ให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปุ๋ยได้

หัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตของฟักทองคือ การให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เนื่องจากการให้ปุ๋ยที่มากเกินความต้องการของฟักทอง จะทำให้ปุ๋ยที่นำไปใช้เพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือจะระเหยไปกับอากาศ และไหลไปไกลกว่าระดับรากของฟักทอง ดังนั้น การให้ปุ๋ยเหมาะสมกับช่วงของการเจริญเติบโตจะช่วยให้ฟักทองเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การให้ปุ๋ยควรหยอดปุ๋ยสูตรเสมอรองก้นก่อนปลูก เช่น 19-19-19 อัตรา 5 กรัม ต่อหลุม เพื่อให้เพิ่มปริมาณธาตุอาหารแก่ฟักทองในระยะกล้า เมื่ออายุ 10-14 วัน ใส่ปุ๋ยตัวหน้าสูง เช่น 46-0-0, 15-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อฟักทองอายุได้ 20-25 และ 30 วัน ควรให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่

เทคนิคการช่วยผสมเกสร

ฟักทอง จะมีดอกสีเหลืองทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศเมียจะเป็นดอกเดี่ยวที่เกิดบริเวณมุมใบ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนผลฟักทองขนาดเล็ก ส่วนของยอดเกสรเพศเมียมี 2-5 แฉก การเจริญเติบโตในระยะแรกการแสดงดอกของฟักทองจะแสดงดอกเพศผู้ ส่วนดอกเพศเมียจะมีตั้งแต่ ข้อที่ 12-15 ดอกที่เกิดปลายเถาและเถาแขนงมักเป็นดอกเพศเมีย ดังนั้น จึงต้องการช่วยผสมเกสรโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ลมพัดหรือแมลงช่วยผสมเกสร หรือให้ผู้ปลูกช่วยผสมเกสรเพื่อการติดผลที่ดี เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย

ถ้าติดผลก็จะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป ดอกฟักทองจะบานแค่ 1 วัน ในช่วงเช้ามืด พอแดดแรงช่วง 09.00 น. เป็นต้นไปก็จะเริ่มหุบ หากจะผสมเกสรควรเริ่มผสมในช่วงเช้าๆ เพราะเมื่อบ่ายดอกฟักทองจะเริ่มเหี่ยวแล้วจะเฉาตายในวันรุ่งขึ้น ดอกก็จะเฉาตายไป สำหรับเกษตรกรที่ปลูกฟักทองในเชิงพาณิชย์, ปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมหรือปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน มีความจำเป็นจะต้องผสมเกสรและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดอกของฟักทอง ดอกเพศเมียและเพศผู้จะบานในตอนเช้า จะบานในช่วงเวลา 03.30-06.00 น. อับเรณูจะแตกระหว่าง เวลา 21.00-03.00 น. ละอองเรณูจะมีชีวิตอยู่ได้ 16 ชั่วโมง หลังอับเรณูแตกยอดเกสรเพศเมียพร้อมรับการผสมเกสรก่อนดอกบาน 2 ชั่วโมง และหลังดอกบาน 10 ชั่วโมง ดังนั้น ช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมในการผสมเกสรคือ ตั้งแต่ เวลา 06.00-09.00 น.

การให้น้ำฟักทอง

ฟักทอง เป็นพืชที่มีระบบรากลึก การให้น้ำจึงต้องให้น้ำซึมลงใต้ดิน ประมาณ 25-40 เซนติเมตร แต่ไม่ควรให้แปลงแฉะ จะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ การเลือกรูปแบบการให้น้ำแก่ฟักทอง ควรพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ หากพื้นที่ปลูกฟักทองอยู่ใกล้ระบบชลประทานหรือมีคลองส่งน้ำที่ดี สามารถเลือกการให้น้ำแบบปล่อยเข้าร่องแปลง พื้นที่ที่มีน้ำเป็นคลองหรือสระน้ำที่มีน้ำจำกัดสามารถให้น้ำแบบสายยางรด หรือให้น้ำแบบน้ำหยด (เป็นวิธีที่มีการทำแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง) แต่การให้น้ำแบบพ่นฝอยเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากการให้น้ำแบบพ่นฝอย ทำให้ฟักทองเกิดโรคทางใบได้เร็วมากขึ้น

โรคและแมลงศัตรูที่ทำความเสียหายแก่ฟักทอง

ปัญหาของการเกิดโรคในฟักทองเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความลำบากใจให้เกษตรกรมากนัก หากมีการจัดการระบบการปลูกที่ดี โรคต่างๆ ก็ไม่สามารถทำความเสียหายได้ เช่น การเตรียมดิน การปลูกที่ดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรครากเน่า-โคนเน่าได้ โดยการใช้โดโลไมท์โรยในแปลงระหว่างการเตรียมแปลง ใช้ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุยเพื่อให้รากทำงานได้ดีขึ้น การไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำที่กันบ่อยๆ หรือปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินสลับการปลูกฟักทองหรือพืชตระกูลแตง การเกิดโรคทางใบ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือการให้น้ำแบบพ่นฝอย วิธีแก้ไขโดยการตัดต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย ไม่ให้น้ำแบบพ่นฝอย ใช้สารป้องกันโรคพืช เช่น แอนทราโคล ปริมาณ 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร, โรคราแป้ง
มักระบาดรุนแรง เมื่อสภาพอากาศเย็น ใบพืชแห้งในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ปัญหาแมลงศัตรูฟักทองนั้นมีไม่มากนัก เพราะใบและก้านที่มีขนช่วยในการป้องกันภัยจากแมลงได้ดี

แมลงศัตรูฟักทอง ได้แก่ ด้วงเต่าแตง แมลงปากดูด และแมลงหวี่ขาว หากไม่มีการระบาดรุนแรงใช้สารเคมีที่สามารถควบคุมแมลงได้หลายชนิด เช่น เซฟวิน 85 ปริมาณ 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้อัตราสูงกว่านี้ อาจจะทำให้ใบไหม้) ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ส่วนเพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กมาก ระบาดในฤดูแล้ง ตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะเป็นสีดำ ตัวเล็กขนาดเท่าปลายเข็ม มันจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนและใต้ใบอ่อน ทำให้ยอดหดสั้น ปล้องถี่ยอดชูตั้งขึ้น หรือเรียกว่า “โรคยอดตั้ง” ฉีดป้องกันโดยใช้ยาโกลไฟท์ หรือแบนโนมิล ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน โดยควรงดการฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทอง

เก็บเกี่ยวเมื่อผลขึ้นนวลเต็มผลตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัด ฟักทองที่เนื้อเหนียว มัน รสชาติหวานจะต้องแก่จัดถ้าเก็บฝักทองไม่แก่เมื่อเอาไปทำอาหารเนื้อจะเละ การตัดควรเหลือขั้วติดไว้สักพอประมาณหรือไว้พอจับสะดวกโดยอย่าให้ขั้วหัก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาจะถูกโดยทันที เพื่อช่วยให้การเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถเก็บผลไว้รอขายหรือบริโภคไว้นานๆ โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น หรือสังเกตว่าเถาแห้ง หรือนับอายุหลังจากผสมติดแล้ว 35-40 วัน หากฟักทองเกิดบาดแผลจะทำให้โรคเข้าทำลาย ผลผลิตเสียหายหรือเน่าได้ง่ายมาก เกษตรกรต้องเก็บผลผลิตด้วยความระมัดระวังไม่เกิดการบอบช้ำจะทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานหลายเดือน

แหนแดง เป็นพืชตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำ เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในที่ที่มีน้ำขังในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แหนแดงที่พบอยู่ทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่เพียงชนิดเดียว คือ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata)

ต้นแหนแดง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ลำต้น ราก และใบ แหนแดงมีกิ่งแยกจากลำต้น ใบของแหนแดงเกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือใบบนและใบล่าง มีขนาดใกล้เคียงกัน ใบล่างค่อนข้างโปร่งใส มีคลอโรฟิลล์น้อยมาก ใบบนเป็นสีเขียวมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ

ดร. ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า แหนแดงที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเรา เป็นแหนแดงสายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) มีขนาดเล็กกว่าแหนแดงสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ประมาณ 10 เท่า ทำให้ขยายพันธุ์ได้ช้ากว่า

แหนแดง มีประวัติการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ในประเทศสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีนมานานหลายศตวรรษแล้ว “กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยค้นคว้า เรื่องแหนแดง มาตั้งแต่ ปี 2520 ช่วงเวลาดังกล่าวกรมได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ส่งเสริมให้มีการใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งความจริงประเทศจีนได้มีการใช้แหนแดงในนาข้าวก่อนประเทศอื่นๆ เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้ว

เริ่มต้นคัดสายพันธุ์ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ดังได้กล่าวมาแล้ว แหนแดง มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ ประมาณ 7 สายพันธุ์ แต่ที่เหมาะสำหรับประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย กับสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาเพื่อคัดพันธุ์

ดร. ศิริลักษณ์ เล่าว่า หลังจากที่เราคัดเลือกได้สายพันธุ์แหนแดงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยแล้ว เราก็ได้ปรับปรุงพันธุ์โดยการฉายแสง แล้วคัดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้น มีความเหมาะสมสามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้ดี เมื่อเทียบคุณสมบัติกับแหนแดงสายพันธุ์ที่มีอยู่ในบ้านเรา พบว่า มีคุณสมบัติที่ด้อยกว่า คือ ตรึงไนโตรเจนได้น้อยกว่า ขนาดของต้นเล็กกว่า ขยายพันธุ์ได้ช้า

กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์ไมโครฟิลล่า (microphylla) มาตั้งแต่ ปี 2520 ได้มีการรักษาพันธุ์มาเรื่อยๆ และได้เงียบหายไประยะหนึ่ง เมื่อประเทศไทยหันมาส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แหนแดงของกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อีกครั้งหนึ่ง ใน ปี 2540

คุณสมบัติของ แหนแดง พันธุ์กรมวิชาการเกษตร

เนื่องจากกาบใบบนด้านหลังของแหนแดงมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง เมื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อหว่านแหนแดงไปในนา 1 ไร่ จะมีผลผลิตแหนแดง 3,000 กิโลกรัม (3 ตัน) เทียบได้กับปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว

วิจัยครั้งแรก ทดลองกับการปลูกข้าว

จากผลงานวิจัยของ นายประยูร สวัสดี และคณะ อดีตนักวิชาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร ปี 2520-2521 พบว่า การเลี้ยงขยายแหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว 1 ชุด หรือ 2 ชุด สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวพอๆ กับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 6-12 กิโลกรัม/ไร่ และจากผลการทดสอบภายใต้โครงการความร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ พบว่า การเลี้ยงแหนแดงแล้วไถกลบก่อนปักดำ สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 4.8 กิโลกรัม/ไร่ และการเลี้ยงแหนแดงหลังปักดำแล้วไถกลบก็ให้ผลทำนองเดียวกัน การไถกลบ 2 วิธี ร่วมกัน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกได้ เฉลี่ย 160 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับการเพาะกล้าเมื่อใส่แหนแดงลงไปในแปลงกล้า 1-2 วัน จะสามารถลดระยะกล้าจาก 40 วัน เหลือเพียง 30 วัน เท่านั้น

ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า ในการวิจัยครั้งแรก กรมการข้าว ยังมิได้แยกตัวออกไปจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสถาบันวิจัยข้าว ปัจจุบันได้แยกตัวออกไปเป็นกรมการข้าวแล้ว กรมวิชาการเกษตร ได้สนับสนุนแม่พันธุ์แหนแดงให้กรมการข้าวไปเพาะเลี้ยงเอง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเพื่อให้กรมการข้าวสามารถเพาะเลี้ยง เพื่อจะได้นำไปใช้ในกิจการของกรมการข้าวเอง

ทดลองกับพืชที่ได้จาก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ขณะนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กำลังเพาะกล้ากล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนมากต้นกล้าของพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะอ่อนแอในระยะอนุบาล และยังไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากระบบท่อลำเลียงยังไม่สมบูรณ์ หากใส่ปุ๋ยเคมีลงไปบางครั้งอาจจะทำให้พืชเน่าได้ เพราะปุ๋ยเคมีมีความเค็ม จะทำให้เสียเวลาในการงดใส่ปุ๋ย ประมาณ 20 วัน จึงจะเริ่มใส่ปุ๋ยได้ แต่แหนแดงสามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เลย เพราะแหนแดงสามารถปลดปล่อยไนโตรเจนซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัยต่อกล้าพืช กล้าจะดูดซึมไนโตรเจนเข้าไปในรากพืชได้เลย ดังนั้น แหนแดงจึงเหมาะกับการปลูกพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

“เราได้ทำการทดลองแหนแดงกับกล้ากล้วยน้ำว้าสายพันธุ์ปากช่อง 50 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถลดระยะกล้าลงจาก 60 วัน เหลือเพียง 45 วัน เป็นการประหยัดเวลาและต้นทุนในการดูแลรักษา เมื่อนำกล้าลงแปลงปลูก ปรากฏว่าต้นกล้ากล้วยที่ใช้แหนแดงผสมกับวัสดุปลูกกล้วยสามารถเจริญเติบโตเร็วกว่าต้นกล้าที่ไม่ได้ใส่แหนแดง”

การเพาะเลี้ยง แม่พันธุ์แหนแดงไม่ยาก

หลังจากที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดงให้กรมการข้าวไปดำเนินการเองก็มีเกษตรกรเริ่มรู้จักแหนแดงและมาขอจากกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดินกันมากขึ้น โดยทางกลุ่มงานวิจัยจะสนับสนุนแม่พันธุ์ให้ไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เอง โดยยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงให้ ซึ่งไม่ยาก

“การเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะต้องทำบ่อแม่พันธุ์แหนแดงไว้ เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนสูง เนื้อเยื่อของแหนแดงค่อนข้างอ่อน แมลงจะลงทำลายได้ง่าย เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องมีบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ เมื่อเราใส่แหนแดงลงไปในแปลงนา และถูกแมลงทำลายเสียหายหมด เราก็ยังมีแม่พันธุ์แหนแดงที่เลี้ยงไว้ในบ่อ โดยไม่ต้องมาขอรับแม่พันธุ์แหนแดงจากกรมวิชาการเกษตรอีก”

การขุดบ่อ เนื่องจากแหนแดงไม่ต้องการน้ำลึก เกษตรกรขุดบ่อให้มีลักษณะเหมือนท้องนาขังน้ำให้ลึก ประมาณ 4-5 เซนติเมตร เรียกว่าเป็นบ่อน้ำตื้น ควรจะมีร่มไม้รำไร ถ้าพื้นที่บ่อ ประมาณ 5 ตารางเมตร ปล่อยแหนแดงลงไป ประมาณ 10 กิโลกรัม 10-15 วัน แม่พันธุ์แหนแดงจะเจริญเติบโตเต็มบ่อ ซึ่งควรจะปล่อยแหนแดงลงบ่อก่อนฤดูฝน ถ้าปล่อยลงบ่อในหน้าแล้ง ความชื้นในอากาศน้อย อาจจะใช้เวลานานถึง 3 สัปดาห์ แหนแดงจึงจะเต็มบ่อ

ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า ถ้าเกษตรกรมีแม่พันธุ์ 10 กิโลกรัม ก็จะเพียงพอสำหรับนา 1 ไร่ หลังจากนำไปปล่อยในนา ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะขยายแหนแดงได้ถึง 3,000 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าหว่านแหนแดงลงไปในปริมาณมากจะขยายพันธุ์ได้เร็ว เพราะระบบขยายพันธุ์ของแหนแดงขยายให้น้ำหนักสดเป็น 2 เท่าตัว ทุก 3-5 วัน

การนำแหนแดงไปใช้

แหนแดงสด ถ้าจะใส่ในนาข้าว เกษตรกรควรนำไปหว่าน 2 ช่วง ด้วยกัน ช่วงแรก หว่านแหนแดงก่อนตีเทือก เพื่อให้แหนแดงไปเพาะขยายในท้องนา ประมาณ 20 วัน แล้วไถกลบ เมื่อแหนแดงย่อยสลายก็จะเริ่มปลดปล่อยไนโตรเจนออกมา ดังนั้น เมื่อตีเทือกเสร็จก็หว่านข้าวหรือดำนาได้เลย อีกช่วงหนึ่งถ้าเป็นนาดำ ให้ดำนาไปก่อน แล้วหว่านแหนแดงลงไปในนา แหนแดงจะไปขยายพันธุ์เต็มท้องนา เพราะนาดำมีลักษณะเป็นบ่อน้ำตื้น ประโยชน์ที่ได้ตามมาก็คือ แหนแดงจะช่วยบดบังแสงแดด ป้องกันไม่ให้วัชพืช ข้าววัชพืช ข้าวลีบ หรือข้าวดีด ที่ติดมากับรถเกี่ยวข้าว ตกค้างอยู่ในนา เจริญเติบโตขึ้นมาในนาข้าว

นอกจากนั้น ยังมีรายงานผลการทดสอบภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติว่า การเลี้ยงแหนแดงในนาแล้วไถกลบก่อนปักดำ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ทัดเทียมกับการใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 4.8 กิโลกรัม/ไร่ และการเลี้ยงแหนแดงหลังปักดำก็ให้ผลผลิตทำนองเดียวกัน หรือการไถกลบทั้ง 2 วิธี ร่วมกันก็สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกได้ โดยเฉลี่ย 160 กิโลกรัม/ไร่

เนื่องจากแหนแดงมีโปรตีน ไขมัน เซลลูโลส และแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี จากการวิเคราะห์พบว่า กรดอะมิโนที่จำเป็นในแหนแดงมีปริมาณสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของปลา จึงเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในนาข้าวที่มีแหนแดงอยู่ด้วย สามารถทำให้น้ำหนักของปลาและขนาดของปลาเพิ่มขึ้นมากกว่าปลาที่เลี้ยงในนาข้าวโดยไม่มีแหนแดงร่วมด้วย

นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาในนาข้าวยังทำให้ต้นข้าวได้รับปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูทำนาจากมูลปลาที่ถ่ายออกมาหลังจากกินแหนแดงเข้าไป ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกด้วย จะเห็นได้ว่าแหนแดงเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์มากในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร ดร. ศิริลักษณ์ กล่าว

แหนแดงแห้ง เนื่องจากแหนแดง เพิ่มปริมาณตัวเองอย่างรวดเร็ว เราก็เก็บรวบรวมมาตากแดดไว้ ประมาณ 2 วัน ก็แห้ง เก็บใส่กระสอบรวบรวมไว้สำหรับใช้ปลูกพืช อัตราที่นำแหนแดงแห้งไปใช้ ประมาณ 20 กรัม ต่อดินวัสดุเพาะ 1 กิโลกรัม จากผลการทดลองปลูกผักสลัดให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า แหนแดงแห้งมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสด เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมีไนโตรเจนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรีย แหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม เท่ากับปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 10-12 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกพืช

แหนแดง เหมาะสำหรับเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรที่ปลูกผักหรือทำการเกษตรอินทรีย์ ถ้าใช้แหนแดงผสมกับดินปลูก จะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน จึงผลิตแหนแดงเพื่อสนับสนุนงานเกษตรอินทรีย์หรือการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามระบบทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แบบครบวงจร แหนแดงสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย กินได้ทั้งสดและแห้ง ควบคู่ไปกับอาหารเม็ด หรือผสมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้งก็ได้ เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมีโปรตีนสูง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ มีอะมิโนแอซิดครบทุกตัว จึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในหน้าแล้งขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์หรือมีไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถใช้แหนแดงสดหรือแห้งผสมกับฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง สัตว์ก็จะได้อาหารที่มีคุณภาพดี เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงแหนแดงโดยเลี้ยงในบ่อน้ำตื้น ประมาณ 4-5 เซนติเมตร แหนแดงจะไม่มีวันขาดแคลน เก็บเกี่ยวได้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะแหนแดงจะเจริญเติบโตและขยายตัวไปได้เรื่อยๆ

“แหนแดง สามารถไปทดแทนปุ๋ยยูเรียได้ในขณะที่ปุ๋ยมีราคาแพง และไม่ต้องกังวลในเรื่องของปุ๋ยปลอม” ดร. ศิริลักษณ์ กล่าวในที่สุด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยเพื่อให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ โดยใช้ปุ๋ยหมักจากเศษกิ่งไม้และใบลำไยหลังการตัดแต่ง เป็นการลดต้นทุนที่เห็นผล เกษตรกรสามารถทำได้เหมือนกับ คุณดำรงค์ จินะกาศ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และเกษตรกรต้นแบบเจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ (ศพก.) การผลิตลำไยคุณภาพ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน รวมทั้งเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ระดับเขต ปี 2558

คุณดำรงค์กล่าวว่า การทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยจากกิ่งและใบลำไยนี้ ไม่ต้องลงทุนสูงและประหยัดแรงงาน ไม่ต้องขนย้าย อีกทั้งประหยัดการให้น้ำ ประมาณร้อยละ 50 ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง ประมาณร้อยละ 30 เก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินได้นาน รวมทั้งลดปัญหาหมอกควันจากการเผากิ่งและใบลำไย เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ได้ดี โดยสังเกตได้จากมีไส้เดือนดินเพิ่มปริมาณมากขึ้น ดินร่วนซุย รากฝอยแตกใหม่มาก สามารถดูดกินธาตุอาหารได้ดี ทำให้ต้นลำไยสมบูรณ์แข็งแรง ในกรณีที่เกษตรกรจะทำลำไยนอกฤดู การราดสารจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วิธีการทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไย

หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม จากนั้นนำกิ่งลำไยที่ได้จากการตัดแต่ง ตัดลิดใบแล้ววางกิ่งเรียงรอบต้นลำไย จากทรงพุ่มเข้าหาโคนต้น และกวาดใบลำไยมากองทับกิ่งลำไย พร้อมทั้งโรยปุ๋ยคอกกับเชื้อ พด. บนกองของกิ่ง/ใบลำไย ทำแบบนี้หลายๆ ชั้น

และให้น้ำโดยสปริงเกลอร์หรือสายยางบีบปลายรดให้กระจายทั่วกองปุ๋ยหมัก จะทำให้น้ำซึมผ่านลงตามช่องว่างของกิ่งที่วางเรียงกัน ทำให้กองปุ๋ยหมักไม่เกิดความร้อน เมื่อน้ำซึมลงดิน ก็สามารถเก็บความชื้นได้ดี เพราะมีใบลำไยกลบคลุมอยู่ หลังจากนั้นให้น้ำทุก 7-10 วัน ประมาณ 6-8 เดือน กิ่งและใบลำไยก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นลำไย

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดูเพื่อให้ได้คุณภาพตามตลาดต้องการนั้น เกษตรกรจะต้องวางแผนการผลิต มีการบริหารจัดการที่ดี และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้ปุ๋ยหมักจากเศษกิ่งไม้และใบลำไยหลังการตัดแต่ง โดยนำมากองหมักไว้ใต้ต้นลำไยเป็นวิธีการที่เกษตรกรชาวสวนลำไยทำได้ไม่ยุ่งยาก สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้

เกษตรกรชาวสวนลำไยที่สนใจการผลิตลำไยคุณภาพและการลดต้นทุนด้วยการทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยจากกิ่งและใบลำไยหลังการตัดแต่งกิ่ง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน โทร. 053-511-120 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โทร. 053-976-569

หรือ คุณดำรงค์ จินะกาศ เกษตรกรต้นแบบเจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ (ศพก.) การผลิตลำไยคุณภาพ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ระดับเขต ปี 2558 โทร. 081-724-7327

การทำไร่นาสวนผสมจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความอดทน วิริยะ อุตสาหะ เพียบพร้อม หากไม่อดทนเสียแต่ต้นมือ ปล่อยให้ความย่อท้อเข้ามาบั่นทอนในจิตใจ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเลิกราพ่ายแพ้จากไป

คุณปราณี และ คุณสมนึก ทิพยะ ทั้งสองทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตัดสินใจกลับมาสู่ภาคเกษตร ในที่ดิน 200 ไร่ ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 12 ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

คุณปราณี เล่าว่า เดิมทีที่ดินบริเวณนี้เป็นป่ารก toobnetwork.com ป้ากับลุงปลูกมะม่วงทิ้งไว้แล้วก็อพยพครอบครัวไปอยู่กรุงเทพฯ ให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือกัน ส่วนที่ตรงนี้น้องชายลุงดูแลอยู่ พอน้องชายลุงเสียชีวิตลูกๆ เรียนจบพอดี ก็อพยพครอบครัวกลับมาอยู่บนที่ผืนเดิม

“แรกๆ ก็ไม่อยากมา เพราะไม่ชินกับสภาพแบบนี้ อยู่กับป่า ไฟฟ้าก็ไม่มี ความสะดวกสบายไม่มีอะไรเลย แต่พออยู่ไปๆ ก็ชินไปเอง”

คุณปราณี เล่าอีกว่า เมื่อแรกมาอยู่ในที่ดิน 200 ไร่ เริ่มเก็บมะม่วงที่ปลูกไว้แต่เดิมขายเอาเงินมาปลูกมะม่วงต้นใหม่ ปลูกมะม่วงเสริมอีก 400 ต้น เดิมมีอยู่แล้ว 300 ต้น จากนั้นก็ปลูกลำไยอีก 500 ต้น

กาลเวลาผ่านไป 3 ปี มะม่วงโตลำไยก็เริ่มได้ผล คราวนี้โค่นมะม่วงต้นเก่าทิ้งเอาอ้อยมาปลูกแทน แล้วก็ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงเป็ด ไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ คุณปราณี บอกว่า เป็ด ไก่ กบ เลี้ยงไว้เป็นอาหารที่เหลือขาย ปลูกผักตามฤดูกาล เช่น ผักหวานป่า ผักอีชุก ผักอีนูน พืชสวนครัวปลูกพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ มะกรูด ปลูกมะละกอไว้ทานเอง จัดพื้นที่ทำสวนเพิ่มขึ้นอีก ปลูกส้มโอ แก้วมังกร ปลูกไผ่ตง กลายเป็นสวนผสมในเนื้อที่ 40-50 ไร่ ตอนนี้แทบไม่ต้องซื้อกับข้าวก็อยู่ได้ นอกจากอยากจะทานหมูก็ออกไปซื้อมาบ้าง

ในส่วนของพืชไร่ ปลูกอ้อยกับมันสำปะหลัง พื้นที่ส่วนหนึ่งทำนาปลูกข้าว ทั้งหมดผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นไร่นาสวนผสม การจัดระบบการปลูกนั้น แรกๆ ก็ผิดพลาดเหมือนกัน พอปลูกไปแล้วมาคิดได้ว่าน่าจะจัดเป็นโซนให้ดูเป็นระเบียบ สะดวกแก่การบริหารจัดการ

คุณปราณี บอกว่า งานมีทำทั้งวันไม่หยุดมือ แทบไม่มีเวลานั่ง นอน พักผ่อนตอนกลางวันสักเท่าไร เช้าลงสวนเก็บพืชผักในสวน เหมือนไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาทำ ต้องไปเก็บของในสวนขึ้นมาทำกับข้าวเผื่อไว้มื้อเย็น เก็บผัก ผักบุ้ง ผักสารพัดที่อยากจะทาน มะละกอเก็บมาแกงส้มหรือตำส้มตำทาน จะทานปลาก็ไปลงเบ็ดเอามาทำกับข้าว จะทานเป็ด ไก่ กบ ก็ให้คนงานทำให้ก่อนเอามาทำกับข้าว

การใช้ปุ๋ย ก็ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เอามาปรับปรุงบำรุงดิน สมัยก่อนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นท่านใช้ปุ๋ยเคมีกันเลย ท่านก็ยังทำมาหากินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอยู่กันได้ อยากจะให้เราถอยหลังกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติตามวิถีเดิม

ไม้ผลพืชสวนใช้ขี้วัว ขี้ไก่มาหมักกับแกลบ ฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุเติมลงในดินทำให้ดินดี เมื่อก่อนมาอยู่ดินที่นี่ไม่ดีใช้ไม่ได้เลย ปลูกต้นไม้ก็จะตาย เพราะไม่มีธาตุอาหารในดิน พอมาอยู่ใช้อินทรียวัตถุ ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพทุกวันนี้ดินอยู่ในสภาพดีมาก ปลูกพืชอะไรก็เจริญงอกงาม

ในท้องนาไม่ใช้เคมี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ที่นี่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ทำนาปีละครั้ง ใจก็อยากจะทำหลายๆ ครั้ง แต่ไม่มีกำลังพอที่จะทำ