โอกินาวา 3 สายพันธุ์จากญี่ปุ่น ปลูกได้ดี สร้างรายได้งาม

กิโลกรัมละ 100 บาท ที่พิจิตรผู้ปลูกจะห่อผลหรือจะไม่ห่อผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่ไม่มีแมลงศัตรูระบาดมากนัก อย่าง แมลงวันทอง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องห่อผล แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดควรที่จะห่อผลมะระ

เมื่อมะระอายุได้ประมาณ 30-40 วันหลังปลูก จะเริ่มออกดอกและติดผล พอผลมะระโตได้ 7-10 วัน หลังดอกตัวเมียโรย หรือมะระผลยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก็เริ่มห่อผลได้ทันที (ถ้าห่อตอนผลเล็กมากกว่านี้ จะทำให้ผลเหลืองและร่วง) กรณีที่ต้องการห่อผลเพื่อเลี่ยงการทำลายจากแมลงวันทองหรือแมลงศัตรูที่จะมาทำลายผิว แต่ในพื้นที่ไม่มีการระบาดจากแมลงวันทองก็ไม่จำเป็นต้องห่อผลก็ได้

เวลาห่อผลสามารถใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ทำเป็นถุง ขนาด 15×20 เซนติเมตร ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำปากถุงด้านหนึ่งสวมผลมะระ แล้วใช้ที่เย็บกระดาษเย็บปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผลมะระ ถุงห่อรีเมย์ ก็จะมีเชือกรูดสวมถุงมัดได้ทันที, ถุงห่อสีขาว ก็จะมีลวดมัดให้ที่ปากถุง (ถุงห่อรีเมย์ และถุงห่อสีขาว บริษัท ชุนฟง มีจำหน่าย) มะระที่ห่อผลจะค่อนข้างสวย ผิวมีสีเขียวอ่อน

ต้นมะระขี้นกยักษ์โอกินาวา อายุได้ประมาณ 60 วัน มะระรุ่นแรกที่ออกดอกก่อนจะเริ่มแก่ทยอยเก็บผลได้ ซึ่งหลังมะระขี้นกยักษ์โอกาวาติดผลอ่อนขนาดเล็ก จากนั้นอีกประมาณ 12-18 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวขายหรือรับประทานได้ มะระขี้นกยักษ์โอกินาวาสามารถเก็บเกี่ยวได้นานประมาณ 5-10 รุ่น นั้นก็จะขึ้นอยู่กับสภาพต้นการดูแลรักษา ฤดูกาลปลูก เป็นต้น โดยตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา ที่สวนคุณลี จำหน่ายมะระโอกินาวาได้ กิโลกรัมละ 100 บาท ออกจากสวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพืชผักที่สร้างมูลค่าผลตอบแทนแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

โรคและแมลงศัตรูมะระขี้นกยักษ์โอกินาวา

ก็จะเหมือนพืชตระกูลมะระหรือแตงทั่วไปในบ้านเรา จะมีการทำลายหรือระบาดก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หรือช่วงฤดูกาลปลูก ซึ่งจากที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-886-7398 ปลูกมะระโอกินาวามาประมาณ 2 ปี และปลูกมาตลอดทั้งปี ก็สามารถสรุปโรคและแมลงศัตรูที่พบกับมะระขี้นกยักษ์โอกินาวาในเบื้องต้น ดังนี้

“เพลี้ยไฟ” ช่วงอากาศร้อนอบอ้าว แห้งแล้ง ให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟ แต่อย่างไรก็ตามในสภาพบ้านเราการขยายพันธุ์หรือการระบาดของเพลี้ยไฟมีได้ตลอดปี แต่อาจจะรุนแรงเป็นระยะๆ เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง สังเกตจากยอดอ่อนหรือใบอ่อน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สังเกตดูที่ใบจะหงิกก็ต้องฉีดยากำจัดเพลี้ยไฟ ซึ่งบางท่านอาจจะเลือกฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร เชื้อชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อบิวเวอเรีย เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถเข้าทำลายเพลี้ยไฟได้

การใช้ ห้ามผสมสารเคมี และควรฉีดในช่วงเวลาเย็น แต่ถ้าเห็นว่าระบาดมากควรใช้สารเคมีสกัดยับยั้งเสียก่อน ซึ่งเพลี้ยไฟมีการระบาดที่เร็ว ยกตัวอย่าง สารที่มีความปลอดภัยสูง อย่าง กลุ่มอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, โคฮีนอร์, เสือพรีอุส) ฉีดสลับด้วยสารกลุ่มต่างๆ เพื่อป้องกันการดื้อสารเคมี เช่น สารกลุ่มคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์), กลุ่มฟิโฟนิล (เช่น เฟอร์แบน), กลุ่มคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน, เอส-85) เป็นต้น เนื่องจากเพลี้ยไฟบินในเวลากลางวัน ในช่วงเช้าจนถึงบ่าย คือเริ่มพบเพลี้ยไฟมากในช่วง 08.00-13.00 น. สูงสุดในเวลา 09.00-10.00 น. หลังจากนี้จะพบเพลี้ยไฟน้อยลง โดยเฉพาะในเวลา 18.00-06.00 น. จะพบน้อยมาก ก็ต้องเลือกเวลาฉีดที่เหมาะสม

“แมลงหวี่ขาว” เป็นแมลงประเภทปากดูดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้ใบพืช หนึ่งในแมลงศัตรูพืชสำคัญ มีการระบาดและทำความเสียหายให้กับพืชผักเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะฤดูร้อนจะมากเป็นพิเศษ แมลงหวี่ขาวสามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดอ่อนของพืช การทำลายของตัวอ่อนทำให้เกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบพืช ใบพืชหงิกงอ ขอบใบม้วนลงด้านล่าง ต้นแคระแกร็น และเหี่ยว หากพบทำลายในปริมาณมากอาจทำให้พืชตายได้ นอกจากนี้ ยังเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัส สาเหตุโรคใบด่างในพืชต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลงหรือต้นตาย

การป้องกันและกำจัด การจัดการแปลงปลูกพืช หากพบแมลงหวี่ขาวใต้ใบพืชจำนวนมาก ให้ตัดเก็บส่วนของพืชเผาทำลายเพื่อป้องกันการระบาด หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้เก็บเศษซากพืชออกนอกแปลงปลูก และทำความสะอาดแปลงปลูกและพื้นที่รอบๆ

การใช้กับดักกาวเหนียวโดยอาศัยพฤติกรรมของแมลงซึ่งชอบบินเข้าหาวัตถุสีเหลือง การติดกับดักกาวเหนียวนอกจากสามารถลดจำนวนแมลงได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังสามารถใช้ในการตัดสินใจในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงต่อไป

การควบคุมโดยชีวภัณฑ์ การใช้ “เชื้อราบิวเวอเรีย” เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง เข้าทำลายแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม เส้นใยจะเข้าตามช่องว่างของแมลง เจริญเติบโตโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหารจนแมลงตาย

ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว หากพบแมลงหวี่ขาวจำนวนมาก หรือเกิดการระบาด ควรพ่นสารกลุ่มออกฤทธิ์ที่แนะนำให้ใช้ สำหรับป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวโดยเฉพาะ ควรพ่นสารจากกลุ่มที่ออกฤทธิ์น้อยก่อน และ/หรือสลับกับกลุ่มที่มีสารออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น เช่น พ่นสารกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบสัมผัสก่อนพ่นสารกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบดูดซึม เป็นต้น และควรใช้สารเคมีตามอัตราที่แนะนำ เช่น กลุ่มอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง-เอ็กซ์, โคฮีนอร์, เสือพรีอุส) ฉีดสลับด้วยสารกลุ่มต่างๆ เพื่อป้องกันการดื้อสารเคมี เช่น สารกลุ่มคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์), กลุ่มคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน, เอส-85), อะเซทามิพริด (เช่น โมแลน), ไดโนทีฟูแรน (เช่น สตาร์เกิล) เป็นต้น

“หนอน” ก็จะคอยทำลายกัดกินใบ ยอด และส่วนต่างๆ ของต้นมะระ ระบาดทุกช่วงอายุโดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก

กรณีใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อแบคทีเรีย “บาซิลัส ทูริงเยนซิส” หรือ “เชื้อบีที” เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งในธรรมชาติ ที่มีฤทธิ์ในการทำลายแมลงโดยเฉพาะหนอนผีเสื้อที่เป็นศัตรูของพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด เมื่อหนอนกินเชื้อบีทีเข้าไป สารพิษที่บีทีสร้างขึ้นจะไปมีผลทำให้ระบบย่อยอาหารของแมลงล้มเหลว กระเพาะบวมเต่งและแตก ส่งผลให้แมลงหยุดกินอาหาร เคลื่อนไหวช้า ชักกระตุก เป็นอัมพาต และตายภายใน 1-2 วัน เชื้อบีทีจึงสามารถใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ศัตรูพืชหลายชนิดที่ดื้อต่อสารเคมีได้ดี ในขณะเดียวกันเชื้อบีทียังเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ควรใช้เชื้อบีทีในขณะที่หนอนยังเล็กอยู่ ควรพ่นในตอนเย็นเพื่อเลี่ยงแสงแดด

การฉีดพ่นในขณะมีความชื้นในแปลงสูงจะได้ผลดียิ่งขึ้น ควรฉีดพ่นติดต่อกัน 2-3 ครั้ง และควรผสมสารจับใบทุกครั้ง ถ้ามีการระบาดมากก็เลือกใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น กลุ่มอะบาเม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์) กลุ่มไซเพอร์เมทริน (เช่น โกลน็อค-35, เมกก้า 50)

“แมลงวันทอง” ทำลายพืชผลผิวบางกว่า 300 ชนิด แมลงวันผลไม้มีพฤติกรรมการหากินในเวลากลางวัน โดยเฉพาะในเวลาเช้าไม่ชอบช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งและแสงแดดจัด

การป้องกันกำจัด ทำได้หลายวิธี สามารถนำวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมมาผสมผสานกัน เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่สามารถควบคุมแมลงวันผลไม้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด อย่าง “การห่อผล” เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมมากวิธีหนึ่ง การห่อผลนับว่าเป็นวิธีที่สามารถควบคุมการทำลายของแมลงวันผลไม้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“โรคราน้ำค้าง” ระบาดและพบมากช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ความชื้นสูง น้ำค้างมาก มักพบมีแผลเหลี่ยมเล็กสีเหลืองบนใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ กรณีที่มีความชื้นสูงในตอนเช้า จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีเทาดำตรงแผลใต้ใบ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมโรคจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น

วิธีแก้ไข หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล หรือสารไดเมทโธมอร์ฟ หรือสารอีทาบ็อกแซม ผสมกับสารโพรพิเนบ (เช่น แอนทราโคล) ฉีดพ่น ได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายต่อดอกและผล

โดยการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง หรือจะเป็นสารชีวภัณฑ์ หรือน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงนั้นก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละสวนที่จะเลือกใช้ โดยสวนคุณลีจะใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงในช่วงเริ่มปลูกจนถึงช่วงต้นมะระขี้นกเริ่มออกดอก ก็จะหยุดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง แต่จะมาใช้สารชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัยแทน เน้นไปที่ปุ๋ยและฮอร์โมนอาหารเสริมแทน เช่น แคลเซียม-โบรอน ธาตุอาหารรอง เพื่อช่วยในการออกดอกติดผลที่สมบูรณ์ และจะเน้นการ “ห่อผล” มะระขี้นกโอกินาวาเป็นสำคัญเพื่อป้องกันผลมะระให้ปลอดภัย

ผัดมะระแบบโอกินาวา

อาหารยอดนิยมของจังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น มะระโอกินาวา หรือคนญี่ปุ่นเรียก “โกยะ” ถือเป็นผักพื้นบ้านที่มีวิตามินซีสูงในลำดับต้นๆ ส่วนรสขมในมะระเกิดจากสารที่เรียกว่า โมโมร์ดิซิน และชาแลนทินที่อยู่ในเปลือก มีสรรพคุณทางยาในการลดน้ำตาลในเลือด และรักษาโรคเบาหวาน

ที่โอกินาวาเชื่อกันมาแต่สมัยโบราณว่า ความขมของมะระจะช่วยทำให้เลือดสะอาด และช่วยเรื่องความดันเลือดให้คงที่ ด้วยความที่มะระมีวิตามินซีมากกว่ามะนาว 2-3 เท่าตัว มากกว่าหัวกะหล่ำถึง 4 เท่า ทำให้มะระเป็นตัวแทนอาหารของโอกินาวามายาวนาน ซึ่งคนที่ไปเที่ยวโอกินาวาถ้าไม่ได้รับประทานผัดมะระแสดงว่ายังมาไม่ถึง นอกจากมะระโอกินาวาจะมีวิตามินซีแล้ว ยังมีวิตามินอี และยังมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น คาเลี่ยม มีใยอาหารอยู่มาก เหมาะสำหรับการป้องกันความอ่อนเพลียที่เกิดในหน้าร้อนด้วย ดังนั้น จึงนำเสนอสูตรการผัดมะระโอกินาวา ดังนี้

วิธีทำ ผ่าครึ่งมะระตามยาว ใช้ปลายช้อนขูดเมล็ดและเยื่อด้านในทิ้ง คว่ำด้านตัดลงบนเขียง และซอยจากด้านปลายออกเป็นชิ้นบาง ประมาณ 5 มิลลิเมตร ใส่มะระลงในชามอ่าง คลุกเข้ากับเกลือทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ล้างน้ำให้หมดเกลือ และตั้งให้สะเด็ดน้ำในกระชอน ใช้มือฉีกเต้าหู้ออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดพอคำ ตั้งให้สะเด็ดน้ำในกระชอน ตีไข่จนไข่ขาวไม่เหลือเป็นก้อน อุ่นน้ำมันในกระทะให้ร้อน เรียงเต้าหู้ที่เช็ดด้วยผ้าสะอาดจนแห้งลงในกระทะทีละชิ้น ทอดเต้าหู้ให้เหลืองสุกทั้งสองด้านบนไฟแรง อย่าคนกลับไปมา เพราะเต้าหู้จะเละและเสียรูปทรง ปล่อยให้ด้านหนึ่งเหลืองสุกดีก่อน จึงกลับอีกด้านทอด

พอเต้าหู้เหลืองสุกทั้งสองด้าน ตักขึ้นใส่จาน จากนั้นอุ่นกระทะอีกครั้ง เติมน้ำมันอีก 1 ช้อนโต๊ะ ลงในกระทะและใส่มะระลงไปผัด ประมาณ 1-2 นาที บนไฟระดับกลาง อย่าผัดนานเกินไป ควรให้เนื้อของมะระยังคงความกรอบ ใส่เต้าหู้กลับลงไปในกระทะ ผัดรวมเข้ากับมะระ เทไข่ลงไปและคนเป็นวงกว้างๆ เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน ระวังอย่าให้เต้าหู้เละและเสียรูปทรง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น (โชยุ) เกลือ และพริกไทย ดับไฟ และถ้ามีฝอยปลาโอรมควันแห้ง (คะสึโอะบุชิ) โรยหน้าอาหารก่อนเสิร์ฟ หรือผัดแบบบ้านเรา อาจจะใส่เนื้อหมู เนื้อไก่ ตามความชอบ ใส่น้ำตาล ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย และน้ำปลาปรุงรสให้ถูกปาก

นอกจากนี้ ยังประยุกต์ได้อีกหลากหลายเมนู ตามความชื่นชอบแบบอาหารไทย เช่น ต้มจืดมะระ แกงกะทิใส่มะระ หรือจะใช้เป็นผักเคียง รับประทานกับขนมจีนน้ำยา กุ้งแช่น้ำปลา รับประทานกับน้ำพริก เป็นต้น

ได้ยินมาแต่เด็กว่า “ทุเรียน” เปรียบประดุจ “ราชาแห่งผลไม้” เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของเปลือกนอก ที่มีหนามแหลมคล้ายมงกุฎของพระราชา อีกทั้งเนื้อในเนียนละมุนหอมเย้ายวน กลิ่นรัญจวน เจือรสชาติแสนอร่อย ยากจะหาผลไม้หวานจัดอื่นใดมาเทียบได้ แต่ที่เคยรับรู้มานั้นทุเรียนเมืองนนท์มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ราคาลูกละอย่างต่ำ 5,000 บาท หรือเป็นหมื่นๆ บาทก็มี ขนาดราคาลูกละ 25,000 บาท ยังถูกจองคาต้นซะหมดเกลี้ยง

ครั้นเมื่อได้ข้ามด่านสิงขร ชายแดนไทย-พม่า ตระเวนตามสวนหมากในเมืองตะนาวศรี และล่องเรือทวนแม่น้ำตะนาวศรีขึ้นไปเรื่อยๆ สองฝั่งน้ำที่เห็นสวนหมากแน่นครึ่ดนั้น ที่เชิดก้าน ชูยอดใบสลอนอยู่ตลอดเขตสวนหมาก เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดนั้นที่ชาวสวนตะนาวศรี ปลูกแทรกสวนหมากอยู่ คือ “ทุเรียน”

ดิฉันได้เดินทางเมืองตะนาวศรีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกับทีมนักวิชาการชาวไทย หนึ่งในผู้ร่วมเดินทาง คือ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ท่านเป็นครูของชาวนาไทยทั้งประเทศ มีความเชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในเรื่องข้าว และมีความรู้หลากหลายนานาในเรื่องพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ พืชพันธุ์พื้นบ้าน

ดิฉันรู้จักและเคยทำงานเป็นลูกมืออาจารย์เดชามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เดินตามอาจารย์เดชาบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า, ชายแดนไทย-ลาว เก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองจากหมู่บ้านชาวเขาหลากหลายชนเผ่าอยู่ร่วมปี และยังได้ติดต่อทำงานด้วยกันยาวนานมาจนบัดนี้

เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองตะนาวศรีกับอาจารย์เดชา และได้เห็นดงทุเรียนกลางสวนหมาก ได้ชิมทุเรียนตะนาวศรีอยู่หลายยก พร้อมๆ กันกับผู้ร่วมเดินทางอีกหลายท่าน ดิฉันจึงตามไปสัมภาษณ์ สืบค้น ขอความรู้เรื่องทุเรียนตะนาวศรีจากอาจารย์เดชา ซึ่งท่านก็ได้กรุณาให้ความรู้เรื่องทุเรียนตะนาวศรีมาดังนี้

ถิ่นกำเนิดของทุเรียน
“ทุเรียนเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มอยู่ที่เกาะบอร์เนียว ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนใต้ของประเทศไทย เกาะบอร์เนียวแบ่งออกเป็น 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียวจะเป็นเกาะใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของทุเรียนส่วนใหญ่ แต่ทุเรียนก็ยังมีอยู่อีกบ้างที่เกาะสุมาตรา ทุเรียนป่ามีอยู่เป็น 10 สปีชีส์ แต่ที่มนุษย์เอามากินกันนี้เป็นทุเรียนบ้าน ซึ่งเป็นสปีชีส์หนึ่งของทุเรียนป่า เราเอาทุเรียนบ้านคัดพัฒนาพันธุ์เรื่อยมา จนเป็นทุเรียนปัจจุบัน แต่ลักษณะเด่นของทุเรียนก็ยังปรากฏชัดอยู่ คือเปลือกที่มีหนามแหลม คนพื้นเมืองในเกาะบอร์เนียว สุมาตราจึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า ทุเรียน หรือ ดุเรียน ซึ่งแปลว่า ผลไม้ที่มีหนาม ปัจจุบันก็ยังเรียกชื่อนี้กันอยู่

อันที่จริงทุเรียนเป็นพืชวงศ์เดียวกับต้นนุ่นและต้นงิ้ว แต่สภาพแวดล้อมต่างกัน ทำให้ลักษณะต่างกันไป งิ้วกับนุ่นชอบแล้ง เจอน้ำท่วมตายแน่ ส่วนทุเรียนชอบชื้น เจอแล้งตายแห้งเลย แต่ถึงจะชอบชื้นถ้าเจอน้ำท่วมก็ตาย พืช 3 ชนิดนี้แม้จะเป็นวงศ์เดียวกัน แต่เกิดคนละที่ ต้นงิ้วเกิดแถวเมืองไทยมีมาก ส่วนนุ่นมีถิ่นกำเนิดที่อเมริกาใต้ สำหรับทุเรียนถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปเอเชีย ในพื้นที่ร้อนชื้น ชื้นมากๆ ทุเรียนต้องการพื้นที่ชื้นแต่ไม่แฉะ ไม่แล้ง ซึ่งเป็นสภาพภูมิประเทศแถวบอร์เนียวและสุมาตราพอดี แถวเขตศูนย์สูตรซึ่งมีลักษณะชื้นมาก ร้อน และชื้นจัด เหมาะแก่สภาพการปลูกทุเรียน”

คนไทยกินทุเรียนมาตั้งแต่เมื่อใด
“แม้จะไม่มีบันทึกชัดเจนว่าคนไทยกินทุเรียนตั้งแต่เมื่อใด แต่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ช่วงที่ลาลูแบร์ล่องเรือขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อเข้าไปที่พระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา สองฝั่งน้ำที่เป็นสวนผลไม้ก็มีทุเรียนอยู่ด้วย ฝั่งธนบุรี บางกอก ปลูกทุเรียนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่อยุธยาปลูกไม่ได้เพราะน้ำเหนือหลากลงมาท่วมทุกปี ฝั่งธนน้ำไม่ลึก เป็นพื้นที่น้ำเค็มขึ้นถึง เขาเรียกว่าดินลักจืดลักเค็มทำให้คุณภาพของทุเรียนดี คือผลไม้ถ้าขึ้นในดินที่น้ำเค็มขึ้นถึงหรือน้ำกร่อยขึ้นถึง รสชาติจะดีเพราะแร่ธาตุครบ สวนโบราณจึงอยู่ในเขตนี้ทั้งหมด ลึกสุดก็คือนครชัยศรี

คนสมัยก่อนไม่รู้จักใส่ปุ๋ย เขาใช้กันแต่ดินธรรมชาติ ดังนั้น ผืนดินในเขตที่น้ำทะเลขึ้นถึง น้ำกร่อยขึ้นถึง จึงมีแร่ธาตุมาก ทำให้ผลไม้มีรสชาติดี นั่นทำให้สวนโบราณตั้งแต่เขตนครชัยศรี ลงไปจนถึงอัมพวาเป็นสวนที่มีคุณภาพ ทางฝั่งน้ำเจ้าพระยาก็ขึ้นไปถึงนนทบุรี ปทุมธานี จะปลูกผลไม้ได้รสชาติดี นี้แหละทำให้สวนสมัยก่อนต้องเป็นเขตที่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยขึ้นถึง เมื่อดินดี แร่ธาตุจากน้ำกร่อยสมบูรณ์ สวนผลไม้จะสมบูรณ์ไปด้วย สวนทุเรียนที่อยู่ย่านบางกอก บางพลัด นนทบุรี อุดมสมบูรณ์มาก ก็เพราะ 1. ชื้นพอเหมาะถึงแม้น้ำท่วมก็ท่วมไม่ลึก 2. น้ำกร่อยขึ้นถึงได้แร่ธาตุสมบูรณ์

ทุเรียนจึงเอาไปปลูกอยุธยาไม่ได้ ปลูกได้ก็บางที่แต่รสดีสู้ปลูกทางบางกอกไม่ได้ เพราะอยุธยาเป็นที่ดอน น้ำกร่อยขึ้นไม่ถึง ผลไม้จะมีรสชาติดีสู้ทางฝั่งธนไม่ได้ ทุเรียนฝั่งธน บางกอก บางพลัด นนทบุรีจึงปลูกกันมาหลายร้อยปี ได้รับการคัดพันธุ์ พัฒนาพันธุ์มายาวนานมาก”

สุกคาต้นจึงจะได้รสชาติ
จากที่ดิฉันเคยลงทำงานภาคสนามในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ดิฉันพบว่าทุเรียนภาคใต้และทุเรียนตะนาวศรีที่ได้เห็น ได้กินมา จะเป็นทุเรียนพื้นเมืองชนิดต้องสุกคาต้น รอให้ร่วงมาถึงจะเก็บไปกินได้ แตกต่างจากทุเรียนในแถวเขตภาคกลางแถวบางกอก บางพลัด ย่านฝั่งธน นนทบุรี แล้วสาเหตุใดเล่าที่ทำให้เกิดพัฒนาการแตกต่างกัน ในประเด็นนี้ อาจารย์เดชา กล่าวว่า

“นั่นแล้วแต่ทักษะของชาวสวน ต้นรากถิ่นกำเนิดจริงๆ ของทุเรียนภาคกลางก็คือทุเรียนป่าเช่นเดียวกับทุเรียนภาคใต้ กับทุเรียนตะนาวศรี ดังนั้น แต่เดิมก็คือทุเรียนป่าที่คนเก็บมากิน มาปลูกอยู่แถวๆ บ้าน พอได้เมล็ด ต้นไหนอร่อยก็ปลูกต่อๆ กันไป ครั้นปลูกไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งหลากหลายคุณภาพ เพราะแต่เดิมปลูกด้วยเมล็ดไม่ใช่กิ่งตอน คุณภาพของแต่ละต้นจึงไม่เหมือนกัน หลากหลายรสชาติ เมื่อเอาทุเรียนมาปลูกที่ภาคกลางของไทย พบว่าต้นไหนอร่อย ชาวสวนก็จะขยายพันธุ์ด้วยการตอน วิธีนี้ทำให้ผลไม้ไม่กลายพันธุ์ แล้วยิ่งปลูกต่อไปอีกก็จะยิ่งดีขึ้น ชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นเป็นแม่พันธุ์ต่อไปอีก พัฒนาการของทุเรียนก็จะขยายไปจากต้นที่ดี แล้วก็ถูกคัดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ พอได้พันธุ์ที่คัดมาอร่อยคงที่แล้ว เขาก็เอาเป็นต้นแม่พันธุ์ไป ใช้กิ่งตอนไปก็จะไม่เปลี่ยนรสชาติ ไม่กลายพันธุ์ ที่ชาวสวนภาคกลางมีพัฒนาการในการปลูกผลไม้มากกว่าคนภาคอื่น เพราะ

เขามีความชำนาญมากกว่าคนภาคอื่น สั่งสมความรู้ความชำนาญมาหลายร้อยปี ตอนกิ่งผลไม้ได้คล่องมากๆ
เขาคัดคุณภาพรสชาติได้เก่งมาก เพราะสามารถขายได้ในราคาแพง ภาคกลางเป็นเขตเมืองหลวง คนรวย ฐานะดี ชนชั้นเจ้า ขุนนางมีเงินที่จะซื้อของดีของอร่อยกินได้ ราคาแพงเท่าไรก็ซื้อได้ ยิ่งขายได้แพงขึ้นก็ยิ่งขยายพันธุ์ต้นเฉพาะต้นที่ดีๆ ต้นไม่ดีก็ไม่เอา โค่นทิ้งไปได้เลย ส่วนทางบ้านนอก ทางต่างจังหวัดปลูกกินเองยังไงก็ได้ ต้นดีต้นไม่ดีมันก็อยู่ปนๆ กันไป

การคัดพันธุ์ผลไม้ให้ไม่กลายพันธุ์คนสวนภาคกลางชำนาญมาก เขาใช้วิธีการตอนกิ่ง มันจะแน่นอน ส่วนการคัดโดยการเพาะเมล็ดมันจะออกมาหลากหลาย ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้นไหนดีที่สุดชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นมาขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง พอกิ่งตอนออกลูกมา ก็เอาเมล็ดไปคัดพันธุ์ต่อ ไปปลูกต่อแล้วตอนกิ่ง เก็บเมล็ดมาปลูกคัดพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ต้นลูกหลานที่ได้รสชาติดีกว่าต้นพ่อต้นแม่ เขาก็จะขยายต่อไปอีก วิธีการเช่นนี้ทำให้มีการยกระดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพสูง ทุเรียนพื้นบ้านในภาคกลางจึงไม่มีปลูก เพราะรสชาติสู้ทุเรียนคัดพันธุ์มาแล้วไม่ได้ ปกติทุเรียนพื้นบ้านมีเนื้อน้อย บางทีเนื้อยังหุ้มเมล็ดไม่มิดก็มี แกะเปลือกมาเห็นเมล็ดลอยเนื้อนิดเดียว หุ้มเมล็ดยังไม่มิด แต่พอคัดพันธุ์พัฒนาไป ลูกก็ใหญ่เนื้อก็เต็มไปหมด จนกระทั่งเมล็ดลีบเพาะไม่ขึ้น นี่คือวิธีการคัดเลือกและขยายพันธุ์ที่ดี ชาวสวนภาคกลางจะมีความชำนาญในการคัดพันธุ์มากกว่าคนภาคอื่น เขาสั่งสมความรู้ในสายตระกูลมาหลายร้อยปี และได้ปรับวิธีการคัดพันธุ์จนได้ทุเรียนที่ดีกว่าต้นกำเนิด

ดังนั้น แม้ทุเรียนจะมีถิ่นกำเนิดที่บอร์เนียวแล้วขึ้นมาทางภาคใต้ของไทย แต่อินโดนีเซียทั้งประเทศและภาคใต้ไทย ทุเรียนพื้นเมืองก็รสชาติสู้ทุเรียนภาคกลางไม่ได้ เพราะทักษะของชาวสวนภาคกลางสูงกว่าคนมาเลย์ คนอินโดนีเซีย และคนภาคใต้มาก ชาวสวนภาคกลางอยู่กับเมืองหลวง เขามีการศึกษา เขามีตลาดที่ดี มีทักษะที่ดี และพื้นที่เขาน้อย จะไปปลูกผลไม้สะเปะสะปะไม่ได้ เขาก็ปลูกให้ทุเรียนคุณภาพสูงๆ เข้าไว้ จะได้ขายราคาแพงๆ ชาวสวนภาคกลางไม่ได้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แต่ใช้คุณภาพเป็นตัวตั้ง แต่ที่อื่นพื้นที่มาก มีเรี่ยวแรงก็ปลูกเข้าไปมากๆ เก็บหามามากๆ ได้ต้นดีไม่ดีปนกันไปบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะว่าพื้นที่เยอะ แล้วก็ไม่ได้ขาย เก็บกินกันเอง อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างก็กินๆ ไป ถ้ารสชาติไม่ดีต้องเก็บขาย ก็ขายราคาถูกๆ ไป”

ฟังคำตอบจากอาจารย์เดชาแล้ว ดิฉันจึงตั้งข้อสงสัยถามต่อไปว่า ทุเรียนต้นหนึ่งออกผลมาจะมีคุณภาพทัดเทียมกับต้นพ่อต้นแม่ได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

“โดยปกติตามทฤษฎีถ้าเป็นพันธุ์ดีแล้ว โอกาสจะดีเท่าเดิมมันน้อย เพราะว่ามันดีอยู่แล้ว” อาจารย์เดชาตอบคำถาม ก่อนจะอธิบายรายละเอียดมากยิ่งขึ้นว่า

“สมมุติว่าเราเข้าไปในป่า หยิบผลไม้มาสักลูกหนึ่ง เอาเมล็ดไปปลูกต่อ โอกาสจะได้ผลรสชาติดีไม่ดี จะอยู่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง เพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้คัด แต่ถ้าเอาต้นที่ดีมาปลูกต่อโอกาสจะได้พันธุ์ดีจะน้อยลงไปมาก แค่ไม่เกิน 5% ที่แย่กว่าเดิมจะ 95% ดังนั้น ถึงแม่พันธุ์จะดี เอาไปปลูกด้วยเมล็ดต่อ 20 ต้น ก็จะได้แค่ 1 ต้นที่ดี เพราะแค่ 5% มันจะได้อยู่แค่นี้ ทักษะในการตอน การใช้กิ่ง จึงสำคัญในการขยายพันธุ์พืช ถ้าอยากได้พันธุ์เดิมเขาก็ไม่เอาเมล็ดมาปลูกหรอก เพราะ 1. การปลูกด้วยเมล็ด มีโอกาสกลายพันธุ์ถึง 95% และ 2. การปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาในการปลูกนานมาก กว่าจะรู้ผล ดังนั้น ชาวสวนจึงเอาต้นที่ดีมาขยายพันธุ์ด้วยการตอน ใช้กิ่งจากต้นแม่พันธุ์จะสะดวกกว่า

การตอนกิ่งใช้เวลาปลูกแค่ไม่เกิน 5-6 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่ปลูกเมล็ดต้องใช้เวลาถึง 10 ปี มันต่างกันครึ่งต่อครึ่งไปเลย การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน จึงเป็นทักษะที่ช่วยให้ชาวสวนพัฒนาขยายพันธุ์ผลไม้ได้มาก ถ้าปลูกแต่เมล็ดอย่างเดียวมันพัฒนาได้ยาก”

ชาวสวนไทยสั่งสมความรู้มาหลายร้อยปี
การที่ชาวสวนภาคกลางของไทยเก่งมาก พัฒนาทักษะการขยายพันธุ์พืชได้เชี่ยวชาญมาก น่าใคร่ครวญยิ่งว่าเกิดเพราะสาเหตุใด จะเนื่องจากชาวสวนภาคกลางของไทยมีเชื้อจีนด้วยหรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้ อาจารย์เดชา ให้คำตอบทันทีว่า

“ไม่ใช่เพราะชาวสวนไทยมีเชื้อสายจีนหรอกครับ แต่เดิมก่อนที่คนจีนจะเข้ามาในเขตภาคกลางของไทย ชาวสวนภาคกลางก็มีพัฒนาการสูงมากๆ อยู่แล้ว

เกษตรกรไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่พัฒนาต่ำสุดคือชาวไร่ ชาวไร่จะปลูกพืชไร่หลากหลายชนิดอยู่ไกลๆ ตามป่าตามดง คนกลุ่มนี้ความเป็นอยู่ก็แย่ ความรู้ก็ต่ำ มีชีวิตลำบาก กลุ่มที่มีพัฒนาการกลางๆ คือชาวนา ปลูกข้าว จะอยู่กันตามชนบทไกลจากตัวเมือง ชาวนาจะเป็นประชากรส่วนใหญ่เพราะข้าวเป็นอาหารหลัก ชาวนามักอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนใหญ่ของประเทศไทยมาแต่โบราณ สร้างสรรค์วัฒนธรรมชาวนา วัฒนธรรมชาวบ้านไทยโบราณจึงเป็นวัฒนธรรมบนฐานของชาวนา ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่พัฒนาสูงขึ้นมา

ก็จะไปอยู่ใกล้เมือง พื้นที่น้อย เขาจะปลูกผลไม้ เรียกว่าชาวสวนผลไม้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกสมุนไพร ปลูกหมาก ปลูกพลู ผลิตผลเหล่านี้ราคาดีกว่าพืชไร่ ราคาดีกว่าข้าวเมื่อชาวสวนไปอยู่ในเขตตัวเมือง มีพื้นที่น้อย เขาก็ต้องพัฒนาพื้นที่เขาให้ผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาดีมากๆ เพราะเอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ชาวสวนจึงชำนาญเรื่องพันธุ์พืช จะคัดเลือกพันธุ์จะขยายพันธุ์เก่ง แต่คนสวนเขาอยู่ใกล้เมือง เพราะฉะนั้น เขาก็ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือสูงๆ เพื่อไปเป็นข้าราชการ คนกลุ่มชาวสวนจะมีพัฒนาการสูงกว่าชาวนาชาวไร่มาก คือเขาจะเปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรไปเป็นข้าราชการหรือเป็นพ่อค้าง่ายมาก เพราะอยู่ใกล้เมือง การศึกษาก็ดี ชาวสวนถือเป็นเกษตรกรระดับสูง พื้นที่น้อยความชำนาญสูง ขายได้แพง และมีรายได้ดี ผลิตผลขายได้แน่นอน และเขายังอยู่ใกล้ความเจริญ เขาจะปรับฐานะตัวเองได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น