ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กับกรุงเทพมหานคร

จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษาพร้อมร่วมกิจกรรม BAAC FIT & FIRM เดินวิ่งเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมบริจาคเพื่อการกุศลในโครงการ “จ้าง วาน ข้า” ให้กับมูลนิธิกระจกเงา โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คณะผู้บริหาร พนักงานในพื้นที่และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ธ.ก.ส. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อพระราชปณิธาน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” มาใช้เป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ อนุรักษ์ดินและน้ำให้อุดมสมบูรณ์

ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีเป้าหมายในปี 2565 เพิ่มไม้มีค่าในประเทศอีก 129,000 ต้น พร้อมการจัดกิจกรรมรณรงค์และปลูกต้นไม้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ณ สาขาของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ สำหรับการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จาก นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงเขตต่าง ๆ ในการร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ โดย ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมพันธุ์กล้าไม้มีค่า

ไม่ว่าจะเป็น ชมพูพันทิพย์ เหลืองปรีดียาธร ประดู่ ตะแบก เสลาอินทนิล และยางนา จากชุมชนธนาคารต้นไม้มามอบให้กับเขตต่าง ๆ จำนวนกว่า 1,900 ต้น และยังจัดเตรียมกล้าไม้ไว้ที่ธ.ก.ส. ทุกสาขาในกรุงเทพฯ เพื่อมอบให้กับประชาชนที่สนใจนำไปปลูก อีกกว่า 1,000 ต้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกร และประชาชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงพื้นที่ของชุมชนในรูปแบบธนาคารต้นไม้และมีการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน โดยสามารถนำต้นไม้มาคำนวณเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงการประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 12 ล้านต้น

นอกจากการรณรงค์ปลูกต้นไม้ทั่วทั้งประเทศ ธ.ก.ส. ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับบุคลากร บุคคลในครอบครัว รวมถึงลูกค้า ธ.ก.ส. ให้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม BAAC Fit & Firm พร้อมวางเป้าหมายเชิญชวนประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ร่วมออกกำลังกาย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็ง รวมถึงร่วมกับกทม. จัดกิจกรรมบริจาคเพื่อการกุศลในโครงการ “จ้าง วาน ข้า” ให้กับมูลนิธิกระจกเงา เพื่อสนับสนุนคนไร้บ้านให้ประกอบอาชีพสุจริต สร้างรายได้ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษ อุตตมะเวทิน โฆษกกรมการข้าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้มีการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวใหม่จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ กข93 กข95 กข97 และ กข101 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ผู้แทนสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทย ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว ตลอดจนผู้บริหารกรมการข้าว ร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในครั้งนี้

โฆษกกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในแต่ละปีนั้น จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากสมาคมต่างๆด้านข้าว ให้เข้ามาร่วมพิจารณาพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องด้านข้าวและใกล้ชิดกับพี่น้องชาวนา ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในแต่ละปี ซึ่งรวมไปถึงสมาคมต่างๆด้านข้าวที่เปรียบดั่งภาคีเครือข่ายที่กรมการข้าวได้มีการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ที่ประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมชาวนาชาวไร่ สมาคมชาวนาอีสานสมาคมชาวนาและโรงสี สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) สมาคมเกษตรกรไทย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมชาวนาเศรษฐกิจพอเพียง สมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย

“กรมการข้าวเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านข้าว มีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้พี่น้องชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจหลักคือการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ ต้านทานต่อโรคแมลง และที่สำคัญคือตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องชาวนา ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว กรมการข้าวจึงปฏิบัติภารกิจอย่างสุจริต โปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องชาวนาเป็นลำดับแรก ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โฆษกกรมการข้าว กล่าว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งจะใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน

มีการบูรณาการและการพัฒนา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง ขอนแก่น ราชบุรี จันทบุรี และจังหวัดพัทลุง เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยจะขับเคลื่อน BCG Model ด้วยกระบวนการส่งเสริมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area – Based) มีการกำหนดขอบเขตในการดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งมิติพื้นที่ คน และสินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่

บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาคีระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer Smart Farmer ศพก. ศจช. ศดปช. ให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและชุมชน สร้างรายได้ กระจายผลประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตัวอย่างกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรมานำเสนอเป็นกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรจากพื้นที่ภาคตะวันตก ประกอบด้วย

กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 12 ตำบลเเพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ใช้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เน้นส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน และสร้างอัตลักษณ์เป็น GI มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือทิ้ง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ซึ่งมีจุดเด่น คือ การแปรรูปขั้นสูง และเชิงพาณิชย์ มีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตลาดออนไลน์

นายภิญญา ศรีสาหร่าย และ นางสาวภีรดา ศรีสาหร่าย YSF จังหวัดราชบุรี ที่พัฒนาการทำเกษตร สู่ Smart Organic Tourism Farm อย่างยั่งยืนด้วย BCG Model โดยทำอาชีพปลูกผักผลไม้ไร้สารเคมี นำความรู้ด้าน BCG
มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง มีจุดเด่นที่ทำการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดของฟาร์ม วิเคราะห์และวางแผนการปลูกผักแบบประณีตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ นำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ย เพื่อลดต้นทุน มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตร Young Smart Farmer
และถ่ายทอดความรู้เกษตรอินทรีย์บนพื้นฐาน BCG Model

วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ ปี 2549 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตก นำผลผลิตกล้วยที่ปลอดภัย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ของในชุมชนมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีงานวิจัยและผลการทดสอบรองรับ ทำการตลาดเน้นช่องทางออนไลน์ และจุดเด่นของที่นี่คือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยทุกระยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาด และมีการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero waste)

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการทำงานส่งเสริมการเกษตร
แต่เป็นการนำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว มาร้อยเรียงกันใหม่ เรียกชื่อใหม่ จัดกระบวนการขับเคลื่อนใหม่ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และให้ใช้แนวคิดของ BCG Model ในการดำเนินงานทุกโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับงานส่งเสริมการเกษตรให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดบทบาทของตน เป็น change agent และ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการ Local Enterprises (LE) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะและนวัตกรรมการจัดการให้กับผู้ประกอบการ LE อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ จัดงาน ‘Local Enterprises Social Expo’

เพื่อนำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของ ‘ชุมชนท้องถิ่น’ ผ่านการดำเนินโครงการ ‘Local Enterprises’ (LE) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง LE Network Value Chain Model ครั้งแรกของไทย มุ่งหวังให้ LE เป็น Model ที่ยกระดับธุรกิจชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เจาะลึก วิจัยสาเหตุและวางเครื่องมือแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจร และเกิดการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ Local Enterprises ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า โครงการ Local Enterprises ริเริ่มขึ้นเพื่อมุ่งพัฒนา‘คน (ธุรกิจ)’ โครงการถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งพัฒนา “คน (ธุรกิจ)” โดยการออกแบบหลักสูตรการบริหารจัดการเรื่อง “ตลาด” ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ด้วยผลวิจัยทั้งด้าน Data และ Technology แล้วนำ Knowledge Gap (หรือ Technology-Knowhow) มาเติมในหลักสูตร เพื่อให้ “คน(ธุรกิจ)” สามารถสร้าง “ของ(สินค้าและบริการ)” ที่ตอบโจทย์ “ตลาด” และตรงความต้องการผู้บริโภค (ลูกค้า)

เป้าหมายสำคัญของโครงการ LE ในปี 64-65 นี้ คือการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจด้วย “การจัดการ/วางแผนการเงินภาคธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ LE จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไข คือ ต้องใช้ทรัพยากรภายในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า (Local Resources) ต้องเกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ (Local Employment) และเกิดการกระจายรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ (Local Economy) รวมถึงเพิ่มสัดส่วนรายได้อย่างมีธรรมภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการ LE ในปี 64-65 นี้ นอกจากการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจด้วย “การจัดการและวางแผนการเงินภาคธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชนด้วย

ผมเชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชนทุกระดับ ได้รับองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน และสามารถนำผลลัพธ์ทางความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทางธุรกิจของตนเองและชุมชนได้อย่างมืออาชีพ อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ชุมชนพัฒนา เติบโต อย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปันได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises กล่าวว่าจากผลการวิจัจและการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ LE ที่ผ่านมา ในปี 2564-2565 จำนวนกว่า 1,000 ราย พื้นที่ 73 จังหวัด เราพบว่า ปัญหาหลักธุรกิจชุมชน โดยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ธุรกิจเกิดความผิดพลาด ล้มเหลว และเรายังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นเรื่อง “การบริหารการเงินธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชน ดังนั้น เราจึงออกแบบ

โครงการที่จะยกระดับ LE ภายใต้การสร้างศักยภาพคน (ธุรกิจ) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการยกระดับธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ผ่าน แนวคิด “คน-ของ-ตลาด โมเดล” องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามกรอบโครงการ “LE” เพราะ “คน” คือ ธุรกิจชุมชน โดยจะครอบคลุมตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง ไปจนถึงเกษตรกร ฯลฯ โดยมิติการพัฒนา “คน” จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ ตลอดจนทักษะการบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น การเงิน การผลิต

การตลาดและแบรนด์ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะ “ของ” คือการพัฒนา/ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า-คุณค่าของ “ของ” ซึ่งครอบคลุมทั้งวัตถุดิบ สินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด และเหมาะสมกับต้นทุนทางธุรกิจที่ตนมีและ ความสามารถการผลิตอย่างมีประสิทธิผล เพราะ “ตลาด” คือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจด้วยข้อมูลตลาดที่ผ่านการวินิจฉัย ทั้งด้าน supply และ demand ทั้งเชิงลึกและรอบด้าน ซึ่งกระบวนการ “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ได้รับการพัฒนายกระดับในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันผ่านเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อ LE อาทิ LE Financing, Value chain management, Strategic design for production marketing and branding

โดยกระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นอย่างแตกต่าง และ เจาะลึก ผ่านเครื่องมือพิเศษ เริ่มจาก การเรียนรู้กระบวนการ ปรับวิธีคิด และ mindset ของผู้ประกอบการชุมชน (LE) เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนจากการดำเนินธุรกิจเพื่อตนเอง (Ego System) สู่การดำเนินธุรกิจแบบ (Eco System) คือการแบ่งปัน สร้างประโยชน์ และผลลัพธ์ (กำไร) เชิงธุรกิจควบคู่กับสังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ด้วยเครื่องมือแอปพลิเคชัน ที่พัฒนาและออกแบบโดยเฉพาะเพื่อใช้ทำงานและกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ Local Enterprises “คน-ของ-ตลาด” โมเดล ภายใต้ชื่อ ‘ประตูเศรษฐี’

ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินภาพรวมธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านการจัดการสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อบรรเทาและประคับประคองธุรกิจผ่านการวินิจฉัย 4 ด้าน คือ รายได้ กำไร สภาพคล่อง และหนี้สิน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ โครงการ ‘ประตูเศรษฐีบานที่ 1’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 500 คน และ ‘ประตูเศรษฐีบานที่ 2’ มีผู้เข้าร่วม 350 คน หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะผ่านหลักสูตร ‘เศรษฐีเรือนใน’ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการเงินภายในครัวเรือน เพื่อให้สามารถแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินธุรกิจได้

ทำให้สามารถเห็นสถานะการเงินภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง ประกอบด้วย 3 ตอน คือ หว่าน (บริหารรายรับรายจ่าย,วิธีเพิ่มสินทรัพย์) พรวน (วีธีออมเงิน, หลักการลงทุน) เก็บเกี่ยว (บริหารหนี้, เตรียมพร้อมสู่การเงินภาคธุรกิจ) ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน “เศรษฐีเรือนใน”, บอร์ดเกมส์ (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และงบรายรับ รายจ่าย-บำรุงชีพ, บำเรอชีพ, ดำรงชีพ, บรรลัยชีพ),

เป็นต้น แล้วจึงผ่านไปสู่หลักสูตร ‘เศรษฐีเรือนนอก’ เป็นการเรียนรู้บริหารจัดการการเงินภาคธุรกิจ เพื่อนำไปวางแผนต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจของตนเองและชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ผ่านเครื่องมือที่ใช้ อาทิ บอร์ดเกมส์ (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และ งบกำไรขาดทุน-งบการตลาด, ค่าวิจัยและพัฒนา,ค่าโสหุ้ย,ค่าเสื่อมราคา) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าธุรกิจอย่างยั่งยืน 6+1 เป็นตัวกำกับในการวางแผน

นอกจากนี้ ภายในงานมีผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน รวมกว่า 130 ธุรกิจ มาร่วมจัดแสดงสินค้า พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์การทำธุรกิจ รวมถึงการมอบโล่รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่มี สัมมาชีพ มืออาชีพ และเศรษฐีเรือนในดีเด่น จำนวนทั้งสิ้น 10 รางวัล ได้แก่

รางวัลประเภทมืออาชีพ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

คุณนลินี ศรีสิทธิประภา ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมอ้ายยอ / ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมอ้ายยอ รางวัล “นักฆ่าหนี้บรรลัยชีพดีเด่น”
คุณสุเมธา ทองเสริมสุข วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีตำบลบ้านเลนปั้นจิ๋วดินไทย / ชุดหาบปั้นจิ๋วดินไทย รางวัล “นักจับปีศาจบำเรอชีพดีเด่น”
คุณจิรายุณัฐ อัจฉริยะขจร บริษัท One more Thai craft chocolates นครศรีธรรมราช / ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต รางวัล “นักปั้นกำไรดีเด่น”
คุณปิยะพันธ์ สุรินทร์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตลำไยบ้านเหล่าดู่ / ลำไยอบแห้ง ลำไยอบกรอบ น้ำตาลลำไยสกัดเข้มข้น ไซรัปลำไย รางวัล “นักสร้างรายรับดีเด่น”
คุณนพมาศ พรหมศิลป์ ภูสิบแสน Phu Sib Saen / เครื่องสำอางค์ใบพลู เช่น ใบพลูแอนติออกซีแดนเซรั่ม ครีมกันแดด น้ำพริกเปาเห็ดแครง เสื้อชูชีพ 2 ตัวรางวัล “นักวางแผนสำรองดีเด่น”
รางวัลประเภทสัมมาชีพ จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

คุณภาวริน น้อยใจบุญ บริษัทหวานระรินจำกัด / ขนมไทย รางวัล “เศรษฐีช่างเชื่อม”
คุณสุทธิรัตน์ ปาลาส บริษัทบุญดำรงค์กรีนฟาร์มจำกัด / ลางสาด / ลองกอง อุตรดิตถ์ รางวัล “เศรษฐีช่างช่วย”
คุณศุภชัย เทพบุตร ร้านชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก / มะนาวแป้นรำไพเพชรบุรี รางวัล “เศรษฐีช่างฝึก”
คุณสมัย เปีย วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์สร้างอาชีพที่ยั่งยืน / ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูหลุม และไก่ รางวัล “เศรษฐีช่างจด”
รางวัลประเภทเศรษฐีเรือนในดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ได้แก่

คุณสมัย เปีย (MVP) วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์สร้างอาชีพที่ยั่งยืน / ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูหลุม และไก่ รางวัล “เศรษฐีเรือนในดีเด่น” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Local Enterprises’ ได้ที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โทรศัพท์ 0 2109 5432 ต่อ บพท. หรือ เว็บไซต์

เช่นที่นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับกำลังเป็นกระแสตื่นตัวในหลายบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และแน่นอนเทคโนโลยีแบบชาญฉลาดนี้ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการทำเกษตรด้วยเช่นกัน

การเตรียมการเพาะปลูกโดยเกษตรกร การหว่านลงเมล็ด การเก็บเกี่ยว ทั้งหมดนี้มีเครื่องจักรเข้าช่วยในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นรถไถหว่าน รถแทรคเตอร์ขนาดใหญ่ แต่การพยายามใส่เทคโนโลยีเพิ่มเข้าไป ทำให้รถเหลานี้เป็นรถทำงานด้านการเกษตรที่อัจฉริยะขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเชื่อมสัญญาณดาวเทียมเข้าไปในรถเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการตรวจจับแปลงเพาะปลูกและสำรวจสภาพอากาศของพื้นที่เกษตรนั้นๆ และแน่นอน ถ้าเพิ่มเทคโนโลยีรถทำการเกษตรไร้คนขับเข้าไปอีก ก็จะยิ่งเป็นความฉลาดอัจฉิรยะกำลังสอง และแน่นอนระยะยาวคือการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มการคำนวณระยะการเก็บเกี่ยวที่แม่นยำขึ้น และนำไปสู่การวางแผนอย่างเป็นระบบในการเพาะปลูกเพื่อไม่ให้ปริมาณผลผลิตมีมากเกินไป

มีตัวอย่างหนึ่งในพื้นที่เกษตรที่สหรัฐอเมริกา ที่บางช่วงอากาศภายนอกจะมีความร้อนสุดๆ แน่นอนว่าเกษตรกรย่อมลำบากในการออกไปทำงานในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ และนั่นนำมาซึ่งการพยายามตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ บลู ริเวอร์ เทคโนโลยี ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย นำระบบออโตเมชั่น หรือระบบอัตโนมัติมาพัฒนาให้เกิด “ระบบฟาร์มอัจฉิรยะ” ที่ทำให้เครื่องจักรด้านการเกษตรทำการช่วยเหลือ บำรุงรักษาแปลงเกษตรและช่วยกำจัดวัชพืชได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการพึ่งพิงใช้ข้อมูลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า ระบบอัตโนมัติที่จะทำงานควบคู่กับข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่อัพเดทจะช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง รวมทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชได้อย่างแม่นยำต่อปริมาณที่เหมาะสมทั้งกับแปลงเกษตรและกับสิ่งแวดล้อม

วิธีการนี้จะทำให้เกิดการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ เพราะสามารถคำนวณได้ทั้งต้นทุนการผลิตและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำฟาร์ม

ปัจจุบันรถแทรคเตอร์อัจฉริยะ ที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆนี้มีตั้งแต่ระบบเซนเซอร์ กล้องวิดีโอ เรดาห์ และแน่นอนระบบไร้คนขับ ซึ่งรถแทรคเตอร์นี้ถูกควบคุมจากมนุษย์ที่นั่งอยู่ในออฟฟิศอีกครั้ง

เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งแข่งขันกันพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรแบบระบบอัจฉริยะในหลายรูปแบบ อาทิ บริษัท บลู ริเวอร์ เทคโนโลยี วางแผนจะติดตั้งระบบที่เขียนอัลกอริธึ่มเจาะจงในการตรวจสอบวัชพืชลงลึกในแต่ละแปลง เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรเพื่อเข้าสู่ฟาร์มอัจฉริยะในโลกอนาคต

แม้ว่าราคาผลไม้ภาคตะวันออกจะดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมดปัญหาราคาตกต่ำแบบอดีตแล้ว แต่เกษตรกรเมืองจันท์ยังต้องหาทางแปรรูปเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มมากขึ้น ร่วมกันคิด และทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาผลไม้ตกเกรด และออร์แกนิกที่ยังมีปัญหาเรื่องตลาดอีกด้วย

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า จังหวัดจันทบุรีมีการจดทะเบียนตั้งวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 58 แห่ง หากเจาะจงเฉพาะแปรรูปผลไม้มีประมาณ 30 กว่าแห่ง

“อนงค์ กุลเว่” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุลเว่ไวน์ผลไม้ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เริ่มแรกตนและสามีชาวสวีเดนมาซื้อที่สวน 6 ไร่ของจังหวัดจันทบุรี เพราะชอบธรรมชาติ ปลูกผลไม้ผสมผสาน ทั้งเงาะ ลองกอง มังคุด มัลเบอรี่ สับปะรด สละ เป็นต้น โดยตั้งใจจะขายผลไม้ออร์แกนิก แต่ปรากฏว่าคนไม่ซื้อ ติว่าผิวไม่สวย ลูกเล็ก เราจึงเริ่มกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มคุณค่าให้กับผลไม้ออร์แกนิกแล้วมีตลาดรองรับ

“ถ้าทำของเหมือนกันการแข่งขันจะสูง สมัคร GClub ดังนั้นเราต้องคิดนอกกรอบว่าเราชอบอะไร มุ่งมั่นจะทำอะไร สุดท้ายมาเกิดไอเดียว่าสามีซึ่งมีบรรพบุรุษอยู่ฝรั่งเศส มีความรู้การทำไวน์ เราจึงลองเอาความรู้มาประยุกต์กับผลไม้เมืองร้อนที่เมืองไทย ด้วยการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เริ่มจากสวนหลังบ้านของเราก่อน จนขยายต้องใช้เครือข่ายในกลุ่ม ขณะนี้มีสมาชิก 8 ราย จดในนามวิสาหกิจชุมชนกุลเว่ไวน์ผลไม้”

จากนั้นทั้งคู่ได้เริ่มทดลองทำไวน์เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ลงทุนโรงเรือน 1.5 ล้านบาท เป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากใช้วัตถุดิบในสวนเล็ก ๆ กำลังการผลิต 10 ลิตร ปัจจุบันขยายกำลังการผลิตเป็น 6,000 ลิตร ซึ่งยังคงเป็นโรงงานขนาดเล็ก จ่ายภาษีสรรพสามิตถูกต้อง