ในกรณีหากมีผู้สั่งซื้อนอกเส้นทางที่ว่า มีวิธีการเดียวที่จะทำได้คือ

ต้องส่งอีเอ็มเอส ทำให้อัตราการรอดของกุ้งมีแค่ 60% เท่านั้น เพราะแม้จะแพ็กกุ้งใส่กล่องโฟมอย่างดี อัดน้ำ อัดก๊าซ ไปเต็มที่ หากเจออากาศร้อนก็มีปัญหากุ้งตายได้ ไม่เหมือนการส่งผ่านรถทัวร์ที่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะแจ้งรถทัวร์ได้ว่า อย่าไปตั้งลังโฟมในจุดที่มีความร้อน

ด้วยเหตุนี้เอง ทางคุณสัญชัยจึงคิดหาทางออก ด้วยการเตรียมไปเจรจากับทางบริษัทรถทัวร์ที่หาดใหญ่ เพื่อให้จัดส่งกุ้งฝอยไปทั่วประเทศได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น

ลูกค้าสั่งซื้อจากทั่วประเทศ

สำหรับการขาย กุ้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ขายตัวละ 1 บาท ประมาณ 150 ตัว ถึงจะได้ 1 ขีด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มักสั่งซื้อเพื่อไปทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บางคนสั่งซื้อไปให้ปลาสวยงามกิน หรือซื้อไปเพื่อใช้ตกปลา จะมีลูกค้าจากทั่วประเทศ อาทิ ภูเก็ต ตรัง สงขลา นราธิวาส สุพรรณบุรี ชุมพร และนครศรีธรรมราช ฯลฯ รวมทั้งจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานด้วย โดยสั่งครั้งละ 100-1,000 ตัว แต่มักจะสั่งซื้อซ้ำ ซึ่งทางฟาร์มไม่ได้เน้นขายเพื่อไปใช้ทำอาหารบริโภค เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ทัน

ในส่วนของรายได้ เจ้าของนาวาฟาร์มกุ้งฝอยกล่าวว่า มีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งจะมีเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากจับขายตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งมา ไม่ใช่เป็นการขายยกบ่อ และเท่าที่ทราบตอนนี้ก็ยังไม่มีคู่แข่งในท้องตลาด

ในฐานะคนที่อยู่ในวงการกุ้งฝอย หนุ่มใหญ่รายนี้มองตลาดกุ้งฝอยในอนาคตว่า ยังคงมีความต้องการอีกมาก เพราะกุ้งฝอยเป็นสัตว์น้ำที่คนชอบบริโภค ในทุกภาคของประเทศไทย และยิ่งในปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดเริ่มหายากมากขึ้น ประกอบกับการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมก็มากด้วย ทำให้พันธุ์กุ้งฝอยในแหล่งธรรมชาติลดน้อยลงมาก การเลี้ยงกุ้งฝอยจึงน่าจะไปได้ด้วยดี

สำหรับผู้สนใจที่จะเลี้ยงกุ้งฝอย คุณสัญชัย แนะนำว่า ขั้นแรกต้องมีใจรักก่อน และให้รู้ไว้เสมอว่า จะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีอะไรที่ไม่มีปัญหา แต่ให้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือหาคำปรึกษาจากผู้รู้ ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก นาวาฟิชชิ่ง เพจ นาวาฟาร์มกุ้งฝอย หรือจะมาติดต่อที่ฟาร์มเองก็ได้ เบอร์โทร. (089) 732-9659 นับว่าเป็นข้าราชการหนุ่มอีกคนที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ที่สำคัญเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้สบายๆ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ริเริ่มปฏิรูปการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ เพื่อสนองนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล โดยเริ่มจากการจัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา 2561 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา 2561 นั้น จะมีการบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นมิติใหม่ของการทำงานภาคการเกษตรที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมทำงานในระดับพื้นที่ มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เป็นการปรับสมดุลปริมาณการผลิตการตลาดของข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน

ทั้งนี้การที่เกษตรกรจะมีรายได้ที่มั่นคง จำเป็นต้องทำการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นทาง โดยเฉพาะการใช้เมล็ดพันธ์ดีมีคุณภาพในการเพาะปลูก ตามที่ ดร. บุญญานาถ นาถวงษ์ อุปนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ให้ข้อมูลว่า การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความสามารถเพียงพอที่จะผลิตได้ใกล้เคียงตามความต้องการของตลาด และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย มี พ.ร.บ. พันธุ์พืชเป็นตัวกำกับมาตรฐานในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทำให้เป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้า เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรใช้อยู่ จึงมีคุณภาพเทียบเท่ากับการส่งออก หากเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ซื้อตามรถเร่ เห็นแก่เพียงเมล็ดพันธุ์ราคาถูก ปลูกไปแล้วไม่ขึ้น ก็ไม่สามารถตามพ่อค้ารายนั้นกลับมาช่วยเหลือได้

จึงอยากให้เกษตรกรหันมาใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะมีราคา 600-800 บาท ในขณะที่รถเร่อาจขายเมล็ดพันธุ์ในราคา 300 บาท/กิโลกรัม แต่ผลผลิตที่ได้มามีความแตกต่าง ซึ่งผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ จะได้ปริมาณอยู่ที่ 1-1.2 ตัน/ไร่ ขณะที่เมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพ จะได้ 600-700 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งที่เกษตรกรต้องใช้วิธีการดูแลเฉกเช่นเดียวกัน

“สำหรับการสำรวจความต้องการเข้าร่วมโครงการมีเกษตรกรสนใจโครงการกว่า 117,062 ราย จำนวน 1,019477.75 ไร่ และขณะนี้มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแล้ว 87,606 ราย จำนวน 755,990.25 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 26.82% จากพื้นที่แปลงที่เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ธ.ค. 61) พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้แต่ละพื้นที่เตรียมจัดงานสาธิตการปลูกข้าวโพดหลังนา เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการปลูกตามสภาพพื้นที่ของตนเองต่อไป” นายสำราญ กล่าว

(6 ธันวาคม 2561 – หายเซือง เวียดนาม) บริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น ฉลองครบรอบ 25 ปี ที่เปิดดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม เข้ารับรางวัลเกียรติยศจากรัฐบาล ตอกย้ำปรัชญาการดำเนินธุรกิจ “3 ประโยชน์” ส่งผลกิจการเติบโตต่อเนื่อง

นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่นเข้าร่วมพิธีมอบเหรียญอิสริยาภรณ์แรงงาน ชั้น 3 ซึ่งเป็นรางวัลที่ประธานาธิบดีเวียดนามมอบให้บริษัท เพื่อยกย่องผลงานการมีส่วนร่วมพัฒนาประชาชนชาวเวียดนามให้ได้รับความรู้ ได้รับอาชีพ และเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเวียดนาม ตอกย้ำความสำเร็จของปรัชญาดำเนินธุรกิจ 3 ประโยชน์ นั่นคือ ธุรกิจที่ทำต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ไปลงทุน ประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศนั้น และประโยชน์ต่อบริษัท รางวัลนี้สร้างพลังและกำลังใจให้แก่ทุกคนในบริษัทเป็นอย่างมาก

“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ ซี.พี.เวียดนามเข้ามาดำเนินธุรกิจ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างดียิ่ง ขอบคุณเกษตรกรที่ร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อประชาชน ขอบคุณเพื่อนพนักงานที่ร่วมสร้างบริษัทมาจนถึงวันนี้ ตลอดจนขอขอบคุณผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของเราด้วยดี การทำธุรกิจอย่างครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์-ฟาร์มเลี้ยงสัตว์-อาหารแปรรูป (Feed-Farm-Food) ตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้นสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชนชาวเวียดนามนับแสนครอบครัวขณะเดียวกัน บริษัทยังเป็นบริษัทดีเด่นที่ชำระภาษีรายได้ให้แก่รัฐบาลเวียดนามทุกปีติดต่อกันระดับรายได้ของ ซี.พี.เวียดนามและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามผ่านกิจการต่างๆ ของบริษัทนี้ส่งผลถึงรายได้รวมของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่องด้วย” นายมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทของไทย ที่เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัท ตั้งแต่ปี 1993 โดยดำเนินธุรกิจเกษตรปศุสัตว์และอาหารครบวงจร ครอบคลุมทั้งธุรกิจสัตว์บกและธุรกิจสัตว์น้ำ ปัจจุบัน ซี.พี.เวียดนาม มีบุคลากรทั้งหมดกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวเวียดนามถึง 98.72% ซึ่งบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้พนักงานชาวเวียดนามเติบโตสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ได้จัดตั้ง “กองทุนซี.พี.เวียดนามเพื่อการกุศล” (CPV’s Donation Fund) เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการบริจาคโลหิตที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 โดยมียอดรับบริจาคโลหิตรวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ยูนิต (ประมาณ 62 ล้านซีซี) เป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากรัฐบาลและประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการหน่วยแพทย์อาสาและโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ อีกหลายโครงการ

นาง เล เหยิด ถุ่ย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ประธานกองทุน ซี.พี.เวียดนาม เพื่อการกุศล กล่าวว่า เดิมทีชาวเวียดนามมีความเชื่อที่จะไม่ให้เลือดของตนแก่คนนอกครอบครัว แต่โครงการบริจาคโลหิตที่ ซี.พี.เวียดนามเป็นผู้รณรงค์ส่งเสริมนั้นสามารถเปลี่ยนความเชื่อดังกล่าว กระทั่งสร้างประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขของเวียดนามเป็นอย่างมาก

พัฒนาเศรษฐกิจ…ยกระดับคุณภาพชีวิต
ซี.พี.เวียดนามมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 25 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมอันทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรส่งผลให้เกษตรกรชาวเวียดนามมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับการที่ประชาชนชาวเวียดนามมีปริมาณอาหารโปรตีนรับประทานได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปจำหน่ายยังนานาประเทศ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายจิรวิทย์ รชตะนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจฟาร์มสัตว์บก กล่าวว่า ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น มีผลผลิตสุกรในปี 2017 อยู่ที่ 5 ล้านตัว ผลผลิตไข่ไก่ราว 200 ล้านฟอง และผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อ 80,000 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกร ยกตัวอย่างธุรกิจสุกร ที่บริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรในระบบ Contract Farming เป็นจำนวน 2,410 ครอบครัว ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาระดับราคาสุกรในเวียดนามตกต่ำอย่างมาก จากปัญหาสุกรล้นตลาด แต่เกษตรกรทั้งหมดของบริษัทกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนทั้งหมดขณะที่เกษตรกรอิสระหลายรายต้องประสบภาวะขาดทุนและบางส่วนต้องเลิกกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไป

“นอกเหนือจากการทำฟาร์ม เรายังริเริ่มขยายระบบการจัดจำหน่ายเนื้อสุกรในรูปแบบของ “ร้านสุกร CP” (CP Pork shop) กระทั่งปัจจุบันสามารถขยายร้านได้แล้วถึง 546 สาขา ซึ่งเป็นการจัดจำหน่ายโดยผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง 100% เพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวเวียดนามตลอดจนเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยและการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” นายจิรวิทย์ กล่าวและว่า

สำหรับธุรกิจไก่เนื้อ ในเร็วนี้บริษัทจะเปิดโครงการเลี้ยงไก่แปรรูปครบวงจรเพื่อการส่งออก (เฟสแรก) เพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานในการส่งออกไก่แปรรูปไปยังประเทศต่างๆ โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิต 1 ล้านตัว/สัปดาห์ ภายใต้มาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยในระดับสากล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบย้อนกลับได้

ด้าน นายอดิศักดิ์ ต่อสกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ กล่าวเสริมว่า ในปีที่ผ่านมา ซี.พี.เวียดนาม ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำ ประเภทกุ้งและปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ไปยังประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน และยุโรป ในปริมาณถึง 20,000 ตัน .

ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งด้วยระบบ “C.P. Combined Model” โดยนำหลักการเลี้ยงกุ้งที่ดีและถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่างมารวมกันในสเกลเล็กเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มเลี้ยงกุ้งได้ ประกอบกับทางรัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเวียดนามไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรรายใหญ่ อุตสาหกรรมกุ้งของเวียดนามจึงประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน ความสำเร็จของโมเดลการเลี้ยงกุ้งในระบบ C.P. Combined Model นี้กำลังกลายเป็นต้นแบบให้ธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟในประเทศต่างๆ เข้ามาศึกษา และรับองค์ความรู้ไปพัฒนาในแต่ละประเทศด้วย” นายอดิศักดิ์ กล่าว

สำหรับธุรกิจแปรรูปอาหาร นายสุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารแปรรูปครบวงจร เปิดเผยว่า ซี.พี.เวียดนามเริ่มดำเนินการผลิตอาหารแปรรูปในปี 2010 โดยในปัจจุบัน ประกอบด้วยธุรกิจอาหารแปรรูป อาทิ ไส้กรอก ธุรกิจร้านค้าปลีก เช่น CP fresh mart และธุรกิจร้านอาหาร เช่น ธุรกิจห้าดาว

“กลุ่มอาหารแปรรูปที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนามคือ ไส้กรอก ซึ่งเรามีส่วนแบ่งตลาดถึง 20% และในปีหน้าจะเน้นส่งผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานสู่ตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก ซูชิ ติ่มซำ ไข่แปรรูปพร้อมรับประทาน และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานอื่นๆ โดยตั้งเป้าจะขยายส่วนแบ่งตลาดอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นส่วนห้าดาวก็เป็นธุรกิจอาหารสำเร็จรูปที่เติบโตด้วยดีในเวียดนาม โดยบริษัทสนับสนุนให้ชาวเวียดนามมีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจ ให้องค์ความรู้ด้านการจัดการ สนับสนุนการขายทุกอย่าง กระทั่งปัจจุบัน มีชาวเวียดนามเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจห้าดาว ถึง 500 ครอบครัว และจะเพิ่มเป็น 600 ครอบครัวในปีหน้า” นายสุพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น เป็นกิจการหนึ่งในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (Oversea Business) ที่ตลอด 25 ปีมีการสร้างคน สร้างทีมงานที่ดี และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นลำดับ นับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของซีพีเอฟ รวมถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งของพันธมิตรและการดำเนินโครงการเพื่อสังคม จนนำไปสู่การยอมรับจากรัฐบาลและประชาชนชาวเวียดนาม กระทั่งได้รับเหรียญเกียรติคุณแห่งชาติในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน

มีคนไทยจำนวนมาก ที่ต้อง “งดกินไก่” เพราะความเจ็บปวดหลังการรับประทาน ตามอาการของคนป่วย “เป็นโรคเกาต์” หรือโรคข้ออักเสบ จากรายงานทางการแพทย์ โดยมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ ระบุว่า โรคเกาต์มีความชุกของโรคอยู่ที่ 0.16 กล่าวคือ ในประชากร 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยโรคเกาต์อยู่ประมาณ 100 คน ซึ่งมีปัจจัยและสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการ “กินไก่” และสัตว์ปีก รองจากผลทางกรรมพันธุกรรม

ข้อจำกัด และความกังวลของผู้ป่วยโรคเกาต์จะลดลง ภายหลังที่ที่ทราบว่า รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมวิจัย ค้นพบ “ทางแก้” ของผู้ป่วยโรคเกาต์ โดยการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ บริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่ ปี 2553 เริ่มพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง โดยการสร้าง ฝูงปู่-ย่าพันธุ์ ฝูงพ่อ-แม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์ “ประดู่หางดำและชี” ให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะ “โตดี ไข่ดก อกกว้าง” ปัจจุบันทีมวิจัย ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ และเก็บรักษาพันธุ์ไก่พื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง กระทั้งล่าสุด ทีมวิจัยได้พัฒนาไก่สายพันธุ์ใหม่ ชื่อ “ไข่มุกอีสาน 2” หรือ เคเค1 ซึ่งเป็นลูกผสมจาก “ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชี” ซึ่งเป็นไก่ที่มีขนสีขาว มาผสมกับไก่พันธุ์ปกติที่ใช้ในทางการค้า ที่ยังคงระดับพันธุกรรมเดิมในเลือดที่ 25% ที่มีลักษณะพิเศษ คือมีกรดยูริก ไขมัน และคอเลสเตอรอล (Low-Uric Low-fat Low- Cholesterol) ที่ต่ำกว่าไก่ตลาด หรือ ไก่พื้นเมืองทั่วไปบางสายพันธุ์ ถึง 3 เท่า ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นการพัฒนาด้านสายพันธุ์ของไก่พื้นเมืองของไทย และนอกจากความต้องการของตลาดและผู้บริโภค อาจารย์มนต์ชัย ยังอธิบายถึงหัวใจสำคัญของงานวิจัยนี้ว่า การพัฒนาสายพันธุ์จำเป็นต้องคงพันธุกรรมด้านดีอื่นๆ ของไก่พื้นเมืองไว้ อาทิ ด้านคุณภาพเนื้อ ความทนทานต่อโรค และสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองไทย ประการสำคัญไก่พื้นเมืองเป็นแหล่งพันธุกรรมตามธรรมชาติซึ่งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์พันธุกรรมไว้เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากเรื่องสุขภาพ ไก่พันธุ์พื้นเมืองเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์ เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องบริโภคอาหาร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขณะเดียวกัน การพัฒนาสายพันธุ์ไก่พันธุ์พื้นเมือง ไม่ใช่แค่การรักษาอาหารให้ยั่งยืน แต่ยังเป็นการรักษาความเป็นถิ่นฐาน หรือความบ่งชี้จำเพาะของท้องถิ่นนั้น ตลอดจนการสร้างอาชีพ และรายได้ของชุมชน ท้องถิ่นนั้นๆ

คนกลัว “เกาต์-อ้วน” กินไก่ได้

อาจารย์มนต์ชัย เผยถึงแนวคิด และการวิจัยเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเกิดมุมมองและให้ความสำคัญกับอาหารเพิ่มขึ้น เพราะการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากการกินอาหารประเภทไขมันมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่นเดียวกับการกินอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณยูริกในเลือด และเป็นโรคเกาต์ตามมา ด้วยสาเหตุของโรคทำให้ผู้บริโภคเลี้ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ และไก่ ที่มีปริมาณไขมันสูง

ดังนั้น “ไก่ 3 โลว์” (Low-Uric Low-fat Low- Cholesterol) ถือว่า ตอบโจทย์ อาหารสุขภาพ Function food ยกตัวอย่างอาหารประเภทไก่บนโต๊ะอาหารทั่วไป มีกรดยูริก หรือฟิวรีน ประมาณ 6 มิลลิกรัม ต่อกรัม ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อรับเข้าไปแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นกรดยูริก ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีปัญหา และเจ็บปวดตามข้ออันเป็นสาเหตุให้ต้องงดบริโภคไก่ ทั้งๆ ที่ชอบ

จากนั้น รศ.ดร.มนต์ชัย อธิบายถึงกระบวนการพัฒนาไก่ ว่าทีมวิจัยได้นำ “ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชี” ซึ่งเป็นไก่ที่มีขนสีขาว มาผสมกับไก่พันธุ์ปกติที่ใช้ในทางการค้า และใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาทำเครื่องหมายพันธุกรรม โดยการเจาะเลือดดูพันธุกรรมของไก่ก่อน ไก่จะต้องมีระดับเลือดที่ 25% และใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ เครื่องหมายทางพันธุกรรม (Gene marker) ที่สัมพันธ์กับปริมาณกรดยูริก ไขมัน ในการคัดเลือกไก่ มาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ที่มีไขมันและยูริกที่ต่ำ

ที่สำคัญงานวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง สามารถเสริมเศรษฐกิจฐานราก ต่อยอดและพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของการส่งออกไก่สด และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ไก่ผงชงดื่ม ซุปไก่สกัด ผงปรุงรสซุปไก่ สารสกัดต่างๆ ปัจจุบันทางศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ มข.สามารถผลิตลูกไก่จำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่สัปดาห์ละ 2,000 ตัว ในราคาตัว 20 บาท โดยมีระยะเวลาการเลี้ยงอยู่ที่ 30-35 วัน สำหรับผลิตไก่เป็นน้ำหนักประมาณ 1.2-1.4 กิโลกรัม ในราคาตัวละ 100 บาท ซึ่งสามารถทำกำไร 40 บาท ต่อตัว

ทั้งนี้ ทั้งนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทางศูนย์เตรียมผลิตลูกไก่เพิ่มขึ้น เป็น 20,000 ตัว ต่อสัปดาห์ หรือประมาณปีละ 1 ล้านตัว ป้อนเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยโครงการและเป้าหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการเสนอแผนงาน โครงการ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายเกษตร สกว.

ด้าน นายกณพ สุจิฆะระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมือง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป็นความพยายามของทีมวิจัย ในช่วงระยะเวลาเกือบๆ 10 ปีที่ผ่านมา จากไก่พื้นเมือง 100% ลดลงมาเหลือ 50% และ 25% สายพันธุ์เคเคยู1 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับอุสาหกรรม ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ และการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของไทย

จากนี้ ทางศูนย์เครือข่ายวิจัยฯ มข.จะต้องทำหน้าที่ในการผลิตลูกไก่ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เลี้ยง พร้อมทั้งหาช่องทางการจำหน่าย และขยายฐานตลาด นอกจากการป้อนให้กับ “ประชารัฐร่วมใจ” อย่างไรก็ดี เมื่อนำไก่มาแปรรูปให้อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์รวมถึงเนื้อไก่คุณภาพ ประเภท Muscle food หรือ fitness diets จะเพิ่มมูลค่าประมาณ 2-5 เท่า ซึ่งจะเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมเนื้อไก่แปรรูปขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และมีความยั่งยืนเนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม ไก่พันธุ์พื้นเมืองของไทย ถือว่าเป็นไก่คุณภาพดี มีปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนื้อไก่สายพันธุ์ต่างประเทศจึงทำให้ราคาไก่พื้นเมืองของไทย และลูกผสมพื้นเมืองไทยมีราคาจำหน่ายสูงกว่าเนื้อของไก่ทางการค้า ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยการนำไก่มาชำแหละขายเฉพาะส่วน เป็นการเพิ่มมูลค่าอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ นางศุภนุช ศตคุณ เกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เล่าว่า หลังจากตัดสินใจหยุดค้าขายที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ช่วงก่อนหน้านี้ว่างงาน เพื่อนบ้านจึงชวนไปอบรมอาชีพกับกลุ่มสตรีจังหวัด และโครงการประชารัฐ ได้แนะนำไก่ kku 1 และรู้สึกสนใจ ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงมาก่อน แต่เมื่ออยากเลี้ยง ก็ต้องเรียนรู้ และในครั้งแรก ก็ประสบความสำเร็จ คือลูกไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนที่สร้างไว้หลังบ้านขนาด 6×6 จำนวน 600 ตัว เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 30-35 วัน จากนั้น บริษัทประชารัฐเข้ามารับซื้อ กิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อส่งขายให้กับฟู้ดแลนด์ และวิวล่ามาร์เก็ต

ส่วนเรื่องการให้อาหารขุนไก่ให้โต “ศุภนุช” เล่าว่า ไม่มีอะไรพิเศษ ตนเองก็ใช้อาหารเลี้ยงไก่สำเร็จรูปที่มีจำหน่ายตามร้านอาหารสัตว์ แต่หลังจากที่เพิ่มปริมาณการเลี้ยง เป็น 1,200 ตัว ตนเองคิดว่า จะต้องศึกษาเทคนิคเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการทำโรงเรือนมาตรฐาน การให้อาหารที่เหมาะสม รวมถึงการสังเกตอาการของไก่ ซึ่งในส่วนนี้ทราบว่า ทีมวิจัยได้มีการจัดอบรมอยู่ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม และโดยส่วนตัวมองว่า การเลี้ยงไก่สายพันธุ์ใหม่เป็นทางเลือกที่ดีของคนที่คิด และอยากกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดของตนเอง

อนึ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการศึกษาการพัฒนาพันธุกรรมและการปกป้องพันธุกรรมไก่พื้นเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการในการยกระดับการพัฒนางานวิจัยเพื่อรองรับการก้าวสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน การถ่ายทอดงานวิจัย จนถึงการสร้างเครือข่ายการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และนักวิชาการ ทำให้ได้อาหารจากเนื้อไก่พื้นเมืองและไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่มาจากฐานพันธุกรรมของประเทศที่มีคุณภาพและการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ของประเทศซึ่งยังคงลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองไทย