ในการทดสอบที่จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ที่ความชื้นดินเฉลี่ย

(มาตรฐานแห้ง) 11.47 เปอร์เซ็นต์ ความยาวใบอ้อยก่อนการสับกลบ 21.5 ซม. น้ำหนักใบอ้อยต่อพื้นที่ 480 กิโลกรัม ต่อไร่ ความหนาของใบอ้อย 7 เซนติเมตร ความสามารถในการทำงานทางทฤษฎี 2.12 ไร่ ต่อชั่วโมง ความสามารถในการทำงานจริง 1.95 ไร่ ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานเชิงพื้นที่ 91.98 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.58 ลิตร ต่อไร่

การใช้จอบหมุนกำจัดวัชพืชจอบหมุนทำงานค่อนข้างเร็วมาก เกษตรกรค่อนข้างพอใจ จากการทดสอบในแปลงที่จังหวัดกาญจนบุรีพบว่า มีความชื้นดินเฉลี่ย (มาตรฐานแห้ง) 12.56 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักวัชพืชก่อนการสับกลบ 780 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำงานได้ประมาณ 1.98 ไร่ ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานเชิงพื้นที่ 96.12 เปอร์เซ็นต์ สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 1.35 ลิตร ต่อไร่ น้ำหนักวัชพืชหลังการสับกลบ 19.04 กิโลกรัม ต่อไร่ ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืช 97.55 เปอร์เซ็นต์

การใช้จอบหมุนเพื่อพรวนดินและสับกลบใบอ้อยนั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องลดความเสี่ยงเนื่องจากเกิดไฟไหม้ในแปลงอ้อย ทำความเสียหายให้แก่ตออ้อยแล้ว การสับกลบใบอ้อยและพรวนดินยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและปริมาณอากาศและให้ความชุ่มชื้นแก่ดินด้วย

เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตของอ้อยตอที่มีอายุ 4 เดือน เมื่อวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงอ้อยและความสูงของอ้อย พบว่า อ้อยตอที่ผ่านการใช้เครื่องมือสับกลบใบอ้อยและกำจัดวัชพืชในแปลงอ้อยนี้ โตกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของอ้อยที่ไม่ใช้เครื่องมือนี้ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ความสูงสูงกว่าประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ การที่ต้นอ้อยลำใหญ่กว่าและสูงกว่า เป็นสิ่งที่เกษตรกรพึงพอใจอย่างมาก

จุดคุ้มทุน

ได้มีการวิเคราะห์การลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ไว้ดังนี้ สำหรับผู้ที่ไม่มีรถแทรกเตอร์ใช้งานค่ารถ 24 แรงม้าประมาณ 3 แสนบาท ค่าจอบหมุนราคาประมาณ 4 หมื่น อายุการใช้งานของจอบหมุน 7 ปี ชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง ต่อวัน อัตราสับกลบใบอ้อย 1.95 ไร่ ต่อชั่วโมง อัตราการกำจัดวัชพืช 2.05 ไร่ ต่อชั่วโมง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ประมาณ 30 บาท ต่อลิตร ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกอ้อยมากกว่า 34 ไร่ ใช้งาน 7 ปีคุ้มทุนแล้ว ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และมีโรงงานต้นแบบนำไปผลิตแล้ว ปรากฏว่าได้จำหน่ายไปแล้วจำนวนมาก

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-579-2757 ในการเลี้ยงปลาทะเล การจัดกระแสน้ำภายในตู้เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ กระแสน้ำจะช่วยลดการสะสมของเศษตะกอน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกไนไตรต์และไนเตรต และยังก่อให้เกิดภาวะตู้ล่ม (old tank syndrome) ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร

การสร้างกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลา จะช่วยลดการสะสมของตะกอนขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ปะการังสามารถจับกินสิ่งมีชีวิตได้ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในตู้เลี้ยงปลา โดยปกติแล้วผู้เลี้ยงปลาจะต้องจัดหาอุปกรณ์ทำคลื่นมาสร้างกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติและประโยชน์ข้างต้น แต่การจัดหาอุปกรณ์ทำคลื่นต้องใช้งบประมาณสูงระดับหนึ่ง และเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ ตู้เลี้ยงปลาขนาดเล็ก (Nano tank) ยังไม่สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากมีความแรงของกระแสคลื่นมากเกินไป จึงมีความต้องการอุปกรณ์ทำคลื่นสำหรับตู้ขนาดเล็กเพื่อให้เกิดกระแสคลื่นภายในตู้เลี้ยงปลาทะเล

ด้วยเหตุนี้ คุณพีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รักและชื่นชอบการเลี้ยงปลาเป็นการส่วนตัว นำเหตุผลและความเป็นไปได้ในการสร้างอุปกรณ์สร้างกระแสคลื่นมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการทำให้เกิดกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลาทะเล โดยเฉพาะตู้ปลาทะเลขนาดเล็ก ที่มีขนาดความจุของน้ำไม่เกิน 35 ลิตร เนื่องจากตู้ปลายที่มีขนาดความจุของน้ำที่มากกว่า 35 ลิตร มีเครื่องสร้างกระแสคลื่นวางขายในท้องตลาดทั่วไปอยู่แล้ว และมีราคาแพง นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายให้ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ ไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเติม แต่อาศัยปริมาณน้ำจากช่องกรอง หรือปั๊มน้ำขนาดเล็กแทน

“ปัญหาของการเลี้ยงปลา คือ การสะสมของตะกอน มูลปลา เศษอาหารที่เหลือ ตกตะกอนนอนก้นด้านล่างของตู้ การสะสมของตะกอนทำให้เกิดพิษต่อตัวปลา ซึ่งโดยทั่วไปการจัดการไม่ให้เกิดการตกตะกอนนอนก้นตู้ คือ การทำกระแสคลื่นเพื่อไม่ให้ตะกอนนอนก้น แต่ตะกอนตกไปกับส่วนที่กรองน้ำ และหากซื้อเครื่องทำกระแสคลื่นมาใช้กับตู้ปลาที่มีขนาดความจุน้อยกว่า 35 ลิตร ความแรงของคลื่นจะทำให้น้ำในตู้ปลาหกหรือล้นออกมา”

อาจารย์พีระ บอกด้วยว่า ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแท็งก์ขนาดพอเหมาะ สามารถใช้ใส่ใยกรองหรือไบโอบอลได้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการบำบัดน้ำต่อเข้ากับท่อนำเข้าแท็งก์ และมีท่อสำหรับปล่อยน้ำออกตามแรงดึงดูดของโลก เมื่อเปิดระบบทำงานท่อนำเข้าน้ำจะทำหน้าที่ในการเติมน้ำให้กับแท็งก์ เมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์สูงระดับหนึ่ง จะเกิดแรงดันให้น้ำไหลออกไปให้ท่อปล่อยน้ำออก ซึ่งน้ำที่ออกมาทางท่อนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ก่อให้เกิดกระแสคลื่นในระบบ

ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ อาจารย์พีระ บอกว่า สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลภายในอาคารบ้านเรือนได้ โดยชุดกำเนิดคลื่นนี้ นอกจากจะทำให้เกิดกระแสคลื่นภายในตู้เลี้ยงปลาทะเลแล้ว ยังช่วยในการเติมออกซิเจนในระบบ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับใส่อุปกรณ์ในการบำบัดน้ำ หรือใช้สำหรับการกักปลาที่นำเข้ามาใหม่ได้อีกด้วย

ความสำคัญของการทำให้เกิดคลื่นในตู้ปลา อาจารย์พีระ บอกว่า กระแสคลื่นเป็นตัวสำคัญทำให้น้ำเคลื่อนไหว และทำให้ตะกอนจากมูลปลา เศษอาหาร และอื่นๆ ฟุ้งกระจาย และตะกอนเหล่านี้จะตกไปยังส่วนที่ทำหน้าที่กรองได้ ประโยชน์หลักที่เห็นได้ชัด คือ การไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อย แต่ควรนำใยกรองไปล้างทุกสัปดาห์หรือเปลี่ยนใยกรองใหม่มาแทนที่เท่านั้น และความนิยมส่วนใหญ่ในการสร้างกระแสคลื่นในตู้ปลาจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงปลาทะเล ซึ่งใช้น้ำเค็ม การถ่ายน้ำเมื่อตะกอนมากอาจทำได้ไม่สะดวกเหมือนการเลี้ยงปลาน้ำจืด ทางที่ดีที่สุดคือ การระวังไม่ให้เกิดการตกตะกอน

สำหรับชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชุดนี้ เป็นงานชุดต้นแบบ อาจารย์พีระจะนำกลับไปพัฒนาให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โดยจะพัฒนาให้แท็งก์กำเนิดคลื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตู้ และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ในเดือนตุลาคม 2557 ในราคา 300 บาท ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณพีระ อารีศรีสม ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02-579-8574-5 ในวันและเวลาราชการ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ด่วนที่สุด เรื่อง การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 ถึงปลัด กษ. อธิบดีกรมชลประทาน, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ประกอบกับมีเกษตรกรหลายกลุ่มทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้เพาะปลูกทำการเกษตรกรรมเช่นเดิม

เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ในฤดูแล้งนี้ จึงขอมอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งปี 2562 ประจำกระทรวงเกษตรฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปี 2562 ดังนี้

1.ขอให้แจ้งทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการขาดแคลนน้ำประจำพื้นที่ทั้งในพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานโดยให้ใช้โครงสร้างคณะอนุกรรมการ อพก. จังหวัด ที่มี ผวจ. หรือรอง ผวจ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับจังหวัด

2.ขอให้ชลประทานจังหวัดจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งปี 2562 ประจำพื้นที่ โดยให้นำเสนอต่อที่ประชุม อพก. เพื่อขอให้ ผวจ. หรือ รอง ผวจ. รับทราบสถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบไปปฏิบัติตามแผนดังกล่าว

3.องค์ประกอบสำคัญของแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562 ควรประกอบด้วย-ข้อมูลแหล่งน้ำทั้งแหล่งธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ทำขึ้นพร้อมปริมาณน้ำในแต่ละแหล่งน้ำ-ข้อมูลจำนวนพื้นที่เพาะปลูกหรือทำการเกษตรและประมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 62

-ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำเพื่ออุปโภค/บริโภคของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่-นำข้อมูลปริมาณน้ำที่อยู่ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง 2562 เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์น้ำว่าจะเพียงพอต่อการใช้เพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคเพียงพอหรือไม่

4.ขอให้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อยกร่างแผนงานมอบหมายให้ส่วนราชการต่างๆ ไปปฏิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งในด้านต่างๆ คือ

-หน่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนร่วมกันประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งนี้-จัดทำบัญชีรวมเครื่องมือ/อุปกรณ์การสูบน้ำ หรือนำน้ำไปบริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยอาจแบ่งพื้นที่พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบประจำแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ฯลฯ

5.ขอให้ทุกกรม รวมทั้งส่วนราชการเทียบเท่ากรมในสังกัด กษ. ที่มีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ในฐานะราชการส่วนภูมิภาคและหรือหน่วยงานส่วนกลางที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัด/เขตต่างๆ ได้ร่วมกันสนับสนุน/ปฏิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งโดยพร้อมเพียงกัน โดยให้ ผต.กษ. ได้ไปตรวจราชการเพื่อสดับตรับฟังและติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งนี้โดยใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ ผบช. ทราบทุกระยะด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงในการออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากแหล่งสวยๆ งามๆ แล้ว ที่พักและอาหารดูสำคัญไม่น้อย

มีกำหนดการต้องขึ้นไปดอยอินทนนท์ ถือว่าเป็นภาคบังคับ ที่ผ่านมาได้สัญจรไปบ่อยพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยต้องหาที่พักเอง…ใช้เวลาคิดหลายวัน ว่าจะทำอย่างไรดี ลืมไปว่า “นึกอะไรไม่ออก บอกพี่เบิร์ดได้”

คุณธงชัย พุ่มพวง นักเขียนกิตติมศักดิ์ ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน สามารถบอกได้

“ไปที่เฮือนกัลยกร สิ…อยู่ไม่ไกล เช้าๆ ขึ้นดอยอินทนนท์ทันสบาย…” พี่เบิร์ด ตอบมา

ท่องเที่ยว ชมบ้านชมเมืองลำพูน จนบ่ายคล้อย จึงมุ่งสู่จอมทอง โดยไม่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะกลัวรถติด ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง มีทางเลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ เลี้ยวขวาไปสัก 4-5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้าน ผ่านวัด ราว 2 กิโลเมตร ก็ถึงที่หมาย เฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ ตั้งอยู่เลขที่ 34/2 บ้านก๊างไฟ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

สองพี่น้อง เจ้าของเฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ คือ คุณกัลยกร และ คุณยุวดี สุสิงโสด ต้อนรับด้วยไมตรีอันดียิ่งได้ยินนามสกุล “สุสิงโสด” จึงนึกออกว่า เมื่อก่อน คุณกัลยกร สุสิงโสด ทำงานอยู่ทีมเดียวกับพี่ธงชัย คือสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ เคยเขียนเรื่องราวทางการเกษตร มาลงนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปัจจุบัน คุณกัลยกร สอบบรรจุเป็นข้าราชการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นอกจากงานประจำเธอมาทำโฮมสเตย์ โดยมีพี่สาวคือ คุณยุวดี ช่วยงาน

บ้านก๊างไฟ มาจาก เมื่อก่อนมีการจุดบ้องไฟ ตามประเพณี บริเวณนี้ใช้จุดบ้องไฟกัน ต้องทำร้านหรือทำค้าง จึงเป็นที่มาของชื่อบ้าน

คุณยุวดี บอกว่า หมู่บ้านนี้เมื่อก่อนห่างไกลความเจริญ จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก แม้แต่ลำห้วยก่อนถึงบ้าน เป็นสะพานไม้ไผ่ สมัยพ่อแม่ของคุณยุวดี รอบบ้านเป็นป่าดง สัตว์ป่าชุกชุม เคยมีเสือกัดชาวบ้าน คือกัดลุงจันทร์ เพื่อนบ้านเรียกว่า “ลุงจันทร์เสือขบ” ทุกวันนี้เสือไม่มีแล้ว แต่ลุงจันทร์เสือขบยังมีชีวิตอยู่ หน้ายังเป็นแผลเป็น

สมัยเก่าก่อนทุรกันดารมาก จะไปเรียนหนังสือระดับประถมต้องเดินไกล ความเจริญทางด้านวัตถุเริ่มมาเยือน เมื่อมีการสร้างถนนขึ้นดอยอินทนนท์ ราวปี 2513 ปีนั้นเป็นปีเกิดของคุณกัลยกร

คุณยุวดี บอกว่า ครอบครัวมีพี่น้องหลายคน ต่อมาได้ออกเรือนแยกย้ายกันทำมาหากินบริเวณใกล้เคียง อาชีพหลักที่ทำกันคือ ทำนาและปลูกหอมหัวใหญ่ แต่ที่ทำมานานจนถึงปัจจุบันคือ เลี้ยงหมูขายลูกพันธุ์ หมูที่เลี้ยงเป็นลูกผสมระหว่างเหมยซานกับแลนเรซ เธอเลี้ยงเพื่อผลิตลูกจำหน่าย ซึ่งมีรายได้จุนเจือครอบครัวดีพอสมควร เล้าหมูอยู่ห่างจากโฮมสเตย์มาก จึงไม่ต้องเกรงว่าจะมีกลิ่นและเสียงรบกวน

อาชีพอย่างหนึ่งที่เสริมรายได้ให้นั้น คือการขายผลไม้ ที่น้ำตกแม่กลาง อยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านนัก

คุณกัลยกร บอกว่า เธอขายมะพร้าวเผาที่น้ำตก พร้อมทั้งช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างเต็มที่ การศึกษานั้นเธอเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ทุกวันนี้คือ กศน. จนสุดท้าย เรียนจบระดับปริญญาตรี

ทำโฮมสเตย์
เอาบ้านเป็นที่ทำงาน

ที่ตั้งของเฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ อยู่ใจกลางหมู่บ้านก๊างไฟ กระนั้นก็ตาม บรรยากาศดูเงียบสงบ อากาศที่นี่โดยทั่วไปไม่ร้อนอบอ้าว…สำหรับฤดูหนาว อากาศเย็น เพราะอยู่ใกล้เขตดอยอินทนนท์

เฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ มีบ้านใหญ่ 3 หลัง มีอาณาบริเวณ สำหรับปลูกผักมาปรุงอาหารให้กับผู้ไปเยือนได้ลิ้มรส
ถามถึงที่มาของการตัดสินใจ ทำโฮมสเตย์

“เรามีบ้านอยู่แล้ว อยากเอาบ้านเป็นที่ทำงาน ลงทุนไม่เยอะ ปรับปรุงพื้นที่ ทาสี เริ่มเปิดเมื่อ 18 ตุลาคม 2561 ของเราอยู่ในโครงการโอท็อปนวัตวิถี…ทำไม่ยากค่ะ เราทำบ้านให้สะอาดขึ้น คนมาเยี่ยมมาพัก จะเป็นธุรกิจได้…วิถีชีวิตของที่นี่ คนเข้ามาท่องเที่ยว บางฤดูกาลได้ชมการทำนา เกี่ยวข้าว เลี้ยงควาย การทำสวนผลไม้ เก็บเห็ดบนดอย”คุณยุวดี บอก และเล่าอีกว่า

“ก่อนทำโฮมสเตย์ เขาให้ไปดูงาน ก่อนหน้านี้ แม่เสีย น้องก็อยู่มหาวิทยาลัย เลยตัดสินใจลงมือ เมื่อลงมือแล้ว มีเพื่อนคุยที่อยู่ในเครือข่ายใกล้ๆ หากไกลก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางไลน์ ทำโฮมสเตย์จะได้ไม่เหงา สามีเสียชีวิตแล้ว ลูกชายอายุ 37 ปี ไปมีครอบครัว มีลูก 2 คน เป็นย่าแล้ว…ทุนที่ลงไปไม่ได้กู้ ขายหมูได้ก็นำมาลงทุน มีแม่หมู 4 ตัว หากออกลูกมาพร้อมกันแม่ละ 10 ตัว ก็มีลูกหมูขาย 40 ตัว…การดูงานได้ประโยชน์ เคยไปดูงานแม่กำปอง แม่ออนใต้ ทะเลสาบดอยเต่า ต่างจังหวัดไปดูดอยหลวง ลำพูน…ทางเราและเครือข่าย เริ่มทำของที่ระลึกจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมือง กระบวยจากกะลามะพร้าว สร้อยจากเมล็ดกระถิน ของกินมีกล้วยฉาบ มะม่วงแช่อิ่ม…ใครเมื่อยก็มีนวดแผนไทย”

เน้นความเรียบง่าย
ขายความเป็นพื้นเมือง

คุณกัลยกร บอกว่า โฮมสเตย์ของเธอรับคนได้ 30 คน แต่เตรียมขยายออก เป็นบ้านหลังเล็กๆ สไตล์ภาคเหนือ ที่เรียกว่ากระต๊อบ

“จุดเด่นที่นี่เป็นหมู่บ้านพื้นเมือง เงียบสงบไม่วุ่นวาย ใกล้ๆ กันมีน้ำตกเล็กๆ ท้ายหมู่บ้าน น้ำตกแม่กลางก็อยู่ไม่ไกลกัน ตอนนี้ค่าบริการ ท่านละ 500 บาท รวมอาหารเย็นและอาหารเช้า หากไม่กินอาหารเย็นคิด 350 บาท เมนูอาหารมีให้เลือก แต่เน้นอาหารพื้นเมือง…อาหารเช้ามีกาแฟ แซนด์วิช ข้าวต้ม”
คุณกัลยกร บอก และเล่าต่ออีกว่า

“ส่วนมากมาเที่ยวกัน ก็จะขึ้นอินทนนท์ อยู่ไม่ไกล มาที่นี่ หากนำรถมาเอง จากเชียงใหม่มาก่อนถึงตลาดจอมทองมีทางเลี้ยวขวา เลี้ยวมาราว 4-5 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวซ้ายเข้าวัดบ้านต้อง เลี้ยวมาอีก 2 กิโลเมตร ก็ถึงเฮือนกัลยกร…หากไม่นำรถมาเอง มีรถทัวร์จากเชียงใหม่-จอมทอง มีรถสองแถวที่จอมทอง สำหรับขึ้นอินทนนท์ เราสามารถจองให้ได้…สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง มีวัดพระธาตุจอมทอง หลักๆ ขึ้นกิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์ จากบริเวณนี้ สามารถไปเที่ยวโครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงขุนห้วยแห้ง ต่อไปขุนวาง ไปดูดอกพญาเสือโคร่ง จากนั้นสามารถเลยไปแม่วาง ทะลุสะเมิง ไม่ต้องย้อนกลับมาที่เดิม”

สนุกกับงานที่ทำ

คุณกัลยกร ทำงานหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เสาร์และอาทิตย์ จึงมาช่วยพี่สาว งานดูแลจึงตกแก่คุณยุวดี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า สนุกกับงานที่ทำ

“ตั้งแต่เปิด เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาพัก ไม่มีอุปสรรคอะไร ค่าใช้จ่ายที่เก็บ 500 บาท ต่อคน อยู่ได้ เราทำเอง ปลูกผักเอง สนุก มีเพื่อนมาคุย…เราก็ศึกษาหาข้อมูลจากการที่ไปดูงานมา อาหารทำอย่างไรให้อร่อย ที่นี่มีผลผลิตตามฤดูกาลก็นำมาปรุงให้กับผู้มาพักได้ทาน อย่างผักหวาน หน่อไม้ ผลไม้ก็มีลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียนก็เริ่มมีแล้ว ลองกองปลูกได้…อยากเชิญชวนให้มาเที่ยว ก่อนขึ้นดอยอินทนนท์ก็มาแวะพัก มีลูกเล็กเด็กแดง นอนพักก่อน เช้าตื่นทานกาแฟ ข้าวต้ม ขึ้นไปดอยอินทนนท์ เดินทางไม่นานก็ถึง”

วันก่อนที่จะเข้าพัก…คุณกัลยกร ถามว่าสนใจอาหารอะไรบ้าง บอกไปว่า ของ่ายๆ

เย็นนั้น ทางเฮือนกัลยกร ทำลาบหมู ยำไก่บ้าน คั่วผักกาดที่เก็บสดใหม่ ข้าวเงี้ยว ส่วนข้าวมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวนึ่ง รสชาติอาหาร อร่อยล้ำลึกจริงๆ ผักที่กินกับลาบ กรอบ สดใหม่

คุณยุวดี บอกว่า เมนูอาหารสามารถสั่งได้ นอกจากอาหารพื้นๆ อย่างลาบแล้ว อย่างอื่นก็ทำได้ ตามชื่ออาหารในเพลง “ของกิ๋นบ้านเฮา”…ของ อ้ายจรัล มโนเพ็ชร ไม่ว่าจะเป็นแกงฮังเล ไก่บ้านนึ่ง แกงแค และที่พิเศษสุดหากินยากมากอย่างน้ำพริกหนุ่มกะทิ ก็ทำได้ หากเพิ่มเมนูอาหาร ราคาอาจจะขยับขึ้นบ้าง เพราะต้องใช้วัตถุดิบพิเศษ

ราว 2 ทุ่ม เท่านั้น บรรยากาศของบ้านก๊างไฟ เงียบสงบ…เพราะเดินทางไกล อาหารอร่อย หลังจากอาบน้ำอุ่นให้คลายหนาวเย็น เพียงแต่ล้มตัวลง ดูมือถือไม่ถึง 5 นาที ก็หลับสบาย…คนต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ที่เจอแต่ความอึกทึกครึกโครม เมื่อได้กลับเข้าสู่ชนบทอีกที มีความรู้สึกว่า ได้นอนที่บ้านของตัวเอง เพิ่งถึงบางอ้อ นี่แหละโฮมสเตย์ เจ้าของทำได้ตรงกับความหมายมาก โฮมสเตย์

ผู้สนใจ หากไปแถวนั้น ถามไถ่กันได้ที่ คุณกัลยกร สุสิงโสด โทร. (093) 281-7997 FB:kayakorn susingsod และ คุณยุวดี สุสิงโสด โทรศัพท์ (093) 294-8573 FB:ยุวดี สุสิงโสด

ผักไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน นับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ ทำให้ได้พืชผักที่สะอาด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ถือได้ว่าเป็นเทรนด์การปลูกผักแบบใหม่ที่กำลังมาแรง เนื่องจากมีขั้นตอนการปลูก บำรุง ดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยาก มีพื้นที่น้อยๆ ก็ปลูกได้ ไม่ต้องพึ่งดิน ไม่ต้องออกแรงมาก และเหนื่อยน้อย แต่ผลที่ได้คุ้มค่า เพราะว่าได้ผักสะอาด มีรสชาติอร่อย ผักมีความสวยงามน่ารับประทาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นุ่มและกรอบ และยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและตนเองอย่างงดงามอีกด้วย

คุณเจริญโชค โรจน์รังสิกุล หรือ คุณอู๊ด อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 194 หมู่ที่ 10 ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกผู้หนึ่งที่เปิดฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์จำหน่าย ภายใต้ชื่อ เจริญโชคไฮโดรโปนิกส์ โดยสร้างโรงเรือนหรือฟาร์มขึ้นที่บ้านของตนเอง ด้วยการแบ่งที่ดินที่มีอยู่ทั้งหมดมาทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ จำนวน 2 ไร่ สามารถสร้างรายได้เดือนละเกือบหนึ่งแสนบาท

คุณอู๊ด เล่าให้ฟังว่า ได้แบ่งที่ดินออกมา 2 ไร่ เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ผลิตแบบผักปลอดสารพิษ โดยปลูกทั้งหมด 32 แปลง โดยแยกเป็น ปลูกกรีนโอ๊ค 10 แปลง เรดโอ๊ค 10 แปลง ฟินเล่ 5 แปลง เบบี้คอส 2 แปลง เรดคอรัล 2 แปลง และบัตเตอร์เฮด 1 แปลง ที่ปลูกเยอะที่สุดคือ กรีนโอ๊คกับเรดโอ๊ค เพราะว่าขายดีและมีลูกค้าสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเนื่องจากการเก็บผักในแต่ละรอบ จะปรากฏว่า กรีนโอ๊คกับเรดโอ๊คจะมียอดสั่งเยอะมาก คือ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดสั่ง

ในการเก็บเกี่ยวแต่ละรอบจะเก็บตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งเป็นกรีนโอ๊คกับเรดโอ๊ค ส่วนผักตัวอื่นจะมีผสมมาครั้งละ 10-15 กิโลกรัม ส่วนลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มร้านอาหาร และลูกค้าทั่วไปในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ในด้านกำลังผลิตของฟาร์มสามารถผลิตผักสลัดได้ 900-1,000 กิโลกรัม ต่อเดือน หรือ 80 กิโลกรัม ต่อ 2 วัน

คุณอู๊ด บอกว่า ตนและคุณภรภัทร วุฒิพรหม ผู้เป็นภรรยา ได้เริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยครั้งแรกก็ปลูก จำนวน 30 แปลง แปลงผักมีขนาดกว้าง 1.40 เมตร ยาว 12 เมตร แต่ละแปลง มีทั้งหมด 7 ราง โดย 1 แปลง จะปลูกได้ 336 ต้น เก็บได้ประมาณ 40 กิโลกรัม ต่อแปลง

และต่อมาใน ปี 2561 ผักขายดีมาก จึงได้ทำเพิ่มอีก 2 แปลง (แปลงขนาด 6 เมตร) โดยผัก 1 แปลง จะปลูกได้ 170 ต้น ผักจะโตเต็มที่ในระยะเวลา 30-40 วัน จะเก็บได้ 20 กิโลกรัม ซึ่ง 1 กิโลกรัม จะมีประมาณ 7 ต้น