ได้ทราบถึงทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี อาทิ ทรัพย์สิน

ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินของรัฐที่มิได้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินที่ทำการของสหประชาชาติ ที่ทำการสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาด ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด และที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ศาสนสมบัติที่ไม่ได้หาผลประโยชน์ และทรัพย์สินอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจเรื่องฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณจากราคาประเมินที่ดิน ทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รู้อัตราภาษี ซึ่งแยกตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี 3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นนอกจากข้อ 1 และ 2 อัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ อัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

อย่างไรก็ตาม ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ อาจมีการปรับลดเพดานภาษี รวมทั้งกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีจริงในระดับที่เหมาะสม แตกต่างจากข้างต้น

ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆ มีสาระสำคัญเรื่องการลดและยกเว้นภาษี ได้แก่ การยกเว้นจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่ประกอบเกษตรกรรม สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 ม.ค. ของปี สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท

การลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ลดได้ไม่เกิน 90% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย การให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด มีอำนาจลดและยกเว้นภาษี ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด เป็นต้น

นอกนั้นมีเรื่องการอุทธรณ์การประเมินภาษี กรณีที่ผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง โดยให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี และผู้บริหารท้องถิ่นต้องพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นต้น

รวมทั้งศึกษาองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีประจำจังหวัด ฯลฯ และการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินฯ

เป็นการติวเข้มรับกฎหมายใหม่ ที่จะสร้างรายได้เข้าท้องถิ่นเป็นกอบเป็นกำจากที่ผ่านมา เทศบาล 2,441 แห่ง อบต. 5,333 แห่ง กับ กทม. และเมืองพัทยา จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2560 ได้ 3.29 หมื่นล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 1.08 พันล้านบาท ในอนาคตรายได้จะเติบโตก้าวกระโดดเป็น 6.42 หมื่นล้านบาท

กรมชลประทานมั่นใจ 4 เขื่อนหลักจัดสรรน้ำทั้งปีเพียงพอ จับตาหลังสงกรานต์เจอฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ย้ำเกษตรกรอย่าปลูกเกินแผน อธิบดีกรมการข้าวไม่หวั่นลุ่มเจ้าพระยาปลูกเกินแผนเพียงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวส่งสัญญาณราคาดี 2 มี.ค.นี้เตรียมรายงานที่ประชุม นบข.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แผนการจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ช่วงฤดูแล้งอยู่ในเกณฑ์ดีมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 เทียบปี 2559 ที่มีน้ำใช้การได้เพียง 9,704 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 40,356 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการจัดสรรน้ำถึง 30 เม.ย. ในปริมาณ 25,067 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ 7,862 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งเป็นน้ำอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ 18 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่วนตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ พื้นที่ 0.383 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ และจะเริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก

ประกอบกับล่าสุดปีนี้พื้นที่ลุ่มต่ำ 1.8 ล้านไร่ หรือบางระกำโมเดลสามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้เพิ่ม 550 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำช่วงฤดูแล้งสามารถใช้การได้อย่างเพียงพอจนถึงฤดูกาลถัดไปจากน้ำต้นทุน 76% ที่ใช้สนับสนุนภาคการเกษตรวันที่เริ่มต้นฤดูแล้ง รวมทั้งประเทศจัดสรรไว้ 15,952 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ ได้แก่ ข้าว 8.3 ล้านไร่ พืชไร่ 4.8 แสนไร่ พืชผัก 2.2 แสนไร่ พืชอื่น ๆ 4.6 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 13 ล้านไร่ เพียงพอและอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงข้าวยังปลูกเกินแผนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ปัจจุบัน ในเขตพื้นที่ชลประทานยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไว้อย่างชัดเจนตลอดช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 แต่คาดการณ์มีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษว่าจะประสบภัยแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง และพืชไร่ตายได้ และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น ผลผลิตลดลง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เพชรบุรี และน่าน

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 2559 และปี 2558 ที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง และจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงพบว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงประมาณ 0.23 ล้านไร่ ทำให้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปี 2560/2561 ไม่รุนแรง แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งระดับปานกลางประมาณ 3.6 ล้านไร่ ร้อยละ 5 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ อย่างไรก็ตาม เดือน ก.พ.-เม.ย. ไทยต้องเฝ้าระวังเอลนิโญ-ลานิญา โดยปรากฏการณ์ ENSO จะทำให้ลานิญาอ่อนกำลัง ปริมาณฝนรวมของไทยมีโอกาส 50-50 ยกเว้นภาคใต้ หลังจากนั้นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งหน่วยปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำทั้ง 10 หน่วยงาน ได้เตรียมแผนรองรับแล้ว

“ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศขณะนี้ มีการเพาะปลูก 99% ของแผน ซึ่งนาปรังเกินแผน 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินแผน 11% เก็บเกี่ยวแล้ว 1.2 แสนไร่ แม้น้ำจะเพียงพอและอยู่ในแผน แต่กรมชลประทานกังวลว่า หลังการเก็บเกี่ยวแล้วชาวนาจะมีการปลูกข้าวอีกรอบ จึงประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงปริมาณน้ำที่มีจำกัด หากปลูกเพิ่มอาจกระทบกับราคา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วง มิ.ย.-ก.ค. จะเกิดฝนทิ้งช่วง”

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.97 ล้านไร่ คิดเป็น 99% ของแผน ข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.35 ล้านไร่ เกินแผนเพียง 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ แต่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ เกินแผน 11% แบ่งเป็นข้าวนาปรัง เพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ เกินแผน 11% แต่ภาพรวมทั้งประเทศยังต่ำกว่าแผน โดยพื้นที่ 11.69 ล้านไร่ ปลูกได้ 11.05% ยังคงต่ำกว่าเป้าซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้ว แผนรอบ 2 ปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว เพราะผลผลิตนาปีเป้า 24 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ประสบภัยน้ำท่วมจึงได้ 22 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้ปีนี้เพิ่มแผนจาก 8 ล้านไร่ ให้อยู่ที่ 11.69 ล้านไร่ เพื่อความสมดุล ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ยังเป็นไปตามแผน เนื่องจากจะสิ้นฤดูแล้ว คาดว่าเกษตรกรไม่ปลูกเกินไปกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอื่น ประกอบกับปีนี้สถานการณ์น้ำเป็นไปตามคาดการณ์ และยังไม่มีแนวโน้มเกิดภัยธรรมชาติจะส่งผลให้ข้าวราคาดีและสอดคล้องแผนข้าวครบวงจร

อย่างไรก็ดี จะมีการรายงานสถานการณ์ผลผลิตข้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวครบวงจร (นบข.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.นี้ คาดว่าที่ประชุมจะเห็นชอบวาระแผนข้าวครบวงจรปี’60

วันที่ 1 มีนาคม 2561 ที่ข่วงเมืองน่าน จ.น่าน เลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา (Pledge) ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์PGSน่าน ที่มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาในการใช้ห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบเพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ. น่าน และร่วมแก้ปัญหาป่าน่านที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน

นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ให้รายละเอียดงานว่า การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดน่านดำเนินการโดยเลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยดำเนินการพัฒนารูปแบบกรณีศึกษาการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มต้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 เดือน

ในขั้นต้นมีเกษตรกรรายย่อยเป็นสมาชิกจำนวน 53 ราย พื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ 328 ไร่ ใน 7 อำเภอของจังหวัดน่านจาก 3 เครือข่ายย่อย ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอสน่าน, กลุ่มฮอมใจ๋คนกล้าเกษตรอินทรีย์ พีจีเอสและกลุ่มCu Nan

โดยในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเมื่อเข้าสู่กระบวนเกษตรอินทรีย์ได้หยุดการใช้สารเคมีเกษตรโดยสิ้นเชิง หยุดการปลูกข้าวโพด หยุดการบุกรุกป่าโดยทันที โดยเปลี่ยนมาสู่การฟื้นฟูดินในวิถีเกษตรอินทรีย์ปัจจุบันในจำนวนสมาชิก 53 ราย ผ่านการรับรอง Organic PGS แล้ว 18 ราย อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 33 ราย

ทั้งนี้เกษตรกรที่ผ่านระยะปรับเปลี่ยน 1 ปีแล้ว ได้เข้าสู่การเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่านและจำหน่ายในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว ได้แก่ ผักสลัดและพืชผักต่างๆ แคนตาลูป เกฟกูสเบอรี่ ข้าวก่ำ ถั่วต่างๆ ลูกเดือย งาขี้ม้อน เป็นต้น

โดยในกรณีศึกษาเบื้องต้นนี้เกษตรกรบางรายมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชเคมีเชิงเดี่ยว 7 เท่า (จาก 1,500 บาท เป็น 5,000 – 11,000 บาท/ไร่ และบางส่วนสามารถทยอยปลดหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมทำเกษตรเคมี และเป็นอาชีพรองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาและกลับสู่บ้านเกิด

กระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ภายใต้ Lemon Farm Organic PGS Model เป็นกระบวนการรับรองอย่างมีส่วนร่วมหรือ Participatory Guarantee System ที่ดำเนินการภายใต้ระบบ PGS IFOAM มาตรฐานของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ(International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM)

ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ได้ประกาศในเดือนกันยายน 2560 ให้การยอมรับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS เป็น 1 ใน 3 เครือข่ายสำหรับเข้าร่วมโครงการสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน โดยเป็นระบบ PGS ที่อ้างอิงมาจากมาตรฐานอินทรีย์ระดับประเทศหรือสากล มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมให้การรับรองของสมาชิกกลุ่ม

นอกเหนือจากการดำเนินการในจังหวัด โครงการฯยังได้มีการดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Organic PGS กับเกษตรกรรายย่อย 11 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด ภายใต้ “โครงการจัดการระบบการตลาดและการผลิตอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาพผู้บริโภค ผู้ผลิต” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ยโสธร และน่าน รวมสมาชิก 197 ราย พื้นที่ 2,009 ไร่

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์รูปแบบนี้ ความสำคัญอยู่ที่การดำเนินการทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Organic Value Chain) ตั้งแต่การตลาด การจัดการ และการผลิต จึงทำให้วงจรเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยเกษตรกร ช่วยสุขภาพผู้บริโภคและช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับภาคี ภาครัฐ และเลมอนฟาร์มโดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดน่านโดยใช้ Organic PGS Model เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นลดการใช้สารเคมีเกษตรลง

ซึ่งปัจจุบันน่านนำเข้าสารเคมีการเกษตร 2,400,000 กก./ปี ในปี 2558 รวมทั้งแก้ปัญหาป่าน่านที่เสื่อมโทรมลงจากการเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปัญหาหมอกควันจากการเผา และมุ่งหวังให้เกิดการสร้างอาหารดีให้แก่คนเมืองน่านเพื่อสร้างสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ต่อไป

โดยตั้งเป้าหมายว่า ณ สิ้นปี 2562 จะมีเกษตรกรต้นแบบในส่วน Cu Nan Model ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 40 ราย พื้นที่เพิ่มเป็น 300 ไร่ (จาก 144 ไร่) มูลค่าการผลิต 1.2 ล้านบาท และสร้างอาหารเกษตรอินทรีย์ให้แก่ จ.น่านทดแทนการนำเข้าอาหารจากภายนอก ซึ่งปัจจุบัน น่านพึ่งพาแห่งอาหารจากภายนอก 92%

การทำปฏิญญาของเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์น่านทั้ง 3 เครือข่ายในวันนี้จึงเป็นการแสดงพันธะสัญญาต่อประชาคมน่านในการหันหลังให้สารเคมีและหันมาสู่การเกษตรอินทรีย์เชิงสร้างสรรค์ให้เป็นต้นแบบต่อเกษตรกรรายย่อย ต่อประชาคมชาวน่าน และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของป่าน่านที่เป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา

” จังหวัดน่าน ” กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งตัวเลขผืนป่าที่ลดลงกลายเป็นไร่ข้าวโพดและภูเขาหัวโล้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนเมืองน่านแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตคนที่อยู่ปลายน้ำ ที่อาศัยน้ำกินน้ำใช้ในลุ่มเจ้าพระยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ … น่ี่คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คนไทยต้องช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน

• จังหวัดน่านมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าต้นน้ำและภูเขา มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 7, 51,585.93 ไร่ ในปี 2507 มีเขตพื้นที่ป่าตามกฎหมาย 6,435,792.16 ไร่ หรือร้อยละ 84 และมีพื้นที่นอกเขตป่าไม้ 1,215,793.77 ไร่หรือร้อยละ 16

• ในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนพื้นที่ป่าไม้เมืองน่านทั้งหมด 4,892,272.80 ไร่หรือร้อยละ 66 (เอกสารงานสัมมนาวิชาการ“รักษ์ป่าน่าน” 2557) ปริมาณป่าไม้ที่ลดลงเป็นจำนวนมากในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากความล้มเหลวในการทำเกษตรกรรม มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้อมูลสถิติจากลุ่มงานสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ปี 2554 พบว่า จังหวัดน่านมีการนำเข้าสารเคมี ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 80 โดยมีปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชหลัก 3 ชนิด คือ สารพาราควอต (Paraquat) ร้อยละ 55 สารไกลโฟเซต (Glyphosate) ร้อยละ 42 และ อาทราซีน(Atrazine) ร้อยละ 3 จึงทำให้เกิดปัญหา “สารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำ” ตามมาส่งปัญหาถึงการบริโภคและสุขภาพของคนในจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ผลกระทบต่อสุขภาพ

จากงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ปี 2559) ระบุว่า จังหวัดน่านมีการใช้สารเคมีด้านการเกษตรมีปริมาณสูงถึงปีละ 2,400,000 กก./ปี และจากสุ่มตรวจปลาในแม่น้ำ ซึ่งพบสารเคมี ไกรโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม พบมีปริมาณสูงกว่า 10,000 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณความเข้มข้นที่เกินค่ามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมาตรฐานสากลของ Codex ที่ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ไกรโฟเซต, อาทราซีน, พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ปนเปื้อนในน้ำประปาหมู่บ้าน และโรงผลิตน้ำดื่มทั่วทั้งจังหวัดน่าน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ปัญหาสารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา น้ำดื่ม

ซึ่งจากการสุ่มตรวจน้ำ 9 ตัวอย่างจาก 8 อำเภอในจังหวัดน่าน พบมีสารอาทราซีน หรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนในน้ำประปาเข้มข้น ค่าเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในประเทศออสเตรเลียคือ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีชนิดนี้ในน้ำดื่ม

พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้พื้นที่ผลิตพืชอาหารมีจำนวนน้อย โดยมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารดังนี้ 1.พื้นที่เพาะปลูกพื้นผัก 35,929 ไร่ 2. พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ 103,845 ไร่ 3. พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น 137,511.75 ไร่ 4. พื้นที่นาปี 227,927 ไร่ นาปรัง 1,585 ไร่ ข้าวไร่ 41,587ไร่ รวม 271,099 ไร่ จึงทำให้จังหวัดน่านประสบปัญหาภาวะการณ์พึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอกจังหวัด

จากผลการสำรวจสินค้าเกษตรในท้องตลาด พบว่าสัดส่วนการนำเข้าของวัตถุดิบและอาหารถึงร้อยละ 92 และอาชีพเกษตรกรมีสถิติรายจ่ายด้านการซื้อผักบริโภคสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆในจังหวัดน่าน (สำนักงานสถิติจังหวัดน่าน,2557)

เพราะเกษตรกรส่วนมากมุ่งเน้นการทำเกษตรที่มุ่งหวังให้เกิดรายได้ ไม่ได้เพาะปลูกพืชผักและไม่นิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหาร คนน่านผลิตอาหารดีให้ชาวน่านจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

ดังนั้น เลมอนฟาร์ม จึงร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา (Pledge) ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์PGSน่าน ที่มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

เพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ. น่าน และร่วมแก้ปัญหาป่าน่านที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน

โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ เป็นหุ่นยนต์ชนิดหนึ่งที่สามารถบินได้ ได้มีผู้นำโดรนไปใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ในวงการข่าว ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่ต้องการถ่ายภาพในมุมสูง ใช้ในกิจกรรมสำรวจป่าและทรัพยากรป่าไม้ สำรวจต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นความยากลำบากในการที่จะเดินเข้าไปในป่าลึก โดรนจะช่วยในการสำรวจและบันทึกภาพได้เป็นอย่างดี

โดรน (Drone) เพื่อเกษตรอินทรีย์
ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตการเกษตร และในสิ่งแวดล้อม นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่ปลอดภัยในการบริโภคแล้ว ยังรวมไปถึงความไม่ปลอดภัยในตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีอีกด้วย โดยเฉพาะการผสมสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง การพ่นสารเคมีโดยไม่ป้องกันความปลอดภัยในการพ่นสาร ทำให้เกษตรกรได้รับสารเข้าไปทั้งทางระบบหายใจและทางผิวหนัง เป็นเหตุให้สารซึมซับเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อนานวันเข้าสารจะสะสมในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำให้เกิดโรคร้าย เช่นมะเร็ง เป็นต้น

จากรายงานของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระหว่างปี 2553-2558 ประเทศไทยนำสารเคมีเข้ามาใช้ในการทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 นำเข้าถึง 119,971 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19,326 ล้านบาท และในปี 2559 พบว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีเกษตรคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

กระแสการใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์เพื่อการเกษตรกำลังตื่นตัว เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งตามภารกิจของกรมวิชาการเกษตรในด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โดยมีสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร เช่น เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องหยอดปุ๋ย เครื่องดำนา เป็นต้น เครื่องจักรกลเกษตรที่สถาบันฯ วิจัยและพัฒนาขึ้นมา นอกจากราคาถูกแล้วยังช่วยประหยัดแรงงาน ทำงานได้รวดเร็ว และลดความเหนื่อยยากให้แก่เกษตรกรด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ให้พัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรให้เป็นระบบอัตโนมัติ หรือการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการทำการเกษตรในระบบเขตกรรม ซึ่งสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้รับนโยบยและเริ่มดำเนินการศึกษาและประดิษฐ์หุ่นยนต์พ่นสารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์ เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เป็นเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้มอบหมายให้ คุณวิชัย โอภานุกุล วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ดำเนินการศึกษาวิจัยและประดิษฐ์อากาศยานไร้คนขับหรือ Drone เพื่อการเกษตรอินทรีย์