ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดทั้งนี้ คุณณรงค์ ยังได้เผยถึงระบบการ

ให้น้ำของสวนแห่งนี้ว่า“ผมมีระบบให้น้ำ เป็นระบบน้ำหยด เราจะให้ในช่วงหน้าแล้ง โดยอีกหนึ่งสาเหตุที่ผมจะชอบทำให้พื้นที่ตรงนี้ชื้นอยู่ตลอดก็เพราะ ณ ที่สวนแห่งนี้ มีหิ่งห้อยอยู่หนึ่งสายพันธุ์ ที่เจริญเติบโตอยู่ในป่าแห่งนี้ ก็คือ หิ่งห้อยป่าไม้ ลักษณะคือหัวส้มปีกดำ ตัวค่อนข้างใหญ่ ข้อดีของเขาคือสามารถอาศัยอยู่ในป่าไม้ได้โดยที่ไม่ต้องอยู่ในน้ำ ใช้ความชื้นที่อยู่ในป่าไผ่ เพื่อขยายพันธุ์ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเจริญเติบโตได้ดีคือ เราไม่ได้ใช้สารฆ่าแมลงเลยในสวนของเรา ซึ่งใน 1 ปี จะมีเพียงแค่ 2 อาทิตย์ ที่หิ่งห้อยจะโผล่ออกมาให้เห็น”

สาเหตุที่คุณณรงค์อยากจะเก็บรักษาหิ่งห้อยเหล่านี้ก็เป็นเพราะอยากให้ลูกหลานได้มาเห็น ได้มาศึกษา ว่าหิ่งห้อยเหล่านี้นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากด้วย เพราะการที่มีหิ่งห้อยอยู่ในพื้นที่ จะเป็นการบ่งชี้ว่า พื้นที่เหล่านั้นมีแหล่งน้ำที่สะอาดและยังแสดงให้เห็นว่าป่าแห่งนั้น ปลอดสารเคมีอีกด้วย ทั้งนี้ ที่สวนของคุณณรงค์นอกจากจะมีหิ่งห้อยป่าไม้แล้ว ยังมีหิ่งห้อยอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือหิ่งห้อยน้ำจืด โดยจะอาศัยอยู่ในบริเวณสระที่อยู่ด้านล่างสวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยอีกด้วย

คุณณรงค์ ยังมีคำแนะนำถึงผู้ที่มีความสนใจที่จะปลูกไผ่ต่ออีกว่า

“ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่พื้นตรงนั้นด้วย ว่าเขาจะใช้สายพันธุ์อะไรได้บ้าง แต่ถ้าให้ผมแนะนำ ผมอยากให้เลือกปลูกที่สามารถใช้ได้ทั้งหน่อทั้งลำครับ ซึ่งไม่ต้องดูแลอะไรมาก และสามารถขายหน่อได้ ลำก็ขายได้”

นอกจากจะใส่ใจในสายพันธุ์ที่จะใช้ปลูกแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของน้ำ เพราะในระยะการปลูกช่วง 2 ปีแรกนั้น ต้นไผ่ต้องการน้ำค่อนข้างเยอะ

ในส่วนของผลผลิตที่ได้จากไผ่โดยตรง ก็คงจะหนีไม่พ้นหน่อไม้ที่ได้จากต้นไผ่

“ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่หน่อไม้ออกผลออกหน่อมาก ในสวนของผมจะไม่เน้นไปทางขายหน่อไม้นะครับ เพราะหน่อจะมีราคาถูก 1 กิโลกรัม ขายได้เพียง 10 บาท แต่ถ้าผมเลี้ยงลำเอาไว้ ผมก็จะได้ประมาณ 20 บาท ราคาจะต่างกัน เพราะในพื้นที่จังหวัดลพบุรีมีเลี้ยงปศุสัตว์เยอะ ผมเลยเน้นไปทำหลักวัว-รั้วไฟฟ้าขายเป็นส่วนใหญ่” คุณณรงค์ กล่าว

ถ่านไม้ไผ่จากเศษไม้
สู่การสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ทั้งนี้ คุณณรงค์ ก็ยังมีแผนที่จะสร้างรายได้เสริม โดยการนำเศษท่อนเล็กๆ ที่ได้จากการทำรั้วไฟฟ้าด้วยไม้ไผ่ นำไปเผาเป็นถ่านไม้ไผ่ ซึ่งประโยชน์ของถ่านไม้ไผ่ชนิดนี้คือ จะให้พลังงานเยอะกว่าถ่านทั่วไป สามารถซับกลิ่น ดูดสารพิษต่างๆ ได้ดี ดีกว่าถ่านไม้ทั่วไป

ถ่านไม้ไผ่เป็นถ่านเพียงชนิดเดียวที่นำไปต่อยอดในเรื่องของอุตสาหกรรมได้ หรือแม้กระทั่งนำไปทำเป็นสินค้าโอท็อปได้มากมาย เช่น สบู่ และสินค้าอื่นๆ อีกหลายอย่าง อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปบดเป็นผง นำไปผสมกับเครื่องดื่ม ก็จะมีฤทธิ์ดูดซับสารพิษในร่างกายได้ และช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ดีอีกด้วย

ส่วนวิธีการเผา สามารถปฏิบัติหรือจะหาอุปกรณ์มาทำได้ง่ายๆ โดยนำถังน้ำมัน ขนาดบรรจุ 200 ลิตร มาเจาะรูที่ก้นถัง ประมาณ 20 รู และขุดหลุมในพื้นที่สำหรับการเผาให้ลึกพอประมาณ แล้วจึงนำถังที่เตรียมเผาไปวางไว้บนหลุม ต่อจากนั้นนำไม้ที่เหลือจากการทำหลักวัว ที่มีลักษณะเป็นข้อๆ หรือเศษไม้ไผ่ชิ้นเล็ก มาใส่ในถังให้พอประมาณ แล้วจึงปิดผา ใช้ดินจำนวนหนึ่งมาวางลงบนฝาถัง พร้อมก่อไฟในหลุมที่ขุดเพื่อเผาได้ทันที ซึ่งการเผาจะใช้เวลาวันต่อวัน เมื่อเผาเสร็จก็จะได้ถ่านไม้ไผ่ประมาณ 1 กระสอบ

“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งราคาแต่อย่างใด เพราะเราเพิ่งผลิตสำเร็จได้ไม่นาน ที่ผ่านมาเผาแล้วเป็นขี้เถ้าหมด ตอนนี้ที่คิดไว้คือ จะเผาแล้วเก็บไปเรื่อยๆ แล้วค่อยทยอยออกจำหน่ายทีหลัง เนื่องจากถ่านไม้ไผ่มีคนต้องการเยอะเหมือนกัน” คุณณรงค์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ ด้วยการปลูกไผ่ให้ได้คุณภาพปราศจากสารเคมี สามารถติดต่อมาได้ที่ คุณณรงค์ ไชยเจริญ เบอร์โทรศัพท์หมายเลข (081) 946-3318

“ไส้เดือน” สัตว์มหัศจรรย์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ มีความสำคัญอย่างมากในการย่อยอินทรีย์สารในดิน และการเคลื่อนที่ในดินของไส้เดือน ถือเป็นการพรวนดิน ทำให้ดินมีช่องว่างที่จะเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ดิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการปลูกพืช อีกทั้งยังใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากไส้เดือนได้ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรง ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น ส่งผลทำให้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างเงินให้กับเกษตรกรได้ไม่น้อย

คุณศิวภรณ์ นภาวรานนท์ หรือ พี่แต้ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 53/5 หมู่ที่ 3 ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี สาวนักเรียนนอก จบการศึกษาระดับปริญญาโท จาก University of La Verne ; California ; USA คณะ MBA บริหารธุรกิจ สาขาวิชา Supply chain management สู่วิถีชีวิตการเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไส้เดือน และปัจจัยพื้นฐานในการทำการเกษตร เช่น มูลไส้เดือนสด ดินพร้อมปลูก น้ำสกัดมูลไส้เดือน สร้างรายได้มากถึงหลักแสนต่อเดือน

พี่แต้ เล่าถึงสาเหตุของการผันตัวเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1. เกิดจากความเบื่อหน่ายสังคมในเมืองที่มีการแข่งขันสูง จนได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ กลับมาได้ทำงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตสักเท่าไหร่ เพราะยิ่งอยู่สูง สังคมก็ยิ่งผลักให้เราเป็นคนโลภคือมีอยู่แล้วก็ต้องมีมากเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่จบไม่สิ้น จนรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่ทำอยู่ และ 2. เกิดจากความสงสัย และอยากหาคำตอบว่าทำไมเกษตรกรของไทยยังคงลำบาก ซึ่งในตอนนั้นทำได้เพียงเป็นเพียงผู้ดู และผู้วิจารณ์ แต่จะไม่มีทางเข้าใจถ้าไม่ได้เป็นเกษตรกร ซึ่งด้วยแรงบันดาลใจทั้ง 2 ข้อนี้ ทำให้ตนมีความคิดที่อยากจะเข้ามาทำงานด้านการเกษตร ให้เข้าใจที่มาของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องในภาคเกษตรกรรมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย จึงตัดสินใจมาทำเกษตร และมุ่งเน้นไปที่การทำเกษตรอินทรีย์

เบื่อชีวิตเมืองกรุง อยากทำเกษตร
ผ่านประสบการณ์ “เจ็บ จน เจ๊ง”
พี่แต้ บอกว่า สำหรับสาวเมืองกรุงอย่างตน ในชีวิตไม่เคยจับจอบจับเสียมมาก่อน ต้องมาลงมือขุดดินปลูกผัก ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเส้นทางที่เลือกแล้ว โดยในช่วงแรกของการทำเกษตรจะมุ่งไปที่การปลูกผัก การปลูกมันม่วง และการเพาะถั่วงอก แต่พอได้ลงมือปลูกผักจริงๆ แล้วทำให้รู้ว่าปัจจัยที่ทำให้ผักเจริญเติบโตได้คือ ดิน น้ำ และปุ๋ย ในส่วนของดินกับน้ำเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปุ๋ยเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ แล้วมีอะไรบ้างที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

“ในตอนนั้นที่ฟาร์มได้มีการทำแปลงทดลองปลูกผักโดยการนำปุ๋ยคอก ไม่ว่าจะเป็นขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว และมูลไส้เดือน มาทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพของผักที่โตว่าจะเป็นอย่างไรในแต่ละแปลง และก็ได้เห็นว่าผักแปลงที่ปลูกโดยใช้มูลไส้เดือนมีการเจริญเติบโตที่ดี เห็นผลเร็ว ต้นแข็งแรง และอีกอย่างคือปุ๋ยไส้เดือนเป็นปุ๋ยที่มีฤทธิ์เย็น สามารถนำมาปลูกผักได้เลยโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการคายความร้อน ทำให้เป็นจุดประกายในการนำไส้เดือนมาเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยปลูกผักอินทรีย์ไว้ใช้เอง พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเกิดความชำนาญ

จนได้มีการขยายพื้นที่การเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น นำไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงไส้เดือน ทำเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แล้วก็แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำหมักมูลไส้เดือน ดินพร้อมปลูก ปุ๋ยมูลไส้เดือน ไว้สำหรับใช้ในครัวเรือนและจัดจำหน่าย แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้หนทางไม่ง่ายเลย เนื่องจากที่ตนมีความรู้ด้านการเกษตรเท่ากับศูนย์ ก็ต้องผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลาน เสียน้ำตา เสียเงิน และเวลาที่ทุ่มเทไป ทำให้ต้องหยุดพักกับการเลี้ยงไส้เดือนไปเป็นปีกว่าจะมีกำลังใจกลับมาสู้และทำต่อจนประสบความสำเร็จอีกครั้ง”

การเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตมูลขาย ทำได้ไม่ยาก
การเลี้ยงไส้เดือนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงเพียง 5 กะละมัง จนถึงปัจจุบันสามารถพัฒนาขยายพื้นที่การเลี้ยงได้มากถึง 2,000 กะละมัง พี่แต้บอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ไม่ยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับภูมิภาคและสถานที่ตั้งของฟาร์ม โดยที่ฟาร์มจะเลือกเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ แอฟริกันไนท์ครอเลอร์ หรือไส้เดือน AF เพราะเป็นไส้เดือนเขตร้อน เหมาะกับการเลี้ยงในประเทศไทย ขยายพันธุ์ไว เลี้ยงง่าย เหมาะกับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์

และถัดมาคือวิธีการเพาะเลี้ยง โดยที่ฟาร์มได้มีการทดลองเลี้ยงไส้เดือนมาแล้วเกือบทุกวิธี ทั้งทดลองเลี้ยงในบ่อวงซีเมนต์ บ่อปูนที่ก่อบล็อกขึ้นมาเอง แต่ต้องประสบกับศัตรูของไส้เดือน เช่น ไรแดง มด นก และแมลงต่างๆ ที่เข้ามารบกวนและเข้ามากัดกินไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีทำให้แมลงศัตรูเหล่านี้ยังมาอยู่เยอะและจะชอบแทรกขึ้นมาตามรอยปูนแตก จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการดูแล

ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนคุณภาพสูง
ปัจจัยของสภาพแวดล้อมภายนอก หมายถึง สภาพแวดล้อมบริเวณภายนอกที่อยู่อาศัยจะต้องมีลักษณะ “ร่ม เย็น ชื้น” อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ห่างไกลจากศัตรูธรรมชาติ และห่างไกลจากทิศทางของสารเคมี

ปัจจัยของสภาพแวดล้อมภายใน หรือภาษาไส้เดือนเรียกว่า เบดดิ้ง ก็คือที่นอนที่อาศัยของไส้เดือนนั่นเอง โดยการเตรียมเบดดิ้งสิ่งสำคัญที่สุดคือ “มูลวัวนม” ของที่ฟาร์มจะเลือกใช้เฉพาะมูลวัวนมที่ผ่านการคายความร้อนมาแล้ว ประกอบกับจะต้องมีการวัดค่าความเป็น กรด-ด่าง ของมูลวัวทุกครั้งก่อนนำมาทำเบดดิ้ง และในลำดับถัดมาคือวัตถุดิบส่วนอื่นๆ ที่นำมาผสมลงไปพร้อมกับมูลวัว ซึ่งถือเป็นอาหารให้กับไส้เดือนไปในตัว และเพื่อเป็นการเพิ่มช่องว่างทางอากาศให้กับบ้านของไส้เดือน เพราะถ้าหากใส่มูลวัวเป็นที่นอนให้กับไส้เดือนเพียงอย่างเดียวก็เปรียบเสมือนกับบ้านที่ไม่มีหน้าต่าง บ้านจะแน่นทึบไปหมด ขัดกับธรรมชาติของไส้เดือนที่เป็นสัตว์หายใจทางผิวหนัง เพราะฉะนั้นยิ่งถ้าปล่อยให้บ้านแน่นทึบเท่าไหร่ความสุขของไส้เดือนก็จะยิ่งลดน้อยลง ส่งผลทำให้ไม่เจริญอาหาร กินช้า ถ่ายช้า ลำตัวไม่แข็งแรง

แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้เลี้ยงมีการจัดการบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้ปลอดโปร่ง ไส้เดือนก็จะมีความสุข เจริญอาหาร ลำตัวแข็งแรง โตไว ดังนั้น ขั้นตอนการเบดดิ้ง การเลือกอาหารก็ต้องเลือกหาวัตถุดิบที่ดีลงไป และเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ 1. ต้นกล้วยสับ 2. ผักตบชวา ที่เป็นวัชพืชที่ไม่มีใครต้องการ ทางฟาร์มจะนำมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาสับใส่ลงไปพร้อมกับมูลวัวและต้นกล้วยสับเป็นอาหารให้กับไส้เดือน เพราะที่รากของผักตบชวามีสารอาหารค่อนข้างมากและเป็นประโยชน์ต่อไส้เดือน 3. ขุยมะพร้าวที่ผ่านการหมักแล้ว นำมาผสมเป็นตัวช่วยในการปรับความชื้น หรือจะใช้กากกาแฟ เปลือกไข่บด กากถั่วเหลือง ผสมลงไปด้วยก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการบำรุงสารอาหารในแต่ละช่วง และได้สารอาหารที่หลากหลาย จะส่งผลทำให้มูลไส้เดือนที่ได้ออกมามีประสิทธิภาพสูง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือน
“เปรียบเทียบง่ายๆ จะคล้ายกับคนที่เมื่อเจออากาศร้อนมากๆ จะไม่สบายได้ง่าย หรือถ้าเดินตากฝนบ่อยๆ จะทำให้เป็นหวัด ไส้เดือนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของไส้เดือน ก็จะส่งผลให้การเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ ไส้เดือนค่อยๆ ทยอยตายลง หรือมีปัญหาเชื้อรา ไรแดง ที่เป็นปัญหามาพร้อมกับหน้าฝน ก็ต้องมีวิธีป้องกันไว้ก่อน”

อัตราการเลี้ยง นำตัวพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงในเบดดิ้ง หรือภาชนะที่เตรียมไว้ ในกรณีที่เลี้ยงในกะละมังจะปล่อยตัวไส้เดือนในอัตรา 1-2 ขีด ต่อกะละมัง ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการ
“สมมุติว่าถ้าหากอยากได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนเร็วหน่อยก็ให้ใส่ไส้เดือนลงไปเยอะหน่อย แต่ถ้ากลัวบริหารจัดการไม่ทัน ก็ให้ใส่ไส้เดือนลงไปแค่ 1 ขีดพอ ไส้เดือนก็จะกินช้าขึ้น และทำให้เรามีเวลาในการบริหารจัดการได้มากขึ้น”

การดูแล เทคนิคของที่ฟาร์มจะไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน นอกจากการสังเกตดูว่าไส้เดือนมีความสุขหรือไม่ โดยมีวิธีการสังเกตง่ายๆ สำหรับไส้เดือนสายพันธุ์ AF คือ ถ้าไส้เดือนมีความสุขเวลานำไปออกแดดลำตัวจะเหลือบเป็นสีรุ้ง และจะดิ้นเก่ง มุดดินเก่ง แต่ถ้าเมื่อใดที่ไส้เดือนมีการเคลื่อนไหวช้า ไม่ค่อยมุดดิน ลำตัวมีสีน้ำตาล ตัวเล็ก แปลว่ากำลังมีปัญหา ผู้เลี้ยงก็ต้องกลับมาดูสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหามาจากมูลวัว

“ปัญหาหลักๆ ของคนที่เลี้ยงไส้เดือนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจาก ขี้วัว รวมถึงตัวเราก็พลาดตรงขั้นตอนนี้เช่นกัน เพราะเลือกขี้วัวไม่เป็น ไม่รู้จักการทดลสอบขี้วัวก่อนนำมาใช้ และส่วนใหญ่คิดแค่ว่าขี้วัวก็เป็นเหมือนๆ กันหมด แต่ไม่ได้ไปสืบสาวราวเรื่องว่าเราเอามาจากฟาร์มนั้นมา วัวกินอะไรเข้าไป เพราะอย่างที่ฟาร์มทำไมไม่ซื้อขี้วัวมาจากฟาร์มวัวนมใกล้ๆ ได้ราคาถูกกระสอบละ 25 บาท แต่ทำไมเราถึงต้องทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับฟาร์มวัวนมที่ราชบุรี ก็เป็นเพราะว่าเราเคยพลาดมาก่อน อย่างครั้งแรกที่เจ๊งคือ เราไปเอาขี้วัวมาจากนครสวรรค์ เพราะคิดว่าขี้วัวเหมือนกันหมด แต่ปรากฏว่าขี้วัวที่เราได้มามีลักษณะที่แข็งมากๆ จนต้องเอามีดอีโต้มาสับเสียเวลาไปเป็นวันๆ แล้วพอเอามาเลี้ยงก็ไม่สำเร็จ ไส้เดือนตายบ้าง ไม่กินอาหารบ้าง ก็ต้องหยุดเลี้ยง และเก็บปัญหานี้ไว้ในใจแล้วไปทำอย่างอื่น ไปปลูกถั่วงอกบ้าง ปลูกผักบ้าง แต่สุดท้ายก็เจ๊งทุกอย่างที่ทำ จนได้กลับมานั่งพิจารณา และหยุดทำทุกอย่างแล้วหันกลับมาเลี้ยงไส้เดือนให้มีความสุขให้ได้”

หลังจากมีความมุ่งมั่นและมีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม พี่แต้บอกว่า ตนเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการเตรียมเบดดิ้งเป็นอย่างแรก ซึ่งได้ใช้เวลาปรับเปลี่ยนสูตรอยู่นานเป็นปี จนได้สูตรที่ลงตัว และได้รู้จักวิธีทดสอบขี้วัวที่รัดกุมมากขึ้น รวมถึงมีการสืบค้นแหล่งที่มาของมูลวัวก่อนนำมาใช้เลี้ยงไส้เดือน ว่ามีวิธีการเลี้ยงแบบไหน ให้อะไรเป็นอาหาร เพราะบางฟาร์มจะเลี้ยงวัวด้วยเปลือกสับปะรด ซึ่งเปลือกสับปะรดมีฤทธิ์เป็นกรด หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ด เมื่อนำมาเลี้ยงไส้เดือนก็ส่งผลทำให้มีปัญหา ตรงนี้ถือเป็นขั้นตอนปราบเซียน ทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจในการเลี้ยงไส้เดือนมาแล้วนักต่อนัก

การเก็บมูลไส้เดือน เนื่องจากที่ฟาร์มเลี้ยงจำนวนเยอะ จึงต้องมีการจัดการแบ่งโซนการเลี้ยงเพื่อได้มูลไส้เดือนออกมาจำหน่ายได้ทุกวัน กับการบริหารจัดการที่ใช้แรงงานหลักในการดูแลเพียง 2 คน ไม่นับรวมกับฝ่ายเตรียมเบดดิ้ง แพ็กถุงและอื่นๆ

Mr. Hope ผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนคุณภาพ
เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างยอดขายหลักแสน
หลายคนสงสัยว่าการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตมูลขายจะสามารถสร้างรายได้ถึงหลักแสนต่อเดือนได้จริงหรือไม่ในท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน พี่แต้อธิบายว่า ปัจจุบัน การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนขายมีการแข่งขันทางการตลาดที่สูงก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราขายได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ซึ่งถ้าหากผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอก็ไม่ต้องกลัวคู่แข่ง หรือต้องไปแข่งกับใครให้เสียเวลา เพราะเดี๋ยวลูกค้าจะวิ่งเข้ามาเราเอง ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์มูลไส้เดือนของแบรนด์ Mr Hope ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงเพื่อไว้ใช้เอง จนช่วงหลังได้มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อจำหน่ายและสามารถตีตลาดได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยการคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย และตรงความต้องการของผู้ใช้ทุกประเภท โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากมูลไส้เดือน แบรนด์ Mr Hope มีจำหน่ายอยู่ที่ ตลาด อ.ต.ก. แม็กแวลู ลาซาด้า และช้อปปี้

“เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์จากมูลไส้เดือนคนก็ทำเยอะเพิ่มขึ้นทุกปี พอยิ่งเห็นหลายคนทำสำเร็จ ก็อยากจะทำตามเขาบ้าง นี่ก็เป็นที่มาของการขายตัดราคากันเต็มไปหมด แต่พอขายตัดราคากันนั่นก็เป็นที่มาของการลดคุณภาพ เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะไม่สามารถขายตัดราคาคนอื่นได้ แต่มูลไส้เดือนของเราไม่เคยลดคุณภาพ และก็ไม่เคยขึ้นราคา ขายราคาเดิมมาตลอด ควบคู่กับการรักษาคุณภาพของสินค้าให้ได้เท่าเดิมมาตลอด ทำให้มีลูกค้าประจำค่อนข้างเยอะ และมูลไส้เดือนของเราจะมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอด ซึ่งพอเรารักษามาตรฐานลูกค้าเกิดความไว้วางใจในสินค้าทุกตัว และเรายินดีเคลมสินค้าให้ทุกตัว เราอาศัยความจริงใจในการเป็นผู้ผลิต แล้วเราก็รับผิดชอบทุกออเดอร์ที่มีปัญหาเพราะฉะนั้นต่อให้ลูกค้าไม่พอใจสินค้าเราในวันนั้น

แต่พอเขาได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถของเราเขาก็จะกลับมาอุดหนุนเราเหมือนเดิม บวกกับที่เราพยายามเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม อยากได้ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน เราก็ทำทุกอย่างตามความต้องการลูกค้า ทำให้เราเก็บลูกค้าได้หลายกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่พักอาศัยอยู่คอนโดฯ เราก็มีถุงเล็กขาย หรือคนที่มีบ้านต้องการปริมาณที่เยอะขึ้นมาหน่อยเราก็มีกระสอบให้ หรือกลุ่มที่อยากซื้อเพื่อนำไปขายต่อ เราก็ทำเพื่อสนองความต้องการของเขา ทำให้ในแต่ละเดือนเราสามารถทำรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนได้เป็นเงินหลักแสนต่อเดือน” พี่แต้ กล่าวทิ้งท้าย

ส้มเขียวหวานเมืองลอง เมื่อครั้งอดีตมีชื่อเสียงอันลือเลื่องในรสชาติ ความอร่อย ผลผลิตมีการส่งออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ย้อนไปเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2525 ผู้เขียนได้ไปเยือนเมืองลอง (อำเภอลอง จังหวัดแพร่) เห็นรถบรรทุกสิบล้อจอดเรียงรายริมถนนหน้าโรงพยาบาลลอง คนงานกำลังขนถ่ายส้มเขียวหวานจากรถบรรทุกสี่ล้อ ทราบว่ากำลังจะขนส่งไปยังปลายทาง ณ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย จึงได้เข้าไปดูแหล่งผลิตต้นทางสวนส้มเขียวหวานแถบริมฝั่งแม่น้ำยม ซึ่งมีสวนส้มเขียวหวานเต็มพื้นที่ บนต้นกำลังติดผลดก มีทั้งผลเล็ก ผลใหญ่ ทั้งสีเขียวและสีทอง ถัดจากนั้นมา 25 ปี ให้หลัง หลายพื้นที่กลายเป็นสวนส้มร้าง ทราบว่าสภาพดินเป็นกรด ดินขาดอินทรียวัตถุ ต้นส้มเขียวหวานอายุมากแล้ว ต้นโทรม ผลผลิตตกต่ำจากโรคและแมลง จึงไม่สามารถคัดเกรดของผลส้มได้ เกษตรกรที่สู้ต่อไปไม่ไหว ก็วางมือ

แต่ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณผลผลิตส้มเขียวหวานในตลาดมีน้อยลง ราคาสูงขึ้น และหาซื้อได้ยาก จึงมีเกษตรกรรุ่นต่อๆ มา ได้หันมาปรับพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากรายขึ้น และได้นำบทเรียน ปัญหาจากอดีตมาปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องกิ่งพันธุ์และวิธีการจัดการเสียใหม่

คุณนพดล วงษ์แก้ว ตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 50/1 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งแล้ง อําเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร.085-434-6022 เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรสวนส้มเขียวหวาน สืบทอดมาจากคุณพ่อ คือ ลุงดำเนิน วงษ์แก้ว ผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรไม้ผลและตลาดค้าผลไม้ เเละเป็นตัวอย่างของแปลงส้มเขียวหวานให้อีกหลายรายที่มีการขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากขึ้น ในพื้นที่ใกล้เคียง ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ก็ในเมื่อในอดีตสวนส้มทั้งอำเภอเคยประสบปัญหา แล้วเมื่อคุณนพดลมาเริ่มต้นปลูกส้มเขียวหวานอีกครั้ง ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิมหรือ

คุณนพดล บอกว่า ปัญหาเดิมๆ นั้น mo-rpg.com เกิดจากต้นส้มอายุมากเกิน เกิดโรค เกษตรกรจะเอาแต่ผลผลิตไม่ได้ ต้องมีการฟื้นฟูต้น ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ส้มเปลือกแข็ง เนื้อกุ้งแห้ง ฟ่าม ซังขมและแข็ง ถ้าจะฟื้นฟูต้องใช้เงินลงทุนมาก เงินก็ไม่พอ ลงทุนไปมากๆ ก็จะไม่เหลืออะไร แต่ถ้าผมทำสวนส้มต้องทําให้แตกต่างจากเดิมก็อยู่ได้ พ่อให้ข้อคิดว่าถ้าปลูกส้มเขียวหวานแล้ว ในระยะ 10 ปี ถ้าไม่มีปัญหาเขามีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารู้วิธีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเมื่อลงทุนเงินไปแล้ว บวก ลบ คูณ หาร ก็ต้องอยู่ได้ เพื่อเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้า

คุณนพดล เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยยังเป็นเด็กก็เห็นพ่อแม่ทำเกษตรปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดอยู่ก่อนแล้ว พอโตขึ้นก็เป็นกำลังให้กับครอบครัว ช่วยพ่อแม่ดูแลต้นไม้ ไม้ผลที่พ่อแม่ปลูกไว้ก็ได้แก่ เงาะ ลองกอง มังคุด ส้มเขียวหวาน พริกไทย เมื่อกล่าวถึงส้มเขียวหวาน ขณะนั้นต้นมีอายุ 25 ปี มีโรคขั้วเหลืองเกิดการร่วงหล่น ก็ไม่เข้าใจใช้ยา เคมีก็เยอะ เริ่มท้อ ต่อมาเมื่อยางพาราเริ่มเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจก็ล้มส้มเขียวหวานออก ปลูกยางพารา เพราะน้ำยางราคาดี

พ่อมีลูกหลายคน ก็ให้ทุกคนร่วมกันทำร่วมกันดูแลรับผิดชอบพื้นที่ซึ่งมีอยู่หลายสิบไร่ในลักษณะเป็นกงสี หมายความว่า กิจการงานของทุกคนในครอบครัว อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

พื้นที่ที่คุณนพดลดูแลก็ได้พิจารณาว่า ขณะนั้นต้นยางพารา อายุได้ 13 ปี กรีดน้ำยางมาได้ระยะหนึ่ง แต่ราคาน้ำยางตกต่ำ เมื่อมาคำนวณรายได้-ค่าใช้จ่ายแล้วไม่คุ้มค่า ถ้าปลูกส้มเขียวหวาน จะมีรายได้ดีกว่า จึงตัดสินใจโค่นต้นยางพารา แล้วปรับพื้นที่มาปลูกส้มเขียวหวานอีกครั้ง มีจํานวน 4 แปลง เนื้อที่ 10, 15, 15 และ 16 ไร่ มีแปลงที่เพิ่งนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มี แปลงที่ต้นมีอายุ 3 ปี กําลังติดผลก็มี

ในส่วนของคุณนพดลดูแลสวนส้มเขียวหวาน เนื้อที่ 25 ไร่ คุณนพดล ได้ให้รายละเอียด การปลูก การดูแลแปลงที่มีอายุ 3 ปี ซึ่งกำลังจะเก็บผลผลิตได้รุ่นที่ 1 ของปีที่ 1 แปลงนี้มีส้มเขียวหวานอยู่ 15 ไร่

คุณนพดล กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เห็นพ่อปลูกส้มเขียวหวาน ก็ช่วยพ่อดูแล พ่อก็คอยบอกว่าต้องคอยหมั่นสังเกต ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นหรือมีอะไรมารบกวนแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร พ่อสอนตั้งแต่การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูโรค/แมลง การพ่นยาตามกําหนดระยะเวลา

เริ่มปลูก ส้มเขียวหวาน เมื่อปี พ.ศ. 2559 หลังจากโค่นต้นยางพารา ขุดรากถอนโคนแล้ว ก็ปรับพื้นที่ เตรียมดิน สภาพดินในพื้นที่เป็นดินร่วน และดินร่วนปนทราย มีธาตุอาหารเพียงพอ อยู่ติดแม่น้ำยม ที่มีดินตะกอนค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว จากนั้นวางผังเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมตามทิศทางของแสงแดด วัดระยะ 6×5 เมตร วางระบบน้ำใต้ดินก่อน ใช้หัวสปริงเกลอร์ ทั่วทั้งสวน ต้นละ 1 หัว ทำดินให้ร่วนซุยตรงบริเวณที่จะลงกิ่งพันธุ์ ขุดหลุมลึกเพียง 20 เซนติเมตร ไม่ได้ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมแต่อย่างใด นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก พูนดินบริเวณโคนต้น ใช้ไม้ปัก ผูกเชือกกันโยก แล้วให้น้ำพอเหมาะ ไม่ต้องแฉะ เป็นอันเสร็จการ