ได้เน้นย้ำการเร่งรัดการออกใบรับรอง GAP พื้นที่อำเภอนบพิตำ

ให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด การพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นฮับมังคุด (ภาคใต้ตอนกลาง) การเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการทำตลาดออนไลน์ การขายออนไลน์ล่วงหน้า การสั่งซื้อล่วงหน้า การขายผ่านระบบสหกรณ์ หรือบริษัทไปรษณีย์ไทย และเน้นย้ำการทำงานล่วงหน้าเชิงรุก ตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ฤดูกาลผลิตต่อไป.

วันนี้(18 กุมภาพันธ์ 2564) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จังหวัดนนทบุรี จัดงานจับรางวัลเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชคครั้งที่ 2/2564 ณ ศาลาประชาคมอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายพรชัย งามสินจำรัส ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคกลาง นายสุรพงษ์ อิ่มเอิบ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนนทบุรี นายสมยศ มโนเลิศ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาบางใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ พร้อมกับผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี มาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง

ในการจัดงานจับรางวัลครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอบางใหญ่ มาเป็นประธานและให้เกียรติจับรางวัลที่ 1 นายแพทย์ชูศักดิ์ วรงค์ชยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางใหญ่ ให้เกียรติจับรางวัลที่ 2 พร้อมกันนั้นได้เชิญผู้นำชุมชนและตัวแทนลูกค้าเงินฝากแต่ละสาขามาเป็นสักขีพยาน ซึ่งถือว่าได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาตามขั้นตอนและพิธีการจับรางวัล พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเกษตรก้าวไกลไปด้วยกันและเครือข่าย ตั้งแต่เริ่มต้นการจับรางวัลจนจบงาน ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อโควิด 19

นายสุรพงษ์ อิ่มเอิบ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “ตามวิสัยทัศน์ของธ.ก.ส.จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ภารกิจของเราคือการพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อ การส่งเสริมการออม รวมทั้งการสนับสนุนตามมาตรการของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการเยียวยา การประกันราคาพืชผลต่างๆ วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ธ.ก.ส.นนทบุรีได้มามอบโชค ซึ่งนอกจากธ.ก.ส.จะได้ดอกเบี้ยแล้ว สิ่งที่เราจะมีการตอบแทนคือลูกค้าทุกคนที่มีเงินฝากคงเหลือทุก 2,000 บาท ติดต่อกัน 3 เดือน จะได้รับสิทธิ์ในการชิงรางวัล 1 สิทธิ์ โดยใน 1 ปี จะกำหนดวันตัดยอดเพื่อจับรางวัลเป็น 2 ช่วง (2 ครั้ง) ครั้งนี้มีรางวัลทั้งสิ้นกว่า 5.9 ล้านบาท ส่วนคนที่ไม่ได้รางวัลก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะท่านเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับบุญกุศลในการที่เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องในภาคชนบท และย้ำว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านมาฝากไว้ ธ.ก.ส.จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมขอขอบคุณลูกค้าและสักขีพยานทุกท่านที่มาช่วยมอบโชคในครั้งนี้”

ด้าน นายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอบางใหญ่ ประธานในพิธีจับรางวัล กล่าวว่า “ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้กับเกษตรกรเพื่อทำการเกษตร และโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการตอบสนองการทำงานตามมาตรการของรัฐบาลทั้งการให้สินเชื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพ การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ การประกันรายได้ให้เกษตรกร ทั้งชาวนา ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์ม ฯลฯ วันนี้ทางธ.ก.ส.ได้จับรางวัลสมนาคุณให้กับลูกค้าผู้ฝากเงินออมทรัพย์ทวีโชคของทุกสาขาในเขตพื้นที่ของนนทบุรี ซึ่งมีทั้งรถยนต์ Toyota Cross รถยนต์ Toyota Yaris ทองคำ และเงินรางวัลอื่นๆ ก็ขอขอบคุณทางธ.ก.ส. และรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานมอบรางวัลในครั้งนี้”

ส่วน นายแพทย์ชูศักดิ์ วรงค์ชยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางใหญ่ กล่าวว่า “การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ทวีโชคเป็นสิ่งที่ดี ที่มีการตอบแทนให้กับลูกค้าด้วยการจับรางวัล ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทั่วไปอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ขอเชิญชวนให้สมาชิกที่เคยฝากเงินบอกกล่าวกันไปว่านอกจากจะได้รับความมั่นคงเป็นธนาคารของรัฐที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ดูแลเฉพาะเกษตรกรธ.ก.ส.ยังดูแลลูกค้าทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องด้วยหลักธรรมาภิบาลอย่างดียิ่งขอเรียนเชิญทุกท่านมาฝากเงินกับธ.ก.ส.อย่างเช่นตัวผมก็เป็นลูกค้าธ.ก.ส.เช่นกัน แต่วันนี้หวังว่าคงไม่จับรางวัลถูกตัวผมนะครับ”

สำหรับผลการจับรางวัลของธ.ก.ส.จังหวัดนนทบุรี รางวัลที่ 1 รถเก๋ง Toyota Cross จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 989,000 บาท ผู้ได้รับรางวัลเป็นลูกค้าธ.ก.ส.สาขาบางใหญ่ และ รางวัลที่ 2 รถเก๋ง TOYOTA Yaris จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 539,000 บาท ผู้ได้รับรางวัลเป็นลูกค้าธ.ก.ส.สาขานนทบุรี นอกจากรางวัลที่ 1 และ 2 ยังมีรางวัลที่ 3 ทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 20 รางวัล รางวัลที่ 4 ทองคำหนัก 2 สลึง จำนวน 199 รางวัล รางวัลที่ 5 ทองคำหนัก 1 สลึง จำนวน 125 รางวัล รางวัลที่ 6 ข้าวสาร A ไรท์ 50 กิโลกรัม จำนวน 45 รางวัล รวมมูลค่าของรางวัลกว่า 5,900,000 บาท โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้โชคดีและรายละเอียดของรางวัลได้ที่ธ.ก.ส.สาขาที่เปิดบัญชีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา แนะการแพทย์ ยุค Next Normal ต้องให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพ เพื่อรับมือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ในเวทีการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 60 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ (21 ก.พ.65) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 60 หรือ The 60th Kasetsart University Annual Conference ภายใต้หัวข้อ “เกษตรศาสตร์ วิถีถัดไป พลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน” “Next Normal KASETSART: Turning Crisis into Sustainability” ขึ้นเป็นวันแรก ผ่านระบบ Cisco Webex, NontriLive ที่ https://live.ku.ac.th และ FacebookLive ที่ https://www.facebook.com/KasetsartUniversity โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งกำหนดจัดการประชุม รวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ภาคบรรยายจำนวน 143 เรื่อง ภาคโปสเตอร์จำนวน 86 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 229 เรื่อง

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “Disruptive Technology กับระบบสุขภาพยุค Next Normal” เพื่อเปิดมุมมองวิถีถัดไปพร้อมกระบวนการรับมือต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการต่อภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ด้วยระบบบริการสุขภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แก่ 1. Globalization ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางลบและทางบวก เช่นทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่ายและในทางกลับกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ง่ายยิ่งขึ้น 2. Digitalization เกิดกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล 3. Disintermediation การหายไปของตัวกลางในระบบบริการสุขภาพ 4. Disruptive technologies การใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเข้ามามีบทบาทและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5. Climate change การเปลี่ยนแปลงสภาพระบบภูมิอากาศของโลกซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเป็นสาเหตุของโรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลกที่สำคัญ (Viral Pandemic) ได้แก่การแพร่กระจายเชื้อก่อโรค SARS, ไข้หวัดหมู (Swine Flu), โรคเมอร์ส (MERS), โรคไข้ซิกา (Zika) และในปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19)

ดังนั้น ระบบบริการสุขภาพจะเข้ามามีส่วนช่วยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

ระบบสุขภาพต้องถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีทั้งจิตใจและร่างกายในบุคคลทั่วไปและบุคลากรด้านสุขภาพ
ระบบสุขภาพต้องมีคุณภาพ (Quality) มีการปรับตัวและความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Agility)
ระบบสุขภาพต้องมีความพร้อมในการรับมือต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งโรคในกลุ่ม NCDs (Non-communicable diseases)
ผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ 2. ผู้ที่นำนโยบายมาดำเนินการ และ 3. ประชาชน โดยในแต่ละส่วนนั้นจะมีผู้ที่คอยกำกับดูแล ในระบบบริการสุขภาพนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการต่อภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้อธิบายเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของระบบบริการสุขภาพ (New Normal Healthcare system) อย่างชัดเจนว่า ประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบ ดังนี้

Health Promotion (การสร้างเสริมสุขภาพ) ได้แก่ การบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Telehealth) และความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ทันสมัย (Health Literacy)
Disease Prevention (การป้องกันโรค) ได้แก่ 1. การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic testing) ทำให้ทราบรหัสพันธุกรรมของตนเอง สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผลต่อโรค และ 2. การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (Vaccination)
Treatment of Disease (การรักษาโรค) โดยในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การใช้ระบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) หรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการรักษา

Rehabilitation (การฟื้นฟูสภาพ) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล (Tele rehabilitation)
Palliative care (การประคับประคอง) การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ (Tele – consultation) หรือการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical robot)

End of life care (การดูแลระยะสุดท้าย) โดยใช้ Tele–consultation และ Medical robot
“ระบบการดูแลสุขภาพที่ดีนั้นจะต้องเข้าถึงได้มากภายใต้คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่าย (Cost) 2. การรักษาพยาบาลโดยตรงและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง (Quality) 3. การเข้าถึง (Access) โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน และนอกจากนี้บุคลากรด้านสุขภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ด้านสุขภาพ (Health Education) โดยระบบการดูแลสุขภาพที่ดีประชาชนต้องมีความเสมอภาค (Equity) ในการเข้าถึงและสามารถการยกระดับทางสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น (Population health)

ในอนาคตการใช้ Tele-system และ 5G technology จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพให้ก้าวหน้า ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์เกิดการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า (Face to face) น้อยลงและเข้าสู่ระบบ Digital Healthcare มากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์อาทิเช่น การใช้สมาร์ทโฟน (Smart phone) ทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์ไว้ที่ระบบจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud technologies) ทำการประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ Ai เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร จากนั้นแพทย์จะทำการถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวกลับไปสู่คนไข้ นอกจากนี้การพัฒนาของเทคโนโลยีที่มากขึ้นในปัจจุบันทำให้แพทย์และคนไข้เกิดปฏิสัมพันธ์และสามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึกร่วมกันได้อีกด้วย (High tech and high touch)” ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าว

หมายเหตุ : ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 21 กุมภาพันธ์ 2565 / สรุปปาฐกถา โดย นางสาวดลฤดี โตเย็น

วันสองวันนี้ “เกษตรก้าวไกล” ได้ให้ความสนใจเรื่องชมพู่…เพราะเมื่อเย็นวานนี้(20 ก.พ.65) เห็นเฟสบุ๊คของเพื่อนๆอย่างน้อยก็ 2 คน ที่โพสต์เรื่องชมพู่ คนที่ 1 “เดชา สุขเปรม” โพสต์เรื่องชมพู่เพชรสายรุ้ง สวนลุงไพฑูรย์เพชรบุรี ดูจากรูปก็ชอบใจที่เขาสร้างนั่งร้านรอบต้นชมพู่ให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็ว่าได้ ยิ่งศึกษาลงลึกพบว่าเป็นชมพู่ที่มีราคาแพงที่สุดของประเทศไทย คือ ราคากิโลกรัมละ 300 บาท (เบอร์ใหญ่สุด) และที่สวนแห่งนี้ยังมีภูมิปัญญาอันชวนหลงไหลและให้ค้นหาอีกมาก

สวนชมพู่ลุงไพฑูรย์(ชมพู่เพชรสายรุ้ง-เพชรบุรี) สุดยอดภูมิปัญญาเกษตรกรไทย ที่เห็นรูปช้างกับพญานาคคือถุงห่อที่เรียกว่าถุงมืดมีความเชื่อ(ความเชื่อก็คือความขลัง)ว่าจะทำให้ผลสวย..เหล่านี้เป็นตัวอย่างภูมิปัญญาที่สร้างเรื่องราวและก่อให้เกิดมูลค่าขึ้นมา (ภาพจาก คุณเดชา สุขเปรม)

และก็บังเอิญว่าเมื่อวานนี้ทางเราก็เพิ่งลงคลิปเรื่องชมพู่ทับทิมจันทร์ สวนคุณประยูร วิสุทธิไพศาล ที่ราชบุรี ทำให้เมื่อคืนนี้ต้องค้นหาข้อมูลเรื่องชมพู่จากทั่วโลก พบว่ามีความหลากหลายเรื่องสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในแถบเอเชียที่เป็นประเทศร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา

พอรุ่งเช้า (21 ก.พ.65) ก็มาเจอโพสต์ของเพื่อนอีกคน คือ “ดร.จินดามาศ ทินกร” (เป็นเพื่อนในเฟสแต่จริงๆนับถือเป็นอาจารย์ เพราะว่าสอนวิชาชีพขนมครกชาววังที่มติชนสมัยก่อน) เช้านี้อาจารย์ได้โพสต์ว่า

“ชมพู่น้ำดอกไม้…ชมพู่โบราณ หวานหอมมากๆ ที่บ้านสวนราชบุรี— ที่ บ้านสวน คลองตาจ่า” พร้อมภาพชมพู่น้ำดอกไม้สีเหลืองสวยงามตามที่เห็นในโพสต์นี้แหล่ะ

ได้อ่านค้อมเม้นท์ของเพื่อนๆก็พบว่าหลายคนยังไม่เคยเห็น บางคนอยากได้เมล็ดพันธุ์ไปปลูก โดยรวมก็คือว่า ทุกคนให้ความสนใจ

กลับมาเปิด Google อีกรอบ คราวนี้เจอข้อมูลจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งลงข่าวว่า…อั้ม พัชราภา ถึงกับร้องว้าว หลังเกิดมา 41 ปี เพิ่งเคยเห็น “ชมพู่น้ำดอกไม้” โดยอั้มได้เปิดเผยในไอจีว่า… “เกิดมาเพิ่งเคยเห็น เพิ่งเคยทาน ชมพู่น้ำดอกไม้ มีกลิ่นหอมมาก”

นอกจากนี้ยังอัดคลิปบอกชื่อเจ้าผลไม้หน้าตาแปลกนี้ว่า มันคือชมพู่น้ำดอกไม้ “เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นว่ามีชมพู่น้ำดอกไม้ กลิ่นหอมมาก (อั้มหอมแล้วหอมอีก) หอมเหมือนดอกไม้ เหมือนน้ำหอม…เดี๋ยวจะปอกให้ดู อั้มเกิดมาขนาดนี้ก็เพิ่งเคยเห็น (จากนั้นก็ผ่าชมพู่เป็น 5 แฉก) มีเม็ดด้วย นี่เม็ดเขาบอกเอาไปเพาะได้ หอมมากค่ะ(หอมอีกครั้ง) เดี๋ยวทานให้ดู กรอบอร่อย ยิ่งทานยิ่งหอมมากๆ โอ้โหไม่ได้เงินนะค่ะ(รีวิว) ไปเจอที่ตลาดอตก.เห็นว่าเป็นผลไม้แปลกก็เลยซื้อมา ลองหาทานกันดูนะค่ะ”

ครอบครัวชมพู่ทับทิมจันทร์ที่ราชบุรี
ที่นำเรื่องราวของคุณอั้มมาถ่ายทอดต่อก็ได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้คุยกันว่าทำอย่างไรให้สินค้าของเกษตรกรเรา เวลาออกมาเยอะราคาจะตกต่ำ ก็คุยกันว่า จะต้องหาทางให้คนดังอย่างพวกสส.รัฐมนตรีนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงให้มุ่งเป้ามาตรงนี้ โดยเฉพาะดารานักร้องทั้งหลายที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือคนของสังคมมาช่วยกันโพสต์ในออนไลน์กันให้เยอะๆ เพราะว่าก่อนหน้านี้ ไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เป็นไม้ใบ คุณญาญ่า-อุรัสยา และคุณณเดชน์ ได้นำไปโพสต์ใน Instagram ของพวกเขาทำให้ต้นไม้พันธุ์ที่เขาโพสต์ขายดีจนขาดตลาดในไม่กี่วัน…

อย่าลืมว่า เกษตรคือประเทศไทย ถ้าทำให้เกษตรเจริญได้ประเทศไทยก็เจริญ…เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือการเกษตรของเราไปได้แน่นอนครับ วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

ขณะที่ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีเสวนาและแสดงปาฐกถา หัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต’ ตอนหนึ่งว่า หนี้ต่อให้ปรับโครงสร้างอย่างไรก็ยังเป็นหนี้ ซึ่งทางออกที่จะไม่เป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะนโยบายไม่ตอบโจทย์กับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มเดิม ๆ คนรุ่นเก่า โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ มีเรื่อง Smart Farmer ทั้งหลายเข้ามา คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ มีความเป็นปัจเจกสูง กลุ่มทุน หน่วยงานต่าง ๆ ก็พากันเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ ตรงนี้เองกลับยิ่งทำให้เกษตรกรกลุ่มเดิมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“นโยบายที่บ้านเรามีไม่ได้มุ่งเข้าไปช่วยเกษตรรายย่อย เพราะบ้านเราไม่ได้ยอมรับไม่ยอมสถาปนาว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นคนด้อยโอกาสชั้นล่างสุดที่รอรถโดยสารแบบลุ้น ๆ ว่าจะมาหรือไม่มา เปรียบเหมือนกับ ปลูกมะเขือออกมาก็ต้องลุ้น ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่”

รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เกษตรกรถูกบังคับให้เป็นถึง 3 อย่างคือเป็น นักเกษตรกร, นักอุตสาหกรรม และนักการตลาดที่ดี ดูดีดูหรูหรา แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เกษตรกรอยู่ไปวัน ๆ ซ้ายก็หนี้ ขวาก็หนี้ ไม่มีทางออก ขณะเดียวกัน บ้านเราก็ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการรวมกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เผยเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน ถึงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องลงแก้ไขอย่างจริงจัง
เกษตรกรไทยร้อยละ 90 เป็นหนี้

จากนั้นมีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ โดยมีวิทยากรและผู้สนใจมาร่วมเสวนาอย่างคึกคัก

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน

ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องมีหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว

ด้าน คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภา กล่าว

ขณะที่ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

นายพงษ์พันธ์ กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

นอกจากนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวว่า นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ได้นำเสนอทางออกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีของธนาคารต้นไม้ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

(รายละเอียดการเสวนาชมเต็มๆได้จากคลิป เกษตรก้าวไกลLIVE – ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” https://fb.watch/bkAk7Zqh_V/ โดยในเรื่องหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน และธนาคารต้นไม้จะอยู่ช่วงท้ายๆคลิป)

อนึ่ง องค์กรร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

ในการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 60 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “เกษตรศาสตร์วิถีถัดไป พลิกวิกฤตสู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้จัดให้มีการเสวนาพิเศษ เรื่อง Metaverse กับโลกการศึกษาและวิจัยในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึง Metaverse และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาและการวิจัยอย่างมีศักยภาพสูงสุดในอนาคต โดย มีวิทยากรจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา นักวิจัยทีมโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ศิริศิลป์ กองศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัล โลกเสมือน Metaverse ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาในอนาคตให้กับเวทีการเสวนาพิเศษ โดยมี รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา กล่าวถึงประเด็นการนำ Metaverse มาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย ว่า Metaverse คือโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ สามารถทำกิจกรรรมต่างๆร่วมกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์รองรับการเข้าถึงโลกเสมือน Metaverse ได้เริ่มต้นจากการที่เฟซบุ๊กได้พยายามผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เนื่องจากมีการแข่งขันและแย่งชิงพื้นที่ นอกจากนี้สถานการณ์โควิดทำให้คนไม่ออกจากบ้าน จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ภาครัฐเองก็ต้องให้บริการแบบออนไลน์ คาสิโนออนไลน์ แต่ระบบออนไลน์ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูล จึงได้มีการนำระบบ AI มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการศึกษาวิจัย ซึ่งในอนาคตการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบใหม่ๆ จะต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นการทวิตเตอร์ข้อความจากคลื่นสมองทำให้รู้ว่าแนวโน้มจะมีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนจะใช้ระบบบริการมากขึ้น ถ้า service อยู่ที่ไหนคนจะไปที่นั่น Metaverve สามารถระบุตัวตนของ user สามารถแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ หากการเตรียมพร้อมของ AI ดีก็จะทำให้เกิดสินทรัพย์ในโลกสมัยใหม่ ทำให้เกิดโลกจริงกับโลกเสมือน