พ่อปลูกไว้จำนวน 1 ไร่ เป็นพริกไทยปะเหลียน ที่เป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของชาวอำเภอปะเหลียน ที่ปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพริกไทยสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยรสชาติที่เผ็ดร้อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ฝักแน่นเป็นที่นิยมในหมู่ร้านอาหาร

โดยทั่วไปส่วนที่นำมาขยายพันธุ์พริกไทยมีอยู่ 2 ส่วน คือ กิ่งแขนงและกิ่งไหล ที่สวนจะเลือกปลูกแบบขึ้นค้าง จะใช้ในส่วนของไหลยอดมาขยายพันธุ์ เพราะเลื้อยขึ้นเสาค้างที่มีความสูงได้ดี

วิธีปลูก ขั้นตอนสำคัญคือการเตรียมดินปลูกให้ดี แปลงปลูกจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี ปรับพื้นที่ไม่ให้มีน้ำขัง ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก

หลังจากเตรียมดินเสร็จ ทำเสาค้าง haveyoursayonline.net ที่สวนใช้เป็นเสาปูนสูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง ปักเสาปูนลงดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ ขุดหลุมปลูกไม่ต้องลึก ปลูกหลุมละ 2 กิ่งไหล กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ระบบน้ำ ปัจจุบันใช้ระบบเดินรดน้ำ โดยดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก หากช่วงไหนฝนแล้งจะรดน้ำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง หากช่วงไหนฝนตกเยอะจะงดให้น้ำ

ปริมาณผลผลิตต่อต้น ใช้เวลาปลูกประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยพริกไทยทางใต้ส่วนใหญ่จะออกผลผลิตปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม เก็บผลผลิตทั้งพริกไทยเขียวและพริกไทยแดง ผลผลิตต่อต้นประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี

พริกไทยหลากสีเกิดขึ้นจากอะไร

พี่หนึ่ง อธิบายว่า พริกไทยหลากสีเกิดมาจากพริกไทยสายพันธุ์เดียว แต่สาเหตุที่ทำให้เป็นพริกไทยออกมาได้หลายสีนั้นตัวแปรสำคัญอยู่ที่ขั้นตอนกระบวนการแปรรูปที่ทำให้เกิดเป็นพริกไทยหลากสีออกมา ด้วยวิธีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง หรือ ฟรีซดราย (Freeze Drying) เพื่อรักษาสีของพริกไทยให้คงเดิม ในสัดส่วนการแปรรูปพริกไทยสด 10 กิโลกรัม เมื่อนำมาแปรรูปจะได้พริกไทยแห้ง 4 กิโลกรัม

ขั้นตอนการแปรรูปพริกไทยหลากสี

พริกไทยสีดำ หลังเก็บพริกไทยสดจากต้นมาแล้ว ในส่วนของการทำพริกไทยดำ จะเลือกเก็บเอาพริกไทยสีเขียวที่แก่เต็มที่แล้ว มาแกะออกจากช่อ นำไปล้างน้ำให้สะอาดประมาณ 4-5 รอบ ล้างเสร็จนำไปใส่ตะแกรงแล้วเอาไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นพริกไทยจากสีเขียวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ แล้วนำมาอบอีกครั้งในตู้อบที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดพริกไทยมีความแห้งสนิท ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
จุดเด่น : กลิ่นหอมเด่นชัด รสชาติเผ็ดร้อน

พริกไทยสีขาว จะใช้พริกไทยสุกที่มีสีแดงมาแช่น้ำไว้ 1 คืน เพื่อให้เปลือกของพริกพองออกง่ายต่อการปอกเปลือก หากแช่นานกว่านี้จะทำให้พริกไทยกลิ่นไม่หอม โดยใช้วิธีขยำแบบภูมิปัญญาชาวบ้านทั่วไป ขยำล้างน้ำหลายๆ รอบเพื่อให้เปลือกของพริกไทยหลุดออกจนหมด เผยให้เห็นเมล็ดพริกไทยเป็นสีขาว ให้นำไปตากแดดไว้ประมาณ 3-4 วัน แล้วนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง
จุดเด่น : กลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติเผ็ดร้อนใกล้เคียงกับพริกไทยดำ

พริกไทยสีเขียว เก็บพริกไทยแก่สีเขียว ไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำไปเข้าเครื่องฟรีซดราย (Freeze Drying) เพื่อช่วยในการรักษาสี รักษากลิ่นของพริกไทยไว้ให้คงเดิม โดยเครื่องฟรีซดรายเป็นการขอเช่าใช้เครื่องกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณก่อนในเบื้องต้น เนื่องด้วยราคาเครื่องมีราคาค่อนข้างสูง ตนเองถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ในอนาคตหากสินค้าไปได้ดีคาดว่าจะซื้อเป็นของตนเองอย่างแน่นอน
จุดเด่น : กลิ่นหอมสดชื่น รสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย

พริกไทยสีแดง เก็บพริกไทยสุกสีแดง ไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำไปเข้าเครื่องฟรีซดราย (Freeze Drying) เหมือนขั้นตอนการทำพริกไทยสีเขียว
จุดเด่น : กลิ่นหอมสดชื่นคล้ายกับกลิ่นผลไม้ รสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย

พริกไทยหลากสี เกิดจากการนำพริกไทยทั้ง 4 สี คือ สีดำ สีขาว สีแดง และสีเขียว มาผสมกันไว้ในขวดเดียว เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้บริโภค ทั้งสีสันและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป
จุดเด่น : รวมความหอมของพริกไทยแต่สีได้อย่างลงตัว รสชาติเผ็ดร้อน