แต่หลังจากเปิดช่องให้นำเข้าทั้งข้าวสาลี และข้าวบาร์เล่ย์

ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดฤดูกาลใหม่ และอาจลามไปยังวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นด้วยวงการค้าข้าวระบุว่า ขณะนี้ราคารำข้าวปรับลดลง กก.ละ 1-2 บาท เพราะขายอาหารสัตว์ไม่ได้ และจากภาพรวมการส่งออกข้าวช่วงนี้ชะลอตัว และฝนตกชุกทำให้ขนส่งข้าวลงเรือไม่ได้ ขณะที่มันสำปะหลังก็เช่นเดียวกัน ยอดส่งออกลดลง 14% ในช่วง 5 เดือนแรก ทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวลดลงเช่นกัน

ประเด็นนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาแบบไม่เบ็ดเสร็จของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดต้องย้อนกลับมาแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ออกมาตรการเสริมให้เกษตรกรอีกรอบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำในขณะนี้ว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้เข้าหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยส่งสัญญาณมาตลอดถึงภาวะการส่งออก อาจเจอปัญหาแข่งขันไม่ได้กับประเทศผู้ผลิตและส่งออกสับปะรดแปรรูปรายใหญ่ อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในการส่งออกตลาดโลก รวมถึงไปสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งปีนี้อินโดนีเซีย มีผลผลิตสูงทุกปี 300% และ อียู ยังไม่ตัดการให้สิทธิทางภาษี (จีเอสพี) จึงเสียภาษีนำเข้า อียูต่ำกว่าไทย 3.5% ขณะที่ฟิลิปปินส์ ยังได้ จีเอสพีพลัส ภาษีนำเข้าถึงต่ำกว่าไทย 18.5%

ขณะที่ผู้ส่งออกไทยยังเจอปัญหาต้นทุนกระป๋องและค่าแรงงานสูง เงินบาทแข็งค่ากว่าปีก่อน 2-3 บาท ทำให้การกำหนดราคาส่งออกสูงกว่า 2 ประเทศนี้มาก และสมาคมยังไม่ได้รับการประสานให้เข้าหารือแก้ปัญหาสับปะรดกับหน่วยงานใด

สำหรับตลาดส่งออกนั้น ยังส่งออกได้ แต่ปริมาณจะไม่สูงกว่าปีก่อน ในส่วนการรับซื้่อผลสับปะรดสด นั้น ทุกโรงงานผู้ผลิตได้มีการทำสัญญารับซื้ออยู่แล้วแม้ว่ากำลังผลิตจะเต็มก็ต้องรับซื้อตามสัญญาที่ทำไว้ ส่วนสับปะรดที่ล้นเป็นปัญหาคือ เกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เมื่อผลผลิตดีกว่าปกติ และโรงงานไม่อาจรับซื้อรายที่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ จึงเกิดปัญหาราคาตกต่ำ

ที่มีการร้องขอให้ผลักดันการส่งออกเพิ่มเติมนั้น จากภาวะแข่งขันด้านราคาตลาดโลกสูง คงไม่ใช่เรื่องง่าย และโดยปกติเมื่อสับปะรดเกิดปัญหาก็จะใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ข้อเสนอในการแก้ปัญหาและรองรับฤดูกาลใหม่ต่อรัฐบาล คือ ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพื่อให้รับรู้ผลผลิตที่แท้จริง 100% เพื่อนำมาวางแผนขายและส่งออกให้ได้พอดี

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาประชากรลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของ จ.สตูล ยังคงสร้างความรำคาญและความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวสวน โดยเฉพาะสวนทุเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงนี้ผลไม้จำพวกทุเรียนในพื้นที่ จ.สตูล กำลังใกล้จะเก็บผลผลิตออกจำหน่ายในช่วงอีกเดือนเดียวเกษตรกรก็จะมีรายได้จากการนำทุเรียน หมอนทอง และชะนี ทุเรียนบ้าน ออกจำหน่าย แต่หลายสวนในพื้นที่ จ.สตูล อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง กำลังประสบปัญหาลิงก่อกวนเด็ดลูกทุเรียนนับร้อยทิ้งใต้โค่นต้น ทั้งลูกเล็ก ลูกใหญ่ ขนาดน้ำหนักร่วม 5-7 กิโลกรัม ก็มี

เหมือนอย่างของเกษตรกรรายนี้ ในสวนทุเรียนหมอนทองและสวนทุเรียนบ้าน ของ นายแอ หลังยาหน่าย อายุ 64 ปี เจ้าของสวนทุเรียนพื้นที่ 20 กว่าไร่ ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มีผู้สื่อข่าวลงดูสภาพร่องรอยฝีมือของลิงที่มาครั้งเป็นฝูง จากเมื่อก่อน 9-10 ตัว แต่เดี๋ยวนี้มาครั้งละเกือบ 100 ตัว เด็ดลูกที่ใกล้จะสุกลงมากองไว้เต็มโคนต้น จากนั้นทิ้งไว้สักพัก 2-3 วัน ก็จะกลับมาฉีกกินทุเรียน โดยคลายเม็ดและทิ้งเปลือกไว้ดูต่างหน้า สร้างความปวดร้าวใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

ด้าน นายแอ หลังยาหน่าย เจ้าของสวนทุเรียน กล่าวว่า วอนขอทางจังหวัดสตูลจัดการปัญหากับลิงที่ลงมาก่อกวนชาวบ้านให้ที ทุกๆ ปี พอฤดูทุเรียนมาถึงออกลูกแต่มิได้อยู่ถึงเก็บไปขายเลย เพราะลิงมาก่อกวนทำลายไป บางทีนั่งเฝ้าก็ยังไม่สามารถปรามลิงเหล่านี้ได้

เจ้าของสวนทุเรียนกล่าวอีกว่า แม้ภาครัฐจะมีการหารือในการแก้ปัญหาจังหวัดที่มีลิงก่อกวน ก็ขอให้ทำให้ได้จริงๆ เพราะสวนทุเรียนปลูกมาเพื่อขายสร้างอาชีพ แต่ลิงมาทำลายแบบนี้ เราจะเอาที่ไหนทำมาค้าขาย เป็นแบบนี้ทุกๆ ปี และปีนี้หนักสุดจริง ลูกเล็กๆ ลูกใหญ่ ที่กำลังจะได้ขายแต่ถูกลิงทำลายจนหมด และมีเกษตรกรบางคนยอมที่จะโค่นต้นทุเรียนและหันกลับไปปลูกยางพาราเหมือนเดิม แม้ราคาจะตกต่ำ เพราะไม่สามารถสู้แก้ปัญหาลิงได้ ทั้งที่ราคาทุเรียนในปีนี้ดี ปัจจุบันราคาทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-160 บาท และทุเรียนสายพันธุ์ชะนีอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 ถึง 110 บาท

การค้นหานักฟุตบอลทีมหมูป่า รวม 13 คน ที่เข้าไปติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ ล่าสุดการค้นหาผ่านมาแล้วกว่า 24 ชั่วโมง ก็ยังไร้วี่แววของทั้ง 13 ชีวิต โดย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับร้อยนาย เข้าค้นหาผู้สูญหายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางบรรดาผู้ปกครองและญาติของผู้สูญหายมารอด้วยความโศกเศร้า

ที่ได้มาร่วมกันทำพิธีตามความเชื่อด้วยการไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ประจำถ้ำและตีกลองตามความเชื่อแต่โบราณ รวมทั้งนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี ขอเจ้าแม่นางนอนให้ปกปักษ์รักษาทั้ง 13 คน ให้ปลอดภัย และให้ค้นหาทั้ง 13 คน พบโดยเร็ว ซึ่งการค้นหาของนักประดาน้ำตลอดทั้งวันที่ผ่านมาแม้ฝนจะไม่ตกแต่ปัญหาอุปสรรคในการค้นหาคือ น้ำในถ้ำยังสูงและมีสีขุ่นมองไม่เห็นและด้วยความยาวของถ้ำกว่า 6 กิโลเมตร และมีหินงอกหินย้อยบางช่วงแคบมาก อากาศภายในถ้ำมีน้อยและปัญหาความมืดทำให้การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก

สำหรับ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ความสูงจากระดับนำ้ทะเลปานกลาง 453.00 เมตร หน่วยงานที่รับผิดชอบ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอนลักษณะเด่นของพื้นที่/ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมาก ภายในถ้ำจะพบกับความงามของเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ และถ้ำลอด ถ้ำหลวง ยังรอคอยความท้าทายการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วย พบกับอุปสรรคความยากลำบากภายในถ้ำและยังมีถ้ำเล็กๆ อีก 3 แห่ง ในบริเวณเดียวกัน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ ประกอบไปด้วยชั้นหินปูน หมวดหินราชบุรี (Ratburi Group) ที่เกิดอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ต่อยุคเพอร์เมียน (Permian) ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 345-230 ล้านปี หินที่พบมีทั้งหินปูน (Limesmtone) และหินอ่อน (Marble) สีเทาถึงเทาดำ มีซากบรรพชีวิน (Fossil) สลับด้วยหินดินดาน (Shale) สีเทา

ขณะที่ สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูล ระบุว่า เป็นประเภทของถ้ำเขาหลวงเป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว อยู่ในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (Carboniferous-Permian: CP)

หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน (Limestone) หินอ่อน (Marble) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 270-320 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 433 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ จนถึงเส้นทางเดินลำบาก ซึ่งการสำรวจ สำรวจจนสิ้นสุดห้องลับแล เนื่องจากทางที่จะไปโถงอื่น ๆ นั้นลำบากมาก แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน ม่านเบคอน ผลึกแร่แปรงล้างขวด หลอดโซดา และตะกอนภายในถ้ำ

ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนดินเหนียว หาดทราย พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่นปัจจุบัน (Ripple Mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis) และการแตกออกของผนัง

สำหรับสถิตินักท่องเที่ยว ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ถ้ำถูกปิด จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาที่ถ้ำหลวง จะมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน โดยในส่วนสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อยู่ในท้องที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ กรมป่าไม้ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 โดยหน่วยงานที่ดูแลหลักคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยให้ข้อมูลในเว็บไซต์ไว้ว่า ถ้ำหลวง จะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำซึ่งจะไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่า นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาจเนื่องมาจากภายในถ้ำค่อนข้างเปียกชื้น และทางวนอุทยานฯ ไม่ได้มีการติดตั้งแสงไฟส่องสว่าง นักท่องเที่ยวต้องยืมหรือเช่าไฟฉายจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

รวมทั้งถ้ำหลวงอาจไม่ใช่ลักษณะถ้ำที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทย แต่อาจมีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย ดังนั้น ป้ายแสดงเส้นทาง หรือบอกรายละเอียดภายในถ้ำมีบ้างแต่ค่อนข้างชำรุด เนื่องจากถ้ำหลวงมีเพียงบริเวณโถงตรงปากถ้ำและโถงทางด้านขวามือเป็นถ้ำเกือบตาย คือ หินย้อยและหินงอกอาจไม่มีการเกิดแล้ว (หยุดการเติบโตแล้ว) แต่พื้นที่ถ้ำส่วนใหญ่ยัง active คือ มีการไหลผ่านของน้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่ต้องมีการปิดถ้ำ นอกจาก นี้ ในช่วงฤดูแล้งภายในถ้ำยังมีความชื้นสูง จะเห็นได้จากหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามผนังถ้ำ และตามหินย้อยต่างๆ ก็มีหยดน้ำเกาะอยู่มากมาย ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมตามลำพัง และไม่มีข้อห้าม เส้นทางเดินที่ไม่ชัดเจน หรือไม่มีเครื่องกีดขวางบางส่วนในพื้นที่ถ้ำที่ค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่เปราะบาง การเกิดของหินงอก-หินย้อยต่างๆ อาจได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรหลายรายเริ่มประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์ ทำให้ต้นข้าวที่เพิ่งเจริญเติบโต ต้องยืนต้นตายไปแล้วหลายร้อยไร่ ส่วนน้ำที่อยู่ในบ่อน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำ ไม่ได้มีน้ำที่เพียงพอต่อการใช้งาน มีระดับน้ำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

จากการตรวจสอบอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม ตำบลหนองแจ้งใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบว่าปริมาณน้ำกักเก็บลดลงเป็นอย่างมาก จึงได้สอบถามพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า ฝนไม่ได้ตกลงมา เป็นเวลาหลายวันแล้ว ถ้าตกก็ตกในปริมาณที่ไม่มากพอจะสามารถเติมน้ำเข้าอ่างได้ และเกษตรกรยังต้องใช้การสูบน้ำผันน้ำเข้าสู่นาข้าวเพื่อไม่ให้ข้าวยืนต้นตาย

นายกิตติศักดิ์ ฉิพิมาย อายุ 38 ปี ชาวบ้านบ้านเปลาะปลอ ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกอบอาชีพหาของป่าตามฤดูกาลขาย เปิดเผยว่า ปกติจะมาหาสายบัวที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นประจำ แต่ปีนี้ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะปริมาณน้ำที่ลดลง ทำให้สายบัวที่ได้เส้นค่อนข้างสั้น เนื่องจากสายบัวจะยาวตามผิวน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อน้ำตื้นสายบัวเลยสั้นตาม เมื่อนำมาตัดเป็นท่อนๆ จะทำให้ได้ปริมาณไม่เยอะเท่าที่ควร ซึ่งจากเดิมในแต่ละวันจะหาได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม แต่วันนี้หาได้เพียง 40 กิโลกรัม ซึ่งหายไปค่อนข้างเยอะทีเดียว โดยสายบัวที่ได้จะนำไปขายที่ตลาดประปาในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา ในกิโลกรัมล่ะ 20 บาท ซึ่งการที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงขนาดนี้ ทำให้รายได้ของตนลดลงไปมากทีเดียว

นายฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด หรือ ข้าวตราฉัตร เปิดเผยว่า ครึ่งหลังปี 2561 ซีพี เอนเตอร์เทรด จะผลักดันให้ส่งออกมากขึ้น โดยจะมุ่งเจาะตลาดค้าปลีก โมเดิร์นเทรดรายใหญ่ ในตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) เช่น วอล์มาร์ท แซมส์คลับ ที่ผู้บริโภคต่างชาติให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า จากเดิมที่การส่งออกของข้าวตราฉัตรจะมุ่งในตลาดคนเอเชียเป็นหลัก โดยข้าวหอมมะลิที่วางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดเหล่านี้จะรับประกันการปลอมปน ต้องเป็นหอมมะลิแท้อย่างน้อย 92% รวมทั้งการส่งออกจะหันกลับมาดีอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก

“ปัจจุบัน คนยุโรปและอเมริกาหันมาสนใจข้าวของไทยมากขึ้น หากห้างต่างๆ เหล่านี้ ยอมรับไปจำหน่ายจะประกันด้านคุณภาพข้าวของไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้อีกลำดับ ซึ่งข้าวตราฉัตรส่งออกทั้งในรูปแบรนด์ตราฉัตรเอง และ OEM แต่ต้องระบุที่มาว่าเป็นข้าวของไทย”

สำหรับตลาดในข้าวถุง ปรับตัวสูงขึ้น หลายฝ่ายคาดว่า ขนาด 5 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อถุง จะมีราคาถึง 300 บาท นั้น เป็นไปได้ยากเพราะข้าวในประเทศมีหลากหลายพันธุ์ การปรับขึ้นของราคาจะทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวชนิดอื่น ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นแล้วจากราคาข้าวผสม ระหว่างหอมมะลิ หอมปทุมธานี ได้รับความนิยมมากขึ้น

ส่วนการส่งออกข้าวตราฉัตรในช่วง 5 เดือน ที่ผ่านมาปรับลดลงเล็กน้อย 5-10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีข้าว แต่มูลค่าปรับเพิ่มขึ้น เพราะราคาส่งออกดีมาก เทียบกับปี 2560/61 อยู่ที่ ตันละ 800-900 ดอลลาร์ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่ารายได้ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ 18,000 ล้านบาท สัดส่วนเป็นรายได้จากการส่งออก 70% และในประเทศ 30%

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพของข้าวตราฉัตร ตามแผน 5 ปี (2560-64) จะร่วมมือกับเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีให้ได้ 1.5 ล้านไร่ ทั้งภาคเหนือและอีสาน ทั้งหมดต้องได้รับรอง GAP เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิต ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ 1.2 แสนไร่ ซึ่งการขยายพื้นที่ทำได้ช้า เพราะเกษตรกรไม่พร้อม และเจ้าหน้าที่รัฐในการรับรอง GAP มีน้อย

นายฐิติ กล่าวว่า ราคาส่งออกข้าวปรับลดลงเล็กน้อย โดยข้าวหอมมะลิจาก ตันละ 1,200 ดอลลาร์ เหลือ 1,150 ดอลลาร์ ทั้งนี้ เพราะผู้นำเข้ารอข้าวใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ ถือเป็นเรื่องปกติของตลาด แต่ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการตลาดข้าวยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าราคาข้าวหอมมะลิความชื้น 25% ในฤดูกาลใหม่ ปี 2561/62 นี้ จะยังอยู่ในระดับ ตันละ 15,000 บาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กรณีที่ข้าวมีความชื้นสูงเกษตรกรจะได้รับราคาประมาณ ตันละ 9,000-10,000 ต่อตัน

“ราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมา ปรับขึ้นสูงมาก ถึงตันละ 1,300 ดอลลาร์ เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีน้อย ในขณะที่สต๊อกข้าวของรัฐไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรมากดราคา อีกทั้งข้าวหอมมะลิของไทยไม่มีคู่แข่ง ทำให้โอกาสเป็นของไทย ซึ่งคาดว่าในปีนี้โดยรวม จะส่งออกได้ประมาณ 2 ล้านตัน”

พนักงาน รพสต. สืบสานตำนานขนมแป้งจี่ จากบรรพบุรุษ สร้างรายได้ในวันหยุด วันละ 1,000-2,000 บาท
อาหารการกิน แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่าง อาจมาจากประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และวัสดุที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นที่จะนำมาทำอาหาร

ขนมไทยๆ ที่มีมาแต่โบราณ หลายอย่างได้มีการสืบสานจากบรรพบุรุษ ที่ยังมีให้เห็นไม่มากนัก เช่น มะพร้าวแก้ว ขนมผิง เป็นต้น และยังมีขนมอีกประเภทหนึ่งที่ยังพอมีให้เห็น ขายอยู่ตามตลาดนัด แต่ไม่มีวางขายตามแผง และตามร้านทั่วไป คือ ขนมแป้งจี่โบราณ ทำจากแป้งทำขนมจีน ปั้นเป็นรูปกลม แบน นำไปย่างไฟร้อนๆ ให้กรอบนอกนุ่มใน มีรสหวานไม่มาก

นางสาว วีรวรรณ คลังทรัพย์ พนักงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าว่า หลังจากว่างจากงานประจำ ช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ ได้ทำขนมแป้งจี่โบราณ ที่ได้รับสืบทอดมาจากคุณแม่ ที่ทำขายมานานแล้ว โดยทำขายที่ตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และได้ช่วยแม่ทำขนมแป้งจี่มาตลอด หลังจากเรียนจบและได้ทำงานเป็นพนักงาน รพ.สต.ป่าไร่แล้ว และเมื่อถึงวันหยุด คือ วันเสาร์ ได้ทำขนมแป้งจี่โบราณ ขายที่ตลาดนัด คลองถม ที่บริเวณตลาดรถไฟอำเภออรัญประเทศ และวันอาทิตย์ ได้ปิ้งขนมแป้งจี่ ที่ตลาดนัด อำเภอวัฒนานคร ได้รับการตอบรับและเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ชอบกินขนมแป้งจี่โบราณอย่างมาก

“แป้งที่ทำขนมแป้งจี่ จะเป็นแป้งที่ใช้ทำขนมจีน เป็นขนมโบราณ จะทำขายเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ ที่ตลาดนัด ขายอันละ 5 บาท ทำวันละ 200-400 แผ่น ขนมแป้งจี่โบราณ จะห่อด้วยใบตอง แล้วย่างด้วยไฟถ่านอ่อนๆ ให้กรอบนอก แต่นุ่มใน ดังนั้น แต่ละวันจะมีรายได้ 1,000-2,000 บาท เป็นการหารายได้เสริมจากเงินเดือนประจำให้กับครอบครัว และอยู่ได้อย่างมีความสุข” นางสาววีรวรรณ กล่าว

ค้าปลีกย่านดาวน์ทาวน์กลางเมืองหาดใหญ่ ซบเซาหนัก ตลาดของฝากชื่อดัง “กิมหยง-สันติสุข” ยอดร่วง-ขึ้นป้ายเซ้งกิจการเพียบ ชี้ผลพวงธุรกิจ-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ลูกค้าแห่ซบโมเดิร์นเทรด แถมพืชผลทางการเกษตรราคาร่วง-กำลังซื้อวูบ กระหน่ำซ้ำ นักท่องเที่ยวไทย-เทศ หาย

แหล่งข่าวจากผู้ค้าปลีกย่านดาวน์ทาวน์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกย่านดาวน์ทาวน์ 6-7 แห่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณระหว่างถนนนิพัทธ์อุทิศ 1-2 และ 3 เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เช่น ตลาดสันติสุข ตลาดยงดี ตลาดซาวอย ตลาดเอเชีย ตลาดเอเชีย 83 ตลาดแผงทอง และตลาดสหโชค ตลาดขายของฝากและของที่ระลึก สุรา บุหรี่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าประเภทอาหารแห้ง กาแฟสำเร็จรูป ขนม จากประเทศมาเลเซีย ที่อยู่คู่กับหาดใหญ่มากว่า 40-50 ปี อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างซบเซา ยอดขายลดลงมาก

“ในยุคที่รุ่งเรือง หลายๆ ร้านมีรายได้เฉลี่ยระดับหลักแสนบาทต่อวัน แต่ละวันจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ต่อวัน แต่ตั้งแต่ ปี 2555 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันยอดขายตกต่ำไปมาก เฉลี่ยเหลือ ประมาณ 20% ต่อเดือน”

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า นอกจากตลาดของฝากที่ซบเซาแล้ว ในส่วนของห้องค้าหุ้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ต่างทยอยปิดกิจการไปเช่นกัน บางห้างมี 5 ชั้น ต้องทยอยยุบเลิกกิจการไปทีละชั้น บางแห่งเหลือเพียง 2 ชั้น โดยแต่ละชั้นเหลือร้านค้า ประมาณ 50 ร้าน เพราะได้ทยอยเลิกกิจการมากกว่าครึ่งแล้ว ขณะเดียวกันหลายร้านมีการขึ้นป้ายประกาศเซ้งกิจการจำนวนมาก

“สาเหตุมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน ส่งผลต่อรายได้และการจับจ่ายใช้สอยลดลง ขณะที่การขยายตัวของโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ที่มีมากขึ้น และเข้ามาแย่งลูกค้าไป รวมถึงปัจจุบันผู้บริโภคมีการสั่งสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น”

นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซุปเปอร์ค้าส่ง เคแอนด์เค อ.หาดใหญ่ และประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการค้าในย่านดาวน์ทาวน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าเก่าแก่ของหาดใหญ่ ซบเซาอย่างต่อเนื่อง และมีร้านค้าทยอยปิดตัวลงไป หลักๆ มาจากรูปแบบการค้าขายสมัยใหม่และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และหันไปใช้บริการและซื้อหาสินค้าตามโมเดิร์นเทรดที่มีความสะดวกสบายและมีบริการต่างๆ อย่างครบครัน ประเภทวันสต๊อปเซอร์วิส เช่น มีพื้นที่จอดรถที่จอดรถได้จำนวนมาก และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกรก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน

ทช.แจงปมหอยเจดีย์กองเกลื่อน คาดเหตุอพยพขึ้นหาดหนีน้ำจืด

หลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าเกิดปรากฎการณ์หอยฝาเดียวจำนวนมากขึ้นกองทับถมบริเวณชายหาดประพาสใกล้กับสถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำบลกำพวน จังหวัดระนอง

ตนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ ทราบว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดภายหลังจากที่มีพายุฝนตกหนัก และลมแรง หอยที่พบ เป็นหอยเจดีย์ หรือออกชื่อเรียกหอยพลูจีบในวงศ์ Terebridae เป็นหอยที่พบได้เสมอในพื้นที่ที่เป็นหาดทรายทอดยาวตามแนวชายฝั่ง โดยอาศัยฝังตัวอยู่ในทราย

แต่ปรากฏการณ์ที่หอยเจดีย์ที่ยังมีชวิตขึ้นมากองทับถมเกิดไม่บ่อยนัก คาดว่าการเกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีพายุฝนลมแรง และฝนตกหนักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดระนอง ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากขังท่วมในพื้นที่ชุมชน และน้ำไหลลงคลองกำพวน ซึ่งปริมาณน้ำจืดปริมาณมากไหลงสู่พื้นที่ชายฝั่งอาจเป็นสาเหตุให้หอยชนิดนี้ที่ฝังตัวในทราย อพยพโผล่ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณน้ำจืด ที่สะสมอยู่ใต้หาดทราย ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้ทีมงานติดตามประสานข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยและพัฒนาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป

ไม่มีใครอยากใช้ชีวิตอยู่ในความมืด แต่ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคตาที่นำไปสู่ภาวะตาบอดได้จากหลายสาเหตุ

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา เผยว่า สถานการณ์โรคตาในไทยตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงคือภาวะตาบอด โดยมีสาเหตุหลักจาก 1.ต้อกระจก 52% 2.ต้อหิน 9% 3.จอประสาทตา 6%

ต้อกระจกเป็นสาเหตุภาวะตาบอดอันดับหนึ่ง สะท้อนว่าหากเราสามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกได้ จะช่วยคนจากภาวะตาบอดได้มากกว่าครึ่ง

โดยมากต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาที่ขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนทึบแล้วทำให้มองไม่เห็น จึงมักเกิดกับผู้สูงอายุ ส่วนสาเหตุอื่นมีทั้งเกิดจากอุบัติเหตุเมื่อโดนกระทบบริเวณจอประสาทตาอย่างรุนแรง และเกิดจากยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์บางชนิด อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้น

“ดวงตาเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่สำคัญกับร่างกายมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุถ้าตามองไม่เห็นจะช่วยเหลือตัวเองลำบากมาก จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะการปล่อยให้ต้อกระจกสุกมากๆ จะทำให้กลายเป็นต้อหินและมีโอกาสตาบอดถาวรได้ แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถผ่าตัดแล้วกลับมามองเห็นได้ จึงต้องตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ”

หมอพรเทพเล่าว่า ในอดีตการพบแพทย์นั้นลำบากและมีค่าใช้จ่ายมาก เขาเลือกทำงานในวิชาชีพนี้ เพราะอยากช่วยคนยากจนให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสียเงินมาก

การเรียนจักษุแพทย์ ทำให้เขาพบว่ามีคนจำนวนมากต้องทนทุกข์กับภาวะตาบอด โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหมอตา นอกจากความทุกข์ที่มองไม่เห็นแล้ว ญาติที่ดูแลคนตาบอดก็ต้องร่วมทนทุกข์ไปด้วย

เป็นเหตุผลในการทำ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ออกหน่วยรักษาผู้ป่วยตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ “เป็นความฝันที่ต้องการทำมากที่สุด ทำมากว่า 14 ปี ช่วยคนมาแล้วกว่าแสนคน และช่วยคนในต่างประเทศที่มีฐานะยากจนแล้วต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะตาบอด เช่น พม่า ภูฏาน และกัมพูชา ตั้งเป้าไปอย่างน้อยปีละครั้ง ผมไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นคนไทยหรือไม่ ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด ถ้าเขาทุกข์ร้อนเราต้องช่วย” นพ.พรเทพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ทุกวันนี้มีคนต้องรับการผ่าตัดต้อกระจก เฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นคนทั่วประเทศ ในอดีต รพ.บ้านแพ้วออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อวนไปแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง จนระยะหลังมีหน่วยจักษุแพทย์ในชนบทเพิ่มขึ้น จึงลดการออกหน่วยเหลือเดือนละ 2 ครั้ง ผ่าตัดครั้งละ 200-300 ดวงตา

ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกในเมียนมาหมอพรเทพบอกว่า แม้โรงพยาบาลประจำจังหวัดจะสามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ แต่โรงพยาบาลประจำอำเภอมักไม่มีหมอตา ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจึงพลาดโอกาส เขาเคยไปออกหน่วยที่สุรินทร์พบคุณยายคนหนึ่งตาบอดและหูหนวก มีหลานวัย 13 ขับมอเตอร์ไซค์พายายมาหาหมอ หลานเล่าว่าที่ผ่านมาไม่ได้พายายไปหาหมอในตัวจังหวัด เพราะขับมอเตอร์ไซค์ไปอาจโดนตำรวจจับ พอมีหน่วยเคลื่อนที่จึงได้พายายมารักษา

ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์ รพ.บ้านแพ้ว ทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดต้อกระจกหนึ่งข้างเพียง 6-7 นาที คนไข้เปิดตาได้เร็วและมองเห็นได้ทันที ซึ่งช่วงเวลาที่พิเศษคือวินาทีที่คนไข้เปิดตาแล้วกลับมามองเห็น

“เราเดินทางไปผ่าตัดหลายพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ก็ไปมา พบคุณยายท่านหนึ่งตาบอด มีลูกชาย 1 คน ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยความเป็นแม่จึงเลือกอยู่ดูแลลูกชายก่อนจนตัวเองตาบอด เมื่อลูกชายเสียชีวิตจึงเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดคุณยายพูดว่า ‘ก่อนผ่าตัดกลางวันก็มืดเหมือนกลางคืน แต่หลังผ่าตัด กลางคืนก็สว่างเหมือนกลางวัน’ สะท้อนความทุกข์ทรมานที่ต้องเจอ ทำให้รู้ว่ามีคนไข้อีกมากที่รอคอยความหวังจะกลับมามองเห็นอีกครั้ง”

กว่าจะมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญขนาดนี้ ต้องผ่านการผ่าตัดยากๆ ท่ามกลางความเครียดและความกดดัน หมอพรเทพบอกว่า เขาพบผู้ป่วยที่สงขลาเป็นคุณยายตาบอดทั้งสองข้าง นั่งรถเข็น และร่างกายผอมมาก อีกทั้งเป็นโรคทางระบบสมอง ผงกหัวตลอดเวลา ทำให้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าผ่าตัดให้ จะดมยาสลบก็อาจเสี่ยงชีวิตด้วยร่างกายที่ผอมมาก

“ผมตัดสินใจผ่าให้ ตอนผ่าก็ยังโยกอยู่เลย แต่อาศัยความชำนาญ คล้ายคนหั่นผักที่คุยไปด้วยหั่นไปด้วยไม่กลัวมีดบาด ทุกวันนี้เวลาผ่าตัดผมไม่ได้มองเห็นต้อทั้งหมด ต้องอาศัยความชำนาญ เราทำเยอะ เจอเคสยากจำนวนมาก เป็นส่วนที่ทำให้เราผ่าตัดเคสแบบนี้ได้”

หมอพรเทพบอกว่า การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี 1.ผ่าตัดแบบขยายแผล กรีดแผลประมาณ 11 มม. เอาต้อออกมา ใช้แค่กล้องผ่าตัด 2.ใช้เครื่องสลายต้อกระจก เปิดแผล 3 มม. เครื่องจะสลายต้อเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วดูดออกมา เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ซึ่งบ้านแพ้วใช้เครื่องสลายต้อกระจกเกือบทั้งหมด เป็นเครื่องมือค่อนข้างแพง แต่ดีกับผู้ป่วย แผลเล็กหายเร็ว ไม่ต้องดูแลนาน ไม่เกิดภาวะสายตาเอียง ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาก

“เราใช้เลนส์พับขนาด 6 มม. เลือกใช้เลนส์ดีมากของอเมริกา เพราะเลนส์ถูกฝังในร่างกายตลอดชีวิต จึงขอให้เขาได้ใช้ตาที่ดีที่สุดอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะไปผ่าที่ไหนก็ใช้เลนส์นี้เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีเดียวกันที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 35,000 บาทต่อข้าง โดยทุกวันนี้ รพ.บ้านแพ้วได้งบสนับสนุนจาก สปสช. 9,800 บาทต่อตาหนึ่งข้างสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะเครื่องมือบางชนิดใช้งานไปสักระยะก็ต้องซื้อใหม่ทดแทนเรื่อยๆ

“คนจำนวนมากเห็นว่าเราทำจริง ช่วยคนไข้ได้จริง ก็บริจาคเครื่องมือให้เราใช้ผ่าตัดผู้ป่วย ขนเครื่องมือไปต่างจังหวัดแต่ละครั้งมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท คนไข้จำนวนมากโชคดีที่ได้เครื่องมือที่ทันสมัย เวลาไปเราก็ตั้งใจมากที่สุด”

ด้วยชื่อเสียงในการเป็นโรงพยาบาลโรคตาชั้นนำและมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่ รพ.บ้านแพ้วจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 500 รายต่อวัน ทั้งที่ รพ.รองรับได้เพียง 200 ราย

“เรามีแพทย์ 14 คน แต่มีห้องตรวจแค่ 7 ห้อง หมอจึงต้องนั่งร่วมห้องกันและต้องต่อคิวผ่าตัด จึงมีการสร้าง โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ขึ้น เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพราะการรอคอยทุกครั้งจะเปลี่ยนระยะของโรค อาจทำให้คนไข้เสียโอกาส โดยในตึกใหม่จะมีห้องตรวจ 23 ห้อง ห้องผ่าตัด 9 ห้อง ทำให้สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น”

รพ.จักษุบ้านแพ้วสร้างอาคารขึ้นด้วยเงินบริจาค ตั้งเป้า 400 ล้านบาท ตอนนี้ได้มาแล้ว 280 ล้านบาท และเนื่องจากความจำเป็นจึงสร้างอาคารขึ้นมาแล้วจะค่อยๆ ระดมทุนตกแต่งให้บางชั้นใช้ได้ก่อน โดยความคืบหน้าตอนนี้ขึ้นโครงอาคารแล้ว

มติชนจึงร่วมระดมทุนจัดทำของที่ระลึกจำหน่ายในราคา 250 บาท รายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างอาคารใหม่ โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว

โดยมีกระเป๋า Tote ใบใหญ่, ชุด Travel Bags และเสื้อยืด ออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู ศิลปินดังมาสร้างสรรค์ลวดลายแมวน้อย เสือ และม้าลาย ที่สื่อถึงอาการเจ็บตา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตา

ของที่ระลึกจะจำหน่ายในงาน“เฮลท์แคร์ 2018” ที่มาในธีมสายตาดีมีสุข รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพตาแบบจัดเต็ม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 28 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้

ที่สำคัญคือ รพ.บ้านแพ้ว จะมาออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกให้ในงานฟรี 100 ราย

หมอพรเทพเปิดเผยว่า ในงานเฮลท์แคร์จะนำเครื่องมือทันสมัยไปตรวจคัดกรองเพื่อวิเคราะห์ผู้ป่วย หากมีภาวะตาบอดจากต้อกระจกจะผ่าตัดให้ และติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมองเห็นได้อย่างปลอดภัยโดยแท้จริง

เกษตรฯ เปิดโปรเจคยักษ์ เชิญทูตและผู้ประกอบการยางกว่า 70 คน จาก 20 ประเทศลงพื้นที่กระบี่ – ตรัง แหล่งผลิตยางสำคัญ ป้อนข้อมูลศักยภาพการผลิตและแปรรูปยางไทย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำผู้ผลิตยางคุณภาพ หวังขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยเพิ่มขึ้น

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นให้ความสำคัญกับแนวทาง “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ ผลิตออกมานั้น ตรงตามความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับเพื่อจำหน่าย สามารถสร้างอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กำหนดจัดการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายนนี้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลกรวมทั้งแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราโลก ตลอดจนสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายของยางพาราไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จคาดว่าประเทศไทยจะได้ตลาดคู่ค้ายางพาราเพิ่มขึ้น

และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย คณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ เช่น เม็กซิโก อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลไทย และมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนายางพาราของไทย ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มี มาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้ายางพาร าไทยให้นานาประเทศที่ร่วมงานครั้งนี้รับทราบแล้ว

ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่ จ.ตรัง อาทิ การผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยางเกรดพรีเมี่ยม การผลิตภัณฑ์ยางอัดก้อน และการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง

และที่สำคัญ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 การยางแห่งประเทศไทยจะจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Bussiness Matching) ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ อีกด้วย

“กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังการดำเนินการครั้งนี้ จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้ารายใหม่จากประเทศเดิมมากขึ้น ทั้งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และที่สำคัญ คือ ความหลากหลายของยางพาราไทย ที่ไม่เพียงการผลิตในขั้นต้นเป็นเพียงน้ำยางดิบเท่านั้น แต่ไทยสามารถพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของตลาดได้ รวมถึงคณะทูตานุทูตที่ร่วมงานครั้งนี้จะช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ยางพาราไทยให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศอีกทางหนึ่งดัวย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายช่องทางการค้าสินค้ายางพาราไทย และส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศ เพิ่มสูงขึ้นได้อีกทางหนี่ง” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบัน อยู่ที่ตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากเดิม ตันละ 12,000-14,000 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ย ตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ นอกจากนี้ มันสำปะหลังราคา กก.ละ 3.20 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา กก.ละ 9.5-9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า กก.ละ 10 บาท และราคาปาล์มดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาทแล้ว สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการระบายข้าวที่ตกค้างนานปีจนหมดสต๊อก และยังชนะการประมูลขายข้าวให้กับต่างประเทศ รวมถึงการวางแผนคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งออกไปตลาดใหม่ๆ จึงช่วยให้สินค้ามีราคาดีขึ้น

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ช่วยร้านโชห่วยที่มีปัญหาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และยังใช้เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าทั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แม่บ้านมืออาชีพ เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าก็มีข่าวดีด้วยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าถึง 81,780 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และรัฐบาลมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ ร้อยละ 8 ภายในปีนี้ นายกฯ ได้กำชับไว้ว่า ขอให้หน่วยราชการและภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาตกต่ำ เช่น สับปะรด ให้มีราคาสูงขึ้น เหมือนกับผลไม้ประเภทอื่น โดยอาจรณรงค์ให้เกษตรกรมีตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและช่วงเวลาที่จะขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าล้นหรือขาดตลาดทำให้ราคาสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย

ผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันตก ลงมติขยับราคา กก.ละ 2 บาท 3 รอบ เป็น 60 บาท/กก. กอบกู้ราคาหน้าฟาร์ม เร่งกรมปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนฟาร์ม จำกัดแม่พันธุ์ ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม คุม EIA ฟาร์มด้วย

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ราคาหมูมีชีวิตในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ถูกกดดันจากพ่อค้าและโบรกเกอร์ กดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลงมาจนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรได้ อีกทั้งมีปัญหาเรื่องโรค ปัญหาการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ในอนาคตกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันตกและทั่วประเทศจะอยู่อย่างลำบาก สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมจึงได้เรียกประชุมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคตะวันตก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตราคาจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มให้มีความเป็นธรรมกับผู้เลี้ยงมากขึ้น

ราคาสุกรมีชีวิตภาคตะวันตกที่เกษตรกรขายหน้าฟาร์มสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ กก.ละ 54 บาท ต่ำที่สุดของประเทศ ที่ประชุมมีมติให้ขยับราคาขึ้นครั้งละ 2 บาท/กก. รวม 3 ครั้ง รวม 6 บาท เริ่มตั้งแต่วันพระที่ 20 มิ.ย. 2561-วันพระที่ 5 ก.ค. 2561 รวมขึ้น 6 บาท เป็น กก.ละ 60 บาท สอดคล้องกับการที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่มี น.สพ. จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขราคาสุกรตกต่ำ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ที่มีมติขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้รับซื้อสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่ กก.ละ 60-63 บาท และราคาเนื้อสุกรชำแหละที่ กก.ละ 120 บาท บวกลบ 2 บาท

ทางพ่อค้าคนกลางหรือล้งที่รวบรวมสุกรจากฟาร์มเลี้ยงหลายแห่ง โบรกเกอร์ มักจะกล่าวโทษโรงเชือดกดราคา ขณะที่โรงเชือดก็อ้างห้างโมเดิร์นเทรดกดราคา ดังนั้น นอกจากกรมปศุสัตว์จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่แล้ว กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรก็ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามแนวทางนี้ด้วย

สถานการณ์เช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในระยะยาวขอให้กรมปศุสัตว์เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรทั่วประเทศ เพื่อคุมปริมาณการผลิตแม่พันธุ์ ไม่ควรมีปริมาณมากกว่า 1-1.1 ล้านแม่ ซึ่งจะได้ปริมาณหมูขุนไม่เกินปีละ 20 ล้านตัว ภายในปีนี้ เท่ากับมีการบริโภคเนื้อหมู ประมาณ 20-22 กก./คน/ปี รวมทั้งการนำกฎหมายด้านปศุสัตว์มาพิจารณาประกอบว่า ฟาร์มที่สร้างใหม่ต้องมีพื้นที่บำบัดน้ำเสียรองรับปริมาณการเลี้ยงเท่าใด การเข้มงวดโดยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง นอกจากจะถูกปรับ 5,000 บาท ต้องมีการจำคุก 6 เดือน-1 ปีด้วย หากปรับเพียงอย่างเดียว ผู้เลี้ยงที่ฝ่าฝืนใช้ยังกล้าเสี่ยงที่จะใช้อยู่ เพราะยังมีกำไรเหลือพอสมควร นอกจากนี้ ควรจะนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้บังคับ ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่สร้างใหม่ ต้องผ่านการทำ EIA ให้ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองก่อน

ปมร้อนระหว่าง “สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร อัตราส่วน 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) ให้เหลือ 2 ต่อ 1 แทน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม และ “สมาคมการค้าพืชไร่” ที่เสนอให้คงมาตรการ 3 ต่อ 1 ไว้ พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐ

ย้อนกลับไปขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% ตามเดิม ปี 2550 เพื่อลดผลกระทบต่อชาวไร่ข้าวโพดยังไม่ทันจาง ล่าสุด สภาเกษตรกร ร้องให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบประเด็นการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ที่เพิ่งมีเป็นปีแรกด้วย

นำเข้าข้าวสาลี 2 ต่อ 1

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” อธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิเสธกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพิกเฉยต่อการ “ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี” โดยอธิบายว่า ไทยได้ทำข้อตกลงภายใต้องค์การค้าโลกว่า หากนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) จะมีภาษีนำเข้า 27% ตั้งแต่ ปี 2538 ต่อมาทยอยลดลงมาเรื่อย ตั้งแต่ปี 2542 กระทั่ง 12 กันยายน 2550 กระทรวงการคลัง ประกาศ “ยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลี” เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องมีการนำเข้าข้าวสาลีมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการนำเข้านั้นแยกพิกัดกับข้าวสาลีที่ใช้ในการผลิตอาหารคน และอาหารสัตว์ชัดเจน

ทั้งนี้ ระหว่าง ปี 2555-2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวมทุกชนิด (สำหรับอาหารคนและสัตว์) ปริมาณ 17.8 ล้านตัน มูลค่า 153.126 ล้านบาท และเฉพาะข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารสัตว์ นำเข้า 11.8 ล้านตัน มูลค่า 91.793 ล้านบาท แต่ภายหลังจากรัฐดำเนินมาตรการ 1 ต่อ 3 เมื่อปี 2560 พบว่า ปริมาณนำเข้าข้าวสาลีมีเพียง 1.66 ล้านตัน ลดลงจาก ปี 2559 ที่มีปริมาณ 3.55 ล้านตัน หรือลดลง 1.89 ล้านตัน คิดเป็น 53.24%

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นบขพ. เห็นชอบให้คง มาตรา 3 ต่อ 1 ต่อไป แต่ได้ “เปิดช่อง” ให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 2 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรา 2 ต่อ 1) เฉพาะช่วงวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2561 เท่านั้น หลังจากนั้น ให้กลับไปใช้สัดส่วน 3 ต่อ 1 ตามเดิม โดยมั่นใจว่าวิธีการนี้จะไม่กระทบราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แม้จะออกมาในช่วงเดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด ซึ่งเก็บเกี่ยวกันยาวไปจนถึงเดือน ก.ย. 2561

ในวันเดียวกันนั้น “น.สพ.สรวิศ ธานีโต” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาชี้แจงว่า “บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด” ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤษภาคม 125,380 ตัน ได้ระบุว่า ใช้ทำอาหารสัตว์อย่างชัดเจน เป็นไปตามที่ได้ขึ้นทะเบียนสูตรอาหารสัตว์ไว้ อีกทั้งจากการสุ่มตรวจข้าวบาร์เลย์ที่นำเข้ามากก็ไม่พบสารพิษจากเชื้อราด้วย

สาเหตุที่ต้องนำเข้าข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดลดลง และระดับราคาข้าวโพดสูงขึ้น กก.ละ 10 บาท จากเดิม 8.00 บาท ขณะที่ราคาข้าวบาร์เลย์นำเข้า กก.ละ 8.50 บาท

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดิ่ง

ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การเปิดช่องให้นำเข้าข้าวสาลี “บางช่วงเวลา” ช่วยลดความตึงตัวของวัตถุดิบของโรงอาหารสัตว์ได้ก็จริง เพราะจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสรุปว่า แต่ละปีไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์ 8.25 ล้านตัน แต่ผลผลิตข้าวโพด ปี 2561/2562 มีปริมาณเพียง 5 ล้านตัน ยังขาดวัตถุดิบอีก 3 ล้านตัน ดังนั้น หากให้นำเข้าข้าวสาลีตามสัดส่วน 3 ต่อ 1 เท่ากับผู้ผลิตอาหารสัตว์จะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1.5-1.8 ล้านตัน และเมื่อรวมปริมาณข้าวสาลีนำเข้า 1.5-1.6 ล้านตัน กับผลผลิตข้าวโพด 5 ล้านตัน จะมีวัตถุดิบ 6.5-6.8 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการผลิตอาหารสัตว์ที่มี 8.25 ล้านตัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตต้องหันไปนำเข้าข้าวบาร์เลย์มามากขึ้น

หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ

โดยได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนาแม่น้ำพิจิตร เพื่อให้แม่น้ำพิจิตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็วนั้น

เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปความก้าวหน้าการดำเนินการที่ผ่านมา และงานที่จะดำเนินการในระยะต่อไปตามภารกิจความรับผิดชอบ โดยเฉพาะแผนงานในระยะสั้นที่ต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน

อาทิ 1. การรับน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตรให้กรมชลประทานพิจารณาเพิ่มเติมถึงปริมาณน้ำสูงสุดที่จะนำเข้าสู่แม่น้ำพิจิตร รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของระบบชลประทานพื้นที่สองฝั่งที่ทำการเกษตร ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและรวดเร็วมากขึ้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทานสำรวจในเชิงวิศวกรรม เพื่อให้เห็นว่าน้ำจะไหลจากไหนไปไหน และสิ่งกีดขวางทางน้ำโดยเร็ว เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการศึกษาพัฒนาระยะต่อไป

การออกแบบปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ ขอให้กรมทัพยากรน้ำเร่งปรับแผนงานจุดไหนที่สามารถเร่งรัดดำเนิเนการให้แล้วเสร็จก่อนช่วงกลางเดือนกรกฏาคมก่อนที่ระดับน้ำแม่น้ำพิจิตรจะสูงขึ้นได้จะต้องเร่งทำทันที

3. แผนการดำเนินการขุดลอกทั้งที่กำลังดำเนินอยู่โดย กอ.รมน.ทำร่วมกับอุทกพัฒน์ รวมถึงการขุดลอกจุดวิกฤตที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนที่กรมทรัพยากรน้ำมีแผนจะดำเนินการด้วยว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ และดินที่ขุดได้จะนำไปไว้ที่ใด

4. แผนที่ และข้อมูลสิ่งก่อสร้างรุกล้ำทางน้ำ แก้ปัญหาการบุกรุก 2 ฝั่งแม่น้ำ ปัญหาวัชพืช แม่น้ำตื้นเขิน น้ำเน่าเสีย และสิ่งกีดขวางทางน้ำ 83 แห่งโดยกรมเจ้าท่า และ 5. แผนการดำเนินการกำจัดวัชพืช ในแม่น้ำพิจิตร 127 กิโลเมตร และขุดลอกทางน้ำของคลองข้าวตอก 58 กิโลเมตร รวมระยะทาง 185 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

“ทั้งนี้ สทนช.จะลงพื้นที่แม่น้ำพิจิตร เพื่อหารือร่วมกับทางจังหวัดภายใน 2 สัปดาห์ โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และรวบรวมเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน และจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการ (Master Plan) ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายสมเกียรติ กล่าว

กระทรวงเกษตรร่วมสืบสานพระราชปณิธานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช รมช.วิวัฒน์ ชวนคนกึ๊ดช้างสร้างต้นแบบชุมชนไร้อดอยาก

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวในโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเรื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) งานปลูกรักษาทรัพยากรท้องถิ่น : กิจกรรมแหล่งเรียนรู้แปลงปลูกรักษาพรรณไม้/ดอกไม้สำคัญและไม้หายาก ณ ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ว่า การรักษาพันธุ์ไม้สำคัญไม้หายากนั้นเป็นงานที่สำคัญ จำเป็นต้องเร่งปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมทั้งพืชและสัตว์ ตลอดจนวัฒนธรรมอันหลากหลายของมนุษย์ องค์การบริหารส่วนตำบลกึ้ดช้างเป็นตัวอย่างการดำเนินงานด้วยความสามัคคี โดยชักชวนภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยเฉพาะไม้ท้องถิ่นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นงานที่ในหลวงรัชกาล ที่ 9 ทรงให้ความสำคัญ

ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเชื่อได้ว่าจะทำให้ประชาชนมีความสุข​ ประเทศมีความสุข ไม่ได้เน้นก้าวหน้าอย่างมาก แต่เน้นที่มีความสุข ความเจริญ เพราะถ้าก้าวหน้าอย่างมากจะถอยหลังเข้าคลองอย่างน่ากลัว อยากให้ประชาชนน้อมนำศาสตร์ของพระองค์ท่านมาช่วยกัน อนุรักษ์ ป่า ดิน น้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

ซึ่งทรัพยากรดินเป็นพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง ไม่มีป่าก็ไม่มีดินเพราะอัตราการชะล้างพังทลายของหน้าดินจะเพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีต้นไม้ปกคลุม จนเพาะปลูกไม่ได้ แต่ถ้าทุกคนร่วมกันป้องกันการชะล้างพังทลายหน้าดินด้วยการปลูกต้นไม้ที่หลากหลายเหมือนที่โครงการนี้ทำจะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ และจะเป็นพื้นที่ความมั่นคงของอาหารได้จริง

ปัจจุบันอัตราการชะล้างพังทลายหน้าดินคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลเก็บภาษีได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาทต่อปี และอัตราการชะล้างจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อพื้นที่สูงชันไม่มีสิ่งปกคลุม ส่งผลให้ประเทศต้องเสียงบประมาณในการขุดลอกเขื่อน ลอกคลองอีกหลายร้อยล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเมื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินหมดไป ก็จะเริ่มวงจรของหนี้สินและการรุกป่า เพราะ​เมื่อขาดทุนก็รุกภูเขาเพิ่มขึ้นไปอีกกลายเป็นปัญหาใหญ่ เขาหัวโล้นนับล้านๆ ไร่

“เราต้องร่วมกันตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน คือจะต้องไม่มีคนอดอยากหิวโหย จึงหวังว่า อบต.กึ้ดช้างและเครือข่าย จะเป็นตัวอย่างการสร้างสังคมใหม่โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทิ้งคนแก่ เด็กหรือคนพิการให้หิวโหย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายของโลกจึงเป็นเป้าหมายของเราด้วย เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษ (Special Ambassador) ของสหประชาชาติ ด้าน Zero Hunger (การขจัดความหิวโหย)” นายวิวัฒน์​ กล่าว

21 มิ.ย.เว็บไซต์ข่าว บีบีซี รายงานข่าว นักวิทยาศาสตร์สุดตะลึง! หลัง พบโครงกระดูกชะนีโบราณ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนยุคโมเดิร์นโผล่กลางสุสานจีนโบราณ

นักวิทยาศาสตร์จากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ยืนยันว่า ‘จวินจือ อิมพีเรียลลิส’ ชะนีสายพันธุ์โบราณสูญพันธุ์จากการกระทำของมนุษย์ ดร.ซามิล เทอร์วีย์ กล่าวว่า ปกติแล้วสัตว์ในตระกูลลิงไม่มีหางไม่ว่าจะเป็น ชิมแปนซี, กอริลลา, อุรังอุตัง หรือชะนี หลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปจากการถูกระรานของมนุษย์ เช่นการล่าสัตว์หรือการบุกรุกที่อยู่อาศัย แต่การค้นพบกะโหลกของ ‘จวินจือ’ ในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของการสูญพันธุ์ของชะนีที่แตกต่างออกไป

กะโหลกของชะนีโบราณ ‘จวินจือ อิมพีเรียลลิส’ ถูกพบในสุสานของจีน หลังจากที่มันสูญพันธุ์ไปแล้วนานกว่า 2,300 ปีจากมณฑลส่านซี ใกล้กับโครงกระดูกของแมวป่าลิงซ์, เสือดาว และหมีดำ

มีสมมติฐานว่า ชะนีตัวนี้อาจเคยอยู่ในความดูแลของท่านผู้หญิง ‘เซีย’ ที่เป็นยายของจิ๋นซีฮ่องเต้จักรพรรดิคนแรกของจีน ผู้มีบัญชาให้สร้างกำแพงเมืองจีนและสุสานจักรพรรดิฉินที่ 1 เพราะชะนีซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะเด่นในวัฒนธรรมจีนจึงอาจนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเสริมบารมีของชนชั้นสูง

แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยีสูงแสดงให้เห็นว่า โครงกระดูกของชะนีตัวนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่และเป็นสกุลชะนีที่มีความฉลาดมาก จึงอาจเป็นไปได้ที่มันจะเหลือรอดมาถึงช่วงไม่กี่ร้อยปีก่อน

ศาสตราจารย์ เฮเลน นักวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้สามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์ชะนี เกิดการความต้องการของมนุษย์ที่นำมันมาเป็นสัตว์เลี้ยงส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อธรรมชาติ

“ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเราแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อเผ่าพันธุ์ชะนีที่กระจายกันอยู่ในป่าทางตอนใต้ของจีน พวกมันถูกจำกัดแหล่งที่อยู่ถูกบุกรุกจนทำให้ ‘จวินจือ อิมพีเรียลลิส’ สูญพันธุ์ไปในที่สุด”

ผู้ว่าฯเชียงรายดันตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า พร้อมวอนเอกชน-นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ปรับหาจุดลงตัวร่วมกันเรื่องที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไปคนละทาง

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังคงมีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย คือราคาที่ดินที่พุ่งสูง ผังเมืองหรือการกำหนดพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้การพัฒนาหรือการสร้างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมากกว่า 5 แรงม้าแทบไม่ได้เลย เช่น กรณียางพาราไม่สามารถตั้งโรงงานแปรรูปได้ ต้องส่งออกไปขายจีน หรือภาคใต้ ทำให้ขายได้ราคาต่ำ

นอกจากนี้ แรงงานในพื้นที่ถือบัตรหลากหลายมาก ทำให้ผู้ประกอบการแทบไม่กล้าจ้างงาน อุปสรรคเรื่องภาษาที่ต้องสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ดังนั้นจึงขอให้ภาคเอกชน นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ฯลฯ ได้ร่วมกันอุดช่องว่างของอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวร่วมกัน ไม่ใช่ไปคนละทางหรือไม่ยอมกัน แต่ควรปรับเข้าหากันเพื่อให้ได้จุดลงตัวมากกว่า ซึ่งหากทำได้จะทำให้เศรษฐกิจของเชียงรายก้าวหน้าต่อไป

“จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้นมา ทาง จ.เชียงราย ได้รับเลือกให้จัดตั้งระยะที่ 2 ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ปัจจุบันเชียงรายมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีพีพี 99,827 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ย 86,884 บาทต่อคนต่อปี มีเศรษฐกิจสำคัญจากภาคการเกษตรคิดเป็น 65% และนอกภาคเกษตรคิดเป็น 35% ของเศรษฐกิจทั้งหมด จังหวัดจึงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ให้ราคาสูงกว่าเพื่อให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% ให้ได้ต่อไป ส่วนการค้าชายแดนนั้นถือว่ามีมูลค่าการค้ามหาศาลอยู่แล้ว และภาคการท่องเที่ยวพบว่ายังมีความแตกต่างระหว่างฤดูท่องเที่ยวและฤดูฝน จังหวัดจึงร่วมกับภาคเอกชนและเครือข่ายประชาชนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน ฯลฯ เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว”

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักอนุรักษ์จากกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองเชียงรายมุ่งเน้นรองรับความต้องการของกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ซึ่งตนไม่ได้ต่อต้าน แต่เห็นว่าควรใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาให้เกิดความสมดุล โดยใช้ความต้องการของภาคประชาคมเป็นหลัก หรือเอาเป็นตัวตั้งแล้วให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมเพื่อรับผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ไปตามใจกลุ่มทุนหมดก็จะเกิดความเสียหาย เช่น การที่เคยจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านเพราะสถานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

แต่หากนำภาคประชาคมเป็นตัวตั้ง เช่น พื้นที่ต้องการศึกษาและวิจัยพืชพันธุ์ประเทศไทยก็ตั้งมหาวิทยาลัยสมุนไพรอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ อ.เชียงของได้ เพราะภูมิภาคนี้อุดสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ที่สามารถพัฒนาเป็นสมุนไพรได้อยู่แล้ว ส่วนประเทศจีนมีความสนใจและต้องการพัฒนาในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นหากมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย กลุ่มทุนจีนเข้าร่วมจะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายต่อไป

อนึ่ง จังหวัดเชียงรายยังมีปัญหาเรื่องการจัดหาสถานที่จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เนื่องจากพื้นที่ 21 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ล้วนมีปัญหาแตกต่างกันไป ทำให้แต่ละพื้นที่มีกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและเครือข่ายชาวบ้านต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่จัดตั้ง

ปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรนำร่องแปลงใหญ่ 4.0 “มัน-ข้าว-ไม้ผล–ข้าวโพด” พลิกภาคเกษตรไทย หวังลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ที่แน่นอนให้เกษตรกร รองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2568 ประชากรไทยประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุมากกว่า 60 และ จะเพิ่มเป็น 36% ในปี 2588 ขณะที่ยอดการเกิดใหม่ของคนไทยกลับน้อยลง สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงภาคเกษตรที่ปัญหาแรงงานสูงวัยมีเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงประกาศปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเกษตรเดินหน้าเข้าสู่ยุค 4.0 เปลี่ยนเกษตรไทยแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่

ภาคเกษตรไทยเริ่มก้าวสู่การเป็นเกษตร 4.0 ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในขั้นตอนทำการเกษตร ทั้งในเรื่องของการวางแผนการเพาะปลูก ตลอดไปจนถึงการหาตลาดเพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ในการใช้สินทรัพย์การเกษตร ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์, การใช้สถานที่ Fam-Map เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ของเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์แร่ธาตุในดิน การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อฉีดสารเคมีและใส่ปุ๋ย ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 25%

“ถึงเวลาแล้วที่ภาคเกษตรไทยต้องพัฒนาเพื่อก้าวสู่เกษตร 4.0 ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่การปรับเปลี่ยนจะไม่เกิดขึ้น หากเกษตรกรไทยไม่มีการปรับตัว เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 หากภาคเกษตรไม่ปรับตัวเกษตรกรอาจเป็นคนส่วนน้อยประเทศที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้”

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเริ่มเห็นในภาคการเกษตรไทยไม่ต่างกับภาคอื่น ๆ ดังนั้นในฤดูการผลิตปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงนำร่องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาใช้ในการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นแปลงนำร่อง ในพืชสำคัญก่อน อาทิ มันสำปะหลัง ข้าว ไม้ผล และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการนำงานวิจัยมาใช้กับการทำเกษตร ซึ่งเป็นแปลงนำร่องและเป็นแปลงต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดในแปลงเกษตรจริง ทั้งนี้จะมีการสรุปผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ภายใน 1 ฤดูการผลิต เพื่อประเมินผลและขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป

แนวโน้มการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานคน มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการนำเข้าโดรนเพื่อมาช่วยทำการพ่นยาและสารเคมีจำนวนมาก แม้จะมีราคาสูง แต่สามารถช่วยประหยัดเวลาและยังได้ความปลอดภัยต่อชีวิตเกษตรกร ที่ไม่ต้องสัมผัสสารเคมีจากการฉีดพ่น และเมื่อแปลงเกษตรกร เกิดโรคระบาดก็สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตร นอกจากจะช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียในขบวนการผลิตสินค้าเกษตร ยังช่วยให้มูลค่าและราคาของผลผลิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น แต่การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้กับเกษตรกรไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และความเชื่อในการทำเกษตรแบบเดิม ดังนั้น การนำงานวิจัยมาใช้ควบคู่ไปกับการเกษตรช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแปลงของเกษตรกร ได้แก่ แปลงใหญ่มันสำปะหลัง อ.เสล จ.กำแพงเพชร ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะที่ การจัดทำแปลงต้นแบบที่มีการบูรณาการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร พันธุ์ การจัดการดินและปุ๋ย การจัดการรางน้ำ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Smart Farming”

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โลกเราสูญเสียคนดังไปหลายคน การจากไปของพวกเขาเหล่านี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก ความสะเทือนใจเมื่อใครสักคนจากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือจากไปด้วยความชรา คงไม่มากเท่าเมื่อได้ข่าวว่าใครบางคนจากไปด้วยการฆ่าตัวตายในวัยที่น่าจะอยู่ต่อตามค่าเฉลี่ย

คริส คอร์แนล นักร้องนำวงซาวนด์การ์เด้นฆ่าตัวตายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลินคินพาร์กฆ่าตัวตายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560

คิม จงฮยอน นักร้องเกาหลีสมาชิกวงชายนี่ฆ่าตัวตายในวันที่ 20 ธันวาคม 2560

ทิม เบิร์กลิง หรืออาวิชี ดีเจ.ระดับโลกฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 เคท สเปด หรือเคท วาเลนไทน์ ดีไซเนอร์ดังผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ เคท สเปด ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561

แอนโธนี บอร์เดน เชฟดังระดับโลกฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561

6 คน คือจำนวนคนดังระดับโลกที่ลาโลกไปด้วยการฆ่าตัวตาย ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนี้ ซึ่งถือว่าถี่มาก ๆ เฉลี่ย 2 เดือนต่อ 1 คน 800,000 คน คือจำนวนเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ทั้งดังและไม่ดังที่ฆ่าตัวตายจากเราไปใน 1 ปี ตัวเลข 800,000 นี้เป็นจำนวนเฉพาะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เก็บข้อมูลได้ และ WHO ยังมีข้อมูลอีกว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญอันดับที่ 2 ของการเสียชีวิตในคนช่วงอายุ 15-29 ปี

สาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายคือบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือมีภาวะซึมเศร้าซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา

โรคซึมเศร้า (depression) เป็นภาวะโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย เมื่อเดือนมีนาคม 2561 องค์การอนามัยโลก มีรายงานสถานการณ์โรคซึมเศร้าทั่วโลกว่า คนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน ทุกเพศทุกวัยประสบปัญหาภาวะโรคซึมเศร้า แบ่งตามเพศชาย-หญิง พบว่าผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย

มีข้อมูลว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความตระหนักตื่นตัวเรื่องโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย มากกว่าในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา สอดคล้องกับสถิติของ WHO ที่บอกว่าร้อยละ 78 ของการฆ่าตัวตายทั่วโลกเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” บ่อยขึ้น ๆ แต่ความเป็นจริง คนในสังคมยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าน้อยอยู่

ภาวะโรคซึมเศร้านั้นแตกต่างจากความเศร้าทางอารมณ์ หรือความผันผวนของอารมณ์ตามปกติที่เกิดขึ้นเมื่อเสียใจ ผิดหวัง แต่ยังมีความเข้าใจผิดเรียกคนที่เศร้าเพราะผิดหวังว่า “เป็นโรคซึมเศร้า”

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความอธิบายเรื่องโรคซึมเศร้าไว้ว่า คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้าก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย

ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

1.กรรมพันธุ์ 2.สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ 3.ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันจะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนเป็นโรคซึมเศร้าได้

ศ.นพ.มาโนช อธิบายเกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าว่า หากได้รับการรักษา ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอาการดีขึ้นมาก จนบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมตัวเองจึงรู้สึกเศร้าได้ถึงขนาดนั้น

การรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญคือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

ศ.นพ.มาโนชบอกอีกว่า โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ต่างไปจากเดิมมากขึ้น โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย 5 ข้อดังนี้ 1.ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจดีขึ้น 2.อย่าตั้งเป้าหมายยากเกินไป เพราะจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง 3.เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ 4.อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เพราะขณะที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด 5.ให้แยกแยะปัญหาเป็นส่วนย่อย ๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อน-หลัง

แล้วทำตามลำดับ โดยทิ้งปัญหาย่อยอื่น ๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่ นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำสำหรับญาติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ แต่ทั้งนี้ภาวะที่เขาเป็นไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะผิดปกติ เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไป

“หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง” หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลบอก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ WHO บอกว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยน้อยกว่าครึ่งที่ได้รับการรักษา และในหลายประเทศไม่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยด้วยซ้ำ ซึ่ง WHO บอกว่าอุปสรรคของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การขาดแคลนทรัพยากร การขาดผู้ให้บริการดูแลที่ผ่านการฝึกอบรมในเรื่องนี้มา ขาดการประเมินและวินิจฉัยที่ถูกต้อง และความไม่เข้าใจของสังคม เพื่อเป้าหมาย การลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า WHO ได้ออก Mental Health Gap Action Programme เป็นแนวทางการรักษาที่แนะนําสำหรับทั่วโลก คือ การให้คําปรึกษา ร่วมกับการให้ยาต้านเศร้า หรือจิตบําบัด

เช่น การบําบัดโดยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavior therapy) จิตบําบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal psychotherapy) เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ดำเนินตามแนวทางนี้อยู่ ในไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้บริการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 หน่วยบริการทางการแพทย์ ด้านจิตเวชศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร.0-2201-1235 หรือ 0-2201-1726 แต่เหนืออื่นใด คนใกล้ตัวมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยดูแลให้กำลังใจ

ผู้ป่วยให้ผ่านพ้นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโรคซึมเศร้า หรือเศร้าจากความเสียใจผิดหวัง หนอนกินพลาสติก – ขณะที่ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นข่าวใหญ่มาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ ดิ อิโคโนมิสต์ สื่อใหญ่ของอังกฤษจึงหยิบรายงานที่นักวิทยาศาสตร์พบหนอนกินพลาสติกโดยบังเอิญระหว่างการวิจัยเมื่อปี 2560 กลับมาแชร์วนอีกครั้ง ด้วยเป็นความหวังว่าการค้นพบนี้อาจเป็นหนทางหนึ่งในการกำจัดขยะพลาสิกติกที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกในขณะนี้

เรื่องราวน่าทึ่งนี้เริ่มมาจาก เฟเดริกา แบร์ต็อกชินี เจ้าหน้าที่ดูแลผึ้งฝึกหัด และนักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยการตาเบรีย ในประเทศสเปน สังเกตว่าหนอนผึ้ง กัดกินเจาะรังผึ้งเป็นรู และเลียน้ำผึ้ง นักวิจัยหญิงคนนี้จึงนำหนอนเหล่านั้นกลับบ้าน โดยเอามาใส่ไว้ในถุงพลาสติกแล้วทิ้งไว้ในบ้าน ปรากฏว่าเมื่อกลับมาดูอีกครั้ง พบว่าหนอนชนิดนี้กัดกินถุงพลาสติกเป็นรู และคลานไปทั่วบ้าน

การค้นพบนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาทชีวิทยาในยุคปัจจุบัน (Current Biology) พร้อมระบุว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยหาเหตุผล หลังพบว่าหนอนที่กัดกินพลาสติกได้เป็นหนอนตัวอ่อนของกัลเลเรีย เมลโลเนลลา (Galleria mellonella) หรือที่รู้จักกันในนาม หนอนผีเสื้อกลางคืน (Greater Wax Moth) ซึ่งเป็นหนอนที่สร้างความเสียหายให้กับรังผึ้ง และระบาดไปทั่วยุโรป

น.ส.แบร์ต็อกชินีได้รวมทีมกับ เปาโล บอมเบลลี และคริสโตเฟอร์ โฮว์ นักวิชาการด้านเคมีสองคนจากมหาวิทยาลยแคมบริดจ์ เพื่อหาคำตอบถึงความเป็นไปได้ในการจับหนอนเหล่านี้มาเป็นตัวกำจัดขยะพลาสติก

นักเคมีสองคนนี้ชี้ว่าพลาสติกมีส่วนประสมของเมธีลีน ประกอบด้วยคาร์บอนที่เชื่อมอะตอนไฮโดรเจน และอะตอมอื่นๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหนอนผีเสื้อกลางคืน มีเอ็นไซม์สามารถทำลายการเชื่อมดังกล่าว และมีสิ่งมีชีวิตน้อยมากที่ย่อยสารนี้ได้ ขณะที่ปัญหาหลักของพลาสติกคือไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ตามปกติ

หนอนผีเสื้อกลางคืน / flukerfarms.comการจับตามมองอย่างใกล้ชิด ของนักวิจัย 3 คนนี้ พบว่า หนอนต่อตัวกัดกินพลาสติกจนเป็นรูได้ถึง 2.2 รูซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3 มิลลิเมตร ในทุกๆ ชั่วโมงๆ และหนอนจะใช้เวลาทั้งหมด 12 ชั่วโมงในการกินถุงพลาสติกขนาดได้ ประมาณ 1 มิลลิกรัม จากน้ำหนักของถุงราวๆ 3 กรัม

ทั้งนี้หนอน 100 ตัวจะช่วยกันกินถุงพลาสติกได้ทั้งถุงในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งนับเป็นครึ่งชีวิตของพวกมันพอดิบพอดี

การวิจัยดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการกินพลาสติกของหนอนเหล่านี้จะเพียงพอต่อการเติบโต หรือไม่ แต่การค้นพบดังนับเป็นเรื่องน่าสนใจเนื่องจากหนอนเหล่านี้กินพลาสติกได้ ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่ต้องจบชีวิตลงอย่างอนาถหลังพลาสติกตกถึงท้อง

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอาการที่ไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ

และไปกระตุ้นระบบประสาท ส่งผลให้นอนไม่หลับและเหงื่อแตกพล่านขณะนอน เนื่องจากต่อมไทรอยด์ยังควบคุมอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อาการที่เป็นผลมาจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษนั้น จึงหลากหลายและยากต่อการชี้เฉพาะเจาะจง หากมีข้อสงสัยที่บ่งชี้ว่าต่อมไทรอยด์ผิดปกติหรือไม่ สามารถตรวจเช็กความปกติได้ไม่ยาก เพียงแค่เจาะเลือดตรวจ

อาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หรือ Nocturia การตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ ช่วงกลางดึก พบได้มากในหมู่คนมีอายุ ในกรณีรุนแรง พบว่า ตื่นมาปัสสาวะบ่อย 5-6 ครั้ง ใน 1 คืน อาการนี้มักจะแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่อาการปัสสาวะบ่อยก็สามารถเป็นอาการของคนที่มีปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต่อมลูกหมากโต หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะ

3. โรคไต เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะในเรื่องการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ผู้ป่วยโรคไตจะพบปัญหาเรื่องการสะสมของของเสียในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรืออาการขาอยู่ไม่สุข (restless legs syndrome)

4. โรคไขข้อ กลุ่มคนที่เป็นโรคไขข้อต้องเผชิญความเจ็บปวดในกระดูก ซึ่งทำให้นอนไม่หลับ อีกทั้งการใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ ยังมีผลกระทบต่อการนอนด้วย ปวดหัว ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวบ่อยๆ มักจะมีอาการนอนไม่หลับตามมา อย่างเช่น โรคไมเกรน หรือปวดศีรษะคลัสเตอร์ เป็นอาการปวดหัวที่ทำให้เส้นเลือดขยายออก ส่งผลให้รู้สึกปวดตื้อๆ รู้สึกไม่สบายตา

รู้ข้อมูลนี้แล้ว อย่าชะล่าใจ คิดแค่ว่านอนไม่หลับเพราะความเครียดเท่านั้น ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันนานๆ ควรตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะปัญหาการนอนไม่หลับที่เผชิญอยู่นั้นอาจจะมีสาเหตุจากการป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาก็เป็นได้

กระทรวงวิทย์ มุ่งสร้างผู้ประกอบการแปรรูปผัก ผลไม้ ใหม่ เสริมแกร่งผู้ประกอบการเดิม ด้วย วทน. เปิดโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. ครบวงจร กำลังผลิต 1,000 ลิตร/วัน ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ

(22 มิ.ย. 2561 เทคโนธานี จ.ปทุมธานี) ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) ซึ่งดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นโรงงานอาหารมาตรฐานให้บริการผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เพื่อสร้างผู้ประกอบการแปรรูปผัก ผลไม้ และเครื่องดื่มใหม่ และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการเดิม ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการและการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม เพื่อ “ลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ”

ดร. ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า FISP จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยของรัฐบาล หรือ “ประเทศไทย 4.0” โดยทำหน้าที่ให้บริการผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารด้วยการวิจัย พัฒนา และบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การลงทุนสร้างโรงงานและเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่ทันสมัยราคาสูงนับเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ซึ่งดำเนินงานโดย วว. จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและจะก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการแปรรูปอาหารเดิมที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด

“…FISP พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เรามีภารกิจครบวงจรในการให้บริการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารในระดับห้องปฏิบัติการ บริการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตในเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้ แปรรูป บริการสายการผลิตผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้แปรรูปและเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองระบบคุณภาพ รวมทั้งบริการที่ปรึกษา (Consultation) การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร การวางสายการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ เรายังมีบุคลากรวิจัยและพัฒนาที่มีความรู้

ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์กว่า 30 ปี ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิศวกรรมอาหาร เพื่อการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม โรงงานของเราเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practices) มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครันสำหรับให้บริการผู้ประกอบการแปรรูปผัก ผลไม้และเครื่องดื่ม ประกอบด้วย สายการผลิตผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เครื่องทอดสุญญากาศ สายการผลิตเครื่องดื่มระบบ (พาสเจอไรซ์/UHT) ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลไม้แช่อิ่มและอบแห้ง 1,200 กิโลกรัม/ครั้ง

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze dry 200 กิโลกรัม/ครั้ง

-เครื่องทอดสุญญากาศ 15 กิโลกรัม/ครั้ง -เครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุกล่อง UHT 1,000 ลิตร/ชั่วโมง

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้ว 500 ลิตร/ชั่วโมง อนึ่ง โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ โครงการ Food Innopolis เป็นหนึ่งในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นที่จะดึงดูดบริษัทผู้ผลิตหรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยในทุกระดับ

ตั้งแต่ Startup SMEs ไปจนถึงบริษัทไทยขนาดใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อยกระดับความสามารถของ Startup และ SMEs ตลอดจนเพิ่มมูลค่า และการจ้างงานแรงงานฐานความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การเปิดให้บริการของโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ดังกล่าว โดย วว. จะเป็นพลังขับเคลื่อนและสอดประสานความร่วมมือของประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดและขอรับบริการจาก FISP ได้ที่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 35 หมู่ที่ 3 ต. คลองห้า อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร./โทรสาร 0 2577 9700-9704, 0 2577 9177 หรือที่ E-mail : fisp@tistr.or.th หรือ Line ID: fisp_tistr

รู้สักนิด ก่อนเริ่มปลูกแค็กตัส

มีถิ่นกำเนิดมาจาก อเมริกาใต้ และเอเชีย ลักษณะของกระบองเพชร หรือ แค็กตัส เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แค็กตัสจะเก็บสะสมน้ำไว้ในลำต้นเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ฝนตกลงมา ความฉลาดของต้นไม้ประเภทนี้ คือมันจะเปลี่ยน “ใบ” ให้กลายเป็น “หนาม” เพื่อลดการคายน้ำได้อีกด้วย แค็กตัส จึงสามารถอยู่ได้ในทะเลทราย หรือที่ที่มีอากาศแล้งจัดได้

ข้อควรรู้เบื้องต้นสำหรับการดูแลแค็กตัส

1. การให้น้ำคือสิ่งที่ควรระวัง ไม่ควรฉีดน้ำไปที่ต้นโดยตรง ถ้าปลูกในกระถาง ให้วางภาชนะปลูกไว้ในอ่างน้ำตื้นๆ จนกระทั่งดินที่ปลูกชุ่มน้ำ จากนั้นจึงยกออกจากอ่างและทิ้งไว้ให้น้ำไหลออกจนหมด อันตรายที่สุดสำหรับแค็กตัสคือ ได้น้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าตายได้ ควรให้น้ำ 3 วัน/ครั้ง
2. เทคนิคการเปลี่ยนกระถาง งดให้น้ำแค็กตัสหลายวันก่อนเปลี่ยนกระถางใหม่ ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปูรองพื้น จับที่ตัวกระถางและใช้ดินสอหรือตะเกียบค่อยๆ ดันผ่านรูระบายน้ำตรงก้นกระถางขึ้นมา ต้นแค็กตัสควรหลุดจากกระถางเก่าโดยที่รากยังติดอยู่

กำจัดเพลี้ยแป้ง เมื่อเห็นหย่อมขาวเป็นขุยขึ้นอยู่บนแค็กตัส นั่นคือ เพลี้ยได้เข้ามาถึงแค็กตัสของคุณแล้ว ศัตรูชนิดนี้อาศัยอยู่ใต้ขนที่ให้ความอบอุ่น ดูดกินน้ำเลี้ยงและทำให้แค็กตัสโทรม กำจัดได้โดยฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงที่ใช้สำหรับต้นไม้ในร่ม
การให้ปุ๋ย เวลาให้ปุ๋ยแค็กตัสอย่าใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เนื่องจากมันบำรุงใบให้งามโดยไม่ออกดอก กระตุ้นการออกดอกโดยใช้ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงปุ๋ยชนิดน้ำเหมาะที่สุด

5. แค็กตัสไม่ออกดอก หลายคนซื้อแค็กตัสมาปลูกแล้วไม่ออกดอก สาเหตุอาจเกิดจากการรดน้ำมากเกินไป และอีกสาเหตุคือ แค็กตัสบางชนิดจะออกดอกแต่ในสภาพอากาศแบบหนึ่งเท่านั้น หรือบางครั้งอาจเป็นเพราะได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรสอบถามทางร้านให้ชัดเจน ว่าแค็กตัสที่ซื้อออกดอกในภูมิอากาศแบบใด หรือมีอายุน้อยเกินไป ยังไม่ถึงวัยที่จะมีดอก

ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” โดยมีผู้ประกอบการเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงานในอุตสาหกรรมงานเชื่อมเขตพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) กว่า 60 คน ร่วมสัมมนา เพื่อรับทราบเทคโนโลยีการเชื่อมขั้นสูงและแนวโน้มเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้ในการผลิตและสร้างนวัตกรรม รวมถึงเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ (Smart SME) ด้านงานเชื่อมในเขตพื้นที่ EEC ด้วยการยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผลิตด้วยกระบวนการเชื่อม และการส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะแปรรูป เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจแข่งขันได้ในตลาด

น.ส. ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ริเริ่มดำเนิน “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม สำหรับปีงบประมาณ 2560-2563” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มการผลิตงานโลหะที่เป็นผู้รับจ้างผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และการบินและโลจิสติกส์

ได้มีความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของตนเอง สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตได้อย่างเหมาะสม โดยได้จัดทำโมเดลย่อยในโครงการ จำนวน 3 โมเดล ได้แก่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตขั้นสูงและสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีระบบการผลิตแบบกึ่งและอัตโนมัติ และเทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจสอบและซ่อมบำรุง โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น

เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมและเข้าร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะ ให้เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนขององค์กรต่อไป โดยงานสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการงานเชื่อมในพื้นที่ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

ผศ.ดร. ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยในปัจจุบันว่า งานเชื่อมอาจจะไม่ได้เป็นนวัตกรรมแบบเทคโนโลยี แต่อาจเป็นนวัตกรรมในด้านกระบวนการ ทำให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมงานเชื่อมจริงๆ แล้วไม่ได้มี แต่งานเชื่อมเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกี่ยวข้องตั้งแต่สร้างโรงงาน หรือการต้มน้ำ อุตสาหกรรมต่อเรือ ไฟฟ้า ยานยนต์ งานโครงสร้าง งานท่อไปป์ไลน์ เป็นต้น เพราะล้วนเป็นการใช้กระบวนการเชื่อมในการสร้างงาน ซึ่งงานเชื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) Fabrication การสร้างงาน 2) Production การผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ที่มีไลน์การผลิต และ 3) Maintenance การซ่อมบำรุง โดยในส่วนงานเชื่อมที่ใช้งานค่อนข้างมากกว่าแบบอื่น คือ ในส่วนของกระบวนการ (process) ซึ่งหลายๆ โรงงานมีกระบวนการเชื่อมมากกว่า 1 อย่าง ที่ใช้กระบวนการนั้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งหรือจำแนกออกเป็น 4 กระบวนการ ตั้งแต่การเชื่อมด้วยมือ (Manual) การกึ่งผสมผสาน (Semi) การเป็นแรงงานกึ่งทักษะ ที่ต้องคอย operate เครื่อง จนถึงการใช้ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่ง 2 ส่วนนี้ยังแยกกันอยู่ เพราะระบบหุ่นยนต์หลายแห่งยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนป้อนชิ้นงานเข้าไปสู่งานเชื่อม ซึ่งจุดนี้ยังสามารถออกแบบพัฒนาระบบให้สามารถทำงานและตั้งค่าการทำงานโดยอัตโนมัติได้

“3 เหตุผลหลักที่ต้องใช้ระบบหุ่นยนต์ หรือ Robotic ในอุตสาหกรรมงานเชื่อม คือ เรื่องผลิตภาพ (productivity) กำลังการผลิตที่ต้องการปริมาณมากจำเป็นต้องใช้ระบบหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพื่อให้ทำงานได้ตลอดเวลา เรื่องคุณภาพ (quality) ในการใช้หุ่นยนต์ผลิต เสมอต้นเสมอปลาย และเรื่องต้นทุน (cost) อาจลงทุนช่วงแรกสูง แต่ในระยะยาว การมีตลาดที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ผลิตมากจะมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทั้งนี้ เทคโนโลยีเครื่องเชื่อม หรือ Welding Technology & Equipments ทุกวันนี้ อยู่ที่ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) จากเดิมที่เป็นหม้อแปลงขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมาก เช่น งานเชื่อมโลหะ ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก เชื่อมวันละ 8-12 ชั่วโมง ดังนั้น ควรใช้ Inverter เพื่อประหยัดพลังงาน แต่ยังมีขีดจำกัดด้านราคาอยู่บ้าง แต่คุ้มค่าในระยะยาว”

ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ มีมุมมองจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนให้ความเห็นในหัวข้อเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)” โดย รศ.นิพนธ์ ศิริศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบคุณภาพงานเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอดีต CEO สถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึง EEC กับทิศทางอุตสาหกรรมงานเชื่อมว่า ก่อนอื่น ผู้ประกอบการ SME ต้องวิเคราะห์ตัวเองออกมาให้ได้ก่อน ว่าองค์กรเราคืออะไร บริบท ผลกระทบที่จะมีกับเราหลังเกิด EEC เป็นการวิเคราะห์ SWOT เช่น รถไฟไม่ผ่าน และหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าจะมีใครบ้าง จากนั้นให้ทำการประเมินความเสี่ยง เช่น งานด้านเชื่อม ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจด้วยการหาเทคโนโลยีรองรับการทำงาน หรือจัดทำมาตรฐานด้านงานเชื่อมเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้นได้

ขณะที่ผู้แทนจากหน่วยงานรับรองมาตรฐาน คุณชัยวัฒน์ พันธุ์ชาติ ผู้จัดการฝ่าย Engineering Services บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ในการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม หลายๆ ประเทศในยุโรปจำเป็นต้องมีการรับรองมาตรฐานเพื่อทำการตลาด ขณะที่ในประเทศแถบเอเชียไม่ได้มีระบุหรือกำหนดว่า ต้องมีระบบคุณภาพ (quality system) ที่ดี จึงจะขายได้ ด้วยเหตุนี้ ทางผู้ประกอบการ SME เองที่มีความประสงค์จัดทำมาตรฐาน จะสามารถนำไปเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สามารถนำไปแสดงกับลูกค้า

สะท้อนถึงความสามารถในการจัดการงานด้านงานเชื่อมของบริษัท เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ และในด้านหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกำกับมาตรฐาน คุณทวัยพร ชาเจียมเจน นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มองว่า แนวคิดในการทำมาตรฐาน คือ การกีดกันทางการค้า มาตรฐานเป็นกลไกเดียวที่จะกีดกัน ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำจะไม่สามารถขายสินค้าได้ โดย สมอ. ส่งเสริมผู้ประกอบการให้จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเน้นย้ำว่า ควรวิ่งเข้าหามาตรฐานก่อน อย่ารอให้มาตรฐานเข้าหา เช่น มาตรฐานงานเชื่อม มอก.2860 มอก.2692 และ มอก.2597 เป็นต้น

ด้านหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ ผศ.ดร. กฤตธี เอียดเหตุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวสรุปว่า กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในอุตสาหกรรมงานเชื่อม ควรมีการนำมาตรฐานงานเชื่อมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจก่อน โดยส่วนนี้ทางโปรแกรม ITAP สวทช. จะมีเครื่องมือช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการดำเนินงาน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งเข้าเยี่ยมชมกิจกรรม วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าธุรกิจควรเริ่มต้นยกระดับงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไร

นายพรศิลป์ พัชรินทรตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้จำหน่ายข้าวโพดใน จ.สระแก้ว จันทบุรี และนครราชสีมาว่า ปัจจุบันมีรถขนส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามชายแดนมาจากกัมพูชาจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งขนผ่านด่านซับตารี จ.จันทบุรี เข้ามาส่งถึงในลานพ่อค้า เพื่อนำมาขายในไทยเนื่องจากระดับราคาข้าวโพดในไทยสูงถึง 10.50 บาท/ก.ก. สร้างผลกระทบให้กับพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ซื้อข้าวโพดไทยไว้รอขายในช่วงหลังจากนี้

จากการตรวจสอบพบว่า ข้าวโพดที่นำเข้ามาจากกัมพูชาดังกล่าวไม่ใช่สายพันธุ์ที่ปลูกในกัมพูชา โดยมีลักษณะเม็ดและสายพันธุ์ที่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นข้าวโพดจากประเทศอาเจนตินา ซึ่งบางส่วนเป็นข้าวโพด GMO คาดว่าจะทำการลักลอบขนส่งหนีภาษีผ่านทางเวียดนามเข้าสู่กัมพูชา เพื่อนำมาขายในไทยทำกำไรมหาศาลจากนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ทำให้กลไกราคาข้าวโพดบิดเบือน จนเอื้อให้เกิดการทำทุจริตผิดกฏหมายลักลอบนำเข้าเช่นนี้

ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของข้าวโพดอาร์เจนตินา จะมีเม็ดใหญ่หัวเล็ก ปลายใหญ่เป็นเหลี่ยม สีซีด ฝุ่นแป้งเยอะ ซึ่งแตกต่างกับข้าวโพดไทยที่เม็ดเล็ก อ้วนป้อม สีเหลืองเข้ม อย่างชัดเจน

“ผมไม่แปลกใจ เมื่อพ่อค้าพืชไร่กลุ่มที่ลักลอบนำข้าวโพดอาเจนตินาเข้ามา จะเป็นคนออกมาเรียกร้องให้โรงงานอาหารสัตว์เปิดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงนี้ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าช่วงปลายฤดูที่ข้าวโพดมีน้อยเช่นนี้ โรงงานต่างๆ จะทำการปิดปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับข้าวโพดฤดูกาลใหม่ชึ่งเป็นเรื่องที่ทำมาโดยปกติทุกปี”

นายพรศิลป์ กล่าวว่า กลไกการบิดเบือนราคาที่รัฐกำหนด นับเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกิดการลักลอบนำเข้าดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากราคาข้าวโพดไทยที่สูงถึง 10.50 บาท/ก.ก. นั้น สูงกว่าราคาข้าวโพดในตลาดโลกถึง 2.50-3 บาท/ก.ก. จึงเป็นช่องว่างให้พ่อค้าบางกลุ่มฉวยโอกาสกอบโกยผลประโยชน์จำนวนมาก ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย สมาคมฯจึงออกหนังสือเตือนสมาชิกให้ระมัดระวังและตรวจสอบก่อนรับซื้อข้าวโพดในช่วงนี้

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ขอให้โรงงานอาหารสัตว์และพ่อค้าพืชไร่ รายงานปริมาณสต๊อกข้าวโพดเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจากข้อมูลเดือนพ.ค. 2561 สต๊อกข้าวโพดที่อยู่ในมือพ่อค้าอยู่ที่ 66,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวโพดนาที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวในช่วงหลังเม.ย. และในช่วงเดือนมิ.ย. จะมีข้าวโพดในไร่ออกสู่ตลาดอีกประมาณ 11,000 ตันเท่านั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถนำไปตรวจสอบกับปริมาณการรับซื้อข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์ในช่วงเดียวกันจะพบว่ามีปริมาณข้าวโพดลักลอบเข้ามาจำนวนเท่าใด

อนึ่ง การประชุมนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนลงเป็น 2 : 1 ส่วนตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.- 31 ส.ค. 2561 เนื่องจากพบว่า หากใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน จะทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกกว่า 1.3 ล้านตัน เพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปลายฤดู และเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดไม่มีเหลืออยู่ในมือเกษตรกรแล้ว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการโต๊ะกลมร่วมกับนักลงทุนอังกฤษ ณ ASIA House กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ อาทิ ARUP HSBC KPMG SHELL PRUDENTIAL และ WOOD PLC จำนวนกว่า 20 รายเข้าร่วมการหารือ ว่า ชี้แจงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ว่าสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เชื่อมโยงกับการลงทุนของจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งนักลงทุนต่างสนใจในศักยภาพจุดนี้ เพราะการมาลงทุนในไทยเท่ากับมีโอกาสเชื่อมโยงทางธุรกิจกับบริษัทจากหลายประเทศ นอกจากนี้นักลงทุนสนใจมากเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีความคืบหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมายและการบริการที่เน้นเทคโนโลยี เพราะอังกฤษมีชื่อด้านเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุค 4.0

“นักธุรกิจที่เข้าร่วมหารือได้แสดงความสนใจและซักถามรายละเอียดของโครงการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ของรัฐบาล รวมถึงนโยบายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทยกับญี่ปุนและจีน นอกจากนี้กลุ่มสมาชิกของ เอเชีย เฮาส์ ซึ่งเป็นศูนย์ลงทุนทวีปเอเชียยังต้องการมาลงพื้นที่เยือนอีอีซีจึงกำหนดไว้เดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะประสานกับสำนักงานอีอีซีต่อไป”นายอุตตมกล่าว

สทนช.ประชุมหน่วยเกี่ยวข้องเร่งโรดแมปฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ก่อนเสนอนายกฯ พิจารณา เตรียมเดินหน้าแผนระยะเร่งด่วนขุดลอกจุดวิกฤตก่อนน้ำหลาก หวังเป็นแก้มลิงรับน้ำจากน้ำยม – น้ำน่าน ชะลอผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดทำแผนบูรณาการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์การบริหารจังหวัดพิจิตร เพื่อหารือแผนการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จ.พิจิตร

ลุยสินเชื่อผ่านมือถือ ใช้เอไอประเมินอนุมัติไวรับทันที 5 เดือน

ปล่อยกู้แล้วแสนล้านบาทนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้มีอัตราเติบโตดีขึ้นและสูงกว่าช่วงเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มไมโครหรือมียอดขายตั้งแต่ 500,000 บาท ต่อปี ขึ้นไป นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของลูกค้า และจากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทย มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าลูกค้าเอสเอ็มอีน่าจะมีความต้องการที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียน และขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ลูกค้าเอสเอ็มอีปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ 6% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ที่ 240,000 ล้านบาท โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีสินเชื่อใหม่เข้ามาแล้ว 100,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรก อยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ขยายตัวจากสินปี 2560 ที่ 698,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปีนี้คาดว่าไม่เกิน 5%

นายสุรัตน์ กล่าวว่า ธนาคารได้พัฒนาโมเดลการปล่อยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีขึ้นมาใหม่ผ่านช่องทาง ออนไลน์บนมือถือ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เช่น ข้อมูลด้านเงินฝาก การใช้เครดิต และข้อมูลจากโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร หรือ K Plus เป็นต้น เพื่อประเมินหาความต้องการทางการเงิน และนำเสนอสินเชื่อผ่านมือถือ ซึ่งทำให้ธนาคารรู้ว่าต้องนำเสนอสินเชื่อให้ใคร ให้เท่าไหร่ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายมากขึ้น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการปล่อน สินเชื่อผ่านออนไลน์ทางมือถือราว 3,000 พันล้านบาท หรือครอบคลุมลูกค้ากว่า 6,000 ราย

นายสุรัตน์ กล่าวว่า ธนาคารได้เริ่มนำสินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านมือถือไปตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน โดยเป็นการส่งแจ้งเข้าไปในเมนู Life Plus บน K Plus ของลูกค้า ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับวงเงินที่ธนาคารนำเสนอ โดยหากตอบรับข้อเสนอ ธนาคารพิจารณาอนุมัติและอนุมัติ เมื่อลูกค้าจึงตกลงรับสินเชื่อเงินจะโอนเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายใน 1 นาที โดยให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท ไม่ต้องใช้หลักประกันไม่ต้องยื่นเอกสาร ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยสูงสุดราว 15-16% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงลูกค้า

ตรัง – นางดรุณี ศรีไตรรัตน์ เจ้าของสวนทุเรียน อำเภอปะเหลียน เผยว่า กำลังจะตัดทุเรียนขาย กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 130 บาท แต่ปัญหาฝนตกชุกผลทุเรียนร่วงหล่น เกือบร้อยละ 40 ส่งผลให้ราคาทุเรียนสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 30 บาท ต่อกิโลกรัม ปีที่แล้วขายทุเรียนแบบเหมาสวนได้ถึง 20 ต้น หรือกว่า 1.2 ล้านบาท ปีนี้ผลทุเรียนร่วงหล่นไปมาก คาดว่าจะทำให้รายได้ลดลงเหลือแค่ 5-6 แสนบาท แก้ปัญหาตัดทุเรียนขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะจะทำให้ได้ราคาที่ดีกว่าเกือบเท่าตัว และล่าสุดมีลูกค้าสั่งจองเข้ามามากแล้ว ทั้งทางโลกโซเชียล หรือเดินทางเข้ามาถึงสวนเลยทีเดียว

ปลูกทุเรียนกว่า 200 ต้น ในพื้นที่ 7 ไร่เศษ ทั้งพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และสาลิกา นับตั้งแต่เมื่อปี 2534 รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ปลอดสารเคมี ทำให้ที่สวนทุเรียนแห่งนี้ติดผลก่อนสวนอื่นๆ มีกลยุทธ์การขายคือ ซื้อไปแล้วเน่าเสียมาคืนได้พร้อมแถมให้อีก 1 ลูก เป็นค่าเสียเวลา

เชียงราย – นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ เชียงราย เผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงรายได้รับเลือกให้เป็นเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน จัดตั้งระยะที่ 2 ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และ เชียงของ เชียงรายมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 99,827 ล้านบาท รายได้เฉลี่ย 86,884 บาท ต่อคน ต่อปี จังหวัดจึงนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ให้ราคาสูง ส่วนการค้าชายแดนนั้นถือว่ามีมูลค่าการค้ามหาศาลอยู่แล้ว และภาคการท่องเที่ยวพบว่า ยังมีความแตกต่างระหว่างฤดูท่องเที่ยวและฤดูฝน จึงร่วมกับภาคเอกชนและเครือข่ายประชาชนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น ท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน

อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจคือราคาที่ดินที่พุ่งสูง ผังเมืองกำหนดพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้พัฒนาหรือสร้างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมากกว่า 5 แรงม้าแทบไม่ได้เลย ยางพาราต้องส่งขายจีนหรือภาคใต้ไม่ได้แปรรูปทำให้ราคาต่ำ เพราะสร้างโรงงานไม่ได้ แรงงานในพื้นที่มีผู้คนที่ถือบัตรหลากหลายผู้ประกอบการแทบไม่กล้าจ้างงาน ขอให้ภาคเอกชน นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ฯลฯ ร่วมกันอุดช่องว่างของอุปสรรคต่างๆ ปรับเข้าหากันเพื่อได้จุดลงตัว ถ้าทำได้จะทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าต่อไป

ด้าน นายวิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักอนุรักษ์จากกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองเชียงรายมุ่งเน้นรองรับความต้องการของกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ควรพัฒนาให้เกิดความสมดุล ใช้ความต้องการของภาคประชาชนเป็นหลัก เช่น พื้นที่ต้องการการศึกษาและวิจัยพืชพันธุ์ประเทศไทย ก็ตั้งมหาวิทยาลัยสมุนไพรอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่อำเภอเชียงของ เสียเลย เพราะภูมิภาคนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ที่สามารถพัฒนาเป็นสมุนไพรได้อยู่แล้ว ส่วนประเทศจีนก็มีความสนใจและต้องการพัฒนาในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น หากจัดตั้งมหาวิทยาลัยกลุ่มทุนจีนเข้าร่วมก็จะได้ประโยชน์ด้วยกัน ทุกฝ่ายต่อไป

สสก.9 พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร ชูแปลงใหญ่ลำไย อ.สามเงา จ.ตาก เป็นต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่าย ศพก. ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ ร่วมกันผลิตลำไยเกรดเอ ส่งออกได้ราคาสูง

นายนิพนธ์ แรมวิโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 9 จ.พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 พิษณุโลก ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยขับเคลื่อนเรื่องของการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ เชื่อมโยงเครือข่ายผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.

มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงแก้ปัญหาในเรื่องของการตลาดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งหมด ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนในรูปของแปลงใหญ่ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรรวมกันซื้อรวมกันขายทั้งผลผลิตทางการเกษตรและการจัดซื้อปัจจัยการผลผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างน้อย 20% และเพิ่มผลผลิตให้ได้ 20% ซึ่งการดำเนินงานในระดับพื้นที่ จะมีสำนักงานในระดับจังหวัดและอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบในด้านของการดำเนินงาน ทั้งด้าน ศพก. และแปลงใหญ่ โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในด้านองค์ความรู้ แล้วเข้าไปพัฒนาองค์ความรู้ตามความต้องการของเกษตร

กร สำหรับจังหวัดตากได้ขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ ปี 2559 จำนวน 35 แปลง ประกอบด้วย แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 12 แปลง แปลงใหญ่ข้าว 10 แปลง และแปลงใหญ่ลำไย 5 แปลง ส่วนอีก 8 แปลง ที่เหลือ ได้แก่ มันสำปะหลัง อะโวกาโด พืชผัก มันฝรั่ง กล้วยหอม แพะ โคขุน และประมง ซึ่งกระจายอยู่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดตาก ยกตัวอย่าง การผลิตลำไยแปลงใหญ่ ที่มีอยู่ 5 แปลง ในอำเภอวังเจ้า อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา โดยในอำเภอสามเงา มีอยู่ 3 แปลง ที่ ต. ย่านรี 2 แปลง พื้นที่รวม 1,023 ไร่ เกษตรกร 80 ราย ส่วนที่ ต. สามเงา พื้นที่รวม 445 ไร่ เกษตรกร 40 ราย และเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำอำเภอสามเงาด้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ

ด้าน ลุงมนัส โตเอี่ยม ประธานแปลงใหญ่ลำไย และเจ้าของศูนย์ ศพก. อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เปิดเผยว่า การผลิตลำไย ของอำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีมากว่า 30 ปีแล้ว เมื่อก่อนจะต่างคนต่างทำ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้มีการรวมกันเป็นแปลงใหญ่ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ มีสมาชิกประมาณ 50 ราย เฉลี่ยพื้นที่ปลูก รายละ 20-30 ไร่ สมาชิกทุกคนจึงได้มีการปรึกษาพูดคุยกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีการปรึกษากันเกี่ยวกับการทำลำไยคุณภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกได้และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้

โดยลุงมนัส บอกว่า ส่วนตัวมีสวนลำไยอยู่ 2 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ (แปลงหนึ่งอายุ 33 ปี มี 40 ต้น และอีกแปลงอายุ 16-17 ปี) ระยะปลูก 12×12 เมตร เลี้ยงทรงพุ่มให้กว้าง และไม่ชนกัน หลังจากปลูกไปประมาณ 3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต แต่ตอนนี้เฉลี่ยที่อายุต้น 16 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 200-250 กิโลกรัม (เป็นผลผลิตแบบคัดเกรด) สร้างรายได้ให้ประมาณ 6,000-7,000 บาท/ปี ส่งตลาดจีนเป็นหลัก ส่วนตลาดอินโดนีเซียจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกันยายน โดยการเก็บผลผลิตจำหน่ายจะอยู่ที่การตกลงกับคนซื้อ ถ้าเราเก็บเอง เราจะมีปัญหาด้านแรงงาน แต่ถ้าขายแบบเหมาสวน ทางพ่อค้าเขาจะมีทีมงานมาเก็บเอง ซึ่งในด้านตลาดนั้น จริงๆ แล้ว ช่วงเดือน กค.- สค. ทางอินโดนีเซียจะไม่รับซื้อของไทย เพราะเขาจะบริโภคของประเทศเขาก่อน แต่ตอนนี้เรามีตลาดหลักอีกแห่งคือ ประเทศจีน โดยจีนต้องการเบอร์ที่สวย เบอร์ใหญ่ ผิวดี โดยการซื้อขาย พ่อค้าจะเข้าไปดูที่สวน สวนไหนผลผลิตสวยได้ตรงตามมาตรฐานก็จะรับซื้อ แต่สวนไหนยังไม่ตรงตามต้องการ ลูกยังเล็กอยู่เขาก็จะยังไม่ซื้อ

“การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่เกิดผลดีต่อเกษตรกร ทั้งด้านการวางแผนการผลิตให้ได้คุณภาพ และสามารถรวบรวมผลผลิตได้ในปริมาณที่ตลาดต้องการ โดยไม่ถูกกดราคา อีกทั้งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการรวมกันทำแบบแปลงใหญ่ คือต้นทุนการผลิตที่ลดลง ยกตัวอย่างที่สวน ใน 1 แปลง ประมาณ 10 ไร่ จะต้องใส่ปุ๋ยอยู่ประมาณ 6 กระสอบ ใส่เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อเรารวมกันทำแบบแปลงใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยกันผลิตปุ๋ยสั่งตัดใช้เอง ด้วยการซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมตามสูตร ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ จากการซื้อปุ๋ยเคมีใช้ ประมาณ 2,000 บาท/ครั้ง หรือลดต้นทุนได้ 4,000 บาท/เดือน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก” ลุงมนัส กล่าวทิ้งท้าย

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้สำนักงานประกันสังคม ผลักดันให้แรงงานนอกระบบที่มีกว่า 2.2 ล้านคน เข้าถึงหลักประกันทางสังคม โดยให้สำนักงานแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์และเพิ่มทางเลือกที่ 3 ที่เป็นทางเลือกให้มีในการคุ้มครองให้กับผู้ประกันตน มาตรา 40 มากขึ้น รวมทั้งแก้ไขกฎหมายคืนสิทธิให้กับผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่สิ้นสภาพให้สามารถกลับเข้าสู่การคุ้มครองในระบบ

สำหรับ มาตรา 40 คือการขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่างๆ ขณะนี้มี 2.5 ล้านคน ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ยังมีอีก 20 ล้านคน ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ทางกระทรวงจึงได้แก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์

เพิ่มทางเลือกในการคุ้มครองให้กับผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อจูงใจให้แรงงานอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตน ส่วนมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่มีเหตุออกจากงานเดิม เร่งแก้กฎหมายคืนสิทธิให้ผู้ที่สิ้นสภาพกว่า 7.7 แสนคน กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง

เกษตรกรใน ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ได้นำสับประรด มามอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ส่งผลดีเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ป่า หลังประสบภาวะสับปะรดราคาตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระบุว่า นายศรคีรี บัวแจ้ง และ นางสุนารี มีมาก อายุ 28 ปี สองสามีภรรยา และครอบครัว ได้นำสับปะรดที่ไร่ของตนเองปลูกไว้ในพื้นที่ ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ใส่รถยนต์กระบะ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม นำมามอบให้กับ นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง อีก 1,000 กิโลกรัม เพื่อให้สัตว์ป่าได้กินเป็นอาหาร หลังราคาสับปะรดตกต่ำในรอบหลายสิบปี ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรไม่รู้จะเอาไปทำอะไร บางรายได้นำไปแจกให้แก่วัด และโรงเรียน หรือเพื่อนๆ ที่รู้จัก แต่ด้วยผลผลิตที่มาก หากปล่อยให้สุกคาต้นก็จะเน่าไม่มีประโยชน์

นางสุนารี มีมาก อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/3 หมู่ 9 เปิดเผยว่า ปลูกสับปะรดในที่ของตัวเองและเช่าด้วยประมาณกว่า 30 ไร่ ผลผลิตมีมากเกือบ 100 ตัน เป็นสับปะรดกินผลสด ราคาที่ส่งขายอยู่ ประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท เป็นในราคาทุน และจะขายเป็นสับปะรดกินผลสดเพียงอย่างเดียว ทำเป็นตลาดของแม่ค้า ส่วนโรงงานจะมีกลุ่มที่ทำสำหรับสับปะรดโรงงาน

การขายตอนนี้แย่มาก เพราะขณะนี้ราคาสับปะรดโรงงานตกต่ำ ทางโรงงานรับผลผลิตไม่ไหว อีกทั้งทางโรงงานก็นำออกมาขายคล้ายกับเป็นแม่ค้า ทำให้สับปะรดแม่ค้าของเราก็เลยราคาตกลงมา มาตีตลาดแม่ค้าสับปะรดกินผลสดเอง ความแตกต่างระหว่างสับปะรดกินผลสดกับสับปะรดโรงงานคือ หากเป็นสับปะรดโรงงานจะฉีดปุ๋ยให้ผลใหญ่ กินแล้วอาจจะกัดปาก รสชาติอมเปรี้ยวนิดๆ จนถึงรสชาติเปรี้ยว จะไม่เหมือนสับปะรดกินผลสดที่จะมีรสชาติหวานเจี๊ยบ

อย่างวันนี้ตนมีอาชีพปลูกสับปะรดและยังรับซื้อจากลูกไร่อีกส่วนหนึ่งได้นำมาให้กับเจ้าหน้าที่รวมกับของที่ไร่ตนเองจากผลผลิตที่จะคัดออก เนื่องจากตัดไม่ทันเริ่มสุกงอม ได้เอามาให้สัตว์กิน จากราคาที่ตกต่ำและระบายของไม่ทัน เนื่องจากผลผลิตมาจากหลายทางจากต่างจังหวัด จากที่เมื่อก่อนมาจาก อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา แต่ตอนนี้มาจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย ทำให้ผลผลิตชนประดังกัน

อยากให้ภาครัฐช่วยคือ เรื่องสับปะรดผลสดทางเกษตรกรขายได้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากสับปะรดโรงงานรับซื้อของเกษตรกรไม่ได้ เนื่องจากมีออเดอร์ต่ำลง ทำให้รับซื้อชาวไร่ได้ไม่มากนัก พอส่งออกไม่ได้ ผลิตไม่ได้ ทางสับปะรดโรงงานก็ต้องมาตีตลาดแม่ค้า จึงทำให้เกษตรกรจะย่ำแย่ลงทุกวันๆ เหมือนมาแย่งขายกันเอง อยากให้ภาครัฐช่วยกระตุ้นการส่งออกพืชผลสับปะรดด้วย หากมีการส่งออกดีขึ้นก็จะทำให้ผลผลิตราคาดีขึ้น ซึ่งทางกลุ่มแม่ค้าก็จะให้เกรดราคาที่ขายเหมือนกับที่โรงงานได้ตั้งไว้เหมือนกัน ถ้าโรงงานซื้อแพง ทางแม่ค้าก็จะได้ราคาแพงเช่นกัน

ซึ่งอาจจะได้ราคาแพงกว่าโรงงานนิดหน่อย ประมาณ 1-2 บาท ถ้าโรงงานซื้อขึ้นและมีการส่งออกได้ดี จะทำให้ผลผลิตดี โดยราคาประมาณ 5 บาท ทางแม่ค้าก็จะพออยู่ได้ แม่ค้าก็จะไปดีดราคาขึ้น ประมาณ 1-2 บาท เช่น เกษตรกรขายให้แก่โรงงานในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ทางแม่ค้าก็จะปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 1-2 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นราคาประมาณ 6-7 บาท เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันนี้โรงงานรับซื้ออยู่ประมาณ กิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนแผงร้านค้าขายกิโลกรัมละ 1 บาทเศษ และจะต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนอีกด้วย ในการจะนำผลผลิตเข้าไปขายให้โรงงาน โดยปัญหาราคาสับปะรดคิดว่าคงไม่ได้ย่ำแย่ทุกปี มันน่าจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง แต่หากอีก 2 ปี ไม่ดีขึ้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาคิดว่าเกษตรกรไทยจะย่ำแย่ลงจนตาย

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทราบว่า ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างมีสัตว์ประมาณ 63 ชนิด กว่า 500 ตัว มีสัตว์หลายชนิดที่กินสับปะรดได้ เช่น เก้ง กวาง เม่น หมี ลิง ละอง ละมั่ง อูฐ ลิง นก ไก่ฟ้า เป็นต้น สำหรับสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ป่ามากและเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่าด้วย อีกทั้งมีรสชาติเมื่อสุกแล้วจะหวาน มีวิตามินซีสูง สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคให้แก่สัตว์ป่าได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือที่ทางเจ้าหน้าที่ของสถานีฯ จะให้กินวิตามินเพื่อเสริมให้แก่ร่างกายอยู่เป็นประจำแล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องมีการคัดเลือกผลที่ค่อนข้างฉ่ำนำมาให้กินก่อน เนื่องจากหากเป็นผลไม่สุกมาก จะทำให้กัดลิ้น และการให้กินก็จะต้องดูประเภทของสัตว์ป่าด้วย หากเป็นสัตว์ปีกจะหั่นเป็นลูกเต๋าสี่เหลี่ยม จะได้จิกกินง่าย แต่หากเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น อูฐ กวาง เก้ง จะสับผ่าให้กินเป็นชิ้นๆ เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและระบบการย่อยอาหารของสัตว์แต่ละชนิดด้วย ส่วนผลที่ยังไม่สุกเต็มที่ก็ยังสามารถเก็บไว้ให้สัตว์ได้กินต่อไปได้

ส่งออก 5 เดือนแรก มูลค่ากว่า 104,031 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.6% สูงสุดในรอบ 7 ปี เตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกเดือนกรกฎาคมนี้ขณะที่ส่งออกพฤษภาคม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้ากับไทย ด้านน้ำมันแพงช่วยดันราคาสินค้าเกษตรขึ้นด้วย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทย พฤษภาคม 2561 มีมูลค่ากว่า 22,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าต่างๆ และไทยสามารถกระจายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ได้ ทั้ง ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอาเซียน ซึ่งหากหักการส่งออกน้ำมันและทองคำออก การส่งออกของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ถึง 8%

โดยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวถึง 12.6% กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติกขยายตัวในระดับสูง ขณะที่กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ 1.5% โดยข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังคงส่งออกได้ต่อเนื่อง

ส่งผลการส่งออกช่วง 5 เดือนแรกมีมูลค่า 104,031 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.6% สูงสุดในรอบ 7 ปี แสดงให้เห็นว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ไม่มีผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยมากนัก มั่นใจว่าในปีนี้จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ถึง 8% อย่างแน่นอน เนื่องจากค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้มีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น จะมีการทบทวนการประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่ ในเดือนกรกฎาคม อีกที

ส่วนการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.6% จากการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าทุนและวัตถุดิบ และไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,203.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 เดือนแรกไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอาจพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ลดลง แต่การใช้น้ำมันยังเติบโตอย่างตอ่เนื่อง ทำให้ราคาสูงขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตาม ส่วนค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง เป็นโอกาสดีต่อผู้ส่งออกในการเร่งผลักดันส่งออกสินค้า แต่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และ ทำประกันความเสี่ยง

เมื่อมีปัญหาการนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ข้อสันนิษฐานแรกๆ มักจะชี้ว่า ความเครียดเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ แต่ความจริงแล้วการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุที่จัดอยู่ในกลุ่มสุขนิสัยในการนอน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่อยู่ในกลุ่มการป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อการนอนหลับ
พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ทางด้านชะลอวัยของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยกตัวอย่าง 5 โรค ที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการนอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ได้แก่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติไม่เพียงถนัดแต่เรื่องผลไม้

แช่อิ่มกับผลไม้อบแห้ง แต่ทางกลุ่มยังมีความชำนาญทางด้านทำขนมไทยโบราณหลายอย่าง โดยเฉพาะขนมที่เด่นอย่างสำปันนีแป้งกล้วย ซึ่งเป็นขนมสมัยรัชกาลที่ 2 ในสมัยก่อนเรียกพญาเสวย โดยใช้กล้วยน้ำว้าดิบปอกเปลือกและฝานให้บางตากแดดให้แห้งแล้วนำมาปั่นให้เป็นแป้งกวนร่วมกับหัวกะทิ โดยใช้แป้งกล้วย 1 กิโลกรัม หัวกะทิ 4 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 4 กิโลกรัม แล้วกวนร่วมกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ใช้ไฟอ่อน

หลังจากนั้น นำใบตองกล้วยตานีลนไฟตัดเป็นแผ่นเล็กเพื่อห่อแล้วนำไปตากแดด เหตุผลที่ต้องใช้ใบตองกล้วยตานีเพราะมีความหอม เมื่อแกะขนมออกจากใบตองก็จะทำให้ขนมนั้นมีความหอมด้วย นอกจากนั้น ยังทำขนมไทยอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นทองม้วน ลูกชุบ รังไร ช่อม่วง ทองหยิบ ฝอยทอง ฯลฯ

ป้าแดงชี้ว่า ตลอดเวลาที่ทำผลไม้กลับชาติยังไม่เคยพบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะทุกอย่างมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบหรือความรู้ความชำนาญ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงคือการสืบทอดความรู้เหล่านี้ไปยังคนรุ่นหลังที่นับวันจะให้ความสำคัญน้อยลง

“อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ เนื่องจากเป็นสมบัติที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และยังถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพราะตอนนี้ต่างชาติเริ่มให้ความสนใจกันแล้ว ทั้งนี้ คนที่สนใจควรเริ่มจากต้องมีใจรักจริงเสียก่อน ต้องมีความอดทน เพราะความรู้เรียนกันได้ไม่ยากถ้าคุณสนใจจริง ดังนั้น หากต้องการเรียนรู้เชิญมาได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ และสอบถามรายละเอียดได้ที่ป้าแดง โทรศัพท์ (034) 761-084” ป้าแดง กล่าวฝาก

ต้นดีปลี มีถิ่นกำเนิดที่เกาะโมลัคคาส ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้มีการนำมาปลูกและแพร่กระจายในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้เถามีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะและเลื้อยพัน เถาค่อนข้างเหนียวและแข็ง มีข้อนูน แตกกิ่งก้านสาขามาก เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น มีแสงแดดรำไร ทุกส่วนประกอบของต้นดีปลีไม่ว่าจะเป็น ดอก ผล ราก ล้วนมีประโยชน์และสรรพคุณทางยามากมาย นิยมนำมาทำยาสมุนไพร โดยมีข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดีปลี สมุนไพรไทยดีปลี มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ ช่วยต่อต้านออกซิเดชั่น ต้านพิษต่อตับ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว

และดีปลียังใช้ปลูกในเชิงการค้าเพื่อใช้ทางอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพร โดยมีทั้งการปลูกเป็นพืชหลักและพืชเสริม โดยแหล่งผลิตที่สำคัญในบ้านเราได้แก่ ตำบลบ้านใหม่ ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนแหล่งผลิตอื่น ๆ ก็ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จันทบุรี และนครศรีธรรมราช

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดย คุณสุภีริยา เตชะนันท์ (คนที่ 2 จากขวา) ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อส่วนภูมิภาค แผนกสินค้าอาหารสด เป็นตัวแทนร่วมลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน ในการซื้อขายสินค้าเกษตรของในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือกับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร โดยมี คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (คนที่ 3 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน” ที่จัดขึ้นโดย คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ โครงการวิจัยศึกษาแนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการที่ดิน ที่นำไปสู่การกระจายที่ดินที่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรการปฏิรูปประเทศ

เบื้องต้นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลในปี 2560 ระบุว่าพื้นที่ประเทศไทยมี 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ (47%) ต่อจำนวนประชาเกษตรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 7.69 ล้านครัวเรือน หรือ 24 ล้านคน พื้นที่จำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อเกษตรกร แนวทางการจัดสรรที่ดินของกระทรวงเกษตรฯ การจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ทั้งในส่วนของการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้เชื่อมโยงกัน มีการจัดทำ One Map แผนที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ เพื่อการจัดโซนนิ่งทางการเกษตรได้ว่าบริเวณใดควรปลูกอะไร ปริมาณเท่าไหร่

ต่อมา ผศ. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “แนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน” สกว. ได้ให้ข้อมูลว่า การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหัวข้อหนึ่งที่คณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง หรือ อปป. หยิบยกมาพิจารณาเนื่องจากถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 72 (3) มาตรา 258 ช. (2) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่สมควร จะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว เพื่อปรับปรุงเครื่องมือการบริหารและตัดสินใจทางนโยบาย

ปัจจุบันกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการจัดที่ดินให้แก่ประชาชนโดยตรงมี 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ประมวลกฎหมายที่ดิน 2. พระราชบัญญัติที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยกฎหมายเกือบทั้งหมดกำหนดให้นำ “ที่ดินของรัฐ” มาจัดให้ประชาชน บุคคลที่จะมีสิทธิ์ได้รับการจัดที่ดินกลุ่มแรกคือเกษตรกรและผู้ยากจน โดยขนาดที่ดินที่จัดให้จะอยู่ทีไม่เกิน 3-5 ไร่ ในส่วนของข้อกฎหมายพบว่า กฎหมายใหม่ด้านที่ดินของประเทศไทยเกิดขึ้น ในขณะที่กฎหมายก็ยังมีผลบังคัลใช้ ทำให้มีความซ้อนทับกัน ปัญหาที่พบหลังจากมีการจัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งคือ

ผู้ที่อยู่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินนั้นซึ่งได้รับความนิยามว่า คนจน เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนเป็นกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ จะขายที่ดิน กล่าวโดยง่ายคือ ที่ดินมือหนึ่งเป็นของคนจน แต่มือต่อๆ มาเป็นของคนรวย ซึ่งอาจอยู่ในวงจรของการฟอกที่ดิน ทำให้การจัดสรรดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินหรือความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ในสภาพความเป็นจริงยังพบว่าการจัดสรรที่ดินเพื่อทำการเกษตรนั้น ผู้ที่ได้รับการจัดสรรมักจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมบนที่ดินดังกล่าวที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าการทำการเกษตร เช่น จัดทำโฮมเสตย์ ทำธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งขัดความประสงค์ของรัฐที่วางไว้ และนอกจากนี้จากการจัดสรรดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 102.1 ล้ายไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ป่าของประเทศ ดังนั้น คณะผู้วิจัยโครงการดังกล่าว จึงเสนอแนวทางการจัดการที่ดินให้เหมาะสม

ที่เป็นมาตรการเร่งด่วนคือการจัดตั้งธนาคารที่ดิน การปรับรื้อกองทุนด้านที่ดิน สร้างระบบฐานข้อมูลป่าไม้-ที่ดิน และระบบภาษีที่ดิน จัดทำร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปฏิรูปหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสิทธิการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทำประมวลกฎหมายป่าไม้ และการปรับรื้อกฎหมายที่ดินฉบับต่างๆ จัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และปฏิรูประบบผังเมือง นอกจากนี้ในกฎหมายหลายฉบับควรมีการปรับเปลี่ยนนิยามของผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินทั้งในส่วนของคำว่า “เกษตรกร” “ผู้ยากจน” รวมถึงชุมชนที่จะมีสิทธิได้รับที่ดิน ทั้งนี้ความคิดเห็นที่ได้จากข้อหารือต่อแนวทางการจัดสรรที่ดินดังกล่าวจะถูกนำไปพัฒนารายงานต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อนำส่งต่อให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ฝ่ายปกครอง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หน่วยงานความมั่นคง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร เครือข่ายคนรักษ์ช้างป่า ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างแก่งกระจาน หมู่ 1 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน

นายมานะ กล่าวว่า ได้เปิดเวทีแสดงความเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทบทวนแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ขณะที่หลายฝ่ายเดินหน้าสร้างมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะยาว เช่น การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ ชุดจงอางศึก ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า สร้างแนวรั้วกึ่งถาวร และส่งเสริมชุมชนช่วยดูแลทรัพย์สินพืชผลทางการเกษตร การป้องกันเหตุขณะช้างป่าเดินหากินบนถนนสายหัวหิน-ป่าละอู ล่าสุดได้นำมาตรการเสริมรั้วรังผึ้ง เสนอเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันช้างป่าบุกเข้าทำลายพื้นที่ทางการเกษตร โดยเชิญ นางรชยา อาคะจักร นักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงแนวทางดำเนินงาน หลังจากกรมอุทยานฯ มอบหมายให้ทำโครงการนำร่องประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่

“ ปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นปัญหาสำคัญกับการอนุรักษ์ช้าง เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ถิ่นที่อยู่ของช้างป่ามีพื้นที่ลดลง ปัจจุบัน มีช้างป่ากว่า 150 ตัว อาศัยในพื้นที่กว่า 220 ตารางกิโลเมตร ทางตอนล่างของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้มีความหนาแน่นค่อนข้างสูง ช้างป่าจึงต้องออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บางครั้งพบเจอมากถึง 80 ตัว ในครั้งเดียว ผลจากการศึกษา ตั้งแต่ ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล ทั้ง อ.แก่งกระจาน และ อ.หัวหิน ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ มีปัญหา 60 ครั้ง ต่อปี และ ต.ป่าเด็ง มีปัญหา 54 ครั้ง ต่อปี รวมความเสียทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านบาท ต่อปี” นายมานะ กล่าว

จานกาบหมาก รายแรกในไทย

คุณสุมาลี ภิญโญ เท้าความว่า เมื่อ พ.ศ. 2539 ในตอนนั้น ได้รับมอบหมายให้จัดงานเลี้ยงอาหารขันโตก ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา งานประเพณีภาคอีสานนั่งกินอาหารกับพื้นในช่วงค่ำ สมัยนั้นภาชนะบรรจุอาหารเป็น “โฟม” ซึ่งสวนทางกับธีมงานที่เป็นแบบย้อนยุค อีกทั้งโฟม เป็นขยะกำจัดยาก ปีต่อมาเปลี่ยนใช้กระทงใบตอง แต่ทว่าใบตอง ใส่อาหารได้น้อย ใส่อาหารที่มีน้ำก็รั่ว ฉีกขาดง่าย ณ เวลานั้น ยังหาทางออกไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอใบกาบหมากจากต้นหมาก ทดลองนำมาขึ้นรูปเป็นจาน ชาม ปรากฏว่าใส่อาหารได้ทุกเมนู จากนั้นค่อยๆ ต่อยอดเรื่อยมา จนกลายเป็นธุรกิจ

วันที่ คุณสุมาลี เจอใบกาบหมาก เธอบอกว่า เห็นร่วงอยู่ที่พื้น ปกติชาวสวนจะนำไปเผา แต่จากการสังเกตเห็นว่าใบไม้ชนิดนี้มีลักษณะแข็ง เลยลองให้สามีซึ่งเป็นช่าง ขึ้นรูปเป็นจาน ปรากฏว่าใส่อาหารร้อน-เย็นได้ ใส่น้ำได้ไม่รั่ว เข้าไมโครเวฟได้ เลยทำขาย ตั้งแต่ ปี 2540 ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา กระทั่ง ปี 2547 ส่งเข้าประกวดสินค้าโอท็อปได้ 4 ดาว จากนั้นไปขายที่งานโอท็อป เมืองทองธานี ขายดิบขายดี สินค้าไม่พอขาย ต้องทำตามออเดอร์เท่านั้น

“ย่านอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านปลูกต้นหมากกันมาก ส่วนใหญ่จะเก็บแต่ลูกหมากไปเคี้ยว กาบหมากหรือใบมักจะถูกทิ้ง หรือนำไปเผา ดิฉันนำมาทดลองทำภาชนะ โดยคิดค้นเครื่องจักรปั๊มขึ้นรูป โดยใช้ความร้อน สามารถผลิตกาบหมากออกมาเป็นภาชนะรูปแบบต่างๆ”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “จานกาบหมาก” ของคุณสุมาลีก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปี 2558 เจ้าของเริ่มสร้างแบรนด์ ใช้ชื่อ ‘วีรษา’ (VEERASA) ชื่อนี้มาจากชื่อของคุณปู่ และคุณย่า รวมกัน “วีระ+อุษา” ซึ่งหญิงสาวมองว่าเป็นชื่อที่สามารถจดจำได้ง่าย ชาวต่างชาติออกเสียงได้ไม่ยาก

“จานกาบหมากวีรษา แม้จะขายมานาน ตั้งแต่ ปี 47 แต่เป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้างราว ปี 60 อาศัยการออกบู๊ธอย่างสม่ำเสมอและลูกค้าบอกปากต่อปาก ขนาดมีลูกค้าต่างชาติบินมาสั่งที่โรงงาน อาทิ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ”

สำหรับจุดเด่นของภาชนะจากกาบหมาก เจ้าของสินค้า ระบุว่า มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากสารเคมีและการฟอกสี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่แตกหักง่าย น้ำหนักเบา ใส่อาหารได้ทุกเมนู ใส่ของเหลวได้ เข้าเตาไมโครเวฟได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี มีกลิ่นหอม และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ย่อยสลายได้เองใน 45 วัน

ด้าน “กาบหมาก” ที่นำมาใช้นั้น คุณสุมาลี ระบุว่า อายุ 3-5 ปีขึ้นไป ต้นหมาก 1 ต้น จะมีกาบหมากตลอดทั้งปี จำนวน 15 กาบ กาบหมากที่มีความสมบูรณ์จะร่วงจากต้นเอง

ผลิตเท่าไรไม่เคยพอขาย

ในส่วนของขั้นตอนการทำ นำกาบหมากที่ร่วงจากต้น เลือกขนาดที่ต้องการนำมาล้างทำความสะอาด ให้ดินโคลนออกทั้งหมด ตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นนำเข้าเครื่องจักรความร้อนสูงปั๊มแบบลงไป ตัดแต่งให้สวยงาม ความพิเศษของบรรจุภัณฑ์จานกาบหมาก คือ มีความแข็งแรง แต่ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะหากโดนน้ำแล้วตากไม่แห้งจะชื้น มีเชื้อรา

ด้านวัสดุที่คุณสุมาลีใช้ ส่วนหนึ่งเธอปลูกต้นหมากเอง อีกส่วนหนึ่งรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งจะรับซื้อราคากิโลกรัมละ 8 บาท และเนื่องจากวัสดุมีไม่พอต่อความต้องการ หญิงสาวเลยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหมาก โดยการจะรับซื้อทั้งหมด ดำเนินการแล้วที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นหมากได้ ประมาณ 1,000 ต้น พร้อมยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้

หลังจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกสำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยยาง ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พบปริมาณน้ำเหลือ เพียง 18% และทางชลประทานสระแก้ว ร้องขอศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยยางและอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำนั้น

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยยาง ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และ นายยศพล สยามไชย หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสระแก้ว สำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จังหวัดสระแก้ว เพื่อเตรียมปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวอำเภอตาพระยาและอำเภอโคกสูงในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

ด้าน นายยศพล สยามไชย หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสระแก้ว กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยยาง ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 18% ซึ่งอ่างเก็บน้ำนี้สามารถเก็บน้ำได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทางชลประทานสระแก้ว มีนโยบายที่อยากจะเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้มีปริมาณน้ำอย่างน้อย 50-60% เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในปีต่อไปมีประสิทธิภาพ จึงทำเรื่องขอความอนุเคราะห์ไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก เพื่อทำฝนหลวงในบริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าว

นายประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กล่าวว่า สำหรับการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยยางและห้วยตะเคียนทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงได้มาตั้งหน่วยในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่สนามบินวัฒนานคร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยยางและอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน ซึ่งจากการบินสำรวจพื้นที่ เพื่อดูปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติการทำฝนหลวง พบว่า บริเวณดังกล่าวมีกระแสลมชั้นบนที่มีกำลังแรงซึ่งต้องคำนวณเพื่อที่จะทำให้ฝนตกบริเวณดังกล่าว และจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในพื้นที่ข้างเคียงในเรื่องของน้ำหลาก ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจะมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้มากที่สุดและให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการต่อไป

จีนแชมป์ต่างชาติซื้อคอนโดใน กทม.มากสุดทั้งอยู่เองและเพื่อลงทุนทั้งคอนโดระดับกลางและบนราคา 1.5-6 ล้านบาท เผยคอนโดปรับขึ้นเฉลี่ย 8.3% แต่คอนโดหรูขึ้นเล็กน้อยแค่ 0.4% เหตุแข่งขันรุนแรง

นางสาวนนท์รภัส พรสินคุณานนท์ หัวหน้าฝ่ายบริการธุรกิจที่พักอาศัย บริษัท โจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเจแอลแอล เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลจีนจะยังคงใช้มาตรการคุมเข้มให้ประชาชนของตนนำเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกินคนละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 ล้านบาท ต่อปี แต่จากการสังเกตการณ์โดยบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ซื้อชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ มากที่สุด โดยประเมินว่าราว 50% ของชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เป็นผู้ซื้อชาวจีน จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทจีนเข้ามาเปิดธุรกิจในไทยจำนวนมาก และเป็นผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงานมากที่สุดเป็นอันดับ 3

นางสาวนนท์รภัส กล่าวว่า สำหรับคอนโดที่ชาวจีนนิยมซื้อส่วนใหญ่จะเป็นห้องชุดสตูดิโอและห้องชุดขนาดหนึ่งห้องนอน ในทำเลย่านรัชดาภิเษก-พระราม 9 ราคาระหว่าง 1.5-3 ล้านบาท โดยมีธนาคารต่างชาติและสถาบันการเงินของไทยบางแห่งที่มีนโยบายปล่อยกู้ให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อคอนโดในไทย โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ประกอบการพิจารณา อาทิ อายุของใบอนุญาตทำงานสำหรับบุคคลต่างด้าว และอายุสัญญาการว่าจ้างงานในประเทศไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตามการซื้อคอนโดของชาวจีนนี้ทั้งซื้อเพื่อการลงทุนและพักเองในช่วงที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย

“คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ที่ชาวจีนนิยมซื้อ ไม่ว่าจะเพื่อลงทุน หรือใช้เป็นที่พักช่วงเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ส่วนใหญ่มีระดับราคาที่ประมาณ 6 ล้านบาทในทำเลย่านสุขุมวิท แต่ยังพบว่า มีเศรษฐีชาวจีนจำนวนมากขึ้นที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมกลุ่มลักชัวรี่และซุปเปอร์ลักชัวรี่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และทำเลริมน้ำเจ้าพระยา” นางสาวนนท์รภัส กล่าว

นางสาวนนท์รภัส กล่าวว่า ทั้งนี้สำหรับสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ กรุงเทพฯมีคอนโดมิเนียมในโครงการที่สร้างเสร็จแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้นราว 524,000 ยูนิต โดยในจำนวนนี้ เป็นคอนโดมิเนียมระดับบน 46,000 ยูนิต โดยราคาคอนโดมิเนียมมือหนึ่งเฉลี่ยทั่วกรุงเทพฯ มีราคาปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่พบว่า คอนโดมิเนียมระดับบนมีราคาเฉลี่ยปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.4% เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น

นางสาวนนท์รภัส กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ซื้อที่ดินแปลงสำคัญๆ ในทำเลใจกลางศูนย์กลางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายที่ดินของสถานทูตอังกฤษโดยการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์ในราคาราว 18,700 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงสุดที่เคยมีมา การซื้อที่ดินที่ถนนหลังสวนโดยเอสซีแอสเสท ในราคาตารางวาละ 3.1 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นราคาซื้อขายที่ดินต่อตารางวาที่สูงสุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ เช่น ไรมอน แลนด์, แมกโนเลีย, ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ได้ติดตามผลการดำเนินงานและเยี่ยมชม “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวล” ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจเนอเรชั่น จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017 และ 2018 จำนวน 2 โรง คือ โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด หรือ BEC และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด หรือ BPC ซึ่งมีผลงานดีเด่นจนได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมการประกวดอาเซียน รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ โปรเจ็กต์ คอมเพทติชั่น โดยปัจจุบันบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 22,000 ตันอ้อย/วัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อยรวมมากกว่า 2 ล้านตัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลปีละ 750,000 ตัน จึงใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท จัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวลขึ้น 2 แห่ง เพื่อนำกากอ้อยดังกล่าว มาผลิตไอน้ำและไฟฟ้าใช้เป็นพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด ที่ได้รางวัลในปีนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตัน/ชม.

“พพ.มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานผ่านโครงการประกวด Thailand Energy Awards ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 19 ปี โดยในปีนี้มีโครงการรับรางวัล Thailand Energy Awards 2018 รวม 69 รางวัล โดย 25 โครงการได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวดในเวที ASEAN Energy Awards 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ที่ประเทศสิงคโปร์ มั่นใจว่าประเทศไทยจะยังรักษาสถิติจำนวนรางวัลสูงสุดไว้ได้เช่นเดิม” นางสาวนวลจันทร์ กล่าว

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

การยางแห่งประเทศไทยได้รับเกียรติจาก “สมาคมยางธรรมชาติแห่งอาเซียน” “The Association of Natural Rubber Producing Countries” (ANRPC) เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน (Towards Supply-Chain Efficiency) ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 9 ประเทศ จากทั้งหมด 12 ประเทศ

โดยการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในครั้งนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเกษตรกรชาวสวนยางทุกประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยาง รวมทั้งประเทศไทย แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มาจากการที่ปริมาณยางล้นตลาด แต่เกิดจากการการซื้อขายกันที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายเก็งกำไรล่วงหน้า และในที่ประชุมกำลังหารือทางออกร่วมกัน เพื่อจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำร่วมกันโดยพัฒนาระบบห่วงโซ่ อุปทาน

ในส่วนของ กยท. ได้อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 250 ล้านบาท ให้กับตลาดกลางทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ คือที่จังหวัดสงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หนองคาย และบุรีรัมย์ ที่มีโรงงาน แปรรูปยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง แล้วก็น้ำยางข้น เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับตลาดในการจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง แบบวันต่อวัน เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาคือตลาดส่วนกลางไม่มีเงินมาจ่ายให้กับชาวสวนยางที่เอายางมาขาย ต้องรอให้ผู้ซื้อนำเงินมาให้ก่อน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเกษตรกรสวนยางพอสมควร กยท. จึงได้จัดสรรเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 250 ล้านบาท ให้กับ 6 ตลาด เมื่อชาวสวนยางมาขายยางก็ได้เงินกลับบ้านภายในวันเดียวกัน แล้วทางตลาดก็ไปเก็บจากผู้ซื้อในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความลำบากให้กับชาวสวนยางในระดับหนึ่ง คาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินดังกล่าวได้ภายในสัปดาห์หน้า

ยืนยันยังไม่พบการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง คาดโทษหากพบดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กำชับสหกรณ์จังหวัดติดตามการใช้โครงการไทยนิยมยั่งยืน 1,791.5341 ล้านบาท หลังจัดสรรให้สหกรณ์ 307 แห่งไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและซื้อเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร ย้ำทุกขั้นตอนต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม คาดว่าจะประหยัดงบประมาณลง 57.499 ล้านบาท พร้อมยืนยันขณะนี้ตรวจสอบไม่พบการทุจริตหรือข้อผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ติดตามการใช้งบไทยนิยมยั่งยืนอย่างใกล้ชิด ภายหลังจากได้จัดสรรงบกลางปีวงเงิน 1791.5341 ล้านบาท อุดหนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ 307 แห่ง ใน 67 จังหวัดนำไปจัดสร้างสร้างฉางโกดัง ลานตาก เพื่อเก็บชะลอผลผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าจะช่วยชะลอและกักเก็บผลผลิตการเกษตรเพื่อทยอยกระจายสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯหรืองบกลางปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอตั้งงบประมาณตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากครุภัณฑ์ในโครงการจัดซื้อเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตรบางประเภท ไม่มีกำหนดราคามาตรฐานไว้ในรายการของสำนักงบประมาณ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสำนักงบประมาณ จึงให้สหกรณ์แนบใบเสนอราคาจากผู้ประกอบการอย่างน้อย 3 ราย ส่วนรายการสิ่งก่อสร้างต้องมีรายละเอียดตามที่กำหนด และต้องมีแบบแปลนที่วิศวกรรับรอง หลังจากนั้นคณะทำงานจัดทำคำของบประมาณฯ จะพิจารณาขอตั้งงบบประมาณเสนอสำนักงบฯ เมื่อพ.ร.บ.งบกลางปีมีผลบังคับใช้ สหกรณ์จะต้องปฏิบัติตามและถือใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่อ้างอิงจากระเบียบของทางราชการ

ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เอง และได้บริษัทผู้รับจ้างแล้วจำนวน 278 แห่ง ยังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างอีก 36 แห่ง ซึ่งทุกสหกรณ์จะยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่นายทะเบียนสหกรณ์แนะนำให้ถือใช้ และทุกขั้นตอนสหกรณ์จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าร่วมกำหนดราคากลาง การรับซองประกวดราคา การพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับพัสดุ จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมในทุกขั้นตอน

และเป็นการประกวดแข่งขันราคากันอย่างเปิดเผย ซึ่งกรมฯ ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลให้สหกรณ์ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง และห้ามไม่ให้ข้าราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปชี้นำในการจัดหาผู้รับจ้างหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แอบอ้างเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์โดยเด็ดขาด ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากพบพื้นที่ใดมีความไม่ชอบมาพากลหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นให้ดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาดทันที

“แต่ละสหกรณ์ก็ต้องทำตามแบบที่เสนอขอมา ว่าสิ่งก่อสร้างแบบไหน ครุภัณฑ์แบบไหนที่จำเป็นต้องใช้ เช่น รถโฟล์คลิฟ รถตัก แม้ว่าจะสามารถยกของได้ในปริมาณ 2 ตันเท่ากัน แต่อาจจะราคาต่างกัน เนื่องจากคุณสมบัติและสมรรถนะในการใช้งานของรถไม่เท่ากัน เช่น สามารถยกได้สูงกว่าและยาวกว่า เครื่องยนต์มีความแรง 2,000 ซีซี หรือ 3,000 ซีซี สหกรณ์จะเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมฯได้กำหนดว่าจะต้องมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อย 1 คน

เพื่อตรวจสอบทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใสและมั่นใจว่าสหกรณ์ดำเนินการอย่างเปิดเผย ซึ่งผลการจัดซื้อจัดจ้างขณะนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบ ซึ่งการแข่งขันราคา ส่วนใหญ่สหกรณ์จะจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือได้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ขอไป สามารถประหยัดงบประมาณลง 57.499 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดการแข่งขันอย่างมีอิสระ ไม่มีการล๊อคสเปค ซึ่งกรมฯได้วางระบบการกำกับติดตามการดำเนินโครงการนี้ไว้อย่างเข้มข้นรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องทุจริต และหากตรวจพบในภายหลังว่าสหกรณ์ใดมีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย รองประธานสภาเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรดที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาดใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีผลผลิตส่วนเกินรวมกว่า 6 หมื่นตัน ล่าสุดมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแต่ละจังหวัดไม่มีความคืบหน้า หลังจากหลายหน่วยงานรัฐช่วยเหลือรับซื้อผลผลิตจากชาวไร่เพื่อเร่งระบายสับปะรดผลสดไปจำหน่าย

“ทุกจังหวัดจะรับซื้อผลฃสดได้ไม่เกิน 4,000 ตัน สำหรับผลผลิตที่เหลือไม่สามารถส่งขายโรงงานแปรรูปได้ คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้สับปะรดผลสดก็จะเสียหายทั้งหมด แม้ว่จะนำไปขายราคาถูก เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ก็ไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงาน บางรายจึงปล่อยทิ้งเน่าคาไร่ สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ ขณะนี้ราคาหน้าโรงงานเหลือกิโลกรัมละ 1.80-2 บาท ที่ผ่านมาเกษตรกรที่มีโควตาส่งสับปะรดให้โรงงานตั้งข้อสังเกตกรณีโรงงานแปรรูปบางแห่งตัดโควต้าเดิมแต่สั่งซื้อสับปะรดจากต่างจังหวัดที่บวกรวมค่าขนส่งมีต้นทุนสูงแทนการรับซื้อสับปะรดของเกษตรกรในพื้นที่” นายสุรัตน์ กล่าว

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางดวงพร รอดพยาธิ์ ที่ปรึกษา รมช. พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมกับกรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าวไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 14 ระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารเวียดนาม ซึ่งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวและนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

โดยในปี 2561 เวียดนาม คาดการณ์การส่งออกข้าว อยู่ที่ 6.2 ล้านตัน ในขณะที่ไทยคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวที่ 10 ล้านตัน และในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2561 มีการคาดการณ์ว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาจะมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนจะชะลอการซื้อข้าว เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวทางชายแดนจากเมียนมาและยังคงระบายสต๊อกข้าวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Security and Food Safety) รวมทั้งการสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมในตลาดค้าข้าว

การประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าว ไทย-เวียดนาม ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวที่เป็นประโยชน์ และหารือแนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้าข้าวร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าข้าวของทั้ง 2 ประเทศ โดยภาครัฐพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มและความร่วมมือทางการค้าข้าวของภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาข้าวให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ อย่างยั่งยืนต่อไป

นายถวิล มั่งนุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมาย จาก นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้เร่งความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภายหลังราคาตก โดยล่าสุดทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 ได้รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร จำนวน 10 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและหมอดินอาสาที่ประสบปัญหา ราคาสับปะรดตกต่ำ ในการนี้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 ได้แจกจ่ายสับปะรดให้สถานีพัฒนาที่ดินในสังกัดทั้ง 7 จังหวัด นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.2 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

สารเร่ง พด.2 คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากพืชและสัตว์ที่สดหรืออวบน้ำ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน จะได้ของเหลวที่ประกอบด้วยกรดอินทรีย์และฮอร์โมน สามารถนำไปใช้ในรูปน้ำหมักชีวภาพ เหมาะสำหรับพืชผักและไม้ผล

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดิน ในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร. 02-981-1565 หรือ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 02-579-8515

กรมการค้าภายใน เอาจริง! จับผู้นำเข้ากระเทียม จาก ตปท. ที่ไม่มีใบอนุญาตการขนย้าย พบมีกว่า 1,500 กระสอบ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการลักลอบขนย้ายกระเทียมนำเข้าจากต่างประเทศ มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้กระเทียมในประเทศราคาตกต่ำ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษเข้าตรวจสอบ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เวลาประมาณ 20.00 น. ณ ตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ ตรวจพบรถบรรทุกกระเทียมนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีหนังสืออนุญาตการขนย้าย จำนวน 1,500 กระสอบ (กระสอบละ 10 กก.) เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและขอตรวจเอกสารกำกับการขนย้ายตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 เรื่อง การควบคุมการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ พบว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทางจากจังหวัดสตูล ซึ่งระยะเวลาการขนย้าย และหมายเลขทะเบียนรถไม่ตรงตามที่อนุญาตไว้ในหนังสืออนุญาตขนย้ายฯ

โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 เรื่อง การควบคุมการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 อันเป็นความผิด ตามมาตรา 25 (7) และมีโทษตาม มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงได้นำตัวพนักงานขับรถบรรทุก พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ดำเนินคดีต่อไป

สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว ถือว่าเป็นแนวทางแก้ไขอีกมาตรการหนึ่งของกรมฯ เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ เป็นการรักษาเสถียรภาพระบบตลาดสินค้าเกษตร ภายในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมในด้านราคา และปริมาณ ทั้งนี้ กรมฯ จะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษตรวจสอบเฝ้าระวังตามจุดผ่านแดนที่สำคัญตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากพบว่า มีการกระทำความผิด กรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ประกอบการที่นำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องของการนำเข้า การครอบครอง และการขนย้ายต้องให้มีรายละเอียด ชนิด ปริมาณ ระยะเวลา สถานที่ และพาหนะ ตรงตามที่ระบุในหนังสืออนุญาตขนย้าย สำหรับผู้ประกอบการรับ ซื้อสินค้าเกษตรอื่นๆ ต้องแสดงราคารับซื้อ และเงื่อนไขต่างๆ ในการแสดงราคารับซื้อ และห้ามกดราคารับซื้อโดยเด็ดขาด เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการขายสินค้าทางการเกษตร โดยกรมการค้าภายใน จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนพฤษภาคมปรับลดลง อยู่ที่ 47.7 จากเดือนเมษายนที่ 49.4 ผลจากสถานการณ์ทางด้านภาคการเกษตรที่ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ โดยจากการสำรวจตั้งแต่ต้นปีที่ดัชนีปรับดีขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งนี้ ดัชนีการบริโภคอยู่ที่ 47.0 จากเดือนก่อนที่ 48.7 เพราะประชาชนมีการใช้จ่ายและบริโภคไปจำนวนมากแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเดือนนี้เป็นช่วงเปิดเทอมประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมากขึ้น ด้านการลงทุน อยู่ที่ 46.0 จากเดือนก่อนที่ 47.8 การท่องเที่ยว อยู่ที่ 58.7 จาก 60.1 ในเดือนก่อน ภาคการเกษตร อยู่ที่ 39.7 จาก 39.5 ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 46.8 จาก 44.9 ภาคการค้า อยู่ที่ 45.5 จากเดิม 46.1 ภาคการค้าชายแดน ที่ 45.3 จาก 50.9 ภาคบริการที่ 52.3 จาก 52.1 และการจ้างงานที่ 45.9 จากเดิม 54.7 อย่างไรก็ตาม มุมมองดัชนีคงความเชื่อมั่นหอการค้าในอีก 6 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้น โดยดัชนีอยู่ที่ 50.1

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมและรายภาคมีทิศทางที่ปรับดีขึ้น และคาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแยกเป็นรายภาค พบว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบกระจุกตัว โดยภาคที่ฟื้นตัวดีสุด คือ ภาคตะวันออก เพราะมีการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมจากการส่งออกและมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยว รองลงมาคือ กรุงเทพ และปริมณฑล ที่แรงขับเคลื่อนมาจากภาคการค้า รองลงมา คือ ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่พึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลักยังต้องการการกระตุ้น ต่อมาคือ ภาคกลางมีความหลากหลายทั้งพึ่งพาภาคเกษตรในบางจังหวัด พึ่งพาอุตสาหกรรมในบางจังหวัด และพึ่งพาการท่องเที่ยวในบางจังหวัด จึงได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบมากสุด เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกระจุกในภาคท่องเที่ยวดี แต่ภาคเกษตรยังไม่ฟื้นตัวจากราคายางและราคาปาล์มที่ตกต่ำ

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จ.พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สสก.9 พิษณุโลก ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อจัดกิจกรรมพัฒนา Young Smart Farmer และอาสาสมัครเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

โดยกำหนดจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรและนวัตกรรมภาคเหนือตอนล่าง ปี 2561 ขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค.61 บริเวณสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานของ Young Smart Farmerและอาสาสมัครเกษตร 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ภายใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกร

“กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการมีชีวิตเสมือนจริง การจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยนำผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกร อาทิ ผลผลิตบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ทั้งผลิตภัณฑ์จาก พืช ผลไม้ สมุนไพร เกษตรอินทรีย์ และของดี 9 จังหวัดภาพเหนือตอนล่าง เช่น ทุเรียนหลงหลินลับแล สับประรดห้วยมุ่น ส้มโอท่าข่อย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนววิถี เป็นต้น

นอกจากนี้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสวนาการจัดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ของYoung Smart Farmerและอาสาสมัครเกษตรอีกด้วย จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวงาน นอกจากจะได้รับความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังได้เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย”นายอาชว์ชัยชาญ ฝากทิ้งท้าย

เว็บไซต์ดิ อินดีเพนเดนต์ ของอังกฤษ รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลกินลิ้นจี่และเนื้อสุนัขอวี้หลิน ประจำปี ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอวี้หลินในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยเทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ระหว่าง วันที่ 21-30 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี

ข่าวระบุว่า ในช่วง 10 วัน ของเทศกาลนี้ มีสุนัขที่ถูกกินมากกว่า 10,000 ตัว ทุกปี นอกจากนี้ ยังมีเนื้อแมว ลิ้นจี่ และเหล้าให้ได้กินกันด้วย เทศกาลนี้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2552 เพื่อเป็นการเฉิมฉลองวันครีษมายัน ที่พระอาทิตย์โคจรจนไปถึงจุดหยุดคือ จุดสูงสุดทางเหนือ ในราว วันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งป็นจุดในหน้าร้อนที่มีกลางวันนานกว่ากลางคืน นั่นคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้ามากที่สุด

ทั้งนี้ การกินเนื้อสุนัขเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนานในจีน โดยมีความเชื่อกันว่า การกินเนื้อสุนัขในระหว่างช่วงฤดูร้อนทำให้โชคดีและมีสุขภาพดี บางส่วนเชื่อด้วยว่าเนื้อสุนัขสามารถขจัดโรคและเพิ่มพลังทางเพศของผู้ชายได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลังๆ เทศกาลนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ทั้งจากภายในจีนเองและนานาชาติ โดยนักเคลื่อนไหวระบุว่า สัตว์ในเทศกาลนี้ถูกฆ่าอย่าเหี้ยมโหด โดยการใช้ไม้ตีต่อหน้าที่สาธารณะ และการปฏิบัติด้านสุขอนามัยไม่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของทางการจีน

นอกจากนี้ ยังมีเสียงตำหนิว่า สุนัขที่นำมากินในเทศกาลนี้ถูกส่งมายังอวี้หลินในสภาพที่ถูกกักขังในที่แออัดคับแคบ ขณะที่ผู้เข้าชมงานเปิดเผยว่า สัตว์บางตัวมีปลอกคอที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นสุนัขที่ถูกขโมยมา

“มะระขี้นก และบอระเพ็ด” เป็นพืชที่หลายคนรู้จัก แล้วยังรู้จักมากไปกว่านั้นว่ามีรสขมจนต้องเมินหน้าหนี ความจริงแล้วการมีรสขมของพืช ผัก ผลไม้บางชนิดถือว่ามีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อสุขภาพ ดั่งคำว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” กระนั้นก็ยังไม่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติได้ง่าย

แต่ความชาญฉลาดของคนรุ่นบรรพบุรุษที่เห็นคุณค่าประโยชน์ของพืชที่มีรสขม จึงหาวิธีแปรรูปเพื่อเปลี่ยนรสขมให้มาเป็นรสหวานแบบธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งใจปลุกให้ชนทุกรุ่นได้รู้จักพืช ไม้ผลเก่าแก่มิให้สูญหายไป แล้วหวังให้สืบทอดภูมิปัญญานี้จากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดคำเปรียบเปรยว่า “ผลไม้กลับชาติ”

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ตำบลบางพรม สมุทรสงคราม ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ เพื่อร่วมกันนำพืชไม้ผลในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปแบบแช่อิ่มกับอบแห้ง หวังอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

คุณฉวีวรรณ หัตถกรรม หรือ ป้าแดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า คนในสมัยก่อนนำพืชผักที่ขึ้นตามธรรมชาติที่รั้วบ้านมาต้มจิ้มน้ำพริก แล้วยังนำมาแปรรูปให้มีรสหวานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรับประทานกัน ขณะที่ป้าแดงเองก็ได้ถูกปลูกฝังความรู้เหล่านั้นจากบรรพบุรุษ แล้วเกรงว่าจะหายไป จึงถ่ายทอดให้แก่เพื่อนบ้านเพื่อทำขายจนเกิดเป็นที่สนใจกันทั้งชุมชน

“กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดองค์ความรู้ให้เป็นระบบ พร้อมกับการจัดหาตลาด แล้วยังสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา จนกระทั่งมาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจนถึงทุกวันนี้”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติจัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่นให้มีประโยชน์เกิดมูลค่า เพื่อหวังให้มีรายได้เพิ่มให้ครอบครัวและชุมชน ต้องการสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นที่รู้จักทั่วไป ขณะที่สินค้าแปรรูปทุกชนิดมีความสะอาด ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แล้วยังสร้างเป็นฐานเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจ

ป้าแดง บอกว่า ช่วงแรกพืชไม้ผลที่แปรรูปแช่อิ่มยังมีจำนวนไม่มาก และที่เด่นน่าจะเป็นบอระเพ็ดแช่อิ่มได้ทำส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการถนอมอาหารระดับประเทศ ติดต่อกัน 2 ปี พอเริ่มเห็นว่ามีความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้นจึงมองพืชไม้ผลชนิดอื่นในชุมชนที่สามารถนำมาแช่อิ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะนาว ส้มโอ มะระขี้นก มะละกอ

ขณะเดียวกัน เห็นว่ามีพืชไม้ผลบางชนิดไม่เหมาะนำมาแช่อิ่มจึงได้ต่อยอดทำแบบอบแห้งแทนเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นตะลิงปลิง มะม่วง กระท้อน มะไฟกระเทย และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้อย่างลิ้นจี่อบแห้ง หรือส้มโอจะใช้เปลือกมาทำเป็นส้มโออบแห้งตั้งชื่อว่าส้มโอมรกต ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นผลส้มโอขนาดเล็กที่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากต้องตัดออกจากต้นบ้างก็จะนำมาทำเป็นส้มโอแช่อิ่ม

การกำหนดจำนวนและประเภทผลไม้แช่อิ่มและอบแห้งชนิดใดออกวางขายนั้น ป้าแดง บอกว่า จะพิจารณาจากความต้องการของตลาดควบคู่ไปกับในช่วงนั้นเป็นฤดูผลไม้อะไร อย่างเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่มีตะลิงปลิงออกเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มก็จะรับซื้อจากสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น โดยมีจำนวนรับซื้อเป็นตันเพื่อสต๊อกไว้ทยอยผลิตส่งขาย หรือในช่วงฤดูส้มโอกับลิ้นจี่

ป้าแดงยกตัวอย่างขั้นตอนการทำผลไม้กลับชาติที่มีรสขมอย่างบอระเพ็ดว่า จะใช้บอระเพ็ดที่มีอายุ 1 ปี มาตัดเป็นท่อนแล้วลอกเปลือกออก นำมาแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำ 5 ลิตร เกลือ 1 ลิตร พร้อมแกว่งสารส้มลอกไส้ออก ให้แช่วัน 1 คืน จากนั้นเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวันจนกว่าจะหายขม ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แช่น้ำปูนใส 1 คืน ตั้งน้ำให้เดือด นำบอระเพ็ดต้มสัก 10 นาที นำน้ำตาลทรายตั้งไฟโดยไม่ให้หวานมาก ยกลงจากเตาเมื่อน้ำเชื่อมเย็นแล้วจากนั้นจึงนำบอระเพ็ดแช่ลงในน้ำเชื่อม ให้อุ่นน้ำเชื่อมทุกวัน แล้วตักบอระเพ็ดขึ้น เติมน้ำตาลทรายทุกครั้งที่อุ่นจนครบ 15 วัน จึงรับประทานได้

หรืออย่างมะนาวแช่อิ่มให้ใช้มะนาวผลเขียวสดนำมาขัดผิวให้เกลี้ยงด้วยกระดาษทรายน้ำ จากนั้นนำไปผ่าผลแกะเมล็ดออกแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำเปล่า 5 ลิตร กับเกลือ 1 ลิตร พร้อมกับแกว่งสารส้มโดยเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวัน แล้วให้ล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง ให้ตั้งน้ำเดือดแล้วนำผลมะนาวลงใส่ เสร็จแล้วให้ตักผลมะนาวขึ้นนำไปตากแห้ง แล้วให้ทำน้ำเชื่อมที่มีความหวานเล็กน้อยแล้วนำผลมะนาวแช่ในน้ำเชื่อม ในทุกวันให้ตักมะนาวขึ้นอุ่นน้ำเชื่อมแล้วเพิ่มปริมาณน้ำตาลวันละเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ให้เติมเกลือป่นลงไปด้วยแล้วให้ชิมรสตามชอบเป็นอันเสร็จ

สำหรับ Fabrication Lab นั้น สวทช. ได้จัดหาอุปกรณ์พื้นฐาน

ในการออกแบบชิ้นงาน ที่นักเรียนสามารถจินตนาการและจัดทำชิ้นงานในรูปแบบ 3 มิติ คือ 3D printer ที่รองรับโปรแกรมออกแบบที่เป็น open source อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องวัดแสง เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม รวมทั้งเครื่องตัดแบบ laser และบอร์ดสมองกลฝังตัว และอุปกรณ์ตรวจวัด หรือ sensor ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา

วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 150 แห่ง โดยมีบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. เป็นศูนย์กลางการอบรมครูและนักเรียน ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่จำกัดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายให้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 15,000 คน ครู 1,000 คน มีวิศวกรพี่เลี้ยงประจำสถานศึกษา 150 คน ได้ชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง 150 ชิ้นงาน และชิ้นงานที่ส่งประกวดในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ 300 ชิ้นงาน เกิดการสร้าง Makers Club ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ

จากการดำเนินกิจกรรม ทั้ง 2 โครงการ ช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย และได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นับจากนี้ ในแต่ละปีจะมีนักเรียนมากกว่า 1.5 ล้านคน เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีโอกาสใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมที่ครบครัน และช่วยให้เยาวชนเหล่านี้มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าลงมือทำ พร้อมก้าวสู่การเป็นนักพัฒนา นวัตกรที่สร้างสรรค์ และเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศสู่ “Makers Nation” กุญแจสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 ผลักดัน “ประเทศไทย 4.0” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

สตูล – นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผวจ.สตูล กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารด่านพรมแดน วังประจัน ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน ว่า ในส่วนของอาคารได้งบประมาณก่อสร้าง 7 ล้านกว่าบาท เสร็จสมบูรณ์ 100% พร้อมใช้งาน ในส่วนของบุคลากรก็พร้อมทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ตม. ด่านกักกันพืช ด่านกักกันสัตว์ ด่านศุลกากร ยืนยันว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เป็นด่านขนาดเล็ก การเข้าออกก็ค่อนข้างจะลำบาก

ตอนนี้ขยายใหญ่ รถเล็กรถใหญ่ ผ่านได้หมด ส่งผลต่อการค้าชายแดนที่จะมีปริมาณมากขึ้น ในส่วนของปริมาณทางการค้าชายแดนที่ผ่านมาตัวเลขก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากปีที่แล้ว 200 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าเป็น 300 ล้านบาท ซึ่งเวลานี้ตัวเลขของครึ่งปี 200 กว่าล้านบาทแล้วคิดว่าน่าจะทะลุเป้า

ด่านตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผ่านเข้าออก อาจเป็นโอกาสดีของสตูลที่ว่า ด่านสะเดาการจราจรค่อนข้างคับคั่ง พี่น้องจากมาเลเซียก็จะเลือกใช้เส้นทางนี้ในการผ่านเข้าออก ที่สำคัญตอนนี้สตูลได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก ทำให้พี่น้องจากประเทศอื่นจะเลือกใช้ช่องทางนี้ผ่านเข้ามาสตูลได้ง่ายขึ้น จะเป็นประตูสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่จังหวัดสตูลได้มากขึ้น

ในส่วนของการจัดระเบียบร้านค้าในพื้นที่พรมแดนนี้ มีแนวทางไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงด่านอีกต่อไป ซึ่งจะต้องพูดคุยกันเพื่อจัดระเบียบบริเวณด่านให้พื้นที่กว้างขึ้น การจอดรถจะสะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายศิวกฤษฏ์ เจนวิพิชย์ นายด่านศุลกากรวังประจัน กล่าวว่า เดิมนั้นด่านนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งยังคับแคบ เนื่องจาก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้าออกก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้บริการและปรับปรุงอาคารด่านพรมแดนให้กว้างขวางทันสมัยและมีภาพลักษณ์ที่ดี

ขอนแก่น – นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร (ทน.) ขอนแก่น กล่าวภายหลังนำ จนท.สาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารพาณิชย์ เลขที่ 45/56 ถนนพิมพสุต ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับร้องเรียนกรณีเลี้ยงนกนางแอ่น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงว่า จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของอาคารเดิมย้ายไปเปิดกิจการที่ จังหวัดร้อยเอ็ด และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ลักลอบใช้อาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่น จากนั้นมีชาวบ้านร้องเรียน ต่อมาทาง ทน.ขอนแก่นได้แจ้งให้หยุดเลี้ยงแล้ว แต่ทางเจ้าของยังลักลอบแอบเลี้ยงมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการติดตั้งลำโพง เพื่อใช้ในการเรียกนกให้กลับมารัง ซึ่งทน.ขอนแก่นได้แก้ไขปัญหาแล้ว 3 มาตรการ มาตรการแรกให้เจ้าของตึกเข้ามารับแจ้งเกี่ยวกับการกระทำผิด เข้าข่ายสร้างความเดือดร้อนรำคาญเพื่อมาชำระค่าปรับ มาตรการต่อไปจะประสานไปยัง สนง.ปศุสัตว์ จังหวัดขอนแก่น และกรมอุทยานฯ เข้ามาตรวจสอบ เพราะนกนางแอ่นถือว่าเป็นสัตว์คุ้มครอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะใช้โอกาสช่วงที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้ เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าฮาลาล นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า สำหรับการประชุมระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ การประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน ไทย-สหภาพยุโรป วันที่ 2-3 กรกฎาคม

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการร่วม (JSC) ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร ไทย-บาห์เรน วันที่ 3-6 กรกฎาคม และการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 23 วันที่ 17-27 กรกฎาคม โดยเฉพาะการประชุม RCEP จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 10 ประเทศอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ การนำสินค้าเกษตรกรมาจัดโชว์และจำหน่าย จะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร หัตถกรรม และสินค้าฮาลาลของไทย ให้นานาประเทศทั่วโลกได้เห็นศักยภาพสินค้าไทย และกรมจะได้หยิบยกเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเหล่านี้ขึ้นหารือในการประชุม เพื่อหาลู่ทางและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ สู่ตลาดโลกในอนาคต

จีไอทีเตรียมร่วมมือสถาบันอัญมณีจีนทำมาตรฐานตรวจสอบพลอยสี สกัดของปลอม เพิ่มความน่าเชื่อถือ หนุนนักท่องเที่ยวจีนซื้อกลับประเทศ เดินหน้ายกระดับขายผ่านเว็บไซต์ไป่ตู้-ทีมอล เครือ อาลีบาบา หวังยอดขายพุ่งเหมือนทุเรียน จับมือ ททท.ดันเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่แหล่งผลิต

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดความร่วมมือระหว่างสถาบันจีไอทีกับสถาบันอัญมณีของจีน และ CGICP ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารปลอมแปลงแห่งชาติของจีน เพื่อทำมาตรฐานคู่ระหว่าง 2 ประเทศในการตรวจสอบพลอยสี และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 2 ประเทศ เช่น เฉดสีของพลอยสีแต่ละชนิด การเรียกชื่อที่ตรงกัน เป็นต้น แล้วออกเป็นใบรับรองให้กับ ผู้ผลิตและผู้ค้าได้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง ซึ่งกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในเดือนกรกฎาคมนี้

นางดวงกมล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจสอบและป้องกันปัญหาการปลอมแปลง หรือเกิดปัญหาระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย สร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าตลาดอัญมณีและพลอยสีของไทย เนื่องจากชาวจีนนิยมซื้อเครื่องประดับไทยที่ทำมาจากไพลินและทับทิม และผลิตในไทย โดยจะมีความร่วมมือสร้างมาตรฐานคู่จะทำกับประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น ญี่ปุ่น ทั้งนี้การที่เริ่มจับมือกับจีนก่อน เพราะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยต่อปีกว่า 10 ล้านคน พบว่าเป้าหมายที่มาท่องเที่ยวไทย อันดับแรกคือ

มารับประทานอาหารไทย ซื้อเครื่องสำอางไทย และซื้อเครื่องประดับและอัญมณีไทย นางดวงกมล กล่าวว่า จะร่วมมือกับแหล่งจำหน่ายพลอยสีของไทย เช่น จันทบุรี เพื่อเปิดเป็นศูนย์กลางประมูลและซื้อขายพลอยสีรวมถึงกำลังหารือให้เป็นพื้นที่ได้สิทธิประโยชน์หากมีการเข้าซื้อขายในพื้นที่นี้ และพื้นที่ผลิตเครื่องประดับในจังหวัดต่างๆ เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจในประเทศและส่งออก เน้นให้ความรู้ถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด ควบคู่กับการจัดทำรับรองบาย วิท คอนฟิเด้นซ์ (Buy with Confidence) เช่น สุโขทัย ตราด นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งได้ลงพื้นที่มาต่อเนื่อง และมีเป้าหมาย 15 จังหวัด

“จากนี้จะยกระดับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยกำลังเจรจานำสินค้าไทยเข้าซื้อขายบนอินเตอร์เน็ต ไป่ตู้ (Baidu) เว็บไซต์ของจีน ที่คนใช้มากที่สุดอันดับ 4 ของโลก รวมถึงซื้อขายบนเว็บไซต์ ทีมอล เครืออาลีบาบา เหมือนที่ประสบความสำเร็จแล้วกับการขายทุเรียนหมอนทอง ข้าว และสินค้า โอท็อป” นางดวงกมล กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 140 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้กับการเพิ่มการสร้างช่างเทคนิคในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อีกแผนงานรองรับการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามนโยบายรัฐบาลภายในปี 2565

ด้าน นายราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานบริหารสถาบันจีไอที กล่าวว่า จีไอทีได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันให้เกิดเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิต เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยปีละกว่า 35 ล้านคน จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาเที่ยวเมืองไทยต้องซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นของใช้ของฝาก เหมือนกับไปฝรั่งเศสต้องซื้อน้ำหอม หรือไปอิตาลี ต้องซื้อเครื่องหนัง เป็นต้น

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสับปะรดมีราคาตกต่ำ เพราะมีการปลูกสับปะรดมากเกินความต้องการของตลาด จึงได้หาแนวทางจัดการและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ปลูกสับปะรดทั้งหมด รวม 10,753 ไร่ มีผลผลิตสับปะรดทั้งหมด 43,938 ตัน การแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น จังหวัดฉะเชิงเทรา ประสานให้เกษตรกรนำสับปะรดมาจำหน่าย 14 จุด และประชาสัมพันธ์แนวทางช่วยเหลือผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งจากการประสานดังกล่าวเกษตรกรสามารถนำมาจำหน่ายตามจุดต่างๆ แล้ว จำนวน 35,702 ตัน ยังคงเหลือ 8,166 ตันที่ยังค้างอยู่

“วันนี้จึงได้เชิญประชุมทุกภาคส่วนเพื่อร่วมหารือแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะเร่งระบายผลผลิตให้เร็วที่สุด โดยผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอ ทั้งหน่วยงานราชการ และท้องถิ่น หากมีการจัดประชุมอบรม สัมมนา ให้นำสับปะรดไปประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง คาดว่าปลายเดือนนี้ปัญหาการล้นตลาดจะคลี่คลายลง” นายสุวิทย์ กล่าว

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็นเพื่อมาปรับปรุงร่างกฎหมาย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. …ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่จะเข้ามาดูแลสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มีทุนการดำเนินงานตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินให้กับขบวนการสหกรณ์

สำหรับการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่าสหกรณ์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ปริมาณธุรกิจในภาพรวมของสหกรณ์ทั่วประเทศ มีประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท และในสหกรณ์บางแห่งมีเงินฝากอยู่จำนวนมาก หากไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น จึงคิดว่าขณะนี้มีความเหมาะสมที่รัฐบาลต้องวางกรอบของการขับเคลื่อนสหกรณ์ไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดให้มีองค์กรเฉพาะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจตั้งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นอิสระ คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการประกอบกิจการและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินในสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่อีกด้วย

“ขณะนี้รัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับสหกรณ์ขนาดใหญ่ และมีความจำเป็นต้องดูแลเนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์มีความซับซ้อนทางการเงินมากกว่าในอดีต เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยต่อสมาชิก ซึ่งการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของการออกเกณฑ์มากำกับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลและพัฒนาให้สหกรณ์สามารถเติบโตได้ในระยะยาวด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว จากนี้ไปจะรวบรวมความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด นำมาผนวกรวมกับร่างกฎหมายให้เกิดความสมบูรณ์ โดยกระบวนการทำกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้สหกรณ์ต่างๆ ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องการให้ทุกสหกรณ์มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้ร่วมกัน เพื่อช่วยยกระดับสหกรณ์ของตัวเองขึ้นมาและเป็นองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ผู้แทนสหกรณ์บางรายมีความคิดเห็นต่าง และไม่ต้องการให้ออกกฎหมายฉบันนี้ และอยากให้ใช้กฎหมายฉบับเดิมกำกับดูแล เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการซับซ้อน ซึ่งไม่อยากให้สหกรณ์ต่างๆ เกิดความกังวลใจ และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังปัญหา และพยายามหาทางช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโตร่วมกัน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมประกวด “เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น” ตั้งเป้าหนุนเครือข่ายดีเด่นเป็นธุรกิจต้นแบบ พร้อมส่งเสริมพัฒนาเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงธุรกิจ ผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต สร้างรายได้ที่ยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ

โดยเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club นับเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy) เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจในลักษณะพี่สอนน้องให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ Micro SMEs รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจให้เกิดพันธมิตรทางการค้าที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

วัตถุประสงค์ของการจัดประกวด “เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น” เป็นไปเพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งและยกย่องให้กำลังใจกับเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานที่โดดเด่นจุดประกายให้เห็นช่องทางการต่อยอด สร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ประกอบการฐานราก โดยมีต้นแบบเครือข่ายธุรกิจที่ดี

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกเครือข่าย MOC Biz Club ในการบริหารจัดการเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน วางรากฐานสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในระดับสากล

รวมทั้งส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากสมาชิกเครือข่าย MOC Biz Club ให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนทั่วไป นอกเหนือไปจากการเป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนรวม การเชื่อมโยงองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในชุมชน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมธุรกิจชุมชนสู่ระดับสากลในอนาคต

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของการวางรากฐานและกำหนดทิศทางในการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง รางวัลนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและควรค่าแก่ทุกความวิริยะอุตสาหะของผู้ประกอบการในแต่ละเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โดยการประกวดเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น จะแบ่งเป็น 10 สาขารางวัล ประกอบด้วย 1. ด้านการตลาดชุมชน : ส่งเสริมพัฒนาตลาด สร้างโอกาสและรายได้แก่ชุมชนอย่างชัดเจน

ด้านการตลาดออนไลน์ : โดดเด่นการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ต่อยอดธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ด้านการตลาดสร้างสรรค์ : สร้างสรรค์การตลาดใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่เครือข่ายและชุมชน

4. ด้านการตลาดสู่สากล : เพิ่มศักยภาพทางการค้า เชื่อมโยงสู่ตลาดสากลอย่างเป็นรูปธรรม

5. ด้านการบริหารจัดการ : มีเป้าหมายและแผนบริการจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาสมาชิก : สร้างความเข้มแข็ง และประโยชน์แก่สมาชิกอย่างชัดเจน

7. ด้านนวัตกรรมการค้า : สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

8. ด้านการประสานและแบ่งปัน : ร่วมมือร่วมใจ เชื่อมโยงพันธมิตรที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

9. ด้านการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนนโยบาย : บูรณาการการทำงาน และขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

10. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม : มีส่วนร่วมเกื้อกูลพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทุกจังหวัดที่สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th และ www.bizthai.org

ซึ่งเครือข่ายธุรกิจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้เข้ารับมอบโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในพิธีมอบรางวัล ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนสิงหาคมศกนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย วันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็วงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสังเกตการณ์ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ตลอดคืนและมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ 0.1 (ความสว่างปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 สามารถสังเกตดาวเสาร์ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ต่ำกว่าดวงจันทร์ลงมาเล็กน้อย (วันดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น 14 ค่ำ) หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว และมีกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักของดาวเสาร์ได้ชัดเจน รวมถึงช่องว่างแคสสินีและดวงจันทร์บริวารบางดวง วงแหวนดาวเสาร์ที่มองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์มีความกว้างกว่า 80,000 กิโลเมตร เศษวัตถุในวงแหวนยังสะท้อนแสงได้ดีอีกด้วย

“ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนขนาดใหญ่และสวยงามมาก ได้รับการขนานนามว่า เป็นราชาแห่งวงแหวน นับเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ให้นักเรียนได้ชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และเรียนรู้ประสบการณ์จริงผ่านปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชนไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และหลังจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนยาวนานไปจนถึงประมาณสิ้นเดือนตุลาคม” ดร.ศรัณย์ กล่าว

สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ (ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.facebook.com/NARITpage)

จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่

เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (081) 885-4353
นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. (086) 429-1489
ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. (084) 088-2264
สงขลา : ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทร. (095) 145-0411

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน (Towards Supply-Chain Efficiency) ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) ซึ่งมีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางจากทั่วโลกเข้าร่วมงานทั้งหมด 9 ประเทศ จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา

เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการหาแนวทางและการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งจะช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในระดับที่พึงพอใจ อย่างไรก็ตาม การทบทวนระบบห่วงโซ่อุปทานยางพาราของแต่ละประเทศสมาชิก จะนำไปสู่การพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากระบวนการทำงานของตลาดยางพารา ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกจะมีรูปแบบแตกต่างกันในการดำเนินงานของด้านตลาด คาดว่า จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับตลาดยางพาราและอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการโครงการ

เสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ชุมชนละ 3 แสนบาท นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยมีงบประมาณ 5,278,394,100 บาท เป็นโครงการที่ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมฝึกอบรมเกษตรกร ชุมชนละ 200 ราย ในจำนวน 9,101 ชุมชน มีเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ จำนวน 1,820,200 ราย

สำหรับคุณสมบัติ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งจะต้องไม่สมัครเข้ารับการอบรมในกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 1 หลักสูตร ประกอบด้วย 3 กลุ่มวิชา 1) กลุ่มวิชาสร้างการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ 2) กลุ่มวิชาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และ 3) กลุ่มวิชาการบริหารจัดการองค์กรเกษตรกร รวมจำนวน 18 ชั่วโมง โดยสามารถเข้าไปพิจารณาทางเลือกได้ http://k-room.doae.go.th

ขณะนี้อยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก ที่เกษตรกรยังไม่มีรายได้ ดังนั้น จึงได้อนุมัติ “โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศกว่า 9,000 ชุมชน ชุมชนละ 200 คน หรือมีเกษตรกรกว่า 1.8 ล้านคน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ โดยเน้นการฝึกอบรมเสริมความรู้ทักษะอาชีพในชุมชนเป็นหลัก เกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมและการเรียนรู้กันเอง โดยจะได้งบประมาณชุมชนละ 3 แสนบาท

สำหรับโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จะอยู่ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งเสริมสร้างเกษตรกรรายย่อยเข้มแข็งที่เราไปจำแนกพื้นที่การเกษตรไปสำรวจมา 9,101 ชุมชน ที่มีความเหมาะสมด้านการเกษตรจะมีอาชีพที่ความแตกต่างกัน แต่เพื่อเป็นการเสริมอาชีพที่มีความหลากหลายขึ้นตรงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สร้างความมั่นคงในอาชีพ เพราะฉะนั้นการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งเราต้องเสี่ยงลดความเสี่ยงจากอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 937,000 ราย คาดว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมได้เต็มตามเป้าหมายที่คาดไว้ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 และจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นเดือนที่เกษตรกรจะลงมือทำ เพราะฤดูฝนได้เริ่มต้นแล้ว

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมทโครงการครั้งนี้จะได้รับความรู้ผ่านการฝึกอบรมอาชีพใน 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1. กลุ่มวิชาสร้างการเรียนรู้ความเข้าใจกันในการขับเคลื่อนประเทศ 2. กลุ่มวิชาชีพเพื่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และ 3. กลุ่มวิชาการบริหารจัดการองค์กรเกษตรกร รวม 18 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ปีนี้มีเวลาทำประชาพิจารณ์ 2 รอบ โดยรอบแรกเข้าใจตรงกัน อยากเรียนรู้เรื่องอะไร และนำความรู้ไปพัฒนาหลักการเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่เป็นการสร้างทักษะอาชีพและสร้างอาชีพในชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมสมัครได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 และต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสามารถติดต่อได้ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ

วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิจัยยุคใหม่เข้าถึงประชาชน” เวลา 09.00 น.

โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า
สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเป็นกลไก การบูรณาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงกับความต้องการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วม สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) สำนักงบประมาณ มีหน้าที่ขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้ทิศทางการทำงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์สำคัญตรงกับตามความต้องการของประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน โดยได้จัดทำกรอบการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับแผนบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม และเพื่อเป็นการเตรียมโจทย์วิจัย ที่มุ่งเน้นการวิจัยที่มีความสำคัญกับกลุ่มอาชีพหลักของคนไทย

โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยกำหนดโจทย์วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาประเทศให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะมีการระดมสมอง ในเรื่องของ “โจทย์วิจัยสำหรับวิถีชีวิตคนไทยและอาชีพของคนไทย” ในเรื่อง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ไม้ผล เศรษฐกิจ (ลำไย มะพร้าว ทุเรียน มังคุด และลองกอง) น้ำมันปาล์ม โคเนื้อและโคนม การแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประเด็นวิจัยหรือโจทย์วิจัยสำหรับวิถีชีวิตคนไทย และอาชีพของคนไทย รวมทั้งให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยได้เห็นตัวอย่างของงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัย และกรอบการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ในปีงบประมาณ 2562

จากกรณีที่พื้นจังหวัดพิจิตร และรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ ประสบกับปัญหาจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ต้นข้าว ข้าวโพด รวมถึงพืชไร่ต่างๆ ของเกษตรกร ที่เพาะปลูกมาก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในการหล่อเลี้ยง ทำให้เริ่มแห้งเหี่ยวเฉาเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาเพชรบูรณ์ โดยเกษตรกรจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 6 แสนไร่ ประกอบไปด้วย อำเภอทับคล้อ อำเภอดงเจริญ อำเภอตะพานหิน อำเภอวังทรายพูน ของจังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอทับคล้อ ได้รับผลกระทบมากสุด เป็นนาข้าว 1 แสน 6 หมื่นไร่ และพื้นที่ไร่ 6 พันไร่

ต่อมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ นำโดย นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่พบกลุ่มเกษตรกรในตำบลเขาทราย และตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานเกษตรในพื้นที่ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบูรณาการข้อมูล และความต้องการน้ำของเกษตรกรในการประมวลสถานการณ์ก่อนปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมกับนายอำเภอทับคล้อ เกษตรอำเภอทับคล้อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขึ้นเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะฝนแล้ง รวมทั้งบินสำรวจสภาพอากาศเพื่อเตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวง

นางสาวหนึ่งฤทัย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า ที่ผ่านมาฝนไม่ตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อีกทั้งการปฏิบัติการที่ผ่านมาไม่สามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้มีลมแรงไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการ แต่ในขณะที่กำลังลมเริ่มอ่อนจึงได้วางแผนปฏิบัติการทำฝนหลวงในช่วงบ่ายของวันนี้ ซึ่งจะปฎิบัติการ 4 เที่ยวบิน ปล่อยสารฝนหลาง 4 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ การปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อีกทั้งจะปฏิบัติการทำฝนหลวงต่อเนื่องไปจนจะมีฝนตก และเกษตรกรมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

นายสมศักดิ์ โพธิ์ศรีทอง นายอำเภอทับคล้อ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อำเภอทับคล้อ มีประชากรประกอบอาชีพทำการเกษตรมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด โดยได้เกิดฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยมาก ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับความเสียหาย 1 แสน 6 หมื่นไร่ และพืชไร่อี 6 พันไร่ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอทับคล้อ จึงได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ มาสำรวจความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว

ร.ต.ท.จิรัฐกาล วุฒิทวัพัฒน์ ผบ.มว.ร้อย ตชด.127 และ ร.ท.ทัศน ดวงรัตน์ ผบ.มว.ที่ 1 ร้อย รส.จ.สระแก้ว ได้รับแจ้งจาก นายเจษฎา รัตนนิยม อยู่บ้านเลขที่ 987 หมู่ที่ 1 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ ว่า พบลูกระเบิด อยู่ภายในไร่มะม่วง หลัง อบต.วังน้ำเย็น หมู่ที่ 9 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จึงรุดเข้าไปในพื้นที่ พบวัตถุระเบิด เป็นลูกระเบิด ชนิดยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 82 มิลลิเมตร จำนวน 1 ลูก โผล่อยู่เหนือดิน บริเวณริมสวน ในไร่มะม่วง จากนั้นจึงประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 12 อรัญประเทศ เพื่อช่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดและนำวัตถุระเบิดดังกล่าวไปทำลายต่อไป

นายเจษฎา กล่าวว่า ตนได้ไถดิน กำจัดวัชพืชในสวน ปลูกมะม่วง ได้พบวัตถุกลมๆ คล้ายปลี มีสนิมเขรอะ จึงเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นลูกระเบิด จากนั้น จึงได้โทรศัพท์ ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาตรวจสอบ และเก็บกู้ต่อไป

นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า ได้นำเงินส่วนตัวมาซื้อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงราย ตลอดจนประชาชนที่มาติดต่องานบางส่วน โดยได้จัดซื้อมาจากชาวสวนพื้นที่ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท โดยซื้อจำนวน 15 ตัน แบ่งนำมาแจกจ่าย วันละ 5 ตัน ทั้งนี้เพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตอย่างหนัก นอกจากราคาสับปะรดจะตกต่ำในรอบหลายปี โดยอยู่ในราคากิโลกรัมเพียง 1-2 บาท แล้วยังไม่มีตลาด ทางจังหวัดจึงจัดโครงการช่วยเหลือสนับสนุนกันช่วยเหลือและช่วยกันบริโภคเอง ให้เกษตรกรมีตลาดจำหน่ายจนกว่าจะหมดช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันยังเก็บได้เพียง ร้อยละ 40-50 เท่านั้น

นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวทางเทศบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างศูนย์พืชผักปลอดภัยจากสารพิษ โดยตั้งอยู่บริเวณสถานที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. (เก่า) หน้าตลาดสดเทศบาล 2 (ศิริกรณ์) ถนนบรรพปราการ เทศบาลนครเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับตรวจสอบคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ ส่งเสริมให้ได้พืชผลปลอดสารพิษอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ในการศึกษาเรื่องนี้แล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2562 ต่อไป

โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 10 ล้านบาท ภายในมีระบบตรวจสอบพืชผักและนักวิชาการที่สามารถยืนยันคุณภาพผลผลิตที่นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งพืชผักที่ผ่านศูนย์จะได้รับการยืนยันและอนาคตจะมีการคิดค้นตราหรือโลโก้เพื่อให้สามารถนำออกวางจำหน่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้อีกด้วย ส่วนการนำผลผลิตเข้าสู่ระบบและการซื้อขายนั้น จะมีสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการกันเอง โดยทางเทศบาลเป็นหน่วยงานให้บริการทางสาธารณะและมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายไปใช้บริการได้ เพื่อให้เกิดตลาดปลอดสารพิษในเชียงรายอย่างแท้จริง

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ราคาผลผลิตเกษตรหลายอย่างมีราคาตกต่ำ เพราะปลูกกันมาก ขณะที่พืชผักที่ปลอดสารพิษกลับได้ราคาที่สูงกว่าและเริ่มมีกระแสความนิยมมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหากมีการบริหารจัดการการปลูกและรับซื้อผ่านสหกรณ์ได้อย่างลงตัว ก็จะทำให้ไม่มีการปลูกพืชใดๆ มากเกินไป จากนั้นนำเข้าสู่ศูนย์เพื่อตรวจยืนยันการปลอดสารพิษก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาดีต่อไป ทั้งนี้การก่อสร้างศูนย์ใช้ระยะเวลา 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 และเมื่อปรับระบบภายในแล้ว จะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2562 เป็นต้นไป ต่อไป

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยวัตถุท้องฟ้าน่าสนใจช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2561 ดาวเคราะห์ไล่เรียงปรากฏตั้งแต่หัวค่ำ ทั้ง ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวอังคาร ช่วงปลายเดือนดาวเสาร์โคจรมาใกล้โลกอีกครั้ง พร้อมกับดาวเคราะห์น้อยเวสตาที่หาชมได้ยาก สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เผยว่า ช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2561 มีหลากหลายวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเป็นต้นไป ในช่วงหัวค่ำสามารถสังเกตเห็นสองดาวเคราะห์ทีสว่างที่สุด มองเห็นได้ชัดเจน คือ “ดาวศุกร์” และ “ดาวพฤหัสบดี” โดยดาวศุกร์จะปรากฏทางทิศตะวันตกตั้งแต่อาทิตย์ตก จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. จากนั้นช่วงดึก “ดาวอังคาร” เริ่มโผล่พ้นจากขอบฟ้าปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.00 น. จนถึงรุ่งเช้า

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนมิถุนายนยังมีความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ “ดาวเคราะห์น้อยเวสตา” จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และเข้าใกล้โลกที่สุด วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ปกติจะโคจรมาใกล้โลกทุกปี แต่ปีนี้เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 170.6 ล้านกิโลเมตร จึงมีโอกาสมองเห็นด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตามีค่าความสว่างปรากฏประมาณแมกนิจูด 5.7 ช่วงที่โคจรเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ อาจลดลงเหลือเพียงแมกนิจูด 5.3 เท่านั้น (ค่าความสว่างปรากฏหรือเรียกว่าแมกนิจูด ยิ่งตัวเลขมาก ความสว่างยิ่งน้อย ค่าความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้อยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป) หากสังเกตการณ์บริเวณท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะปรากฏในช่วงหัวค่ำ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สังเกตการณ์ได้จนถึง วันที่ 22 มิถุนายน 2561 หลังจากวันดังกล่าวจะมีแสงจันทร์รบกวนและความสว่างจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

ส่วนช่วงปลายเดือนเตรียมพบกับปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 มิถุนายน ดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงรุ่งเช้า สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน

สดร. เตรียมจัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนส่องวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากชนิด ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา พร้อมกับโรงเรียนเครือข่ายอีก 360 แห่ง ทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage

สศก. วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจ จากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยพายุเซินกาและตาลัส ในปี 60 รวม 35 จังหวัด ระบุ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่า ของงบประมาณที่ได้รับ เผยโครงการด้านประมง เกษตรให้ความสนใจมากสุด รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ และโครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จากพายุเซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพ พบว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 35 จังหวัด จำนวน 378,705 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 1,893.64 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การผลิตพืชอายุสั้น 2) การเลี้ยงสัตว์ 3) การผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4) การประมง และ 5) การทำเกษตรแบบผสมผสาน

จากการวิเคราะห์ของ สศก. พบว่า การช่วยเหลือตามโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัส ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 4,164.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่า ของงบประมาณ โดยหากพิจารณาแต่ละประเภทโครงการจะก่อให้มีผลทางเศรษฐกิจ ดังนี้

จะเห็นว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ให้ความสนใจเข้าร่วมต่อโครงการด้านการประมงอันดับแรก รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น โครงการการผลิตอาหารฯ และโครงการการทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามลำดับ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมในทุกด้าน โดยเกษตรกรสามารถนำไปขยายผลต่อได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น โครงการการผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิตฯ เนื่องจากชุมชนสามารถนำผลผลิตเป็นอาหารหรือแปรรูป เช่น การแปรรูปข้าว หมูแดดเดียว ทองม้วน และพริกแกง ทำให้เกษตรกรมีบริโภคในครัวเรือน และยังเสริมสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดจากการหมุนเวียนของเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะแรกของโครงการ อาจยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะยังเกิดผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจอีกเป็นระยะเวลาหลายปี จากกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการซื้อขายผลผลิตมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านสังคม ในการสร้างความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรมีอาหารบริโภค ลดรายจ่าย และมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต และเกิดความยั่งยืนของโครงการ จากการตั้งกองทุนในชุมชนบริหารจัดการ และระยะยาวสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรต่อเนื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ชู“วิทย์สร้างคน” เสนอผลงานในโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน คือ วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และวิทย์เสริมแกร่ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้า นโยบาย “วิทย์สร้างคน” เปิดตัว โครงการ Coding at School Powered by KidBright และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศส่งมอบ KidBright บอร์ดสมองกลสัญชาติไทยที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย พัฒนาโดย เนคเทค-สวทช. จำนวน 200,000 ชุด แก่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐ 1,000 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ประสานงานภูมิภาค 5 แห่ง ในโครงการ Coding at School Powered by KidBright พร้อมเร่งสนับสนุนให้เกิด “Fabrication Lab” ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 150 แห่ง ทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Fabrication Lab เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ต่อยอดสู่การเป็นนักประดิษฐ์ และนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำพาประเทศสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1 ในอนาคต พร้อมจับมือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมแสดงเจตจำนง ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ โครงการ Coding at School Powered by KidBright เนคเทค-สวทช. ได้จัดเตรียมบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ด พร้อมคู่มือการเรียนการสอน จะทยอยส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศประมาณ 1,000 โรงเรียน ได้ใช้งานกัน พร้อมกับการเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระหว่างนักเรียน ครู และเหล่านักพัฒนา ที่เว็บไซต์ www.kid-bright.org โดยทุกโรงเรียนต้องส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อยโรงเรียนละ 3 โครงงาน และจะมีการแข่งขันในรอบสุดท้าย ภายในเดือนตุลาคม 2561 โดยในช่วงการจัดกิจกรรมจะมีการเดินสายจัดการอบรมให้กับตัวแทนศูนย์ประสานงานแต่ละภูมิภาคต่างๆ ซึ่งบุคลากรที่ได้รับการอบรมจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้งานบอร์ด และการเขียนโค้ด และสามารถให้คำแนะนำแก่ครูที่เข้าโครงการเพื่อนำไปสอนเด็กให้สร้างสรรค์ผลงานในการเข้าร่วมแข่งขันได้

นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาด

ภายใต้ยุทธศาสตร์ผลไม้ครบวงจร กรมการค้าภายในได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อผลไม้ ฤดูการผลิตปี 2561 กับห้างค้าปลีกชั้นนำ ได้แก่ Tops Market /The Mall/ Big C /Tesco Lotus /Makro และตลาดไท มีปริมาณซื้อขาย 330,000 ตัน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท อีกทั้งยังทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรและนวัตกรรมเกษตรไทย เจาะตลาดจีน แบบส่งตรงถึงมือผู้บริโภค (B2C) ผ่านเว็บไซต์พรีเมียม Tmall.com ที่มีกลุ่มลูกค้ากว่า 650 ล้านคน โดยสินค้าผลไม้จะเปิดเป็นแคมเปญตามฤดูกาล และใช้ช่องทาง super market ของ Tmall กว่า 2,000 แห่งทั่วสาธารณรัฐประชาชนจีนในการโปรโมต

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดโครงการนำร่องจำหน่ายทุเรียนหมอนทองล่วงหน้า (Pre-Order) มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ากว่า 70,000 คำสั่งซื้อ ปริมาณ 130,000 ลูก หรือ 350 ตัน (ราคาขายเฉลี่ย 200 บาท/กก.) คิดเป็นเงิน 70 ล้านบาท และจะขยายผลไปยังผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ลำไย

“ชาติศิริ” ชี้อาเซียนแกร่งฝ่าสมรภูมิการค้าโลกได้ จีดีพียังโตดี เลขาฯอาเซียนเผยอีก 5 ปีผงาดขึ้นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ผลพวงมุ่งดิจิทัลช่วยขับเคลื่อน เตรียมแผนพัฒนาทุนมนุษย์ ตั้งมหาวิทยาลัยไซเบอร์ข้ามพรมแดน ย้ำ “อีอีซี” ของไทยสร้างอุตสาหกรรมอนาคตดันมูลค่าเพิ่ม

นายดะโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เปิดเผยในงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 หัวข้อ “Rising City, Rising Business” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) อาเซียนในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตประมาณ 5.3% หากในอีก 5 ปีอาเซียนยังขยายตัวในระดับนี้ อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกภายในกลางศตวรรษนี้

ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือเศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยขณะนี้ข้อตกลงอาเซียนเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซอยู่ระหว่างการเจรจา ถ้าแล้วเสร็จจะอำนวยสะดวกให้ธุรกิจและการค้าของอาเซียนได้ดี “ทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยอาเซียนมีการปรับปรุงเรื่องการยื่นขอสิทธิบัตร รวมทั้งจะมีการพัฒนาทุนมนุษย์ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยไซเบอร์เพื่อสร้างการศึกษาข้ามพรมแดน และที่ขาดไม่ได้คือ การป้องกันภัยและความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนาอาเซียนไซเบอร์เซ็นเตอร์ด้วย” นายดะโต๊ะ ปาดูกา กล่าว

นายดะโต๊ะ ปาดูกา กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ มีการปรับตัวและเดินหน้ามากขึ้น เช่น อินโดนีเซียมีการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 มาเลเซียมีการพัฒนาเขตการค้าดิจิทัล ขณะที่ไทยพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น นอกจากนี้อาเซียนกำลังพัฒนาแนวทางการให้บริการการเงินดิจิทัลและระบบการชำระเงินร่วมกัน โดยมี 4 ประเทศที่มีศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (เรกูราทอรี่แซนบ็อกซ์) แล้ว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แต่อาเซียนยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 10 ปี จีดีพีของอาเซียนจะขยายตัวถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกและเป็นอันดับสองของโลก จึงมีความสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอาเซียนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 1,600 เขต หนึ่งในนั้นคือ อีอีซี ซึ่งจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคและดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อซัพพลายเชนต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคืออาเซียนกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในงานจัดการประชุมมันสำปะหลังนานาชาติ (World Tapioca Conference 2018) ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะมีการหารือระหว่างไทยกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ค้ามันสำปะหลังรายใหญ่ของโลกและมีส่วนแบ่งในตลาดโลกรวมกว่า 80% เพื่อร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพและพยุงราคามันโลก ป้องกันปัญหาการตัดราคากันเองและถูกกดราคาจากประเทศนำเข้า พร้อมกับหารือจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกที่มีส่วนแบ่งนำเข้า 70-80% ของปริมาณผลผลิตมันสดจากประเทศผู้ส่งออก 278 ล้านตัน และมีส่งออกทั่วโลก 43.7 ล้านตัน ในปี 2560

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคามันโลกยังสูงต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกมีต่อเนื่อง ทำให้ราคาส่งออกมันเส้นอยู่ที่ตันละ 252 เหรียญสหรัฐ เพิ่มจาก 170 เหรียญสหรัฐ ในปี 2560 และ แป้งมันตันละ ราคา 540 เหรียญสหรัฐ จาก 360 เหรียญสหรัฐ จึงทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย 4 เดือนแรกปีนี้ ที่มีปริมาณ 3.6 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 8% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 26% มีรายได้ 1,178 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนราคามันสดในประเทศอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 2.95-3.20 บาท หรือเพิ่มขึ้น 85% โดยปี 2561 ตั้งเป้าส่งออกปริมาณ 10.6 ล้านตัน มูลค่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีผลผลิตหัวมันสดออกสู่ตลาด 28-30 ล้านตัน ซึ่งแผนงานในปีงบประมาณ 2562 จะผลักดันส่งออกไปตลาดใหม่จากเดิมตลาดหลักกว่า 80% คือ จีน และร่วมมมือกับพื้นที่เพาะปลูกวางแผนระบายสินค้าล่วงหน้า

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมมันสำปะหลังนานาชาติ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายใต้แนวคิด “คุณเห็น “มัน” หรือเปล่า?” มหัศจรรย์มันสำปะหลังเปลี่ยนโลก หรือ Can You See The MAGIC? TAPIOCA : THE MAGIC PLANT FOR A SUSTAINABLE FUTURE เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก และแสดงศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก ซึ่งกรมได้เชิญผู้ซื้อ ผู้ใช้ ผู้นำเข้า ผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เกษตรกร และผู้บริหารหน่วยงานรัฐบาลจากประเทศจีน อาเซียน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน สหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าผู้เข้าชม 1,000-1,500 คน ซึ่งกิจกรรมจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับทิศทาง การผลิตและการค้าโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะปลูกเพื่อนำมาใช้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง รวมถึงโอกาสการ ส่งออกของโลก

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต รายงานถึงการสำรวจตลาดกระเทียมดำในเยอรมนี ว่า แนวโน้มเติบโตมาก ร้านจำหน่ายกระเทียมดำและผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระเทียมดำเป็นส่วนประกอบเพิ่มรวดเร็ว ผลจากการเผยแพร่งานวิจัยของแพทย์ทางอายุรกรรม มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ระบุว่ากระเทียมดำอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ วิตามินซี ซีลีเนียม และโพแทสเซียม มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติดีกว่ากระเทียมสด ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ต่อต้านโรคภูมิแพ้ ลดปริมาณคอเลสเตอรอล และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้ส่งออกไทย ควรเน้นกระเทียมดำที่เป็นออร์แกนิคเพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มมูลค่าสินค้า

สำหรับโอกาสในการส่งออกของไทย ถ้าให้ดีควรเน้นกระเทียมดำที่เป็นออร์แกนิค เพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะตอนนี้ชาวเยอรมันและกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีเป็นจำนวนมาก เช่น ชาวเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และหาซื้อสินค้าที่ปลอดสารพิษปลอดสารเคมีมากขึ้น

หนังสือ “The Art of the deal” เป็นผลงานเขียนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าด้วย หลักการ “กรรโชก ข่มขู่ คุกคาม จนถึงยึดทรัพย์ลูกหนี้” เพื่อให้เจ้าหนี้หรือผู้ที่เหนือกว่าสามารถบรรลุ เป้าหมายที่ต้องการ วันนี้ทรัมป์กำลังใช้หลักการนี้กับประเทศต่างๆ รวมถึงไทย เพื่อให้บรรลุนโยบาย “อเมริกันเฟิร์ส” ที่ตนเองตั้งไว้ โดยเฉพาะเป้าหมายการเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ด้วยวิธีกรรโชก ข่มขู่ และคุกคาม ผ่านหลากหลายช่องทาง

นับตั้งแต่การกดดันผ่านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติ (NPPC) ของสหรัฐ ยื่นคำร้องถึง USTR ให้ตรวจสอบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของประเทศไทย โดยอ้างว่าไทยไม่เปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐอย่างเป็นธรรม นำไปสู่การลงลายมือชื่อของ 44 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ในจดหมายร้องเรียนที่ส่งถึง นายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐ แลกกับสิทธิพิเศษ GSP กับสินค้าอื่นๆ ของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จนถึงการไม่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมรายประเทศให้กับไทยตามที่ไทยร้องขอ เพื่อกดดันอีกทาง

กระทั่งล่าสุดสหรัฐเดินเกมส์อีกครั้งผ่าน USTR ที่จะเดินทางเยือนไทยในเดือนกรกฏาคมนี้ เพื่อจี้ไทยให้เปิดนำเข้าหมูสหรัฐ พร้อมข่มขู่จะตัด GSP ของไทยหากไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

ความพยายามทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐสามารถทำทุกอย่างได้เพียงเพื่อประโยชน์ของประเทศตน และสมาคมผู้เลี้ยงหมูสหรัฐก็คิดถึงแต่ข้อได้เปรียบของตัวเอง โดยมองข้ามความล่มสลายของอุตสาหกรรมหมูในประเทศเป้าหมาย ขณะที่ตัวเองนั้นเหนือกว่าทุกทาง โดยเฉพาะต้นทุนการเลี้ยงหมูของสหรัฐที่ต่ำเพียง 32 บาทต่อกิโลกรัม เพราะสหรัฐเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกทั้งถั่วเหลืองและข้าวสาลี ที่สำคัญการเลี้ยงหมูของสหรัฐนั้นอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง-แรคโตพามีน (Ractopamine) ได้อย่างเสรี สารตัวนี้คือ “อาวุธสำคัญ” ที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูของสหรัฐชนะขาดทุกประเทศ เพราะสารนี้จะทำให้หมูมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยที่กินอาหารน้อยลง หมูที่ใช้สารนี้จะโตเร็วขึ้น 4 วัน โดยใช้อาหารน้อยลงเกือบ 20 กิโลกรัม

ขณะที่การเลี้ยงหมูของไทยห้ามไม่ให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด โดยออกกฎหมายควบคุมมานานกว่า 16 ปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 และประกาศกระทรวง สาธารณสุข พ.ศ. 2546 ล่าสุดกรมปศุสัตว์ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อปราบปรามการลักลอบใช้สารอันตรายให้หมดไปจากประเทศไทย

ที่สำคัญสหรัฐคงหลงลืมไปแล้วว่าไทยช่วยเศรษฐกิจประเทศเขาอยู่มากโข โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาไทย นำเข้าสินค้าจากสหรัฐมีมูลค่ามากถึง 473,917 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 10.89% ในจำนวน นี้คือการนำเข้ากากถั่วเหลืองและข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์และกลายมาเป็นต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์

เมื่อต้นทุนการผลิตกว่า 70% มาจากอาหารสัตว์ และการเลี้ยงหมูของไทยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นทางลัดเหมือนสหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจที่การผลิตหมูของไทยจะมีต้นทุนพุ่งไปถึง 64 บาท ต่อกิโลกรัม ตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าสหรัฐ ถึงกว่า 1 เท่าตัว

เมื่อดูในประเด็นที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐมาใช้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาสหรัฐได้ประโยชน์จากไทยมาตลอด จากการที่ไทยเป็นลูกค้าของสหรัฐมากว่ากึ่งศตวรรษ แต่สหรัฐกลับคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ด้วยอยากผลักดันเศษชิ้นส่วนที่เป็นขยะเหลือที่คนอเมริกันไม่กิน ทั้งหัว ขา เครื่องในหมู มาทิ้งในบ้านเราหวังโกยเงินเข้าประเทศ

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ย้ำเรื่องนี้ว่าเกษตรกรเลี้ยงหมูไม่มีทางยอมให้หมูสหรัฐมาย่ำยีอย่างเด็ดขาด เพราะหากหมูมะกันเข้ามาดั๊มพ์ตลาดไทยได้ก็เท่ากับ “หายนะ” ที่จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะกับคนเลี้ยงหมูเท่านั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ “คนไทยทั้งประเทศ” ที่ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่แฝงมาด้วย หากมีเนื้อหมูส่งเข้ามาจริงแล้วถูกนำมาขายปะปนกับหมูไทยในตลาดสดทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อหมูชื้นส่วนไหนที่เป็นของสหรัฐ ส่วนไหนเป็นหมูไทย นั่นเท่ากับความเสี่ยงแบบ 100% ที่คนไทยไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยง

“เกษตรกรผู้ผลิตไทยอยากให้สหรัฐเห็นใจกันบ้าง เมื่อเกษตรกรไทยช่วยเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว สหรัฐเองก็ไม่ควรรังแกเกษตรกรไทยด้วยการบีบบังคับให้ต้องนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐมาดั๊มพ์ตลาดทำลายหมูไทยอีก โดยที่ศักยภาพในการแข่งขันนั้นมัน “คนละชั้น” ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยถึงครึ่งหนึ่งเช่นนี้ ขอให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับฟังความทุกข์ร้อนของเกษตรกรและคำนึงถึงชีวิตคนไทยเป็นอันดับแรก อย่ายอมให้หมูสหรัฐเข้ามาทำร้ายคนไทยได้” ปรีชา กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรไทยเมื่อเทียบกับเกษตรกรสหรัฐแล้ว เรายังเป็นรองเขาอยู่มาก โดยเฉพาะในแง่ของสถานะทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือ “เกษตรกรเรายังยากจนกว่าเขามาก” วันนี้ที่รัฐบาลไทยพยายามช่วยเหลือให้ประชาชนไทยก้าวผ่านคำว่า “ยากจน” แต่ขนาดเกษตรกรที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ รัฐบาลยังไม่คิดจะช่วยเหลือ แถมยังมีท่าทีว่าจะ “อ่อนข้อ” ให้เขาเสียอีก อย่างนี้แล้วจะช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศได้อย่างไร

คำร้องขอสุดท้ายที่ผู้เลี้ยงหมูฝากไว้คือ “ขอให้รัฐบาลทบทวนให้ดี” ว่าจะยอมให้หมูสหรัฐเข้ามาทำลายหมูไทยและสุขภาพคนไทยจริงหรือ? รัฐบาลจะทนมองเห็นความล่มสลายของอุตสาหกรรมหมูและซัพพลายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติปีละกว่า 373,000 ล้านบาทได้หรือ? และจะทนเห็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ทั้ง 195,000 ราย ต้องล้มหายตายจาก และทนเห็นผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้งส่วนของรำ ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย ต้องเจ๊งไปตามๆ กันจริงหรือ? หรือต้องรอให้เห็นม็อบคนเลี้ยงหมูกว่าพันคนขนหัวหมูไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนเมื่อปี 2556 อีกครั้ง รัฐบาลถึงจะหันมามองเห็นปัญหาว่าลุกลามใหญ่โตจนเกินแก้แล้ว

นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีผู้ป่วยตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่พบมีผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก มากที่สุดคือ ช่วงฤดูฝน ทำให้ประชาชนทางภาคใต้มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากมีฤดูฝนยาวนาน ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม-18 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วย โรคมือ เท้า ปาก ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง 691 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ จ.สงขลา 194 ราย รองลงมา จ.นราธิวาส 122 ราย จ.พัทลุง 97 ราย จ.สตูล 95 ราย จ.ตรัง 68 ราย จ.ยะลา 59 ราย และ จ.ปัตตานี 56 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

“โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปทางปากโดยตรง จากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลหรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการเริ่มด้วยไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปากและเบื่ออาหาร จากนั้นมีแผลอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม เกิดผื่นแดง การป้องกัน ด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลล้างมือทุกครั้งก่อน-หลัง รับประทานอาหารและหลังขับถ่าย การเล่นของเล่น” นพ. สุวิช กล่าว

บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ได้จัดการประกวดแข่งขันทำอาหารจากขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ในโครงการ Farmhouse Cooking Contest “เมนูดี ชีวิตปัง” รอบคัดเลือก ซึ่งจัดขึ้นที่ มติชน อคาเดมี เพื่อเฟ้นหา 10 ทีมสุดท้าย ที่จะได้เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ไบเทค บางนา

ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และบุคคลทั่วไปที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการหาประสบการณ์บนเวทีการแข่งขัน เพื่อสร้างความแตกต่างและต้องการหาเงินทุน โดยมีเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท โดยรูปแบบการแข่งขันเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 2 คน ทำเมนูอาหารจานพิเศษโดยใช้ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ชนิดแผ่นแบบใดก็ได้ เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหาร ประเภทใดก็ได้ทั้งคาวและหวาน 1 เมนู

สำหรับบรรยากาศการแข่งขันรอบคัดเลือกในวันนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ทันทีที่พิธีกรประกาศเริ่มจับเวลา ผู้เข้าแข่งขันเกือบ 30 ทีม ใช้เวลาในการรังสรรค์เมนูอาหารที่มีขนมปังฟาร์มเฮ้าส์เป็นส่วนประกอบกันอย่างเต็มที่ โดยใช้เวลา 45 นาที ของการแข่งขัน หลังจากนั้น ให้กรรมการทั้ง 3 คน ได้แก่ เชฟจารึก ศรีอรุณ, เชฟสุรศักดิ์ คงสวัสดิ์ หรือ เชฟน้อย และกรรมการจาก บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ชิมเพื่อลงคะแนน

ซึ่งในวันนี้เป็นการแข่งขันในรอบคัดเลือก เพื่อหาผู้เข้ารอบ 10 ทีม มีดังนี้ ทีม TWIN ชื่อเมนู Morning Obento กิ๋นข้าวบ๋อ เป็นอาหารเช้าสำหรับเด็ก ซึ่งมื้อเช้าเป็นสิ่งสำคัญ ใช้ผัก 5 สี เพื่อดึงดูดให้เด็กอยากทาน ใช้ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มเฮ้าส์ทั้งแผ่นโดยไม่เหลือทิ้ง

ทีม S&N Home Baking ชื่อเมนู Bread Chesses Cake with Caramel Toast เป็นเจแปนนิสชีสเค้ก นำขนมปังมาบดผสมกับไข่ ผสมชีสเค้กลงไป ส่วนคาราเมลนั้นเป็นความชอบส่วนตัวของเจ้าของเมนู

ทีม มาดาม “ชิน” นามอน ชื่อเมนู พิซซ่าสารพัดหน้า ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ เพราะคนไทยชอบขนมปังหน้าหมู ทานอร่อย แต่ทีมนี้นำขนมปังหน้าหมูมาอบเพื่อตัดเรื่องทอด จัดแบบพิซซ่า ทานกับอาจาด นอกจากนี้ ยังนำผลไม้ไทยมาเป็นวัตถุดิบ คือ ทุเรียน

ทีม สวนดุสิต ชื่อเมนู ฟาร์มเฮ้าส์คัพผักโขมซีฟู้ดคัสตาร์ดต้มยำ ไส้ข้างในผัดกับผักโขม มีกุ้งและปลาหมึก ปรุงรสด้วยพริกไทย ใช้ขนมปังโฮลวีต เกล็ดขนมปังของฟาร์มเฮ้าส์

ทีม Duo ชื่อเมนู On The Roll ใช้ขนมปังโฮลวีตของฟาร์มเฮ้าส์มาทำเป็นโรล ใส่ไส้ผลไม้รวม ทั้งผลไม้สดและแห้ง โรยด้วยอบเชย ทานคู่กับซอสสตรอเบอรี่ ทีม ขวัญฤทัย เมนู โรลร้อนไส้กุ้งมายองเนสรสต้มข่า ใช้ขนมปังโฮลวีตมาทำเป็นโรล ข้างในเป็นไส้กุ้ง ราดด้วยซอสต้มข่า

ทีม ที่บ้านพลอย ชื่อเมนู โอ้โห้นี่หรือปังซ่า เป็นเมนูทานง่าย สามารถนำไปต่อยอดได้ ที่สำคัญทานง่าย ใช้ขนมปังโฮลวีตมาจับจีบดังรูป ทีม Dream Team ชื่อเมนู เมล่อนปังล้าน เป็นเมนูของหวานสอดไส้ขนมหัวล้านแต่เปลี่ยนเป็นแป้งไดฟุกุ ใส่มะพร้าวทึนทึก เป็นเมนูที่ผสมทั้งความเป็นไทยและญี่ปุ่นไว้ในตัว

ทีม ครัว-บาง-กอก-ใหญ่ ชื่อเมนู ปังปั๊บมันม่วง ใช้วัตถุดิบหลักเป็นมันม่วงจากโครงการหลวง ด้วยคอนเซ็ปต์สแน็กสำหรับวัยรุ่น มีแรงบันดาลใจจากกะหรี่ปั๊บ

และทีมที่ 10.ทีม Flower Renger กับเมนู กุ้งโสร่งสะเต๊ะปังโฮลวีต อิงกระแสละครออเจ้า น้ำสะเต๊ะจากอินโดนีเซีย เป็นอาหารผสมระหว่างไทยโบราณกับอินโดฯ นำขนมปังโฮลวีตมาทำเป็นริ้วพันกุ้งแทนเส้นหมี่ของเมนูหมูโสร่ง

สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบจะร่วมแข่งขันเพื่อตัดสินหาผู้ชนะเลิศอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่ไบเทค บางนา เวลา 13.00-16.00 น. ในงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ครั้งที่ 22