ในประเทศไทยนิยมปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็น

พันธุ์อ้อยรับรองของกรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกอ้อยดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร จึงนำพันธุ์อ้อยซึ่งผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี นำมาคัดเลือกและประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 หรือให้ผลผลิตอ้อยโรงงานสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก มีความหวานหรือค่าซีซีเอสมากกว่า 12 และเป็นพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง จนได้อ้อยพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 มีลักษณะเด่น คือให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 5,647 ลิตร/ไร่ เปอร์เซ็นต์หีบ 38.1 เปอร์เซ็นต์ มีความหวาน 19.1 องศาบริกซ์ น้ำอ้อยคั้นมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคพบว่า สิ่งที่ชอบมาก ได้แก่ กลิ่นหอม รองลงมาคือ สี รสชาติ และความหวาน ส่วนผลการประเมินเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายอ้อยในจังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก พบว่า เกษตรกรทุกรายชอบ และให้การยอมรับอ้อยพันธุ์ศรีสำโรง 1 โดยเฉพาะจำนวนผลผลิต กลิ่น รสชาติ เปอร์เซ็นต์หีบ และขนาดลำ

“อ้อยพันธุ์ใหม่ศรีสำโรง 1 เป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ที่มีลำต้นค่อนข้างนิ่ม สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งจากการคั้นน้ำ การเคี้ยว หรือส่งเป็นอ้อยโรงงาน โดยในอ้อยคั้นน้ำจะมีเปอร์เซ็นต์หีบสูง น้ำอ้อยมีสีสวย และมีกลิ่นหอม รวมทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น การทำอ้อยงบ อ้อยกะทิ อ้อยผง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยด้วย โดยในปี 2562 นี้ หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ได้ขยายอ้อยโคลน คั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งสามารถปลูกขยายต่อในพื้นที่ได้ถึง 50 ไร่” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกอ้อยมาก (ปีละประมาณ 6 แสนไร่เศษ) เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน เป็นพืชที่ให้ผลผลิตปีละครั้ง ต้นทุนการผลิตสูง บางปีราคาดี แต่บ่อยครั้งราคาตก อย่างเช่นในฤดูการล่าสุด ราคาตันละประมาณ 400 บาท บางรายขายแบบเหมาสวนไร่ละ 3,500-4,000 บาท ซึ่งขาดทุน แต่ก็ยอมขาย เพราะหากจ้างเขาตัดก็จะขาดทุนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุน ที่กล่าวมาไม่ขาดทุนเฉพาะปีล่าสุดเท่านั้น แต่มีหลายคนที่ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องหลายปี แทบล้มละลาย เป็นหนี้สินนับสิบยี่สิบล้านบาท

ท่านที่เคารพครับ !!! ฉบับนี้ จึงขอหยิบยกกรณีตัวอย่างของเกษตรกรท่านหนึ่งที่เป็นหนี้สินจากการปลูกอ้อยราว 20 ล้าน แต่ด้วยการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้เวลานี้ปลดหนี้ได้เกือบหมด นั่นคือ คุณพิเชษฐ์ อินทรพานิช อายุ 46 ปี อยู่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (092) 334-3034

คุณพิเชษฐ์ ให้ข้อมูลว่า จบการศึกษาด้านการเกษตรระดับ ปวส. จากวิทยาเขตเกษตรกาฬสินธุ์ ปี 2536 แล้วเรียนต่อระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเอกชน หลังจบการศึกษา ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2538-2540 ในปี 2540 มาทำงานใกล้บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ผสมเทียม (ลูกจ้างชั่วคราว) ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาวัง จากนั้นปี 2542 ไปทำหน้าที่ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีบุญเรือง เป็นเวลา 2 ปี แล้วลาออกไปทำงานที่สหกรณ์โคนมนาวัง

ปี 2545 ไปเปิดร้านขายปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์การเกษตรที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ระหว่างนั้นได้ทำไร่อ้อยควบคู่กันไปด้วยเป็นเวลา 5 ปี ปลูกอ้อย (เช่าที่) ปีละประมาณ 400 ไร่ และซื้ออ้อยเขียวอีกปีละ 1,000 ไร่ ปรากฏว่าขาดทุนสะสมประมาณ 20 ล้านบาท

จากการประสบปัญหาขาดทุนดังกล่าว ทำให้เครียด จิตฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิทำอะไร ต่อมาจึงตั้งสติ ค่อยๆ คิดหาทางแก้ปัญหา เริ่มจาก ขายที่ดินบางส่วนใช้หนี้ ราว 5 ล้านบาท ควบคู่กับปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่ บนที่ดิน 6 ไร่ เดิมปลูกลำไย กว่า 200 ต้น ซึ่งได้ผลผลิตปีละครั้ง ได้ทำการตัดโค่นบางส่วนคงเหลือไว้ทำแปลงขยายพันธุ์ จากนั้นทำการเกษตรหลายอย่าง ได้แก่ ปลูกฝรั่งไร้เมล็ด (พันธุ์กิมจู) ปีแรกปลูก 100 ต้น ต่อมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มอีก 100 ต้น รวมเป็น 200 ต้น ส้มโอทับทิมสยาม ขนุน ผักปลอดสารพิษ ผักหวานป่า เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อ 5 บ่อ เช่น ปลาสลิด ปลาสวาย ปลาดุก ตะเพียน มีการเพาะพันธุ์กบขายด้วย โดยมีพ่อแม่พันธุ์ 50 คู่ พร้อมเจาะบ่อบาดาลนำน้ำมาใช้ในการเกษตรด้วย

คุณพิเชษฐ์ บอกอีกว่า กิจกรรมที่ทำรายได้อันดับหนึ่งคือ ฝรั่ง ถึงจะปลูกไม่มากนักแต่สามารถทำรายได้แทบทุวัน โดยจะเก็บผลผลิตวันเว้นวัน ขายปลีก กิโลกรัมละ 35 บาท หรือ 3 กิโลกรัม ต่อ 100 บาท รายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 22,000 บาท หรือปีละร่วม 3 แสนบาท

เทคนิคการปลูก โดยใช้ระยะปลุก 2×2 เมตร เน้นระบบชิด ดูแลและกระตุ้นให้ออกดอกติดผลด้วยการตัดแต่งกิ่ง และขยายพันธุ์ (ตอน) จำหน่ายควบคู่กันไปด้วย มีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อติดผลขนาดเท่าผลมะนาวต้องห่อผลด้วยถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่งจะทำให้กันแมลงและผิวสวย ผลผลิตที่ได้จะหวาน กรอบ อร่อย ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์

การผลิตพืชภายในสวนแห่งนี้ทุกชนิดจะผลิตแบบอินทรีย์ทั้งหมดคือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี (ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์แห้ง โดยมีส่วนผสม ได้แก่ ขี้ไก่ไข่ ขี้วัว ขี้หมู กากหม้อกรองอ้อยจากโรงงานน้ำตาล และน้ำหมักชีวภาพ นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้ประมาณ 1 เดือน เมื่อเย็นแล้วนำมาใส่ต้นพืช) และไม่ใช้สารเคมีควบคุมแมลงศัตรูพืชทุกชนิด โดยผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา ผลิตเชื้อเมตตาไรเซี่ยมกำจัดแมลง โดยได้รับความรู้จากสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองหนองบัวลำภูและสถานีพัฒนาที่ดินให้การสนับสนุนสระน้ำในไร่นา การผลิตน้ำหมักชีวภาพด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผล เช่น ฝรั่ง ลำไย ขนุน ปลาหลากหลายชนิด สุกรแม่พันธุ์ (ขายลูก) มีเขียงหมูเป็นของตนเอง และที่กำลังทดลองเลี้ยงคือหนูพุก 4 บ่อ และปูนา

คุณพิเชษฐ์ บอกว่า ข้อดีของการทำการเกษตรแบบผสมผสานคือทำให้มีรายได้ทุกวัน โดยมีแผงขายสินค้าเป็นของตนเองที่ตลาดลานค้าชุมชนห้วยเดื่อ (อยู่ใกล้บ้าน) อยู่ติดถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี สำหรับลานค้าชุมชนห้วยเดื่อเป็นตลาดใหญ่ ประมาณ 300 แผง มีสินค้าหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ ของป่า ผู้คนแวะมาซื้อสินค้าวันละนับ 1,000 คน ถ้าวันหยุดหรือเทศกาลก็หลาย 1,000 คน ตนเองทำหน้าที่เป็นเลขานุการของผู้ค้าในตลาด โดยตนเองนำสินค้าเข้าตลาดประมาณ 10 โมงถึงบ่ายเล็กน้อย เมื่อสินค้าหมดก็กลับ ไปทำกิจกรรมภายในฟาร์ม ทำให้มีสินค้าอะไรก็ขายได้หมด

โดยเฉลี่ยจะมีรายได้รวมปีละประมาณ 5 แสนบาท ส่วนเขียงหมู มีกำไรวันละประมาณ 1,000 กว่าบาท จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาปรับใช้ ทำให้ทยอยใช้หนี้ได้เกือบหมด ขณะนี้เหลืออยู่ราว 2 ล้านบาท ทยอยส่งรายเดือน คาดว่าจะใช้หนี้หมดในเวลาไม่นาน จากอดีตที่เคยดื่มเหล้าหนัก เครียด แต่ปัจจุบันนี้เลิกเหล้า ประกอบกับขายสินค้าทำให้ได้พูดคุยกับผู้คน ทำให้ชีวิตเริ่มดีขึ้น

ข้อคิด “อย่าทำใหญ่โตเกินกำลังตนเอง ให้เริ่มจากน้อยไปหามาก ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้”

ท่านที่เคารพครับ !!! จะเห็นว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นมีความเสี่ยงสูง ทั้งด้านภัยธรรมชาติและเสี่ยงด้านการตลาดและราคา ดังนั้น จึงควรทำการเกษตรหลายอย่างที่เรียกว่าไร่นาสวนผสมหรือทำกิจกรรมหลายอย่างแล้วมีผลพลอยได้มาใช้เกื้อกูลภายฟาร์มช่วยลดต้นทุน ที่เรียกว่า เกษตรผสมผสาน จะทำให้มีรายได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ หากท่านใดอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ กับคุณพิเชษฐ์ ติดต่อได้ที่ โทร. (092) 334-3034

สิงหาคม 2562 ผู้เขียนได้ไปประชุมการป่าไม้แห่งชาติ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดที่ลำปาง ตั้งใจจะไปอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นดินแดนที่เจ้าคุณวินิจพบเจอ ต้นมะพลับเจ้าคุณเป็นครั้งแรก การไปครั้งนั้นทำให้ได้พบเจอกับสิ่งที่มีคุณค่า นั้นก็คือ ต้นยางนายักษ์ใหญ่อายุพันปี และต้นจำปาขาว อายุ 700 ปี รุกขมรดกโลก ของดีที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สืบไป

จำปา เป็นดอกไม้ในวรรณคดีที่บรรดากวีไทยท่านได้พรรณนาไว้เป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะ เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา และเงาะป่า โดยทั่วไปดอกจำปามีสีเหลือง แต่จำปาที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังนี่…ออกดอกเป็นสีขาว และมีอายุมากถึง 700 ปี แต่ ณ วันนี้ ทรุดโทรมลงไปมาก เห็นแล้วน่าใจหาย

ลักษณะทั่วไปของจำปาก็คล้ายกับจำปี มีต่างกันเล็กน้อย เช่น ใบจำปีจะเขียวเข้ม และเป็นมันกว่าใบจำปา ดอกจำปามีกลีบใหญ่และยาว แต่บางกว่ากลีบดอกจำปี สีกลีบดอกจำปามีสีเหลืองอมส้ม คนไทยเรียกสีนี้ว่า “สีดอกจำปา” เช่นเดียวกับที่เรียก “สีดอกบวบ” (เหลือง) และ “สีดอกเซ่ง” (แดง) สียวงขนุนบางพันธุ์มีสีเหลืองอมส้ม ก็เรียกว่า “ขนุนจำปา”

ต้นจำปาขาว อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca มีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แหล่งที่พบ ในป่าดิบ ทั่วทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง ลำต้นกลม สูงประมาณ 20 ฟุต มีสีน้ำตาลปนขาวเล็กน้อย กิ่งเปราะ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม ลำต้นและกิ่งมีเส้นควั่นเป็นรอย และมีตุ่มเล็กๆ

ใบ ใบสีเขียว ใหญ่เป็นมัน เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ถึงรูปใบหอก กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว โคนใบกลม มน หรือสอบ เส้นแขนงใบ 16-20 คู่ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ท้องใบมีขนอ่อนด้านล่าง

ดอก ดอกเป็นดอกเดียว มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม ออกตามง่ามใบ กลีบดอกยาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน 12-15 กลีบ กลีบด้านนอกรูปหอกกลับ ยาว 4-4.5 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก

เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รวมกันเป็นแท่งสีเขียวอ่อน ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร เวลาบานกลีบใหญ่โค้งงอเข้าภายในดอก ไม่บานกระจายแบบดอกจำปี

ฝัก/ผล รูปรี หรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง

เมล็ด เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม เริ่มติดดอกเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เริ่มติดผล เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

การดูแลรักษา เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ควรเป็นดินร่วน โปร่ง อุดมสมบูรณ์

การใช้ประโยชน์ ไม้ประดับ แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ใช้ร้อยมาลัย

เนื้อไม้ ต้นจำปามีเนื้อไม้สีเหลือง ถึงน้ำตาลอ่อน เหนียว เป็นมัน ทนปลวก เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สร้างบ้าน ต่อเรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ หีบ เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ของเล่นเด็ก ฯลฯ จะเห็นว่าจำปาเป็นไม้มีค่าในการใช้สอยเช่นเดียวกับไม้มีค่าชนิดอื่นๆ

สรรพคุณทางยา

เปลือกต้น ฝาดสมาน แก้ไข้ เป็นยาถ่าย

รากแห้ง และเปลือกหุ้มราก ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี

ดอก ขับลม ขับปัสสาวะ ใช้แก้วิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย โรคเรื้อน

ใบ แก้โรคประสาท แก้ป่วง เนื้อไม้ บำรุงประจำเดือนสตรี

ผล บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้แผลที่เท้าและเท้าแตก

เมล็ด บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับปัสสาวะ แก้แผลที่เท้าและเท้าแตก

ยาง แก้ริดสีดวง แต่จำปาขาวต้นนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาวขอมโบราณอย่างมาก ว่ากันว่า “พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์คู่เมืองของเมืองนครบางยาง (นครไทย)” ที่วัดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันก็คือ “วัดกลางศรีพุทธาราม” ดังนั้น จึงประมาณได้ว่า ต้นจำปาขาว ปลูกก่อนปี พ.ศ. 1806

หากมองย้อนให้ลึกลงไปอีก…ว่ากันว่าเมื่อสมัยเกือบจะ 800 ปีมาแล้ว “พ่อขุนบางกลางหาว” กับ “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองลาด (เพชรบูรณ์) ยกทัพไปตีเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัยจากขอม โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า“ถ้าตีเมืองสุโขทัยสำเร็จ ขอให้ต้นจำปาขาวไม่ตาย และให้ออกดอกเป็นสีขาว” ซึ่งก็เป็นตามดั่งคำอธิษฐาน จากนั้นสถาปนาเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์” ราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดอกจำปา ถูกยกย่องเป็น “พระยาแห่งดอกไม้” ดังมีเนื้อเพลงที่ ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในหนังสือ “พืชพรรณไม้มงคล” ว่า

“เจ้าเอยจำปา เรียกว่าพระยาดอกไม้
หอมฟุ้งจรุงใจ พี่เก็บมาให้เจ้าเอย”

(ส.พลายน้อย)

มีหลายหน่วยงานทดลองขยายพันธุ์จำปาขาวต้นนี้ในวิธีการต่างๆ ทั้งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหวังจะปลูกเพื่ออนุรักษ์ แต่ไม่สำเร็จ แม้แต่ขยายด้วยผลก็ได้เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และในการเพาะต้องใช้ระยะเวลาตั้ง 2 เดือน กว่าจะงอก และต้องเลี้ยงไว้อีก 1 ปี ซึ่งเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสวัดกลางฯ ว่า ก็ได้บอกไว้เช่นกันว่า ถ้านำกล้าจำปาขาวไปปลูกที่อื่นก็จะมีดอกเป็นสีเหลืองเหมือนดอกจำปาทั่วไป

จากนั้นไม่นานหน่วยงานของกรมป่าไม้ก็ได้เป็นธุระดูแล รักษา และอนุรักษ์ต้นจำปาขาวไว้ ทำให้ปัจจุบัน ต้นจำปาขาว ที่วัดกลางศรีพุทธาราม มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบ ประมาณ 3 เมตรเศษ สูงประมาณ 9-10 เมตร แต่ลำต้นบางส่วนเป็นโพรง ผุกร่อน จึงต้องใช้ไม้ค้ำลำต้น

ในวันนี้ ต้นจำปาขาว ที่ได้พบเห็นมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา จากนี้ไปอาจจะล้มตายจากไปตามอายุขัยในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งคงจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดรอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชนี้ไปได้ หากทว่าพวกเราได้ซึมซับความรู้สึก และตระหนักถึงบทบาทของต้นไม้ต้นนี้ ที่ได้ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษา ปกป้องลมหายใจให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยบนโลกใบนี้มาอย่างยาวนานหลายร้อยปี หากจะให้ประเมินคุณค่าของจำปาขาวต้นนี้ คงหามีใครคนใดจะประมาณค่าได้ไม่

ก่อนจบเรื่องราวในอดีตที่ผ่านต้นจำปาขาวต้นนี้ ผู้เขียนได้อธิษฐานต่ออนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวด้วยนะ หากใครต้องการศึกษาเพิ่มเติม หรือต้องการไปเยี่ยมชมต้นไม้ในประวัติศาสตร์ต้นนี้ ก็ไปได้เลย ที่ วัดกลางนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จะรู้จักเมืองบางยางหรือนครไทยมากขึ้นอย่างผู้เขียน…สวัสดี

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย แถลงว่า จากสถานการณ์ราคายางในช่วงนี้ที่มีผันผวน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางเศรษกิจ การเงิน และการลงทุนภายนอกประเทศ ได้แก่ การที่ธนาคารระมัดระวังการปล่อยเงินกู้และไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทยาง เนื่องจากกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งขายยางในราคาไม่สูงมากนักเพื่อให้ได้สัญญาไปประกอบการกู้เงินสำหรับใช้หมุนเวียนในธุรกิจยาง ประกอบกับเทศกาลวันชาติของประเทศจีน

ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 7ตุลาคม (วันชาติจีน วันที่ 1 ตุลาคม) ทำให้กิจกรรมการซื้อขายยางหยุดลง ส่งผลต่อราคายางอ้างอิงจะมีเพียงตลาด TOCOM และ SICOM เท่านั้น ซึ่งพ่อค้ายางเกือบทุกเจ้ารอราคาอ้างอิงจากตลาดล่วงหน้าของจีน (ตลาดเซี่ยงไฮ้) ในการซื้อขาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในการซื้อขายยาง Chongqing บริษัทเทรดดิ้งใหญ่อันดับหนึ่งของจีนซึ่งนำเข้ายางประมาณปีละ 1,500,000 ตัน ประกาศหยุดกิจกรรมการซื้อขายยางเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา และการเลิกกิจการของบริษัท Chongqing ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ของจีน จึงส่งผลต่อผู้ส่งออกยางของไทย ทำให้ราคายางปรับในทิศทางที่ลดลง อย่างไรก็ตามหลังจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าของจีน (เซี่ยงไฮ้) กลับมาซื้อขาย ราคายางจะขยับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้

นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ปัญหาราคายางผันผวนที่เกิดขึ้น เริ่มจากแนวทางระยะสั้น โดยการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 กำหนดให้มีการประกันรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,711,252 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย) คิดเป็นพื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยต้องเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่

โดยให้มีการประกันรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) ซึ่งเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือน จะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60 : 40 ราคายางที่ใช้ประกันรายได้ กำหนดจากราคาต้นทุนการผลิตยางแต่ละชนิด โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2561 และเพิ่มรายได้เป็นค่าครองชีพอีก ร้อยละ 7.39 แบ่งตามประเภทยาง ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม โดยราคากลางจะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง ซึ่งประกาศทุก 2 เดือน และจะดำเนินการจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ 2 เดือน ต่อ 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง โดยจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับสิทธิ์ รอบแรก ในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562