ในส่วนสุดท้าย จะมีประมาณ 10% จะถูกแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย

ให้กับที่พักของคนทำสวน และยังใช้ทำเป็นถนนหนทางต่างๆ รวมถึงโรงเรือนอื่นๆ

จากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สามารถทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้ โดยมีรายได้จุนเจือครอบครัวทั้งแบบรายวัน จากการเก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด รายได้รายเดือนจากพืชอายุสั้น อาทิ มะเขือเทศ พืชผัก และรายได้รายปีจากไม้ผล ปศุสัตว์-สัตว์น้ำ

“คิดไว้ว่าจะทำข้าวไร่ แต่ตอนนี้ยังหาพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่นี้ไม่ได้ ก็เลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกทานตะวันไว้แทนก่อน แล้วก็ข้าวโพด ส่วนพื้นที่อื่นๆ เราก็เลือกปลูกตามสัดส่วนและความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ ให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยยึดหลักที่ว่า เพื่อประหยัดรายจ่าย โดยทดลองในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ก่อน ก่อนที่จะขยายไปสู่วงนอก ให้เขาได้รู้ว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีประโยชน์ เรายินดีที่จะให้เข้ามาศึกษาดูงาน ดูแบบอย่างเพื่อนำไปใช้กับสวนของตัวเอง ก็สุดแล้วแต่จะทำ ซึ่งโครงการเหล่าล้วนมาจากความมุ่งมั่นของผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยากจะให้จังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้เป็นพื้นที่ผลิตแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว

หน่วยงานต่างๆ พร้อมสนับสนุน

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงยังมีศูนย์วิทยาเขตกำแพงแสน ที่คอยช่วยเหลือในด้านการดูแลพันธุ์พืชในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ด้วย อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มอบเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศมาให้ทางศูนย์ได้ทดลองปลูก ซึ่งมะเขือเทศพันธุ์นี้ สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องฉีดยาใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผลมะเขือเทศเติบโตสมบูรณ์แล้วสามารถรับประทานได้ทันที

“นอกจากหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่นำเมล็ดพันธุ์มาให้เราได้ทดลองปลูกกันแล้ว แต่ต่อไปในอนาคตเห็นท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่าจะลองนำผักที่ปลูกแบบกางมุ้งปลอดสารมาปลูกที่แหล่งนี้ ซึ่งสิ่งๆ นี้จะแสดงให้เห็นว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว

แบ่งระยะการปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ตลอดปี

ตอนนี้ผู้ใหญ่พิเชษฐ์แบ่งสัดส่วนการปลูกแบบใหม่หรือการปลูกแบบ 3 ระยะ ได้แก่ รายได้รายวัน รายเดือน และรายปี ซึ่งรายได้รายวันนั้นจะได้มาจากไข่ไก่กับไข่เป็ด ส่วนรายเดือนจะได้จากมะเขือเทศ กล้วย และพืชผักต่างๆ และก็มีมะละกอแทรกเข้าไปหรือพืชอายุสั้น และรายปีจะเป็นไม้ผลกับปลา โดยปลาที่ทดลองเลี้ยง มีปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลายี่สก ปลาสวาย แล้วก็ปลาบึก (พันธุ์บิ๊กสยาม)

ซึ่งทั้งหมดนี้จัดอยู่ในจำพวกปลากินพืชทั้งหมด ปลาเหล่านี้จึงอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมดและสามารถเลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ ในขนาดบ่อ 3 ไร่ โดยจะปล่อยปลาชนิดละ 2,500 ตัว แต่จะมีเฉพาะแค่ปลาบึก (พันธุ์บิ๊กสยาม) ที่สามารถเลี้ยงได้ไม่ถึง 50 ตัว โดยปล่อยลงบ่อเลี้ยงพร้อมกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ในส่วนของไก่เลี้ยงไว้ 225 ตัว เป็ด 220 ตัว หมูหลุม 20 ตัว ไก่ไทยอีกประมาณ 20 แม่พันธุ์ และตอนนี้ก็ได้ทำที่เลี้ยงกบเสร็จแล้ว แล้วก็สร้างหลังคาเป็นสีฟ้าเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้กบที่เลี้ยงเหมือนอยู่ในธรรมชาติปกติ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้ปลูกให้เกษตรกรได้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างเป็นรายได้ของครอบครัวได้ เพราะถ้าเลี้ยงมากไปมันจะกินกันเอง

ส่วนเป็ดนั้น ถึงจะอยู่หน้าเขาก็จริง แต่เราสามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้เหมือนกัน โดยใช้เทคนิคด้วยการสร้างอ่างน้ำไว้ให้เป็ดโดยเฉพาะ เพราะตามธรรมชาติของเป็ดแล้ว ถ้าเป็ดไม่ว่ายน้ำ มันก็จะมีผลทำให้เป็ดไม่ผลิตไข่ออกมา จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องสร้างอ่างน้ำไว้ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำลำคลองที่เป็นแบบธรรมชาติของจริง และเราจะเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 3 วัน ส่วนน้ำที่ถูกเปลี่ยนถ่ายออกจะถูกนำไปใช้รดพืชในสวนอีกที

แหล่งน้ำ หัวใจสำคัญ

ของศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่

แหล่งน้ำของที่นี่เปรียบเสมือนกับหัวใจของแปลงเกษตรของเรา เพราะจังหวัดกาญจนบุรีจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ร้อนและแห้งแล้งมาก ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ทุกๆ ครั้งในช่วงหน้าร้อนคือการหาแหล่งน้ำเพื่อให้กับพืชผักได้อยู่รอดถึงวันเก็บเกี่ยว ในปี 2557 ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ได้งบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำเพื่อมาลอกลำห้วยเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร รวมทั้งยังจัดทำฝายชะลอน้ำและก็ขุดสระเพื่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มอีกด้วย

“เราก็ได้ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรในหมู่เรามีน้ำใช้อย่างไม่ขัดสน พืชผลทางการเกษตรที่พวกเขาปลูกก็จะเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และยังได้ผลกำไรที่เหมาะสมตามมาอีก” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอก

ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ เผยว่า ถ้าพูดถึงว่าตอนนี้แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำก็ยังไม่สมบูรณ์มากเท่าที่ควร แต่ตอนนี้ก็ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 75% ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ และต้องบอกว่าทางหมู่บ้านนี้โชคดีมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้งบจากหน่วยงานในหลายๆ หน่วยงานคอยช่วยเหลือเรื่องน้ำ บรรเทาภัยแล้งอยู่ในหลายๆ ครั้ง

ในส่วนวิธีการให้น้ำ จะเริ่มจากการดึงน้ำมาจากต้นน้ำให้มาอยู่ส่วนกลาง แล้วจึงปล่อยไปตามแปลงของชาวบ้าน แต่น้ำเหล่านี้มีต้นทุนในการสูบ เนื่องจากต้องใช้กระแสไฟฟ้าการสูบทุกครั้ง บางคนอาจจะคิดว่ามันอาจเป็นการสิ้นเปลือง แต่ในช่วงหน้าแล้งจะเห็นผลได้ชัดเจนเลย ว่าน้ำเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสวนพืชผักของเกษตรกรค่อนข้างมาก

แต่ทุกครั้งที่ใช้น้ำเราจะไม่ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างสิ้นเปลือง เพราะพื้นที่เป็นที่ปฏิรูปที่ดิน จึงต้องจัดสรรและควบคุมเป็นพิเศษ โดยน้ำที่ได้มาจะถูกส่งไปตามท่อที่ถูกฝังไว้ในดิน

“เราได้แนวความคิดมาจากประเทศอิสราเอล ผมเคยไปดูงานอยู่ที่นั่น แล้วได้มีโอกาสได้เห็นเขาแก้ปัญหาภัยแล้งกันด้วยวิธีประมาณนี้ เราก็จำมาแล้วมาดัดแปลงใช้ที่บ้านของเรา” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ พูดถึงการให้น้ำ

ระบบสหกรณ์ของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่

นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีอีกหลากหลายโครงการ ที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือ สหกรณ์โคนมกาญจนบุรี แล้วก็คลังอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ 2 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์โคนม และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินหนองสามพราน

สหกรณ์โคนมมีสมาชิก 36 ราย และมีวัวทั้งหมด 368 ตัว ทั้งฝูงประมาณกว่า 800 ตัว

ซึ่งทางสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินก็ได้ให้นโยบายไว้ว่า ให้สหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผลิตหญ้าเนเปียร์ขายให้เพื่อรองรับสหกรณ์โคนม ซึ่งสหกรณ์โคนมไม่ต้องปลูกเอง แต่จะให้ทางสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินได้ปลูกเอง ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ที่ใช้สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 200 ไร่ ทั้งนี้ มีสมาชิกในพื้นที่เพียง 14 รายที่ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อส่งให้สหกรณ์โคนม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการอยู่ดี

“ตอนนี้เรากำลังสนับสนุนให้เกษตรกรในหมู่บ้านของเราหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพราะเป็นการปลูกที่ไม่ต้องใช้สารเคมีเลย ใช้เพียงแค่ท่อนพันธุ์ในการปลูก ในรอบแรกที่ปลูกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการที่จะรอให้หญ้าเนเปียร์โตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนรอบที่ต่อๆ ไประยะเวลาในการเติบโตของหญ้าจะเหลือเพียง 2 เดือน ซึ่งถ้าเทียบกับอ้อย อ้อยจะปลูกและตัดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับหญ้าเนเปียร์ สามารถตัดได้มากถึง 5-6 ครั้งในปีเดียว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีได้กำไรโดยหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือประมาณแสนกว่าบาท” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ ให้ข้อมูล

สำหรับพื้นที่ใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ใช้แปลงที่เคยปลูกอ้อยมาก่อน

ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอกว่า ในช่วงหลังๆ มานี้พยายามให้เกษตรกรของเรา เปลี่ยนจากพื้นที่ทำอ้อยมาปลูกหญ้าแทน เพราะจะได้กำไรตอบแทนดีกว่า ใช้เวลาปลูก 60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยว และหักลบรายได้แล้ว ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 กว่าบาท ต่อครั้ง จากพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งปีหนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 6 ครั้งเลยทีเดียว ส่วนของน้ำนมดิบที่ได้จากโคนม จะเน้นทำนมเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งบริษัทโดยเฉพาะ

“นอกจากนี้ ผมในฐานะผู้ดูแลโครงการ ผมก็ต้องคอยประดิษฐ์ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางตอบสนองให้กับชาวบ้าน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีชาวบ้านทำตามบ้างแล้ว เวลาเขามีอะไรที่ขัดข้องหรือสงสัยเราก็จะคอยช่วยเหลือตลอด ยกตัวอย่างเรื่องน้ำ ถ้าเวลาไม่มีน้ำ เราก็สูบเข้าไปที่ไร่ของเขาเลย เพราะอย่างที่บอกว่าคลองเราไม่ได้ขุดไว้ใช้คนเดียว แต่เราทำให้สำหรับทุกๆ คนในหมู่บ้านแห่งนี้” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังเปิดรับดูงาน ศึกษาโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ และยังมีแนวคิดที่จะสร้างสินค้าโอท็อป ที่ผลิตจากหมู่บ้านของตัวเอง แต่ยังอยู่ในช่วงของการทดลองเท่านั้น

ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นสินค้าตลาดบน การผลิตต้องได้คุณภาพ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต้องเตรียมพร้อมเรื่องทุน เพราะมีการก่อสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ระบบน้ำ รวมทั้งแหล่งน้ำสะอาด ตลาดระบายสินค้าต้องมี เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่ง เทคโนโลยีนั้นหาได้ไม่ยากแต่ควรเตรียมไว้ให้พร้อม สิ่งสำคัญรถห้องเย็นขนาดเล็ก ใช้ขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังตลาด นอกจากนี้แล้วคุณต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและปริมาณป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาด

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวว่า ผักไฮโดรโปนิกส์เกิดจากการสะสมไนเตรตสูง เป็นพิษต่อร่างกายของผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีข้อมูลในเชิงวิชาการมาสนับสนุน แม้ในประเทศญี่ปุ่นก็ยังนิยมบริโภคกัน เพราะว่าญี่ปุ่นมีพื้นที่ทำการเกษตรจำกัด และมีอากาศหนาวเย็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน ในแต่ละปี พืชผักที่ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จึงมีความจำเป็นในสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

แหล่งศึกษาดูงาน ผมแนะนำให้ไปเยี่ยมชมที่ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ ของ ครูเฒ่า อยู่ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หาไม่ยากครับ ท่านบอกว่ายินดีต้อนรับ

วันที่ 30 มกราคม 2560 น.ส.แฉล้ม ยอดสุวรรณ อายุ 52 ปี เกษตรกรบ้านคลองอ้ายกาบ ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่พลิกจากการทำนาข้าว ที่ปลูกกว่า 6 ไร่ หลังประสบปัญหาทำนาได้ปีละ1 ครั้งซ้ำร้ายราคาตกต่ำ ทำให้ไม่มีรายได้เหลือและเป็นหนี้จำนวนมาก จึงหันมาเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยปลูกทุกอย่างไว้กินที่เหลือจากกินจึงเก็บขาย รวมถึงหลังจากได้ไปดูงานการปลูกมะกรูดที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบกับในพื้นที่มีการปลูกมะกรูดน้อย จึงได้ซื้อกิ่งพันธุ์ จำนวนกว่า 600 ต้น พร้อมว่างระบบน้ำปลูกในพื้นที่ เกือบ 1 ไร่

ปรากฎว่าประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้ดีครั้งแรก ได้เงินกว่า 7,000 บาท จากการขายให้กับพ่อค้าที่มารับถึงสวน หลังจากนั้นได้หาช่องการตลาด โดยส่งโรงงานอบแห้งมะกรูดที่ จ. เพชรบูรณ์ ซึ่งบางช่วงได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยปัจจุบันสามารถส่งใบมะกรูดให้โรงงานได้เฉลี่ยปีละ 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม มีรายได้หลักแสนบาทเลยทีเดียว

น.ส.แฉล้ม กล่าวว่า มะกรูดนับเป็นพืชที่ปลูกยากในช่วง 2 เดือนแรก หลังจากได้กิ่งพันธุ์มาปลูกห้ามใส่ปุ๋ย ใช้วิธีรดน้ำสม่ำเสมอ เดือนที่ 3 เริ่มใส่ปุ๋ย ห้ามใช้ยาร้อย น้ำส้มควันไม้ พริกแกงเผ็ดรดเด็ดขาด จะทำให้ใบมะกรูด ยอดหด ใบหงิกงอ ให้ใช้ปุ๋ยเย็นฉีด ปุ๋ยยูเรีย ควบคู่กับการฉีดน้ำปูนใส ที่ได้จากปูนขาว โดยหน้าฝนฉีดวันเว้นวัน ป้องกันโรคแฮงเกอร์ จากนั้นดูแลลดน้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ดูแลเรื่องโรคระบาด ตัดแต่งกิ่งใบที่หงิกงอทิ้ง ดูแลให้แตกยอดใบเท่านั้นเมื่อใบเริ่มแก่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 4-5 ครั้ง ขณะที่รายได้ถ้าตัดขายเป็นกิ่งขายได้ กิโลกรัมละ 30 บาท แต่หากเด็ดขายเป็นใบขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท ในขณะที่ผลผลิตใบมะกรูดช่วงนี้เก็บได้ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม นับว่ามะกรูด เป็นอีกอาชีพที่สามารถรายได้ดีตลอดทั้งปีสามารถทำเงินจากการปลูกเพียง 1 ไร่ ได้เงินเป็นหลักแสนบาท

วันที่ 30 มกราคม 2560 นายเศรณี อนิลบล เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาอากาศช่วงหน้าแล้งทำให้ขณะนี้ซึ่งเหมาะสมต่อศัตรูพืชออกแพร่ระบาดสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร ที่กระจายอยู่ตามท้องที่ต่างๆเพิ่มมากขึ้นหลังติดตามสถานการณ์ ดังนั้นจึงแจ้งเตือนและขอความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ร่วมกันสำรวจการระบาดของศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องอย่างผสมผสานได้อย่างเหมาะสมแบบ เพื่อการกำจัดและการป้องกันอย่างถูกต้อง

“โดยเฉพาะหนอนปลอก (ชนิดขนาดเล็ก) หรือCremastophyche pendula Joannis ที่เข้ามาทำลายต้นไม้และกัดกินใบพืชหลายชนิด โดยเฉพาะสวนมะพร้าวและปาล์ม อาทิ 1.ลักษณะการแทะทำลายจนทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และทะลุเป็นรู หรือใบขาดแหว่ง ถ้ารุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลไหม้ ส่งผลให้ลำต้นหยุดชะงักเจริญเติบโต เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงจนเสียหายในที่สุด 2.ส่วนการแพร่กระจายของฤดูการระบาดของหนอนปลอก จะอาศัยแรงลมพัดพาซึ่งเป็นหนอนขนาดเล็กชอบสาวใยและปล่อยตัวห้อยลงแกว่งไกวไปตามลม จากต้นหนึ่งสามารถไปสู่ต้นมะพร้าวต้นอื่นๆได้โดยฤดูร้อนสามารถอยู่ได้ยาวนาน” นายเศรณี กล่าว

ส่วนวิธีการกำจัดนั้น นายเศรณีกล่าวว่า ให้ตัดใบทางมะพร้าวที่ถูกหนอนกัดทำลายนำไปเผาไฟทิ้งทันที เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด ก่อนใช้เชื้อแบคทีเรีย (BT) ฉีดพ่นบริเวณทางใบมะพร้าว เพื่อตัดระยะวงจร ด้วยอัตรา 80 –100 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร มาผสมสารไว้จับใบตามอัตราที่แนะนำของฉลาก ฉีดพ่นจำนวน 3 ครั้ง ระหว่าง 7 – 10 วัน ช่วงตอนเย็น ซึ่งหากพบระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยเซฟวิน 85% อัตรา 25–40 กรัม/ต่อน้ำ 20 ลิตรสำหรับใช้ฉีดพ่นแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ นายเศรณี กล่าวว่า สมุทรสาครถือเป็นแหล่งทำสวนมะพร้าวรายใหญ่ด้วยเหตุนี้จึงออกเตือนยังเกษตรกรและขอความร่วมมือหมั่นเฝ้าดูสถานการณ์เพื่อคอยติดตามศัตรูพืชขณะกำลังระบาดอย่างระมัดระวัง รวมทั้งคอยประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีข้อสงสัยโทรแจ้งได้ที่ 034 -426995 สนง.เกษตรจังหวัด

หากเอ่ยชื่อ จินตนา ไพบูลย์ หรือ “ป้านุ้ย” สาวใหญ่วัย 50 ปี แห่งบ้านทอน-อม อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ในแวดวงเกษตรกรรมแนวเศรษฐกิจพอเพียงของชุมพรคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเธอถือเป็นผู้หญิงแถวหน้า ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ที่เคยฝากผลงานด้านเกษตรกรรมผสมผสาน รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ชาวชุมพรและบุคคลทั่วไปได้รู้จักมาแล้วมากมาย

ป้านุ้ย เป็นชาวชุมพรที่เกิดในครอบครัวชาวสวนแห่งหมู่บ้านทอน-อม อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร เธอจึงเติบโตมากับพืชผัก ผลไม้ แทบทุกชนิดที่พ่อแม่ปลูกไว้กินและขายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ปัจจุบันป้านุ้ยมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 30 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มังคุด และกล้วยเล็บมือ ซึ่งป้านุ้ยทำมาได้ประมาณ 25ปี

จนในปี 2549 ป้านุ้ยได้เดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ภายในชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท 2 วัน 1 คืน จึงได้รับความรู้มากมาย เช่น การทำน้ำส้มควันไม้ การทำเตาเผาถ่านอิวาเตะ การเลี้ยงกบคอนโดฯ การเลี้ยงหมูหลุม การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ฯลฯ โดยวิทยากรคุณภาพที่เป็นคนถ่ายทอดให้คือพงศา ชูแนม อดีตหัวหน้าหน่วยรักษาป่าต้นน้ำพะโต๊ะ และ วริสร รักษ์พันธุ์ ซึ่งทั้ง 2 คน ต่างได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้วทั้งคู่

จากนั้น ป้านุ้ยจึงต่อยอดความรู้ด้วยการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคสมทบ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จนจบการศึกษาเมื่อปี 2552

ป้านุ้ย ได้นำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท มาประยุกต์กับความรู้ที่ได้รับจากวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร โดยแบ่งสวนทุเรียนออกมา 1 ไร่ แล้วเริ่มต้นปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งขุดสระเพื่อเลี้ยงปลาในลักษณะสวนผสม พืชผักที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่

ส่วนใหญ่เป็นพวกพืชผักสวนครัวทุกชนิด เช่น ผักกูด ส้มจี๊ด มะนาว ผักเหรียง ชะอม ทางคูน (ออดิบ) สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์สวี แก้วมังกรเหลืองและขาวแดง เพกาแม่ลูกดก แตงกวา ข่า ตะไคร้ กระชาย มะเขือม่วง พริกขี้หนู พริกไทย มะยม มะเฟือง ใบส้มแป้น มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ฯลฯ

ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงในพื้นที่ 1 ไร่ ก็มีเป็ด ไก่ แพะ และนกกระทา โดยนำมูลของสัตว์เหล่านี้มาใส่ในแปลงผัก นอกจากนั้น ยังเลี้ยงไส้เดือนเพื่อช่วยให้เกิดความสมดุลในดินตามธรรมชาติ สำหรับสระที่ขุดขึ้นมาเพื่อเก็บกักนำไว้ใช้รดพืชผักในพื้นที่ 1 ไร่แล้ว ยังใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาทับทิม ฯลฯ ซึ่งได้มูลเป็ด ไก่ นกกระทา มาเป็นอาหารปลาเหล่านี้ด้วย

“แรกๆ ที่เริ่มปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 1 ไร่ ป้านุ้ยก็จะนำพืชผักที่ปลูก รวมทั้งไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทา และนมของแพะที่เลี้ยงไปส่งในตลาด จนเวลาผ่านไปประมาณ 3-4ปี คือตั้งแต่ปี 2555 ก็ไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปส่งเองแล้ว เพราะจะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงบ้านของป้านุ้ยทุกวัน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งใดๆ อีกแล้ว” ป้านุ้ย เล่าอย่างภาคภูมิใจ

ป้านุ้ย เล่าต่อว่า ปัจจุบันการปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 1 ไร่ ได้กลายเป็นรายได้หลักอีกด้านหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว เมื่อสิ่งที่ทำประสบผลสำเร็จจึงมีผู้ให้ความสนใจ จากชาวบ้านในบ้านทอน-อมก็ขยายออกไปยังสังคมภายนอก จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การยอมรับว่า สวนผสมในพื้นที่ 1 ไร่ ของป้านุ้ยเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการหมู่บ้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย โดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะป้านุ้ยยังมีโฮมสเตย์ไว้รองรับผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์เป็นหมู่คณะและต้องการอยู่ในพื้นที่เกินกว่า 1 วัน ทำให้มีผู้สนใจทั้งในจังหวัดชุมพรและจากจังหวัดต่างๆ เดินทางมาเยี่ยมชมสวนผสมของป้านุ้ยที่ใช้ชื่อว่า “วิถีจินตนา หนึ่งไร่พอเพียง” เป็นหมู่คณะอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ป้านุ้ยยังได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ป้านุ้ยได้รับเพิ่มขึ้นด้วยก็คือ ค่าตอบแทนวิทยากร รวมทั้งค่าอาหารและค่าที่พักโฮมสเตย์สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมสวนของป้านุ้ยเป็นหมู่คณะนั่นเอง

ปัจจุบันป้านุ้ย ยังมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารต้นไม้ สาขาบ้านทอน-อม มีสมาชิกซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 56 คน ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องมีพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น 30 ชนิด เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง มะฮอกกานี ทุ้งฟ้า ตีนเป็ด พะยอม ตาเสือ หลุมพอ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายธนาคารต้นไม้กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับธนาคารต้นไม้ ด้วยการประกาศให้มูลค่าต้นไม้แต่ละต้นนั่นคือ ต้นไม้ทุกต้นจะมีมูลค่าต้นละ 5บาท ต่อ 1 ปี เช่น ใครปลูกต้นไม้ 100 ต้นในปีแรก ก็จะมีมูลค่า 500 บาท ในปีที่ 2 ก็เพิ่มเป็น1,000 บาท ปีที่ 3 ปี เป็น 1,500 บาท และที่ 4 เป็น 2,000 บาท

ป้านุ้ย หรือ จินตนา ไพบูลย์ แต่งงานมีลูกชาย1 คน จบการศึกษาระดับชั้น ปวส. และลูกสาวอีก 1 คน กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ส่วนสามีได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตั้งแต่ปี 2543ทำให้ร่างกายไม่ปกติเพราะขาหักทั้งสองข้าง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนเดิม ป้านุ้ยจึงต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้เกษตรกรที่จังหวัดหนองคายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เร่งเก็บใบยาสูบที่ปลูกไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา นำไปบ่มและซอยตากแดด บรรจุใส่ถุงเตรียมไว้ให้พ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ซึ่งการปลูกใบยาสูบเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวหนองคาย ที่สร้างรายได้งามให้กับเกษตรกร

นายบัวลี ไครสี เกษตรกรชาวบ้านสะเงียว ต.กวนวัน อ.เมืองหนองคาย กล่าวว่า ปลูกใบยาสูบมากว่า 25 ปี บนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง 4 ไร่ ลงทุนปลูกไร่ละ 10,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยบำรุงเท่านั้น โดยใบยาสูบจะปลูกได้เฉพาะช่วงหน้าหนาวต่อหน้าแล้งเท่านั้น

ดังนั้น เกษตรกรจึงเริ่มลงมือปลูกใบยาสูบช่วงเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวได้ช่วงมกราคมเป็นต้นไป ระยะเวลาประมาณ 100 วัน เมื่อเก็บใบยาสูบแล้วจะนำมาบ่มให้ใบยาสูบจากสีเขียวแก่เป็นสีเหลืองประมาณ 3 วัน แล้วนำมาหั่นซอย ตากแดด 2 แดด แล้วบรรจุใส่ถุง จากนั้นรอให้พ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ซึ่งมีการติดต่อซื้อขายกันก่อนล่วงหน้า มีตลาดรับซื้อแน่นอน กิโลกรัมละ 120 บาท ผลผลิต 1 ไร่ ได้ใบยาสูบที่หั่นซอยตากแดดจนแห้งแล้วประมาณ 600 กิโลกรัม ดังนั้นเกษตรกรจะมีรายได้หลังจากขายใบยาสูบแล้วประมาณไร่ละหนึ่งแสนบาทเป็นอย่างน้อย เมื่อเก็บใบยาสูบจนหมดแล้วเกษตรกรก็จะหมุนเวียนปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด พริก มะเขือ เป็นเช่นนี้ตลอดทั้งปี

เกษตรอินทรีย์ เป็นการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตร ที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของดินและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ รวมถึงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี สารสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้จากการตัดต่อพันธุกรรม

แนวทางของเกษตรอินทรีย์ เป็นการอนุรักษ์ดินและระบบนิเวศ โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการปลูกพืชจะใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้เกิดความหลากหลาย มีการเลี้ยงไส้เดือนดิน ใช้เศษพืชทำเป็นปุ๋ยหมัก ทำให้ดินได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลดต้นทุนการผลิตด้วย มีการใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อไล่แมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี เป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เกษตรกรมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

คุณภัทรภร แสงบุญ บ้านเลขที่ 43/2 หมู่ที่ 4 ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ดำเนินงานปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักหลายชนิดหมุนเวียนกันในพื้นที่จำกัดภายในบ้านของตนเอง พืชผักสวนครัวบางชนิดปลูกบริเวณรั้วบ้าน จนเรียกได้ว่าใช้พื้นที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ผักคะน้า มะเขือเทศ มะเขือพวง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ผักสลัด พริกสด กล้วย พริกขี้หนู เห็ด เพาะต้นทานตะวันอ่อน ถั่วฝักยาว เพาะต้นกล้าไม้กระถาง ฯลฯ การปลูกพืชดังกล่าว ได้นำเอาระบบการปลูกพืชตามหลักวิชาการที่ได้เรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มาใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง เช่น การปลูกพืชผักในเรือนโรง การปลูกในแปลงที่ใช้พลาสติกคลุมป้องกันวัชพืช ประหยัดการใช้น้ำ ได้รับคำแนะนำจากกรมพัฒนาที่ดินให้ผลิตปุ๋ยหมักไส้เดือนดินและน้ำหมักไส้เดือนดินมาใช้กับพืชผัก มีการแปรรูปผลผลิตหลายชนิดเป็นน้ำบรรจุขวดพร้อมดื่ม

จากผลงานที่ผ่านมา ประมาณ 5 ปี แปลงพืชผักอินทรีย์แห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครัวเรือนต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้ประจำตำบลชมพู มีเกษตรกรจากตำบลอื่นมาศึกษาดูงาน เฉลี่ยเดือนละ 2 กลุ่ม สมาชิกรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักอินทรีย์ สมาชิก 50 คน สนใจติดต่อศึกษาดูงานได้ที่ นางสาวภัทรภร แสงบุญ โทร. (086) 915-3400

คุณธีรวัฒน์ รังสิกรรพุม เจ้าของสายมีฟาร์ม อยู่ที่ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเกษตรกรที่ปลูกพริกส่งออกยุโรปและญี่ปุ่น อาจเรียกว่าเป็นรายใหญ่ของไทยก็ว่าได้ โดยส่งออกพริกประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ตัน หรือปีละ 100 ตัน เลยทีเดียว

ในเรื่องของสายพันธุ์พริกที่ปลูก จะเป็นสายพันธุ์เรดฮอท และซุปเปอร์เรดฮอท เป็นของ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพอีกบริษัทหนึ่ง โดย คุณพิทักษ์ชน โตสารเดช เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขาย ให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทได้มีการพัฒนาพริกให้เป็นพันธุ์ลูกผสม เพื่อให้ผลผลิตดก ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูง และที่สำคัญอายุการเก็บเกี่ยวสั้น

“เรดฮอท เป็นพริกที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ลักษณะพิเศษคือ เป็นพริกที่มีผลสม่ำเสมอ ส่วนซุปเปอร์เรดฮอทเป็นพริกที่พัฒนามาได้ 1 ปีกว่าๆ ซึ่งตอนนี้กำลังทำตลาดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นพริกที่พัฒนาสายพันธุ์เพื่อพัฒนาผลให้ใหญ่ขึ้น และมีสีที่เข้มขึ้น” คุณพิทักษ์ชน กล่าวให้ฟังถึงลักษณะของสายพันธุ์พริก

มีประสบการณ์ การปลูกพริกมากกว่า 7 ปี

คุณธีรวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นเกษตรกรที่ปลูกพริกอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 30 ไร่ และได้มีการทำเป็นเครือข่ายกับเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ รวมแล้วอีกประมาณกว่า 200 ไร่ จึงทำให้พริกที่ปลูกสามารถส่งขายหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเขาเองได้เลือกปลูกพริก 2 พันธุ์นี้ คือ เรดฮอท และซุปเปอร์เรดฮอท เป็นพริกที่ผ่านมาตรฐานในการส่งออก เพราะมีความเผ็ด มีกลิ่นที่หอม และมีผลที่ตรงสม่ำเสมอตลอดการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น จะต้องควบคุมในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างไปถึงผู้บริโภค

“ข้อดีของพริกสายพันธุ์เรดฮอท ผลจะมีความสม่ำเสมอ ไล่จากล่างขึ้นบน และที่สำคัญการเก็บพริกก็เก็บได้ง่าย ส่วนสายพันธุ์ซุปเปอร์เรดฮอทจากประสบการณ์ที่ผมได้ปลูกมา ถือว่ามีการต่อยอดที่ดีกว่า ในเรื่องของสีที่แดงสวย ผลผลิตต่อไร่สูง อย่างเก็บทำพริกแดง สามารถทำผลผลิตได้ 2.5-3 ตัน ต่อไร่” คุณธีรวัฒน์ กล่าว

เน้นปลูกดูตามฤดูกาล

ในขั้นตอนของการปลูกพริก ขั้นตอนแรกจะนำเมล็ดพริกมาเพาะลงในกระบะเพาะ ขนาด 200 หลุม วัสดุที่ใช้เพาะจะเป็นพีทมอสส์ โดยหยอดเมล็ดพริกลงไปในกระบะเพาะ ต้นละ 1 หลุม ซึ่งการเพาะกล้าจะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน พริกจะมีขนาดประมาณ 1 คืบ จึงเตรียมย้ายไปปลูกลงในแปลงที่เตรียมไว้

ซึ่งพริกสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สมัครยูฟ่าเบท โดยเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม อย่างเช่น พื้นที่ที่หมดฝนแล้ว ควรเลือกพื้นที่ราบเรียบ ส่วนช่วงที่เป็นฤดูฝนควรเลือกพื้นที่ลาดเอียง

“การเตรียมแปลงในครั้งแรก เราจะไถตากดินก่อน ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เราก็จะไถพรวนยกร่องให้มีความสูง ประมาณ 20 เซนติเมตร ให้สันร่องห่างกันประมาณ 1.50 เมตร ปลูกพริกให้ห่างกัน 40-45 เซนติเมตร จะทำให้สามารถปลูกพริกได้ประมาณ 3,500-4,000 ต้น ต่อไร่” คุณธีรวัฒน์ อธิบายวิธีการปลูก

ในเรื่องของการรดน้ำในฟาร์มของคุณธีรวัฒน์ จะใช้ระบบการให้น้ำ 2 ระบบ คือ ระบบน้ำหยด กับระบบสปริงเกลอร์ ซึ่งระบบสปริงเกลอร์จะมีข้อดีคือ ช่วยในเรื่องของการล้างใบ ทำให้อุณหภูมิของใบเย็นลง เป็นการปรับอุณหภูมิกลางวันกับกลางคืนมีความใกล้เคียงกัน ทำให้ลดในเรื่องของอาการเม็ดด่างลงไปได้

เมื่อลงปลูกพริกในแปลงได้อายุประมาณ 10 วัน จะเริ่มใส่ปุ๋ย สูตร 27-5-5 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของใบ โดยใส่ปุ๋ยทุกๆ 10 วัน เมื่อพริกมีอายุประมาณ 45 วัน จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตราส่วน 25 กิโลกรัม ต่อไร่

“การให้ปุ๋ย เราต้องสังเกตดูสภาพต้น ว่ายอดของพริกที่เราปลูกเจริญเติบโตดีไหม อยู่ที่ความพอใจของคนปลูก สมมุติว่าเราพอแล้วในเรื่องของยอด ต้องการการเพิ่มน้ำหนัก พอพริกเข้าสู่อายุ 60-75 วัน ก็จะปรับปุ๋ย เป็นสูตร 13-13-21 ซึ่งพริกปลูกจนสามารถเก็บผลผลิตได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 90 วัน” คุณธีรวัฒน์ บอกถึงวิธีการใส่ปุ๋ย