ในพื้นที่ 2 ไร่ แต่สามารถทำรายได้ทุกวัน คุณเบส บอกว่า

รู้สึกภูมิใจที่ได้ตัดสินใจในครั้งนั้นผันตัวมาทำเกษตรผสมผสาน ทำให้การใช้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปจากที่เคยอยู่ในเมือง ได้มาสร้างประสบการณ์ชีวิตทางการเกษตรด้วยตัวเอง จนเกิดความชำนาญและสามารถบอกสอนให้กับ ผู้สนใจท่านอื่นๆ นำไปประกอบอาชีพจนเกิดรายได้

“สำหรับผมตอนนี้ การทำเกษตรทำให้ชีวิตผมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ต้องอยากอยู่แต่ในเมืองใหญ่เพื่อไปหาเงิน แต่ได้กลับมาอยู่บ้านได้มาทำเกษตรแล้ว ทำให้เรามีชีวิตแบบใหม่ ชีวิตที่เราสามารถเลือกได้ มีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น เพราะถ้าไม่ได้มาทำการเกษตร เราก็คงไม่ได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวแบบนี้ เพราะสิ่งที่เราทำมันช่วยส่งเสริมให้เราช่วยเหลือ ทำในสิ่งที่เป็นอาชีพของเรา และแต่ละคนไม่ต้องแยกกันอยู่ แต่ทุกคนมาอยู่รวมกัน ได้ดูแลซึ่งกันและกัน เป็นอีกหนึ่งความสุขมากครับ หลังจากที่ผมมาทำเกษตร” คุณเบส บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจการทำเกษตรผสมผสานหรือต้องการเข้าไปศึกษาดูงาน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอิษฏ์ฐะ ทองเจิม หรือ คุณเบส ณ บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ที่ 2 ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา หมายเลขโทรศัพท์ 080-228-9166

สะตอ เป็นผักพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสะตอเป็นพืชผักที่มีรสชาติดี สามารถปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ มีคุณค่าทางอาหารสูง มีคุณค่าทางเภสัชวิทยา คือช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้อีกด้วย

สะตอ เป็นพืชพื้นเมืองขึ้นอยู่ตามป่าภาคใต้ เกษตรกรจะเก็บมาปลูกแซมกับพืชอื่น ในอดีต สะตอ ที่ขึ้นชื่อที่สุด จะเป็น สะตอบ้านแร่ สะตอดีจากพัทลุง จาก สะตอบ้าน พัฒนามาเป็น สะตอตรัง

คุณบุญชนะ วงศ์ชนะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ก่อนจะมาเป็น ผอ.ศวส. เชียงราย เป็นนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เห็นว่าผลผลิตสะตอในอดีตได้จากการเก็บจากในป่าทางภาคใต้ และเกษตรกรได้นำมาปลูกแซมกับพืชหลักชนิดอื่นๆ จนปัจจุบันมีผู้รู้จักและนิยมรับประทานสะตอกันมาก จึงทำให้ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น และได้มีการปลูกสะตอกันอย่างแพร่หลายไปเกือบทุกภาคของประเทศ ถึงอย่างไรก็ตาม ผลผลิตสะตอในปัจจุบันก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสะตอให้ผลผลิตเป็นช่วงฤดู คือจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เท่านั้น

คุณบุญชนะ บอกว่า นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกเมล็ดสะตอไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีการส่งออกเมล็ดสะตอสดวันละ 1 ตัน ดังนั้น จึงมีปริมาณการส่งออกมากกว่า 200 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า การส่งออกเมล็ดสะตอจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากการขยายพันธุ์สะตอของเกษตรกร จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ทำให้ได้ผลผลิตช้า ลักษณะประจำพันธุ์ก็จะแตกต่างกันไป และการให้ผลผลิตสะตอในรอบปีหนึ่งจะมีปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จึงมีความคิดที่จะปรับปรุงสะตอพื้นบ้าน เพื่อให้ได้พันธุ์สะตอที่สามารถให้ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูที่สูง และมีคุณภาพดี

เริ่มสำรวจคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู

คุณบุญชนะ และคณะจึงเริ่มดำเนินการสำรวจคัดเลือกสายต้นสะตอ (Clone) ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ คือจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้มาทั้งหมด 118 ต้น แล้วบันทึกประวัติการให้ผลผลิตนอกฤดูของสะตอที่ได้มาทั้งหมด

“พวกเราดำเนินการสำรวจตั้งแต่ ปี 2540-2543 และติดตามบันทึกประวัติจนสามารถคัดเลือกสะตอข้าวที่มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตนอกฤดู ได้จำนวน 12 ต้น จากจังหวัดสงขลา 2 ต้น พัทลุงเป็นสะตอข้าว 6 ต้น สตูล 1 ต้น นครศรีธรรมราช 2 ต้น และปัตตานี 1 ต้น” คุณบุญชนะ เล่า

สะตอที่คัดมาจากจังหวัดดังกล่าว 12 ต้น นำมาปลูกเปรียบเทียบสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544-2545 ปี 2554-2556 เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต โดยมีหลักการคัดเลือกคือ สามารถให้ผลผลิตนอกฤดูและให้ผลผลิตรวมต่อต้นต่อปีสูง ซึ่งสามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้ 6 ต้น คือ สะตอจากสงขลา 1 ต้น สตูล 1 ต้น พัทลุง 3 ต้น และนครศรีธรรมราช 1 ต้น

จากการนำพันธุ์สะตอจากจังหวัดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมาขยายพันธุ์โดยการติดตา ปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตนอกฤดู และคุณภาพของผลผลิตในศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน คุณบุญชนะ บอกว่า สะตอที่นำมาจากจังหวัดสตูล ที่นำมาปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ที่ ศวส. ตรัง ให้ผลผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในฤดู นอกฤดู ผลผลิตสูง และรสชาติดี

“เนื่องจาก สะตอจากสตูล ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จึงตั้งชื่อสะตอสายต้นสตูล เป็นสะตอพันธุ์แนะนำ โดยให้ชื่อว่า สะตอพันธุ์ตรัง 1 (Trang 1)” คุณบุญชนะ บอก

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้ทำแปลงต้นพันธุ์ และเพาะต้นกล้าพันธุ์ตรัง 1 ไว้สำหรับติดตาขยายพันธุ์ เพื่อที่จะเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นการค้า เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ลักษณะเด่นของ พันธุ์ตรัง 1

ให้ผลผลิต 2 ครั้ง ในรอบปี คือระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และนอกฤดูระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน การให้ผลผลิตนอกฤดูเป็นลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ เพราะราคาผลผลิตนอกฤดูสูงมากกว่าในฤดู 2-3 เท่า
จำนวนเมล็ดมากกว่า 15 เมล็ด ต่อฝัก ลักษณะฝักตรง เมล็ดมีขนาดสม่ำเสมอเรียงชิดติดกัน ทำให้ง่ายต่อการบรรจุฝักลงภาชนะขนส่ง
ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 3 ปี หลังปลูก ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ
คุณบุญชนะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การให้ผลผลิตของสะตอพันธุ์ตรัง 1 จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เมื่ออายุ 10 ปี ความสูงของต้นเฉลี่ย 5 เมตร ขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 8 เมตร ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ฝัก/ต้น/ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดสำหรับสะตอพันธุ์ตรัง 1 คือ การปลูกปีแรกลำต้นจะมีลักษณะเลื้อยเอน ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ประคองลำต้นให้ตรง ต้องคอยตัดยอดจัดทรงพุ่มให้มีลักษณะที่สมดุล และไม่ควรปลูกในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง

สร้างเครือข่ายผู้ผลิตสะตอพันธุ์ตรัง 1 คุณฉัตรชัย กิตติไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มียอดสั่งจองสะตอพันธุ์ตรัง 1 เข้ามาจำนวน 75,000 ต้น ซึ่งทางศูนย์วิจัยพืชสวนตรังยังไม่สามารถผลิตพันธุ์สะตอตรัง 1 ให้ทันกับความต้องการของเกษตรกรได้ ศูนย์จึงจัดทำโครงการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตต้นพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 เพื่อจะได้ช่วยกระจายแหล่งผลผลิตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยตั้งเครือข่ายจากกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเป็นเครือข่ายผลิตสะตอพันธุ์ตรัง 1 หนึ่งกลุ่ม กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรจังหวัดตรังอีก 4 กลุ่ม คาดว่าเครือข่ายแหล่งผลิตพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 จะช่วยผลิตต้นพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 ให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร

ขณะนี้จังหวัดตรังกำลังดำเนินการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน สะตอพันธุ์ตรัง 1 ให้เป็นสินค้า GI ตามนโยบายพัฒนาสินค้าเกษตรของจังหวัดตรังให้ดังกว่าเดิม ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงาน พร้อมจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน คาดว่าจะทำให้สะตอเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่ชาวตรังภาคภูมิใจต่อไป

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150 โทร. 081-373-0930 “แก้วมังกร” อยู่ในวงศ์ Cactaceae เช่นเดียวกับตะบองเพชร มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน มีบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในประเทศเวียดนาม ปลูกแพร่หลายไปตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อนก่อนจึงแพร่หลายมาปลูกในประเทศไทย

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แก้วมังกรที่ขายในเมืองไทยมีราคาแพงมากถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่คนมีสตางค์ก็ยังนิยมซื้อกิน เนื่องจากเป็นของใหม่โก้เก๋ แต่จริงแล้วรสชาติของแก้วมังกรไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสสมกับราคา

แก้วมังกรปลูกขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ราคาของแก้วมังกรในเวลาต่อมามีราคาตกต่ำลง เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคผลไม้ที่มีรสหวานจัด อย่างเช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง ฯลฯ แก้วมังกรซึ่งมีรสหวานน้อย รสชาติไม่จัดจ้าน จึงเป็นผลไม้ทางเลือกเพื่อสุขภาพไปในที่สุด

หลายคนชื่นชมการบริโภคแก้วมังกรเพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำเยอะเช่นเดียวกับแตงโม ช่วยดับกระหายคลายร้อน ดับกระหายได้ดี แก้วมังกรช่วยควบคุมระบบน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาโรคโลหิตจาง เพิ่มธาตุเหล็กและช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง นอกจากนี้ แก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง มีสารไลโคปีนอยู่เป็นจำนวนมาก มีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

แก้วมังกร เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะที่เป็นผลไม้สำหรับลดน้ำหนัก กินแล้วอิ่มนานไม่หิวบ่อย และวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อผิว ทำให้ผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง เมล็ดของแก้วมังกรสามารถดูดซับสารพิษที่ค้างอยู่ในร่างกายได้อีกด้วย สรรพคุณมากมายอย่างนี้ สาวๆ ถึงอยากกินแก้วมังกร

พื้นที่ตำบลหนองย่างเสือของอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี และตำบลหนองอีเหลอ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ชาวบ้านนิยมปลูกแก้วมังกร เพราะเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมแล้วยังมีสภาพดินลูกรัง เหมาะสำหรับปลูกแก้วมังกรอีกด้วย

ป้าศรี หรือ คุณบุญศรี จันทบุญ ยึดอาชีพปลูกแก้วมังกรมานานหลายปีแล้ว ป้าศรี เล่าว่า “เริ่มปลูกแก้วมังกรตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา ครั้งแรกปลูกแก้วมังกรไว้กินเอง 70 ต้น เพราะเป็นคนชอบกินแก้วมังกร ต่อมาเห็นว่าปลูกเลี้ยงได้ง่าย จึงขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ โดยเอากิ่งจากน้องเขยมาปลูก ประมาณ 40 ไร่ ลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท ปีที่สามเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ มีรายได้ปีละประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยยังไม่หักค่าใช้จ่าย

แก้วมังกร เป็นพืชที่พันขึ้นกับหลัก หลักแก้วมังกรไม่ควรสูงมาก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติ เกษตรกรจะใช้หลักปูนที่คงทนแข็งแรง เพราะแก้วมังกรมีอายุการปลูกหลายปีและมีน้ำหนักกิ่งมาก จึงต้องใช้เสาปูนหน้าสี่ รองรับน้ำหนัก ความยาวของเสาปูน 2 เมตร ก็เพียงพอ ฝังลงไปในพื้น 50 เซนติเมตร เหลือความยาวของเสา 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด

ในอดีตเกษตรกรที่ปลูกแก้วมังกร โดยใช้เสาไม้หรือเสารั้วปูนหน้าสาม แต่มีปัญหาหักโค่นได้ง่ายเมื่อแก้วมังกรมีอายุหลายปีและจำนวนกิ่งมาก ด้านบนของเสาปูน จะเจาะรูทะลุด้านซ้ายขวา จำนวน 1 รู และด้านหน้า-หลัง จำนวน 1 รู รูทั้งสองจะอยู่ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสอดเหล็ก เหล็กขนาด 4 หุน เป็นเหล็กปล้องอ้อยเพื่อเสริมความแข็งแรง และใช้ล้อยางจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือเป็นยางรถยนต์ที่ตัดมาเฉพาะขอบ ความยาวของเหล็ก 2 เส้น ที่ตัดเส้นละประมาณ 60 เซนติเมตร รองรับล้อพอดีจึงใช้ลวดผูกเหล็กผูกยึดกับล้อ

พื้นที่ 1 ไร่ ฝังเสาได้ประมาณ 200 ต้น สามารถปลูกต้นแก้วมังกรได้ 800 ต้น ระยะห่างของหลัก บางสวนใช้ 2.5×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร แล้วแต่ชอบ พื้นที่ขนาดกว้างสามารถใช้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก หลังจากฝังหลักเรียบร้อยแล้ว นำต้นแก้วมังกรมาปลูก ต้นที่ปลูกยิ่งมีขนาดยาวใกล้หัวเสามากเท่าไรยิ่งดี เพราะจะให้ผลผลิตได้เร็ว

จำนวนต้นที่ปลูกต่อหลัก จะใช้จำนวน 4 ต้น โดยปลูกทุกด้านของเสาทั้ง 4 ด้าน การปลูกแก้วมังกรจะใช้เชือกมัดต้นให้ติดกับเสา ส่วนโคนฝังลงไปแค่เล็กน้อยก็เพียงพอ เมื่อต้นแก้วมังกรสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้เชือกมัดและคอยจัดให้ยอดแก้วมังกรสอดเข้าไปในวงล้อและพาดห้อยออกมา การปลูกในต้นฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องรดน้ำเลย นอกจากเกิดฝนทิ้งช่วงไปนานๆ แก้วมังกรเป็นพืชทะเลทราย ไม่ชอบน้ำแฉะ เพราะเสี่ยงเกิดโรคเน่าโคนได้ง่าย

ป้าศรี เล่าประสบการณ์การปลูกแก้วมังกรว่า “แก้วมังกร เป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่โล่ง ต้องทำโคนให้เตียนสะอาดอยู่ตลอดเวลา รากแก้วมังกรบริเวณโคนไม่ลึกสานต่อกันหมด รอบโคนจะใช้คนถากหญ้าออก ส่วนทางเดินจะใช้รถไถ เมื่อหญ้าที่ถากแห้งค่อยนำมาใส่โคนต้นเป็นปุ๋ย

ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 1 หลัก ใช้ปุ๋ยขี้วัวครึ่งถุง สามารถใส่ติดโคนได้เลย หากเป็นปุ๋ยขี้ไก่ควรใส่ห่างโคน เพราะเสี่ยงทำโคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 เพื่อบำรุงทุกส่วน แก้วมังกรไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเร่งอย่างอื่น ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอก็เพียงพอ เพราะแก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเยอะอยู่แล้ว จะใส่ปุ๋ยเคมี ช่วงติดผล ปีละ 2-3 ครั้ง หากติดลูกมากให้ใส่ปุ๋ยมากหน่อย ปริมาณปุ๋ยใช้ 2-3 ขีด ต่อ 1 หลัก

ดอกแก้วมังกรจะบานตอนกลางคืน ประมาณ 2-3 วัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 กว่าวันแก้วมังกรก็จะสามารถเก็บผลได้ ช่วงที่อากาศร้อนแดดจัดแก้วมังกรจะสุกเร็ว ช่วงไหนแดดน้อยอากาศไม่ร้อนแก้วมังกรจะสุกช้ากว่าปกติ

แก้วมังกรจะให้ผลผลิตทยอยออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนกันยายน เป็นเวลาถึง 5 เดือน เป็นเวลาที่ให้ผลผลิตนานมาก หากนับเป็นรุ่น ได้เกือบ 10 รุ่น ต่อปี แต่ละรุ่นมากน้อยต่างกัน โดยปกติจะสลับกัน รุ่นแรกมาก รุ่นสองก็น้อย รุ่นสามมาก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลผลิตของต้นที่สมบูรณ์จะอยู่ระหว่าง 40-50 กิโลกรัม ต่อฤดูการผลิต แก้วมังกรควรเก็บผลผลิตเมื่อสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บต่อได้อีกหลายวันกว่าจะถึงผู้บริโภค ถ้าเก็บก่อนรสชาติจะไม่อร่อย

ต้นแก้วมังกรหยุดให้ผลผลิตประมาณเดือนกันยายน เดือนตุลาคมสามารถตัดแต่งกิ่งได้แล้ว กิ่งที่ตัดแต่ง ควรเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตในปีนี้ เพราะกิ่งของแก้วมังกรจะให้ผลผลิตแค่ครั้งเดียวจึงจำเป็นต้องตัดกิ่งออก หลังหมดฝน เป็นฤดูที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งให้ชิดโคนกิ่ง เพื่อไม่ให้มีรอยแผลขนาดใหญ่ การตัดกลางกิ่งอาจเกิดเชื้อราที่รอยแผลได้ หรือหลังจากการตัดแต่งกิ่งจะฉีดยากันราเพื่อป้องกันโรคจะเป็นการดี ในช่วงที่มีผลผลิตการฉีดยากันราเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกลายเกิดขึ้นมาก

ราคาของแก้วมังกรจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่จำนวนของผลผลิตที่ออกสู่ตลาด แก้วมังกรของที่นี่มักจะออกดอกพร้อมๆ กัน จึงทำให้วันเก็บเกี่ยวเป็นวันเดียวกัน ถ้าผลผลิตออกมาเยอะมากจะทำให้มีราคาค่อนข้างต่ำ ราคาโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรก็ยังพอมีกำไร ถ้าสวนไหนมีผลผลิตไม่ตรงกับสวนอื่นก็จะได้ราคาดี การปลูกพืชเพื่อจำหน่ายเกษตรกรควรคิดเรื่องตลาดเป็นหลัก ไม่ควรปลูกกันตามกระแส เพราะจะทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนกลายเป็นขาดทุนไป

ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ หรือปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณรากพืช ทั้งบริเวณดินรอบๆ ราก ผิวราก ภายในราก ต้น และใบพืช

ดร.กัลยกร โปร่งจันทึก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร อธิบายว่า พีจีพีอาร์ (PGPR : Plant Growth Promoting Rhizobacteria) เป็นแบคทีเรียกลุ่มใหญ่ที่นิยมมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ แบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถตรึงไนโตรเจน ผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืช ละลายฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม และผลิตสารที่ช่วยละลายธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์ของพืช

ปัจจุบัน นักวิจัยมีความสนใจศึกษาประโยชน์ของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ รากพืชกันมากขึ้น เนื่องจากพบว่าแบคทีเรียกลุ่มนี้มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพได้

ประโยชน์ที่สำคัญของแบคทีเรียกลุ่มนี้คือ การตรึงไนโตรเจน ผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืชที่ช่วยให้รากมีพื้นที่ผิวมากขึ้น มีผลช่วยให้พืชดูดน้ำและธาตุอาหารได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จึงนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์

เริ่มศึกษาวิจัยใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ในข้าวโพดหวาน

ดร.กัลยกร กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหวานประสบกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้กำไรที่ได้จากการปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกรลดลง เกษตรกรจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโพดหวานในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดร.กัลยกร บอกว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดหวานและพืชชนิดอื่นๆ ได้

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโต และเพิ่มผลผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 โดยเลือกพื้นที่ทำการศึกษาวิจัย 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี เดิม) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์

ดร.กัลยกรเริ่มทำการศึกษาวิจัยในช่วงแรกปี 2554-2558 และช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2559-2564 การศึกษาวิจัยเริ่มต้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรนครสวรรค์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี เหตุที่เลือกพื้นที่ศึกษาวิจัย 2 ศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากทั้งสองพื้นที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดจำนวนมาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ (ศวพ.นครสวรรค์) เป็นตัวแทนพื้นที่ ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี (ศวพ.ลพบุรี เดิม) เป็นตัวแทนพื้นที่ ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื้อดินเป็นดินร่วนปนเหนียว

“ดังนั้น เราจึงใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ sshep.com และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี เป็นพื้นที่ในการทดสอบปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ในการผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 เพียงอย่างเดียว”

ทดสอบการใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี

ดร.กัลยกร กล่าวว่า การศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ ระหว่างปี 2559-2564 มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน สองแบบ คือ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 (สูตรดั้งเดิม) และปุ๋ยชีวภาพ พีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 (สูตรใหม่) ร่วมกับปุ๋ยเคมี 5 กรรมวิธี ดังนี้

กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่

กรรมวิธีที่ 3 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่

กรรมวิธีที่ 4 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-3.75-7.5 / 22.5-7.5-3.75 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (75% อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

กรรมวิธีที่ 5 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-3.75-7.5 / 22.5-7.5-3.75 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (75% อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

ดร.กัลยกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 เป็นสูตรดั้งเดิมแยกเชื้อจากรากหญ้าแฝก แบบที่ 2 สูตรใหม่ แยกเชื้อจากรากข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีพบว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ทั้งสองแบบร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือ 75% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลการทดลองใกล้เคียงกันทั้ง 6 ปี แต่การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี 75% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินสามารถช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าในส่วนของการลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากอัตราแนะนำลงมา 25%

ส่วนผลการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์พบว่า ทั้ง 5 กรรมวิธี มีผลการทดลองไปในทิศทางเดียวกันคือ กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 30-10-5 กิโลกรัมต่อไร่ (อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน) พบว่า ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 มีน้ำหนักฝักสดรวมเปลือก และน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกสูงสุด คือ 1,800-3,037 และ 1,267-2,146 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ