AGRICULTURAL TECH

ประเด็นที่สอง คือ การเติมขัณฑสกรหรือแซ็กคาริน ซึ่งสารสังเคราะห์โดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ตัวนี้ เป็นวัตถุเจือปนอาหารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือเรียกว่า น้ำตาลเทียม มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวขุ่น และมีความหวานกว่าน้ำตาลทราย 300 ถึง 500 เท่า ปกติเวลาเราซื้อน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 25 ถึง 30 บาท มาทำน้ำเชื่อมสัก 1 ลิตร ถ้าต้องการน้ำเชื่อมสัก 300 ลิตร

ก็ต้องซื้อน้ำตาลทรายมาไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม ราคารวมไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท แต่ขัณฑสกร 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 300 บาท สามารถนำมาทำน้ำเชื่อมได้ทีเดียว 300 ลิตรเลย โดยที่มีความหวานใกล้เคียงน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทราย จึงถือว่าราคาไม่แพงเลยสำหรับการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเติมขัณฑสกรแทนน้ำตาลทรายลงไปในน้ำส้ม แน่นอนว่าจะต้องใช้ปริมาณน้อยมากในระดับมิลลิกรัมต่อขวด ไม่อย่างนั้นจะหวานมากเกินไป ซึ่งอาจจะหวานจนติดลิ้นได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ปริมาณน้อยมาก ๆ

ซึ่งจะทำให้ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่ำมาก ๆ ไปด้วย การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์การอาหารสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด (refractometer) ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดพอดีมือที่สามารถพกพาใส่กระเป๋าออกภาคสนามได้ ค่าที่ได้มีหน่วยเป็นบริกซ์ เช่น ถ้าวัดได้ค่า 8 บริกซ์ หมายถึง ในน้ำส้ม 100 กรัม มีน้ำตาลและของแข็งอื่น ๆ ละลายอยู่ 8 กรัม เป็นต้น

ซึ่งโดยปกติน้ำส้มคั้นทั่วไปจะมีปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดอยู่ระหว่าง 10 ถึง 15 บริกซ์ ถ้าน้ำส้มคั้นที่ซื้อมาหวานจริง ๆ แต่พอลองตรวจวัดค่าบริกซ์ออกมาแล้วได้ต่ำมาก ๆ แสดงว่าน้ำส้มคั้นที่ท่านซื้อมา น่าจะมีการเจือจางและผลิตขึ้นมาโดยมีส่วนผสมของน้ำตาลเทียมก็เป็นได้ สำหรับความปลอดภัยของขัณฑสกรนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ

มีรายงานว่าสารตัวนี้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของหนูทดลอง แต่ได้มีการแย้งว่าปริมาณที่ทำการทดลองกับหนูนั้น เป็นปริมาณที่ใช้มากเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้สำหรับมนุษย์ ในสหรัฐอเมริกาจึงอนุญาตให้ใช้ได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมและระบุปริมาณที่ฉลากไว้ด้วย ส่วนในยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดที่ 80 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น สำหรับประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ได้ในเครื่องดื่มไดเอทหรือสำหรับผู้จำกัดอาหารและน้ำหนักตัว อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคอ้วนซึ่งต้องจำกัดปริมาณน้ำตาล จึงไม่ควรนำมาใช้กับอาหารทั่วไป โดยเฉพาะอาหารที่เด็ก ๆ ทานได้ เพราะอยู่ในช่วงอายุที่ต้องการพลังงานสูง ส่วนเรื่องการใช้น้ำผสมสีส้มในการผลิตน้ำส้มปลอมกรณีนี้ ต้องตรวจดูว่าสีส้มนั้นมาจากธรรมชาติ หรือเป็นสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่อนุญาตให้ใช้และใช้ในปริมาณที่กำหนดหรือไม่

ปัจจุบันมีชุดทดสอบสีผสมอาหารที่ห้ามใช้ ซึ่งหากเป็นสีผสมอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้หรือนำมาจากสีย้อมผ้า สีทาผนังบ้าน อาจจะมีการปนเปื้อนสารปรอทและโลหะหนักอื่น ๆ เป็นพิษภัยกับผู้บริโภคได้ ส่วนการผสมน้ำส้มในกะละมังซักผ้าที่เป็นภาพถ่ายให้เห็นนั้น แสดงถึงการใช้อุปกรณ์ที่ผิดประเภทและผิดวัตถุประสงค์ในการผลิต กะละมังซักผ้าไม่ใช่วัสดุสัมผัสอาหาร

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ในการผลิตอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการ ถือว่าไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มคั้นปลอมในครั้งนี้ สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ คือ ผู้ประกอบการไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร อาจจะทำให้มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนในระหว่างการผลิต และประกอบกับมีการเจือจางน้ำส้มด้วยน้ำก๊อก

ทำให้ค่าความเป็นกรดเจือจางและปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่ำลง จะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมานั้นเพิ่มจำนวนเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในสภาวะอากาศร้อนของประเทศไทย ปัญหาแรกที่เร็วที่สุดในกรณีนี้ต่อผู้บริโภค คือ ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องร่วงจากจุลินทรีย์ปนเปื้อน ปัญหาถัดมา คือ สีส้มที่ใช้ผสมลงไป หากเป็นสีที่เป็นอันตรายและมีปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและทางเดินอาหาร และยังสะสมในร่างกาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในอนาคต

ประเด็นที่สาม เรื่อง ขัณฑสกรในกรณีนี้นั้น ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสีผสมอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพในมนุษย์ของขัณฑสกรที่ยังไม่ชัดเจนและยังเป็นที่ยอมรับให้ใช้ในอาหารได้ในปริมาณหนึ่ง

สำหรับประเด็นน้ำส้มคั้นปลอมครั้งนี้ให้ถือเป็นบทเรียนในด้านความปลอดภัยอาหารครั้งสำคัญ โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย เพื่อให้ความมั่นใจ และสามารถมัดใจให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในอาหารที่ผลิตขึ้น ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าประจำและเหนียวแน่นสม่ำเสมอไป ส่วนผู้บริโภคเอง เมื่อได้รับข่าวสารใด ๆ

โดยเฉพาะการแบ่งปันหรือแชร์ข่าวอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ ก็ไม่ควรตื่นตระหนกไป จนพากันไม่ซื้อไม่ทานน้ำส้มคั้นสดตามท้องตลาดทั้งหมดจนพ่อค้าแม่ค้าน้ำส้มรายอื่น ๆ เดือดร้อนขายน้ำส้มคั้นไม่ได้และขาดทุนไปตาม ๆ กัน ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารให้ถี่ถ้วนอย่างแยบยลให้เห็นถึงข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาหารที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเราเองและคนรอบข้าง ทั้งนี้ น้ำส้มคั้นสดจริง ๆ ที่ผลิตอย่างดีและปลอดภัย ยังคงสามารถดื่มแก้กระหายคลายร้อนและมีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภคเหมือนเช่นที่ผ่านมา

การจัดงาน THAIFEX-World of Food Asia 2016 หรือ งานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติของไทย ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ข่าวว่าเฉพาะวันแรกของงาน มีการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ และมีมูลค่าคาดการณ์ซื้อขาย รวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้ขายเกิดขึ้น 84 ราย และผู้ซื้อ 28 ราย จากประเทศ ออสเตรเลีย บาห์เรน เบลเยี่ยม แคนาดา สิงค์โปร สหรัฐอเมริกา เยเมน อิสราเอล โรมาเนีย ไต้หวัน พม่า เป็นต้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภท เบเกอรี่ เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง ซอสปรุงรส อาหารเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยในปีนี้มีผู้ร่วมจัดงานจากทั่วโลกกว่า 1,800 บริษัท จาก 38 ประเทศทั่วโลก กว่า 4600 บูธ ภายใต้แนวคิดของปีนี้คือ “Experience the Best in Asia”

ทั้งนี้ ในส่วนจัดแสดงสินค้าทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน ในปีนี้ได้มีการขยายพื้นที่การจัดแสดงงานกว่า 80,000 ตารางเมตร (จากเดิม 70,000 ตร.ม.) ไปยังอาคาร อิมแพ็ค เอ็กซ์ซิบิชั่น ฮอล์ล เซ็นเตอร์ 1-4 ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการจัดงานมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

โดยเฉพาะในเรื่องของผลไม้ไทย คึกคักไม่แพ้งานครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจของ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” พบว่ามีหลายบูธที่นำมาออกโชว์ในงานครั้งนี้

พบว่า ทุเรียนหมอนทองยังเป็นพระเอก ตามด้วยมะม่วงน้ำดอกไม้ มังคุด สับปะรด ส้มโอ ลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ และที่มาแรงสุดๆเหมือนกับปีที่ผ่านมาก็คือ มะพร้าวน้ำหอม กระหึ่มไทย หระหึ่มโลกจริงๆงานนี้

ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการส่งออกอย่างน้อยก็ 2 ราย พบว่า ผลไม้ไทยของเราตลาดยังเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะทุเรียนนั้นผลิตไม่พอขาย ตลาดหลักยังอยู่ที่จีน เช่นเดียวกับมะพร้าวน้ำหอมที่ขายดีทั้งผลสดและการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และแปรรูปเป็นอื่นๆ

“ปัญหาของเราจะว่าไม่เป็นปัญหาก็ได้คือ ราคาสินค้าของเราค่อนข้างแพงกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ด้วยความเป็นดินแดนแห่งราชาผลไม้ทำให้ชื่อเสียงของเราขายได้ แพงแค่ไหนลูกค้าก็ยังตอบรับเราอยู่…อย่างเช่นมะพร้าวน้ำหอมนั้นของเราได้ราคาดีกว่าทุกประเทศ มีรสชาติที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ แต่ทั้งหมดเราต้องคิดพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรมการผลิตและการแปรูปเพิ่มมูลค่า เราไม่อาจจะแข่งขันในรูปแบบเดิมๆได้ตลอดไป และสิ่งสำคัญเราจะต้องเปิดตลาดใหม่ๆอยู่เสมอ” นี่คือเสียงจากผู้ส่งออกรายหนึ่ง

ผลไม้ไทยจะก้าวไกลยั่งยืนแค่ไหนก็อยู่ที่ฝีมือการพัฒนาของผู้เกี่ยวข้องทุกคน เกษตรก้าวไกลดอทคอม…ได้เริ่มออกเดินทางเมื่อเดือนธันวาคม 2557 และได้ปรับปรุงครั้งใหญ่ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ช่วงนั้นเราหยุดเดินเครื่องไประยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะค้นหา “จุดลงตัวใหม่” คือรูปแบบของเว็บไซต์จะต้องสอดรับกับกลุ่มผู้อ่านออนไลน์ โดยเฉพาะผู้อ่านผ่านโทรศัพท์มือถือ “เรายอมนับ 1 ใหม่ เพื่อที่จะนับถึง 10 และทำในสิ่งที่ดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า” และในที่สุดวันที่ 9 เมษายน 2559 (เดือนมหามงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเดือนแห่งปีใหม่ไทย) โฉมใหม่ก็ได้ปรากฏขึ้นดังที่ท่านได้เห็นอยู่ในขณะนี้

ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเศษ ที่เราได้มุ่งมั่นพัฒนาภายใต้รูปแบบเว็บไซต์โฉมใหม่ เราพบว่าผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็นั่นแหละครับ มันยังไม่มากพอที่จะทำให้ภาคเกษตรของเราเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ตามเจตนารมย์ที่เราวางไว้ เราพบว่ามีองค์ความรู้อีกมากที่ยังไม่ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อยังประโยชน์แก่เกษตรกรและภาคเกษตรโดยรวม

เรื่องแรกคือ สรรพกำลังของเรายังน้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ “เกษตรคือประเทศไทย” เราจึงตัดสินใจที่จะประกาศหา “คนข่าว” หรือ “ผู้ร่วมอุดมการณ์” ที่พร้อมจะเดินหน้าไปทิศทางเดียวกัน
เรื่องที่สองคือ พันธมิตรทางธุรกิจ เราต้องการผู้ที่มองเห็นว่า “เกษตรคือประเทศไทย” มาร่วมสนับสนุนหรือเป็นสปอนเซอร์(ลงโฆษณา)ให้หน้าเว็บไซต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนเราขอเชิญชวน

เรื่องที่สามคือ เราต้องการผู้ร่วมทุน เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะเข้ามามีบทบาทต่องสังคมไทยสูงมาก เราจึงต้องการขยายงานให้ครอบคลุม สื่อโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) ทั้งบริการรับจัดทำ และวางแผนโฆษณาออนไลน์ให้กับกลุ่มธุรกิจเกษตรต่างๆ อีกทั้งรับผลิตวิดีโอคอนเทนต์ (Digital Video) รวมทั้งบริการรับจัดกิจกรรมทางการตลาด และอบรมสัมมนาทางการเกษตรที่น่าสนใจ (ในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องมีผู้ร่วมทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ และทุนในที่นี่ไม่ได้หมายความเป็นเงินทองเพียงอย่างเดียว)

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวถึงการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559 วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปีว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ณ บริเวณหอประชุม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

สำหรับปี 2559 กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 รวมเวลา 10 วัน ภายใต้แนวคิด “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ แนะการทำนาแบบประณีต เป็นอาชีพที่ยั่งยืน” และ มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานจากเดิมบริเวณหอประชุม ย้ายมาจัดบริเวณรอบสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรตั้งแต่ประตูงามวงศ์วาน 3 ผ่าน KU Avenue จนถึงสำนักการกีฬาหรือยิมเนเซี่ยม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับการจราจรด้านถนนพหลโยธินที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีเขียว

สำหรับแนวคิดการจัดงานปีนี้เน้น การทำนาแบบประณีต เพื่อเป็นการยกระดับเกษตรกร และชาวนาของประเทศได้ปลูกข้าวให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล มีประสิทธิภาพในการทำนาที่รวดเร็ว ลดต้นทุน และได้ผลผลิตสูง และถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำค่าที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง นั่นก็คือ นวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้าข้าวที่เป็นผลงานของอาจารย์ ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผลงานนี้ได้จดสิทธิบัตรในนามมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งเป็นเผยแพร่ผลการดำเนินงานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก สภากาชาดไทย ให้ประชาชนได้รับรู้แนวทางการประกอบอาชีพเสริม และความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร การป้องกัน การฟื้นฟู และการช่วยเหลือสังคมภายหลังเกิดภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย วาตภัย และภาวะภัยแล้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง เช่น การปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตด้วย “เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดและเทคนิคการทำนาแบบชาวนาเงินล้าน” โดย ดร.แสงดาว แสนรอด (เขาแก้ว) อีกทั้งแป้งข้าวไรซ์เบอรี่สำเร็จรูป เครื่องสีข้าวขนาดชุมชน หรือเมนูข้าวเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ หรือนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพเสริม ตลอดจนการนำผลผลิตของเกษตรกร กลุ่มลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มสินค้าของจังหวัดต่าง ๆ มาจำหน่าย รวมถึงสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ของดีจากตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย สินค้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือ สินค้า Q หรือ “Q Restaurant” เป็นต้น โดยจะนำรายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย

รศ. ดร. นพ.หมอพิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แถลงว่า ในการจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินรายได้นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติต่อไป สำหรับปีนี้ได้เปลี่ยนตำแหน่งสถานที่จัดจากด้านถนนพหลโยธินมาทางด้านถนนงามวงศ์วานประตู 3 เป็นลักษณะถนนคนเดินให้ชม ชิม ช็อปอย่างจุใจ แต่ยังคงบรรยากาศของงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ โดยเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวนาทำนาแบบประณีต โดยนำเครื่องหย่อนกล้าข้าวแบบประณีตของอาจารย์ปัญญา ซึ่งได้จดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างมูลนิธิ ฯ กับ มหาวิทยาลัย ในการที่จะช่วยให้ชาวนามีโอกาสปลูกข้าวอินทรีย์ได้ปริมาณข้าวมากขึ้น การดูแลง่าย ต้นทุนต่ำ ตลอดจนนำเทคโนโลยีโปรแกรมการปลูกข้าวบนมือถือ มาประยุกต์ใช้ เป็นต้น

สำหรับร้านค้ามูลนิธิฯ จะจัดร้านแบบใหม่ ทั้งชิม ช้อป เพลินตาเพลินใจ ทั้งอาหารคาวหวานจากข้าว riceberry ข้าวอินทรีย์ เบเกอรรี่ ตลาดสดของอินทรีย์ ของฝากจากร้านส่วนพระองค์ ร้านผลพลอยพอเพียง ร้านค้าชุมชน ร้านผักอินทรีย์ รวมทั้งร้านพันธมิตรของมูลนิธิ ฯ จะได้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอรี่ เช่น ขนมปัง ขนมครก ชา เบเกอรี่ และเป็นครั้งแรกที่ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมออกร้านโดยนำผลิตภัณฑ์จากข้าวไรซ์เบอรี่ของมูลนิธิ ฯ มาใช้ในการสาธิตการประกอบอาหารร้าน Q restaurant เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค มาจัดแสดงด้วย

ด้าน ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปีนี้ ได้เปลี่ยนสถานที่มาจัดบริเวณ ตั้งแต่ประตูงามวงศ์วาน 3 เลี้ยวซ้ายเข้ามาในบริเวณรอบสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร จนถึงแยกสำนักการกีฬา โดยจะทำการปิดการจราจรเฉพาะฝั่งขาเข้าประตูงามวงศ์วาน 3 จนถึงแยกยิมเนเซี่ยม ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วางแผนและจัดการจราจรไม่ให้ติดขัด และสามารถใช้ประตูงามวงศ์วาน 1 และ 2 รวมทั้งประตูพหลโยธิน และประตูอื่น ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นขาเข้าประตูวิภาวดีรังสิตแยกยิมเนเซี่ยมจัดการเดินรถทางเดียวออกประตูงามวงศ์วาน 3 ขาออกได้ตามปกติ

จึงขอเชิญชวนประชาชน และผู้สนใจมาเที่ยวงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร และร่วมทำบุญด้วยการอุดหนุนสินค้าของร้านค้าส่วนพระองค์ ร้านของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร้านผลพลอยพอเพียง และตลาดสดอินทรีย์ รวมทั้งชมนวัตกรรมผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเลือกซื้อของดีจากตลาดน้ำ ของดี 77 จังหวัด ตลาดนัดต้นไม้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย

คำว่า “ครัวโลก” ดูเหมือนว่าประเทศไทยของเราท่องจำกันจนขึ้นใจแล้ว แต่ไปๆมาๆก็ยังไม่ถึงไหน เรายังติดกับมาตรการที่คุมเข้มอาหารที่นำเข้า แค่เรื่องแรงงานทาสก็กระอักแทบจุก อีกทั้งข้อจำกัดอื่นๆที่พูดคุยไปก็เจ็บช้ำน้ำใจกันเปล่าๆ สู้เอาแรงมาช่วยกันคิดจะดีกว่า

บังเอิญว่าวันนี้ ผมได้รับข้อมูลหนึ่งที่ส่งต่อๆกันมาผ่านทางไลน์ ซึ่งก็บังเอิญอีกนั่นแหละที่เป็นเรื่องราวที่ผมเองก็เฝ้าติดตามานาน จึงขอเขียนถึงเสียหน่อย

ข้อมูลที่มาส่งมา เป็นประเด็นของการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรล้วนๆ เช่นว่า…

บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และ หน่วยงานรัฐ ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกันจัดตั้งสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อการเกษตรและอาหาร (Sciene, Technology, Engineering and Mathematics for Food and Agriculture Council) เพื่อรณรงค์สนับสนุนให้เยาวชนในสหรัฐฯ หันมาเรียนเกษตรกันมากขึ้น
อุตสาหกรรมไอทีของอเมริกาสนใจลงทุนในเรื่องของเกษตร และ อาหารมากขึ้นอย่างชัดเจน กูเกิ้ล ไอบีเอ็ม ออรอเคิล เพย์พาล อเมซอน อินสตาแกรม และ ทวิตเตอร์ ลงทุนภาคเกษตรและอาหาร

อาหรับเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีในการปลูกพืชในทะเลทราย มีการค้นคว้าวิจัยการปลูกข้าว ผักต่างๆ ในโรงเรือน ขณะนี้ภาคเกษตรของอาหรับเติบโตเร็วมาก
ยุโรป วิจัยการผลิตเนื้อไก่ด้วยวิธีการปลูก และเริ่มกำหนดมาตรฐานเนื้อไก่ให้สูงขึ้นเพื่อรองรับสินค้าของตัวเอง กีดกันเนื้อไก่ที่มาตรฐานต่ำกว่า
อเมริกา และ แคนาดา ออกกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อกีดกันเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเลี้ยงในฟาร์มที่สัตว์ไม่มีความสุข ฟาร์มที่เลี้ยงแบบแออัดยัดเยียด
สิงคโปร์วิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมในเมือง และได้เปิดฟาร์มผักแนวดิ่งเชิงพานิชย์เป็นแห่งแรกในโลก

ฮ่องกงวิจัยและพัฒนา การทำฟาร์มสัตว์น้ำในอาคาร และได้เปิดฟาร์มเลี้ยงปลาเก๋าเชิงพาณิชย์ในอาคารสูง
เกาหลีใต้ สร้างเมืองนวัตกรรมอาหาร ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาหารป้อนเอเชียตะวันออก
จีนออกไปพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศทางแอฟริกา (อเมริกาก็ไปด้วย) เพื่อปั้นภาคเกษตร
อินเดียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาหารแห่งสุขภาพ อาหารที่มีฤทธิ์ทางยา ของโลกฯลฯ

ฟังแล้ว อ่านแล้วไม่ธรรมดาจริงๆครับ…ผมจึงต้องโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งท่านเป็นคนหนึ่งที่ได้ศึกษาติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลานานและก็บังเอิญว่าท่านได้เขียนบทความไว้เรื่องหนึ่งเมื่อปีที่แล้วชื่อ “เกษตรอัจฉริยะ…จุดเปลี่ยนอนาคตอาหารโลก” (อันที่จริงเรื่องที่ส่งมาทางไลน์ ผมเองก็คิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลดัดแปลงมาจากต้นฉบับจากอาจารย์ท่านนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร อ่านจากต้นฉบับเต็มๆดีกว่าครับ)

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ มองว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต คือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตัวการของปัญหาโลกร้อน รวมถึงการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะทำให้สังคมเมือง (Urbanization) มีขนาดใหญ่ขึ้นถึงร้อยละ 70 ของทั้งหมด นำไปสู่ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ทำให้ภาคเกษตรจำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้นถึงกว่าร้อยละ 70 สิ่งเหล่านี้ทำให้นานาประเทศหันกลับมามองเรื่องการพัฒนาด้านการเกษตรที่จะกลายเป็นอนาคตของโลก โดยในศตวรรษที่ 21 การเกษตรกรรมของโลกจะเข้าสู่ยุค Paradigm Shift หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ กลายเป็น

“เกษตรกรรม เวอร์ชัน 2.0” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภาคเกษตรกรรม ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเปลี่ยนจากเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารเคมี สู่การเกษตรแบบชีววิทยาสังเคราะห์ (Bio-agriculture หรือ Synthetic Biology) และการเปลี่ยนจากเกษตรกลางแจ้ง (Outdoor Farming) ซึ่งเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมที่ต้องต่อสู้กับสภาพดินฟ้าอากาศ สู่เกษตรในร่ม (Indoor Farming) ที่ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในสิ่งปลูกสร้างที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม ดังเช่น การทำไร่ในอาคารสูง (Vertical Farming), การทำเกษตรในแนวดิ่ง, การทำฟาร์มในเมืองเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารได้เองทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์, การปลูกเนื้อสัตว์ (In vitro meat) แทนการเลี้ยงสัตว์ที่มีชีวิต และการผลิตอาหารสังเคราะห์ (Synthetic foods)

เมื่อระบบการเกษตรเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยของ “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทฟาร์ม” (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เพื่อให้สามารถผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่จะมากขึ้นในอนาคต เกษตรกรและบุคลากรทางการเกษตรจะให้ความสำคัญกับ การทำฟาร์มที่มีความแม่นยำสูง (Precision Farming) โดยเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการดูแลทุกกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่จะทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อให้กระบวนการผลิตถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ด รดน้ำ ให้ปุ๋ย ให้ยาปราบศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและคัดเลือกผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ปัจจุบันเกษตรกรรมความแม่นยำสูงเป็นที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศที่เริ่มทำการวิจัยด้านนี้ ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย

ขณะเดียวกันยังเน้น การทำฟาร์มอัจฉริยะ ที่มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยทั้งระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ระบบเซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพมาผสมผสานกับงานด้านการเกษตร ควบคู่กับ การเกษตรแบบวิศวกรรมเปลี่ยนแปลง (Geoengineering) ที่จะนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การเปลี่ยนให้พื้นดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อย่างทะเลทรายให้เป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคต

ปัจจุบันหลายประเทศ รวมถึงหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเกษตรและอาหารมากขึ้น และต่อไปโลกจะเข้าสู่อาหารยุคดิจิตอล ที่ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตอาหารเองโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นและจีน ที่มุ่งปฏิรูปเกษตรกรรม สนับสนุนการรวมที่นามาทำเกษตรแปลงใหญ่ (Sharing Farming) ที่เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้นตามมูลค่าทรัพย์สินที่ลงไปในบริษัทที่ร่วมทุนกัน โดยเกษตรกรจะเป็นพนักงานหรือเป็นเพียงผู้ถือหุ้นก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเรื่องนี้ต้องเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน, เวียดนามดึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างฟูจิตสึมาพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์ม ด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสนับสนุนด้านการเกษตร เช่นการใช้กล้องบันทึกภาพการเติบโตของพืชผักที่ปลูก ส่งตรงข้อมูลเข้าโปรแกรมทางมือถือเพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต พร้อมระบบสั่งการการให้น้ำ-ให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ , เกาหลีใต้พัฒนาเมืองอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้คนในเมืองที่มีมากกว่า 5 ล้านคน ลงมือปลูกผักกินเองในบ้านตนเอง หรือทำสวนผักชุมชน , สิงคโปร์ปลูกผัก-เลี้ยงปลาเก๋าในอาคาร ปลูกผัก-เลี้ยงผึ้งบนหลังคา

ส่วนบริษัทที่หันมาสนใจด้านการเกษตร เช่น ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นหันมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร, Google กำลังทำการปลูกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วน เช่น ปลูกอกไก่ ปลูกขาหมู ปลูกเนื้อสันใน-สันนอก ที่สามารถควบคุมรสชาติและคุณค่าทางอาหารได้, บริษัทไอทีในสหรัฐอเมริกาและจีน หันมาตื่นตัวลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและการทำฟาร์มเกษตร

สำหรับไทยเราผู้นำด้านการเกษตรอย่างซีพี (CP) เองก็ได้พัฒนาการเกษตรไปอีกขั้น ด้วยโครงการเกษตรกรรมหมุนเวียนทันสมัย ผิงกู่ ที่ประเทศจีน โดยเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัว แบบครบวงจร และนำมูลไก่ไปใช้ในพื้นที่ปลูกท้อ ในพื้นที่ 2.5 หมื่นไร่บริเวณรอบๆ ฟาร์มที่ซีพีได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตผลไม้รายใหญ่ในจีนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกท้อออร์แกนิก เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคตคือ การเกษตรจะถูกผนวกไปกับ อาหาร วัสดุ ท่องเที่ยว สุขภาพ พลังงาน ดังนั้นนักลงทุนที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมจะหันมาทำเกษตรทั้งหมด เช่น ปตท.ที่หันมาทำธุรกิจปลูกกาแฟเนื่องจากมีกำไรจากการทำร้านกาแฟ จึงเกิดความคิดเอาอาหารมาแทนพลังงานในอนาคต, SCG ที่มองเกษตรคืออนาคตจึงปลูกต้นไม้เองเพื่อมาป้อนธุรกิจตนเอง

อาจเรียกยุคนี้ว่า Bio economy คือการเพาะปลูกอะไรก็ได้ที่จะเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมี หรือการเปลี่ยนน้ำมันใต้ดินให้เป็นน้ำมันบนดิน

“แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรอยู่แล้ว แต่ก็ต้องปรับตัวเองเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยต้องมองว่าเกษตรกรคือนักธุรกิจเกษตร ไม่ใช่เพียงผู้ผลิตสินค้าเกษตรเท่านั้น รวมทั้งต้องทำให้ระบบนิเวศธุรกิจ หรือ Business Ecosystem มีความเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของบุคลากรด้านการเกษตรมากขึ้น เช่น สร้างผู้พัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรและการส่งออก การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนด้านการเกษตร เป็นต้น”

เมื่อแทบทุกประเทศหันมามองการทำเกษตรที่จะกลายเป็นอนาคตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกษตรกรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จะอาศัยและอยู่ร่วมกันได้อย่างผสมกลมกลืน และต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมเกษตร (The New Imperialism) เหมือนกับยุคล่าอานานิคมในอดีต โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรแต่มีเทคโนโ

ลยีขั้นสูงและทุนหนา อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

ประเทศไทยก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้มีทั้งอาหารเลี้ยงคนในชาติและส่งอาหารป้อนคนทั้งโลกได้ ตามวิสัยทัศน์การเป็น “ครัวของโลก” ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยดำเนินการมาตลอด

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดงานสัมมนา “สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย” พบความมหัศจรรย์ของพันธุ์ งานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชั้นยอดจากไผ่ วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องประชุมใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ย่านประชานิเวศน์ 1

เนื้อหาสาระของงานประกอบด้วย เรื่องพันธุ์ไผ่ที่ปลูกสำหรับทำอาหาร, พันธุ์ไผ่สำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์, การปลูกการดูแลไผ่ให้ได้ผลผลิตดี, งานแปรรูปไผ่, ตลาดไผ่, ไผ่สร้างภูเขาหัวโล้นให้เป็นป่าได้อย่างไร

พลาดไม่ได้กับนิทรรศการ…มีการแสดงพันธุ์ไผ่ยอดฮิต, ตัวอย่าง หน่อไผ่ยอดนิยม เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์จากไผ่ ฯลฯ สุดพิเศษโชว์มอเตอร์ไซต์ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานจากไผ่

ส่วนกำหนดการสัมมนานั้น ภาคเช้ามี นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของไผ่กับการสร้างชาติ”

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559…สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ พร้อมเครือข่าย ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง “พืชจีเอ็ม : ทางเลือกที่จะอยู่รอดของเกษตรกรไทย” ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการ และเกษตรกรมาร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานสมาพันธุ์เกษตร ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาต (สกช.) ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์

ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และปราชญ์ชาวบ้าน จ.สุพรรณบุรี คุณนิวัฒน์ ปากวิเศษ ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาว จ.สมุทรสาคร คุณธรรมนูญ ยิ่งยืน เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และสมาชิกสภาเกษตรกรระดับจังหวัด นครราชสีมา คุณสุริยา ศรสังข์

เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและสมาชิกสภาเกษตรกรระดับอำเภอ จ.ลพบุรี คุณวุฒิไกร กุลกัลป์ชัย ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จ.น่าน คุณศักดิ์ชัย ประสิทธิ์แสงอารีย์ เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอ จ.ชัยนาท คุณสมยศ จินศิริวานิชย์ ผู้ประกอบการฝ้าย จ.นครสวรรค์ ฯลฯ

วิทยากรชื่อดังจากทั่วสารทิศ…ประกอบด้วย จากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประสาน สุขสุทธิ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว นายเฉลิม ยานะวงษ์ เกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปไผ่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง นายถาวร บุญราศรี จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ