ให้สอดคล้องกับรูปแบบการรวมกลุ่มการผลิตไหมแต่ละประเภท

รวมทั้งนำเสนอต้นแบบการรวมกลุ่มการผลิตไหมที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ รูปแบบ (Model) ใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนต้นแบบที่มีศักยภาพที่จะต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากไหม ได้แก่ การ แปรรูปเสื้อผ้า สิ่งทอเคหะ และอื่นๆ ที่ทำจากไหม ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไหม และ ผู้ประกอบการทั้งระบบได้รับการพัฒนายกระดับและนำไปสู่เชิงพาณิชย์

กิจกรรมโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยกระบวนการที่สำคัญคือ การคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีศักยภาพจากกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแปลงใหญ่ จำนวนอย่างน้อย 5 กลุ่มหลัก และทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจ และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละท้องที่ โดยมีการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งกระบวนการผลิต การสร้างแนวทางความร่วมมือโซ่คุณค่าของกลุ่ม Cluster

อีกทั้งมีการพัฒนาควบคู่กันทั้งแนวทางการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย และได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านสิ่งทอมาพัฒนาสมบัติพิเศษให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้ผ้าไหมไทยสามารถสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มและมีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังคงอัตลักษณ์ผ้าไหมไทยแต่ละพื้นที่ไว้

นายชัยยุทธ ทิพย์สุวรรณพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เป็นประจำทุกปีที่ ซีพี เฟรชมาร์ท ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบสิ่งดีๆ เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถือเป็นเทศกาลแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี สำหรับปีนี้จัดกิจกรรม “Happiness Gift : ส่งความสุขให้คนที่คุณรัก” ด้วยชุดของขวัญและกระเป๋าลดโลกร้อน สุดคุ้มค่าคุ้มราคา มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่เซ็ตของขวัญชุดเล็กจนถึงชุดใหญ่ ทั้งชุดส่งความสุข1-2-3 ชุดกระเป๋าอิ่มสุข เครื่องดื่มเห็ดหิมะในชุดประหยัด และชุดเมล่อนเจียไต๋ที่เป็นชุดยอดนิยม ตลอดจนสินค้าอาหารคุณภาพอื่นๆ ในราคาเริ่มต้นเพียง 180-1,999 บาท ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

“ซีพี เฟรชมาร์ท ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2562 ด้วยการส่งความสุขให้คนที่คุณรักได้ยาวนานยิ่งขึ้น จากชุดของขวัญปีใหม่ซีพี เฟรชมาร์ท ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่คนพิเศษ ทำให้สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยในเซ็ตจัดอาหารเมนูเพื่อสุขภาพ อาหารทานเล่น อาหารสดและอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน ซึ่งนอกจากจะส่งความสุขให้คนที่รักแล้วยังร่วมกันรักษ์โลก เนื่องจากสามารถนำกระเป๋ากลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย” นายชัยยุทธ กล่าว

พร้อมเดินหน้าโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร หลังกำหนดคู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับถนนท้องถิ่น พร้อมหลักเกณฑ์และราคากลางก่อสร้างฯ เพื่อให้ อปท. ดำเนินการก่อสร้างเองหรือจ้างเหมาก่อสร้าง โดยมีวัตถุดิบเป็นน้ำยางจากบริษัทผู้ผลิต สถาบัน/กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. รับรอง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยว่า โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งโครงการตามนโยบายแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล ขณะนี้พร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ หลังมี “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานถนนท้องถิ่น” โดยดำเนินการสร้างถนนด้วยกระบวนการ Mix in Place ใช้รถเกลี่ยดิน (Motor Grader)

ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการก่อสร้างถนนได้ โดยยึดมาตรฐานจากคู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับถนนท้องถิ่น และคู่มือการออกแบบส่วนผสม (Job Mix Formula) ที่จัดทำโดยกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้มีประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์และราคากลางงานก่อสร้างเพื่อใช้ในงานถนนดินซีเมนต์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงสามารถนำคู่มือ ข้อแนะนำ และราคากลาง ไปดำเนินการก่อสร้างด้วยตนเองหรือจ้างเหมาก่อสร้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ หากมีการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ทั่วประเทศ จะมีระยะทางรวม 75,032 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้น้ำยางสดในปริมาณ 1,440,614.40 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 16,326.9632 ล้านบาท

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับน้ำยางที่ใช้เป็นวัตถุดิบใช้ในการผสมเป็นน้ำยาง Preblend เพื่อนำมาราดถนนนั้น กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำยาง Preblend ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องใช้น้ำยางสดหรือ น้ำยางข้นจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือบริษัทผู้ผลิตน้ำยางข้น สถาบัน/กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ กยท. รับรองเท่านั้น ดังนั้น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร นอกจากจะช่วยดูดซับน้ำยาง ออกจากระบบตลาด เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และเป็นการพัฒนาคุณภาพถนนและพื้นผิวการจราจรให้มีความทนทานแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคม และ ที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ กรรมการสมาคมกุ้งตะวันออกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2561 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2561 โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 3 คาดปี 2562 จะผลิตกุ้งได้ 310,000-320,000 ตัน

“ประมาณการผลผลิตกุ้งไทย ปี 2561 อยู่ที่ 290,000 ตัน (โดยร้อยละ 33 เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 29 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 24 จากภาคตะวันออก และร้อยละ 14 จากภาคกลาง ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน ถือว่าผลิตได้ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาโรค และราคากุ้งที่ไม่จูงใจ/ต่ำ ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ถือเป็นปีที่หลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ผลิตกุ้งได้เพิ่มมากขึ้น อินเดียครึ่งปีแรกผลผลิตทะลักออกมามาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากุ้งในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก”

ส่วนข้อมูลการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.- ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 143,129 ตัน มูลค่า 45,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่ส่งออกปริมาณ 167,418 ตัน มูลค่า 56,105 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ ร้อยละ 14.51 และ ร้อยละ 18.82 ตามลำดับ

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า “ผลผลิตปี 2561 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 95,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ ร้อยละ 2 จากปัญหาจากภาวะราคากุ้งผันผวนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งฝั่งอันดามันปรับตัวไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น”

นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคมฯ และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนบน ในภาพรวมไม่ค่อยดีมากนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากภูมิอากาศของประเทศทั่วทุกภาคมีฝนตกเกือบตลอดปี อากาศแปรปรวนตลอดเวลาทำให้การเลี้ยงค่อนข้างยาก โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว และขี้ขาวยังคงรุมเร้าทุกพื้นที่การเลี้ยง ผลผลิตรวมของภาคใต้ตอนบนอยู่ที่ประมาณ 84,000 ตัน มากที่สุดคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 40,000 ตัน”

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ กรรมการสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวว่า “ปี 2561 ประมาณการ ผลผลิตกุ้งภาคตะวันออกประมาณ 71,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 11 เป็นผลมาจาก สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดความเสียหายจากโรคระบาด รวมถึงเกิดวิกฤตราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรหยุดหรือชะลอการเลี้ยง รวมทั้งมีการลดพื้นที่เลี้ยง ลดความหนาแน่นในการปล่อย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ปี 2562 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 7 ขณะที่การเลี้ยงกุ้งภาคกลางคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 40,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 6 จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และมาตรา 9 ทำให้เกษตรกรบางรายต้องเลิกเลี้ยง”

ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวว่า “ถึงแม้อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเจอปัจจัยลบหลายประการแต่ด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ถึงแม้มีพื้นที่น้อยกว่า ประสิทธิภาพการเลี้ยงที่มีมากกว่าคู่แข่ง การคมนาคมและระบบไฟฟ้าที่เอื้อให้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงได้ง่ายกว่า รวมถึงการขยายตัวของตลาดภายในและตลาดพิเศษมูลค่าสูงอย่างจีน ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยยังคงยืนหยัดอยู่ได้”

“อุตสาหกรรมกุ้งไทยในปีนี้อาจจะดูสถานการณ์ไม่ค่อยดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเฉพาะจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้ประเทศจีนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้น ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จีนให้ความสนใจ เพราะระบบต่างๆ มีความพร้อม และเอื้ออำนวยต่อการลงทุน…อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมกุ้งจะต้องมีการปรับตัว ภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเน้นเลี้ยงกุ้งคุณภาพแทนตั้งเป้าปริมาณผลผลิต เลี้ยงไซซ์ใหญ่เพื่อทำราคา เพราะเราไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนกับกุ้งไซซ์เล็กของประเทศคู่แข่งได้ ด้วยศักยภาพของลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก จากสายพันธุ์ที่โตเร็ว แข็งแรง ปลอดโรค ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะผลิตกุ้งไซซ์ใหญ่

นอกจากนี้ ต้องไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต้องห้ามในการเลี้ยงเป็นอันขาด เพราะนี่คือจุดแข็งของกุ้งไทยที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และเป็นที่ยอมรับจากผู้นำเข้าและผู้บริโภค ที่ผ่านมาสินค้ากุ้งไทยไม่เคยถูกตรวจพบและถูกตีกลับจากปัญหาเหล่านี้ เราต้องมุ่งเน้นทำตลาดสินค้าระดับสูงที่ต้องการสินค้าคุณภาพ ที่สำคัญภาครัฐต้องมาช่วยทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ให้ชาวโลกรับรู้ถึงภาพลักษณ์ที่ดีของกุ้งไทย “กุ้งไทยดีที่สุดในโลก” ที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม เป็นอาหารปลอดภัย (Food Safety ดีที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น) รวมถึงการให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เป็นต้น” ดร. สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เอสซีจี เดินหน้าจับมือชุมชนและเครือข่าย ต่อยอดโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในกิจกรรม “สร้างบ้านให้ปลา ปลูกหญ้าให้พะยูน” จังหวัดตรัง ด้วยนวัตกรรมปูนเอสซีจี ทนน้ำทะเล ดูแลระบบนิเวศชายฝั่ง พร้อมส่งเสริมประมงพื้นบ้านให้เติบโตยั่งยืน

ตรัง – เอสซีจี ร่วมกับชุมชนบ้านมดตะนอย ชุมชนเกาะลิบง หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย ขยายโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ในพื้นที่ปลายน้ำ จังหวัดตรัง วางบ้านปลาจากนวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี ที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ในน้ำทะเล ตามเป้าหมาย 300 หลังภายในปี 2561 พร้อมอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งด้วยการปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล เพื่อเป็นแหล่งพักพิงให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านบ้านมดตะนอย และชุมชนเกาะลิบง ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เป็นชุมชนต้นแบบ ก่อนขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป

นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director – Cement and Construction Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด หนึ่งในภารกิจสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เอสซีจีผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง คือ การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำ ตามแนวพระราชดำริฯ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายใต้โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ และช่วยให้ชุมชนดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข

ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวประมงในพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งประสบปัญหาไม่สามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้ในฤดูมรสุมระหว่างเดือนมิถุนายน– กันยายน ของทุกปี ทำให้ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เอสซีจีจึงได้ร่วมมือกับชุมชนวางบ้านปลาบริเวณคลองลัดเจ้าไหมไปแล้วจำนวน 200 หลัง และจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมาย 300 หลังภายในปี 2561 นี้ และจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณบ้านปลาโดยสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากการวางบ้านปลาประมาณ 3 เดือน พบว่า มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และปลาเศรษฐกิจ 8 ชนิด มาอาศัยอยู่บริเวณบ้านปลา เกิดการขยายพันธุ์ และทำให้ชุมชนมดตะนอยสามารถหาปลาในหน้ามรสุมได้อีกด้วย

สำหรับครั้งนี้ เอสซีจีได้ขยายการดำเนินโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ไปยังเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูน สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมีหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารสำคัญ แต่เนื่องจากมีการรุกรานที่อยู่อาศัย ทำให้พะยูนและหญ้าทะเลมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เอสซีจีจึงได้ร่วมกับชุมชนเกาะลิบง หน่วยงานจากภาครัฐ เช่น หน่วยเขตห้ามล่าสัตว์ลิบง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลระบบนิเวศชายฝั่ง

ดูแลระบบนิเวศด้วยการวางบ้านปลาที่หล่อขึ้นจากปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง และทนต่อซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเลอีก 100 หลัง รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง 400 ต้น หญ้าทะเล 4,000 ต้น และยังร่วมกับกลุ่มพิทักษ์ดุหยงจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชาวประมงของชุมชนเกาะลิบง โดยมีภาคการศึกษาเป็นเครือข่ายที่จะช่วยวัดผลสำเร็จของโครงการอนุรักษ์ชายฝั่งอย่างยั่งยืน”

ด้าน นายเมธี มีชัย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช กล่าวว่า “การวางบ้านปลาหรือปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการปลูกป่าชายเลน ปลูกหญ้าทะเล ภายใต้โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที…สร้างบ้านให้ปลา ปลูกหญ้าให้พะยูน” ช่วยคืนความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรชายฝั่งที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จึงสอดคล้องกับภารกิจของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนมาช่วยกันดูแลรักษา และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรต่างๆ

โดยทีมของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงก็ได้มาช่วยสำรวจพื้นที่พร้อมระบุพิกัดที่จะจัดวางบ้านปลา รวมทั้งกำหนดกติการ่วมกับชุมชนในการดูแล และบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เป็นความร่วมมือที่น่าภาคภูมิใจที่คนในพื้นที่มาร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติอย่างยั่งยืน และหวังว่า ความร่วมมืออย่างดียิ่งเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับทุกโครงการที่จะจัดทำร่วมกันต่อไปในอนาคต”

นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า “จังหวัดตรังมีการวางแผนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ผ่านการสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งมีความเข้มแข็งในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริม กระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีความรู้สึกหวงแหน เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิชาการที่จะนำองค์ความรู้มาช่วยให้เกิดการดำเนินงานตามหลักวิชาการ มีการวัดผลสำเร็จของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ภาคเอกชนที่มาช่วยสนับสนุนทั้งวัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ไขปัญหาเดิมๆ ให้หมดไป ภาคประชาสังคมและเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมแรง ลงมือช่วยกันทำจนโครงการเสร็จสิ้นจะช่วยผลักดัน และสนับสนุนให้การดำเนินงานของหน่วยงานราชการกับชุมชนในพื้นที่ประสบความสำเร็จและเห็นผลเชิงประจักษ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมผสานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ขณะนี้ราคายางพาราเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเป็นทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ โดยวันนี้ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย อยู่ที่ 39.64 บาท/กก. หลังจากก่อนหน้านี้เฉลี่ยต่ำสุด อยู่ที่ 38.07 บาท/กก. และราคายางแผ่นรมควันเฉลี่ย อยู่ที่ 43.19 บาท/กก. หลังจากก่อนหน้านี้เฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ ประมาณ 40.30 บาท/กก.

โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ปัจจัยสนับสนุนให้ราคายางมีแนวโน้มดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการเร่งด่วนของภาครัฐ ทั้งโครงการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โครงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีบทบาทรักษาเสถียรภาพราคายาง มาตรการช็อปช่วยชาติ 2561 นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการยางในประเทศมีความต้องการยางอย่างต่อเนื่อง

“นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยทำงานอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและพอใจที่ราคายางเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ท่านได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด เช่น ปัญหาภัยธรรมชาติ ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับราคายางของไทย”

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการสับปะรดในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรด ปี 2560 – 2569 และยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2564) ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก และอุตรดิตถ์ จัดอยู่ในจังหวัดกลุ่มที่ 2 คือ อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อการบริโภคผลสด (กลุ่มที่ 1 คือ จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานแปรรูปสับปะรด 100 กิโลเมตร เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่ง โรงงานฯ)

ผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ถึงแนวทางบริหารจัดการสับปะรดใน 2 จังหวัดดังกล่าว ดังนี้ การปลูกสับปะรดในพื้นที่ความเหมาะสมมาก (S1) และปานกลาง (S2) จังหวัดพิษณุโลก มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S1 และ S2 จำนวน 1,695 ไร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 2,342 ไร่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เป็นสับปะรดบริโภคผลสดที่มีคุณภาพ ทั้งด้านการผลิตและกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่น MD2 พันธุ์ฉีกตา หรืออื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ รวมทั้งควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการภายใต้การส่งเสริมเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่

การปลูกสับปะรดในพื้นที่ความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) จังหวัดพิษณุโลก มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S3 และ N รวมจำนวน 9,224 ไร่ โดยในพื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิด ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ มีต้นทุนการผลิต 14,280 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 34,500 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิ 20,220 บาท/ไร่ ซึ่งตลาดส่งออกทั้งสหภาพยุโรปและเอเชียยังคงมีความต้องการมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิต 4,722 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 6,559 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิ 1,837 บาท/ไร่ โดยภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยมีแนวโน้มต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S3 และ N จำนวน 6,227 ไร่ มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ มะขาม สามารถจำแนกเป็น 2 ชนิด คือ มะขามหวาน มีต้นทุนการผลิต 7,493 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 18,450 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 10,957 บาท/ไร่ และมะขามเปรี้ยว มีต้นทุนการผลิต 3,233 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 8,440 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 5,207 บาท/ไร่ ซึ่งต้นทุนการผลิตมะขามหวานจะสูงกว่าเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา อาทิ ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพผลผลิตและราคาที่จำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น มะม่วงหิมพานต์ มีต้นทุนการผลิต 4,337 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 13,370 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 9,033 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตทั้งมะขามและมะม่วงหิมพานต์ เกษตรกรจะจำหน่ายให้แก่พ่อค้ารับซื้อจากจังหวัดเพชรบูรณ์ และปัจจุบันปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด