ในทุกวันสุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลของ ไอแอมด็อกเฮ้าส์จะมีเวลาสำหรับ

เพื่อผ่อนคลายวันละประมาณ 4 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวลาเช้า 2 ชั่วโมง และเวลาเย็นอีก 2 ชั่วโมง โดย 1 ชั่วโมง ก่อนเข้ากรงในเวลาเย็น จะเป็นเวลาให้อาหารของทุกวัน วันละครั้ง ซึ่งการปล่อยสุนัขให้วิ่งเล่นเป็นสิ่งที่คุณมงคลคำนึงถึง เพราะมีส่วนช่วยให้สุนัขไม่เครียดและมีความสุข

สุนัขที่เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์จะได้รับอาหารวันละมื้อ ส่วนสุนัขเด็กจะได้รับอาหารวันละ 2 มื้อ อาจมีโยเกิร์ตบ้างในบางโอกาส ส่วนสุนัขท้องจะเพิ่มไข่ต้มและนม เป็นอาหารบำรุงครรภ์ นอกเหนือจากนั้นไม่มีอาหารพิเศษ เพราะสารอาหารมีครบถ้วนอยู่ในอาหารเม็ดแล้ว ยกเว้นการทำวัคซีนตามโปรแกรมที่ไม่ควรลืม

หลังคลอด ลูกสุนัขจะถูกถ่ายภาพโพสลงในเว็บไซต์ ภายใน 7 วัน ลูกสุนัขที่โพสจำหน่ายจะถูกจองหมด แต่ผู้จองจะมารับลูกสุนัขได้ เมื่อลูกสุนัขมีอายุประมาณ 45 วัน

เจ้าบีเกิ้ลที่ ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ ไม่ได้มีใบรับรองมาตรฐานสายพันธุ์ หรือ ใบเพ็ดดีกรี อย่างเช่นฟาร์มใหญ่ๆ แต่การผสมพันธุ์ก็ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ได้ลูกสุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลแท้ แต่สามารถจำหน่ายได้ในราคา 9,000 บาท ต่อตัว

การซื้อขายสุนัข ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบ้าน ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ เพราะมีหลายครั้งที่คุณมงคลเห็นว่า หากลูกสุนัขโตเกินวัยจำหน่าย คุณมงคลจะเลี้ยงไว้เอง และไม่รับจองกรณีที่ลูกสุนัขยังไม่คลอด เพราะถือเป็นการเอาเปรียบผู้รักสุนัข ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่พอใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการขนส่งที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ หากระยะทางจาก ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ ถึงปลายทางไม่ไกลนัก คุณมงคลบริการส่งให้ฟรี

แม้คุณมงคล จะบอกว่าการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายสุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ล ไม่ใช่งานหลักของครอบครัว แต่จำนวนสุนัขที่ต้องดูแลปัจจุบันมีถึง 11 ตัว ยังไม่นับรวมจำนวนลูกสุนัขที่คลอดระหว่างปี และอยู่ในความดูแลอีก 45 วัน ก่อนส่งต่อไปยังผู้ซื้อ อีกประมาณปีละ 40-50 ตัว แล้ว จัดได้ว่า ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ อยู่ระหว่างรอเทียบชั้นฟาร์มขนาดย่อมทีเดียว

ประการสำคัญที่สุด สำหรับผู้รักและสนใจเลี้ยงเจ้าตูบสายพันธุ์บีเกิ้ล คุณมงคล ย้ำว่า การดูแลเอาใจใส่ มีเวลาเล่นกับสุนัขประเภทนี้ จำเป็นที่สุด หากไม่มีเวลาให้กับเขา ขอให้มองสุนัขสายพันธุ์อื่นน่าจะดีกว่า

ก่อนจบบทสนทนา คุณมงคล ขอให้ผู้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ล ศึกษานิสัยของเจ้าตูบสายพันธุ์นี้ให้ดี หรือควรเห็นลูกสุนัขก่อนตัดสินใจซื้อ และที่ ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ เปิดให้เยี่ยมชมได้ตามสะดวก ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ พร้อมต้อนรับ

โทรศัพท์ติดต่อเข้าชมได้ที่ ไอ แอม ด็อก เฮ้าส์ หมู่บ้านราชพฤกษ์ เลขที่ 114/82 หมู่ 9 ซอย 12 ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี หรือโทรศัพท์สอบถามกันล่วงหน้าได้ที่ คุณนวรัตน์ กลิ่นขจร 081-780-7281 และ 084-568-2489

เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด เศษปุ๋ยคอก และเศษวัสดุอื่นๆ ทางการเกษตรที่หลงเหลือจากการใช้ประโยชน์ ส่วนมากมักถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นขยะ เน่าเหม็นที่ไร้มูลค่า อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมดังนั้น หากมีการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่า คงจะดีไม่น้อย

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้นักศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ช่วยกันคิดค้น เครื่องอัดขุยมะพร้าวด้วยระบบอัตโนมัติขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า โดยผลงานดังกล่าวมี อาจารย์ชัยรัตน์ หงส์ทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลงานดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยเจ้าของผลงานว่า เครื่องอัดขุยมะพร้าวอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบ PLC จุดประสงค์ที่คิดสร้างเพราะต้องการสร้างมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการเกษตร และลดขยะที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องอัดขุยมะพร้าวอัตโนมัติเครื่องนี้ จะขัดเศษขุยมะพร้าวใช้เป็นรูปทรงกระบอก เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ทำเป็นแท่งเมล็ดพันธุ์พืช กล้าไม้และแท่งปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้ ใช้เป็นแท่นเพาะเมล็ดโดยไม่ต้องใช้ถุงดำ เนื่องจากแท่งวัสดุที่อัดได้ มีความหนาแน่นพอที่จะไม่แตกออกจากกัน ทำให้รูปทรงกระบอกเหมือนถุงดำเพาะกล้าไม้ เป็นการลดปริมาณขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงดำ และประหยัดต้นทุนในการซื้อถุงดำเพาะกล้าไม้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของเครื่องและการทำงาน เครื่องจะแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นจุดลำเลียง สำหรับลำเลียงวัตถุดิบ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 24 โวลต์ ส่วนที่สอง เป็นชุดอัดแท่งขุยมะพร้าว สำหรับอัดแท่งขุยมะพร้าว ขนาด 150x200x140 มิลลิเมตร เมื่อประกอบเข้าด้วยกันและทดสอบประสิทธิภาพการทำงานพบว่า เครื่องสามารถอัดแท่งวัตถุดิบมีอัตราเฉลี่ย 7.3 กรัม/1 คู่ ใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาที

สำหรับการผลิตแท่งอัดขุยมะพร้าวของเครื่องอัดขุยมะพร้าวต่อการผสม 1 ครั้ง ใช้ปริมาณการผลิต 20 ชิ้น มีอัตราการผลิตแท่งอัดขุยมะพร้าว 360 แท่ง ต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ส่วนผสมสำหรับอัดขุยมะพร้าว ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว 5 กิโลกรัม สารเหนียว 0.8 กิโลกรัม และน้ำดินเหนียว 6 กิโลกรัม ผสมส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วเทลงใน Hopper ของถึงลำเลียง จากนั้นก็เดินเครื่องเพื่อป้อนลำเลียงวัตถุดิบลงชุดอัดแท่ง จากนั้นกระบอกสูบนิวเมตริกส์จะอัดวัตถุดิบให้เป็นแท่งขุยมะพร้าวและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ศูนย์เกษตรธรรมชาติแม่ออน ของ ครูอินสอน สุริยงค์ ที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ คือแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องของอินทรีย์ชีวภาพที่แสดงให้เห็นทุกขั้นตอนของการผลิตอาหารพืช อาหารสัตว์ เพื่อการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล หลังจากถอดบทเรียนและประสบการณ์การปลูกพืชที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างหนักมานานนับสิบปี เคยผิดหวังและล้มเหลวกับการปลูกพืชผัก ไม้ผล โดยเชื่อมั่นในสารเคมีชนิดไม่เปิดใจรับอินทรีย์ชีวภาพจนมีหนี้สินท่วมตัว ก่อนตัดสินใจขายที่ดินแปลงใหญ่เหลือไว้ไม่กี่ไร่และเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตใหม่ที่ไม่ทำลายทั้งดิน น้ำ ตัวเองและผู้บริโภค

ครูอินสอน ตัดสินใจบุกเบิกที่ดินผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ เปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2530 หลังจากศึกษา และลงมือปฏิบัติเรื่องจุลินทรีย์จนลึกซึ้ง รวมถึงการแปรความหมายของเกษตรกรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรธรรมชาติจนประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างเครือข่ายสมาชิกจากการไปอบรมให้ความรู้ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน มีทั้งการให้ความรู้ด้านการศึกษาตามอัธยาศัยผ่านการศึกษานอกโรงเรียน จนถึงให้ความรู้กับเยาวชนที่อยู่ในระบบ และถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนทั้งที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์แห่งนี้ และที่ต้องเดินทางไปเป็นวิทยากรมากมายหลายแห่ง

อย่างไรก็ดี ครูอินสอน ก็ไม่ละทิ้งภารกิจหลักคือ การเตรียมวัตถุดิบสำรองไว้ทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ให้มีใช้ในพื้นที่และให้คนที่สนใจได้มีโอกาสนำไปใช้ได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ประชากรในพื้นที่แม่ออนเกือบร้อยละ 80 มีอาชีพทำการเกษตรและเลี้ยงวัวนมทำให้มีวัสดุต่างๆ เช่น เศษไม้ เศษหญ้า ข้าวโพดที่โคนมกินไม่หมด ครูอินสอนก็แนะนำให้เกษตรกรนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อจะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครูบอกว่าเกษตรกรก็ซื้อวัตถุดิบมาในราคาแพงหรือเวลาปลูกก็ต้องเสียค่าปุ๋ยหรืออะไรต่างๆ

นอกจากนั้น ผู้สูงอายุหรือคนที่ว่างงานก็ยังสามารถเก็บขยะมาขายได้แทนที่จะเอาไปเผา ซึ่งได้ราคากระสอบละ 3 บาท ซากเห็ดต่างๆ เช่น ก้อนเห็ด เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ก็ยังใช้ทำปุ๋ยหมักได้เพราะว่าปุ๋ยหมักที่นี่ ไม่ได้ใช้มูลสัตว์อย่างเดียวไม่เช่นนั้นธาตุอาหารจะไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงใช้วัสดุต่างๆ เกือบ 10 อย่าง ผสมผสานซึ่งก็รวมถึงเปลือกไข่ ซึ่งมีการรับซื้อจากร้านอาหารด้วย ครูบอกว่าเปลือกไข่หรือเปลือกหอยต่างๆ จะมีฟอสฟอรัสกระตุ้นให้เกิดการออกดอก นอกจากนั้นแล้ว หินภูเขาไฟก็ยังถูกนำมาผสมให้ปุ๋ยมีธาตุอาหารสูงขึ้นอีกด้วย

ในการทำปุ๋ยหมัก ปกติจะมีการใช้ยูเรียหรือสารเร่งต่างๆ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน แต่ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์ที่แม่ออนแห่งนี้ ทำ 24 ชั่วโมง 3 วัน หรือ 7 วัน ใช้ได้ ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นนอกจากใช้บำรุงพืชหรือรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังนำไปหว่านลงบ่อปลาต่างๆ บำบัดน้ำเสียด้วย ญี่ปุ่นเรียกว่า โบกาชิ ซึ่งใช้มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลวัว มูลควาย 3 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน เป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์เกิด และก็ใช้แกลบหยาบหรือพืช 10 ส่วน ก่อนจะหมักและเอาจุลินทรีย์รดราดหมักออกมาเป็นโบกาชิ

ปุ๋ยที่ได้จะหว่านลงในคลองทำให้ขยะหรืออะไรต่างๆ ที่ตกลงไปในคลองนั้นไม่มีกลิ่นเพราะบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ก้อน และก็เอาโบกาชิหรือปุ๋ยหมักโยนลงไป จะทำให้น้ำเขียวทำให้เกิดแพลงตอน ทำให้สามารถเลี้ยงปลาได้ นอกจากนั้น พวกผักตบชวา ผักบุ้งอะไรต่างๆ ที่ปลูกไว้ที่ท้องร่องก็ยังนำมาหมักเป็นส่วนเสริมเลี้ยงหมู ไก่ ปลา โดยใช้ผักตบชวา หยวกกล้วย หรือพืชผักต่างๆ 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 1 ลิตร และเกลือ 1 ลิตร คลุกเข้าด้วยกันหมักไว้สัก 7-10 วัน เอาไปผสมให้สัตว์กินไม่มีกลิ่นเหม็น

มะละกอหรือผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกผสมผสานกันไว้ ถ้าขายไม่หมดให้นำมาทำน้ำหมัก เร่งราก เร่งผล และยังสามารถเอามาหมักให้สัตว์กินได้ด้วย

สมุนไพร พืชผักสวนครัว

นอกจากนั้น พื้นที่ว่างข้างรั้ว ตามทางเดินยังมีการปลูกผักพืชสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ และ กะเพรา หากนับดูแล้วจะมีพืชที่มีกลิ่นฉุนกว่า 20 ชนิด ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ บางอย่างก็เอามาต้ม แล้วผสมกับน้ำส้มควันไม้ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญคือ คาร์บอน ที่ได้จากการเผาถ่านเพื่อใช้ไล่แมลง นอกจากนั้น ก็ยังมีสมุนไพรดับกลิ่น ซึ่งทำโดยผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วน กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงและจุลินทรีย์ 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน หมักไว้ประมาณ 14 วัน เอามาผสมร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะดับกลิ่นได้ดีแล้วยังช่วยขับไล่แมลงและบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

โบกาชิดิน ดินพร้อมปลูก สินค้าขายดีครูอินสอน ยังรับซื้อขยะใบไม้หรือเห็ดต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีรายได้วันละ 300-500 บาท ขณะที่ฟาร์มเห็ดจะรับซื้อในราคาสูงถึง 500 บาท แต่ 1 คันรถปิกอัพ นอกจากนั้น ก็มีใบไม้หรือข้าวโพดต่างๆ ที่สัตว์กินไม่หมดก็รับซื้อเหมือนกันเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูก

วิธีการทำง่ายๆ ก็คือ ใช้ดินร่วน 5 ส่วน แกลบดำ 2 ส่วน รำละเอียด 2 ส่วน และมูลสัตว์ 2 ส่วน ผสมเข้าด้วยกัน ใช้จุลินทรีย์รดแล้ว คลุมด้วยกระสอบพลิกทุกวันใช้เวลา 7 วัน หลังจากนั้นก็ใช้อินทรียวัตถุเช่นใบไม้ต่างๆ ทุกอย่างที่ซื้อมาจากเกษตรกรใบไม้ทุกชนิดแยกพลาสติกออก ใช้ใบไม้ทุกอย่าง 10 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน มูลสัตว์ 2 ส่วน แล้วใช้ปุ๋ยหมักหัวเชื้อที่หมักแล้วมาผสมและรดราดด้วยจุลินทรีย์ ความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ มาเก็บในกระสอบแล้วก็ทิ้งไว้ ใช้ไม้มากั้นตรงกลางให้อากาศผ่านเพราะจุลินทรีย์บางอย่างต้องการอากาศ ไม่ต้องตากแดด ผ่านไป 5 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก็จะเริ่มร้อน และความร้อนจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ในวันที่ 3 แต่ก็จะมีการระบายความร้อนตลอด โดยกระสอบที่เลือกต้องมีการระบายได้ เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็เอามาเป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูกซึ่งขายดีมากเลย ในญี่ปุ่นเรียกว่า โบกาชิดิน ซึ่งประกอบด้วย ดิน หัวเชื้อ แล้วก็แกลบ อินทรีวัตถุที่หมักแล้วผสมกัน

ครูอินสอน ระบุด้วยว่า ดินพร้อมปลูกทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดนั้นส่วนมากจะใช้ดินมาผสมสิ่งต่างๆ โดยไม่มีการหมัก ทำให้แก๊ชแอมโมเนีย แก๊ชไข่เน่า ยังมีอยู่ ซึ่งเมื่อนำไปใส่ต้นพืช พืชก็จะเน่าตายในที่สุด

ไก่อินทรีย์ ราคาดีกว่าฟาร์มนอกเหนือจากการปลูกพืชผักไร้สารพิษแล้ว การเลี้ยงสัตว์ที่นี่ก็ยังเป็นสัตว์อินทรีย์ปลอดเคมีและไร้กลิ่น ครูอินสอนเลี้ยงไก่โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตขึ้นเองผสมอาหารให้ไก่กินเลย ส่วนน้ำก็ใช้ผสมด้วยจุลินทรีย์เพื่อดับกลิ่น หรือถ้ามีกลิ่นเหม็น ก็ใช้ปุ๋ยหมักโรยให้ทั่วเพราะเป็นจุลินทรีย์แห้งก็จะช่วยย่อยสลาย แทนที่จะเป็นมูลสัตว์ที่มีแก๊สหรือแก๊สไข่เน่าต่างๆ จุลินทรีย์ต่างๆ ก็จะช่วยย่อยสลาย เมื่อมูลสัตว์มากพอก็นำมากองรวมกันใช้ทำปุ๋ยได้อีก

ส่วนเรื่องวัคซีน ก็จะให้ตั้งแต่ตอนไก่ยังเล็กๆ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ โดยในส่วนนี้จะมีการใช้สมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม จุลินทรีย์ กระเทียม ผสมน้ำให้ไก่กิน ก็จะมีภูมิต้านทานโรคได้ดีด้วย ทั้งนี้ ครูอินสอนจะซื้อพันธุ์ไก่ตัวเล็กๆ ในราคาตัวละ 5 บาท และใช้เวลาเลี้ยง 70 วัน ก่อนจะขายในราคา ตัวละ 65 บาท โดยมีต้นทุนการเลี้ยงตัวละ 20 บาท ในแต่ละวันครูจะขายได้วันละประมาณ 3 พันบาท อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่ต้องเลี้ยงเป็นรุ่นๆ ต่อกันเพื่อให้มีรายได้ตลอดปี ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องมีรายได้ทุกวัน ถ้าซื้อไก่มารุ่นเดียวกันหมด จะสู้ค่าอาหารไม่ได้ เพราะไก่กินจุมาก วันหนึ่งกินสองมื้อ ต้องพึ่งรายได้จากการขายรุ่นพี่เพื่อไปเลี้ยงรุ่นน้อง ต้องวางแผนผลิตและการขาย

“ไก่พันธุ์เนื้อเราจะเลี้ยงเป็นรุ่นๆ เพื่อให้ทันกับตลาดที่นี่เรามีลูกค้าประมาณ 4 ราย ลูกค้าไปชำแหละขายตัวละจาก 60-65 บาท เขาเอาไปขายตัวละ 100”

“กำไรสูงกว่าไก่ฟาร์มแน่ๆ ที่นี่เราเลี้ยงครั้งละ 500 ตัว ยังขายมูลไก่ได้อีก มีหลายรุ่นใช้ระบบพี่เลี้ยงน้อง”

สำหรับอาหารไก่ ก็ใช้สูตรข้าวโพดป่น 60 กิโลกรัม รำละเอียด 10 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 18 กิโลกรัม ปลาป่น 8 กิโลกรัม เกลือป่น 5 ขีด แคลเซียมฟอสเฟส (P-18) จำนวน 1 กิโลกรัม ฟรีมิกซ์ ไก่ไข่ 5 ขีด และปุ๋ยหมักที่ทำเอง 25-40 กิโลกรัม

สำหรับการเลี้ยงหมูหลุมของครูอินสอนทำได้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ใช้ซีเมนต์บล็อกมาก่อแล้วฉาบปูน แต่หากเกษตรกรมีรายได้น้อยจะไม่ใช้บล็อกนี้ก็ได้ เพียงแค่นำส่วนผสมของดินและวัสดุต่างๆ มาใส่ในหลุม แบ่งเป็น 36 ชั้น ชั้นละ 30 เซนติเมตร โดยชั้นล่างสุดจะเป็นดินหรือพวกใบไม้ เศษวัสดุต่างๆ ที่ย่อยสลายได้ ใส่ลงไปก่อนโดยใช้ปุ๋ยหมักโรยลงไป 1 ตารางเมตร ต่อ 2 กำมือ แล้วใช้เกลือเพื่อทำให้ดินเป็นกลาง ตามด้วยจุลินทรีย์ลงไป อีกชั้นหนึ่ง ส่วนชั้นกลางจะเป็นแกลบหรือขี้เลื่อย และชั้นบนสุดเป็นอินทรียวัตถุที่ต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จากนั้นใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ราดลงไป ซึ่งจุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลาย – ดับกลิ่น ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้ครูทำเองไม่มีอันตราย จากนั้นใช้น้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำดื่มใส่ลงไป หมูก็จะได้กินจุลินทรีย์จากอาหาร

นอกจากนั้น ก็ยังมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยเช่นแล็กโตบาซิลัส ช่วยระบาย บางครั้งก็ระบายทันที ซึ่งก็เป็นผลดีเพราะการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงท้องอืดนับว่าอันตรายมาก แต่ครูบอกว่าถ้าท้องร่วงหรือถ่ายเหลวจะดีมาก เพราะเป็นการดีท็อกซ์ ขับสารพิษออกจากร่างกาย จะทำให้หมูและสัตว์เลี้ยงโตไว

“หมูถ่ายเหลวก็ดี เพราะจะไม่ต้องเป็นริดสีดวงทวาร ในส่วนของน้ำดื่มเราก็เติมจุลินทรีย์ลงไป พอมันได้กินโบกาชิแห้งหรือปุ๋ยหมักเสร็จและก็น้ำอีก สิ่งแวดล้อมก็ไม่มีปัญหา เลี้ยงเป็นหมื่นก็ไม่มีปัญหา มูลมันจะไม่มีกลิ่นเลย เชื้อโรคตัวสำคัญๆ ก็ไม่มีเพราะจุลินทรีย์ทำลายไปแล้ว จุลินทรีย์บางตัวมันแอนตี้กับแสงมันจะตายไป บางกลุ่มมันก็ชอบ”

เมื่อได้มูลสัตว์ออกมาก็ตักไปกองไว้นำไปใช้ได้เลยแทนที่จะหมักเป็นเดือนเพราะจุลินทรีย์ย่อยแล้ว มีน้ำปัสสาวะและมูลหมูรวมอยู่ด้วยกันนำมาผสมกับปุ๋ยหมัก ซึ่งก็มาจากการหมักใบไม้นั่นเอง นำไปขายได้ปุ๋ยกิโลกรัมละ 8 บาท

“วิธีนี้เราขยายไปไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน จากฟาร์มต่างๆ เรายังไม่ได้ขายหมูเลย แต่ขายปุ๋ยตัวนี้แล้วกิโลฯ ละ 8 บาท”

ทั้งนี้ ธาตุอาหารจากมูลหมูจะสูงมาก สูงกว่ามูลค้างคาวที่ราคาแพงกว่า แต่ปุ๋ยจากมูลหมูหมักจะถูกมองข้าม นอกจากนี้ ครูอินสอน ยังยืนยันว่ามูลหมูนี่แหละที่เหมาะกับพืชสีเขียวที่ต้องการไนโตรเจนสูงและยังนำไปใช้กับต้นไม้อื่นๆ ได้หลากหลายมาก แต่ต้องให้มูลนั้นแห้งก่อน และถ้าจะให้ดีที่สุดต้องเอาไปหมักก่อน

สำหรับการทำอาหารหมู จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของหมู 15-30 วัน หรือ 30-60 วัน ก็ต่างกันไป โดยการใช้ข้าวโพดบด ถ้าเกษตรกรมีข้าวโพดต้นทุนยิ่งถูกกว่า โดยนำมาบด 62 กิโลกรัม รำละเอียด 9 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 22 กิโลกรัม ปลาป่น 4 กิโลกรัม กระดูกป่น 1.2 กิโลกรัม เกลือป่น 3 ขีดครึ่ง และน้ำมันพืชที่ใช้แล้วผสมเพื่อเพิ่มไขมัน และก็ปุ๋ยหมักรวมแล้วก็ 100 กิโลกรัม จากนั้นก็เติมวิตามินพวกเกลือเชิงซ้อนไดแคลเซียม (complexed calcium) 1 กิโลกรัม และก็วิตามินฟรีมิกซ์ 3 ขีดครึ่ง และกรดอะมิโน 2 ขีดครึ่ง โดยสรุปแล้ว ก็จะได้อาหารประมาณ 100 กิโลกรัม ต้นทุนกิโลกรัมละ 6 บาท แทนที่จะไปซื้อกิโลกรัมละ 18 บาท

เลี้ยงกบใน “คอนโด”

การที่กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมานัก ส่วนมากมักจะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ใช้ทุนสูง อย่างต่ำก็ต้องเป็นบ่อขนาด 3 x 4 เมตร ซึ่งต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 พันบาท แต่ถ้ามาเรียนรู้กับครูอินสอน ครูจะบอกว่าเสมอว่าเลี้ยงกบที่ไหนก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้เพียงแค่หาภาชนะ ง่ายๆ เช่น นำขวดน้ำดื่มมาเจาะรู ใส่กบไป 3 ตัว เนื่องจากอัตราส่วนการเลี้ยงกบปกติจะอยู่ที่ 1 ตารางเมตร ต่อ 100 ตัว ต่างกับปลาดุกที่ 1 ตารางเมตร จะเลี้ยงได้ 50 ตัว แต่หากเป็นปลานิล 1 ตารางเมตร ไม่เกิน 10 ตัว ครูเล่าว่าถ้าจะเลี้ยงกบก็เริ่มต้นด้วยการซื้อกบน้อยๆ ตัวละ 2 บาท มาใส่ในขวด เอาน้ำใส่แล้วจุลินทรีย์เล็กน้อย ผ่านไปสามสี่วันเมื่อเริ่มมีกลิ่น เราก็เอาไปเทลงถัง เสร็จแล้วก็เอาโบกาชิใส่ลงไปเพื่อบำบัด เอาจุลินทรีย์ลงไป พอกบถ่ายลงไปก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก แล้วก็เอาไปรดต้นไม้ด้วยการเจือจางก่อน

อีกวิธีการหนึ่งก็คือกล่องโฟมขนาด 40 x 60 เซนติเมตร เจาะรู ใส่กบลงไป ตัวนี่ป ระมาณ 2-3 เดือนแล้ว ใส่ได้ประมาณ 40 ตัว เลี้ยงซ้อนกล่องก็ได้

ส่วนการเลี้ยงกบใน “คอนโด” ยางรถให้ใส่ทรายหยาบหรือทรายขี้เป็ดใช้ตะแกงมารอง ด้านล่าง ใช้หินหยาบลง 3 ชั้น ใส่น้ำ 2 ชั้น ตามด้วยจุลินทรีย์ เวลาเปลี่ยนน้ำใช้สายยาง เจาะออกไป ไล่น้ำเสียออก แม้จะปล่อยน้ำทิ้งก็ไม่ได้ทำให้น้ำเน่าเสียเพราะว่าบำบัดด้วยจุลินทรีย์ซึ่งย่อยสลายมูลเรียบร้อยแล้ว

ถ้าเกษตรกรมีตาข่าย หาไม้ไผ่มาทำเป็นลักษณะกว้างตามต้องการ 1 ตารางเมตรเลี้ยงได้ 100 ตัว ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเพราะว่าแช่อยู่ในน้ำ โยนอาหารให้กิน ถ้าเลี้ยงแบบนี้อาจจะจับยาก หรือจะเลี้ยงตามท้ายนาก็ได้ใช้ตาข่ายไปล้อมไว้ แต่กบที่เอามาเลี้ยงต้องตัวเล็กๆ ประมาณ 2 บาท ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน จับขายได้แล้ว

ข้าวนอกนา ภูมิปัญญาพอเพียง

ข้าวนอกนาเป็นนวัตกรรมบ้านๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ครูอินสอนยืนยันว่าข้าวปลูกที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่างข้างตึกแต่ต้องมีที่ให้รับแดดได้ครึ่งวัน วิธีการก็คือเอาท่อนไม้หรือซีเมนต์บล็อกมาเรียงไปรองด้วยพลาสติกหนา 200 ไมคอน หน้ากว้างมาตรฐานทั่วไปคือกว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร ลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใส่ดินและน้ำลงไปแล้วก็ปลูกเลย ผลผลิตจะแตกต่างจากการปลูกในถังกลม และถือเป็นหนึ่งในประเภทของข้าวนอกนา เป็นข้าวลอยน้ำ ผลผลิตได้น้อยกว่าในบ่อพลาสติก แก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ลุ่มได้ ระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 100 วัน อย่าให้วัชพืชขึ้น

สำหรับการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่มีการชลประทานที่ดี ก็ใช้น้ำประปาได้หรือน้ำสุดท้ายของการล้างจานเอามาใส่ก็ได้ โดยใช้ถังกลมกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้ฟลินโค้ตทาเพื่อไม่ให้น้ำซึมและใช้ดินร่วน 8 ส่วน ใช้ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน ใช้อินทรีวัตถุเก่าๆ ลงไปส่วนหนึ่ง และแกลบดำส่วนหนึ่งใส่น้ำให้ขลุกขลิกแล้วก็ปลูกลงไป ใช้ได้ทั้งนาดำและนาหว่าน