ได้พยายามอย่างมากให้นิสิตมีความเข้าใจและรักวิชานี้

ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี มีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน ที่ต่อมาได้กลายเป็นนักปรับปรุงมือดีของประเทศ ด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน และมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์รักใคร่และให้ความเคารพนับถือมาก

ตำราพันธุศาสตร์ ที่อาจารย์เขียนขึ้นนั้น เป็นตำราภาษาไทยเล่มแรกของประเทศไทย นอกจากการสอนแล้วยังมีนิสิตมาทำวิทยานิพนธ์ด้วยจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ ก็ยังให้ความเอาใจใส่ใกล้ชิด คอยช่วยเหลือ แนะนำ แก้ปัญหา และตรากตรำทำงานร่วมกับลูกศิษย์อย่างไม่ลดละ นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่ลูกศิษย์ถือเอาเป็นแบบอย่าง

สำหรับงานวิจัย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน

เล่ากันว่า เมื่อเรียนจบกลับมาใหม่ๆ นั้น อาจารย์มีความสนใจที่จะทำเรื่องพันธุศาสตร์ของข้าว ให้ต้านทานโรคและแมลง และต่อมา อธิการบดี (ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์) ได้แนะนำให้ทำการวิจัยเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในระยะนั้นยังไม่ค่อยจะมีการทำวิจัยเลย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ เห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า จะสามารถเป็นสินค้าส่งออกได้ จึงได้ลงมือวิจัยในเรื่องนี้

โดยมีหลักการและเป้าหมายของงานวิจัย ต้องให้สอดคล้องกับสภาพของเกษตรกร ถ้าทำลูกผสมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงเกินไป เมื่อทำการปลูก เกษตรกรก็จะรับไม่ได้

ในระยะนั้น ได้เกิดโครงการประสานงานปรับปรุงการผลิตข้าวโพดขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ทำให้งานวิจัยเป็นไปด้วยดี

ในที่สุดก็ได้ข้าวโพดที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยคือ พันธุ์สุวรรณ 1 เมื่อปี 2518 อันเป็นพันธุ์หลักที่เกษตรกรใช้ปลูกกันทั่วประเทศ ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นอย่างมาก

ต่อมา ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ได้ใช้เป็นพันธุ์หลักในการทำข้าวโพดลูกผสมอีกหลายสายพันธุ์ และหลายประเทศในโลกก็ได้นำไปใช้ด้วย และผลงานในวิจัยนี้ ทำให้ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ ได้รับผลงานดีเด่นจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2517 ในนามของฉายาที่เรียกกันว่า บิดาแห่งข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ทำให้นานาชาติรู้จักชื่อเสียงของ ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน เป็นอย่างดี

เรื่องราวและงานค้นคว้าและวิจัย ของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ มีมากมายผลงาน เป็นที่รู้จักกันมาก ที่ผู้เขียนตั้งให้ว่าเจ้าของ “คัมภีร์ข้าวโพดลูกผสม” ของผู้มีคุณูปการในวงการข้าวโพดไทยและในโลก จนมีลูกศิษย์ลูกหาสืบสานเจตนารมณ์ต่อไปไม่หยุดยั้ง ว่างั้นเถอะ

ผู้เขียนยังรำลึกถึงท่านอาจารย์ผู้นี้ แม้ด้วยวัย 85 ปี ท่านคงยังแข็งแรง เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ลูกหาและผู้คุ้นเคยที่ได้มีโอกาสทำงานด้วยกันมาก่อน ขออวยพรให้ท่านอาจารย์จงมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขตลอดกาลครับ

พืชผักที่คนไทยกินกันมีอยู่มากมาย เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และบางคนอาจไม่รู้จัก มีบางคนตั้งคำถาม กินได้ด้วยเหรอ เช่น ผักพาย เผอิญวันก่อนลงพื้นที่ไปกับน้องที่สำนักงานเพื่อมอบซองบรรจุเมล็ดพันธุ์ผัก ตามโครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรที่กำชับลงมาว่า ต้องไปมอบให้ถึงมือเกษตรกร ห้ามโทรศัพท์ให้มารับที่สำนักงาน

ผ่านไปเจอเกษตรกรกำลังกำจัดวัชพืชแปลงปลูกผักพายที่ว่า จึงลงไปหาข้อมูล สอบถาม คุณปิยะมาศ ทองอาสา บ้านเลขที่ 253 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เจ้าของแปลง เล่าให้ฟังว่า ปลูกผักพายมานานแล้ว ขายทั้งดอกและต้น โดยจะเก็บผลผลิตวันเว้นวัน ส่งขายที่ตลาดสดในอำเภอพาน ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอแม่ใจ โดยจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นช่วงหน้าฝน โดยจะใช้เมล็ดหว่านแล้วจึงแยกต้นไปปลูกคล้ายกับการปลูกข้าว แปลงปลูกก็เตรียมแบบเดียวกับนาข้าว แต่รายได้แตกต่างจากนาข้าวแน่นอน ราคาขายส่งจะตกมัดละ 6 บาท (มัดหนึ่งน้ำหนักประมาณ 1 ขีด) กิโลกรัมละ 60 บาท

ผู้เขียนเลยหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่า ผักก้านจอง/ตาลปัตรฤๅษี และผักพายเล็ก จัดเป็นพืชน้ำชนิดขึ้นริมน้ำ และเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมกินลำต้นและใบ ทั้งกินสดและลวกจิ้มน้ำพริก เนื่องจากมีความกรอบและให้รสหวาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผักทั้ง 2 ชนิด กำลังเป็นที่นิยมของคนทุกภาค และในบางพื้นที่มีการเพาะปลูกเพื่อส่งจำหน่ายสร้างรายได้งามทีเดียว

ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง
ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่นิยมนำยอดอ่อนทั้งส่วนก้านและใบอ่อนมากินสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงนิยมใช้เป็นผักคู่ส้มตำ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buch ชื่อท้องถิ่น

ภาคกลาง เรียก ตาลปัตรฤๅษี ผักพาย ผักพายใหญ่ ตาลปัตรยายชี ผักตะบัน นางกวัก บัวลอย

ภาคอีสาน เรียก ผักก้านจอง ผักคันจอง

ภาคเหนือ ผักก้านจอง ผักคันจอง ผักพาย การแพร่กระจายและการเติบโต ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง/ผักพาย เป็นพืชที่พบได้ในทุกภาค มักพบเติบโตในพื้นที่น้ำขังบริเวณชายน้ำหรือริมขอบแหล่งน้ำขัง หนอง บึง หรือบ่อน้ำ ที่ระดับน้ำตื้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำลึก เพราะลำต้นจะต้องโผล่พ้นน้ำสำหรับการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้ ลำต้นสามารถแตกหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่หากน้ำแห้งและดินไม่มีความชื้น ผักก้านจองก็จะตายทันที

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น …ลำต้นของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง เป็นเหง้าที่เติบโตอยู่ในดินใต้น้ำ สามารถแตกออกเป็นไหลสั้นๆ และแตกเหง้าหรือลำต้นใหม่ได้

ใบ …ใบตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง ออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยก้านใบและแผ่นใบ ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็นเหนือดิน หรือเหนือน้ำ

ก้านใบ เป็นส่วนที่แทงออกจากเหง้า 3-5 ก้าน แต่ละก้านจะมีรูปทรงสามเหลี่ยม โดยขอบแต่ละด้านเป็นสันบาง และสั้นๆ ที่เป็นลูกคลื่นยื่นออกมาเล็กน้อย ภายในประกอบด้วยเหยื่อที่เป็นร่างแหของโพรงอากาศ เมื่อจับบีบจะยุบตัวได้ง่าย โดยก้านใบมีความยาวถึงปลายก้านประมาณ 40-60 เซนติเมตร ขนาดลำก้านประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเติบโต โคนก้านมีสีน้ำตาลอมม่วงและค่อยเป็นสีเขียวสดขึ้นมาจนถึงปลายก้าน

แผ่นใบ เป็นส่วนที่ต่อกับก้านใบ มีรูปไข่ โคนใบสอบ กลางใบกว้าง และสอบแหลมที่ปลาย ใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้างมากสุดบริเวณกลางใบ ประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมองเห็นเส้นใบนูนเด่นที่มีสีเดียวกันกับแผ่นใบตามแนวยาวของใบ ทั้งนี้ ทั้งส่วนก้านใบและแผ่นใบเมื่อฉีกขาดจะพบยางสีขาวไหลออกมา

ดอก …ดอกของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง แทงออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านดอกหลักที่แทงออกจากกลางลำต้น ก้านดอกหลักมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับก้านใบ และมีความยาวน้อยกว่าก้านใบเล็กน้อย โดยส่วนปลายสุดของก้านดอกหลักจะประกอบด้วยดอกย่อย 8-12 ดอก เรียงเป็นชั้น ประมาณ 3 ชั้น ชั้นแรกมีประมาณ 5 ดอก ชั้นที่ 2 และ 3 มีประมาณ 2-3 ดอก แต่ละดอกย่อยจะมีก้านดอกที่คล้ายกับดอกหลัก แต่จะสั้นกว่ามากที่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยปลายสุดของก้านดอกย่อยจะเป็นตัวดอก

ดอกตูม ของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปลายแหลมที่หุ้มด้วยกลีบรองดอกสีเขียว เมื่อบานกลีบรองดอกจะกางออก แล้วกลีบดอกจะแผ่ออกมา โดยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา สีเหลืองสด ขอบกลีบย่นเป็นลูกคลื่น ถัดมาตรงกลางเป็นส่วนของก้านเกสรสีเหลืองสดที่เรียงกันเป็นวงกลม โดยตรงกลางล่างสุดจะเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง จะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

ผล และเมล็ด …ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่ประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก กว้าง 1.2-2 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแก่เต็มที่เป็นสีดำ ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีรูปเกือกม้า เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร

สนใจรายละเอียดติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ คุณปิยะมาศ ทองอาสา โทรศัพท์ 084-610-5477 ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หรือติดต่อผ่าน สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจ ที่เบอร์โทร. 095-676-4905 ก็ยินดีประสานให้ครับ

พริกขี้หนูสวน ถือเป็นอีกหนึ่งพืชผักสวนครับที่ทุกครอบครัวต้องมีไว้ใช้ในครัวเรือน

พริกขี้หนูสามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด เป็นด่างของดิน 6.0 – 6.8 ปลูกได้ตลอดปี

แต่หากบริเวณบ้านไม่มีพื้นที่ สามารถปลูกในกระถางหรือภาชนะอื่นได้เช่นกัน

สำหรับพันธุ์พริกขี้หนูสวนที่นิยมปลูกกันหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ห้วยสีทน พริกพันธุ์หัวเรือ และ พริกพันธุ์สร้อย เป็นต้น วิธีปลูกพริก ปลูกได้ทั้งในสภาพไร่ และสภาพสวนแบบยกร่อง การปลูกสภาพไร่ มักปลูกในที่ดอน อาศัยน้ำฝนและให้น้ำเสริมในช่วงฝนแล้ง จากบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล ซึ่งทำให้การผลิตได้ผลไม่สม่ำเสมอ การปลูกในสภาพสวน ส่วนใหญ่ปลูกในบริเวณที่ลุ่มและยกร่องสวน จึงมีน้ำหล่อเลี้ยงได้เกือบตลอดปี ทำให้กำหนดการผลิตได้ในเวลาที่ต้องการ

ส่วนของการเพาะเมล็ดเพื่อปลูก ถ้าต้องการให้มีประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด เริ่มต้นด้วยการห่อเมล็ดพันธุ์ในถุงผ้าและแช่ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน ในน้ำควรจะใส่ยาป้องกันรา ลงไปด้วย เมื่อผ่าน 1 คืน ไปแล้วให้นำพริกไปล้างผ่านน้ำไหลอย่างน้อย 30 นาที เก็บถุงผ้าไว้ในที่ร่มและชื้นอีก 2-3 วัน เมื่อเมล็ดงอกตุ่มเป็นรากสีขาวเล็กจึงนำไปเพาะลงถุงชำดี ที่มี วัสดุเพาะคือ ดิน : ปุ๋ยคอกเก่า : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:1:1 โดยในช่วงนี้จะต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง เช้าและบ่าย จนต้นกล้าขึ้นใบจริง 3-4 ใบ ค่อยย้ายลงแปลงปลูก

แต่ถ้าไม่ต้องการเพาะเป็นต้นกล้า เมื่อเห็นว่าเมล็ดเริ่มแตกตุ่มราก สามารถนำไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ได้เช่นกัน ช่วงปลูกที่ดีคือ ตอนเย็นที่มีแสงอาทิตย์อ่อนเพราะจะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วกว่าในช่วงที่มีแสงแดดจ้า

หลังปลูกแล้ว 10-15 วัน ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกง ด้วยวิธีโรยห่างโคนต้นประมาณ 1 คืบ พร้อมกลบดินและรดน้ำตาม หมั่นกำจัดวัชพืชให้แปลงสะอาดอยู่เสมอ พอพริกเริ่มโตจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ด้วยการหว่าน 15 วันต่อ 1 ครั้ง หรือหากไม่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนได้

การให้น้ำ ควรรดน้ำทุกวัน เพื่อทำให้ต้นพริกแตกกิ่งแขนงดี ต้นหนา ลูกดก ต้นไม่หยุดชะงัก

การเก็บเกี่ยวผลผลิต พริกจะเริ่มออกดอกหลังจากย้ายปลูกแล้ว 60-70 วัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 90-100 วัน โดยสามารถเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน

พริก นับเป็นพืชผักสวนครัวอีกชนิดที่ควรมีและควรปลูกไว้ในบ้าน… “พริก” จัดเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีปริมาณการบริโภคสูง ทั้งในทางการค้าปลีกในประเทศ ในเชิงอุตสาหกรรม และการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นตลาดส่งออกพริกสำคัญของไทย (ข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกทั้งหมด 167,443 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 283,515 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี หนึ่งในพริกที่ได้รับความนิยมคือ “พริกผลใหญ่” อย่าง “พริกหนุ่มเขียว” ปลูกกันมากในแถบภาคเหนืออย่างเชียงใหม่, น่าน และแพร่ (ข้อมูลการเพาะปลูกประจำปี 2562 จากกรมส่งเสริมการเกษตร)

สำหรับจังหวัดแพร่นั้นมีแหล่งปลูกพริกใหญ่ที่สุดอยู่ใน “อ.หนองม่วงไข่” มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,800 ไร่ โดยเกษตรกรที่นี่นิยมปลูกพริกกันมามากกว่า 30 ปีแล้ว จนปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเข้าสู่โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานการผลิตสู่ระบบเกษตรปลอดภัย (Good Agriculture Practices: GAP) ลดการใช้สารเคมี ด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ และการจัดการแปลงอย่างเป็นระบบ

หนึ่งในกำลังสำคัญของโครงการพริกแปลงใหญ่ อ.หนองม่วงไข่ ที่เราอยากพาไปรู้จักนั้นก็คือ คุณปรียา อุดขันจริง วัย 52 ปี แห่ง ต.แม่คำมี อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ เกษตรกรหญิงคนเก่ง ที่มีจุดเริ่มต้นเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมาก่อน ด้วยปัญหาสุขภาพจึงต้องเปลี่ยนอาชีพสู่เกษตรกร แต่ด้วยความตั้งใจเรียนรู้ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้คุณปรียา สามารถปลูกพริกหนุ่มเขียวให้สมบูรณ์ ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 8 ตัน/ไร่ เลยทีเดียว ไปดูกันว่าเธอมีเคล็ดลับการบำรุงยังไงบ้าง?

คัดเลือก “สายพันธุ์” จุดเริ่มต้นความสำเร็จ
ได้ผลผลิตดี มีตลาดรองรับ
คุณปรียา เล่าย้อนให้ฟังว่า ด้วยความที่ตนเองมีพื้นที่จำกัดเพียง 1 ไร่ 2 งาน การเลือกสายพันธุ์พริกที่จะปลูกจึงเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต้องพิจารณาทั้งเรื่องความทนต่อสภาพอากาศ ปริมาณผลผลิตต้องสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นจึงค่อยๆ หาความรู้จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์ เธอจึงพบว่าในพื้นที่บางส่วนมีการปลูกพริกพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งแม้ว่าพริกพื้นเมืองนั้นจะมีความทนโรคได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ว่าให้ผลผลิตที่ต่ำ สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 2-3 มีด จึงไม่ตอบโจทย์ด้านปริมาณผลผลิตของเธอ

คุณปรียา จึงตัดสินใจทดลองปลูกพริกพันธุ์ลูกผสมคือ “พริกหนุ่มเขียวหยกสยาม” เพราะศึกษามาว่า เป็นพริกที่ให้ผลผลิตดก ทนโรค รูปทรงผลตรง สีมันวาว เนื้อหนา และทนต่อการขนส่ง ซึ่งเมื่อปลูกแล้วก็พบว่าให้ผลผลิตดีจริง จนปัจจุบันปลูกต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปีแล้ว

“จุดเด่นของพริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยามคือ เมล็ดพันธุ์ได้มาตรฐาน อัตรางอกสูงมาก สำหรับพี่คืองอกถึง 99% ทำให้เราประหยัดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ ส่วนในแง่ของผลผลิตนั้นก็ดกมาก เรียกได้ว่ายิ่งเก็บก็ยิ่งดก แล้วเราสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายระยะตั้งแต่พริกเขียว จนพริกแดง ผลผลิตได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ผลตรง เนื้อหนา แน่นตึง ทนทานต่อการขนส่ง” คุณปรียา เล่าประสบการณ์ให้ฟัง

“การเตรียมแปลง”
ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน ใช้เวลากว่า 3 เดือน
สำหรับเรื่องการเตรียมแปลง คุณปรียา เน้นว่าตนเองนั้นเป็นคนที่เตรียมดินด้วยความประณีตมาก ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ไถดินอย่างน้อย 3 รอบ เพราะว่าการเตรียมดินที่เหมาะสมนั้น นอกจากจะช่วยให้ต้นพริกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการลดปัญหาโรคพืชได้ด้วย

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการหว่าน “เมล็ดปอเทือง” ทิ้งไว้ 38-40 วัน รอจนปอเทืองต้นประมาณ 1-2 ฟุต และเริ่มออกดอก

ขั้นตอนที่ 2 หว่าน “โดโลไมต์” ลงในแปลงปอเทือง จากนั้นจึงไถกลบรอบแรก และพักดินไว้ 1 เดือน โดโลไมต์นั้นมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและช่วยเพิ่มแคลเซียมในดิน ส่วนปอเทืองจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่มีไนโตรเจนสูง ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินได้เป็นอย่างดี

ขั้นตอนที่ 3 หว่าน “ปุ๋ยคอก” ลงในแปลง จากนั้นไถพรวน และพักดินทิ้งไว้อีก 1 เดือน โดยปุ๋ยคอกนั้นเป็นอินทรียวัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย

ขั้นตอนที่ 4 เติมธาตุอาหารในดินด้วย “ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15” อัตรา 100 กก./ไร่ จากนั้นไถพรวนรอบสุดท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกล้าพริกให้เจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก

ขั้นตอนที่ 5 พ่นสารชีวภัณฑ์ “ไตรโคเดอร์มา” ป้องกันเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่า-โคนเน่าในพริก เมื่อเตรียมดินเสร็จทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว คุณปรียาจะเริ่มปูพลาสติกคลุมดินด้วยระยะห่างระหว่างต้น 50X50 ซม. เนื่องจากหากชิดกว่านี้จะทำให้กิ่งพริกชนกันมากเกินไป หรือหากใช้ระยะห่างกว่านี้ จะทำให้ต้นพริกถูกลมพัดล้มได้ หลังจากปูพลาสติกคลุมแปลงเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถลงกล้าพริกได้ โดยกล้าพริกนั้นจะใช้เวลาเพาะประมาณ 25-30 วัน

ทั้งนี้ ที่แปลงพริกของคุณปรียา จะไม่ได้ใช้วิธี “ยกร่อง” เหมือนแปลงพริกบางพื้นที่ เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดีอยู่แล้ว หากยกร่องไปสักระยะ ดินก็จะค่อยๆ คืนตัวมาอยู่ระนาบเดียวกันในที่สุด เกษตรกรปลูกพริกจึงควรศึกษาลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตนให้ดี เพื่อที่จะวางแผนการปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปรับใช้ “ระบบน้ำพุ่ง” แก้ปัญหาเชิงพื้นที่
พริกได้น้ำสม่ำเสมอ
“พริกนั้นเป็นพืชที่ไม่ชอบดินแฉะ แต่ขาดน้ำไม่ได้” ระบบน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลายคนคงเคยได้ยินการปลูกพืชใน “ระบบน้ำหยด” ที่ใช้ท่อพีอี (PE) วางใต้พลาสติกคลุมดิน โดยมีหัวจ่ายน้ำอยู่บริเวณต้นพืช คุณปรียา เคยปลูกพริกในระบบน้ำหยดเช่นกัน แต่ด้วยความที่ดินในพื้นที่เป็นดินทราย ทำให้เศษดินอุดตันในท่อพีอี (PE) ได้ง่าย พริกบางต้นจึงขาดน้ำ โดยที่ตรวจสอบลำบาก เพราะว่าท่อนั้นวางอยู่ใต้พลาสติกคลุมดิน เธอจึงเปลี่ยนมาใช้ “ระบบน้ำพุ่ง” แทน

ระบบน้ำพุ่งนั้นคือการใช้ “สายเทปน้ำ” วางพาดบนพลาสติกคลุมแปลง ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างแนวต้นพริก 2 แถว วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้สายเทปน้ำไม่อุดตันแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย เพราะรัศมีของสายเทปน้ำจะพุ่งกระจายออกไปยังต้นพริกทั้งสองแถว ทำให้ใช้สายเทปน้ำเพียงเส้นเดียวต่อการปลูกพริก 2 แถว

เติมธาตุอาหาร “ระบบฝัง-ระบบน้ำ”
เทคนิคช่วยให้พริกดก-ออกผลเร็ว
นอกจากการบำรุงพริกด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสม “ถูกสูตร ถูกช่วงเวลา” แล้ว เทคนิคสำคัญของคุณปรียา ที่ช่วยให้ต้นพริกสมบูรณ์ แตกข้อดี ให้ผลผลิตเร็ว อยู่ที่ “วิธีการ” ด้วยเช่นกัน

คุณปรียา เล่าให้ฟังว่า ปกติพริกหนุ่มเขียวนั้นจะเริ่มให้ผลผลิตหลังลงกล้าประมาณ 90-95 วัน แต่พริกที่แปลงของเธอนั้น สามารถให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 65-70 วันเท่านั้น และสามารถเก็บผลผลิตเฉลี่ยได้ถึง 8 ตันต่อไร่ ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากการดูแลต้นพริกไม่ให้โทรม ได้รับธาตุอาหารอย่างเหมาะสมทุกช่วงอายุ โดยที่แปลงนั้นจะแบ่งการบำรุงออกเป็น 2 ระบบ คือ “ระบบน้ำ” และ “ระบบฝังดิน”

การให้ปุ๋ย “ระบบน้ำ” หมายถึง การประยุกต์ละลายปุ๋ยเม็ดกับน้ำก่อนนำไปรดที่ต้นพริก ช่วยให้ “ช่วงพริกต้นเล็ก” ที่ยังมีปริมาณรากฝอยยังไม่มาก ได้รับธาตุอาหารง่ายขึ้น และช่วยให้ “ช่วงพริกโต” ในระยะเก็บเกี่ยว ได้รับธาตุอาหารทันทีหลังเก็บผลผลิต

ส่วนการให้ปุ๋ย “ระบบฝัง” หมายถึง การฝังปุ๋ยไว้ในดินคล้ายกับเป็น “คลังอาหารสำรอง” เพื่อให้ต้นพริกค่อยๆ ได้รับธาตุอาหารอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดช่วง โดยหลุมที่ใช้ฝังปุ๋ยนั้นจะอยู่กึ่งกลางระหว่างต้นพริก 4 ต้น ตามแนวสายเทปน้ำพอดี ทุกครั้งที่รดน้ำต้นพริก เม็ดปุ๋ยก็จะค่อยๆ ละลาย ซึมไปเข้าสู่รากฝอยของพริก

โดยเทคนิคการ “ฝังปุ๋ย” นี้ เป็นวิธีที่คุณปรียา สมัครยูฟ่าเบท คิดค้นร่วมกับนักวิชาการเจียไต๋ในพื้นที่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้พริกได้รับธาตุอาหารเพียงพอ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ จากการทดลองให้ปุ๋ยต้นพริกควบคู่กันทั้ง 2 ระบบ คุณปรียา พบว่า “การฝังปุ๋ย” นั้นเป็นวิธีการใช้ปุ๋ยที่คุ้มค่าและได้ผลลัพธ์ตรงจุดมาก เมื่อผสาน “การฝังปุ๋ย” เข้ากับ “การให้ปุ๋ยระบบน้ำ” เหมือนเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะการให้ปุ๋ยพริกนั้นไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่หัวใจสำคัญคือ “ความสม่ำเสมอ” ที่ช่วยให้ต้นพริกยืนระยะการให้ผลผลิตกับเรานานที่สุด

สำหรับช่วงเวลาในการบำรุงต้นพริก คุณปรียา จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ตามการเจริญเติบโต ดังนี้

• ช่วงที่ 1 หลังลงกล้าพริก 7 วัน พริกยังคงต้นเล็ก ใช้ฮอร์โมน “อโทนิค” อัตราส่วน 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยเพิ่มปริมาณรากฝอยให้พืชดูดซับธาตุอาหารได้มากขึ้น

ช่วงที่ 2 หลังลงกล้าพริก 10 วัน ยังคงเป็นระยะพริกเล็กที่ต้องเน้นความสมบูรณ์ของต้น โดยหากต้นยิ่งพร้อมเร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้ผลผลิตเร็วขึ้น คุณปรียา จะเริ่มให้ปุ๋ยทั้ง 2 ระบบ คือ

“ระบบน้ำ” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 3 กก. ละลายกับน้ำปริมาณ 200 ลิตร/ไร่ จากนั้นนำไปรดต้นพริกทันที ด้วยความถี่ทุก 5 วัน/ครั้ง ช่วยเร่งให้ต้นพริกสมบูรณ์ทั้งลำต้นและใบ สังเกตได้ชัดคือใบพริกจะใหญ่ สีเขียว สมบูรณ์

“ระบบฝัง” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 อัตรา 3 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่หลุมๆ ละประมาณ 1 ช้อนชา โดยการฝังปุ๋ยในระยะนี้จะฝังด้วยความถี่ทุก 7 วัน/ครั้ง ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของต้นพริก