ในพื้นที่ 1 ไร่ของการปลูก ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างต้น

20×20 เซนติเมตร หรือ 25×25 เซนติเมตร เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่กวนอิมได้ประมาณ 28,000-30,000 ต้นไผ่กวนอิม หากปล่อยให้เจริญเติบโตเต็มที่ ขนาดลำไผ่ใหญ่ประมาณ 1 นิ้ว ความสูง 4-5 เมตร ขึ้นกับผู้ปลูก แต่สำหรับการตัดไผ่กวนอิมขาย ตลาดต้องการมี 3 ไซซ์ คือ ขนาด 60 เซนติเมตร ราคาขาย 1-2 บาท ต่อลำ ขนาด 70 เซนติเมตร ราคาขาย 3-4 บาท ต่อลำ ขนาด 1 เมตร ราคาขาย 6 บาท ต่อลำ ไม้ตลาดหรือไซซ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ ไซซ์ 60 เซนติเมตร ซึ่งใช้เวลาหลังลงปลูกประมาณ 6 เดือน สามารถตัดขายได้ ส่วนไซซ์ 70 เซนติเมตร ใช้เวลาปลูก 7-8 เดือน สามารถตัดขายได้

เพราะไผ่กวนอิมเป็นไผ่ประดับ ทำให้เกิดแนวคิดในการนำไผ่มาจัดรูปแบบให้สวยงามคล้ายไม้ดัด แล้วนำลงปลูกในกระถาง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าในการขายให้กับเกษตรกรได้มาก

คุณปราณี พิมลศรี เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ เล่าว่า หากต้องการนำไผ่กวนอิมมาแปรรูป เป็นแบบต่างๆ เพื่อจัดลงปลูกในกระถางเพิ่มมูลค่า สามารถทำโดยหลังตัดไผ่กวนอิมไซซ์ 60 เซนติเมตรมาแล้ว ก้านไผ่จะมีความแข็ง ให้วางพักทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก้านไผ่จะเริ่มอ่อนตัวลง แล้วนำไปริดใบบางส่วนออก และทำความสะอาด จากนั้นนำไปปรับหรือดัดให้เป็นรูปแบบต่างๆ จะทำได้ง่าย ซึ่งการแปรรูปในลักษณะนี้ มีหลายรูปแบบ และมีชื่อเรียกไปตามลักษณะที่ทำขึ้น เช่น ไม้สาม ไม้พันเกลียว โบว์ลิ่ง ม้วน ถักเปีย เปียโซ่ เป็นต้น โดยกลุ่มจะแปรรูปเป็นแบบที่ลูกค้าสั่งจำนวนมา จำหน่ายในราคา 40-80 บาท ต่อกอ ขึ้นอยู่กับแบบยากหรือง่ายในการทำ ซึ่งหลังจากลูกค้ารับไปแล้วนำไปลงในกระถาง จะเพิ่มมูลค่าจำหน่ายได้อีก ในราคา 200-300 บาท ต่อกอ

“การส่งขายสำหรับงานแปรรูปไผ่กวนอิม ขึ้นอยู่กับออเดอร์ลูกค้า ไม่ได้ส่งทุกวัน แต่ลำตัดส่งมีทุกวัน วันละประมาณ 1.2 แสนต้น ต่อวัน นำไปส่งยังปากคลองตลาด และข้อดีของไผ่กวนอิมคือ หลังตัดจากต้นแล้วสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องแช่น้ำหรือปักลงดิน เป็นเวลานาน 4-5 วัน แต่ถ้าต้องการปลูกแล้วยังไม่แห้งตาย ก็ตัดปลาย แล้วปักลงดินหรือน้ำ รากก็สามารถงอกได้ตามเดิม”

ด้าน คุณบัญชา ตันดี กรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาของการปลูกไผ่กวนอิมที่ผ่านมา พบโรคชนิดหนึ่งที่ยังหาสาเหตุและวิธีแก้ไขไม่ได้ แต่เกิดขึ้นระยะ 3-4 ปีหลัง คือ ใบไหม้ เหี่ยว ไม่สวย ไม่สามารถขายได้ในราคาปกติ หากต้องการขายก็ขายในราคาตกเกรด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าไม่คุ้มก็ถอนทิ้ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเห็นว่า การปลูกไผ่กวนอิมของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลโป่งผาทำมานานเกิน 10 ปี การปลูกไผ่กวนอิมโดยปกติ ควรพักแปลง ลงปลูกใหม่ทุก 10 ปี แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคดังกล่าว และยังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ จึงแจ้งเกษตรกรทุกคนให้ลองพักแปลงทุกๆ การปลูก 5 ปี คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่ปลูกไผ่กวนอิมอีก เพราะที่ผ่านมา มีหลายหมู่บ้านสนใจ แต่ไม่สามารถปลูกได้ผลผลิตดีเหมือนบ้านสันทรายแห่งนี้

สอบถามการปลูก ดูแลรักษาไผ่กวนอิมจากเกษตรกรโดยตรงได้ที่ คุณณัชพล ตาวงค์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (089) 953-2777 หรือ คุณปราณี พิมลศรี เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (082) 194-9459 และคุณบัญชา ตันดี กรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่กวนอิมแบบแปลงใหญ่ โทรศัพท์ (088) 268-5933

ชาวนาไม่ต้องหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินอีกต่อไปแล้ว หลังศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ออกแบบเครื่องหยอดข้าวบังคับด้วยรีโมทคอนโทรลระยะไกลพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยชาวนาลดการใช้แรงงาน ประหยัดเวลา แต่ผลผลิตได้มากขึ้น เหมาะกับชาวนาที่อายุเริ่มมากขึ้นด้วย

ที่แปลงนาข้าวบ้านคำข่า ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี คุณธฤติ ประสานสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมสาธิตการใช้เครื่องหยอดข้าวควบคุมการทำงานด้วยรีโมทคอนโทรลจากระยะไกล และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยใช้แผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 360 วัตต์ เป็นตัวสร้างพลังงานไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ในตัวรถ ช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง แถมน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปตามแปลงนาต่างๆ ได้อย่างสบาย

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เครื่องดังกล่าวนี้จะลดการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะชาวนาที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งเรี่ยวแรงเริ่มถดถอย สามารถควบคุมการทำงานอยู่ในที่ร่มจากระยะไกลได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการทำนา แต่ได้ผลผลิตเต็มที่มากกว่าเดิม

ด้าน คุณอนุชิต ทุมมากร อายุ 55 ปี ครู กศน. ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมกับนักศึกษาคิดประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการคิดประดิษฐ์เครื่องหยอดข้าวรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์ต้องการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งปัจจุบันชาวนามีจำนวนน้อยลง

ประกอบกับชาวนาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานเริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่น ด้วยมองว่าการทำนาต้องตากแดดทั้งวัน และใช้เวลาในการทำนาเป็นเวลานาน ส่วนผลผลิตก็ได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย

คุณอนุชิต ผู้ประดิษฐ์เครื่องหยอดข้าวยังกล่าวต่อว่า ยิ่งปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศประเทศไทยได้รับผลกระทบมีอากาศร้อนจัดมากยิ่งขึ้น เมื่อชาวนาที่เป็นผู้สูงอายุ ต้องเดินหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือหยอดเมล็ดข้าวลงแปลงนาเป็นเวลานานๆ จะเกิดอาการเมื่อยล้าและต้องทนกับสภาพแดดที่ร้อนจัด ทำให้เจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จึงร่วมกับนักศึกษาคิดออกแบบและคิดค้นเครื่องหยอดเมล็ดข้าวรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ชาวนานำไปใช้ประโยชน์ ลดขั้นตอนและเวลาในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งชาวนาสามารถทำงานในที่ร่มด้วยการควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรลจากระยะไกลให้สมกับเป็นชาวนายุคไทยแลนด์ 4.0

โดยพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเติมเข้าไปในช่องที่เตรียมไว้ จำนวน 5 ช่อง ราว 6 กิโลกรัม เมื่อรถเริ่มแล่นล้อของเครื่องปล่อยเมล็ดข้าวที่อยู่ด้านหลังก็หมุนตาม และเริ่มปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งระยะห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร ต่อหลุม โดยหลุมหนึ่งจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวร่วงหล่นลงไป 5-6 เมล็ด ใช้เวลาในการหยอดเพียง 20 นาที ซึ่งหากเป็นการใช้แรงคนแบบเดิม ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ส่วนราคาของเครื่องนี้ มีต้นทุนประมาณ 25,000 บาท เท่านั้น

ขณะที่ คุณถาวร บุญล้อม อายุ 55 ปี ชาวนาบ้านคำข่า ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน ซึ่งได้ทดลองใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์บังคับจากระยะไกล ระบุว่า เครื่องสามารถใช้งานได้จริง และดีกว่าการใช้แรงงานคน เพราะช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงานคน จากเดิมต้องใช้ 2-3 คน แต่หากใช้เครื่องนี้ ก็ใช้แค่คนเดียวก็ทำงานได้ รวมทั้งชาวนายังสามารถทำงานในที่ร่มได้ด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับชาวนาสูงอายุแบบตนเป็นอย่างมาก

คุณธฤติ ประสานสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมดูการสาธิตบอกว่า เครื่องหยอดข้าวรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์บังคับจากระยะไกล เป็นการคิดค้นของอาจารย์และนักศึกษาตามระบบสะเต็มศึกษา เพื่อให้นักศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับ กศน. อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้มีแต่เครื่องหยอดเมล็ดข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องสีข้าวอัตโนมัติและโครงงานต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาการทำการเกษตรให้ง่าย ประหยัด และสะดวกรวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนยินดีสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์จนนำไปสู่การจดลิขสิทธิ์ และผลิตนำออกจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไป เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพื่อประโยชน์ของประเทศด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจการทำงานของเครื่องหยอดเมล็ดข้าวด้วยรีโมทคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์บังคับจากระยะไกล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 045-371-374

วันนี้ (1 ก.ค. 62) กยท. เดินหน้าสนับสนุนกิจกรรม CSR ด้านนวัตกรรมยางเพื่อสังคม โดยมีคณะอนุกรรมการ CSR ผู้บริหาร และพนักงาน กยท. ร่วมพิธีส่งมอบสนามเด็กเล่นปูพื้นบล็อกยางพาราแก่โรงเรียนวัดผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มุ่งหวังใช้นวัตกรรมยางของ กยท. ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน พร้อมสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ

นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของ กยท. เผยว่า กิจกรรมปูพื้นสนามเด็กเล่นด้วยบล็อกยางพาราครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการนวัตกรรมยางพาราเพื่อสังคม ตามแผนการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ กยท. ประจำปี 2562 เน้นนำยางพารามาแปรรูปเป็นบล็อกยางเพื่อปูพื้นสนามเด็กเล่นแทนการปูพื้นซีเมนต์หรือการทำเป็นพื้นสนามหญ้าแบบทั่วไป โดยในปี 2562 กยท.ดำเนินการกิจกรรมพื้นสนามเด็กเล่นให้โรงเรียน จำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านน้ำราบ จังหวัดตรัง และโรงเรียนวัดผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งถือเป็นกิจกรรมด้าน CSR ที่สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าและการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ กยท. ยังหวังสร้างสุขภาพที่ดี แข็งแรงให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นของเด็กๆ ควบคู่กับการใช้ยางพาราสร้างประโยชน์แก่ชุมชนด้วย

นายสังข์เวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การปูพื้นสนามเด็กเล่นด้วยบล็อกยางให้กับโรงเรียนวัดผาทั่ง ซึ่งมีพื้นที่ 150 ตารางเมตร ใช้บล็อกยางจำนวน 4,800 แผ่น โดยบล็อกยางพาราที่นำมาปูพื้นสนามเด็กเล่น เป็นงานวิจัยของฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบล็อกยางปูพื้น เลขที่ มอก.2378-2551 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้เนื้อยางแห้ง 10 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยบล็อกยางตัวหนอนปูสนาม 1 แผ่น มีขนาด 24x12x1.2 เซนติเมตร

“บล็อกยางปูพื้นสนาม จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็กหรือเยาวชนที่ใช้เครื่องเล่นหรือทำกิจกรรมบนลานสนามเด็กเล่นนี้ ดังนั้น กิจกรรม CSR ในวันนี้ จะเป็นการนำงานวิจัยของ กยท. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม สามารถใช้ยางพาราภายในประเทศอย่างมีศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของนักเรียนและคนในชุมชนให้มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย” นายสังข์เวิน กล่าว

นายนเรศ ใจแสน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดผาทั่ง กล่าวว่า เดิมพื้นสนามเด็กเล่นของโรงเรียนวัดผาทั่ง เป็นพื้นดินปนทรายมีต้นไม้ใหญ่และรากไม้ขึ้นมาเหนือพื้นผิวดิน ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นพื้นที่ให้เด็กนักเรียนวิ่งเล่น เพราะนักเรียนอาจได้รับอันตรายจากการสะดุดล้ม และอาจได้รับแรงกระแทกที่รุนแรงจากการล้มได้ ครั้งนี้ กยท. ได้เข้ามาช่วยเหลือและจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไปด้วยการสนับสนุนและจัดหาบล็อกยางพาราพร้อมนำมาปูพื้นสนามเด็กเล่นภายในโรงเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดีมากๆ สร้างประโยชน์ให้แก่โรงเรียนและชุมชนรอบๆ โรงเรียนวัดผาทั่งได้เป็นอย่างมาก

“คณะครูและนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง รู้สึกดีใจเเละขอขอบคุณ กยท. เป็นอย่างสูง ที่มอบสนามเด็กเล่นปูพื้นยางพารา พร้อมเครื่องเล่นให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียน และขอบคุณที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่นักเรียนในโรงเรียนตามชนบท” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดผาทั่งกล่าว

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและพัฒนาเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ และตู้อบแห้งมูลวัว ให้เกษตรกร ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยรัตน์ หงษ์ทอง อาจารย์ประจำสาขาอุตสาหกรรมการผลิต และอาจารย์ที่ปรึกษาผลงาน เล่าว่า การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทั้งสองชิ้น เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต โดย เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้าโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ เป็นผลงานของ นางสาววีรยา กันจันทึก นายเอกชัย ไกรแสงราธ และ นายกรวิชญ์ สังข์ศิลป์ การสร้างเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์โดยใช้ก๊าซชีวภาพ เป็นการช่วยผ่อนแรงและลดระยะเวลาในการย่อยหญ้าเนเปียร์ให้เกษตรกร

ส่วนตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลงานของ นายสหรัฐ เหมสุลักษณ์ นายมนูญ มงคล และ นายสันติสุข สินมาก ตู้อบมูลวัวโดยใช้แก๊ส LPG ช่วยเกษตรกรลดเวลาในการอบแห้งมูลวัวในการทำปุ๋ย หลังจากนำไปใช้จริงเป็นที่เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก ทางสาขาจึงได้มอบสิ่งประดิษฐ์ให้กับทางฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อนำไปใช้ต่อไป

นางสาววีรยา กันจันทึก ตัวแทนผู้ออกแบบและพัฒนา เล่าว่า เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้า โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ส่วนประกอบที่สำคัญคือ ต้นกำลัง ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 9 แรงม้า ความเร็วรอบที่ใช้ 2,500 รอบ ต่อนาที ที่ปลายเพลาติดตั้งมู่เล่ขนาด 3 นิ้ว เพื่อทำการส่งถ่ายกำลังด้วยสายพานขนาดร่องเบอร์ A – 59 นิ้ว จำนวน 2 เส้น ไปที่มู่เล่ขนาด 7.5 นิ้ว ซึ่งเป็นของชุดใบมีด ใบมีดทั้งหมด 6 ใบ ความเร็วรอบที่ใช้งาน 1,000 รอบ ต่อนาที ชุดป้อนต้นหญ้าเนเปียร์มีตัวป้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 มิลลิเมตร มี 8 ร่อง ยาว 295 มิลลิเมตร จำนวน 2 ตัวขบกันเพื่อป้อนหญ้าเนเปียร์เข้าสู่ใบมีด และโครงของเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ มีขนาด 580x480x640 มิลลิเมตร โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์โดยใช้ก๊าซชีวภาพสามารถใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเบนซินได้

จากการทดสอบเครื่องย่อยหญ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพสามารถรับปริมาณหญ้าเนเปียร์ได้ครั้งละ 3 กิโลกรัม ทำการทดสอบ 3 ชุดการทดสอบ 1 ชุดจะย่อยหญ้า 5 ครั้ง (ครั้งละ 3 กิโลกรัม) 1 ผลการทดสอบได้เวลาเฉลี่ย 44.81 วินาที ต่อการย่อยหญ้าเนเปียร์ 15 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน คือ 0.11 บาท โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์โดยใช้ก๊าซชีวภาพจะเหมาะสมกับเกษตรกรที่มีบ่อก๊าซชีวภาพ เป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและลดต้นทุนได้มากขึ้น

ตัวแทนการศึกษาตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว นายสหรัฐ เหมสุลักษณ์ เล่าว่า ในการศึกษาและข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้ออกแบบและพัฒนาตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้แก๊ส LPG ขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 83 เซนติเมตร และความสูง 150 เซนติเมตร ด้านบนของตู้อบมีชุดระบายความร้อนโดยใช้มอเตอร์ Mitsubishi ขนาด 1/4 HP เป็นต้นกำลังขับใบพัดขนาด ø 20 เซนติเมตร และความเร็วลม 14 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ส่วนด้านล่างเป็นแหล่งความร้อนจากหัวเตาแก๊สยี่ห้อ KB 8 ขั้นตอนการทดลองตู้อบแห้งมูลวัว จะใส่มูลวัวเต็มถาดแต่ละถาดสามารถใส่ได้ปริมาณ 3 กิโลกรัม ต่อถาด โดยวางเรียงทั้งหมด 6 ชั้น รวมจำนวนน้ำหนักมูลวัวทั้งหมด 18 กิโลกรัม ทำการทดลองทั้งหมดที่ 3 อุณหภูมิ คือ 130, 140 และ 150 องศาเซลเซียส

ซึ่งทดสอบการอบจะทำทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลาในการอบมูลวัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง ทุก ๆ 30 นาที ทำการสลับถาด ซึ่งมีหลักการสลับถาดดังนี้ คือ นำถาดที่ 1 ออก และนำถาดที่เหลือเลื่อนขึ้นไปด้านบนแล้วนำถาดที่ 1 เอากลับมาใส่ไว้แทนถาดที่ 6 หลังจากการอบน้ำหนักของมูลวัวทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 กิโลกรัม ค่าใช้จ่ายในการอบเฉลี่ยต่อครั้งการทดลองคือ 7.82 บาท ผลการทดสอบการหาประสิทธิภาพของตู้อบแห้งมูลวัวพบว่า อุณหภูมิที่ 140 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

โดยคณะผู้วิจัยได้เดินทางไปมอบเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้าโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ และตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้ นายบุญเลิศ ชัยมัง ตัวแทนรับมอบ ณ ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ อบรมสหกรณ์พื้นที่โครงการหลวงพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน เน้นสินค้าหลัก ไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตภัณฑ์พืชผัก สตรอเบอรี่ สมุนไพร เห็ด กาแฟและชา จับมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยช่วยยกระดับสินค้าสหกรณ์โครงการหลวงให้มีความโดดเด่น พร้อมเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สมาชิกสหกรณ์

นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิด “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์/สินค้าสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงด้วยเทคโนโลยีและ นวัตกรรม” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมดิไอเดิล เซอร์วิส เรสซิเด้น อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานที่โครงการหลวงกำหนด และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ซึ่งสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงกระจายอยู่ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน กำแพงเพชร กาญจนบุรี ตาก ลำปาง และเพชรบูรณ์ จดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร 56 สหกรณ์ สินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง มีสินค้าหลักที่สร้างรายได้ เช่น พืชผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร ชา กาแฟ เห็ด พืชไร่ชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงสินค้าหัตถกรรมที่เกิดจากฝีมือแม่บ้านชาวเขาชนเผ่าต่างๆ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้ามาช่วยพัฒนา การผลิตสินค้าสินค้าของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยมาพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า พร้อมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นถิ่น

ซึ่งการอบรมครั้งนี้ผู้แทนสหกรณ์โครงการหลวงจะได้รับการอบรมและร่วมทำกิจกรรม Workshop และมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตลาดไท โดยมีวิทยากรซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรยุค 4.0 การรวบรวมผลผลิต การยกระดับคุณภาพสินค้าสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้กับผู้แทนสหกรณ์ที่เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วยกรรมการและฝ่ายจัดการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดผู้รับผิดชอบการส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง จำนวน 85 คน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงให้สามารถบริหารธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยบนพื้นที่สูง ซึ่งสหกรณ์จะต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และตอบสนองกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเพื่อนำมาแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกต่อไป

นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่กรมพัฒนาชุมชนมอบหมายให้ บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดูแลจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ภายในงาน OTOP Midyear 2019 ตั้งแต่วันที่ 15-23 มิถุนายน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานโอท็อป และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดยทางบริษัทฯ ได้เชิญกลุ่มผู้ขายเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศมากกว่า 200 ราย มาร่วมแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า พร้อมทั้งจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ มีกระแสการตอบรับที่ดีจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

ตลอดระยะเวลา 9 วัน ของการจัดงาน เกิดมูลค่าการซื้อขายจากการเจรจาธุรกิจในงาน เป็นเงินมูลค่า กว่า 40 ล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในงาน นอกจากนี้ ภายในบู๊ธได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กันระหว่าง บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อ PT Max Mart ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน PT ที่มีสาขาทั้งสิ้น 157 สาขา กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการออกบู๊ธและจัดกิจกรรมเจรจาทางธุรกิจในงานโอท็อปในครั้งนี้ สามารถผลักดันการจำหน่ายสินค้าโอท็อปเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อช่วยขยายช่องทางการตลาด การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์โอท็อป ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ​