ไปกาญจนบุรี ดู บุญช่วย ปั้นหยัด ปลูกมะม่วงให้ขายได้ทั้งปี

สร้างตลาดอย่างยั่งยืนประเทศไทยส่งออกมะม่วงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศฟิลิปปินส์และเม็กซิโก ซึ่งมะม่วงที่ส่งออกนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ปลูกแพร่หลายมากที่สุดจะเป็นพันธุ์เขียวเสวย แรด น้ำดอกไม้ อกร่อง ฟ้าลั่น และโชคอนันต์ แต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี 8 จังหวัดของภาคตะวันตก มีการเพาะปลูกพืชหลายชนิดหนึ่งในนั้นคือ มะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันตกนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีเกษตรกรปลูกมะม่วงจำนวนไม่น้อยบางสวนก็ประสบความสำเร็จดี บางสวนก็พอจะสร้างรายได้ในระดับปานกลาง แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่ประสบปัญหาด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายมีทางเลือกด้านการตลาดที่ไม่เหมือนกัน ส่วนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่รวมกันเป็นกลุ่มจะมีพลังในการต่อรองทั้งด้านการตลาดและการซื้อปัจจัยการผลิตที่ดีกว่า

“อย่าง คุณบุญช่วย ปั้นหยัด เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ใช้พื้นที่ 10 ไร่ จาก 16 ไร่ มาปลูกมะม่วงโดยใช้หลักการตลาดที่นำการผลิต เน้นคุณภาพและบังคับให้ผลผลิตออกสู่ตลาดตามช่วงเวลาและปริมาณตามที่ตลาดต้องการ สามารถส่งผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง เป็นตลาดหลัก ซึ่งจะมีคำสั่งซื้ออย่างแน่นอนในแต่ละปีและช่วงเวลา ส่วนหนึ่งผลิตส่งให้พ่อค้าที่นำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดนัดของชุมชนใกล้เคียงซึ่งถือเป็นตลาดจร จึงทำให้ผลผลิตในแต่ละปีไม่ต้องเจอกับภาวะล้นตลาด” คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าว

ด้านคุณบุญช่วย กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตก่อนอื่นจะพิจารณาว่าตลาดอยู่ที่ไหน มีความต้องการพันธุ์อะไร คุณภาพอย่างไรและเวลาใด จากนั้นมาพิจารณาดินในแปลงปลูกว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดต้องบำรุงปรับปรุงด้วยวิธีใดบ้าง สภาพแวดล้อมจะทำให้เกิดโรคพืชชนิดใดอะไรบ้าง หากต้องใช้สารเคมีจะต้องใช้ยาให้ตรงกับโรคครั้งเดียวให้ได้ผลและอันตรายน้อยที่สุด ควบคู่กับการศึกษาสารชีวภาพว่าจะต้องใช้อะไรบ้างที่สามารถทดแทนสารเคมีได้โดยที่ผลผลิตไม่เสียหายมากนัก ส่วนปุ๋ยเคมีใช้อย่างไรให้ตรงกับความต้องการของพืช เช่น ให้สมบูรณ์ ให้ออกดอกดก และให้ผลผลิตสูง

ส่วนพื้นที่ปลูกใน 10 ไร่จะแบ่งเป็น 4 แปลง ปลูกแปลงละ 800 ต้น วางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ จำนวน 2 แปลง และมินิสปริงเกลอร์ จำนวน 2 แปลง หลุมปลูกใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีรองก้นหลุม และใช้ระบบน้ำมามีส่วนร่วมในการใช้ปุ๋ยในแปลงปลูก ใช้ระบบปุ๋ยสั่งตัดด้วยการผสมเองทำให้สามารถลดต้นทุนได้ตันละ 4,000-9,000 บาท จะมีการบำรุงดูแลรักษาต้นมะม่วงให้มีความสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ

“จากกระบวนการบำรุงรักษาตามระบบจะเกี่ยวข้องกับแผนการผลิตมะม่วงเพื่อให้มีผลผลิตออกมาทั้งปีและตรงตามที่ตลาดสั่งมาคือ ช่วงเวลาเดือนมกราคม-เมษายน จะดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยเพื่อความสมบูรณ์ช่วงเดือนเมษายนให้สารพาโคลบิวทราโซลบังคับเพื่อเตรียมการออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนทำการฉีดยาดึงช่อหรือที่เรียกกันว่าเปิดตาดอก ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน สำรวจแปลงปลูกป้องกันและดูแลรักษาทุกวัน ส่วนช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวน 1-3 รุ่น

โดยในพื้นที่ 10 ไร่ก็จะได้ผลผลิตประมาณ 20-24 ตัน ต่อปี ช่วงเก็บผลผลิตสำหรับทำมะม่วงยำ จะเก็บเมื่อมีอายุได้ 60-75 วัน เก็บเพื่อบ่มสุกจะเก็บช่วงอายุ 100-120 วัน โดยใส่ปุ๋ยหวานก่อนเก็บ 1 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 ต้นละ 300-600 กรัม จะทำให้มะม่วงหวานและน้ำหนักดี” คุณบุญช่วย กล่าว

ซึ่งการบังคับให้มะม่วงมีผลผลิตในช่วงนี้จะได้ราคาดี และการวางแผนการผลิตให้มะม่วงในสวนทั้งหมดมีผลผลิตออกหลายรุ่นทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้ซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างลูกค้าขาประจำที่นิยมบริโภคมะม่วงคุณภาพ ซึ่งต่างจากสวนที่ผลิตมะม่วงเพื่อเก็บเกี่ยวในคราวเดียวกัน ทำให้ต้องจำหน่ายมะม่วงในลักษณะขายส่งได้อย่างเดียว ซึ่งจะมีผลถึงราคาผลผลิตที่ชาวสวนมะม่วงได้รับ

สำหรับการบำรุงรักษาต้นมะม่วงให้สามารถให้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์เกิน 10 ปีนั้น คุณบุญช่วย เผยว่า ในการใส่ปุ๋ยให้เอาอายุต้นมะม่วงมาหาร 2 เช่น อายุ 3 ปี ก็จะใส่ปุ๋ยเคมีตลอดทั้งปี ที่ 1.5 กิโลกรัม แต่ถ้าต้นที่อายุ 10 ปีขึ้นไปให้ใช้ปุ๋ยไม่เกิน 5 กิโลกรัม ต่อปี ต่อต้น โดยเฉลี่ยใส่เดือนละครั้งจะดีที่สุด

“ส่วนการเก็บและบ่มมะม่วงให้เลือกเก็บลูกแก่ก่อน จากนั้นหักจุกแล้วคว่ำหัวจุกลงบนกระสอบป่านหรือหักจุกคว่ำใต้โคนต้นประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหลีกเลี่ยงการเปียกน้ำ น้ำค้าง ตอนบ่มถ้าลูกมะม่วงเปียกน้ำต้องทำให้แห้งก่อนและห้ามวางตากแดดก่อนบ่มเพราะจะทำให้ตายนึ่ง ขายไม่ได้ราคา” คุณบุญช่วย กล่าวในที่สุด

ขึ้นชื่อเรื่องอย่างนี้ หลายคนสงสัยว่า ใช่คอลัมน์ “ป่าเดียวกัน” หรือไม่…ไม่ต้องสงสัยเลย…สาวดำ…เป็นชื่อเรียกของต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่ในป่าเขาหิน ลำต้นสูงโปร่ง สะโอดสะอง ดำทะมึน เหมือนหญิงสาวที่อยู่ท่ามกลางป่าเขา…

สาวดำ เป็นไม้สกุลมะเกลือ แถบภาคใต้เรียกว่า “ไม้สาวดำ หรือไม้ขาวดำ” ตามลักษณะของต้น และเนื้อไม้ที่มีแก่นสีดำ แต่ภาษาทางการ เรียกว่า “มะพลับทอง”จากคำเล่าขาน “ต้นสาวดำ” เคยมีอยู่มากมายบนเทือกเขาบรรทัด แต่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะเนื้อไม้แข็ง มีลวดลายสวยงาม คนใต้จึงนิยมนำไปทำกรงนกเขา นกกรงหัวจุก เป็นเครื่องประดับใช้ตกแต่งบ้าน ด้ามอาวุธ ด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรี และของใช้ที่มีราคาแพง ว่ากันว่า ไม้ขนาด 8x8x20 นิ้ว ขายได้ในราคาท่อนละเกือบๆ 4,000 บาท เลยทีเดียว

ในปี 2559 ผู้เขียนมีโอกาสได้รับทุนให้ทำวิจัย “เรื่องการสำรวจและขยายพันธุ์สาวดำ” ต้องขึ้นเขาปีนเขาเป็นประจำ เนื่องจากเป็นงานสำรวจ และเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ หลังจากนั้น ไม่นานก็ได้สืบสานมาจนเป็นงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในปัจจุบัน จริงๆ แล้ว…สาวดำ ยังไม่สูญหายไปจากป่าเมืองไทย ผู้เขียนได้พบเจอตัวเป็นๆ บนเขาหินปูน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกิดของผู้เขียนเอง หลังป่ายางพาราของชาวสวนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเอกสำหรับเรื่องนี้เลยทีเดียว…เอาล่ะ…เรามารู้จัก สาวดำ กันดีกว่า เผื่อจะได้หลงรักแม่สาวดำต้นนี้เพิ่มขึ้นอีกคน..

สาวดำ (Diospyros transitoria Bakh.) หรือ มะพลับทอง อยู่ในวงศ์มะเกลือ (EBENACEAE) สกุล Diospyros (เช่น ตะโก มะพลับ มะเกลือ ฯลฯ) สาวดำเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่ สูงได้ 25-30 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ พบในป่าเขาหินปูน และที่แห้งแล้งกันดาร ไม้ป่าพวกนี้โตช้ามาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของไม้คุณภาพสูง เนื้อไม้แข็งมีสีดำ คุณภาพดี ลายสวย สาวดำ มีชื่อท้องถิ่นว่า ตานดำ มะขามโคก (จันทบุรี) น้ำผึ้ง (ปราจีนบุรี) ลำบิดใบใหญ่ (ชลบุรี) สาวดำ อีสาวดำ(นครศรีธรรมราช) หมาเหล็ก (สุราษฎร์ธานี) ฯลฯ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ฐานใบมน ปลายใบแหลม เนื้อใบหนา เกลี้ยง ดอก แยกเพศ มักออกเดี่ยว หรือเป็นช่อสั้นๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอาจอยู่ต้นเดียวกัน หรืออยู่ต่างต้นกันก็ได้ ดอกเป็นหลอดยาวโคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกจากกัน กลีบรองดอก 4-5 กลีบ กลีบดอกมีจำนวนเท่ากับกลีบรองดอก ขอบกลีบเรียงเกยซ้อนกันคล้ายกังหันลม

ดอกเพศผู้ เป็นช่อ เป็นหลอดยาวกว่าเพศเมีย กว้างประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 6 อัน ขึ้นไป

ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว กว้างประมาณ 1.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร รังไข่อยู่เหนือโคนกลีบรองดอก มี 2-12 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1-2 หน่วย ก้านชูเกสรเพศเมีย 1-6 อัน

ผล เป็นชนิดสดและอุ้มน้ำ เกลี้ยง ทรงกลมแบน ขั้วผลมีฝาหรือกลีบเลี้ยงคล้ายหมวก ซึ่งพัฒนามาจากกลีบรองดอก มีขนาดผลประมาณ 3.0-4.0 เซนติเมตร ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน ผลสุกแก่ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

ฤทธิ์ทางสมุนไพร สำหรับสาวดำนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ไม้ในวงศ์มะเกลือส่วนใหญ่ ผลดิบจะมีสรรพคุณเป็นยา เช่นมะเกลือ มะพลับ หรือตะโก นอกจากนั้น นำไปทำสีย้อมแห อวน ได้อีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจะนำไปวิจัยต่อไปในเรื่องของสีย้อมธรรมชาติ

เริ่มเดิมทีผู้เขียนสนใจ สาวดำ เพราะเป็นไม้ป่าท้องถิ่นทางภาคใต้ และท่าน บุญฤทธิ์ ภูริยากร ซึ่งในอดีตท่านเป็นนักวิชาการป่าไม้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านพันธุ์ไม้ ผู้ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้แก่ผู้เขียนหลายชนิด ท่านได้บอกไว้ว่า “ต้นสาวดำ มี 2 ชนิด คือ มะพลับทอง (Diospyros transitoria) และ พลับดง (Diospyros bejaudii) ทั้งสองชนิดนี้หากจะหา ให้ไปหาทางภาคใต้

สำหรับมะพลับทองหาได้ตั้งแต่แถวจังหวัดพังงา กระบี่ ไปจนถึงอำเภอทุ่งสง นครศรีธรรมราช ส่วนต้นพลับดงนั้นจะเป็นไม้ที่เขาใช้ทำกรงนกหัวจุกแถวสามจังหวัดภาคใต้…” น้อยคนนักที่จะรู้ว่า สาวดำ มี 2 ชนิด คือ มะพลับทอง และ พลับดง แต่

อย่างไรก็ตาม สาวดำ ก็ไม่ได้มีเฉพาะทางใต้เท่านั้น ทางภาคอีสานมีไม้เนื้อดำจำพวกตะโกอีกต้นหนึ่งคือ สาวดำอีสาน หรือ นางดำ หรือชื่อทางการก็คือ ต้นทะยิง (Diospyros oblonga ) ซึ่งจะเขียนในโอกาสต่อไป

การสำรวจต้นสาวดำในครั้งนั้น ต้องปีนเขาที่สูงชัน และมีแก่งแง่งหินที่แหลมคม แถมต้องเดินเท้าอีกนานนับชั่วโมงจึงจะถึงที่หมาย กว่าจะมาถึงได้ก็ทุลักทุเลพอสมควร การเดินทางขึ้นเขาร่างกายต้องพร้อม ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมาตอนหน้าแล้ง หน้าฝนนี่ไม่ได้เลย ฝนตกแทบทุกวัน ถ้าวันไหนฝนตกพื้นดินจะเปียก และลื่น ปีนขึ้นเขาไม่ได้ ต้องรอให้เขาแห้งก่อนสัก 2 วัน และโอกาสที่จะได้ขึ้นเขาก็น้อย เพราะฝนตกแทบทุกวัน ถึงกับต้องบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ฝนหยุดตกกันทีเดียว

ความเหนื่อยทั้งหลายหายไปอย่างปลิดทิ้ง เมื่อได้มาเจอ ต้นสาวดำ ที่ยืนตระหง่านบนขุนเขา เหมือนได้เจอขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้นสาวดำ หรือ มะพลับทอง นั้นช่างหายาก สมัยก่อนอาจมีมาก แต่ตอนนี้ถูกตัดโค่นทำลายลงไปใช้ประโยชน์จนหาแทบไม่ได้แล้วในป่าภาคใต้ มะพลับทอง เป็นต้นแยกเพศ (dioecious) เพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้นกัน ทำให้โอกาสในการกระจายพันธุ์ค่อนข้างต่ำ ต้องอยู่เป็นกลุ่มเท่านั้นจึงจะเพิ่มประชากรได้ และด้วยกลิ่นที่หอมหวานเป็นที่โปรดปรานของสัตว์ป่า นก หนู ค้างคาว และกระรอก ยิ่งทำให้โอกาสเจอผลหรือเมล็ดยากเข้าไปอีก เราจึงไม่ค่อยได้เห็นต้นสาวดำกันมากนัก…

สาวดำ เป็นไม้หายาก สถานภาพปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม หากไม่มีการอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ คงจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาวดำควรเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นถิ่นกำเนิด

สำหรับผู้เขียน สาวดำ เป็นยิ่งกว่าชีวิต สาวดำทำให้มีคนสำคัญของชีวิตมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไปปีนเขาเก็บตัวอย่างไม้ด้วยกัน อยากขอบคุณจากใจที่คอยช่วยเหลือติดตามต้นสาวดำด้วยกันมาโดยตลอด นอกจากนั้น ขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้การสำรวจในครั้งนั้นสำเร็จได้ด้วยดี จนถึงวันนี้ข้อมูลของสาวดำอยู่ในกำมือของผู้เขียนแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ รวมทั้งกล้าสาวดำน้อยๆ ด้วย (ฮาาา…)

เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้, สำนักวิชาการป่าไม้, กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ. 810 น.

แพรวพรรณ เกษมุล และ จรัสศรี นวลศรี. 2556. ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชสกุล Diospyros ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยใช้เทคนิคอาร์เอพีดี. บทความวารสารเกษตร 29 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2556. น. 207-219.

“แปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จภายใต้การดำเนินการตามโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยมีความสามารถในการจัดการบริหารตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จนสามารถสร้างรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังได้ถึงปีละ 100 ล้านบาท ต่อปี

โดยมาจากการจำหน่ายเป็นหัวมันสดประมาณ 50 ล้านบาท และอีก 50 ล้านบาทมาจากการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การจำหน่ายใบและยอดต้นมันสำปะหลัง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผสมอาหารโคนมและการทำอาหารโคนม สูตร TMP การจำหน่ายท่อนพันธุ์ การนำเหง้ามันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นถ่านเชื้อเพลิง ส่งขายไปยังประเทศเกาหลี” นายทวี มาสขาว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ตามนโยบายแปลงใหญ่มันสำปะหลัง

แปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2560 ที่ผ่านมาปัจจุบันมีสมาชิก 76 ราย มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 2,392 ไร่ และได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับเขต (เขต 1) ปี 2562 เนื่องจากเป็นแปลงใหญ่ที่มีการบริหารกลุ่มด้วยความเข้มแข็งผู้นำมีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละเพื่อชุมชน คณะกรรมการและสมาชิกมีความสามัคคีให้ความร่วมมือในการพัฒนากลุ่มและช่วยกันแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ โดยมีการประชุมไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ต่อปี มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและสมาชิกอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการกำหนดกฎระเบียบหรือข้อบังคับของกลุ่มที่เป็นลายลักษณ์อักษร

แปลงใหญ่แห่งนี้มีเงินกองทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เช่น การรับซื้อผลผลิตของสมาชิกในราคาที่สูงกว่าตลาด มีการส่งเสริมการออมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกพร้อมวางแผนด้านการผลิตและการตลาดที่ชัดเจนสอดคล้องกับศักยภาพของกลุ่ม

​“อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีในการปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้แก่ การใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่และต้านทานโรคและแมลง คือ พันธุ์ห้วยบง 90 สนับสนุนให้สมาชิกจัดระบบการปลูกพืชแบบเหลื่อมฤดู เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวในช่วงฝนตกชุก เป็นการลดความเสียหายจากการเน่าเสียของผลผลิตหัวมันสำปะหลัง และจัดระบบปลูกพืชแบบหมุนเวียน โดยปลูกมันสำปะหลังสลับกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ต้นสดและใบข้าวโพดผลิตเป็นอาหารโคนม” นายทวี กล่าว

ขณะที่ นางอนันท์ญา จันทร์น้อย ประธานและผู้จัดการแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง กล่าวว่า ในการดำเนินการที่ผ่านมาสมาชิกแปลงสามารถลดต้นทุนลงจากเดิมได้ร้อยละ 23 คือ ต้นทุนลดลง 2,140 บาท ต่อไร่ จากเดิมต้นทุน 9,483 บาท ต่อไร่ ลดลงเหลือ 7,343 บาท ต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมได้ร้อยละ 60 โดยได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ จากเดิมได้ผลผลิต 5,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 8,000 กิโลกรัม ต่อไร่

“มีการประสานความร่วมมือ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้สนับสนุนด้านการบริหารจัดการกลุ่มและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมาชิกผู้จัดการแปลงและคณะกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ กับกรมพัฒนาที่ดินในการเพิ่มเติมความรู้และแนวทางในการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตกับกรมวิชาการเกษตรในการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและการรับรองมาตรฐาน GAP กับกรมปศุสัตว์ในการแปรรูปผลผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของมันสำปะหลังโดยการผลิตอาหารโคนมที่มีคุณภาพ”

“นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในการจัดทำแปลงพันธุ์มันสำปะหลังที่ถูกหลักวิชาการ ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตอำเภอแก่งคอย ในการนำงานวิจัยมาพัฒนาสู่การปฏิบัติ ด้วยการนำเหง้ามันสำปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาทำเป็นถ่านเชื้อเพลิงด้วยเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ เพื่อช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของครัวเรือนสมาชิกแปลงใหญ่และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนสินเชื่อและการวางแผนธุรกิจของสมาชิก” นางอนันท์ญา กล่าว

​ทางด้าน นางมะยม สมบูรณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและปลูกมันสำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบนวังม่วง เผยว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมแปลงใหญ่จะใช้นวัตกรรมและนำผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการทำการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าโดยการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นมันสำปะหลัง ได้แก่ ใบและยอดมาแปรรูปโดยการหมักเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารโคนม นำหัวมันสดมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดและหัวมันหมัก ขณะที่เหง้าของต้นมันจะนำมาแปรรูปเป็นถ่านเชื้อเพลิง โดยการเผาถ่านด้วยเตาเผาแบบไร้มลพิษ

“นอกจากนี้ ยังมีการนำต้นมันสำปะหลังออกจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ปลอดโรคให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ผลิตอาหารโคนมสูตร TMR แบรนด์ชาววัง จำหน่ายให้สหกรณ์โคนม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโดยใช้ส่วนผสมหลักจากมันสำปะหลังคือ ใบ ยอด หัวมัน และมันเส้น ซึ่งอาหารโคนมสูตร TMR แบรนด์ชาววังนี้ ผู้เลี้ยงโคนมให้การตอบรับที่ดีมาก เพราะพบว่าเมื่อให้วัวกินแล้ววัวให้น้ำนมที่ดีมาก ทำให้มีน้ำนมวัวส่งขายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี” นางมะยม กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางจังหวัดสระบุรีได้สนับสนุนด้านเครื่องจักรกล โรงเรือน ลานตาก และอาคารสำนักงาน สำหรับการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มแปลงใหญ่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระบุรีสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตมันเส้นสะอาด โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วงอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการติดต่อเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ถนนผสมยางพารา ครั้งที่ 2 (2nd Edition of Seminar on Rubberized Road) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัยถนนผสมยางพารา กระตุ้นความต้องการใช้ยางในอนาคต โดยมีรัฐบาลประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะผู้แทนไทยเป็นวิทยากรบรรยายในการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำยางพารามาผสมเพื่อทำถนน เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศและยังเป็นการเพิ่มความต้องการใช้ยางในอนาคต อีกทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความคิดเห็นทางวิชาการในการนำยางพารามาใช้ในการสร้างถนน พัฒนาและต่อยอดงานวิจัยด้านถนนผสมยางพารา และที่สำคัญจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ

รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ และเป็นประเทศแรกๆ ในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาถนนผสมยางพารา ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลไทยในการนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบในการทำถนน ซึ่งมีการใช้จริงแล้วในหลายพื้นที่ในประเทศ ดังนั้น การเข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมสัมมนา และเป็นประโยชน์ต่อ กยท. ในการพัฒนาบุคลากรในสายวิชาการ อีกทั้งยังช่วยต่อยอดงานวิจัยด้านถนนผสมยางพาราในอนาคต รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนายางพารากับองค์กรระหว่างประเทศอีกด้วย

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลำพูน รวมพลังทุกภาคส่วนหยุดวิกฤตสิ่งแวดล้อม คิ๊กออฟกิจกรรม “Say Hi to Bio, Say No to Foam on tour” ครั้งแรก ผ่านกิจกรรมอบรมความรู้ภายในสาขา พร้อมเดินรณรงค์ที่ตลาดจตุจักรลำพูน ให้ผู้ประกอบการกว่า 500 ร้านค้า ไม่สั่ง ไม่ซื้อ ไม่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร อีกทั้งยังนำบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมาจัดโปรฯ แรง ขานรับวาระแห่งชาติ ขีดเส้นตายเลิกใช้โฟมปี 2565

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 1 ในเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของแม็คโครก็คือ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้ประกาศเจตนารมย์ในการหยุดจำหน่ายภาชนะโฟมบรรจุอาหารภายใต้โครงการ ‘Say Hi to Bio, Say No to Foam : แม็คโครรักษ์โลก ชวนคุณใช้ผลิตภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อม’ ใน 12 สาขาแหล่งท่องเที่ยวนำเสนอทางเลือกการใช้บรรจุภัณฑ์ให้ร้านอาหารรายย่อย และส่งเสริมการใช้ด้วยโปรโมชั่นพิเศษตลอดทั้งปี ล่าสุดต่อยอดโครงการด้วยการเปิดตัวกิจกรรม Say Hi to Bio, Say No to Foam on tour รณรงค์ผู้ประกอบการร้านค้าลดใช้โฟม โดยเลือกจังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดแรก

“กิจกรรมสัญจร Say Hi to Bio, Say No to Foam on tour เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่แม็คโคร ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในการลดเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ทำลายสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ โดยเริ่มจังหวัดแรกคือ ลำพูน เนื่องจากมีความเข้มแข็งและเป็นต้นแบบของเมืองสะอาดระดับประเทศ ซึ่งแม็คโคร สาขาลำพูน ยังเป็นสาขาที่ 13 ที่เลิกจำหน่ายโฟมบรรจุอาหารแล้ว”

สำหรับกิจกรรม เริ่มด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและพันธมิตรทางการค้าให้กับลูกค้าสมาชิกที่แม็คโคร สาขาลำพูน จากนั้นพร้อมใจกันเดินทางไปตลาดจตุจักรลำพูน เพื่อเดินรณรงค์ให้ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 500 ร้านค้า หันมาใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม นำโดย นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และ นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร ร่วมด้วย พนักงานแม็คโคร สาขาลำพูนและใกล้เคียง