CHEMICAL

พ.อ. กฤตพันธุ์ รักใคร่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า นพค. 34 ได้น้อมนำหลักพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายในหน่วยฯ เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และจัดแสดงองค์ความรู้ที่น่าสนใจต่างๆ ทางด้านการเกษตร โดยเน้นองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งการสร้างรายได้เสริม และการลดรายจ่าย รวมไปถึงการทำเกษตรปลอดภัย ไร้สารเคมี โดยการจัดตั้ง ‘สถานีเกษตร’ ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานสำหรับทุกภาคส่วน มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมายได้แก่

1.‘สถานีก๊าซผักตบชวา’ เป็นการนำงานวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ มาถอดบทเรียนให้เป็นวิธีการทำง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถทำใช้ได้เอง และนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดวัชพืช คือผักตบชวา เกิดผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพติดไฟ ที่สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน ส่วนกากผักตบชวาหลังการย่อยสลายแล้ว ยังคงมีเส้นใยผักตบและธาตุอาหารสำหรับพืชคงเหลืออยู่บ้าง จึงนำไปใช้ใส่โคนต้นไม้ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและกักเก็บความชื้นได้ ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่ายโดย นำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ การผลิตก๊าซชีวภาพในถังหมักขนาด 200 ลิตรนั้น หลังจากหมักไว้นาน 10-15 วัน จะได้ก๊าซชีวภาพสำหรับหุงต้มทุกวันๆ ละนานประมาณครึ่งชั่วโมง การหมักหนึ่งครั้งสามารถใช้ได้นานถึง 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมัก ยังมีประโยชน์ โดยสามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้ เพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหาร และเป็นวัสดุช่วยกักเก็บความชื้นในดิน

2.‘สถานีไส้เดือน’ เป็นการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก กำจัดขยะอินทรีย์ และเป็นอาหารสัตว์ โดยการเลี้ยงไส้เดือนให้ผลผลิตที่สำคัญ 3 อย่างคือ ตัวไส้เดือน ปุ๋ยหมักจากไส้เดือน (vermicompost) และน้ำหมักมูลไส้เดือน (Worm tea) สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม และเลี้ยงเป็นงานอดิเรก เพื่อพัฒนาการใช้ผลผลิตจากการเลี้ยงไส้เดือนไปใช้ประโยชน์ เช่น การใช้ปุ๋ยหมักจากไส้เดือน และน้ำหมักมูลไส้เดือน ร่วมกับการเลี้ยงกุ้ง การเพาะเห็ด การปลูกมะนาววงบ่อด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือน การผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือน ไส้เดือนที่จัดแสดง มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนยูโร (Eisenia hortensis), ไส้เดือนอาฟริกา (African Night Crawler) และไส้เดือนสีน้ำเงินจากเอเชีย (Blue worm) วิธีการเลี้ยงไส้เดือน ทำได้โดยการเตรียมมูลสัตว์ป่น 2 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำให้มีความชื้นประมาณ 85 % หมักไว้ 1 สัปดาห์ สามารถนำมาใช้เลี้ยงไส้เดือนได้ หลังการเลี้ยงไส้เดือนนาน 45 วัน จะได้ปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน และน้ำหมักมูลไส้เดือน

3.‘สถานีปุ๋ยน้ำชีวภาพ’ จัดแสดงวิธีการผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ โดยใช้เศษอาหาร หรือเศษพืชผัก ช่วยเสริมสร้างการโตและความแข็งแรงให้พืช ลดการใช้สารเคมี การผลิตน้ำหมักชีวภาพ สูตรเร่งโต และ สูตรต้านโรค ซึ่งเป็นสูตรที่มีผลงานวิจัยรับรอง ประชาชนสามารถนำสูตรไปผลิตที่บ้านสำหรับใช้เองได้ การขยายหัวเชื้ออย่างง่ายสไตล์ชาวบ้าน ที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป ทำให้หัวเชื้อคุณภาพดีที่ได้รับมาจำนวนจำกัด มีปริมาณมากขึ้น

4.‘สถานีหมามุ่ยอินเดีย’ จัดแสดงการปลูกหมามุ่ยอินเดีย (Velvet bean) หรือ ถั่วเวลเวท ซึ่งปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ต้อวการการดูแลมาก สามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน 4 เดือน มีตลาดส่งออกรองรับ เมล็ดหมามุ่ยอินเดียนั้น เมื่อนำมานึ่งหรือคั่วให้สุกเหลือง สามารถรับประทานได้ทั้งแบบเม็ด หรือบดเป็นผง ไม่แนะนำการรับประทานดิบ เป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ไม่เหนื่อยง่าย ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพิ่มความกระฉับกระเฉง ช่วยทำให้นอนหลับสบาย จิตใจเบิกบานแจ่มใส มีสรรพคุณในการเพิ่มพลังทางเพศทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ช่วยในผู้มีบุตรยาก และรักษาโรคพาร์กินสันได้ ขนาดรับประทานไม่ควรเกินวันละ 3 เมล็ด หรือไม่เกินวันละ 5 กรัม ต่อวัน โดยสามารถผสมเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ โอวัลติน ได้ตามใจชอบ

5.‘สถานีกวาวเครือขาว’ สายพันธุ์ SARDI 190 เป็นกวาวเครือขาวที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แล้ว หัวกวาวเครือขาว สามารถนำมาผ่านกระบวนการ สำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือทำน้ำหมักสำหรับรดพืช ทำให้พืชและสัตว์โตเร็ว เนื่องจากหัวกวาวเครือขาวมีสารกลุ่มไฟโทเอสโทรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่ได้จากพืช การใช้ในคน จะทำให้ดูหนุ่มสาวกว่าวัย ช่วยบำรุงทรวงอกและเส้นผม ช่วยให้ทานอาหารได้ นอนหลับดี ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และหงุดหงิดง่ายในสตรีวัยหมดประจำเดือน ขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่กิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาผลิตเป็นแชมพู ครีมอาบน้ำ และสบู่ ช่วยบำรุงผิวได้

6.‘สถานีไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์’ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่งที่เกือบจะศูนย์พันธุ์ไปแล้ว คือ ไก่พันธุ์ตะเภาทองกับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่าไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ใช้เวลาในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กว่า 5 ปี จึงได้ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ที่มีลักษณะเด่น คือ มีรูปร่างสมส่วน มีความสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย ลักษณะหงอนหินประมาณ 85% และ 15% มีลักษณะหงอนจักร ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่มหวานกรอบอร่อยเป็นเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์ และที่สำคัญ เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรคได้เป็นอย่างดี

7.‘สถานีไก่ดำเคยู พูพาน’ เป็นไก่เนื้อดำ หรือไก่กระดูกดำ (Black-bone chicken) ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ ให้เป็นสายพันธ์ที่เลี้ยงง่าย โตไว แต่ยังคงคุณค่าทางอาหารของไก่ดำ คือช่วยบำรุงสุขภาพ และรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยนำพ่อแม่พันธุ์ตั้งต้น ที่ถูกรวบรวมมาจากแหล่งที่มีการเลี้ยงไก่กระดูกดำทั่วประเทศ นำมาทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ลักษณะที่ตรงตามความต้องการของตลาดผู้เลี้ยงผู้บริโภคไก่กระดูกดำ อีกทั้งยังเหมาะสมกับการเลี้ยงในรูปแบบเชิงการค้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยไก่ดำเคยู-ภูพาน จะมีลักษณะความเป็นไก่กระดูกดำทุกประการยกเว้น ขนสีขาวที่สวยงาม ส่วนจุดเด่นด้านการผลิตคือ สามารถเลี้ยงเหมือนไก่บ้าน โตเร็ว ใช้เวลาในการเลี้ยงเพียง 3 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 กิโลกรัม ทนต่อสภาพอากาศร้อนและโรคได้ดี

8.‘สถานีไก่เคยู เบตง’ เกิดจากการนำไก่เบตงจากจังหวัดยะลา มาทำการวิจัย คัดเลือกเฉพาะไก่ที่มีลักษณะดี จากนั้น ได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความโดดเด่น มีคุณลักษณะพันธุ์ที่ดีขึ้น สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภาคกลาง และมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป ให้ไข่มากขึ้น มีเนื้อหนา เหนียวนุ่มหอม เนื้อไม่แฉะ ไขมันใต้ผิวหนังน้อย หนังบาง รสชาติดี เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ไขมันใต้ผิวหนังน้อย ปรุงอาหารได้หลากหลาย อาทิ ไก่สับ ไก่นึ่ง ไก่ต้มเครื่องยาจีน ข้าวมันไก่ ข้าวหน้าไก่ ฯลฯ

9.‘สถานีไก่เคยู เล็กฮอร์น’ เป็นพันธุ์ไก่ไข่ที่ผ่านการผสมภายในกลุ่มและคัดเลือกลักษณะเด่น เป็นพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก ขนสีขาว ให้ไข่เร็ว ให้ไข่ดก ไข่เปลือกสีขาว ไข่แดงมีปริมาณมากและอุดมด้วยแร่ธาตุ ทนต่ออากาศร้อนได้ดี เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารค่อนข้างสูง เพราะมีขนาดเล็ก จึงนิยมเลี้ยงเพื่อผลิตไข่สำหรับคนรักสุขภาพ เช่น การผลิตไข่เสริมโฟเลท

10.‘สถานีสุกร’ จัดแสดงสุกรสายพันธุ์ต่างๆ ที่นิยม อาทิ หมูป่า หมูพื้นเมืองเชียงใหม่ หมูพันธุ์ปากช่อง 5 หมูพันธุ์ลาจไวท์ด่าง และหมูพันธุ์เหมยซาน พร้อมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หลักการผลิตหมูและการเลี้ยงหมูเพื่อเสริมรายได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและชาวบ้าน มีความรู้อย่างถูกต้อง

11.‘สถานีไข่มดแดง-ไข่แมงมัน’ เป็นการเลี้ยงมดแดง เพื่อเก็บไข่มดแดง เป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงมดแดงใช้เวลาไม่มาก เพียงดูแลน้ำ อาหาร และสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์ สามารถเลี้ยงที่ต้นไม้บริเวณบ้านได้ เช่นต้นมะม่วง ชมพู่ นอกจากนี้มดแดงยังช่วยกำจัดศัตรูพืชได้ ส่วนแมงมัน เป็นมดชนิดหนึ่ง ซึ่งไข่แมงมันได้รับความนิยมสูง และราคาแพงกว่าไข่มดแดงถึง 3 เท่า แต่ยังมีผู้เลี้ยงไม่มาก ส่วนใหญ่มักเก็บไข่แมงมันจากธรรมชาติ ดังนั้นการเลี้ยงมดแดง และแมงมัน เพื่อเก็บไข่จึงเป็นอาชีพเสริมที่เกษตรกรและประชาชน สามารถทำได้โดยไม่ใช้เวลามาก แต่มีรายได้สูง

12.”สถานีนกกระทา’ นกกระทาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ประสิทธิภาพในการผลิตค่อนข้างสูง โดยนกกระทาสามารถให้ไข่ได้ ประมาณ 20 ฟองต่อตัวต่อเดือน ให้ผลตอบแทนเร็ว เพราะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 42-45 วัน ระยะเวลาในการให้ผลผลิตไข่นานประมาณ 11 เดือน ไม่ต้องการพื้นที่มาก เนื่องจากสามารถเลี้ยงในลักษณะคอนโด พื้นที่ประมาณ 3 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงนกกระทาได้กว่า 500 ตัว ใช้เงินในการลงทุนไม่มากการดูแลง่าย โตเร็ว สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ นอกจากผลิตไข่ เนื้อนกกระทาสามารถนำปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด และเนื้อมีรสอร่อย

คล้อยหลังมา 3 วัน (27 เม.ย. 59) บนเวทีสัมมนา “มะพร้าวขาดแคลน พลิกวิกฤต อุตสาหกรรมอยู่รอด เกษตรกรอยู่ได้” ที่จัดขึ้นโดยชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร วิทยากรทุกคนจากทุกภาคส่วน ได้ตอกย้ำว่า มะพร้าวเป็นโอกาสทองของประเทศไทย คือในขณะที่พืชผลทางการเกษตรตัวอื่นๆตกต่ำแต่มะพร้าวกลับสวนทาง และได้โยงไปถึงกระแสโลกตื่นตัวเรื่องเครื่องดื่มเกลือแร่ตามธรรมชาติ นั่นก็คือ “น้ำมะพร้าวน้ำหอม” และเนื้อมะพร้าว รวมทั้งน้ำมันมะพร้าว ได้กลับกลายเป็นส่วนผสมของอาหารชนิดต่างๆ และเมื่อพูดถึงมะพร้าว โลกก็มองมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอม ที่ถือได้ว่าเราเป็นเบอร์ 1 ของโลกเวลานี้

“มะพร้าวน้ำหอมคือโอกาสทอง เป็นพืชของสว. (คนสูงวัย) เพราะว่าเราไม่ต้องดูแลจัดการอะไรมาก เมื่อเทียบกับไม้ผลตัวอื่นๆ เพียงแต่เราต้องใส่อะไรให้ถูกต้องอีกนิดก็จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมา และทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่ม เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิด…เกษตรคือทองคำ ขุดมาใช้ไม่รู้จักหมด” อ.เปรม ณ สงขลา ผู้ดำเนินรายการสรุปบนเวทีสัมมนา

นอกจากนี้ ข้างล่างของเวทีสัมมนายังได้เสนอแนะให้ภาครัฐสนับสนุนการปลูกมะพร้าวเหมือนที่ให้การส่งเสริมปลูกยางพาราและปลูกปาล์ม เพราะมั่นใจว่าจะไปได้ไกลมาก

“มะพร้าวนอกจากจะเป็นพืชอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพแล้ว ในส่วนต่างๆของมะพร้าวเรานำไปใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มได้หมด” คือบทสรุปสุดท้าย ล่าสุดสดๆร้อนๆ เมื่อตอนค่ำที่ผ่านมา (29 เม.ย.59) ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “อ.ต.ก. ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” หลังเปิดงานเสร็จได้เดินชมผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตรเป็นเวลานานนับชั่วโมง และได้แวะที่บูธ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสวนหลวง ต.อำแพง จ.สมุทรสาคร ซึ่งจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอม ท่านบอกว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะต้องให้การส่งเสริม เพราะตลาดเติบโตมาก

ผมขอวกกลับมาที่หัวข้อเรื่องที่ได้จั่วไว้ …หลายท่านที่ได้ติดตามก็คงจะทราบว่า “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ได้เดินทางสำรวจแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมมานานนับเดือนนับปี จึงได้คิดที่จะจัดสัมมนาขึ้น ภายใต้ชื่อว่า “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกรไทย จริงหรือ?” โดยร่วมมือกับพันธมิตร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และวารสารเคหการเกษตร กำหนดจัด วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องหงส์เหิร ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

สาระสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีอะไรบ้าง?

เรื่องแรก ก็คงไม่พ้นที่ว่า ทำอย่างไรให้ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมติดผลดี และน้ำหอมสม่ำเสมอ (ข้อจำกัดเรื่องฤดูกาลและภัยแล้งจะหาทางแก้ไขอย่างไร)

เรื่องที่สอง คือเรื่องของโอกาสทางการตลาด หลายคนที่อยู่ในวงการบอกว่า ตลาดมะพร้าวน้ำหอม 2-3 ปีมานี้ไม่มีปัญหาเลยราคาปรับขึ้นมาโดยตลอด (ล่าสุดจากสวน ลูกละ 25-27 บาท) แต่ก็ไม่อยากให้ไว้วางใจ เราจะมาเสวนากันว่าตลาดที่ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ทำอย่างไรมันจึงจะยั่งยืน และเราจะเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรบ้าง

ใครจะมาเป็นวิทยากรบ้าง?

ตรงนี้ขอให้ท่านที่สนใจ ตรวจสอบจากกำหนดการที่นำมาลงให้ทราบท้ายนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆที่ว่าวิทยากรแต่ละท่านจะลงลึกแค่ไหน “เราจะเติม…เราจะใส่อะไรลงไป” จะนำมาบอกกล่าวตอนต่อไปครับ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตและขายส่งกล้วยหอมรายใหญ่ของประเทศในเวลานี้ ทั้งส่งตามห้างสรรพสินค้า เช่น แมคโคร โลตัส ท้อป ฟู้ดแลนด์ เดอะมอลล์ สยามพารากอน แม็คแวลู ฯลฯ ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นฯ 108 ช้อป แฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ สายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ ฯลฯ รวมทั้งส่งร้านไอศกรีม สเวนเซ่น และร้านเบเกอร์รี่ โดยแปลงผลิตกล้วยหอมหลักๆ จะอยู่ใน 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี สระบุรี อยุธยา และนครนายก ทั้งหมดมีประมาณ 3,000 ไร่ และมีของสมาชิกในเครือข่ายอีก 1,000 ไร่ นอกจากนี้มีเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ถึง 10,000 ไร่ ภายในปี 2563

การที่จะขยายแปลงปลูกกล้วยหอมให้ได้ 10,000 ไร่ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ก็ดูเหมือนว่าความยาก จะถูกทะลายลงบ้างแล้ว เพราะเมื่อวันเช้าวันนี้ (2 พ.ค. 59) บริษัท คิง ฟรุทส์ฯ ได้จัดสัมมนา “เปิดโลกกล้วยหอม เปิดบ้าน คิง ฟรุทส์” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายสมาชิกที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการร่วม 60 ราย ณ ห้องกินรี โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ

โดย คุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ ประธานกรรมการ บริษัท คิง ฟรุทส์ เปิดเผยว่า การทำเกษตรสมัยใหม่ก็เหมือนการทำธุรกิจ เราจะทำคนเดียวแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว เราต้องมีคู่ค้า มีพันธมิตร อย่างตนเองเคยอยู่แต่ในสวนกล้วย คิดแต่ว่าจะปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตดี ปลูกได้เยอะๆ ไม่เคยคิดเรื่องค้าขายว่าปลูกแล้วจะไปขายใคร โชคดีที่ว่าภรรยาคือคุณเสาวณี ไปเป็นแม่ค้าขายกล้วยหอมอยู่ที่ตลาดไท ก็มาคิดร่วมกันว่าเราต้องเปลี่ยนทัศนคติแบบเดิมๆ มีวิธีคิดแบบใหม่ๆ เราเองก็จบเกษตรมาทั้งคู่ เราไม่เอาดีทางการเกษตรแล้วจะไปเอาดีด้านไหน

ทั้งคุณเกรียงศักดิ์และคุณเสาวณี จึงทุ่มเททำงานอย่างหนัก “อะไรที่ว่ายากคือเรื่องท้าทาย” สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาด จากเกษตรกรธรรมดาที่ทำงานอยู่ในสวนกล้วยและส่งเสียงเรียกลูกค้าอยู่ที่ตลาดไทก็สามารถยืนหยัดทัดเทียมกับนักธุรกิจที่ทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ

หัวใจความสำเร็จ คือ การปลูกกล้วยหอมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด “เราคิดว่าตลาดกล้วยหอมยังเปิดกว้าง อย่างทุกวันนี้ เราส่งเซเว่นฯ ได้เพียงวันละ 40,000-50,000 ลูก ทั้งที่เซเว่นฯ มีแผนที่จะขายกล้วยหอมในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ถึงวันละ 200,000 ลูก แต่ปัจจุบันมีกล้วยหอมที่สามารถหามาจำหน่ายในร้านได้เพียง วันละ 100,000 ลูก เท่านั้น”

นอกจากนี้ คุณเสาวณี มั่นใจว่าตลาดกล้วยหอมยังขยายได้อีกมาก เพราะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและคนทั่วโลกรู้จักกล้วยหอมจากประเทศไทย จึงมีแนวคิดว่าเมื่อตลาดในประเทศอยู่ตัวหรือลงตัวดีแล้วก็จะขยายไปสู่ต่างประเทศ โดยการเตรียมแผนในเรื่องการแปรรูปไว้แล้ว

ในการจัดอบรม/สัมมนากลุ่มเกษตรกรผู้สนใจปลูกกล้วยหอมจึงเป็นแผนการรองรับตลาดที่จะขยายตัว เพราะคิดว่าลำพังตนเองคนเดียวคงทำไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกัน

“ในการรวมกลุ่มของเราไม่ได้เน้นว่าทุกคนต้องส่งมาขายเรา เพียงแต่เรามีความคิดว่าเราควรจะนำบทเรียนหรือประสบการณ์ที่เรามีอยู่ทั้งเรื่องการผลิตและการตลาด ซึ่งหลายคนได้โทรศัพท์มาปรึกษาหรือติดต่อเข้ามาดูงาน และมีกลุ่มหนึ่งที่เขาตั้งใจว่าจะปลูกอย่างแน่นอน เราก็เลยจัดอบรมแบบเข้มข้นเพื่อให้เข้าใจว่าตลาดกล้วยหอมอยู่ตรงไหน และในเรื่องการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐานต้องทำอย่างไร”

การจัดหลักสูตรสัมมนาในครั้งนี้ (หลักสูตรจัดขึ้น 2 วัน / 2-3 พ.ค. 59) จึงเน้นในเรื่องการจัดการระบบคุณภาพต่างๆ อย่างเช่นวันแรก มีบรรยายเรื่อง ความสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรกับความต้องการของตลาดโมเดิร์นเทรด โดย คุณจุฑารัตน์ พัฒนาธร รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพสินค้า บริษัท สยามแมคโครฯ แนวทางพัฒนามาตรฐานระบบ GAP ของประเทศไทยกับ AEC โดย วิทยากรจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 ชัยนาท การจัดการผลผลิตกล้วยหอมให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดย คุณอาวุธ สีรสรรค์ศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คิง ฟรุทส์ ฯลฯ

สำหรับหลักสูตรในวันที่ 2 จะนำผู้เข้าสัมมนาไปดูการบริหารจัดการแปลงปลูกกล้วยหอมของบริษัท คิง ฟรุทส์ฯ ที่ย่านลำลูกกา คลอง 7

“เราหวังว่าเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทุกคนที่เข้ามาอบรมในวันนี้ ซึ่งมาจากหลายจังหวัด จะได้รับความรู้กลับไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีแบบแผนที่เป็นประสบการณ์ของเรา ที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ ไม่ต้องลองผิดลองถูกในสิ่งที่เราเคยลองมาแล้ว คือไม่อยากให้ทุกคนผิดหวัง และหวังพึ่งราชการเพียงอย่างเดียว …เราต้องพึ่งตนเองก่อน และต้องทำให้ได้มาตรฐานเดียวกัน …ไม่ได้หวังว่าปลูกแล้วต้องมาอยู่เป็นเครือข่ายกับเรา ไปไหนไม่ได้ เพียงแต่เราหวังว่าจะต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน เช่น เกิดภัยพิบัติ เกิดพายุ เกิดน้ำท่วม ฯลฯ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่อีกพื้นที่ไม่ได้ประสบภัย ใครมีกล้วยเราก็มาช่วยกันขาย เราหวังแค่นี้” คุณเสาวณี วิเลปะนะ กล่าวในที่สุด

สนใจ เยี่ยมชม สวนกล้วยหอม คิง ฟรุทส์…เชิญทางนี้
ด่วน…ท่านที่ต้องการไปศึกษาการบริหารจัดการแปลงปลูกกล้วยหอมและการปลูกที่ได้มาตรฐาน ของ บริษัท คิง ฟรุทส์ฯ ที่ปทุมธานี รวมทั้งศึกษาเรื่องการปลูกมะละกอเพื่อการค้า ที่นครสวรรค์ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาสัญจร

เป็นที่รับรู้กันว่าเวลานี้ มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแปรรูปภายในประเทศยังมีความต้องการผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมอีกมาก ตลอดจนเพื่อการส่งออก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้นำสามารถส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ในนามของ “Aromatic coconut from THAILAND” โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี

การเป็นผู้นำหรือการเป็นแชมป์นั่นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะประเทศไทยมีพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถรักษาแชมป์ไว้นานๆ นั่นหมายถึงว่าให้เกิดความยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ เราต้องยอมรับว่า ปัญหาการผลิตยังมีอีกมากที่เรายังแก้กันไม่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคัดต้นพันธุ์ที่ถูกต้อง “ต้นไหนหอมไม่หอม” หรือปลูกไปแล้วจะดูแลอย่างไรให้ได้ผลผลิตดี หรือติดผลดี และสิ่งคัญทำอย่างไรให้มีน้ำหอมสม่ำเสมอ ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆจิปาถะ

คือเรายังสามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือผลิตให้มีคุณภาพให้มีความแน่นอนได้มากกว่าที่เป็นอยู่… ด้วยเหตุนี้ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการขึ้น ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” โดยร่วมมือกับพันธมิตร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และวารสารเคหการเกษตร กำหนดจัด วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องหงษ์เหิร ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ในการสัมมนครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง?

ทำอย่างไรให้มะพร้าวน้ำหอมติดผลดีและมีความหอมสม่ำเสมอ?
หัวข้อนี้จะให้ความรู้ครอบคลุมเกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับมะพร้าวน้ำหอม ตั้งแต่สถานการณ์การผลิต มูลค่าทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมการแปรรูป และจะลงลึกในเรื่องของการดูแลจัดการให้ผลผลิตดีและมีความหอมสม่ำเสมอ ตั้งแต่เรื่องการคัดพันธุ์ การปลูกที่เหมาะสม การจัดการเรื่องธาตุอาหาร น้ำและปุ๋ย รวมทั้งปัญหาที่ทำให้ผลแตกเกิดจากอะไรบ้าง

ผู้ที่จะบรรยายในหัวข้อนี้ คือ รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง “การบังคับมะพร้าวให้ติดผลดี ด้วยเทคนิคการผสมเกสร” โดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษที่ได้ทดลองปฎิบัติและได้ผลดี 80 %

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี?
หัวข้อนี้จะให้ความรู้สำหรับมือใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นปลูกโดยเฉพาะ ตั้งแต่การวางแผนปลูก การลงทุน การวางผัง สายพันธุ์ การยกร่อง การปลูกพืชแซม ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดจะมีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในแปลงปลูกมะพร้าวน้ำหอมแห่งอนาคต

โดยผู้ที่จะมานำเสนอในเรื่องนี้ก็คือ อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการใหญ่เคหการเกษตร จะนำกรณีศึกษาของตนเองที่พลิกแปลงนาข้าวมาทำสวนมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มอีก 30 ไร่ ที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี

มะพร้าวน้ำหอมอย่างไรที่ตลาดต้องการและตลาดอยู่ที่ไหนบ้าง?
หัวข้อนี้จะให้ความรู้เรื่องการผลิตมะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิคว่าทำอย่างไร บริหารจัดการอย่างไรให้มีผลผลิตดี และมาตรฐานที่โลกต้องการคืออย่างไร

ผู้ที่จะมาตอบคำถามหรือให้ข้อมูลในเรื่องนี้ก็คือ คุณประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชสวน โดยเฉพาะเป็นเกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิค 400 ไร่ และเป็นผู้นำรวมกลุ่มเกษตรกรในนาม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี” ซึ่งประสบความสำเร็จสามารถส่งมะพร้าวน้ำหอมไปขายในยุโรปและหลายประเทศในภูมิภาคเอเซีย

สำหรับเรื่องของตลาดในประเทศ จะได้ฟังประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่ามะพร้าวน้ำหอม โดย คุณธานี ทรัพย์สมบูรณ์ เจ้าของแบรนด์ “โคโค่เฟรซ” เจ้าตลาดมะพร้าวน้ำหอมส่งขายร้านเซเว่นฯ

ทั้งหมดที่นำมาบอกกล่าวนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ ทั้งผู้ที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่แล้ว และผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นปลูกใหม่

สำหรับในการสัมมนาครั้งนี้ ขอบอกกันตรงๆว่าไม่ได้มีงบประมาณจากไหนมาอุดหนุน ใครที่มาก็ต้องช่วยกันออกค่าลงทะเบียน 1,000 บาท โดยให้แจ้ง.ชื่อ นามสกุล และเบอร์โทร.เข้ามา

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.59) ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมรายหนึ่ง และไม่กี่วันก่อนนั้นก็เคยจับเข่าคุยกับผู้ส่งออกอีกราย ทำให้ทราบว่าตลาดต่างประเทศเติบโตมาก

“หากเอ่ยชื่อว่ามะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย หรือ “Aromatic coconut from THAILAND” จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมาก” คือคำยืนยันจากผู้ส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของเราคือ ประเทศจีน แต่มา 2-3 ปีหลังมานี้ จีนได้ส่งคนของตนเองเข้ามาตั้งโรงงานร่วมกับคนไทย และเปิดรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมเพื่อส่งออกไปประเทศจีนและประเทศอื่นๆอีกที

ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ในมุมของผู้ส่งออกสัญชาติไทยแล้วนั้นบอกว่า พ่อค้าจีนเหล่านี้เข้ามาถึงก็รวบรวมผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรไทยเข้าไปเป็นเครือข่าย (หลายคนก็หันไปร่วม…ทำให้ผู้ส่งออกคนไทย ต้องดูแลเกษตรกรในเครือข่ายกันเป็นอย่างดี-เกษตรกรเป็นต่อมาก) โดยเสนอราคาเป็นสิ่งล่อใจ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่มีการแข่งขันกันโดยเสรี แต่ไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมดเมื่อมะพร้าวมีราคาดี พ่อค้าที่เห็นแก่ได้ก็มาฉวยโอกาสตัดมะพร้าวที่ยังอ่อนเกินขนาดที่จะส่งออกได้ เหมือนข่าวการตัดทุเรียนอ่อนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะแก้ไขภาพลักษณ์ตรงนี้ได้ก็ใช้เวลาหลายปี

นี่ยังไม่นับวงจรการส่งออกของคนไทยที่เคยมุ่งตลาดจีนต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ จากที่เคยขายแต่ผลสดก็ต้องนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และในขณะเดียวกันก็ต้องไปหาตลาดใหม่ๆ เช่น ยุโรป รัสเซีย อเมริกา แอฟริกา ฯลฯ ซึ่งก็นับว่ายังโชคดีที่กลุ่มประเทศเหล่านั้น นิยมชมชอบมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทย

“ตอนนี้ตลาดจีนของเราเองมีแค่ 50 % จากที่เคยส่งออกจีนเป็นหลัก โดยสามารถส่งผลผลิตได้ในช่วงปกติเดือนละประมาณ 30 ตู้ แต่เวลานี้ส่งได้ไม่ถึง เพราะแย่งกันและผลผลิตขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง” ผู้ส่งออกกล่าว

จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตลาดมะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็นั่นแหละหากยังมีการฉวยโอกาส ความยั่งยืนจะมีหรือไม่ โดยเฉพาะเวลานี้ มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยขายได้ราคาสูงที่สุด อย่างเช่น ในจีน ลูกละประมาณ 70 บาท ถ้าเป็นในยุโรปลูกละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่มะพร้าวจากประเทศคู่แข่ง อย่างเช่น เวียดนาม ฟิลิบปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ฯลฯ ราคาถูกกว่ากันมาก และประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ “ความหอม” เป็นจุดขาย แต่จะเน้นความเป็นมะพร้าวอ่อนสีเขียวที่สด ราคาถูก ฯลฯ

เพื่อให้เห็นถึงความคึกคักของตลาดมะพร้าวน้ำหอม (จะอยู่ในหมวดเดียวกับมะพร้าวอ่อนในการซื้อขายตลาดโลก) ในต่างประเทศ ขอนำข้อมูลจาก ตลาดซื้อขายออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างอาลีบาบา มาเล่าสู่กันฟัง…

พบว่ามีรายการซื้อ-ขาย มะพร้าวทั้งหมด 837 รายการ (7 พ.ค.59) ในจำนวนนี้มีมะพร้าวอ่อน 441 รายการ ประเทศทีมีการโฆษณาซื้อ-ขายมากเป็นอันดับ 1 คือ เวียดนาม 323 รายการ อินเดีย 37 รายการ ไทย 15 รายการ ศรีลังกา 3 รายการ ฯลฯ

ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของเวียดนาม เช่น

“เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักดิ์ศรีในเวียดนาม มะพร้าวของเราสดหวาน โดยไม่ต้องใส่สารกันบูดหรือสารเคมีเติมแต่งใดๆ ดิบๆเป็นธรรมชาติ ด้วยน้ำหวานและเนื้อที่ใช้สำหรับการดื่มและการรับประทานเป็นอาหารโดยตรงหรือการทำมะพร้าวมูทตี้ และเป็นประโยชน์มากสำหรับสุขภาพของคุณ, ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเราจะถูกส่งออกไปยังยุโรปและเราได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้นำเข้าทั่วโลก”

ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของอินเดีย เช่น

“มะพร้าวอ่อนของเราสดจากสวนและฟาร์มของเกษตรกร…มะพร้าวเป็นที่รู้จักสำหรับคุณค่าทางโภชนาการสูง, เป็นเครื่องดื่มของผู้มีรสนิยมและประเพณีอันหลากหลาย, มะพร้าวเป็นพืชของโลกที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารที่แตกต่างกัน”

และอีกคำอธิบายหนึ่งที่คล้ายๆกัน “มะพร้าวเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่เพียงแต่อาหารของภูมิภาคที่มันจะเติบโต, ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ให้มีชีวิตอยู่รอด ให้โปรตีน แคลอรี่ แร่ธาตุ วิตามิน ฯลฯ, รสชาติของมันมาจากเครื่องดื่ม, มาจากการนำไปปรุงเป็นอาหารเป็นน้ำมัน และแม้กระทั่งไฟ (กะลานำมาทำเป็นถ่านให้ความร้อนสูง) กะลายังทำเป็นภาชนะ, ใบให้เป็นวัสดุมุงหลังคา และลำต้นใช้สร้างอาคารบ้านเรือน”