ไม้พวกนี้ทำเงินให้เราไว ต้นทุนไม่มากนัก และเป็นสินค้าที่ใช้แล้ว

หมดไป เราสามารถทำมาขายได้ทั้งปี “ก็ดูดาวเรืองนี่แหละ คนซื้อไปตอนดอกตูมๆ ให้ไปบานที่บ้านหรือจุดตั้งโชว์ รดน้ำบ้าง ใส่ปุ๋ยบ้าง แต่ด้วยขนาดพื้นที่อันจำกัด รากไม้แน่นถุงหมดแล้ว เขาให้ดอกหมดก็ทิ้งต้น คนก็หาซื้อใหม่มาทดแทน เป็นแบบนี้ตลอด”

ดาวเรืองสายพันธุ์ที่พี่วโรชาปลูกก็เป็นสีเหลืองทอง ทรงดอกซ้อนเป็นพุ่มสวยงาม มีอายุตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดจนถึงให้ดอกอยู่ที่ 70 วัน เริ่มจากการเพาะเมล็ดในถาดเพาะด้วยวัสดุพีทมอสส์ รดน้ำพอชุ่ม ปักเมล็ดลงไปตามหลุมเพาะ จากนั้นนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาปิดหน้า ใช้สเปรย์พ่นน้ำให้ชุ่มกระดาษอีกครั้ง เก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 3 วัน ก็เริ่มงอก เปิดกระดาษได้ ในช่วงนี้ก็จะให้ปุ๋ยด้วยการพ่นโชยเบาๆ ด้วยสูตรเสมอ 16-16-16 และรดน้ำซ้ำ เมื่ออายุครบ 20 วัน หรือต้นมีขนาดความสูงไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร แล้วก็เด็ดยอดเอาไปชำต่อไป

การเด็ดยอดชำ เป็นการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เมล็ด โดยเราจะเลือกยอดจากต้นแม่ที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว และมีใบเลี้ยงตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไป เด็ดให้ขาดในครั้งเดียวยอดจะได้ไม่ช้ำ หรือหากเรายังมือใหม่ก็แนะนำให้ใช้มีดคมๆ ตัดไปก่อน จากนั้นนำไปปักชำในถาดชำที่ใช้วัสดุพีทมอส ปักชำไว้ในร่มไม่ให้ถูกแสงแดด วันแรกที่ปักชำให้เราใช้ยาฆ่าเชื้อราสเปรย์ที่โคนต้น เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะติดมาในช่วงที่เราเด็ดหรือตัดออกมาจากต้นแม่ ซึ่งวิธีนี้ยังใช้ได้กับการขยายพันธุ์มะเขือเทศ พริก มะเขือ โหระพา ได้อีกด้วย เรียกว่าเมล็ดเดียวสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้อีกมากมาย ที่สำคัญคือประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดและประหยัดเวลา โดยต้นใหม่ที่เราเด็ดหรือตัดมาจากต้นแม่ เมื่อปักชำแล้ว จะนับวันต่อเพื่อรอดอกได้เลย ไม่ต้องนับหนึ่งเหมือนช่วงเพาะเมล็ด เรียกว่าหากเราชำครบ 1 สัปดาห์ พอได้รากใหม่แล้ว ก็นำไปปลูกและดูแลอีกประมาณ 30-40 วัน ก็จะออกดอกสะพรั่งทุกต้นแน่นอน นี่คือข้อดีของการขยายพันธุ์ปลูกแบบนี้ รับรองออกดอกพร้อมกันสะพรั่งแน่นอน

สำหรับต้นแม่ที่ถูกเด็ดยอดไปแล้ว ก็จะให้ปุ๋ยสูตรเร่งแขนง 25-7-7 อีก 7-10 วัน เราก็เด็ดหรือตัดเอามาขยายพันธุ์ได้อีก ขอเพียงอย่าให้ต้นแม่ติดดอก หากเจอตุ่มตาดอกก็เด็ดทิ้ง ใน 1 ต้นแม่จะสร้างแขนงลูกเพื่อไปปลูกต่อได้ไม่น้อยกว่า 50 ต้นเลยทีเดียว จากนั้นก็ใช้สูตรเสมอดูแลไปจนกว่าจะออกดอก หากปลูกลงดินก็ใช้สูตรเร่งดอก 13-13-21 สัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น

สำหรับการให้น้ำต้นดาวเรืองในช่วงที่ยังไม่มีดอก ก็จะเป็นการใช้สปริงเกลอร์เป็นหลักเช้า-เย็น ไม่ต้องพรางแสงให้ออกแดดได้เต็มที่เลย ต่อเมื่อดาวเรืองเริ่มมีดอก การให้น้ำจะต้องให้ที่โคนต้นเท่านั้น จะรดน้ำไม่ให้โดนช่อดอก เพราะจะทำให้มีน้ำขังในดอก ทำให้ดอกเน่าและลามไปสู่ต้นอื่นๆ ได้

รายได้ในการปลูกดาวเรืองในถุง หากจำหน่ายทั่วไปก็จะมีราคาตั้งแต่ 20-35 บาท แต่ที่สำคัญ นอกจากขายขาดแล้ว ดาวเรืองในถุงยังมีการให้เช่าไปวางประดับงานต่างๆ ด้วย คิดราคาค่าเช่า ดูแล รับ-ส่งอยู่ที่ถุงละ 10 บาท ซึ่งแต่ละงานก็ใช้ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันต้นก็มี เมื่อมีดอกมากๆ ส่วนหนึ่งก็ยังตัดขายให้แม่ค้าพวงมาลัยหารายได้อีกด้วย ตกดอกละ 1 บาท เรียกว่าในแค่วงจรชีวิตหนึ่งของดาวเรืองก็สร้างเงิน สร้างงานให้กับเกษตรกรและชุมชนได้ไม่น้อย

“ที่นี่จะรับเด็กมาเป็นลูกมือด้วยครับ ช่วงปิดเทอมแบบนี้เด็กๆ ก็มากรอกดินลงถุง ปักชำดาวเรือง รดน้ำ ให้ปุ๋ย เรียกว่าให้เด็กมาเรียนรู้ครบวงจร แถมมีรายได้ในช่วงปิดเทอมได้อีกด้วย”

“เหมือนว่าสวนวโรชาเปลี่ยนไป”

“ไม่เปลี่ยนครับ ยังเหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้น”

“ที่นี่ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้อยู่ไหมครับ”

“เปิดครับ ที่นี่เราเปิดอบรมทั้งปลูกมะนาว ดาวเรือง การทำอาหารไทย ญี่ปุ่น ตอนนี้ก็เปิดเป็นฟาร์มสเตย์ด้วย แนะนำให้พาครอบครัวมาพักผ่อนเรียนรู้ที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ มาไหว้พระใหญ่ที่วัดม่วงได้อีกด้วยครับ”

“ผลผลิตจากสวนยังมีจำหน่ายไหมครับพี่”

บรรยากาศเย็นสบาย น่าพาครอบครัวไปพักผ่อนเรียนรู้
“ก็ยังมีครับ มะนาว ดาวเรือง ไม้ถุงต่างๆ หรือเสาร์-อาทิตย์จะมาพักผ่อนรับประทานอาหารอร่อยๆ ทั้งอาหารไทย อาหารญี่ปุ่นที่นี่ก็มีพร้อมครับ รับรองรสชาติอร่อย ราคาเบาๆ”

“ติดต่อพี่ได้ทางไหนครับ”

“โทร.มาล่วงหน้าได้ครับ (092) 412-3167 ยินดีต้อนรับทุกท่าน ยิ่งหากติดหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้มาด้วย ผมลดราคาให้พิเศษเลย ถือว่าคอเดียวกัน”

“ขอบคุณครับ”

ผมกลับบ้านพร้อมมะนาวแป้นวโรชาในถุงชำ 2 ต้น ไม่ไหว ช่วงหน้าแล้งคราใดมะนาวราคาพุ่งไปลูกละเกือบ 10 บาททุกที ต้องปลูกไว้กินเองบ้างแล้ว อ้อ! งานนี้ผมจะปลูกดาวเรืองไว้รองานพระราชพิธีด้วยเลยครับ ขอบคุณทุกท่านครับ

การปลูกต้นขนุนในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ทิศหรดี โดยมีความเชื่อกันว่า จะหนุนให้ผู้ปลูกนั้นมีบุญบารมี เงินทองไหลมาเทมา จะมีคนเกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล (แก้ว) นำมาซ้อนกัน แล้วนำไปไว้ในยุ้งข้าว ตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปี และตลอดไป

ทั้งนี้ ยังมีต้นไม้มงคลที่คนไทยนิยมปลูกในบ้านตามคติความเชื่อ โดยทั่วๆ ไป หน้าบ้านจะปลูก มะยม เอาชื่อเป็นเคล็ดว่า จะเป็นที่นิยมของคนอื่นเขา บางบ้านปลูก มะขาม เอาชื่อเป็นเคล็ดถึงความเกรงขาม หลังบ้านปลูก ขนุน บางบ้านปลูก มะดัน ก็เอาเคล็ดอีกว่า จะมีคนเกื้อหนุน ผลักดันให้เจริญก้าวหน้า และยังเชื่อกันว่า การปลูกขนุนจะให้ดีนั้น ต้องปลูกทุกบ้าน นอกจากความเชื่อตามโบราณแล้ว ยังสามารถนำมากินเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี

การพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรโครงการหนึ่งของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.เลย ที่ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างมาก คือ โครงการเพาะขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณ

โครงการนี้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธ.ค. 2554 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเลย (พืชสวน) จึงได้ดำเนินการผลิต และขยายพันธุ์ ไม้ผลพันธุ์ดี โดยเฉพาะ ขนุนพระราชทาน พันธุ์ไพศาลทักษิณ

ที่มาขนุนมหามงคล
“ไพศาลทักษิณ”
ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ เดิมขนุนพันธุ์นี้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต้นมีอายุมากแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตอยู่

ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 “กษัตริย์เกษตร” ที่ได้ปลูกพืชพันธุ์มหามงคล เพราะมีการขยายพันธุ์เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เมื่อปี 2534

ขนุนต้นดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกขานกันต่อมาว่าพันธุ์ไพศาลทักษิณ เนื่องจากตำแหน่งที่ขนุนต้นนี้ขึ้นอยู่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จึงคงความสำคัญ

ในพิธีสรงน้ำพระพุทธมนต์หลังพระราชพิธีต่างๆ และทรงหลั่งทักษิโณทกแล้ว ชาวพนักงานราชพิธีสงฆ์นำน้ำหลังพิธีมาเททานราดที่โคนขนุนต้นนี้ พระราชพิธีสำคัญนี้ยังคงดำรงต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นับได้ว่าขนุนไพศาลทักษิณเสมือนเอกลักษณ์คู่พระราชฐาน ตามคติโบราณนิยม ที่ปลูกต้นไม้ไว้เป็นมงคลแห่งสุขสถาน ให้ปลูกขนุนหลังนิวาสสถานบ้านเรือน เพื่อหนุนเนื่องด้วยบุญวาสนา ปราศจากทุกข์ ถือเป็นคติประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้จะมีอายุมากคือ 140 ปีเศษ แต่ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณยังให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2535 ให้ผลผลิตถึง 36 ผล ลักษณะของผลทรงเกือบกลม ขนาดเท่ากระออมน้ำ ผิวเหลืองทอง หนามเล็ก เปลือกบาง ยางน้อย ไส้เล็ก ซังซ้อนห่าง ยวงสีเหลือง รสหวาน เป็นเอกรสไอศวรรย์ ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การกระจายพันธุ์ของขนุนสายพันธุ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2534 กองทัพบก โดยศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศชร.) ได้ขอพระราชทานพันธุ์ เพื่อนำออกปลูกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา12 สิงหาคม 2535โดยการเผยแพร่พันธุ์สู่แต่ละจังหวัด จำนวน 999,999 ต้น แบ่งแล้วทั่วประเทศจะได้ประมาณจังหวัดละ 1,200 ต้น

การขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณของทางศูนย์ ใช้วิธีการทาบกิ่ง คนงานภายในศูนย์ช่วยกันทาบกิ่งพันธุ์ทั้ง 10 ต้น ประมาณ 45-50 วัน ก็สามารถนำย้ายลงถุงปลูกได้แล้ว หลังจากนั้น นำมาอนุบาลให้รากงอกเต็มถุง อีกประมาณ 20-30 วัน จึงนำออกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้

วิธีการปลูกต้นขนุน เหมือนกับการปลูกต้นไม้ทั่วไป เพียงแต่ต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่า เพราะเป็นพันธุ์ที่หายาก

เริ่มจากการขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือมูลวัวรองไว้ก้นหลุม นำต้นขนุนออกจากถุงเพาะชำ ปลูกลงไปในหลุม แล้วนำดินผสมปุ๋ยอินทรีย์กลบลงไป หลังจากนั้น ใช้หญ้าแห้งหรือฟางแห้งโรยรอบๆ ต้นขนุน หนาประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้ดินแห้ง หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม

หากลำต้นขนุนสูง ควรที่ใช้ไม้ปักทำเป็นหลักแล้วใช้เชือกยึดไว้ให้แน่นกันลมพัดลำต้นหัก ควรที่จะรดน้ำเช้าเย็น รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่ถึงกับแฉะ ประมาณ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 1/1 ขุดแซะรอบๆ ทรงพุ่ม ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยที่เตรียมไว้ในหลุมที่ขุด เสร็จแล้วกลบหลุมขุด แล้วรดน้ำให้ชุ่มเพื่อปุ๋ยจะได้ละลาย รากจะได้ดูดซึมไปใช้งานในการบำรุงต้นให้แข็งแรงและเจริญเติบโต

ลักษณะประจำพันธุ์
การติดผล ผลมักติดมากกว่า 1 ผล ต่อก้าน ช่อดอกหรือติดผลเป็นพวง ลักษณะผล ผลเกือบกลม ส่วนของผลบริเวณขั้วผลมักบุ๋ม ผลใหญ่ หนักประมาณ 5 กิโลกรัม/ผล ผิวเปลือกผลเป็นสีเหลืองทอง หนามเล็ก เปลือกบาง ยางน้อย เนื้อยวง ขนาดปานกลาง ทรงค่อนข้างยาว เนื้อยวงสีเหลือง สวยงาม มีรสหวานจัด มีความหวานถึง 21 องศาบริกซ์ รสอร่อย มีกลิ่นหอม ไส้เล็ก มีซังน้อย มีขนาดเล็ก

ส้มโอ เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ปลูกมากในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ส่วนส้มโอพันธุ์เนื้อแดงที่มีความแปลกใหม่ของ จังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบโดย รศ.ดร.สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อยกย่องส้มโอเนื้อแดงให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์เด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงตั้งชื่อใหม่ว่า “ส้มโอมณีอีสาน”

ส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบใน โครงการวิจัยระบบการผลิตส้มโอคุณภาพดีและสร้างอัตลักษณ์ของส้มโอจังหวัดชัยภูมิ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ ส้มโอพันธุ์ใหม่นี้ กลายเป็นของดีประจำจังหวัดชัยภูมิและเพิ่มมูลค่าทางตลาดแก่เกษตรกรชาวสวนส้มโอ
ตั้งแต่ปี 2550-2560

คณะนักวิจัย ภายใต้การนำของ รศ.ดร.สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยส้มโอพันธุ์ทองดีซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีลักษณะเด่นทั้งเปลือกบาง เนื้อมีรสหวานฉ่ำ คุณภาพเกรดส่งออก เมื่อศึกษารายละเอียดในแต่ละช่วงการผลิต พบว่า ส้มโอชัยภูมิมีคุณภาพใกล้เคียงกับส้มโอพันธุ์ทองดีจากแหล่งปลูกอื่น แต่กลับขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า

ต่อมาคณะนักวิจัยได้ค้นพบส้มโอพันธุ์เนื้อแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ชาวบ้านได้นำต้นกล้ามาปลูกแล้วกลายพันธุ์ ลักษณะเด่นของส้มโอพันธุ์นี้ คือเนื้อส้มโอมีสีแดงเข้ม เนื้อแน่น ไม่แฉะ เนื้อส้มโอที่เรียกว่า “กุ้ง” มีลักษณะตรงยาวเรียงตัวเป็นระเบียบ การค้นพบส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ ทำให้คณะนักวิจัยสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เรื่อง “ส้มโอพันธุ์เนื้อแดง” ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว ให้กลายเป็นส้มโอรสอร่อย ที่มีศักยภาพเชิงการค้าในอนาคต

คณะวิจัยได้ศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์เด่นของส้มโอเนื้อแดง ในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาของต้น ใบและผล พบว่า ส้มโอเนื้อแดง มีรสชาติหลากหลาย ตั้งแต่ เปรี้ยว เปรี้ยวอมหวาน หวาน และหวานมากผลส้มโอในระยะเก็บเกี่ยวมีสีเนื้อผลถึง 5 กลุ่มคือ ขาว เหลือง ชมพู แดงส้มและแดง ค่าความหวานเฉลี่ย 7-11 องศาบริกซ์ ค่าความเปรี้ยว ร้อยละ 0.4-1.0

คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลการปลูกส้มโอเนื้อแดง สายพันธุ์พื้นเมือง ของ คุณเสมียน นราพล เจ้าของสวนส้มโอในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ 4 ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ พบว่า ส้มโอเนื้อแดงจากแหล่งนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ จนได้ส้มโอพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นดังนี้ คือ ผลสุกมีเปลือกเป็นสีทอง เปลือกในอมชมพู เนื้อสีแดงเข้มสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีเมล็ดมาก อายุการเก็บเกี่ยวผลช้ากว่าส้มโอพันธุ์ทองดีประมาณ 15 วัน คณะวิจัยได้เก็บสายพันธุ์ส้มโอแดงทั้ง 22 ต้น เพื่อนำไปใช้เป็นพันธุ์ต้นแบบในแปลงเกษตรกร มีการใช้เทคโนโลยีการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเนื้อสีแดง ปลูกดูแลต้นส้มโอจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงมุ่งศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ส้มโอเนื้อสีแดง การสร้างพันธุ์ส้มโอลูกผสม การระบุความจำเพาะของสายพันธุ์ แปลงรวบรวมพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนและการเปลี่ยนยอด รวมทั้งนำเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ เช่น การควบคุมปริมาณน้ำ การจัดการธาตุอาหาร ฯลฯ มาใช้ปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มรสหวานให้กับส้มโอเนื้อแดง ให้มีรสชาติจัดจ้านมากขึ้น

เพื่อตอบสนองกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ คณะนักวิจัย มีเป้าหมายศึกษาวิจัยด้านโภชนาการเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสีแดงเข้มของเนื้อส้มโอ ซึ่งเป็นสารแอนโทไซยานิน ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองอุดตัน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ส้มโอเนื้อแดงของจังหวัดชัยภูมิให้มีความโดดเด่น เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอพันธุ์เนื้อแดง มีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองรสอร่อย ของ “บ้านบุ่งสิบสี่”

บ้านบุ่งสิบสี่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ เกษตรกรทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน เพราะภูมิประเทศบ้านบุ่งสิบสี่ ไม่เหมาะกับการทำนา ชาวบ้านจึงหันมาปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติอร่อยและได้ผลผลิตที่ดี จึงนำส้มโอไปแลกข้าว เกิดเป็นตำนานส้มโอแลกข้าวของท้องถิ่นแห่งนี้

คุณอัครวิทย์ หมื่นกุล ผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ เคยให้ข่าวเกี่ยวกับส้มโอสายพันธุ์ดั้งเดิมของบ้านบุ่งสิบสี่ ว่า ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่มีรสชาติดีไม่แพ้ที่ใดเลย นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีความหอมเหมือนมะนาวเมล่อน บางต้นมีเปลือกบางและปอกเปลือกได้ง่ายอีกด้วยเช่น ขาวหอม ขาวหล่อน (ขาวจัมโบ้) ฯลฯ.

ส้มโอพื้นเมืองบางต้น มีอายุไม่น้อยกว่า 150 ปี ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง จะมีกุ้ง 2 สี หากมีสีแดงจะเรียกว่า แดงและต่อท้ายตามตำแหน่งที่เกิด เช่น แดงภูคิ้ง แดงโรงสี แดงผาพัง หรืออื่นๆ หากส้มโอมีเนื้อสีขาวจะใส่คำว่า หอม ลงไป

ต่อมา หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่บุ่งสิบสี่ ปลูกส้มโอสายพันธุ์ส่งเสริม เช่น ทองดี ขาวแตงกวา ฯลฯ เป็นต้น ส่งผลให้ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มถูกตัดโค่นต้นทิ้งเนื่องจากพันธุ์พื้นเมืองมีขนาดลำต้นและทรงพุ่มขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะส้มโอพันธุ์พื้นเมืองมีความหลากหลายแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสายพันธุ์การค้าอื่นๆ จึงอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายหมดไป

ปัจจุบัน “บ้านบุ่งสิบสี่” นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอสำคัญของพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกส้มโอขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 600 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เป็นหลัก ส่วน “มณีอีสาน” ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง เพิ่งได้รับการโปรโมทให้เป็นพืชเศรษฐกิจของท้องถิ่นยังมีพื้นที่ปลูกยังไม่มาก เพราะเพิ่งเป็นที่รู้จักในช่วง 1-2 ปีหลังนี้เอง

สวนส้มโอในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสวนที่ถูกล้อมรอบด้วยลำน้ำพรมตอนต้น บางรายนิยมปลูกส้มโอในสวนหลังบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะคล้ายเกาะที่มีน้ำโอบรอบ ทำให้การปลูกและดูแลรักษาเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมีสภาพดินและความชื้นเหมาะสม บ้านบุ่งสิบสี่ นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี และส้มโอพื้นเมืองที่มีรสชาติอร่อย ราคาไม่แพงและมีผลผลิตให้ชิมได้ทั้งปี ทุกฤดูกาล

พื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีภูมิประเทศที่สวยงามเพราะอยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกระมัง) มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถแวะมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล

แหล่งปลูก “ส้มโอมณีอีสาน”

ช่วงปี 2546-2547 สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินโครงการ ปรับระบบเพื่อพัฒนาระบบการผลิต (คปร.) โดยนำส้มโอพันธุ์ดี เช่น ส้มโอทองดี ส้มโอขาวแตงกวา ฯลฯ มาส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านบุ่งสิบสี่ ได้นำมาปลูก และขยายพันธุ์ ต่อมาส้มโอที่นำมาส่งเสริมให้ปลูกเกิดการกลายพันธุ์ กลายเป็นส้มโอเนื้อแดงที่มีลักษณะโดดเด่น และถูกเรียกว่า ส้มโอมณีอีสานนั่นเอง

ปัจจุบัน ตำบลโนนทอง มี 14 หมู่บ้าน ซึ่งแหล่งปลูกส้มโอส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ บ้านเล่า บ้านริมพรม บ้านโนนหนองไฮ ทางกรมฯ ได้จัดงบประมาณเงินกู้จำนวน 10 ล้านบาท ให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงสวนส้มโอเข้าสู่ระบบส้มโอแปลงใหญ่ต่อไป โดยมีเกษตรกรเข้าสู่โครงการส้มโอแปลงใหญ่แล้ว จำนวน 151 ราย พื้นที่ปลูกส้มโอรวมทั้งสิ้น 624 ไร่

คุณเสมียน นราพล เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโอมณีอีสาน Royal Online ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ 4 ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ โทร. 087-278-5617 กล่าวว่า ปัจจุบัน คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ใช้สวนส้มโอของผมเป็นแปลงรวบรวมพันธุ์ส้มโอมณีอีสาน รวมทั้งศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตควบคู่กันไป

คุณเสมียน ทำสวนส้มโอเนื้อที่ ประมาณ 14-15 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นหลัก และปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละ 500,000 บาท สำหรับส้มโอเนื้อแดง ที่เรียกว่า ส้มโอมณีอีสาน ที่คณะวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นค้นพบในสวนแห่งนี้ มีจำนวน 22 ต้น ปลูกดูแลง่าย เช่นเดียวกับส้มโอพันธุ์ทั่วไป หลังจากเปิดตัวส้มโอมณีอีสานสู่สาธารณชนเมื่อปี 2557 คุณเสมียนผลิตกิ่งพันธุ์เสียบยอดออกขายผ่านเฟซบุ๊ก ในราคากิ่งละ 350 บาท ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศแล้วกว่า 400 ต้น

“ส้มโอมณีอีสานพันธุ์แท้ มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นหอมตั้งแต่เปลือกจนถึงเนื้อส้มโอ หลังเก็บเกี่ยว สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานถึง 40 กว่าวันโดยรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ส้มโอมณีอีสาน เป็นที่ชื่นชอบของแมลงวันทองมาก จึงต้องห่อผล ป้องกันผลผลิต ที่ผ่านมา พยายามแขวนขวดดักแมลงวันทอง แต่ล่อได้เฉพาะตัวผู้เท่านั้น ตัวเมียไม่เข้ามาติดกับดัก ผมฝากการบ้านให้คณะวิจัย ช่วยหาวิธีป้องกันแมลงวันทองในสวนส้มโอมณีอีสานด้วย” คุณเสมียน กล่าว

สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ที่สนใจอยากปลูกส้มโอมณีอีสาน คุณเสมียน แนะนำให้ขุดหลุมปลูกลึก 25 ซม. ปลูกในระยะห่าง 8X8 เมตร โดยปลูกขวางตะวัน เพื่อให้ต้นส้มโอได้รับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งวางแปลนปลูกแบบซิกแซ็กสลับต้น เพื่อไม่ให้กิ่งชนกัน ป้องกันการแย่งอาหารกันเมื่อต้นส้มโอโต

ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ระวังอย่าให้น้ำมาก เพราะต้นส้มโอไม่ชอบน้ำขัง หลังปลูกควรให้ปุ๋ยยูเรีย สัก 1 ช้อนชา แค่เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อต้นส้มโออายุ 1 ปี ค่อยเปลี่ยนมาให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบต้นสักเดือนละ 1 ครั้ง ต้นส้มโอมณีอีสานที่ปลูกด้วยกิ่งพันธุ์เสียบยอด จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 5 ปี ขึ้นไป คุณเสมียนจะคอยดูแลตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอหลังเก็บเกี่ยวและใส่ปุ๋ยไม่มากแต่ให้บ่อยๆ ทุกเดือน เพื่อให้ส้มโอมณีอีสานมีผลผลิตตลอดทั้งปี เฉลี่ย 30 ผล/ต้น/เดือน เมื่อส้มโอมณีอีสานมีอายุมากก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามลำดับ