ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลสำหรับแตงกวาในช่วงแรก

ของต้นกล้านั้น ช่วง 15 วันแรก จะใช้อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลครึ่งลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร และอีก 20 วันนั้นค่อยเปลี่ยน โดยใช้อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร จนกว่าจะเก็บแตงกวาได้หมด ผลที่ได้รับ
1. สามารถเก็บได้ในปริมาณที่มากกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับใช้ปุ๋ยเคมี
2. ป้องกันไม่ให้หนอนและแมลงมารบกวน
3. ต้นแตงกวาที่ตายแล้ว สามารถฟื้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
4. เป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป
5. ปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม

ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลกับหน่อไม้ฝรั่ง เริ่มโดยการใช้ปุ๋ยน้ำในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้รดที่ต้นหน่อไม้ฝรั่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาตอนเย็น

ข้อมูลจากเกษตรกรที่ร่วมทดลองพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารเคมีในช่วงพักต้นจะเก็บได้ 1,000 กว่าบาท จำนวน 3 ไร่กว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลจะเก็บได้ 2,000 กว่าบาท และเมื่อใช้เคมีตอนปลูกใหม่ เมื่อใช้สารเคมีเก็บได้ประมาณ 50-100 บาท หลังจากใช้น้ำหมักชีวภาพเก็บได้ 500 กว่าบาท จำนวน 3 ไร่กว่า

ผลที่ได้รับ

1. รายได้เพิ่มจากปกติ ถ้าใช้สารเคมีจะได้ 1 เดือน เท่ากับ 60,000 กว่าบาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำแล้ว รายได้อยู่ที่ประมาณ 100,000 กว่าบาท

2. ต้นทุนลดลงหลายเท่าตัว เมื่อใช้สารเคมีจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 10,000 กว่าบาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลเหลือเพียงประมาณ 1,000 กว่าบาท เท่านั้น

3. ทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน

4. เพิ่มจำนวนปริมาณของหน่อไม้ฝรั่งมากขึ้น

5. ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น ซึ่งมีสภาพร่วนซุย สำหรับพื้นที่โดยเฉลี่ย 3 ไร่ จะใช้ปุ๋ยน้ำ 2 ลิตรครึ่ง แล้วผสมน้ำ 500 ลิตร

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทดลองใช้ปุ๋ยปลาร้ากับ มันสำปะหลัง ไผ่กิมซุ่ง พุทรา พริก มะเขือเปราะ หญ้าเลี้ยงสัตว์ ฝรั่ง ชวนชม ฯลฯ ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน จึงมั่นใจว่าน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้านี้สามารถใช้ได้ผลดีกับพืชทุกชนิดเพราะมีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป ทั้งยังปลอดภัยต่อร่างกายและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มผลผลิตแก่พืชทุกชนิดนั้น

เนื่องจาก ปุ๋ยปลาร้า เป็นการหมักปลาทะเลยาวนาน 8-10 เดือน ทำให้มีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และฮอร์โมนที่พืชต้องการครบถ้วน ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพธาตุอาหารพบดังนี้ สำหรับปริมาณสารอาหารที่พบในจุลินทรีย์น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้า ได้แก่ Aspratic acid 0.779%, Methionine 0.005%, Threonin 0.093%, Isoleucine 0.059%, Serine 0.145%, Phenylalanine 0.102%, Glutamic acid 8.014%, Lysine 0.39%, Proline 0.099%, Arginine 0.021%, Glycine 0.066%, Histidine 0.007%, Alanine 2.324%, Tyrosine 0.026%, Cystine 0.036%, TN 5.066%, Valine 0.241%, AN/TN 57.37%, pH 5.55%, P2O2 0.423%, K2O 0.894%, CaO3 3.420%, Bo 2.0%, MgO 0.517%, SO4 0.209%, Organic Matter 39.47%, Crude Protein 35.0% เป็นต้น

ดังนั้น หากเกษตรกรรายใด สนใจอยากลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน ขอแนะนำให้ลองใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือปุ๋ยปลาร้าดูบ้าง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ (032) 201-568

วิธีการทำปุ๋ยปลาหมักสูตร วท.
ปุ๋ยปลาหมักเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านขบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส

นอกจากนี้ ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรที่พบว่าปุ๋ยปลาหมักช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดี และช่วยเร่งการแตกยอดและดอกใหม่ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตของพืช

“หอยเชอรี่” เป็นศัตรูพืชสำคัญที่ทำลายข้าวในนา หากกำจัดโดยใช้สารเคมี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ ปู ปลา และสัตว์น้ำในแปลงนาตายไปด้วย หมอเกษตร ทองกวาว จึง แนะนำวิธีควบคุมและกำจัดหอยเชอรี่อย่างถูกวิธี

หอยเชอรี่ เข้ามาอาละวาดในนาข้าวของประเทศไทย จากที่เคยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีผู้เลี้ยงปลาตู้นำพันธุ์มาจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการนำมาเลี้ยงประดับในตู้ปลาและนำกลับไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมีปริมาณหอยเชอรี่มากเกินความต้องการ จึงมีผู้นำไปทิ้งลงในลำคลอง

หอยเชอรี่แพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ที่ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลาไล่เลี่ยกันพบว่า มีการระบาดเข้ากัดกินข้าวในนาอย่างหนักที่เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง และในปี 2537 ต่อเนื่องปี 2538 เกิดน้ำท่วมภาคกลางหลายจังหวัดเป็นเวลานาน ทำให้หอยชนิดนี้ระบาดทำลายนาข้าวครอบคลุมพื้นที่รวมถึง 60 จังหวัด ดังนั้น หอยเชอรี่จึงเป็นศัตรูของชาวนาอยู่ในอันดับต้นๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“หอยเชอรี่” เป็นหอยน้ำจืดชนิดหนึ่ง บางคนเรียกว่า หอยโข่งอเมริกาใต้ และเป๋าฮื้อน้ำจืด หอยเชอรี่มีรูปร่างคล้ายหอยโข่ง สีเปลือกมีทั้งสีน้ำตาลอ่อน และสีเขียวอมดำ ส่วนของเนื้อหอยมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ขนาดหอยเต็มวัย เมื่ออายุ 3 เดือน จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5 เซนติเมตร

เพศเมียหลังผสมพันธุ์แล้วมีนิสัยชอบวางไข่เหนือระดับผิวน้ำ เป็นกลุ่มสีชมพู จำนวนกลุ่มละ 400-3,000 ฟอง ต่อครั้ง ในช่วงฤดูฝนสามารถวางไข่ได้ 10-14 ครั้ง ไข่จะฟักออกเป็นตัว ภายใน 7-12 วัน เมื่อฟักออกจะทิ้งตัวตกลงในน้ำ หากินสาหร่ายสีเขียวเป็นอาหาร ช่วงนี้ลูกหอยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีขนาด 1.6 เซนติเมตร จะเริ่มกัดกินต้นกล้าข้าวเป็นอาหาร ที่ระดับใต้ผิวน้ำลงไปประมาณ 1 นิ้ว ทำให้ลำต้นขาดหักล้มลอยอยู่ผิวน้ำ

หอยเชอรี่จะเข้ากัดกินทุกส่วนที่เหลือจนหมด คิดเฉลี่ยประมาณที่กินอาหารในแต่ละวันไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว นอกจากหอยเชอรี่เข้ากัดกินข้าวเป็นอาหารแล้ว ยังกัดกินผักบุ้ง ผักกระเฉด บัว ผักตบชวา และกระจับ เป็นอาหารได้อีกด้วย

วิธีป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้สารเคมีที่มีพิษรุนแรงเกินความจำเป็น ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น คุณชมพูนุท จรรยาเพศ นักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร แนะว่า ให้ใช้ตาข่ายไนล่อนตาถี่กรองน้ำระหว่างระบายหรือสูบน้ำเข้านา ป้องกันตัวอ่อนหรือไข่หอยเชอรี่ลอยไปกับน้ำและเก็บทำลาย ปักซี่ไม้ไผ่ที่ขอบคันนาห่างกันทุกๆ 5-8 เมตร เพื่อล่อให้หอยมาวางไข่ทิ้งไว้ หมั่นเก็บทำลาย หรือนำไปทำปุ๋ยน้ำหมัก

หากพบหอยและไข่หลงเหลือในแปลงนาให้ใช้สวิงตาถี่ช้อนเก็บออกจากแปลง นำไปทำลายทิ้งหรือทำปุ๋ยน้ำหมักและหากพบการระบาดรุนแรงให้ใช้นิโคลซาไมด์ มีชื่อการค้าว่า ไบลุสไซด์ 70 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ละลายน้ำ 1-2 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้เมทัลดีไฮด์ ชื่อการค้า แองโกล-สลั้ก 5 เปอร์เซ็นต์ หว่านลงในแปลงนา อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้กากชาบดละเอียด หว่านในแปลงนา อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้คอปเปอร์ซัลเฟต อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่ ละลายน้ำฉีดหรือใช้บัวรดน้ำ รดให้ทั่วแปลง

คำเตือนในการใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่ ให้ใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงครั้งเดียวในหนึ่งฤดูปลูก การใช้สารเคมีต้องมีน้ำในนาลึก 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย และไม่ควรใช้สารเคมีในวันที่มีฝนตก ประการสำคัญ การกำจัดหอยเชอรี่ห้ามใช้สารเอ็นโดซัลแฟนอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำลายสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรทุกท่านร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการดังกล่าว เพื่อลดปัญหามลพิษในไร่นาให้บรรเทาเบาบางลงหรือหมดไปในที่สุด ขอบคุณที่ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำ

แตงไทย จัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น แตงไทยเป็นผลไม้มีฤทธิ์เย็น ช่วยในการดับกระหาย คลายร้อน คงหนีไม่พ้น แตงไทย กินผลสดๆ ก็รู้สึกถึงความสดชื่น ความหวาน กรอบจากเนื้อแตงไทย หรือจะนำไปประกอบเมนูขนมหวานอย่าง ลอดช่องแตงไทยน้ำกะทิ ก็ถือว่าเป็นเมนูคลายร้อนสุดฮิตตลอดกาล นอกจากนี้ แตงไทยยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์อย่างมากมาย เช่น ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยดับความร้อนในร่างกาย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงสมองและประสาท บำรุงสายตา และช่วยบำรุงน้ำนมของมารดาให้นมบุตร

คุณทิพวรรณ รัตนะชัย อายุ 42 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่บ้านบ่อคู่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ปัจจุบัน คุณทิพวรรณ ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกแตงไทย คุณทิพวรรณ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้มีอาชีพเป็นกษตรกร แต่เดิมทีมีอาชีพเป็นครูสอนชาวต่างชาติทำอาหารไทย ที่โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สนุก ได้พบเจอกับผู้คนมากมายหลายประเทศ

ทำให้คุณทิพวรรณ ได้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและทางวัฒนธรรม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่ไทยมากนัก จึงทำให้ธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารต้องแบกรับภาระต่างๆ ไว้มาก จนสุดท้ายโรงเรียนสอนทำอาหารแห่งนี้ก็ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้คุณทิพวรรณขณะนั้นไม่มีรายได้จากงานประจำที่ทำอยู่ คุณทิพวรรณจึงได้ตัดสินใจคุยปัญหานี้กับครอบครัว สุดท้าย คุณทิพวรรณก็ได้คำตอบกับปัญหานี้ว่า “ฉันจะกลับไปช่วยงานพี่สาวคนโตที่ต่างจังหวัด อย่างน้อยก็มีอะไรที่ฉันพอช่วยเหลือเขาได้บ้าง”

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคุณทิพวรรณในอาชีพเกษตรกร เมื่อคุณทิพวรรณได้มาช่วยงานเกษตรในไร่ของพี่สาว ก็ทำให้เกิดความคิดว่า พื้นที่ว่างเปล่าในไร่ที่ยกร่อง ถ้าหากปลูกผลไม้ไว้ตามร่องได้น่าจะดี คงมีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ และยังใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ในวันนั้นคุณทิพวรรณจึงได้ไปหาข้อมูลว่าตนจะปลูกอะไรดี ที่ใช้ระยะเวลาปลูกไม่นานก็ได้ผลผลิต และราคาดีเป็นที่ต้องการของตลอด คุณทิพวรรณจึงได้ข้อสรุปว่าตนเองจะปลูกแตงไทย เพราะระยะเวลาในการปลูกสั้น เพียง 50-60 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว สายพันธุ์ที่เลือกปลูกคือ แตงไทยสายพันธุ์สิงคโปร์ เพราะสายพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาด และแตงไทยสายพันธุ์น่าน สายพันธุ์นี้ถูกนิยมเป็นอันดับ 2 ของตลาดที่ต้องการ

จุดเด่นแตงไทยสายพันธุ์สิงคโปร์ คือ รสชาติหวาน เนื้อด้านในเป็นสีเขียว มีเนื้อที่เหนียว ผิวด้านนอกหนามีสีเขียวเข้ม จะมีลายที่เด่นชัด จุกเขียว เรียวเล็ก เมื่อผลผลิตสุกเนื้อด้านในและผิวด้านนอกจะไม่แตก ใช้ระยะเวลาในการปลูก 60-70 วัน จึงสามารถเห็นผลผลิตได้ น้ำหนักต่อลูกไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม เพราะเป็นน้ำหนักที่ตลาดต้องการ สามารถขายได้ในราคาที่ดี นิยมปลูกฤดูฝน เพราะสายพันธุ์นี้ชอบน้ำ เนื่องจากมีเปลือกที่หนา จึงทำให้ศัตรูพืชอย่างหนอนดินในฤดูฝนไม่สามารถกัดกินได้

จุดเด่นแตงไทยสายพันธุ์น่าน คือ รสชาติหวาน เนื้อด้านในมี 2 ชั้น เป็นสีส้มและมีขอบเนื้อด้านนอกเป็นสีขาว เนื้อจะค่อนข้างซุย ไม่แน่น ผิวด้านนอกไม่หนา มีสีส้ม ไม่มีลาย จุกใหญ่ ยาว เมื่อผลผลิตสุกเนื้อด้านในและผิวด้านนอกจะแตก ใช้ระยะเวลาในการปลูก 50-55 วัน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ น้ำหนักต่อลูกไม่ควรเกิน 2-7 กิโลกรัม นิยมปลูกในฤดูแล้ง เพราะสายพันธุ์นี้มีเปลือกที่ค่อนข้างบาง หากปลูกในฤดูฝนจะถูกหนอนดินกัดกินเสียหายได้

คุณทิพวรรณ เริ่มการปลูกแตงไทยในพื้นที่ยกร่องของไร่อ้อยคั้นน้ำของพี่สาว ผลผลิตที่ออกมาในครั้งแรกก็ได้ผลผลิตที่ดีเกินคาด ทำให้คุณทิพวรรณมีรายได้จากการปลูกแตงไทยในรูปแบบสวนผสมผสาน เมื่อมีกำไรจากการขายแตงไทย คุณทิพวรรณจึงนำเงินจำนวนหนึ่งไปเช่าพื้นที่ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อทำการเพาะปลูกแตงไทยอย่างจริงจัง

คุณทิพวรรณ กล่าวว่า การปลูกแตงไทยในสวนผสมผสาน คุณทิพวรรณมีหลักการในการปลูกคือ ใส่เมล็ดพันธุ์ 5 เมล็ด ต่อ 1 หลุม ความห่างระยะหลุมอยู่ที่ 70 เซนติเมตร ที่กำหนดระยะห่างเท่านี้เพื่อให้แตงไทยเมื่อออกผลผลิตแล้วมีใบของเขาเองช่วยปกคลุมแสงแดด แต่เมื่อได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกในพื้นที่ไร่ที่มีเฉพาะปลูกแตงไทยวิธิการปลูกจึงไม่เหมือนกัน

การเตรียมแปลงปลูก แตงไทยสายพันธุ์สิงคโปร์ ระยะหลุม 70 เซนติเมตร ต่อ 1 หลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ 5 เมล็ด ต่อหลุม หน้ากว้าง 1.50 เมตร ไม่เกิน 1.80 เมตร เมื่อแตงไทยเริ่มมีต้นงอกออกมา คัดออกให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น ต่อ 1 หลุม รดน้ำในการปลูกวันแรกให้ชุ่ม หลังจากนั้นรดน้ำเพียง 3 วัน 1 ครั้ง หรือดูจากสภาพอากาศที่เหมาะสม

การเตรียมแปลงปลูก แตงไทยสายพันธุ์น่าน ระยะหลุม 1-1.20 เมตร ต่อ 1 หลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ 5 เมล็ด ต่อหลุม หน้ากว้าง 2 เมตร สาเหตุที่สายพันธุ์นี้ต้องมีระยะห่างที่มากกว่า เพราะมีเถาที่ใหญ่ ผลผลิตออกห่างจากโคนต้น เมื่อแตงไทยเริ่มมีต้นงอกออกมา คัดออกให้เหลือหลุมละ 3 ต้น ต่อ 1 หลุมเท่านั้น เพราะเมื่อติดลูกแล้ว แตงไทยจะโดนแดดไม่ได้ เพราะมีเปลือกที่ค่อนข้างบาง อาจจะทำให้ลูกแตกได้ และมีรสชาติความหวานที่ไม่คงที่ รดน้ำในการปลูกวันแรกให้ชุ่ม หลังจากนั้นรดน้ำเพียง 3 วัน 1 ครั้ง หรือดูจากสภาพอากาศที่เหมาะสม คุณทิพวรรณ กล่าวว่า หากปลูกแตงไทยไม่ว่าสายพันธุ์ไหนถ้าใบไม่สามารถปกคลุมผลผลิตได้ ก็สามารถใช้ฟางมาปกคลุมบางๆ แทนได้ เพื่อบังแดด

คุณทิพวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบัน ตนเองมีรายได้จากการปลูกแตงไทยหลักหมื่นบาทต่อเดือน ทำให้ตนเองสามารถดูแลครอบครัวต่อไปได้ “ทุกอุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน มันจะมีแสงสว่างเล็กๆ อยู่เสมอ อยู่ที่ตัวเราจะลงมือทำเพื่อลองกับสิ่งนั้นหรือไม่ หากประสบความสำเร็จ นั่นคือกำไรของชีวิต หากไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำอย่างสุดความสามารถแล้ว อยากให้เกษตรกรไทย และทุกๆ อาชีพ สู้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน”

ความนิยมในการปลูกพืชแบบผสมผสานแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ เหตุผลสำคัญที่หลีกเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะหากเกิดปัญหาใดที่ทำให้กิจการภายในพื้นที่เพาะปลูกดำเนินต่อไปไม่ได้ นั่นหมายถึง ต้องยุติการทำการเกษตรลงชั่วคราวหรือถาวร และเหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ คุณอำนาจ ศรีชุ่ม เกษตรกรชาวสวน ตัดสินใจปลูกพืชแบบผสมผสานไว้ในแปลงเดียวกัน

คุณอำนาจเป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยกำเนิด เกิดและเติบโตมากับการทำสวนหลายชนิด โดยเฉพาะสวนไม้ผลที่เป็นผลไม้นิยมและขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรี อาทิ ทุเรียน กระท้อน เงาะ ส้มโอ มังคุด ทำให้ประสบการณ์การดูแลสวนไม้ผลแทรกซึมเข้าร่างกายอย่างปฏิเสธไม่ได้

พื้นที่ทำสวนไม้ผลของคุณอำนาจมีหลายแปลง แต่แปลงหนึ่งที่น่าสนใจ มีพื้นที่ 32 ไร่ ไม้ผลที่ปลูกเป็นหลักมี 3 ชนิด ได้แก่ กระท้อน ทุเรียน และไผ่ตง แต่ยังผสมผสานไปด้วย มังคุด เงาะ มะยงชิด มะปรางหวาน และไม้ประดับในกลุ่มจันทน์ผา

แต่ในที่นี้ คุณอำนาจแนะนำไม้ผลเพียงชนิดเดียวคือ กระท้อน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดกว่าไม้ผลชนิดอื่นที่มีอยู่

“เดิมผมซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อปลูกไผ่ตง เพียง 2 ปี ไผ่ตงออกดอก นั่นหมายถึงไผ่ตงเจริญเติบโตเต็มที่และสุดท้ายก็ตาย ทำให้ผมต้องเปลี่ยนเป็นปลูกไม้ผล ในระยะแรกปลูกทุเรียนบ้าง เงาะบ้าง มังคุดบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดปัญหาราคาตกต่ำ”

กระท้อน เป็นไม้ผลชนิดที่ไม่อยู่ในสายตาคุณอำนาจ กระทั่งในยุคที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระท้อน เป็นไม้ผลชนิดเดียวในละแวกนั้นที่สร้างรายได้ให้เห็น จากเหตุผลเดิมที่คุณอำนาจเห็นว่ากระท้อนเป็นไม้ผลที่มีความยุ่งยากในขั้นตอนการปลูกและดูแล กลับกลายเป็นกระท้อนเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ หากผู้ปลูกให้ความใส่ใจในการดูแล

กระท้อนทั้งหมดในแปลงมีประมาณ 150 ต้น เป็นไม้ผลจำนวนมากที่สุดของแปลง รองลงมาเป็นทุเรียน และไผ่ตง เมื่อคุณอำนาจตัดสินใจปลูกกระท้อน จึงมองหาสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม เพื่อประโยชน์ทางการตลาด จึงเลือกสายพันธุ์อีล่าและปุยฝ้าย

อีล่าเป็นสายพันธุ์หนัก มีผลใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ เมื่อแก่จัดเปลือกนอกจะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกบาง เนื้อเป็นปุยสีขาว นิ่มมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว ออกผลช้า เก็บผลผลิตขายได้ราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

ปุยฝ้ายเป็นสายพันธุ์เบา เป็นกระท้อนผลใหญ่ ทรงกลมแป้น ผิวผลเนียนละเอียด จับดูนิ่มเหมือนกำมะหยี่ เนื้อในเป็นปุยสีขาว รสหวานสนิท เก็บผลผลิตขายในช่วงเดือนมิถุนายน

สาเหตุที่เลือก 2 สายพันธุ์นี้ คุณอำนาจ บอกว่า เพราะสามารถเก็บผลผลิตขายได้เรื่อยๆ โดยเริ่มเก็บพันธุ์ปุยฝ้ายขายก่อน เพราะให้ผลผลิตก่อน เมื่อพันธุ์ปุยฝ้ายเริ่มน้อยลง ก็สามารถเก็บพันธุ์อีล่าขายได้ ทำให้มีกระท้อนขายต่อเนื่องหลายเดือน นอกจากนี้ ทั้ง 2 สายพันธุ์ หากได้รับการดูแลอย่างดี เพียง 2-3 ปี ก็ให้ผลผลิตเก็บขายได้แล้ว

การปลูกและการดูแล คุณอำนาจ บอกว่า ไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ส่วนการดูแลไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการห่อผลกระท้อนที่ควรทำ เพื่อให้ได้ผลกระท้อนที่ผิวสวย ขายได้ราคา การปลูก ระยะห่างระหว่างต้นอย่างน้อย 12 เมตร ส่วนระยะห่างระหว่างแถว ผู้ปลูกควรพิจารณาเอง แต่ควรให้มีระยะห่างมาก เพราะกระท้อนเป็นไม้ผลทรงพุ่ม หากปลูกระยะชิดมากจะทำให้ต้นสูง เมื่อต้องห่อผลกระท้อนจะทำได้ยาก

การให้น้ำ มีความสำคัญกับไม้ผลทุกชนิด กระท้อนก็เช่นกัน คุณอำนาจ แนะนำว่า การให้น้ำกระท้อน ควรเปิดสปริงเกลอร์วันละประมาณ 45 นาที ทุกวัน ให้น้ำชุ่มพื้น เป็นการรักษาความชื้นไว้ ไม่ควรให้ดินในสวนแห้ง แม้ฤดูฝนที่มีฝนตกต่อเนื่องทุกวัน ก็ยังคงให้น้ำตามเดิม

ปุ๋ย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำเกษตรกรรม คุณอำนาจให้ปุ๋ยตามระยะเวลาที่ควรให้ โดยจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ก่อนออกดอก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสะสมอาหาร และใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หลังติดผล เพื่อเร่งผลให้เจริญเติบโต

ขั้นตอนที่ดูเหมือนจะยุ่งยากที่สุดคือ ขั้นตอนการห่อผลกระท้อน

คุณอำนาจ อธิบายว่า ความยุ่งยากของการห่อผลกระท้อน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่แรงงานห่อผลกระท้อนต่างหากที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานห่อกระท้อนหายาก แม้จะเพิ่มค่าแรงห่อกระท้อนให้ตามกฎหมายแรงงานแล้วก็ตาม

การห่อผลกระท้อน เริ่มขึ้นหลังเริ่มติดผลผลิตประมาณ 1-2 เดือน สังเกตผลกระท้อน หากกิ่งใดมีผลกระท้อนมาก 2-3 ผล ต้องพิจารณาปลิดทิ้ง เพื่อให้ผลเจริญเติบโตดี

ใช้ถุงห่อกระท้อน ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปห่อ มัดปากถุงห่อด้วยตอก

ประมาณ 4-5 เดือนนับจากติดผล สังเกตผลกระท้อนที่ไม่ได้ห่อ หากบริเวณก้นของผลไม่มีสีเขียวเลย นั่นหมายถึง รสชาติดี นำไปจำหน่ายได้

ราคาค่าจ้างห่อกระท้อน อยู่ที่ ร้อยละ 50-60 บาท สมัคร UFABET ถุงห่อกระท้อน ราคาร้อยละ 45 บาท ตอกมัดถุงห่อกระท้อน ราคาร้อยละ 2 บาท คุณอำนาจ แนะนำด้วยว่า หากต้องการราคาถูกกว่านี้ ควรซื้อถุงห่อกระท้อนและตอก หลังจากกระท้อนหมดฤดู

การเก็บผลกระท้อน จำเป็นต้องจ้างแรงงานเช่นกัน โดยราคาจ้างเก็บอยู่ที่ กิโลกรัมละ 2 บาท

โรคและแมลงในกระท้อน ไม่พบบ่อยนัก คุณอำนาจบอก

“โรคและแมลง มีหนอนกินใบ ที่พบในฤดูฝน ถ้าพบน้อยก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ธรรมชาติดูแล ส่วนใหญ่สวนผมไม่ค่อยฉีดยาฆ่าแมลง ตั้งแต่ปลูกมา 15 ปี ยังไม่พบโรคและแมลงที่รุนแรงถึงกับต้องฉีดยาฆ่าแมลง”

คุณอำนาจ เล่าว่า กระท้อนผลใหญ่จะจำหน่ายได้ราคาดีกว่าผลเล็ก ซึ่งหากห่อผลให้ผิวสวยและปลิดผลที่ดกเกินความจำเป็นทิ้ง จะได้ผลกระท้อนใหญ่ น้ำหนักดี อาจได้กระท้อนน้ำหนักผลละ 1 กิโลกรัมทีเดียว

“ผลผลิตที่เคยได้ต่อต้นอยู่ที่ 200 กิโลกรัม และกระท้อนจะให้ผลผลิตไปเรื่อยๆ หากดูแลดี” คุณอำนาจ กล่าว

สำหรับตลาดจำหน่ายกระท้อน คุณอำนาจตัดพ่อค้าคนกลางออก โดยมีแผงผลไม้จำหน่ายเอง ริมถนนสายปราจีนบุรี-ประจันตคาม ราคาขายตามแต่ปริมาณผลผลิต

“กระท้อน เป็นพืชที่ผมไม่คิดจะปลูก แต่เมื่อได้ปลูกก็ทำให้ทราบว่า เป็นไม้ผลที่ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร มีปัญหาเดียวที่ต้องแก้ไขคือ ปัญหาแรงงานห่อกระท้อนที่หายาก หากหมดปัญหานี้ไปแล้ว กระท้อนเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่ผมแนะนำให้ปลูก”

ประสบการณ์ปลูกไม้ผล สำหรับคุณอำนาจไม่ได้มีเฉพาะการปลูกกระท้อนเท่านั้น บริเวณสวนยังมีไม้ผลชนิดอื่นไว้สลับสับเปลี่ยนจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ต้องการคำแนะนำการปลูกกระท้อน ติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 8 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี