ABOUT

สอวช. เปิดเวที ถกแนวทางการขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม เป็นต้นทางตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ช่วยกระตุ้นจีดีพีในภาพรวมประเทศให้เติบโตสูงขึ้น

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 12 ในประเด็น “ผ่าแนวคิดการขอตำแหน่งวิชาการ ด้วยผลงานนวัตกรรม ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ” รวมถึงพูดคุยแนวทางการประเมินผลงานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทเป็นประธานอนุกรรมการ ตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรมของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และ น.สพ.ดร. กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร Chief Innovation Officer and Co-Founder บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด มีบทบาทเป็นคณะที่ปรึกษา ของคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำหลักเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานด้านนวัตกรรม มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช.

ดร. พูลศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรมว่า เกิดจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ จึงมีการจัดทำเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทการทำงานและเส้นทางอาชีพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างผลงานด้านนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ รวมถึงเพื่อสนับสนุนการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม เพื่อขยายการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 4 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจน, การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ, การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ, และการพัฒนาการศึกษา สังคม สุขภาพและบริการภาครัฐ

ด้าน ดร. สนอง กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาจารย์และนักวิจัยเก่งๆ มากมาย ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ และยังมีกลุ่มที่ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการตีพิมพ์ผลงาน จึงทำให้มีข้อติดขัดในการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบเดิมที่ใช้ผลงานวิชาการเป็นหลัก นโยบายการใช้ผลงานทางนวัตกรรมเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงเป็นอีกหนี่งช่องทางในการเติบโตทางด้านการทำงาน ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในงานที่ทำ ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศได้ ทั้งในเชิงพื้นที่หรือเชิงการสร้างรายได้ นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยทำให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มอาจารย์ และช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ทุ่มเทในการทำนวัตกรรมมากขึ้น

ดร. สนอง กล่าวอีกว่า การผลักดันงานด้านนวัตกรรม เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการทำงานแบบสหวิชาชีพ (Multidisciplinary) จากเดิมที่เคยทำงานแบบต่างคนต่างทำ เพื่อตีพิมพ์เป็นองค์ความรู้ใหม่ในสถานศึกษาของตัวเอง แต่ด้วยการพัฒนาในโลกยุคใหม่ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น และต้องมีนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในองค์รวมได้ รวมถึงมีตัวชี้วัดว่าเมื่อทำงานวิจัยออกมาแล้ว จะมีคนนำผลงานนั้นไปใช้จริงหรือสามารถลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้มากน้อยเพียงใด โดยในปัจจุบัน การสร้างรายได้จากผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้จริง หรือมีการขอใบอนุญาตในการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษา เพราะถือว่าเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งในการวัดความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ที่ต้องมองถึงแนวทางการผลิตผลงานวิจัยที่ออกไปใช้ได้จริง โดยมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและมีการลงทุนร่วมกันมากขึ้น ทำให้อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์สังคม มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถขยายผลไปในเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นได้

ด้าน ดร. กษิดิ์เดช ในมุมของภาคเอกชนกล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนเหมือนอยู่คนละมุมกับฝ่ายวิชาการและภาคมหาวิทยาลัย แต่ขณะนี้ต้องจับมือกันและเติบโตไปด้วยกัน การจะทำงานวิจัยหรือการขับเคลื่อนบริษัทในทุกวันนี้ จึงถูกขับเคลื่อนในรูปแบบความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix) คือมีหน่วยงานภาครัฐ ที่มีส่วนขับเคลื่อนงานวิจัย เข้ามาทำงานร่วมกับภาควิชาการ และภาคเอกชน ทำให้เกิดงานวิจัยต่าง ๆ ขึ้น เมื่อภาคเอกชนมีโจทย์ ภาควิชาการมีแนวทางแก้ปัญหา เกิดการทำงานร่วมกันก็จะทำให้มีผลงานวิจัย เกิดเป็นสิทธิบัตรออกมา ซึ่งการขอตำแหน่งทางวิชาการเป็นอีกโอกาสที่จะทำให้คนที่อยู่ในมุมวิจัยที่เป็นภาคเอกชน หรือคนที่เคยเป็นอาจารย์และออกมาทำงานในภาคเอกชน ได้มีโอกาสในการขอตำแหน่งวิชาการได้ และยังสามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมไปจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดร. สนอง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ มีข้อแนะนำสำหรับอาจารย์ที่จะเข้าสู่การขอตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม ให้สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในประกาศราชกิจจานุเบกษาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ซึ่งในฝั่งของอาจารย์ ต้องเตรียมความพร้อมของเอกสาร เพื่อให้สอดรับกับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดดังกล่าว

“อาจารย์ที่เป็นนวัตกร นอกจากทำงานวิจัยของตัวเองและสอนนักศึกษาแล้ว ยังสามารถฝึกลูกศิษย์ให้เป็นนวัตกร เป็นสตาร์ทอัพ และเป็นผู้ช่วยให้การทำงานเป็นไปได้เร็วขึ้น เมื่อเกิดความสำเร็จในห้องปฏิบัติการ ขั้นต่อไปก็คือการยกระดับ ในการผลักดันงานให้มีระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology readiness level: TRL) เกิน TRL 3 ไปสู่ TRL 4-5 ให้ได้ เพื่อให้สามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาจารย์ที่จะขอตำแหน่งวิชาการไม่ต้องกลัวกับวิธีการใหม่ เพียงแค่ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและขอให้เชื่อมั่นในผลงานของตัวเอง” ดร.สนอง กล่าว

นอกจากนี้ ดร. พูลศักดิ์ ยังได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการพัฒนางานด้านนวัตกรรม ที่เป็นงานยากต้องอาศัยการวิเคราะห์ ประเมินผล นำไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งแนวทางการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่กระทรวง อว. และ สอวช. ได้ผลักดันนั้นมีหลายแนวทาง เช่น การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีแนวทางในการจัดตั้ง University Holding Company จากมหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทเอกชนหรือสตาร์ทอัพ หรือแนวทางเชื่อมโยงการเรียนการสอน การวิจัยและการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและเป็นความหวังในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในประเทศต่อไป

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เตรียมบินโดรนแปรอักษร 200 ลำ เทิดพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565”

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน เยี่ยมชมการทำกิจกรรมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การพัฒนาระบบและมาตรฐานในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนแปรอักษร เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับประเทศไทย” การบินโดรนแปรอักษรเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบ่มเพาะเยาวชนในการเป็นนักประดิษฐ์ โดยให้ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการบ่มเพาะการใช้โดรน สำหรับการพัฒนาโดรนแปรอักษรนั้น วช. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการสนับสนุนเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ทำให้เยาวชนมีความรู้มากขึ้น รวมถึงความสามารถในการเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมโดรน มีความเข้าใจในเรื่องโดรน และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมหรือพิธีการที่สำคัญของประเทศ นั่นคือ โดรนแปรอักษรในช่วงพระราชพิธี ซึ่งสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. เป็นหน่วยงานหลักที่คอยดูแลภาพรวม ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นความภาคภูมิใจในเยาวชนไทยในโอกาสที่ได้สร้างการเรียนรู้ผ่านการใช้โดรนแปรอักษรในครั้งนี้

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า “การแสดงบินโดรนแปรอักษรเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมการบินโดรนแปรอักษรเทิดพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ สมาคมฯ ได้นำเด็กและเยาวชนจากภาคกลางที่ผ่านการอบรมใน โครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” มามีส่วนร่วมในการออกแบบแผนการบิน (flight plan) และควบคุมการบิน ซึ่งใช้โดรนจำนวน 200 ลำ ขึ้นบินแปรขบวนแสงสีบนท้องฟ้า โดยจะแปรอักษรประกอบบทเพลง เป็นรูปภาพต่าง ๆ จำนวน 11 ภาพ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เวลาในการแสดง 9 นาทีโดยประมาณ รายละเอียดการแสดงโดรนแปรอักษรชุด“เทิดไท้องค์ราชัน” ดังนี้ 1. รูปโลกทรงกลม 2. รูปแผนที่ประเทศไทย 3. ตราพระนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. 4. พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5. พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินี 6. เจ้าฟ้านักบิน 7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปั่นจักรยาน 8. เครื่องบิน F5E 9. อักษร “70 พรรษา” 10. อักษร“ทรงพระเจริญ” และ 11. พลุไฟเฉลิมฉลอง

สำหรับการจัดแสดงโดรนแปรอักษร จะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้เข้าจัดเตรียมพื้นที่และซักซ้อมความพร้อม รวมถึงเทคโนโลยีที่จะขึ้นบินแสดงโชว์ โดยจะใช้โดรนจำนวน 200 ลำในการแปรเป็นภาพสามมิติ ที่บริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 19.30 น. ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูในพื้นที่ได้ หรือ แหงนมองท้องฟ้าในรัศมี 4 กิโลเมตรได้ อีกด้วย

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. พร้อมด้วย นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ และนายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน. นำข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด สำนักงาน กศน. ร่วมพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระสงฆ์ ทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ สามเณร และถวายสัตย์ปฏิญาณ ลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 ณ บริเวณสนามหญ้ากระทรวงศึกษาธิการ

“ครูโอ๊ะ” เป็นประธานปิดโครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หนุน แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะสามารถดูแลตนเองให้อยู่ในสังคมได้

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดโครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการและผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพฯ

โดยมี นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวรายงานพร้อมสรุปผลการจัดงาน และมี นายปราโมทย์ ธรรมสโรช อุปนายกสมาคมผู้ปกครองออทิซึม (ไทย) นายธเนตร หลงศรี รองผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ดร.สมพร หวานเสร็จ อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการให้คำปรึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อดีตผอ.เชี่ยวชาญ) นายไพรัตน์ เนื่องเกตุ ผอ.กศน.อำเภอเมืองชลบุรี นายสมบูรณ์ เหล่าวงศ์วัฒนา ผอ.กศน.อำเภอเมืองปราจีนบุรี ครู เจ้าหน้าที่ บุคลากร และผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ

นางกนกวรรณ กล่าวตอนหนึ่งว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการ และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ภายใต้โครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในวันนี้ ซึ่งต้องขอชื่นชมทุกท่านที่ล้วนเป็นบุคคลที่อุทิศตนในทุกมิติ ทั้งในเรื่องการขับเคลื่อนงานสำหรับผู้พิการ งานของบุคคลออทิสติก และบุคคลออทิซึม

ตั้งแต่ดิฉันมารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน พยายามแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทำงาน ซึ่งก็ได้ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และพวกเราชาว กศน.ที่มาช่วยเติมเต็มในการขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ ที่สำคัญคือการเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนให้ครบทุกมิติ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่บุตรหลานมีความบกพร่องทางด้านต่างๆ และนำปัญหาอุปสรรคมาสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้มีการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการ สามารถนำไปใช้ และประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการจัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในวันนี้ถือเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง

โดยกิจกรรมการถอดประสบการณ์ครู และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษครั้งนี้ ซึ่งทราบว่าในกิจกรรมมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชมรมและกศน.ในพื้นที่ กลุ่มวิทยากรครูผู้สอนคนพิการ ทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญเป็นการถอดประสบการณ์ ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม เช่น ความเหมาะสมของเนื้อหาในหลักสูตร เนื้อหาวิชาเรียนต่างๆ ในแต่ละสาระการเรียนรู้

การจัดการเรียนการสอนตามระดับ TIER1, TIER2, TIER3 ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน แนวทางการพัฒนา แก้ไขปรับปรุง ข้อเสนอแนะ และความคาดหวังในอนาคต จากการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรนี้ ทั้งจากผู้เรียนและครูผู้สอน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความมุ่งหวังในการสร้างอาชีพของบุคคลออทิสติกจากการเรียนการสอนรวมทั้งสามารถดูแลตนเองให้อยู่ในสังคมได้ เป็นต้น

“การจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาพิเศษให้กับบุคคลกลุ่มนี้จะเกิดผลได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงบุคลากรครูผู้สอนที่จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเจตนารมณ์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนารูปแบบการศึกษานอกระบบสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในโอกาสนี้ต้องขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมประชุม และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันทำให้การประชุมฯ ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ดิฉันขอส่งกำลังใจให้กับทุกคน และขอขอบคุณทุกความร่วมมือร่วมใจ เราจะร่วมกันขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการ และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในโอกาสนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขมากยิ่งขึ้น ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องและแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง ขออำนวยพรให้ทุกท่านประสบความสุข ความสำเร็จในทุกเรื่องและขอให้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยความสวัสดิภาพปลอดภัยเราจะรักกันตลอดไป ” นางกนกวรรณ กล่าว

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินงาน โครงการพัฒนาการศึกษา ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับสำนักงาน กศน. โดยมี นางสาววัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และคณะผู้อำนวยการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือใน 3 ประเด็นด้วยกัน

1) ด้านการวิจัยสำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในการสนับสนุนและพัฒนาบทเรียนออนไลน์ เพื่อนำไปสู่กระบวนการทดลอง ในรูปแบบการจัดการศึกษาแบบชมรม

2) การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กศน.เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาทักษะ ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์

3) การพัฒนาเนื้อหารายวิชา และรายวิชาออนไลน์ ทั้งที่เป็น OER (Open education resources) และ MOOC (Massive Open Online Course) ระหว่างสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับสำนักงาน กศน. โดยผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมด้วยกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย

วันที่ 26 ก.ค.2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า วันนี้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯที่ปรับเพิ่มขึ้น สามารถจำแนกตามรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ

1.ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป

2.ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า สำรับค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่

1.ค่าจัดการเรียนการสอน

2.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ซึ่งปัจจุบันหรือปีงบฯ 2565 ให้เงินอุดหนุนฯประมาณ 46,482 ล้านบาท ปีงบฯ 2566 จะเพิ่มขึ้น 2,259 ล้านบาท เป็นอุดหนุน 48,741 ล้านบาท จากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง โดยในปีที่ 4 หรืองบฯปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 8,066 ล้านบาทเศษ เป็นอุดหนุนฯ 54,548 ล้านบาท

“ ครม.ได้อนุมัติในหลักการให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุม 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15 ค่าเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมได้ไม่เต็มชุดก็ได้เต็ม 1 ชุด และเพิ่มอีก 1 ชุดสำหรับเด็กยากจน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 จากที่ทั้ง 4 รายการไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯมานานกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดในปี 2553

ขณะที่ปัจจุบันราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียน จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย สำหรับเงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียนที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ” นางสาวตรีนุช กล่าว.

รมว. แรงงานห่วงลูกจ้างประสบอุบัติเหตุถูกข้อต่อเครนทับเสียชีวิต ส่งทีมเฉพาะกิจ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ช่วยเหลือลูกจ้างและครอบครัว พร้อมทั้งตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุถูกข้อต่อเครนหลุดหล่นทับเสียชีวิต ย่านบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างทันที โดยผมได้สั่งการให้คณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือ การประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้างผู้เสียชีวิตและครอบครัวให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นพบว่า นายวชิรวิชญ์ นันท์ไพศาล ลูกจ้างช่างซ่อมเครน ขณะปฏิบัติหน้าที่ เกิดอุบัติเหตุข้อต่อเครนหลุดและหล่นลงมาทับร่างลูกจ้างเสียชีวิต โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำร่างผู้เสียชีวิตส่งให้สถาบันนิติเวชเพื่อชันสูตรอย่างละเอียด ก่อนมอบให้ญาติครอบครัวนำร่างไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้นายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินที่จะเกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงาน

นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือ การประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (28 กรกฎาคม 2565) คณะทำงานเฉพาะกิจฯ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ลูกจ้างผู้เสียชีวิตจะได้รับให้ครอบครัวของลูกจ้างได้รับทราบ โดยจากรายงานของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี ลูกจ้างจะได้รับสิทธิค่าทำศพจำนวนเงิน 50,000 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตให้แก่ทายาทของลูกจ้างร้อยละ 70 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับเป็นระยะเวลา 10 ปี ในส่วนของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุนั้น พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 จะเชิญนายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้

ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่เพจ “อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 3” ได้โพสต์เรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เดินทางมายังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในช่วงวันหยุดยาว ต้องประสบปัญหารถแท็กซี่ผิดกฎหมาย โกงค่าโดยสาร บขส.ขอบคุณข้อมูลดังกล่าว ซึ่งในส่วนของ บขส. ได้กำชับไปยังบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาในการบริหารจัดการลานจอดรถบริเวณขาออก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ให้เข้มงวดและกวดขันไม่ให้รถแท็กซี่จอดแช่ เมื่อส่งผู้โดยสารเสร็จให้วนออกจากบริเวณลานจอดจอดทันที ส่วนประเด็นรถแท็กซี่ผิดกฎหมายหรือไม่ บขส.จะประสานข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ บขส. ขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งฯ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก และปลอดภัย

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้ นายยอน ทัวร์กอร์ด (H.E. Mr. Jon Thorgaard) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทยและคณะ เข้าพบเพื่อร่วมหารือนโยบายด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศไทย – เดนมาร์ก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการหารือระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ในประเด็นด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศไทย – เดนมาร์ก ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงฯ ได้มีการวางแผนการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้

1. การพิจารณาต่อสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า B1 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยสัญญาของบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2565

2. การขอใบอนุญาตเพื่อใช้ในการต่อสัญญาให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ถูกต้องตามกฎหมาย

3. ผลกระทบจากการเปิดประมูลโครงการสัมปทานระยะสั้น โดย กทท. เพื่อประกอบการท่าเทียบเรือ B1 ณ ทลฉ. เป็นระยะเวลา 29 เดือน (2 ปี 5 เดือน) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 – มีนาคม 2569

โดยผลการหารือในวันนี้เป็นไปด้วยดี ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กกท. ดำเนินการสานต่อการดำเนินงานด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำระหว่างไทย – เดนมาร์ก ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใต้กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หาก กทท. จะเปิดประมูลและคัดเลือกผู้ประกอบการรายใหม่ (สำหรับท่าเทียบเรือ B1) จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายกิจการจากผู้ประกอบการรายปัจจุบันไปยังผู้ประกอบการรายใหม่อย่างเหมาะสมและทันเวลาเพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดผลเสียต่อประโยชน์ของสาธารณะ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดต่อเนื่องวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565 เป็นอีกช่วงที่คาดว่าจะมีประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนาทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้ครอบคลุมทั้งมิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติความปลอดภัยในการเดินทาง และมิติด้านการควบคุมโควิด-19 ประกอบด้วย การจัดเตรียมรถโดยสารและพนักงานขับรถที่มีความพร้อมให้เพียงพอต่อความต้องการเดินทาง

การตรวจความพร้อมของตัวรถและพนักงานขับรถโดยสารก่อนให้บริการ ณ สถานประกอบการ, สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดจอดทุกแห่ง ซึ่งรถโดยสารทุกคันที่นำออกมาให้บริการต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ส่วนควบและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยครบถ้วนถูกต้องและพร้อมใช้งาน เข้มงวดตรวจสอบการทำงานของระบบ GPS Tracking เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลแจ้งพิกัดและความเร็วของรถได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดการให้บริการ

ในส่วนของระบบเบรก ยาง ล้อ ระบบไฟ ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและให้คำแนะนำดูแลให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง มีถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจกกรณีเหตุฉุกเฉิน ส่วนพนักงานขับรถ ตรวจสอบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจต้องเป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตรวจสอบชั่วโมงการทำงาน

สมุดประจำรถ เป็นต้น หากพบสภาพรถหรือพนักงานขับรถมีข้อบกพร่องที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการ ผู้ประกอบการต้องจัดหารถคันใหม่และพนักงานขับรถที่มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่แทนโดยไม่กระทบต่อการเดินทางของ