ได้ส่งนักวิชาการเกษตรปุ๋ยยารามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย

อย่างถูกวิธี รู้จักแร่ธาตุที่พืชต้องการ เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยยาราอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการพักหน้าดินในช่วงน้ำท่วม เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้ว่า ควรทำอย่างไรกับพืชไร่ของตนเอง

ยารา ได้เริ่มก่อตั้งครั้งแรก ณ ประเทศนอร์เวย์ ในปี ค.ศ. 1905 หรือ พ.ศ. 2448 มาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลายาวนานมากกว่า 113 ปีแล้ว ยาราค้นพบและเป็นผู้ผลิตปุ๋ยธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นคนแรกของโลก ด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ยาราเป็นผู้นำและเป็นที่เชื่อมั่นได้ในคุณภาพผลิตภัณฑ์ปุ๋ยในระดับโลก

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 (ค.ศ. 2004) ยาราได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนอร์เวย์ (Oslo Stock Exchange) โดยได้มีการเริ่มใช้ประโยคประจำองค์กร หรือ Tagline ว่า “Knowledge grows” ในระดับสาธารณะและสากล…ยาราได้นำเสนอแนวทางและทำงานร่วมกันกับองค์กรสาธารณะและหน่วยงานเอกชนต่างๆ เพื่อที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนให้กับทั้งผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนร่วมกับบริษัทในด้านต่างๆ รวมทั้งสังคมและสาธารณะในระดับมหภาค

หากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยยารา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จาก คุณภูมิพีรพงค์ พาหิรัญ นักวิชาการเกษตรกรอาวุโส บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด ได้พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกิจการสวนลำไยและสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกและจำหน่ายลำไย พืชเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย เจาะลึกวิธีการปลูก การดูแล เพื่อให้ได้ผลผลิตตามเกณฑ์มาตรฐาน

คุณศศินกานต์ ราตรี (พี่เอื้อย) เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกลำไย พี่เอื้อยรู้จักปุ๋ยยาราจากคำแนะนำของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีสูตรผสมต่างๆ เอามาผสมเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พี่เอื้อยทดลองใช้แล้วประสบความสำเร็จจึงบอกต่อให้เพื่อนเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ใช้ในเวลาต่อมา

พี่เอื้อย ดูแลรับซื้อลำไยเข้าล้ง ทำมาได้ 4 ปีแล้ว มีสวนลำไยอยู่ในความดูแลทั้งหมด 30 ราย เนื้อที่รวม 500 ไร่ พื้นที่ไหนมีลำไยคุณภาพดี พี่เอื้อยก็จะหาปุ๋ยมาใส่เพื่อช่วยให้สวนลำไยแห่งนั้นได้ผลผลิตคุณภาพดีมากขึ้น ลำไยที่รับซื้อเข้าล้ง จะถูกส่งออกไปขายตลาดจีน ราคารับซื้อจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับว่าลำไยลูกโต ผิวสวย ตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากผลผลิตที่รับซื้อมีคุณภาพตรงตามหลักเกณฑ์ ทั้งล้งรับซื้อและเจ้าของสวนก็จะขายผลผลิตได้ราคาดีทั้งสองฝ่าย

ทุกวันนี้พี่เอื้อย มีพื้นที่ปลูกลำไยของตัวเอง จำนวน 30 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกลำไยพันธุ์อีดอ ความโดดเด่นของสวนลำไยแห่งนี้ก็คือ จะติดดอกง่าย เพราะดูแลใส่ใจการจัดการสวนลำไยอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงแรก ท่ี่ต้นลำไยแตกช่อออกมาพี่เอื้อยจะใช้แคลเซียมโบรอน 15-0-0 ใส่ทางดิน ต้นลำไยอายุ 10 ปีขึ้นไป จะใส่แคลเซียมโบรอน 15-0-0 ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น หลังจากนั้นจะใส่อีกครั้งในช่วงที่เมล็ดลำไยมีขนาดเท่ากับหัวไม้ขีดหรือเมล็ดเล็กก็จะใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15+15-0-0 คือ 25 กิโลกรัม ต่อ 50 กิโลกรัม ผสมกัน 1 ต่อ 1 อันนี้จะใช้ในอัตราส่วน 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น

เมื่อผลลำไยมีขนาดเท่าเมล็ดมะเขือพวง จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0+15-15-15 อัตราส่วน 1-2 กิโลกรัม สวนลำไยพี่เอื้อยจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งแล้วแต่ขนาดต้นและผลดกหรือไม่ดก

ก่อนเก็บ 1 เดือน พี่เอื้อยจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-9-20+15-0-0 เสริมแคลเซียม ปุ๋ยสูตรนี้จะช่วยสร้างเปลือกและขยายเปลือกให้แข็งแรง “ปุ๋ยยารา” ช่วยเร่งการเติบโตของต้นลำไย กระตุ้นให้ต้นลำไยมีช่อดอกยาวขึ้น, ดอกแข็งแรง, ยืดช่อ ได้ผลผลิตพวงใหญ่ ลูกโต, เพิ่มความหวาน ปรับคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้น ลำไย 1 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 200 – 300 กิโลกรัม และได้ผลผลิตเกรด A, AA ใน 1 ต้น จะมีหลายเกรด

แต่บางครั้ง ต้นลำไยไม่ค่อยติดดอก เพราะเจอฝนในระยะที่ต้นลำไยติดดอกในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้เกิดปัญหาดอกลำไยร่วง และมีโรคพืชต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเชื้อรา บริเวณเปลือก มีจุดดำๆ รวมทั้งปัญหาแมลงศัตรูพืช จึงต้องพ่นยาทั้งโรคพืชและโรคแมลงเพื่อป้องกันโรคและแมลงทุกๆ 15 วัน

สวนลำไยในพื้นที่ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย มักเก็บผลผลิตในช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นจังหวะที่ขายผลผลิตลำไยได้ราคาดี ที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้สามารถส่งออกลำไยได้ปีละ 300 ตัน

พี่เอื้อย เปรียบเทีียบข้อแตกต่างของการใช้ปุ๋ยยี่ห้ออื่นกับปุ๋ยยาราว่า สวนลำไยที่ใช้ปุ๋ยยี่ห้ออื่นต้องใช้ปริมาณปุ๋ยเยอะและใบต้นลำไยเขียวช้า แต่ต้นลำไยที่ใช้ปุ๋ยยาราจะได้ผลผลิตคุณภาพดี ได้ลำไยผลโต สีอมเหลืองสวยสะดุดตาผู้ซื้อ

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกดูแลสวนลำไย สามารถสอบถามเพิ่มเติมจาก คุณศศินกานต์ ราตรี (พี่เอื้อย) บ้านเลขที่ 322 หมู่ที่ 2 บ้านป่าถ่อน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เบอร์โทรศัพท์ (093) 035-9679 หากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยยารา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จาก คุณภูมิพีรพงค์ พาหิรัญ นักวิชาการเกษตรกรอาวุโส บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด เบอร์โทรศัพท์ (095) 525-4238

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคการเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและต่อยอดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” นำวิถียั่งยืนสู่ชุมชน ระหว่าง วันที่ 27-28 มิถุนายน 2561 ให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นตัวแทนปราชญ์ในพื้นที่ กศน. ตำบล ตำบลละ 1 คน รวม 58 คน โดย พันเอกหญิง สุนทรี ไตรภูมิ เป็นวิทยากร ให้ความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีผู้แทน กอ.รมน. จังหวัดยะลา ผู้บริหาร กศน. อำเภอ ครู กศน. ตำบล เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

วัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อขยายผลการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสนับสนุนให้ผู้นำศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และครู กศน. ที่เข้าร่วมโครงการ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอธารโต และสวนดาวทอง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้

พลเอก วิษณุ ไตรภูมิ ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. ในฐานะประธานโครงการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คือ ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ปวงชนชาวไทยมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งให้พสกนิกรได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และปลอดภัย ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัตน์

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่มีคนหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวการที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

คาดหวังว่า กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้นำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีความตระหนักถึงการใช้จ่ายอย่างพอประมาณ มีเหตุผลในการใช้จ่าย มีภูมิคุ้มกัน เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความสามัคคีในครอบครัว ชุมชน สามารถสร้างเป็นอาชีพได้ มีรายได้ ลดรายจ่าย มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอธารโต

สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา พาผู้เข้าร่วมโครงการไปเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่ง คุณจรัส ชุมนุมมณี รับหน้าที่เป็นประธาน ศพก. อำเภอธารโต และบุตรชาย คือ คุณโอ๊ค “ธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี” Young Smart Farmer ทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก ของ ศพก. อำเภอธารโต

ศพก.อำเภอธารโต โดดเด่นในเรื่องการถ่ายทอดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต “ทุเรียน” ที่นี่กำหนดฐานการเรียนรู้ จำนวน 10 ฐาน ได้แก่ 1. ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 2. ฐานการเรียนรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า 3. ฐานการเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิตทุเรียน 4. ฐานการเรียนรู้โรคและแมลงศัตรูทุเรียน 5. ฐานการเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียน 6. ฐานการเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตทุเรียน 7. ฐานการเรียนรู้บัญชี 8. ฐานการเรียนรู้สหกรณ์ 9. ฐานการเรียนรู้ประมง (เสริมรายได้) 10. ฐานการเรียนรู้ปศุสัตว์ (เสริมรายได้)

ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลานิยมมาจัดกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ประจำปี 2561 ในแต่ละฐานการเรียนรู้ ณ ศพก. อำเภอธารโตแห่งนี้ และในอนาคตจะพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอธารโต

ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ มีรายได้จากการปลูกพืชหลักคือ ทุเรียน ยางพารา และรายได้หมุนเวียนจากการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน เช่น คะน้า กวางตุ้ง แตงโม ฟักทอง ถั่วฝักยาว แตงกวาญี่ปุ่น ฯลฯ ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์นานาชนิด เช่น เป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ นกกระทา นกยูง ไก่ฟ้า แพะนม

ทุเรียนยะลา อร่อยสุดๆ

ทุเรียนพันธุ์พวงมณีและทุเรียนหมอนทอง นับเป็นผลไม้ที่เป็นพระเอกหลักของจังหวัดยะลา ทุเรียนยะลาเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากทุเรียนพวงมณีและหมอนทองของยะลาอร่อยที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นทุเรียนที่มีการปลูกบนที่ราบสูง ภูเขา ที่จะมีรสชาติที่อร่อย หอมหวาน เนื้อแห้ง ละเอียด ขายได้ราคาดี

ดังนั้น คุณอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จึงได้อนุมัติงบประมาณ 150,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนให้มากขึ้น ประมาณ 1,200 ไร่ แหล่งปลูกทุเรียนส่วนใหญ่ของจังหวัดยะลาอยู่ในพื้นที่อำเภอเบตงและอำเภอธารโต กว่า 50,000 ไร่

ทุกวันนี้ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน หันมานิยมปลูกทุเรียนพันธุ์พวงมณี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทยแล้ว ยังสนใจปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซียกันมากขึ้นด้วย เพราะทุเรียนพันธุ์มูซานคิง กำลังได้รับความนิยมสูงในตลาดต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้มีการสั่งซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนมูซานคิง 1,000 ต้น ลงปลูกในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกทุเรียนไทยในเวทีตลาดโลก เช่น มาเลเซีย จีน และสิงคโปร์

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาดูงาน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอธารโต จังหวัดยะลาได้ตลอด โดยติดต่อขอเยี่ยมชมงานกับ คุณโอ๊ค หรือ คุณธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี เลขที่ 36/1 หมู่ที่ 5 ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา 95150 โทร. (084) 967-0481 หรือทางเฟซบุ๊ก “Oak Thamrongsak Chumnummani” ได้ทุกวัน

“ธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี” หรือ “โอ๊ค” หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เขาสำนึกรักบ้านเกิด ได้พลิกผันชีวิตตัวเองมาช่วยคุณพ่อ “จรัส ชุมนุมมณี” ทำสวนทุเรียน 12 ไร่ ที่บ้านเกิดในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา

โอ๊คช่วยครอบครัวดูแลสวนทุเรียนด้วยความตั้งใจ เขาดูแลตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นทุเรียนให้สมบูรณ์ ตัดทุเรียนที่มีความสุก 70-80 เปอร์เซ็นต์ ออกขายเพื่อให้ผู้ซื้อได้บริโภคทุเรียนคุณภาพดี เปลือกบาง เนื้อเยอะ เม็ดลีบ และรสชาติหวานมัน ซึ่งเป็นสเปคที่ตลาดต้องการ

ทุเรียนตกเกรด ถูกคัดออกเพื่อนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะทุเรียนกวน ทุเรียนเชื่อม ทุเรียนทอด โอ๊คนำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาสร้างช่องทางการขายทุเรียนสุกและทุเรียนแปรรูปผ่านระบบออนไลน์ (เฟซบุ๊ค) ทำให้สินค้าจากสวนของเขาขายดีเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั่วประเทศ โกยรายได้นับล้านบาท

โอ๊คต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านเกษตร จึงได้สมัครเข้าร่วมกลุ่ม Young Smart Farmer อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เขาเป็นผู้นำรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในท้องถิ่นจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลผลิตทุเรียน เพื่อยกระดับสินค้า และพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

คุณพ่อของโอ๊คได้เปิดบ้านเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โดยโอ๊คทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก ของ ศพก. อำเภอธารโต

โค่นต้นยาง ปลูกไม้ตัดดอกโกยรายได้ทะลุหลักแสน

ครอบครัวของโอ๊ค มีรายได้จากการปลูกพืชหลักคือ ทุเรียน ยางพารา และรายได้หมุนเวียนจากการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน เช่น คะน้า กวางตุ้ง แตงโม ฟักทอง ถั่วฝักยาว แตงกวาญี่ปุ่น ฯลฯ ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์นานาชนิด เช่น เป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ นกกระทา นกยูง ไก่ฟ้า แพะนม

โอ๊ค นับเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ริเริ่มปลูกไม้ตัดดอก เช่น ดาวเรือง เบญจมาศ ฯลฯ เป็นแห่งแรกของพื้นที่อำเภอธารโต โดยเขาเริ่มปลูกไม้ดอก ตั้งแต่ 31 มกราคม 2561 ใช้เวลาปลูกดูแลไม่นานแต่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานเรื่องการปลูกไม้ตัดดอกเพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่ง

โอ๊ค เปิดเผยว่า เขาได้รับแรงจูงใจในการปลูกไม้ตัดดอก หลังจากได้ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องการปลูกไม้ตัดดอกเพื่อนำมาขยายผลโครงการพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มาปลูกที่อำเภอธารโต

ช่วงแรก โอ๊คทดลองปลูกดาวเรืองและเบญจมาศก่อน เพราะเป็นไม้ตัดดอกยอดนิยมที่ปลูกดูแลง่าย ใช้เงินลงทุนไม่มาก แถมตลาดมีความต้องการสูง เขาลงทุนปลูกดาวเรืองและเบญจมาศอย่างละ 2,000 ต้น โดยซื้อเมล็ดพันธุ์ดอกดาวเรืองลูกผสม สีเหลือง พันธุ์วีนัส ที่มีจุดเด่นในเรื่องดอกแน่นสีเหลือง ลำต้นแข็งแรง ต้นเตี้ยประมาณ 30-35 เซนติเมตร ดอกใหญ่ไซซ์จัมโบ้ 8-10 เซนติเมตร อายุการเก็บเกี่ยว 50-60 วัน

หลังปลูกดาวเรืองไปได้ประมาณ 45 วัน ต้นดาวเรืองก็เริ่มออกดอก ดาวเรือง 1 ต้น เก็บดอกขายได้ประมาณ 30 ดอก โอ๊คเก็บดอกดาวเรืองออกขายในจังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากเป็นดาวเรืองดอกใหญ่ไซซ์จัมโบ้ จึงขายได้ในราคาดอกละ 1 บาท เก็บผลผลิตรุ่นแรกออกขาย มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท

ทุกวันนี้ สวนดอกดาวเรืองของโอ๊ค ตัดผลผลิตออกขายได้ทุกวัน ผลผลิตมีเท่าไรก็ไม่พอขาย เขาวางแผนขยายพื้นที่ปลูกดาวเรืองและไม้ตัดดอกเพิ่มขึ้น โดยวางแผนโค่นสวนยางบางส่วนมาปลูกไม้ตัดดอกในอนาคต ขณะเดียวกัน เขาก็ชักชวนให้เพื่อนเกษตรกรที่รู้จักกันหันมาปลูกดอกดาวเรืองและไม้ตัดดอกอื่นๆ เพื่อเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง

ผู้อ่านที่สนใจเรื่องการทำสวนทุเรียนและไม้ตัดดอก สามารถติดต่อสอบถามกับ โอ๊ค หรือ คุณธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี เลขที่ 36/1 หมู่ที่ 5 ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา 95150 โทร. (084) 967-0481 หรือทางเฟซบุ๊ก “Oak Thamrongsak Chumnummani” ได้ทุกวัน

ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกองุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส ว่า เป็นสายพันธุ์องุ่นต่างประเทศ ที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อประมาณ 14-15 ปีก่อน พันธุ์นี้จะเเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อปลูกในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น

สำหรับการปลูกและดูแลรักษาองุ่นบิวตี้ ซีดเลส อย่างถูกวิธีเพื่อให้มีผลผลิตภายในเวลา 8-12 เดือน ซึ่งองุ่นพันธุ์นี้สามารถบังคับให้ออกผลได้ 2 ปี 5 ครั้ง ผู้ปลูกองุ่นสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี โดยตัดแต่งกิ่งให้มีผลผลิตออกได้ทุกเดือน แต่ที่นิยมมากคือ การตัดแต่งกิ่งให้มีผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวตรงกับช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น

การขยายพันธุ์องุ่นบิวตี้ ซีดเลส สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดกิ่ง ปักชำ การตอน การติดตา การเสียบยอด ทั้งนี้ เกษตรกรควรใส่ใจเรื่องการเตรียมแปลงปลูก เพราะองุ่นจะเจริญเติบโตเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการเตรียมดินเป็นสำคัญ ควรปลูกองุ่นในระยะห่างระหว่างต้นและแถวที่ 6-8 เมตร ขนาดของหลุม 70x70x30 เซนติเมตร

พร้อมกันนี้ควรทำค้างองุ่นแบบราวตากผ้า ความสูงของค้าง ประมาณ 1.80 เมตร ความกว้างด้านบนของค้าง สูง กว้าง ประมาณ 3 เมตร ใช้ลวดเบอร์ 14 ขึงให้ตึงระหว่างหัวแปลง-ท้ายแปลง ระยะระหว่างลวด ประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นควรจัดโครงสร้างของกิ่ง ทั้งกิ่งหลักและกิ่งสาขาเพื่อให้ผลผลิตต่อต้นจำนวนมาก และทุกกิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กิ่งหลักอย่างเป็นระเบียบ และสมบูรณ์เสมอกัน การจัดการทรงต้นที่แนะนำคือ ทรงต้นแบบตัว H และสร้างกิ่งแบบก้างปลา จากกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกข้อของเถา ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง

การจัดเถา และช่อองุ่น

เมื่อเห็นช่อดอกยืดยาวออกมา ดอกจะบาน หรือหลังจากตาองุ่นแตกได้ 2-3 สัปดาห์ ควรปลิดตาข้างออกให้หมดเพื่อยืดอายุยอดองุ่นที่แตก และมีช่อดอกให้ยาวขึ้น หลังจากดอกบานจนติดผลเล็กๆ แล้วควรผูกเถาติดกับค้าง หรือดูความยาวของเถา ประมาณ 80-100 เซนติเมตร

การปลิดผล

หลังตัดแต่งกิ่งประมาณ 35 วัน ควรตัดปลายช่อองุ่น 1 ใน 4 ของความยาวช่อ หรือความยาวเท่ากับถาดโฟมที่ใส่องุ่น เพราะผลที่ปลายช่อโดยมากไม่มีคุณภาพ ควรปลิดผลไม่ให้ผลในช่อมีมากเกินไป ปลิดผลที่มีขนาดเล็ก ผลที่ไม่ได้รูปทรง ผลที่เกิดจากโรคแมลง

การให้ปุ๋ยและน้ำ

เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน โดยใส่ปุ๋ยคอกบนผิวดินรอบต้นองุ่นให้ทั่วแปลง อัตรา 1 กระสอบปุ๋ย ต่อต้น หลังจากเก็บผลองุ่นแล้วก่อนตัดแต่งกิ่งครั้งต่อไป ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยมากมีสูตรปุ๋ยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นองุ่น

ระยะที่ต้นยังเล็ก หรือยังไม่ได้ตัดแต่ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 20-20-20 สูตร 12-24-12 อัตรา ต้นละ 300-500 กรัม ต่อต้น ร่วมด้วยปุ๋ยคอก 10 กิโลกรัม ต่อต้น

ระยะที่สอง ให้ใส่ปุ๋ยเกรดเดียวกันระยะแรก เมื่อดอกบานแล้ว 15 วัน หลังการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 45 วันออกไป ให้มีผลเหลือในช่อโปร่ง 1 ช่อ ประมาณ 50-80 ผล ตามความเหมาะสมของช่อ

ระยะที่สาม เมื่อองุ่นเริ่มเข้าสี ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 13-13-21 สูตร 8-24-24 สูตร 0-52-34 สูตร 0-0-50 ต้นละ 300-500 กรัม หรือใส่ก่อนเก็บผล 15-30 วัน จะทำให้ผลองุ่นมีคุณภาพสูง ผิวสวย หวาน กรอบ

ทั้งนี้ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ BETFLIX สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะติดผล และผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ ระยะก่อนเก็บผลผลิต 1-2 สัปดาห์ ควรงดการให้น้ำหรือรดน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อทำให้ผลมีคุณภาพดี น้ำตาลในผลสูง ผลไม่นิ่ม มีผิวสวย รสชาติหวาน กรอบ อร่อย

การปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องป้องกันเรื่องโรคและแมลงอย่างใส่ใจ ควรคลุมพลาสติกบนค้างองุ่น เพื่อป้องกันน้ำค้าง ซึ่งจะนำโรคเชื้อราน้ำค้างมาสู่ผลองุ่นได้ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงปางอุ๋ง เชียงใหม่ โทร.

คุณสุรูป แสนขันธ์ คือเกษตรกรผู้ริเริ่มขยายพันธุ์ไผ่รวกหวาน “ภูกระดึง 58” ณ บ้านเลขที่ 243 หมู่ที่ 5 บ้านซำบ่าง ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

ชื่อไผ่รวกหวาน “ภูกระดึง 58” นี้ มีที่มาจาก เป็นไผ่รวกที่พบบนพื้นที่ยอดดอยภูกระดึง และ 58 คือ ปีที่คุณสุรูปเริ่มขยายพันธุ์จนสำเร็จ จนได้มีการจำหน่ายต้นพันธุ์ ทำให้ไผ่รวกหวานสายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักนั่นเอง แต่เดิมนั้น คุณสุรูป รับราชการครู สอนในรายวิชาการงานอาชีพ ซึ่งถือว่ามีความรู้ทางด้านเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่บ้านก็ได้มีการปลูกมะนาวไว้ และเป็นผู้รู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกมะนาวด้วย จนเมื่ออายุได้ 50 ปี ได้หันมาปลูกไผ่รวกหวานเป็นอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอาชีพ

คุณสุรูป เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปลูกไผ่รวกหวานว่า “ได้ไปกินไผ่รวกจากคุณยายท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติพี่น้องที่รู้จักกัน คุณยายท่านนี้ปลูกไผ่รวกชนิดนี้ไว้ในบ้าน 1 กอ โดยไปเอามาจากบนป่าภูกระดึง ตนเกิดความประทับใจในรสชาติที่หวาน กรอบ ของไผ่ชนิดนี้ ที่มีรสหวานกว่าหน่อไผ่สายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยได้กินมา จึงได้ขอซื้อไผ่กอนั้นทั้งกอมาปลูกไว้ที่บ้าน ด้วยการเพาะชำลำไผ่ แต่ปลูกได้ประมาณ 1 ปี ไผ่ก็ออกดอก และตายไปในที่สุด ด้วยความรู้ที่มีอยู่บ้างเกี่ยวกับด้านเกษตร จึงได้นำเมล็ดของไผ่รวกมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ จนได้เป็นไผ่รวกพันธุ์ใหม่ และให้ชื่อว่า ไผ่รวกหวาน ภูกระดึง 58”

คุณสุรูป ให้รายละเอียดว่า ไผ่รวก ที่ได้นำมาขยายพันธุ์นั้นเป็นไผ่รวกชนิดใหม่ ไม่เคยพบและไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสายพันธุ์ไผ่อีกด้วย เพราะไผ่รวกส่วนใหญ่ที่รู้จักเป็นไผ่รวกที่มีรสขมเท่านั้น