“โรคใบด่าง” มันสำปะหลัง ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562

คาดว่าจะมีประมาณ 29.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.49% จาก ปี 2561 ที่มีผลผลิต 27.88 ล้านตัน เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโอกาสในการส่งออกมันสำปะหลังของไทย โดย นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2562 กรมจะเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น ตุรกี-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงมาก

ส่วนตลาดหลัก คือ “ตลาดจีน” นั้น คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการนำเข้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศยังคงหนาวเย็น จะเพิ่มการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน

เร่งระบายปาล์มสต๊อกผลิตไฟฟ้า

ส่วน “ปาล์มน้ำมัน” นั้น ในปี 2561 เรียกได้ว่า “วิกฤตหนัก” ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้มีมาตรการไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มทั่วโลกรวมถึงไทย ลดลงจาก กก. ละ 4-5 บาท เหลือ 2.50 บาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ปริมาณสต๊อกประเทศผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียมีสต๊อก 4.3 ล้านตัน, มาเลเซีย 2.5 ล้านตัน

ส่วนไทยมากถึง 3.8 แสนตัน ทิศทางผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% หรือมากกว่า 15 ล้านตัน เพราะช่วงต้นปีประเมินว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญแต่ก็ไม่เกิด อีกทั้งต้นปาล์มไทยยังเป็นปาล์มหนุ่มสาวให้ผลผลิตสูง ส่วนการส่งออก ปี 2562 คาดว่า จะมีปริมาณ 300,000 ตัน ส่วนทิศทางราคาตลาดอยู่ที่ ตันละ 500-600 จากปัจจุบัน ตันละ 490 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 18 บาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่ง “ปรับสมดุล” สต๊อกปาล์มน้ำมัน โดยการขออนุมัติงบประมาณ 525 ล้านบาท เพื่อใช้ชดเชยให้เอกชนที่ซื้อน้ำมันปาล์มไปส่งออก แต่ก็ไม่สำเร็จ และให้กระทรวงพลังงานผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B20 แต่ก็ได้รับเสียงปฏิเสธจากบรรดากลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่ง กระทั่งสุดท้าย รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการดึงน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกง 160,000 ตัน เพื่อยกระดับราคาผลปาล์มให้ถึง กก.ละ 3 บาท

เซฟการ์ดดันราคามะพร้าว

“มะพร้าว” ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความเสี่ยงด้านราคาสูงอีกกลุ่มหนึ่ง โดยใน ปี 2560 ไทยมีการนำเข้ามะพร้าวถึง 400,000 ตัน

ส่งผลให้ราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศลดลงไปต่ำกว่า กก.ละ 4 บาท เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้มะพร้าวเป็น “สินค้าควบคุม” กระทั่งล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมมีมติว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้มาตรการภาษีปกป้องพิเศษ (special safeguard) มะพร้าวนำเข้า โดยคำนวณจากประวัติการนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2557-2559) คิดเป็นปริมาณ 156,655 ตัน ให้เสียภาษีนำเข้า 54% หากเกินจากนั้นต้องเสียภาษี 72% ซึ่งผลจากเตรียมประกาศมาตรการนี้ ทำให้ราคามะพร้าวปรับขึ้นเป็น กก.ละ 7 บาท

ข้าว-ข้าวโพด ราคาดี

“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มว่า จะมีปัญหาน้อยที่สุด โดยใน ปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ในปี 2561 ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงตันละ 18,000 บาท ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เคยว่างใน 1-2 ปี ที่ผ่านมา

ส่วนข้าวนาปรังอาจจะลดลงจากสาเหตุเกษตรกรปรับลดพื้นที่นาปรังลง เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นตามนโยบายรัฐ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ “ข้าวโพด” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาปรับสูงขึ้นกว่า กก.ละ 10 บาท จากช่วงที่ผ่านมา กก.ละ 8.50 บาท ในภาคการส่งออกข้าว ปี 2562 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะลดลงเหลือ 10 ล้านตัน มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากยังคงมีความท้าทายและแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงประเทศผู้นำเข้าข้าว อาทิ อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ได้มีการนำเข้าข้าวไปสต๊อกไว้ “ดังนั้น อาจลดการนำเข้าข้าวใน ปี 2562 ลง”

ขณะที่ “จีน” กลับมีสต๊อกข้าวขาวเก่ามากถึง 113 ล้านตัน “ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน” และส่งออกทำเป็นข้าวนึ่ง ในราคาตันละ 325 เหรียญสหรัฐ หรือ “ต่ำกว่า” ข้าวนึ่งไทยที่ขาย ตันละ 329 เหรียญ ทำให้จีนสามารถแย่งตลาดข้าวนึ่งไทยในแอฟริกาไปได้ และยังเชื่อมโยงไปถึงเวียดนามที่ได้นำข้าวออกมาทุ่มขายในตลาด เนื่องจากส่งออกข้าวให้จีนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้น “อานิสงส์” จากภาวะภัยแล้งในอินเดีย ผู้ส่งออกข้าว เบอร์ 1 ของโลกว่า ผลผลิตข้าวจะเสียหายไปประมาณเท่าไร แต่ไม่ว่าราคาข้าวจะเป็นอย่างไร เอกชนหวังว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง “ไม่ควร” หวนกลับไปใช้โครงการประชานิยมอีก

จากสถานการณ์ราคายางพาราปี 2561 ที่ปรับตัวลดลง ส่งกระทบโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา หลายหน่วยงานได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลากหลายวิธีการ ซึ่งการ แปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยแก้ไขปัญหาเสถียรภาพด้านราคายางพาราและยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จังหวัดสงขลา นับเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีส่วนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตยางพาราที่ได้มาตรฐาน การรวบรวมผลผลิตและรับซื้อ รวมไปถึงการนำยางพาราของสมาชิกเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ และหาช่องทางตลาดมารองรับ เพื่อยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น

นายวรรณะ ขุนเดื่อ ประธานสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด เกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นสมาชิกประมาณ 3,300 คน และส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำสวนยางพารา สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางพาราประมาณ 400 ตัน ต่อปี ต่อมาได้เริ่มแปรรูปยางพารา โดยรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก แล้วนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน แต่มูลค่าของยางแผ่นรมควันราคาไม่สูงมากนัก ทางคณะกรรมการสหกรณ์ได้ร่วมกันคิดหาแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่ายางพาราให้มากขึ้น

จึงเริ่มผลิตยางลูกขุน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีโครงการ Rubber City ขึ้นที่จังหวัดสงขลา สหกรณ์จึงได้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านทางกลุ่มจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนเป็นเครื่องอัดยางลูกขุน และในปี 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน สนับสนุนให้สหกรณ์นำไปจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด ได้แก่ เครื่องผสมยางคอมปาวด์ เครื่องอัดขึ้นรูปยางพารา เครื่องฉีดยางพารา และเครื่องอัดก้อน โดยสหกรณ์ได้สบทบเงินเพิ่มอีก 10% ราคารวม 6 ล้านกว่าบาท ซึ่งสหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องอัดก้อน โดยรับจ้างอัดก้อนยางพารา ในราคา 1.40 – 1.50 บาท ต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้แปรรูยางพาราเป็นรองเท้าแตะ รองเท้าบูธและแผ่นยางปูพื้น หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2559 สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนความรู้จากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา (Natural Rubber Innovation Research Institute) มหาวิทยาสงขลานครินทร์ เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปยางพาราตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต การแปรรูป การทำแผนธุรกิจ การบริหารจัดการ การผสมยางพารา การทำยางคอมปาวด์ การทำการตลาด และในการผลิตสินค้าต่างๆ

สหกรณ์จะต้องพิจารณาว่าผลิตแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน สหกรณ์จึงได้เช่าโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้ยางเป็นวัตถุดิบปีละประมาณ 200-300 ตัน ซึ่งสหกรณ์ได้เชื่อมโยงเครือข่ายรับซื้อน้ำยางสดจากสหกรณ์การเกษตรนาหม่อม จำกัด เพื่อนำมาผลิตยางคอมปาวด์ และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น รองเท้าแตะ รองเท้าบูท แผ่นยางปูพื้น ยางรองพื้นรองเท้า เป็นต้น ซึ่งการผลิตรองเท้าบูธในปัจจุบัน มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

แต่สหกรณ์ยังผลิตไม่ทันและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากกำลังการผลิตของเครื่องสามารถผลิตรองเท้าบูธได้สูงสุดเพียง 80 คู่ ต่อวัน เท่านั้น ส่วนแผ่นยางปูพื้นขณะนี้ได้รับมาตรฐาน มอก. จากกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว และออเดอร์ส่วนใหญ่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นลูกค้าหลัก และโรงเรียนต่างๆ ที่นำไปปูพื้นสนามเด็กเล่น ซึ่งการแปรรูปยางพารา ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราเพิ่มขึ้นจากเดิม 3-5 เท่า โดยสหกรณ์ได้รับซื้อยางพาราสูงกว่าท้องตลาด 1-3 บาท ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับสมาชิก

ปัจจุบัน รองเท้าบูธ รองเท้าแตะ และแผ่นยางปูพื้น ที่สหกรณ์ผลิตขึ้นนั้นได้ผลการตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะรองเท้าบูธ ซึ่งทางโรงงานแปรรูปของสหกรณ์ได้ทำแผนการตลาดร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดสงขลา และสหกรณ์ชาวสวนยางพาราที่เป็นเครือข่าย ซึ่งในอนาคตสหกรณ์มีแผนการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ และได้รับความร่วมมือจากการยางแห่งประเทศไทยรับผลิตภัณฑ์ แปรรูปยางพาราไปจำหน่ายด้วย ขณะเดียวกันสหกรณ์ได้ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา ได้แก่ เพจ Facebook : โรงงานแปรรูปยางพาราสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด และ Line@ : https://line.me/ti/p/_t2qDFwZcW (โรงงานแปรรูปยางพารา) หรือโทร. (099) 409-2277, (082) 436-9969 และในอนาคตทางสหกรณ์ได้หารือกับทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศวางแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ โรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์ได้เปิดให้บุคลากรจากหน่วยงานราชการ เครือข่ายสหกรณ์ และบริษัทเอกชนเข้ามาศึกษาดูงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างต่อเนื่อง และยังมีผู้ที่มาศึกษาดูงานจากต่างประเทศด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ จีน และมาเลเซีย เป็นต้น

ด้าน นายสุจิน พุทธกูล สมาชิกสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด กล่าวว่า ระบบสหกรณ์เป็นเรื่องที่ดีมาก อยากให้ทุกคนเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ จะได้รวมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนยางพาราที่ได้พิสูจน์แล้วว่าถ้ารวมกันเป็นสหกรณ์ สหกรณ์จะเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้ทั้งด้านสินเชื่อ การส่งเสริมการออมเงิน การส่งเสริมอาชีพ การดูแลเรื่องแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและหาตลาดมารับซื้อผลผลิตให้กับสมาชิก ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาด้านราคายางพารา ทำให้สมาชิกมีรายได้ที่มั่นคงและยังเมื่อถึงสิ้นปี สหกรณ์ได้จัดสรรกำไรส่วนหนึ่งมาเป็นเงินปันผลคืนให้กับสมาชิกอีกด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อเป็นโมเดลในการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยวางแผนการผลิตการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล จากโครงการนำร่อง ที่ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 206 ราย พื้นที่ 3,025 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตรวม 3,454.72 ตัน เกษตรกรสามารถขายได้ที่ความชื้นประมาณ 27% โดยราคาที่จุดรับซื้อของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จ.อุตรดิตถ์ ราคาประมาณ 8 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 8,365 บาท ต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาท ต่อไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2562)

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการมา 3 ปี โดยในปีการผลิต 2559/2560 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 16,545 ราย พื้นที่ 148,949 ไร่ ในปีการผลิต 2560/2561 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 67,369 ราย พื้นที่ 452,827.75 ไร่ และในปีการผลิต 2561/2562 มีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 96928 ราย พื้นที่ 814,916 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) ทั้งนี้ การรับสมัครในปี 2561/2562 นี้ ยังรับสมัครไปถึง วันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นพืชทางเลือกที่ดีอีกพืชหนึ่ง ในการดำเนินการ เนื่องจากยังมีความต้องการใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศ มากถึง 8 ล้านตัน แต่มีปริมาณการผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน และยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย มากกว่า ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของข้าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังปรับรูปแบบการทำงานโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานแบบบูรณาการ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต สำหรับด้านการตลาด ได้วางระบบให้สหกรณ์การเกษตร เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินโครงการ ตั้งจุดรับซื้อทั้งหมด 324 จุด แบ่งเป็นจุดรับซื้อของสหกรณ์ 292 จุด และจุดรับซื้อของเอกชน 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 8.29 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือชาวสวนยางภาคตะวันออก ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ณ ที่ว่าการอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ว่า กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การตลาด และราคายางอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำมาเป็นระยะ

โดยรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่มุ่งหวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน ในช่วงที่ราคายางส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และคนกรีดยางเพื่อสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และช่วยเหลือค่าครองชีพคนกรีดยาง อีกทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้สามารถร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพยาง และยกระดับราคาให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

นายกฤษฎากล่าวว่า การมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออก ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รายละ 1,800 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน โดยเงิน 1,800 บาท ดังกล่าว แบ่งเป็น 1,100 บาทให้แก่เจ้าของสวน และ 700 บาท สำหรับการจ้างแรงงาน ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ทยอยมอบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ได้ลงทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย โดยสามารถไปติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานการยางฯ ของแต่ละจังหวัดที่ได้ลงทะเบียนไว้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเร่งดำเนินโครงการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ รวมทั้งสิ้น 80,000 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทั้งสิ้นกว่า 9 แสน – 1 ล้านตัน

ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้นยางมีอายุมากกว่า 25 ปี ได้สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ตลาดมีความต้องการ อาทิ โกโก้ มะพร้าวน้ำหอม หรือปลูกพืชล้มลุกแซมสวนยาง เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพนอกเหนือการทำสวนยางเพียงอย่างเดียวด้วย

ชื่อสามัญ White spot arum ,,Elephant Foot yam Konjac

ฉันรู้สึกตัวว่า “อาภัพ” เพราะไม่รู้ว่าจะหาจุดเด่นของตัวเองอย่างไร จะมองหุ่นทรวดทรงก็มีคนบอกว่า เหมือน “ไข่” แต่อีกกลุ่มไม่รู้ว่ามองอย่างไร บอกว่าเหมือน “คางคก” จึงเก็บความกดดันไว้ในใจ หากระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ จะ “บุก” ให้ราบเป็นหน้ากลอง เพราะตอนเด็กๆ เคยดูหนังเรื่อง “ชาติเสือต้องเหลือลาย” มีพระเอกถือปืน นำลูกน้องร้องตะโกนว่า “ไอ้เสือบุก” ไม่รู้ว่าจะบุกไข่ หรือ บุกคางคก

เรื่อง “Konjac” ก็อีกเรื่องที่เคยเสียหน้ามาครั้งหนึ่งแล้ว ช่วงตอนวัยรุ่นอยากจะดื่มเหล้า แล้วไปอ่านออกเสียงว่า “โคแนค” เพิ่งมารู้ว่าเขาอ่านว่า “คอนยัค” หน้าแตกไปแล้ว และก็รู้ว่าเกี่ยวข้องกับตัวเองด้วยเหมือนกัน คือแอบอ่านในหนังสือชื่อ “มหัศจรรย์ผัก 108” พิมพ์ครั้งที่ 4 โครงการหนูรักผักสีเขียว โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนเรื่องฉันไว้ ทำให้ฉันภูมิใจมาก เขาบอกว่า “คอนยัค” ไม่ใช่เหล้า แต่เป็นเส้นทางลัด สู่ทรวดทรงสมส่วนของคนอ้วนๆ ตุ๊ต๊ะ

คอนยัค หรือ Konjac ก็คือต้นบุก ที่คนไทยนำเอาลำต้นมาแกงส้ม ลวกจิ้มน้ำพริก หรือเอาหัวมาฝานเป็นแผ่นไว้นึ่ง หรือย่างไฟ สำหรับที่คนไทยนิยมนำมาต้ม มาแกง เป็นชนิดบุกไข่ และบุกคางคก ตามชื่อที่เป็น ตะปุ่มตะปั่มตามเปลือก แต่เขาลอกทิ้งเมื่อนำมาทอดก็ได้

ในญี่ปุ่น ที่เขาใช้ส่วนที่ว่าเป็น Konjac เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า white spot arum แต่เดี๋ยวนี้เนื้อบุกถูกแปรรูปได้สารพัดแบบ

ฉันมีเรื่องแปลกอีกอย่างที่นอกจากชื่อก็คือ ลำต้นของฉันที่เหนือพื้นดิน จะมีวงจรเติบโตผันแปรตามฤดูกาล คือเริ่มจากแตกก้าน และใบในหน้าฝน แล้วก็หายแห้งในช่วงเวลารวดเร็ว

ฉันเป็นไม้ล้มลุกที่สูงเพียง 1-2 เมตร แต่ชีวิตแปลกที่เมื่อลมหนาวมา ผลบุกที่เป็นเครือคล้ายกล้วยไข่ ที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร จะผุดทรายออกมาท้าลมหนาว แล้วลาจากอีกครั้ง ต่อมาก็ถึงเรื่องดอกที่มีสีม่วงเข้ม อีก 1 สัปดาห์ แล้วจากไปอีกเช่นกัน แต่อย่าเพิ่งตกใจตัวฉันเองก็สร้างหัว ซุกไว้เป็นก้อนอยู่ในดิน คนที่เคยชอบพอฉัน ก็จะรู้ว่าตามหาฉันได้อย่างไร แต่ตอนนำฉันไปกินนี่ซิ ต่างคนต่างมีเล่ห์เหลี่ยม มีเคล็ดลับ เพราะญาติฉันบางสายพันธุ์ก็มีทั้งพิษร้าย และทั้งขมกับขื่น เพราะมีสาร “แคลเซียมออกซาเลต” ทั้งที่ต้นและหัว เจอแม่ครัวมือใหม่ก็คันทั้งตัว

เขาจึงเอาฉันไปต้ม หรือลวกเสียก่อน หรือบางคนก็นำไปเผาไฟซะเลยคนญี่ปุ่นชอบฉันมาก เขาจะสกัดเป็นแป้งแล้วทำปฏิกิริยากับด่าง กลายเป็นก้อนวุ้นใสๆ ใช้ยำ แกงจืด ผัดแทนวุ้นเส้น หรือทำเป็นชิ้นแทนปลาหมึก ผ้าขี้ริ้ว กุ้ง เพราะแป้งที่สะสมเป็นเส้นใยสามารถดูดน้ำ ทางวิชาการเขาเรียกว่า “กลูโคแมนแนน” ซึ่งพวกแป้งนี้ไม่ให้พลังงานและสารอาหาร เมื่อกลืนไปแล้วก็เต็มในกระเพาะอาหาร เส้นใยจะดูดน้ำ รู้สึกอิ่ม ทำให้กินข้าวได้น้อยลง กลยุทธ์ในตลาดบางร้านเขาบอกว่าแทนปลาหมึก เมื่อกินมากๆ ก็กินอะไรไม่ได้ หรือไม่อยากกินอะไรอีก ฉันจึงเป็นเหมือน “ขุมทรัพย์จากใต้ดิน” สาวๆ ชอบกินฉันมาก เพื่อกินแล้วลดน้ำหนัก ลดอ้วน จึงชวนกันผอม เพราะยอมให้ฉัน “บุก”

ถ้าไม่รังเกียจ กลิ่นดอกที่เหม็นเหมือนเนื้อเน่าหรือปลาเน่า หรือถุงเท้าลืมซัก…ก็ขอเชิญยกแก้ว…จิบ KONJAC รักหุ่นผอม ยอมให้ “บุก” รุกถึงกระเพาะเต็มท้อง รับรองหุ่น simmm…เด้อ?

เมืองคอนวิกฤตแล้ว! พิษ พายุปาบึก ซัดเสาไฟฟ้าล้มขวางถนน ไฟฟ้าดับทั้งเมือง เผยศูนย์อพยพเต็ม เร่งหาที่รองรับประชาชนเพิ่มอีก ปริมาณน้ำทะลักท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่นำรถออกสำรวจผู้ตกค้างในพื้นที่เสี่ยง
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 4 ม.ค. ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย พายุโซนร้อน “ปาบึก” อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการขยายศูนย์อพยพหาที่รองรับผู้ประสบภัยเพิ่ม เนื่องจากประชาชน ได้ทยอยอพยพมาเพิ่มอีกจำนวนมาก

นายถาวรวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยิมวิทยาได้ประกาศเตือนว่า พายุปาบึก ใกล้ที่จะพัดเข้าฝั่งแล้ว ซึ่งเราเห็นได้ว่า ความรุนแรงแต่รัศมีนอก ยังทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่บ้างแล้ว หากพายุปาบึกพัดพามาแบบเต็มกำลัง จะสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งชาวบ้านก็ได้เห็นความรุนแรงของพายุปาบึก จึงได้ทยอยเดินทางมาที่ศูนย์อพยพเอง เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เกลี้ยกล่อมยังไงก็ไม่ยอมมา เพราะเป็นห่วงบ้าน

นายถาวรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราพบปัญหาจุดอพยพทุกจุดเต็ม จึงประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขยายจุดอพยพ เพื่อจัดหาพื้นที่สำหรับรองรับประชาชน จึงได้มีการเปิดศูนย์อพยพขึ้นมาใหม่ ที่ศาลาประชาคม อ.ปากพนัง ซึ่งสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ 400-500 คน ทั้งนี้ คาดว่ามีผู้ประสบภัยกว่า 4,000 คนแล้ว ที่อพยพออกมาจากนอกพื้นที่แล้ว เมื่อผู้ประสบภัยได้อพยพมาบริเวณศูนย์อพยพ ทางศูนย์ก็ได้มีครัวพระราชทานจิตอาสา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ให้กับผู้ประสบภัย ทำให้มีอาหารกินตลอด