ในช่วงช่อดอกมะม่วงจะต้องการอาหารมาก ดังนั้นในช่วงนี้

คุณจรัญจะเน้น อาหารเสริมทางใบเป็นหลัก ตัวที่ใช้ประจำก็คือ สารโกรแคล อัตรา 1 ลิตร ผสมกับสาร โปรดั๊กทีฟ อัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง และให้สังเกตดูที่ก้านช่อว่าสมบูรณ์หรือไม่ (ก้านช่อที่สมบูรณ์จะต้องมีสีแดงเข้ม ถ้าขาวซีดต้องเร่งอาหารเสริม) ในช่วงช่อดอกจะต้องดูแลให้ดี เพราะศัตรูทั้งหลายจะมารุมทำลายช่วงนี้ และจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งศัตรูที่พบมากที่สุดก็คือเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนส

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ดอกและผลอ่อน หากระบาดมาก ดอกมะม่วงจะแห้งไม่ติดผล หรือ หากทำลายในระยะผลอ่อนก็จะทำให้ผลลาย ขายไม่ได้ราคา ยาที่กำจัดเพลี้ยไฟได้ดีมีอยู่หลายตัว แต่จะต้องฉีดสลับกันเพื่อป้องกันการดื้อยา คุณจรัญ จะเลือกจับกลุ่มยาหลายชนิด แล้วฉีดสลับกัน เช่น ใช้ยา เมทโธมิล กับ โปรวาโด สลับกับ ยาไซฮาโลทริน หรือ ใช้ยาคาร์โบซัลแฟน(เช่น โกลไฟท์) สลับกับ สารฟิโพรนิล เป็นต้น เมื่อคุมเพลี้ยไฟจนผลอ่อนมีขนาดเท่านิ้วมือก็ปลอดภัย

โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่ทำลายรุนแรง หลายคนเรียกว่า โรคช่อดำ คุณจรัญจะเน้นการป้องกันโดยใช้ยา 2 ตัว บวกกัน คือ ฟลิ้นท์ อัตรา 200 กรัม ผสมกับ แอนทราโคล อัตรา

2 กิโลกรัม ฉีดพ่นสลับกับสารเอ็นทรัส อัตรา 500 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือ สารเมอร์แพน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นจนถึงระยะผลอ่อน

“การใช้ยาในช่วงดอกถือว่าสำคัญมาก เจ้าของสวนจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะต้องดูให้ออกว่า ช่วงนี้ศัตรูอะไรลงทำลาย หรือ ต้องพยากรณ์ว่า ช่วงนี้เราจะต้องฉีดยาอะไร ถ้าเราดูศัตรูผิดหรือจัดยาไม่ถูกกับโรค ฉีดพ่นกี่ครั้งก็ยังเสียหาย ไม่สามารถขายผลผลิตได้ ยิ่งถ้าสวนไหนผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจะต้องรู้ถึงระยะเวลาในการฉีด ต้องซื่อสัตย์และควบคุมให้ดี เพราะนอกจากจะต้องทำผลผลิตให้สวยมีคุณภาพแล้ว จะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย” คุณจรัญ กล่าวเสริม

เมื่อถามถึงรายได้ในการผลิตมะม่วงในแต่ละปี คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” บ้านเลขที่ 63 หมู่ 1 ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร โทร. 099-2711303 กล่าวว่ามะม่วงเป็นไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นอย่างดี แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติก็ตาม ราคาซื้อขายในแต่ละปีที่มีปัจจัยแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ในภาพรวมการปลูกและผลิตมะม่วงยังถือว่าเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ยังสร้างรายได้ดี แต่การเลือกปลูกมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆก็สร้างรายได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง พื้นที่ปลูกมะม่วง 1ไร่ (อายุต้น 4 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิตราว 1,500 – 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายมะม่วงได้ดังนี้ ถ้าเป็นมะม่วงมัน เช่น

ฟ้าลั่น จะขายได้ราคาเฉลี่ย 18 – 25 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 27,000 – 50,000 บาท
ต่อไร่ , มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์4 จะขายได้เฉลี่ย 25 – 40 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500 – 80,000 บาทต่อไร่ , มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะขายได้ราคาเฉลี่ย 25 – 60 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500 – 120,000 บาทต่อไร่ ซึ่งสำหรับราคาขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอาจจะมีราคาสูงมากกว่านี้ซึ่งในบางปีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 บาททีเดียว
เกร็ดความรู้

ความแก่ที่นับจะอยู่ที่ 80-90% เราสามารถบวก-ลบจำนวนวันได้ประมาณ 10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เช่น อากาศร้อนมะม่วงก็จะแก่เร็วขึ้น หรือบางท่านใช้วิธีตัดผลไปจุ่มน้ำ
ถ้าลอยเป็นมะม่วงอ่อน ถ้าจมน้ำแสดงว่าผลมะม่วงแก่แล้ว คุณบริพัฒน์ ธัญอุดม อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 6 ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ทำสวนมะม่วงมาเกือบ 30 ปี และประสบผลสำเร็จกับการปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ ต่อมาจึงได้ทำการทดลองนำมะม่วงแก้วขมิ้นมาทดลองปลูกภายในสวน ซึ่งเขามองว่ามะม่วงชนิดนี้มีจุดเด่นหลายอย่างที่สามารถตอบโจทย์ในอนาคต เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

คุณบริพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงนั้นเขามีความคิดที่อยากจะทำสวน แต่คุณพ่อของเขาได้ทัดทานไว้เสียก่อน เพราะในสมัยก่อนนั้นยังมีความกังวลเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่มีความไม่แน่นอน

“หลังเรียนจบพ่อรีบบอกผมเลยว่า อย่าเพิ่งรีบมาทำเลยสวน ราคาผลผลิตยังไม่ดีมากนัก ทำมาเดี๋ยวก็ลำบากในเรื่องตลาด ท่านก็เลยบอกผมว่าให้ไปหางานแบบอื่นทำก่อน เพื่อสร้างประสบการณ์ ผมก็เลยไปรับราชการอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ และก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา พอกลับมาจึงมาทำงานใช้ทุนให้หมด พอได้อายุประมาณ 39 ปี ผมก็ได้ลาออกมา เพื่อเตรียมตัวทำในสิ่งที่อยากทำตามความฝัน” คุณบริพัฒน์ กล่าว

เมื่อมีสิ่งที่ตั้งใจเป็นทุนเดิมในการอยากจะทำสวนอยู่แล้วเมื่อสมัยเรียนจบ คุณบริพัฒน์ บอกว่า จึงได้นำเงินทั้งหมดที่เก็บสะสมจากการทำงานมาลงทุนทำสวนมะม่วง ซึ่งทั้งสวนก็จะมีพันธุ์มะม่วงปลูกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงฟ้าลั่น และมะม่วงจากต่างประเทศบ้างเล็กน้อย

“ช่วงสมัยก่อนที่ทำใหม่ๆ มีความเชื่อกันว่ามะม่วงที่ปลูก ควรทำให้เป็นต้นใหญ่ๆ ก่อน ค่อยเก็บผลผลิต ซึ่งผ่านมาผมมองว่าไม่จำเป็นแล้ว เมื่อปลูกได้สักปีสองปีก็สามารถเก็บผลขายได้เลย ซึ่งมะม่วงทั้งหมดที่ผมปลูกมา แต่ละสายพันธุ์ก็จะให้ผลผลิตที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะน้ำดอกไม้และเขียวเสวย ต้องตัดแต่งต้นอย่างดี มะม่วงถึงจะให้ผลผลิตที่ดีตามไปด้วย” คุณบริพัฒน์ แสดงความเห็น

ต่อมาประมาณปี 2554 คุณบริพัฒน์ เล่าว่า ได้รู้จักกับมะม่วงแก้วขมิ้นที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศกัมพูชา จึงเกิดความสนใจอยากหามาทดลองปลูก จึงได้ยอดกิ่งพันธุ์ดีของมะม่วงแก้วขมิ้นมาเสียบกับต้นตอภายในสวน

หลังจากการทดลองครั้งนั้น มะม่วงแก้วขมิ้นที่นำมาปลูกเจริญเติบโตได้เต็มที่ จนสามารถติดดอกออกผล โดยคุณบริพัฒน์ บอกว่า โชคดีมากที่ได้พันธุ์ที่ดีมีคุณภาพมาทำการเสียบยอด เพราะมะม่วงแก้วขมิ้นมีทรงพุ่มโปร่งผลดก และผลที่ออกมามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณบริพัฒน์ เล่าถึงวิธีการปลูกว่า ในขั้นตอนแรกก่อนจะทำการขยายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นด้วยวิธีการเสียบยอด สิ่งที่สำคัญที่สุดคืดยอดกิ่งพันธุ์ดีที่นำมาเสียบ โดยจะนำยอดกิ่งพันธุ์ดีจากต้นที่มีอายุอย่างน้อย 3 ปี มาทำการเสียบยอดกับมะม่วงแก้ว มะม่วงโชคอนันต์ หรือมะม่วงกะล่อนก็ได้ เพราะมะม่วง 3 สายพันธุ์นี้ ค่อนข้างมีความแข็งแรงเหมาะที่จะนำมาเป็นต้นตอ

“ที่สวนผมจะใช้มะม่วงแก้วเพื่อทำต้นตอ โดยนำเมล็ดมาเพาะลงในถุงดำ วัสดุที่ใช้ปลูกก็จะเป็นพวกดินผสมกับขี้เถ้าแกลบและปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ต่อ 1 รอให้ได้ต้นตอมีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี โดยดูความสมบูรณ์ให้พร้อมที่สุด แล้วจากนั้นเราก็ค่อยเอากิ่งพันธุ์ดี จากต้นมาเสียบยอด พอต้นมันติดสนิทดีแล้ว ดูแลอีกประมาณ 3 เดือน จึงเอาไปลงปลูกดินภายในสวน ก็จะได้มะม่วงแก้วขมิ้นที่เจริญเติบโตได้ดี” คุณบริพัฒน์ กล่าวถึงวิธีปฏิบัติ

คุณบริพัฒน์ บอกว่า การเสียบยอดเป็นวิธีการขายพันธุ์ที่ดีกว่าการเพาะเมล็ด เมื่อทำการเสียบยอดเสร็จต้นมะม่วงจะมีโคนลำต้นที่ใหญ่ ทำให้ยอดกิ่งพันธุ์ดีสามารถได้รับธาตุอาหารจากท่อลำเลียงน้ำลำเลียงอาหารได้เต็มที่ เวลาที่ปลูกลงดินจะมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย

“สวนผมก็มีอายุจากการทำสวนมาก็จะ 30 ปีแล้ว มันก็มีต้นมะม่วงบางต้นที่ค่อนข้างแก่ที่เริ่มจะตาย ผมก็จะเอามะม่วงแก้วขมิ้นพวกนี้ ค่อยๆ ปลูกลงไปแทนต้นที่ตาย เพื่อเป็นการทดลองเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งวิธีการดูแลก็ไม่มีอะไรที่ยาก ข้อดีสำหรับผมคิดว่า น่าจะดูแลน้อยกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นหน่อย เพราะมะม่วงพันธุ์นี้ไม่ต้องตัดแต่งกิ่งมาก มีทรงต้นโปร่ง มันผิดกับมะม่วงพันธุ์อื่นที่ทรงต้นมันทึบที่ต้องตัดแต่งอยู่เสมอ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็จะออกดอกติดผล พร้อมเก็บผลผลิตออกจำหน่ายตลาดได้” คุณบริพัฒน์ กล่าว

มะม่วงแก้วขมิ้นที่สวนแห่งนี้ นับว่าเป็นมะม่วงเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์สำหรับการทำเกษตรในปัจจุบันที่ค่อนข้างหาแรงงานยาก ซึ่งมะม่วงสายพันธุ์นี้ไม่ต้องตัดแต่งกิ่งเมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว โดยจะเน้นให้ออกตามฤดูเสียมากกว่า ซึ่งจะออกดอกตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นเดือนธันวาคม เมื่อดอกบานเต็มที่นับต่อไปอีกประมาณ 120 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้แล้ว

“ต่อไปในอนาคตแรงงานแพง ยิ่งตอนนี้หายากมากที่จะหาคนมาทำงานในสวน มะม่วงพันธุ์นี้จึงตอบโจทย์เลย ถ้าปลูกแบบให้ออกผลผลิตตามฤดูนะ เพราะว่าไม่ต้องใส่ปุ๋ยเร่งอะไรมาก ส่วนเรื่องการเก็บผลผลิตก็เก็บง่ายเข้าไปอีก เพราะว่าลูกมันออกมาเป็นพวง มันเลยตอบโจทย์กับแรงงานที่แพงและหายากในเวลานี้” คุณบริพัฒน์ กล่าว

ผลดก รสอร่อย เหมาะกับทุกวัย

ผลของมะม่วงที่เก็บพร้อมจำหน่ายอยู่ที่น้ำหนักต่อผลประมาณ 300-500 กรัม ซึ่ง 1 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณเฉลี่ย 50 – 70 กิโลกรัมต่อปี โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยิ่งเป็นต้นที่มีอายุมากผลผลิตก็จะได้มากตามไปด้วยเช่นกัน

“เรื่องการตลาดส่วนใหญ่ที่ผมส่งจำหน่าย ก็จะอยู่ที่กาฬสินธุ์เป็นหลัก โดยส่งให้แม่ค้าที่มารับซื้อบ้าง ตามตลาดนัดบ้าง บางทีก็มีโรงงานแปรรูปจากราชบุรีมารับซื้อ เอาแบบผลที่เริ่มจะแก่ เพราะว่าช่วงนั้นเนื้อมะม่วงก็เริ่มเหลืองแล้ว” คุณบริพัฒน์ กล่าว

มะม่วงแก้วขมิ้นจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 – 30 บาท ราคาขึ้นอยู่กับฤดูกาลซึ่งสามารถปรับขึ้นลงได้ คุณบริพัฒน์ บอกว่า จากการที่ได้จำหน่ายมะม่วงแก้วขมิ้นมาได้มองเห็นความชื่นชอบที่หลากหลาย ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยที่ผ่านไปมาหน้าร้านที่เขาจำหน่ายก็ซื้อทาน เรียกง่ายๆ ว่า ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะหญิงชายหรือวัยไหนๆ ก็ซื้อทานแทบทั้งสิ้น

การทำสวนมะม่วง ต้องมีความเอาใจใส่

สำหรับท่านใดที่กำลังมองหางานที่สร้างรายได้ไม่ว่าจะเป็นรายได้เสริมหรือหลัก ในเรื่องของการทำสวนมะม่วงนั้น คุณบริพัฒน์ ได้กล่าวแนะนำว่า

“สำหรับใครที่มองหามะม่วงเพื่อนำไปทำสวน ผมก็อยากจะแนะนำว่ามะม่วงแก้วขมิ้นอาจตอบโจทย์ อาจจะปลูกเป็นอาชีพหลักก็ได้ หรือปลูกเป็นอาชีพเสริมก็ดี แต่ถ้าอยากจะทำเป็นอาชีพ ที่สร้างเงินแบบเต็มที่แล้ว ต้องเอาใจใส่สักหน่อย เพราะผลผลิตเมื่อเทียบกับมะม่วงอื่นแล้ว ก็ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงเหมือนกัน เพราะตลาดเริ่มกว้าง ส่วนการทำเป็นอาชีพเสริม หากไม่ดูแลอะไรมาก ผลผลิตก็อาจจะน้อยกว่าคนที่ทำเป็นอาชีพหลัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเราสนใจที่อยากจะทำก็ต้องทำการรวบรวมข้อมูลเสียก่อน ศึกษาข้อมูลให้มากๆ แล้วก็วิเคราะห์ดูว่าเหมาะกับที่ดินที่เรามีไหม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและเงินทุน เพราะมันต้องใช้เวลาถึง 2-3 ปี ถ้าคิดว่าตัดสินใจดีแล้ว ก็เตรียมจัดการได้เลย วางระบบให้เรียบร้อยสอบถามกับผู้ที่มีประสบการณ์ได้ยิ่งดี เพราะแก้วขมิ้นไม่ต้องดูแลอะไรมาก แม้คนที่ไม่มีเวลาก็สามารทำได้ ขอเพียงศึกษาเรื่องสถานที่ปลูกว่าเหมาะสมไหม เท่านี้การปฏิบัติก็จะเป็นงานที่สร้างงานสร้างเงินได้อย่างสบายๆ”

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในช่วงนี้กลางวันจะมีอากาศร้อน มีลม และกลางคืนมีอากาศเย็น กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกชี้ฟ้าให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยอ่อน และไรขาว มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นพริกแตกใบอ่อน สำหรับเพลี้ยอ่อน จะทำให้ใบและยอดอ่อนหงิกงอ บิดเบี้ยว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลพริก ให้เกษตรกรใช้วิธีเขตกรรมกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

หากพบเพลี้ยอ่อนมีความหนาแน่น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของใบทั้งต้นจาก จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทั้งหมด ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และควรพ่นสารอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในส่วนของไรขาว มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอด และดอก ทำให้ใบและยอดหงิกงอ ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง ใบมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว เปราะหักง่าย อาการขั้นรุนแรง ส่วนยอดจะแตกเป็นฝอย ถ้าไรขาวทำลายดอก กลีบดอกจะบิด แคระแกร็น และชะงักการเกิดดอก หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต มักพบระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศชื้น เกษตรกรควรสุ่มสำรวจต้นพริกทุกสัปดาห์

หากพบให้ใช้สารฆ่าแมลง-ไร ที่มีประสิทธิภาพ อาทิ สารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถพ่นซ้ำได้ตามการระบาด

นับจากราวเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน ของทุกปี หากใครมีโอกาสเดินทางผ่านเข้าเมืองนครนายกจะพบเห็นไม้ผลลูกกลมสีเหลืองที่ร้อยเป็นพวงสวยงามแขวนไว้หน้าร้านตลอดสองข้างทาง แล้วต้องบอกว่านั่นคือมะยงชิด

ชื่อมะยงชิดมักถูกเรียกคู่กับมะปราง จนเกิดคำถามว่าทั้งสองอย่างเป็นผลไม้พี่น้องกันหรือ แต่หลังจากสืบค้นจนทั่วแล้วพบว่าเป็นไม้ผลกลุ่มเดียวกัน ประวัติที่มาถูกเริ่มต้นจากมะปรางก่อน จากนั้นถูกนำมาปลูกหลายแห่งจนกลายพันธุ์เป็นมะยงชิด เพราะมีรสหวาน กรอบ ผลขนาดใหญ่ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

แต่กระนั้นมะปรางก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่รูปร่างลักษณะผลเหมือนกันกับมะยงชิด เพราะฉะนั้น ความสับสนเช่นนี้คงมีชาวบ้านที่ปลูกในพื้นที่เท่านั้นที่แยกออกด้วยการชิม และไม่ว่าอย่างไรผู้คนมักรู้จักผลไม้ลูกกลมสีเหลืองนี้ว่ามะปรางหวาน-มะยงชิด

ทั้งนี้ มะปรางหวาน-มะยงชิด เป็นไม้ผลพื้นเมืองที่น่าจับตามอง เป็นที่ต้องการของตลาดสูง แถมมีราคาจำหน่ายค่อนข้างแพง เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ออกตามฤดูกาล และมีพื้นที่การปลูกค่อนข้างน้อย

ชาวนครนายกปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิดกันมาเป็นเวลายาวนาน จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งมะปรางหวาน-มะยงชิดที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติและไม่แพ้จังหวัดอื่น สร้างรายได้ให้แก่ชาวสวนมากมายในช่วงฤดูกาลเพราะชาวสวนนครนายกมีการดูแลผลผลิต พัฒนาสายพันธุ์ให้มีรสชาติที่แตกต่าง ผลผลิตผลใหญ่ สีสันสดใส หวานกรอบ

“สวนสมเกียรติ การเกษตร” เป็นสวนมะปราง-มะยงชิดชีวภาพ ที่มีคุณภาพสวนหนึ่งของจังหวัดนครนายก สวนแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 85 หมู่ที่ 6 ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มี คุณสมเกียรติ วังยายฉิม เป็นเจ้าของสวน

คุณสมเกียรติ ทำสวนผลไม้แบบผสมผสานเช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ไม้ผลที่ปลูกไว้เป็นหลัก ได้แก่ ส้มโอ มะนาว ชมพู่ทับทิมจันท์ ทุเรียน หรือแม้แต่มะปราง-มะยงชิดที่มีพื้นที่ปลูกเกือบ 20 ไร่ และทำมานานกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม สวนของคุณสมเกียรติไม่ได้ปลูกไม้ผลเพื่อรอผลผลิตออกขายตามฤดูกาล แต่เขายังได้ทำต้นพันธุ์ไม้ผลเหล่านั้นไว้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีมากอย่างน่าภูมิใจ

มะยงชิดที่คุณสมเกียรติปลูกไว้เป็นพันธุ์ทูลเกล้า ที่มีความเด่นตรงผลใหญ่ รสอร่อย หวานอมเปรี้ยว และมีผิวสวยน่ารับประทาน สวนสมเกียรติปลูกมะปราง-มะยงชิดแบบระบบปิด ใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร และควบคุมการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเน้นการบำรุงต้นด้วยปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยคอกเป็นหลัก โดยปุ๋ยชีวภาพ ผลิตจากปลาหมักกับจุลินทรีย์ (พด.1) แล้วนำไปราดบริเวณโคนต้น หรือจะผสมน้ำฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน จะช่วยทำให้ลำต้น ใบ และยอดแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยทำให้ได้ผลผลิตถึงปีละ 4 ครั้ง เฉลี่ยต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม

สำหรับปุ๋ยคอกมีการใส่ขี้ไก่เป็นประจำทุกปี จำนวนขี้ไก่ที่ใส่ไม่เท่ากันโดยจะดูจากขนาดของต้นเป็นหลัก ถ้าเป็นต้นใหญ่จะใส่ต้นละ 5-6 กระสอบ (กระสอบละ 20 กิโลกรัม) ในทุกปี ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม เพราะจะช่วยในเรื่องการออกดอกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แล้วยังช่วยทำให้ได้ขนาดผลใหญ่ ถ้าหากไปใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เป็นฤดูฝนแล้วผลจะเล็กกว่า

คุณสมเกียรติ ชี้ว่า ความจริงแล้วปุ๋ยคอกจะใส่กันก่อนเข้าฝนคือเดือนพฤษภาคม แต่เป็นเพราะความบังเอิญที่ในช่วงหนึ่งราคาขี้ไก่ถูกมาก คนขายไม่รู้จะทำอย่างไรเลยนำขี้ไก่มาแลกกับมะยงชิดที่ปลูก ครั้นจะเก็บไว้ก่อนก็จะเสียหาย เลยตัดสินใจนำใส่ต้นมะยงชิด ปรากฏว่าในปีนั้นผลมะปราง-มะยงชิดมีขนาดใหญ่มากกว่าทุกพื้นที่ ได้น้ำหนักถึงผลละกว่า 1 ขีด ยิ่งถ้าเป็นผลสีเขียวยิ่งมีขนาดใหญ่มาก ทำให้เกิดความสนใจของหลายคน

คุณสมเกียรติ บอกว่า การดูแลมะปราง มะยงชิดให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้ยุ่งยากและไม่ต้องดูแลใกล้ชิดมาก เหมือนกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ส่วนเรื่องโรคและแมลง ที่เป็นศัตรูกับมะปราง มะยงชิด ก็มีไม่มาก อาจมีบ้างในช่วงออกดอกที่มีเพลี้ยไฟเข้ามาทำลาย ดังนั้น ภายหลังที่ดอกบานแล้วสัก 4 วัน จะฉีดพ่นยาฆ่าเพลี้ยไฟสัก 2 ครั้งเท่านั้น ส่วนการให้ปุ๋ยและการให้น้ำก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ให้สัมพันธ์กับทรงพุ่มเท่านั้นเอง

นอกจากจะเน้นขายผลผลิตของมะปราง-มะยงชิดแล้ว คุณสมเกียรติยังเพิ่มมูลค่าพันธุ์ไม้ของเขาด้วยการผลิตต้นพันธุ์จำหน่าย แล้วพุ่งเป้าไปที่ความสมบูรณ์ของต้น ด้วยการเน้นปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ด้วยเทคนิคการทำกิ่งจะสลับทำ ต้นเว้นต้นในแต่ละปี ทำให้สามารถผลิตต้นพันธุ์คุณภาพได้จำนวนมากมาย พร้อมกับชี้ว่าต้นมะปราง-มะยงชิดที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตได้ดีมีคุณภาพควรมาจากการขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง เนื่องจากถ้าเพาะเมล็ดแล้วมักกลายพันธุ์

การขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งของคุณสมเกียรติจะเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด จนเกิดเป็นต้นอายุ 1 ปี แล้วถอนขึ้นมาล้างน้ำ นำมาชำในถุงพลาสติกขนาด 3 คูณ 5 นิ้ว ที่อัดด้วยขุยมะพร้าว จากนั้นปล่อยให้ต้นฟื้นตัวก่อนแล้วค่อยนำไปขึ้นทาบ

หลังจากทาบได้ 25-30 วัน ให้สังเกตว่าหากกิ่งต้นตอที่ทาบไม่ตาย ต้องจัดการควั่นเพื่อตัดท่อลำเลียงอาหาร แต่ถ้ามียอดอ่อนที่กิ่งก็ให้รอจนกว่ายอดจะแก่จึงค่อยตัดลงมา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะตัดได้ และหลังจากตัดลงมาก็ต้องเปลี่ยนถุงแล้วดูแลต่ออีก 3 เดือน เพื่อให้ต้นพันธุ์แข็งแรงพร้อมขาย

นอกจากนั้นยังบอกต่ออีกว่า มะยงชิดจะให้ผลผลิตได้ในปีไหนขึ้นอยู่กับขนาดกิ่งพันธุ์ที่ใช้ปลูก ถ้ากิ่งเล็กที่สูงสักเมตรจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ถ้าใหญ่กว่านั้นจะใช้เวลาสั้นมาก หรือแม้แต่ต้นโตที่ปลูกในตะกร้ายังสามารถออกผลได้อีกด้วย

ส่วนราคาขายต้นพันธุ์นั้น คุณสมเกียรติ บอกว่า เนื่องจากที่สวนผลิตกิ่งพันธุ์ด้วยคุณภาพ ดังนั้น จึงกำหนดราคาขาย ถ้าขนาด 90 เซนติเมตร ต้นละ 150 บาท, ขนาด 1-1.5 เมตร ต้นละ 200 บาท, ถ้าต้นในเข่งราคาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท (ติดผลแล้ว)

สำหรับวิธีเก็บผลมะยงชิดนั้นดูเหมือนคุณสมเกียรติยังใช้แนวทางแบบดั้งเดิมคือการสุ่มชิมผลในแต่ละต้น ทั้งนี้เขาชี้ว่า ความไม่แน่นอนเรื่องสีผิวคงไม่สามารถบอกได้ว่ามะยงชิดสุกพร้อมเก็บได้รึยัง เนื่องจากบางปีผิวสีเขียวมีรสหวาน หรือบางปีผิวเหลืองก็ยังไม่หวาน ฉะนั้น ในแต่ละปีจึงต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ยิ่งถ้าอุณหภูมิสัก 20 องศา จะทำให้ออกดอกดีมาก หรือถ้าอากาศหนาวเย็นแล้วมีฝนตกตามมายิ่งทำให้ดอกดก แล้วปีนั้นจะมีผลผลิตมากตามมาด้วย

ผลผลิตมะปราง-มะยงชิดรุ่นแรกจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นรุ่นต่อมาจะเริ่มแตกดอกออกผลตามมาเป็นระยะจนกว่าจะถึงเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ถึง 4 รุ่น กว่าจะวาย ทั้งนี้ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากจะเก็บด้วยการใช้ไม้สอย หรือปีนต้นแล้วใช้กรรไกรตัดที่ขั้วกิ่งเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผล

อย่างไรก็ตาม ผลมะปราง-มะยงชิดที่ยังไม่ถึงเวลาเก็บขายจะต้องห่อผลเพื่อชะลอไม่ให้สุกเร็ว เป็นการดึงเวลาขายให้นานขึ้น อีกทั้งยังเพื่อป้องกันแมลงศัตรูเข้ามาทำลายผลด้วย ดังนั้น ผลที่ห่อจึงมีผิวเรียบสวยไร้รอยตำหนิ ทำให้สามารถขายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

ราคามะยงชิดที่สวนสมเกียรติกำหนดไว้กิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งเป็นราคาขายหน้าสวน เขาชี้ว่าราคานี้อาจดูสูงเพราะเกิดจากการปลูกที่มีคุณภาพ เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค แล้วยังเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ขณะเดียวกัน ผลผลิตมักไม่ค่อยได้นำไปขายที่แผงในตลาดเพราะหมดก่อน อีกทั้งขายในสวนเมื่อมีคณะมาเยี่ยมชมดูงานแล้วเลือกซื้อจากต้นเพราะได้ความสด ใหม่

“ถ้าในวันหยุดจะมีคณะต่างๆ เดินทางมาที่สวน มีทั้งแบบติดต่อมาล่วงหน้าหรือมาเองโดยไม่ได้นัด เพื่อเข้ามาเลือกซื้อมะยงชิดบนต้น จึงต้องหาแรงงานมาช่วยเพราะลูกค้ามีจำนวนมากจนที่จอดรถหาไม่ได้แน่นไปหมด บางรายกลัวไม่มีของจึงต้องโทรศัพท์มาสั่งจองล่วงหน้า 30-40 กิโลกรัม”

ในด้านตลาดต่างประเทศ คุณสมเกียรติมองว่า สามารถทำได้เช่นเดียวกับผลไม้อื่น เพียงแต่ควรมีการส่งเสริมให้ปลูกกันมากขึ้น และเป็นการปลูกด้วยคุณภาพ ทุกวันนี้เฉพาะขายตลาดภายในประเทศยังไม่ทัน อีกทั้งห้างใหญ่หลายแห่งแห่จองข้ามปี

“ผู้ที่สนใจที่จะทำสวนมะปราง มะยงชิด ไม่ต้องกังวลว่าไม้ชนิดนี้จะดูแลรักษายาก ให้มั่นใจได้ว่าเป็นไม้ผลที่มีอนาคต เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกปี หรือบางท่านสนใจปลูกติดบ้านก็ทำได้ดูแลง่ายกว่าปลูกมะม่วงด้วยซ้ำ

จากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งของเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูง ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการความช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้น ทนแล้ง ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าว โดยพืชที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งมีความเหมาะสมปลูกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อาทิ ปอเทือง พืชตระกูลถั่วต่างๆ และข้าวโพด

นายเสน่ห์ แทนรอด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 บ้านหัวเด่น อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชัยนาทเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกข้าว เนื่องจากเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทมีการทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ จึงทำให้เกษตรกรมีความป็นอยู่ที่แย่ลง เนื่องจากขาดรายได้จากการทำนาไป ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายการลดพื้นที่การทำนาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นทนแล้งทดแทน

โดยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกรนัก เนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความเชื่อมั่นจากรัฐบาลว่าการปลูกข้าวโพดจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรได้ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความชำนาญในการปลูกข้าวโพด และไม่คิดที่จะไปทำอาชีพอื่นหรือปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนา จึงไม่กล้าที่จะเข้าร่วมโครงการในปีแรกๆ ซึ่งต่างกับตนที่เคยทำข้าวโพดมาบ้าง ก็มีความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดน่าจะเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีไม่แพ้ข้าวหากมีตลาดรองรับ

ประกอบกับการส่งเสริมของรัฐบาล โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจและวิธีการปลูกข้าวโพด อีกทั้งยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตต่างๆ พร้อมกับหาตลาดให้กับเกษตรกรด้วยการจับมือกับภาคเอกชนหลายๆ บริษัท เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรโดยตรง ทำให้เกษตรกรขายข้าวโพดได้ราคาดีโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรอยู่ได้ซึ่งในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการยอมรับว่ามีความมั่นใจในภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมตรงนี้ จึงได้เข้าร่วมโครงการ จากนั้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีก็จะหันมาปลูกข้าวโพดแทนการปลูกข้าวนาปรัง จากเดิมเกษตรกรหลายๆ คนที่ไม่กล้าจะมาทำตรงนี้ ทำให้ในช่วงปีแรกๆ มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดไม่กี่ร้อยไร่ แต่ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทได้หันมาปลูกข้าวโพดในช่วงฤดูแล้งแทนการปลูกข้าวกันมากขึ้นเป็นหลักพันไร่ ที่สำคัญมีตลาดรองรับโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้งที่ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าการปลูกข้าว

นายเสน่ห์ กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดให้มีคุณภาพขายได้ราคาดี หัวใจสำคัญอยู่ที่การเตรียมดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกและขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ข้าวโพดนั้นมีผลผลิตที่ดีหรือไม่ดี เนื่องจากการเตรียมดินก็เพื่อให้ดินมีความอ่อนตัว และสามารถห่อหุ้มเมล็ดข้าวโพดให้ขึ้นอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่การไถกลบดินและไถชักร่องตามดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือประมาณ 10 วัน ตามความเหมาะสม และหากดินมีความร่วนซุยละเอียดดีเมื่อนำเมล็ดข้าวโพดมาปลูกก็จะทำให้ข้าวโพดตั้งตัวเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตดีตามมา อีกทั้งวิธีการให้น้ำก็น้อยและไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนเยอะเหมือนกับข้าว โดยรวมมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง

ปัจจุบัน นายเสน่ห์ สล็อตออนไลน์ มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ 40 กว่าไร่ เป็นที่ของตนเอง 30 กว่าไร่ ที่เหลือเช่าพื้นที่ทำการเกษตร โดยแบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 20 ไร่ ทำนา 13 ไร่ และปลูกอ้อยอีก 14 ไร่ โดยในช่วงนี้ที่เป็นช่วงแล้งของปี มีการปลูกข้าวโพดอยู่ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณปลายเดือนเมษายน และคาดว่าในปีนี้ผลผลิตจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมีความชำนาญในการปลูกมากขึ้น ประกอบกับมีขั้นตอนการปลูก การดูแลตามหลักวิชาการที่ดี ตามคำแนะนำและส่งเสริมจากภาครัฐ กรมส่งเสริมการเกษตร และภาคเอกชนในฐานะตลาดรับซื้อทำให้สามารถผลิตข้าวโพดได้ตรงกับความต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีจากความสำเร็จในการเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่หันมาปลูกข้าวโพดในจังหวัดชัยนาท ทำให้ปัจจุบันในพื้นที่ของนายเสน่ห์เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการผลิตข้าวโพดที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย

กลุ่มประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น และอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร เช่น พม่า ศรีลังกา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย (เฉพาะเขตตอนบน) และฟิลิปปินส์(เฉพาะเขตตอนใต้) สามารถปลูกทุเรียน “ ราชาแห่งผลไม้ ” สำหรับเมืองไทยปลูกทุเรียนมานาน มีสายพันธุ์ทุเรียนโบราณมากกว่าร้อยสายพันธุ์