3 เกษตรกรรักบ้านเกิด ผลักดันธุรกิจสู่ “เกษตรอินทรีย์ดิจิทัล”

ดิจิทัล นับว่าเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อชีวิตมนุษย์เราในโลกทุกวันนี้ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลเปรียบเสมือนมันสมองที่ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรของไทย ซึ่งนับเป็นรากฐานหลักของประเทศ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พูดถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 64 ไว้ว่า มีการขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่วน และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 จะขยายตัวสูงขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 โดยมีภาคเกษตรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มากมาย มาใช้อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรยุคใหม่ ช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งเราอาจเรียกสั้นๆ ว่า “เกษตรดิจิทัล“

เกษตรดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการผลิตทางการเกษตรไปสู่ผู้บริโภค เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก การเจริญเติบโตของพืชพรรณ และอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร

ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยยุคใหม่ ก็หันนำเอาแนวคิด เกษตรดิจิทัล มาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจทางการเกษตร จนเกิดผลผลิตงอกงามและเติบโต แถมยังนำพาชุมชนให้ยั่งยืนโดยการนำความรู้และไอเดียต่างๆ มาร่วมกันแชร์และแบ่งปัน จนเกิดเป็นธุรกิจเกษตรสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล โดย รักบ้านเกิด ขอพาไปรู้จัก 3 เกษตรกรไทย จากโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2564 ที่ได้นำแนวคิดและความรู้ด้านดิจิทัล มาประยุกต์ใช้จนก่อเกิดเป็นความสุขที่ยั่งยืน

จิรภัทร คาดีวี หรือพี่เอฟ เกษตรกรจากแสนบุญฟาร์ม จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงการนำแนวคิดเกษตรดิจิทัลมาใช้ไว้ว่า “เดิมเคยทำอาชีพวิศวกรมาก่อน และเลือกออกจากงานกลับมาปลูกผักอินทรีย์เพื่อสุขภาพ เพราะวิเคราะห์แล้วว่าเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์เราได้หมด โดยนำเอาความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากที่เรียนมา นำมาพัฒนา ต่อยอด รวมทั้งหาวิธีทำให้การทำเกษตรมันง่ายขึ้น ทั้งในเชิงด้านการผลิต การตลาด และการใช้แรงงาน ผมนำเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ และเทคโนโลยีมาช่วยเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ลดต้นทุนการผลิตไปได้มากเลยทีเดียวครับ”

ด้าน พิริยากร ลีประเสริฐพันธ์ หรือพี่วรรณ เกษตรกรหญิงจาก GardenThree จังหวัดหนองคาย เล่าว่า “ตนได้เริ่มต้นทำเกษตรจากการตอบโจทย์เล็กๆ ของตัวเองว่าให้เรามีกินแบบไม่ต้องใช้เงินให้สำเร็จ สามารถเอาความสุขในการดำรงชีวิตเป็นตัวตั้งในการทำธุรกิจ ซึ่งเราเลือกปลูกผักสลัด การปลูกผักสลัดของพี่เป็นแบบ Make to order คือผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยพี่สามารถส่งผักสดขายให้ผู้บริโภคและเปิดรับออเดอร์ได้ตลอดปี คลายความกังวลในเรื่องผักขาดช่วงไปได้เลย เพราะทางสวนของเราเลือกนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร เช่น การทำระบบแปลงผัก ที่เป็นระบบรดน้ำอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถสั่งการเปิดปิดผ่านทางมือถือ ตอบโจทย์แม้ว่าจะมีธุระหรืออยู่ที่ใกล้ไกลก็สามารถเปิดปิดและตั้งค่าได้ตลอดเวลา หรืออย่างการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในช่องทางการจำหน่าย เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง”

สุดท้ายกับ ภิญญา ศรีสาหร่าย หรือพี่โอเล่ เกษตรกรจากฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดราชบุรี ผู้สานฝันแม่ให้เป็นจริงด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาฟาร์มได้กล่าวว่า “เดิมการทำเกษตรของฟาร์มฝันแม่​เกษตรอินทรีย์​ เน้นการทำเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลเกษตร​ของฟาร์ม เรานำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์​เพื่อต่อยอด​วางแผนการปลูกร่วมกับแผนวิเคราะห์ข้อมูลสถิติในการทำการตลาดให้มีความสอดคล้องกัน​ ซึ่ง​เดิมได้ใช้วิธีการจดเอกสาร แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นแอปพลิเคชัน และนำข้อมูลพื้นฐาน(data base)​ มาวิเคราะห์ข้อมูลในการวางแผนผลิตเพื่อจำหน่าย​ ซึ่งทั้งนี้นอกจากการทำเกษตรบนฐานของข้อมูลแล้วเรายังนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์​และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้ผลผลิตเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น​ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นำพามาซึ่งรายได้ที่มั่นคง​และยั่งยืน​ พร้อมทำให้เกิดความสุขกับฟาร์มฝันแม่ของเราครับ”

จะเห็นว่าเกษตรดิจิทัลนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากกับในหลายๆ มิติ หากแต่มีการนำมาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ก็สามารถสร้างรายได้และอาชีพที่แน่นอน ซ้ำยังสามารถเกื้อกูลสังคมโดยการแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความสุขและสร้างรอยยิ้มที่ยั่งยืนสืบไป สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดท่านอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปติดตามรับชมได้ที่ www.rakbankerd.com หรือติดตามข่าวสารของรักบ้านเกิดตามช่องทางต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ Youtube:rakbankerdthailand, www.facebook.com/rakbankerd และ IG: rakbankerd_official หรือแอดไลน์มาพูดคุยกันได้ที่ Line@ : @rakbankerd

กรุงเทพฯ 8 มีนาคม 2565 – ความหลากหลายของผลิตผลทางการเกษตรในปัจจุบันนั้นมีที่มาอย่างไร ทำไมจึงสามารถบริโภคผักผลไม้เมืองหนาวที่เพาะปลูกในประเทศไทยได้ และทำไมจึงมีผักและผลไม้หลายสายพันธุ์ให้ได้เลือกบริโภคได้ตลอดทั้งปี หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความหลากหลายของพืชพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้คือ “นักปรับปรุงพันธุ์พืช” หนึ่งในอาชีพที่ช่วยผลักดันความยั่งยืนทางการเกษตรของไทย

เนื่องในวันสตรีสากล 2565 บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย พร้อมส่งเสริมความเท่าเทียมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในการทำงาน ผ่านการนำเสนอเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจของหญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังผลงานการปรับปรุงพันธุ์พืชของเจียไต๋ คุณจารุณี บัวบูชา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ที่เริ่มเส้นทางอาชีพในบทบาท “นักปรับปรุงพันธุ์พืช” เป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีจนประสบความสำเร็จในอาชีพและได้ส่งมอบสายพันธุ์พืชผักใหม่ๆ สู่ตลาดสร้างความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภค

“ผู้หญิงจบเกษตร จะไปทำอะไร” คุณจารุณีกับการถูกตั้งคำถามในการเริ่มอาชีพของตนเอง จากจุดเริ่มต้นในการเป็นนักวิชาการประจำสถานี สู่การเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเจียไต๋ เส้นทางของการเติบโตในอาชีพสายเกษตรที่เต็มไปด้วยความตั้งใจ ผสานความสุขและความรักในอาชีพที่ทำ และได้พิสูจน์ตนเองด้วยผลงานมากมาย ล่าสุดคือผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์แตงโมเจียไต๋ Century Star แตงโมไร้เมล็ดสายพันธุ์ใหม่ ที่คว้ารางวัลสายพันธุ์ดีเยี่ยมระดับภูมิภาค หรือ รางวัล All-America Selections® Regional Winner จากสถาบัน All-America Selections (AAS) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มตัวเลือกใหม่ให้ตลาดแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้ผลิตผลทางการเกษตร และเป็นผลงานที่การันตีความสำเร็จที่เกิดจากความทุ่มเท ความกล้าที่จะแตกต่างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้วงการเกษตร “ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเพศใดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความตั้งใจและการมีความสุขในงานที่ทำ” คุณจารุณี กล่าวเสริม

งานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชช่วยสร้างสายพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ทนต่อสภาพอากาศ ทนโรคและแมลง เกษตรกรจึงสามารถเพาะปลูกได้ในหลากหลายภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังให้รสชาติและรสสัมผัสที่ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์พืชแต่ละชนิดนั้นเป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การทดสอบ การปรับปรุงแก้ไข ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จในแต่ละสายพันธุ์มักใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ทั้งนี้ เพื่อสร้างสายพันธุ์พืชที่ตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ให้กับทั้งเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ค้า และผู้บริโภค สร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนทางการเกษตร

“บทบาทของนักปรับปรุงพันธุ์พืช เราถือได้ว่าเป็นผู้ที่พัฒนาพันธุ์ ทำให้มีสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมากขึ้น มีคุณภาพ ตรงนี้ถือว่านักปรับปรุงพันธุ์พืชทำให้สายพันธุ์พืชมีความยั่งยืนต่อไป ไม่ว่าสภาพอากาศจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เราก็ยังจะมีพันธุ์พืชที่สามารถปลูกได้… ถือว่าเป็นความยั่งยืนของวงการเกษตร โดยเฉพาะในส่วนของพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์เรา” คุณจารุณี ตอกย้ำถึงความสำคัญของอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชต่อความมั่นคงทางอาหาร

ที่เจียไต๋ เราส่งเสริมความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเพศใดก็สามารถแสดงความสามารถและเติบโตในองค์กรได้อย่างเท่าเทียม มาร่วม #BreakTheBias ที่มีต่อผู้หญิงรับวันสตรีสากลไปด้วยกัน พร้อมติดตามแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของนักปรับปรุงพันธุ์พืชหญิงแห่งเจียไต๋ คุณจารุณี บัวบูชา กับการพิสูจน์ตัวเองถึงบทบาทของผู้หญิงในอาชีพด้านการเกษตรได้ในแคมเปญเพ(ร)าะกล้า EP.3 ตอน “กล้าที่จะ… ต่าง” ได้ที่

“เกษตรก้าวไกล” และผองเพื่อนสื่อมวลชนเกษตรในนาม “ทีม5พลังแกร่ง” ออกเดินทางเพื่อภารกิจโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชน(ททช.)บ้านแม่กระบุง ต.แม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่ครั้งหนึ่งเคยสตาร์ทติดเครื่องเดินหน้า แต่ 2 ปีให้หลังมานี้ หลังเครื่องยนต์ตัวนี้ต้องจอดสนิท เพราะพิษโควิดที่ยังคงไม่จางหาย

นอกจากเป้าหมายหลักที่จะสร้างเรื่องราวของ “มนต์รักแม่กระบุง” ในรูปแบบของคลิปหรือภาพยนตร์สั้นเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชน “กะเหรี่ยงโพล่ง” ที่เกิดขึ้นมากว่า 200 ปีแล้ว เรายังมีโปรแกรมลุยสวนเกษตร และหนึ่งในก็คือ การลุยสวนเกษตรผสมผสานของ ผู้ใหญ่สนธิ เขียวเหลือง หมู่ 2 ที่มีทุเรียนเป็นพืชหลัก ดั้งเดิมนั้นคนในหมู่บ้านปลูกพืชไร่พวกข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นหลัก พร้อมทั้งทำสวนกล้วย สวนมะขามหวาน ฯลฯ แต่ยังไม่มีใครปลูกทุเรียนได้สำเร็จ เพราะปลูกแล้วตาย กระทั่งวันนี้ที่สวนผู้ใหญ่สนธิทุเรียนที่ปลูกไว้กำลังออกดอกแล้ว

“ผมเบื่อที่จะปลูกพืชไร่ที่ต้องปลูกกันทุกปี ก็เลยว่าหันมาปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน เพื่อว่านักท่องเที่ยวจะได้มาเที่ยวบ้าง”

ข่าวผู้ใหญ่สนธิปลูกทุเรียนออกดอกได้สร้างความตื่นเต้นดีใจ ให้กับคนในหมู่บ้าน บ้างก็เดินทางมาดู หวังให้ออกลูกได้เชยชม ปีก่อนนี้เงาะที่ปลูกไว้ 75 ต้น ได้ออกผลผลิต..เปิดให้คนในหมู่บ้านและที่อยู่อาศัยในตำบลแม่กระบุงมาเก็บกินฟรี เพียง 2 วันก็หมดเกลี้ยง สร้างความประทับใจให้กับทุกคน

สำหรับเงาะในปีแรกออกเกือบทุกต้นแต่ละต้นยังไม่เยอะ แต่ปีนี้ดูจากที่ออกดอกผลผลิตน่าจะเยอะขึ้น จึงตั้งใจว่าใครมาเที่ยวสวนยังให้กินฟรีเหมือนเดิม แต่ถ้าใส่ถุงกลับบ้านจึงจะคิดเงิน “ใส่พุงกินฟรี ใส่ถุงคิดเงิน” คือสโลแกนของผู้ใหญ่สนธิ

ถามถึงทุเรียนที่กำลังออกดอก ผู้ใหญ่สนธิบอกว่าทุเรียนยังมีน้อย เพิ่งออกดอกแค่ 4 ต้น จากทั้งหมด 100 ต้น ทุเรียนที่ออกดอกมีอายุ 3 ปี ซึ่งจะปลูกไม่พร้อมกัน เพราะจะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีในเวลานั้น เช่นเดียวกับระบบสปริงเกอร์ยังไม่ได้คิดตั้ง คงใช้สายยางรดน้ำไปก่อน เพราะเหตุนี้จึงภูมิใจกับที่ทุเรียนนออกดอก ทั้งที่ปลูกแบบบ้านๆและไม่เคยมีใครในหมู่บ้านปลูกได้ผลมาก่อน

ต่อไปนี้คือคลิปบรรยากาศการเยี่ยมชมสวน จะสนุกครื้นเครงได้สาระมากน้อยแค่ไหนก็ให้ชมกันดู.. ขอบคุณ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ที่จัดโครงการให้สื่อมวลชนเกษตรออกทัพลุยเกษตรสุดเขตไทย ภายใต้การสนับสนุนของ “ฟอร์ดประเทศไทย-ฟอร์ดแกร่งทุกงานเกษตร” และอย่าลืมติดตามภารกิจในคลิปต่อไป

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB หรือ สสปน.) เข้าร่วมการประชุมสมาคมพืชสวนโลก (2022 AIPH Spring Meeting) ตามคำเชิญของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers : AIPH)

โดยในวันนี้ (8 มีนาคม 2565) AIPH ได้ประกาศการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 (ระดับ B) ณ Crowne Plaza Dubai Marina เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: Connecting people, water and plants for sustainable living (วิถีชีวิตสายน้ำและพืชพรรณ) ระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 (134 วัน)

พื้นที่จัดงานพืชสวนโลก ปี 2569
สถานที่จัดงานจะอยู่ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนเนื้อที่ 1,030 ไร่ แบ่งเป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ คาดว่าจะทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมงานถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 มีจำนวนประเทศ ที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ / องค์กร / สมาคม

การเป็นเจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2569 ครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงานได้ประมาณ 32,000 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณ 20,000 ล้านบาท และเกิดการสร้างงาน การจ้างงาน ประมาณ 81,000 อัตรา

สำหรับงานมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรเข้าเป็นสมาชิก AIPH ในนามประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 และ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2554 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการยื่นประมูลสิทธิในการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2569 นี้ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทย ยื่นประมูลสิทธิในการเป็นเจ้าภาพ และเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณด้วยแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB หรือ สสปน.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดอุดรธานี ได้ยื่นประมูลสิทธิการเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 อย่างเป็นทางการต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 และคณะกรรมการสมาคม AIPH ได้เดินทางมา สำรวจพื้นที่เชิงลึก (Site Inspection) เมื่อวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดอุดรธานี ตามข้อกำหนดของ AIPH เรียบร้อยแล้ว

สำหรับวัตถุประสงค์ที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในปี 2569 นี้ คือ

1) เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติและระดับนานาชาติ

2) ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการจัดงาน 3) ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และ 4) สร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตและการต่อยอดสู่ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy)

จากเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ภาคการเกษตรไทย เตรียมความพร้อมอย่างไร ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายในแนว UPOV 1991 ในการประชุมวิชาการครั้งที่ 60 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีนักวิชาการภาคการเกษตร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมการเสวนา ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร. กนกวรรณ ชดเชย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเมล็ดพันธุ์ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) นายพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด นายอำนวย อรรถลังรอง รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพืชผัก สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิตติภาดากุล ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งได้ข้อสรุปจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ว่า

การปรับปรุงพันธุ์พืชมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืชไร่ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ผลผลิตสูง และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ปัจจุบันธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออก โดยการส่งออกเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีมูลค่าสูงประมาณ 7,389 ล้านบาท ภาครัฐมีการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub Center) ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งขีดความสามารถด้านการปรับปรุงพืชเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ การที่งานปรับปรุงพันธุ์พืชอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี และมีมูลค่าการลงทุนสูง โดยอาจสูงถึงปีละ 50 ล้านบาทในบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ในการจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินคุ้มค่ากับการลงทุนวิจัยและพัฒนาพันธุ์มากขึ้น จูงใจให้สร้างพันธุ์พืชที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของเกษตรกร

ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช หรือพระราชบัญญัติ (พรบ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิหวงกัน (exclusive right) ด้านการผลิต การค้าและการจำหน่ายส่วนขยายพันธุ์พืชแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ โดยกฎหมายลักษณะนี้จะมีผลบังคับเฉพาะในประเทศที่ให้สิทธิ์ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืชถูกตราขึ้นโดยมุ่งสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย ผ่านการให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการลงทุนทั้งระยะเวลาและเงิน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาพันธุ์ใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีพันธุ์ใหม่ ๆ ให้เลือกใช้อย่างเหมาะสมได้มากขึ้น

การที่ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ยึดแนวทางของอนุสัญญา UPOV1978 ซึ่ง UPOV เป็นอนุสัญญาว่าด้วยสหภาพการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกภาคีทั้งหมด 78 ภาคีสมาชิก (ประเทศและกลุ่มประเทศ) หรือ 98 ประเทศ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดในโลกที่มีจำนวน 193 ประเทศ สาระหลักของ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่ไม่เป็นไปตาม UPOV 1978 มีเพียงบางส่วน ได้แก่จำนวนชนิดพืชที่ให้ความคุ้มครองพันธุ์ใหม่รายละเอียดลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพันธุ์ซึ่งปรากฏอยู่ก่อการนับความใหม่ในต่างประเทศ ขอบเขตการคุ้มครอง และระยะเวลาในการคุ้มครอง ปัจจุบันมีพืชที่ประกาศให้จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรา 14 จำนวน 100 ชนิดพืช โดยได้ให้หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของพันธุ์พืชแล้ว 802 พันธุ์

ประเทศคู่เจรจาข้อตกลงการค้าเสรี มักเรียกร้องให้ประเทศไทยเป็นภาคีของสหภาพ UPOV ซึ่งต้องมีการแก้ไข พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้มีสาระเหมือนกับอนุสัญญา UPOV1991 ด้านคุณสมบัตินักปรับปรุงพันธุ์พืช จำนวนชนิดพืชที่ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การนับความใหม่ในต่างประเทศ รายละเอียดลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพันธุ์ซึ่งปรากฏอยู่ก่อน การให้ความคุ้มครองชั่วคราว ขอบเขตการคุ้มครอง และระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง จึงจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่าจะเอื้อโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์แห่งหนึ่งของโลกได้ แต่จะมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก และอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานและ/หรือเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ

ดังนั้นหากต้องมีกฎหมายในแนว UPOV1991 ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมโดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวในการพัฒนาขึ้นเป็น Global Seed Hub ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของคนไทย ด้านการปรับปรุงพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ โดยจัดตั้งกระบวนการที่สามารถช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

หมายเหตุ : ข่าวโดย..ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 10 มีนาคม 2565 / สรุปประเด็นเสวนาพิเศษ โดย ผศ.พิจิตรา แก้วสอน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เกษตรก้าวไกล” และผองเพื่อนสื่อมวลชนเกษตร ในนาม “ทีม5พลังแกร่ง” ออกเดินทางเพื่อภารกิจโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชน(ททช.) จ.กาญจนบุรี คราวนี้ไปที่ “สวนทุเรียนรองเหนาะ” ของ นายเสนาะ อุตขุจันทร์ อดีตรองนายกอบต.ท่ากระดานหมาดๆ ผู้ได้ชื่อว่าปลูกทุเรียนคนแรกของ อ.ศรีสวัสดิ์ก็ว่าได้

(คลิปนี้ไม่เฉพาะเรื่องอาชีพการทำสวนทุเรียนของคนในชุมชน แต่เราได้แฝงไว้ด้วยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของชุมชน เพื่อให้การเกษตรและการท่องเที่ยวไปด้วยกัน เกิดการท่องเที่ยวชุมชน(ททช.) จึงอยากให้ทุกท่านรับชม และแสดงความคิดเห็นผ่านมาทางคลิปนี้ได้)

ทุเรียนที่ปลูกได้ผลผลิตเป็นที่เลื่องลือ สร้างชื่อเสียงให้ตำบลท่ากระดาน มีสื่อมวลชนจัดเที่ยวเชิงเกษตรเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่แล้วก็แทบช็อกเมื่ออยู่ๆทุเรียน 120 ต้น ที่ปลูกไว้เหี่ยวเฉาและในที่สุด 119 ต้น ก็มีอันตายจากไป

คงเหลือเพียง 1 ต้น ที่อยู่เป็นอนุสรณ์เตือนใจว่าถ้าดูแลไม่ดีก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ ส่วนต้นที่ตายก็ยังมีร่องรอยของตอให้อาลัย และเป็นที่สร้างรังของ “นกโพระดก” ในฤดูแล้งนี้ ซึ่งในวันที่ไปถ่ายทำเจอรูต้องสงสัยว่าใครมาเจาะไว้ ที่แท้เป็นรังนกกำลังกกไข่นั่นเอง

สาเหตุที่ทุเรียนตัดสินใจตายพร้อมๆกันมาจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำไหลบ่าจากภูเขาผ่านมาทางเนินเขาที่เป็นพื้นราบที่ปลูกทุเรียน ก่อให้เกิดน้ำซับ ไม่สามารถถ่ายเทไปไหนได้ทัน พื้นดินตรงนั้นก็แฉะอยู่นาน ผลก็คือทุเรียนเริ่มเฉาจากรากไล่ไปถึงยอด และก็ตายในที่สุด

เพราะว่าโรคเชื้อราไฟทอปทอรา หรือโรครากเน่าโคนเน่า ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของทุเรียนเข้าทำลายนั่นเอง “รองเหนาะ” บอกว่า เวลานั้นยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการปลูกการดูแลทุเรียนมากนัก จึงไม่ทันได้ป้องกันอะไรไว้เลย และคิดว่าพื้นที่ริมภูเขาที่เป็นพื้นที่ลาดเอียงน้ำคงไม่ท่วมขัง

“รองเหนาะ” เก็บความข่มขื่นไว้ได้ไม่นานนัก กลับมาลุกขึ้นสู้ลุยปลูกต่อ 100 กว่าต้น เปลี่ยนความล้มเหลวมาเป็น “ศาสตร์ทุเรียน” ปรับพื้นที่ปลูกใหม่ ตรงไหนพื้นราบก็ยกโคก ตรงไหนเป็นทิศทางน้ำไหลก็หลีกเลี่ยง จะไม่เป็นสูตรว่าจะต้องปลูกระยะห่างเท่าไร และต้องตรงกันเป๊ะ เพราะจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ ณ บัดนี้ทุเรียนที่ปลูกใหม่เริ่มออกดอกในปีแรก แต่ก็ยังไม่วางใจนัก เคล็ดลับคือ เรื่องน้ำ ทุเรียนไม่ชอบน้ำท่วมขังหรือน้ำซับแต่ก็ขาดน้ำไม่ได้ หน้าแล้งต้องรดน้ำให้ถึง หน้าฝนแทบไม่ต้องรด ต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนลูกอย่างที่เขาว่า… รายละเอียดเพิ่มเติมขอให้ชมจากคลิป https://youtu.be/o5hr1yxogNk และหากมีคำถามอื่นใดก็ถามมาในช่องแสดงความคิดเห็น(ในยูทูป) เผื่อว่าผู้สนใจท่านอื่นๆจะได้เรียนรู้ร่วมกัน หรือจะโทร.คุยกับ “รองเหนาะ” โดยตรงตามเบอร์ที่อยู่ในคลิปก็ย่อมได้

ขอบคุณ สมาคมสื่อมวลชเกษตรแห่งประเทศไทย ฟอร์ดประเทศไทย “ฟอร์ดแกร่งทุกงานเกษตร” และ ทีม 5 พลังแกร่ง ที่รวมตัวกันเพื่อภารกิจโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชน(ททช.) หลังสถานการณ์โควิดที่ทุกคนเริ่มปรับตัวได้ ซึ่งชุมชนไทยของเรามีศักยภาพที่เหมาะจะพัฒนาต่อยอดตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่เฉพาะประเพณีวัฒธรรม แหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งที่ชาวบ้านปลูกสร้างขึ้นมา ก็คืออาชีพการเกษตรทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เราพลิกอาชีพที่ทุกคนมีความถนัดมาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าราคาสินค้าเกษตรให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดการหมุนเวียนและยั่งยืนต่อไป

ม.เกษตร รวมพล “คนมะม่วง” จัดงาน นวัตกรรมยกระดับ “มะม่วง & ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” เสริมความรู้ สร้างทักษะชาวสวนมะม่วงต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ 18-20 มีนาคม 2565 ณ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม อาคารวิทยบริการ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดย สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายคณะทำงานนโยบายบูรณาการส่วนงานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จัดงาน นวัตกรรมยกระดับ “มะม่วง & ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” มี 2 เป้าหมาย คือ

1. การเพิ่มศักยภาพความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาด (The Ecosystem of Agriculture Unions) ซึ่งเป็นการสนับสนุนศักยภาพระบบการจัดการระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค และนักลงทุน ที่เข้าร่วมกับอุตสาหกรรมการเกษตร ในกระบวนการเพิ่มมูลค่า สร้างผลตอบแทน และยกระดับรายได้

2. เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Resource Center for Active Learning Technique) เพื่อเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นห้องเรียนพื้นฐานเศรษฐกิจภาคเกษตร พัฒนาเป็นศูนย์กลางเทคนิคการเรียนรู้ มุ่งเน้นวิธีสอนที่พยายามให้ผู้เรียน หรือผู้ด้อยโอกาสเรียนรู้ในระบบ ได้มีโอกาสยกระดับการศึกษา และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดี ฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ประธานคณะทำงานนโยบายบูรณาการส่วนงานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มก. กล่าวถึง Premium Product to KU-marketplace ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ได้สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสินค้าและบริการ คู่กับการพัฒนาคนทั้งในและนอกห้องเรียน มีการนำนวัตกรรม งานวิจัยมาส่งเสริมให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค ในรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ตามแนวคิด K Universe โดย KU-Market Place

เป็นแพลตฟอร์มแห่งการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการคุณภาพสูงด้านเกษตรและอาหารแบบครบวงจร 360 องศา มีระบบการรับรองมาตรฐานคุณภาพขั้นสูง KU quarantine / KU-best ด้วยการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และการผลิต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย สอดคล้องรองรับกับการจัดงาน มะม่วง & ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ซึ่งคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงจากแหล่งกำเนิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภาคีเครือข่ายคณะทำงานนโยบายบูรณาการส่วนงานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มก. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง กลุ่มธุรกิจแปรรูป สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย

คุณนงนุช ยกย่องสกุล รักษาการผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวถึง สถานการณ์มะม่วงไทยที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพว่า ชาวสวนมะม่วงรู้สึกยินดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดงาน นวัตกรรมยกระดับ “มะม่วง & ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้กระจายผลผลิตมะม่วงออกนอกแหล่งผลิตอย่างครบวงจร ในปัจจุบันชาวสวนมะม่วงตระหนักถึงมาตรฐานการผลิตGAPที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค มะม่วงไทยมีรสชาติดี คาดหวังว่าการรับรองแบรนด์สินค้าใหม่ของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และเป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์มะม่วงไทย

รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กล่าวถึงกิจกรรมภายในงานว่า งานนวัตกรรมยกระดับ “มะม่วง & ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” จะจัดขึ้นในวันที่ 18 -20 มีนาคม 2565ณ บริเวณอาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กิจกรรมมีทั้งการเสวนาทางวิชาการ และชิม ช้อป ผลิตภัณฑ์มะม่วงคุณภาพ

กิจกรรมมีทั้งการเสวนาทางวิชาการ วันแรก 18 มีนาคม 2565 พบกับ การเปิดงานและนำเสนอ การเรียนรู้ตลอดชีวิต : ชุมชนเป็นฐาน “สุขภาวะที่ดี” โดย ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ภาคเช้าการเสวนา “นวัตกรรมและอนาคตมะม่วงไทย” โดย ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มก. ภาคบ่ายการเสวนา “ยกระดับนวัตกรรมมะม่วงไทย : แนวทางสมานมิตร ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อการค้าส่งออก” โดย ศูนย์อาเซียน สำนักงานยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกียวโต

สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักและผลไม้ไทย วันที่สอง 19 มีนาคม 2565 ภาคเช้าพบกับการเสวนา “มะม่วงคุณภาพ : จุลินทรีย์ดิน ระบบดิน และน้ำ เพื่อสร้างคุณค่า และราคา” นำโดย อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และหมอดินอาสาสวนมะม่วง ภาคบ่ายการเสวนา “อนาคตตลาดมะม่วงไทย : ผลิตภัณฑ์อาหาร การโรงแรมและท่องเที่ยว”

โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมัครพนันออนไลน์ พร้อมนักธุรกิจรุ่นใหม่เช่น ทิมฟู้ดจำกัด โกลบอลพาร์ทเนอร์อินเตอร์ฟู้ดจำกัด Madam mango และบ้านหมากม่วง ส่วนวันที่สาม 20 มีนาคม 2565 ภาคเช้าพบกับการเสวนา “มะม่วงไทยกับการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” มีวิทยากรจากภาครัฐและเอกชน ภาคบ่ายพบกับการเสวนา “มะม่วงไทย : การส่งออก และโอกาสการส่งออกด้วยระบบ e-Commerce” มีวิทยากรจากภาครัฐและเอกชน